ความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ในงานวิศวกรรมที่เขาเคย

ก็ค่อยๆ ลดน้อยลง ช่วงเวลาว่างเขามักมองหาความรู้ใหม่ๆ ด้านการเกษตรอยู่เรื่อยๆ เหมือนความสนใจในชีวิตมันเปลี่ยน เขาเริ่มรู้สึกว่าแม้รายได้จากการทำงานเป็นวิศวกรจะมีรายได้มากก็จริง แต่ความมั่นคงของการเป็นวิศวกรในยามบั้นปลายชีวิตมันกลับมีน้อยมาก แต่ทว่ารายได้จากการทำการเกษตร แม้จะดูว่าน้อยในช่วงเริ่มต้น แต่มันกลับเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในยามบั้นปลายชีวิต

เขาเริ่มค้นพบว่า เงินไม่ได้ตอบโจทย์ความสุขความสบายของชีวิต การทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน เราต่างพากันทำงานหาเงิน เมื่อได้เงินมาแล้วก็นำเงินที่ได้ไปแลกมาซึ่งความสุข

ในขณะที่งานด้านการเกษตรแค่ได้ลงมือทำ ความสุขก็เกิดแล้ว ความสุขมันเกิดขึ้นได้ทุกขณะ มันเกิดทันที ที่สำคัญทำแล้วยังมีผลพลอยได้ตามมา ซึ่งก็คือ เงิน และถ้าทำดีๆ มันไม่ลำบากไม่จนแน่ๆ

หลังจากตัดสินใจลาออกมาทำเกษตรในช่วงแรกๆ เขาเริ่มต้นด้วยการปลูกพืชระยะสั้น เช่น ถั่วฝักยาว บวบ แตงกวา โดยทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีเหมือนเกษตรทั่วไป เขาทำอยู่อย่างนั้นสองสามรอบ ก็พบว่าเงินที่ได้มาเมื่อนำมาลงทุนแล้วในระหว่างรอจะเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบใหม่ เงินที่มีก็ใช้หมดพอดี พอได้เงินงวดใหม่มาก็เอามาลงทุน พอรอผลผลิตอีกรอบก็หมดอีก หยุดทำเมื่อไร ก็หมดเงินเมื่อนั้น

เขาทำอยู่แบบนั้นได้ประมาณ 6 เดือน ก็เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมันไม่ใช่แล้ว มันน่าจะมีอะไรผิดพลาด เขาจึงหยุดปลูกพืชต่างๆ ประมาณ 3 เดือน โดยในระหว่างนั้นก็ยังมียางพาราและปาล์มที่ยังเป็นรายได้

เขาคิดทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อหาหนทางใหม่ที่ควรจะดีกว่าเดิม เขาจึงพบว่าสิ่งที่เราเห็นคนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จกับการทำการเกษตรทางยูทูบหรือตามทีวีเป็นเรื่องที่เขาอยากให้เราดู แต่ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด เรื่องราวที่เราไม่รู้คือ ช่วงจังหวะที่เขาเหล่านั้นล้มเหลว ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำมาเป็นบทเรียน แต่ที่เราเห็นคือช่วงที่เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งความสำเร็จมันเป็นของใครของมัน มันลอกเลียนแบบกันไม่ได้

เขาจึงนำวิธีคิดและวิธีการทำงานแบบวิศวกรมาปรับใช้กับการเริ่มต้นการทำเกษตรใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาทำบนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยึดมั่นในปรัชญา นำพาด้วยการทำงานอย่างวิศวกร

คุณบุญชู คิดวางแผนว่า จะสร้างสวนของตัวเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรที่เป็นวิถีเกษตรแบบบ้านๆ จริงๆ เขาเริ่มวางแผนงานใหม่และกำหนดรูปแบบในการทำแปลงเกษตรของตัวเองใหม่ โดยยึดหลักที่ว่า ทุกกิจกรรมต้องง่าย และทำแล้วต้องเกิดรายได้จริง

เขาบอกกับเราว่า ที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตร ขอเพียงมีพื้นที่ ถึงแม้ดินนั้นจะไม่ดี หรือน้ำไม่มี ก็สามารถที่จะทำเกษตรได้ ไม่ต้องพยายามแก้ไขปรับปรุงดินหรือลงทุนสร้างแหล่งน้ำ แต่ควรเริ่มต้นด้วยการเลือกปลูกพืชที่เหมาะกับดินและเหมาะกับปริมาณน้ำฝนในพื้นที่นั้นๆ ถ้าเราปลูกพืชที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น อะไรๆ มันก็จะง่าย เขากำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพืชมาปลูกลงแปลง 10 ข้อ เพื่อใช้เป็นตัวคัดกรองคร่าวๆ ก่อนจะปลูกพืช

เกณฑ์ประเมิน 10 ข้อ สำหรับพืชที่จะปลูก มีดังนี้

ต้องเป็นพืชที่คนทั่วไปมองข้าม
ต้องเป็นพืชที่ปลูกแล้วสร้างรายได้จริงๆ
ต้องเป็นพืชที่มีโรคและแมลงรบกวนน้อย อาศัยการพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก
ต้องเป็นพืชที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วมได้ดี
ต้องให้ผลผลิตสม่ำเสมอต่อเนื่อง ไม่อิงฤดูกาล
ต้องเป็นพืชที่มีความต้องการสูง เน้นหนักไปทางด้านสุขภาพ
ต้องเป็นพืชที่ทนทาน ไม่ต้องดูแลมาก
ต้องเป็นพืชที่สามารถแปรรูปได้
ต้องเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน
ต้องเป็นพืชที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ เช่น การทำกิ่งพันธุ์จำหน่าย
ซึ่งเกณฑ์ประเมินทั้ง 10 ข้อ ถ้าพืชตัวใดผ่านสัก 8 ข้อ ก็สามารถนำมาปลูกได้เลย

หลายท่านอาจจะคิดว่า ไผ่กับยางพาราไม่น่าจะปลูกร่วมกันได้ แต่จริงแล้วสามารถปลูกร่วมกันได้ แต่เราต้องมีวิธีการจัดการอย่างเหมาะสม การเลือกพันธุ์ไผ่ที่เหมาะสมจะนำมาปลูกแซมในสวนยางคือ ไผ่ในตระกูลตงทั้งหมด เช่น ตงลืมแล้ง (ไผ่กิมซุง เขียวเขาสมิง) ตงศรีปราจีน ซางหม่น หม่าจู ปักกิ่ง และอื่นๆ เนื่องจากไผ่เหล่านี้มีลำต้นสูง เวลาที่ต้นยางมีอายุมากแล้ว ไผ่จะสามารถพุ่งขึ้นไปรับแสงสู้กับต้นยางได้ แต่สวนยางของคุณบุญชูเลือกปลูก ไผ่ตงลืมแล้ง (ไผ่กิมซุง เขียวเขาสมิง) เพราะดูแลง่ายและสามารถต่อยอดอาชีพสร้างรายได้ได้หลายทาง

การเตรียมต้นพันธุ์ที่ดี เป็นที่รู้กันว่าการปลูกไผ่เป็นพืชแซมเรื่องการรับแสงจะด้อยกว่าปกติ เนื่องจากมีต้นยางปลูกอยู่ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น เพื่อให้ไผ่เติบโตได้เร็ว ควรเตรียมต้นพันธุ์ให้สมบูรณ์เต็มที่ ควรเป็นต้นพันธุ์ที่อนุบาลไว้อย่างน้อย 60 วัน ให้ต้นไผ่แข็งแรงที่สุด ไผ่ที่แตกหน่อในถุงหลังจากปลูกต้นไผ่จะตั้งลำได้เร็วมากกว่า

การดูความเหมาะสมของอายุและขนาดต้นยาง โดยเราจะสามารถปลูกไผ่แซมในช่วงยางอายุกี่ปีก็ได้ แต่หัวใจสำคัญคือ การจัดการแสง โดยการจัดการขนาดและความสูงของกอไผ่ให้เหมาะกับขนาดของต้นยาง ถ้าปลูกตอนต้นยางเล็กให้คุมความสูงของลำไผ่ไม่เกิน 3 เมตร เว้นลำไม่เกิน 3 ลำ ถ้ายางโตแล้ว 8 ปีขึ้นไป ให้คุมความสูงลำไผ่ 4-5 เมตร เว้นลำกอละ 4-5 ลำ ที่สวนไผ่อาบูปลูกไผ่เป็นพืชแซมตอนที่ยางมีอายุ 8 ปี ซึ่งเป็นยางที่เพิ่งเริ่มกรีดน้ำยาง

ระยะห่างระหว่างกอไผ่ การเว้นระยะกอไผ่ให้คำนึงถึงระยะต้นยางเป็นหลัก หากยางปลูก 9×9 เมตร สามารถปลูกไผ่ระยะห่าง 3-4 เมตร ถ้าผู้ปลูกวางแผนจะปลูกพืชอื่นแซมเพิ่มอีก เช่น ตะเคียน พะยูง มะฮอกกานี ให้ปลูกไผ่ระยะ 6 เมตร เพื่อต่อไปจะได้ปลูกพืชแซมระหว่างไผ่เพิ่มเติมได้อีก

หลุมที่ขุดสำหรับปลูกต้นไผ่ใช้กว้างยาวลึก 30 เซนติเมตรเท่ากัน รองก้นหลุมด้วยมูลสัตว์พอประมาณ โดยให้ปลูกหันทรงพุ่มของต้นพันธุ์ไปทางทิศตะวันออกเพื่อรับแสงช่วงเช้า ฤดูกาลที่เหมาะสมปลูกไผ่คือ ปลายฝนและหน้าหนาว เพราะไผ่จะพักตัวในช่วงแรกเพื่อสะสมอาหาร เมื่อเข้าต้นฤดูฝนปีถัดไป ไผ่จะตั้งกอได้เร็ว ไม่ต้องกลัวเรื่องติดแล้ง เพราะการปลูกไผ่เป็นพืชแซม ไผ่จะไม่ได้รับแดดโดยตรงคือแสงค่อนข้างรำไร ต้นพันธุ์จึงผ่านแล้งได้ หากผู้ปลูกไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลจริงๆ ให้ปลูกช่วงต้นฤดูฝน เพราะไผ่จะได้แข็งแรงก่อนเข้าแล้ง การดูแล ช่วงที่ต้นไผ่ยังเล็กอยู่ ให้ดูแลเรื่องวัชพืชรอบโคนต้นและควรใส่ปุ๋ยบำรุงบ้างตามสมควร ช่วงแรกเน้นสูตรเสมอ 15-15-15 มีมูลไก่ หรือมูลสัตว์อื่นสามารถใส่ได้บ่อยครั้ง

เจ้าของสวนไผ่อาบูเล่าว่า “ตอนที่ยางพาราคาตกก็เลิกใส่ปุ๋ยให้ต้นยาง เพราะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ก็หันมาเอาใจใส่ไผ่มากกว่า และในสวนยังมีผักอีกหลายชนิด เช่น ผักเหมียง ต้นส้มป่อย พลูกินกับหมาก ซึ่งขายเป็นรายได้เสริมได้ทุกสัปดาห์ จากการปลูกไผ่ในสวนแล้วนำเศษใบไผ่ใบไม้มากองไว้เป็นกองในสวนแล้วใส่จุลินทรีย์ พด.1 หมักเป็นกองปุ๋ยตามธรรมชาติ วิธีนี้ทำให้สภาพดินดี ดินชุมชื้นขึ้น ปริมาณน้ำยางก็อยู่ในเกณฑ์ดี และยังสังเกตเห็นว่าสวนยางแปลงอื่นเมื่อเข้าหน้าแล้งยางจะผลัดใบหมดทั้งสวน แต่ที่นี่ต้นยางจะค่อยๆ ผลัดใบ เพราะในดินมีความชื้นจากกอไผ่ช่วยค่อนข้างมาก”

สำหรับข้อแนะนำนี้ คุณบุญชู กล่าวว่า คนที่ทำงานมีเงินเดือนประจำอยู่แล้วที่คิดจะมาทำเกษตร ที่เขาเจอจะมีอยู่ด้วยกันสองกลุ่มด้วยกัน

แบบแรก คือ คนที่มีเงินเป็นทุนเดิม ที่คิดว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิตจากวิถีคนเมืองเป็นแบบสโลว์ไลฟ์ มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย คนกลุ่มนี้เขาจะเริ่มต้นทำยังไงก็ได้เพราะเขามีเงิน เมื่อล้มเหลวหรือเกิดความผิดพลาดก็เอาเงินมาลงใหม่ ซึ่งการทำลักษณะนี้ผมไม่แนะนำ เพราะผู้ทำจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากความล้มเหลวที่เกิดขึ้น

แบบที่สอง คือ กลุ่มคนที่อยากทำเกษตรจริงๆ แม้จะไม่มีความรู้เรื่องเกษตร แม้จะมีเงินทุนจำกัดก็สามารถทำได้ แต่เขาจะต้องเรียนรู้ให้มาก ควรเริ่มต้นจากการค้นหาคนต้นแบบที่สามารถจะขอคำแนะนำจากเขาได้ ลองทำในเวลาว่างควบคู่กับการทำงานปกติไปสักระยะ ทำไปเรียนรู้ไป จากความรู้ที่มีและจากการลงมือทำบ่อยๆ จะเกิดเป็นประสบการณ์ ทำไปเรื่อยๆ จนมั่นใจว่างานเกษตรเป็นเรื่องที่เราทำได้ ทำแล้วมีรายได้จริง จึงค่อยก้าวออกมาเต็มตัว

ผมไม่แนะนำให้ใครที่กำลังจะผันตัวเองมาทำเกษตร กระโจนเข้ามาทำโดยความอยากเพียงอย่างเดียว เพราะมันอาจล้มเหลวได้ง่ายๆ การจะทำเกษตรให้สำเร็จ ผู้ทำต้องมีความรู้และความตั้งใจจริงๆ รู้จักตัวเอง รู้จักสิ่งที่กำลังจะทำ เมื่อรู้แล้วก็ลงมือได้เลย”

ผู้เขียนนั่งอ่านเฟซบุ๊ก สวนไผ่อาบู มีคนใฝ่ฝันที่จะทำเกษตรจำนวนมากมาขอความรู้มาขอคำแนะนำ ทุกคนล้วนได้รับคำตอบจากคุณบุญชูด้วยความจริงใจเสมอ จากการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการนำประสบการณ์ด้านวิศวกรรมมาปรับใช้เข้าด้วยกัน ทำให้เขาสามารถถ่ายทอดประสบการณ์การทำเกษตรให้ผู้ที่สนใจได้เข้าใจแนวทางการทำเกษตรในแบบวิถีเกษตรที่ง่ายๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำเกษตรเข้ามาศึกษาเรียนรู้ที่สวนไผ่อาบูเป็นจำนวนมาก

เหนือสุดแดนอีสาน สัมผัสความงามแห่งธรรมชาติ กับทัศนียภาพสุดอันซีน เยือนถิ่นวิถีชุมชนท่องเที่ยว เสน่ห์แห่งภูมิปัญญาพื้นบ้าน สู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพ OTOP นวัตวิถี จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งฝรั่งหัวใจไทย “แดเนียล เฟรเซอร์” ผู้หลงรักวัฒนธรรมและประเพณีอันทรงคุณค่าของไทย พาท่องเที่ยวบึงกาฬตามแนวคิดการพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มุ่งดำเนินการตามแนวคิดโครงการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่ เน้นการสร้างรายได้สู่ชุมชน มอบหมายให้ รายการหลงรักยิ้ม ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เสน่ห์ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี พร้อมทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดการเดินทางสู่ชุมชน อันนำไปสู่การกระจายรายได้ สร้างฐานรากเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนใน โครงการ สื่อสารสร้างการรับรู้ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดบึงกาฬ ภายใต้ โครงการไทยนิยม ยั่งยืน

มนต์เสน่ห์ท่องเที่ยววิถีชุมชน บ้านแสงเจริญ เป็นหมู่บ้านรักษาศีล 5 สัมผัสผลิตภัณฑ์ OTOP อันประณีต ไม่ว่าจะเป็น การจักสานจากไม้ไผ่, ข้าวแต๋นจากข้าวก้นบาตร และถั่วตัด เป็นต้น พร้อมลิ้มรสอาหารพื้นบ้าน อย่าง ชิวหานภากาด เดินเที่ยวงานกตัญญูพระครูโพธิ์ จากนั้นไปสวดมนต์รับแสงแรก เสริมสร้าง สิริมงคล ที่วัดวัดเจติยาคีรีวิหาร หรือ ภูทอก ชมสะพานไม้แห่งศรัทธา ที่ใช้เวลาสร้างถึง 5 ปี จากความร่วมมือของ พระ สามเณร และชาวบ้าน มีทั้งหมด 7 ชั้น ซึ่งในแต่ละชั้นจะมีความหมาย และทัศนียภาพ

ที่แตกต่างกันไป จากนั้นไปสัมผัสความมหัศจรรย์สุดอันซีนแห่งภูสิงห์ จุดท่องเที่ยวสุดฟินที่ไม่ควรพลาด อย่าง “หินสามวาฬ” อายุราว 75 ล้านปี มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่ติดหน้าผาสูง แยกตัวเป็น 3 ก้อน เมื่อมองจากระยะไกลหินสามก้อนนี้จะดูคล้ายกับฝูงครอบครัววาฬ ที่ประกอบด้วยพ่อวาฬ แม่วาฬ และลูกวาฬ นากจากนี้ ในพื้นที่ของภูสิงห์ยังเต็มไปด้วยกลุ่มของก้อนหินรูปทรงต่างๆ หน้าผา และถ้ำ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ เกิดเป็นความสวยงามที่สะกดสายตาผู้มาเยือน ปิดท้ายด้วยชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองหิ้ง ชมต้นโพธิ์ใหญ่อายุยืนยาวที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ และ ต้นจำปา 100 ปี พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์พื้นบ้านไอเดียเก๋ งานหัตถกรรมอันภาคภูมิใจของชาวหนองหิ้ง อย่าง เครื่องจักรสานจิ๋ว ผลิตภัณฑ์แฮนเมดที่สามารถนำกลับไปเป็นของฝากได้อีกด้วย

สัมผัสเสน่ห์ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดบึงกาฬ กับฝรั่งหัวใจไทย “แดเนียล เฟรเซอร์” ในรายการหลงรักยิ้ม เริ่มวันเสาร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2561 เวลา 16.30 น. ทางช่อง 28 (3SD) พร้อมรับข่าวสารต่างๆ ของรายการได้ทาง Facebook:

พาณิชย์คาดปีการผลิต 61/62 ถือเป็นปีทองชาวนาไทย ราคาข้าวปีนี้สดใสคำสั่งซื้อต่อเนื่อง – ผลผลิตลดกว่า 20% จากปัญหาภัยแล้ง
ปีทองชาวนาไทยราคาข้าวสดใส – นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ปลายเดือนต.ค. 2561 โดยคาดการณ์แนวโน้มราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ยังคงมีราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมาทุกชนิดข้าว แม้ข้าวฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาด เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศ อาทิ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบแอฟริกา โดยในปีนี้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ปริมาณ 11 ล้านตันอย่างแน่นอน ประกอบกับสต๊อกข้าวของรัฐบาลเหลือในปริมาณที่น้อยมาก ส่งผลให้ปัจจัยลบที่เป็นตัวกดราคาข้าวในประเทศหมดไป

สำหรับข้าวหอมมะลิ พบว่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เช่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิเกิดภัยแล้ง ส่งผลให้ในบางพื้นที่ผลผลิตข้าวเปลือกคาดการณ์ว่าจะเสียหายมากกว่า 20% โดยราคาข้าว ความชื้น 15% ณ วันที่ 1 พ.ย. 2561 ข้าวเจ้า 5% ปรับตัวสูงขึ้นจาก 7,300-7,800 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 7,500-7,900 บาท/ตัน ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาจะไม่ปรับลดลงไปกว่านี้แล้ว ในส่วนข้าวหอมมะลิ ราคาปรับตัวสูงขึ้นจาก 11,550-14,550 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 14,450-17,500 บาท/ตัน (เกี่ยวสด 13,500-14,200) และจะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในแหล่งเพาะปลูกสำคัญ

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก รัฐบาลมีมาตรการในการรักษาเสถียรภาพด้านการตลาดโดยการดึงอุปทานออกสู่ตลาด 3 โครงการตั้งแต่เดือนพ.ย. ได้แก่ 1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท กรณีฝากเก็บไว้ในยุ้งฉางตนเอง และตันละ 1,000 บาท กรณีฝากเก็บไว้ที่สหกรณ์ และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาครัวเรือนละ 6,000 บาท

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายข้าวเปลือกมากขึ้นและทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ในพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการรับซื้อน้อย ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดจัดตลาดนัดข้าวเปลือก โดยนำผู้ประกอบการจากพื้นที่อื่นหรือนอกจังหวัดเข้ามาร่วมรับซื้อเพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ในการซื้อขาย รวมทั้งได้รับความเป็นธรรมในการชั่งน้ำหนักและวัดความชื้นด้วย

ดังนั้น ในปีการผลิต 2561/62 เกษตรกรมั่นใจได้ว่าข้าวจะมีราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ผลผลิตข้าวได้รับการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดลง จึงถือเป็นปีทองของพี่น้องชาวนาอย่างแท้จริง

พาณิชย์เผยสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 11 รายการ ตามเกณฑ์ว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน ชี้บ่งบอกถึงความนิยมสินค้าไทยในสหรัฐ แนะเอกชนฉวยโอกาสส่งออกสินค้าที่ประเทศอื่นๆ โดนตัดสิทธิ

ตัดจีเอสพีสินค้าไทย 11 รายการ – นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศผลการพิจารณาโครงการทบทวนพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา (จีเอสพี) สหรัฐประจำปี 2560 (Annual GSP Product Review) โดยได้ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าจาก 15 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนติน่า เบลิซ บอสเนีย บราซิล เอกวาดอร์ อียิปต์ ฟอล์กแลนด์ อินโดนีเซีย คาซัคสถาน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สุรินัม ตุรกี อินเดีย และไทย เนื่องจากมีการนำเข้าไปยังสหรัฐฯ เกินมูลค่าหรือเกินส่วนแบ่งตลาด180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหรือ 50% ตามเกณฑ์ว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน (Competitive Need Limit: CNLs) ที่สหรัฐฯ กำหนด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมาในปี 2560 สหรัฐฯ ได้ให้สิทธิจีเอสพีแก่ไทยครอบคลุมสินค้ากว่า 3,400 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,150.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตราการใช้สิทธิ 69.98% สำหรับสินค้าที่ถูกตัดสิทธิจีเอสพีรวมทั้งสิ้น 11 รายการ มีมูลค่าเท่ากับ 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 1.11% ของมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพีสหรัฐฯ ทั้งหมด ซึ่งสินค้าดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ดอกกล้วยไม้สด 2. ทุเรียนสด 3. มะละกอตากแห้ง 4. มะขามตากแห้ง 5. ข้าวโพดปรุงแต่ง 6.ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม 7. มะละกอแปรรูป 8. แผ่นไม้ปูพื้น 9.เครื่องพิมพ์ 10. เครื่องซักผ้า 11. ขาตั้งกล้องถ่ายรูป

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้กำหนดเกณฑ์การตัดสิทธิจีเอสพีโดยพิจารณาจากเกณฑ์มูลค่าการนำเข้าเกิน 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่วนแบ่งตลาด เกิน 50% โดยสินค้า 10 รายการของไทย มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% และ อีก 1 รายการ คือ เครื่องซักผ้า มีมูลค่าการนำเข้าเกิน 180 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ สำหรับสินค้าขาตั้งกล้องถ่ายรูป ฝ่ายไทยได้ตรวจสอบข้อมูลสถิตการค้าพบว่า ส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ มีเพียง 19.80% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ส่วนแบ่งตลาด 50% ซึ่งสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซีได้แจ้งไปยังสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (US Trade Representative) ขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง

สำหรับสินค้าที่ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีทั้ง 11 รายการ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิปี 2561 (มค.-ส.ค.) ประมาณ 28.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิ 14.3% และเมื่อถูกตัดสิทธิจีเอสพีจะเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติประมาณ 1-8% ทั้งนี้ ในการขอคืนสิทธิจีเอสพี รัฐบาลไทยสามารถยื่นคำร้องขอคืนสิทธิระหว่างการพิจารณาทบทวนรายการสินค้าประจำปี ในกรณีการนำเข้าสินค้านั้นของปีต่อไปจะต้องมีมูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ CNLs กำหนดและมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าไม่เกิน 50% โดยสำหรับกรณีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% จะต้องเป็นสินค้าที่ไม่มีการผลิตในสหรัฐฯ และไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ

“เรื่องนี้เป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้าย โดยข่าวร้ายคือเราโดนตัดสิทธิจีเอสพีทำให้สินค้าที่จะส่งออกไปยังสหรัฐต้องเสียภาษีที่ 1-8% ส่วนข่าวดีก็คือแสดงว่าสินค้าของไทยได้รับความนิยมจากตลาดสหรัฐอย่างมากมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% และส่วนแบ่งตลาด 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครั้งนี้ถือเป็นการถูกตัดสิทธิ์มากที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะเดียวกันยังพบว่าปลาดาบแช่เย็นแช่แข็ง จากประเทศเอกวาดอร์ พรมถักด้วยมือ ผักสดและผลไม้ปรุงแต่งจากอินเดียถูกตัดสิทธิ์จากจีเอสพี ดังนั้น หากผู้ผลิตไทยสามารถผลิตป้อนตลาดสหรัฐฯ ทดแทนการนำเข้าจากประเทศที่ถูกตัดสิทธิ ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ไทยสามารถเปิดตลาดและขยายการส่งออกสินค้าประเภทใหม่ๆ ไปยังตลาดสหรัฐฯได้” นายอดุลย์ กล่าว

ค้าภายในเผยข้าวหอมมะลิเกรดเอราคา 18,000 บาทต่อตัน สูงเป็นประวัติการณ์ แนะให้ชาวนาทยอยขายเพื่อไม่ให้กดราคาข้าว เมื่อผลผลิตออกมามีผลต่อความต้องการรถเกี่ยว หน่วยงานที่เกี่ยวหารือพร้อมช่วยเหลือลดราคา ลดค่าธรรมเพื่อลดราคาให้ชาวนา

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมถึง “แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวเพื่อยกระดับราคาข้าวให้แก่เกษตรกร” ว่าจากประมาณการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าผลผลิตข้าวนาปี 2561/62 ประมาณ 25 ล้านตันข้าวเลือก โดยแบ่งเป็นข้าวขาวและข้าวทั่วไปประมาณ 18 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก ปัจจุบันผลผลิตข้าวเริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่แนะให้ชาวนาทยอยขายเพื่อไม่ให้กดราคาข้าวลง โดยรัฐบาลมีมาตรการชะลอขายนำข้าวขึ้นยุ่งฉาง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

แต่สำหรับช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 เป็นช่วงที่ข้าวหอมมะลิออกมากที่สุด โดยเฉพาะภาคอีสานประมาณ 5 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ยอมรับว่าผลผลิตปีนี้น้อย เนื่องจากหลายพื้นที่ลดพื้นที่เพาะปลูกลง เพราะปัญหาน้ำไม่มี ผลผลิตต่อไร่ก็ลดลงจาก 800-900 กิโลกรัมต่อไร่ มาอยู่ที่ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้น ราคาข้าวขณะนี้จึงเป็นปีทองของชาวนา โดยข้าวหอมมะลิเกรดเออยู่ที่ 16,000-18,000 บาทต่อตัน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ดังนั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่ข้าวออกมามาก ความต้องการรถเกี่ยวข้าวจึงมีความต้องการเพิ่มขึ้น ปัจจุบันรถเกี่ยวข้องทั้งประเทศมีปริมาณ 30,000 คัน ประมาณ 15,000 คัน จะอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน เชื่อว่าปริมาณรถมีเพียงพอ ต่อความต้องการและเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรช่วงเกี่ยวข้าว กรมการค้าภายในจึงร่วมหารือกับชมรมรถเกี่ยวนวดข้าวไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย ในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะค่าบริการ บางพื้นที่รถเกี่ยว รถนวดข้าวไม่เพียงพอ ทำให้เกษตรกรเกี่ยวข้องไม่ทันบ้าง จะทำอย่างไร

เบื้องต้นที่ประชุมเห็นร่วมที่จะช่วยโดยการลดค่าบริการจากเดิม 700 บาทต่อไร่ ลงมาอยู่ที่ 400-500 บาทต่อไร่ ซึ่งก็จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับชาวนา สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะอำนวยความสะดวกในการอนุญาตให้ผู้ประกอบการรถเกี่ยวบรรทุกขนย้ายรถเกี่ยวนวดข้าว ปีการผลิต 2561/62 เป็นการชั่วคราวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยผ่อนผันให้รถเกี่ยวข้าววิ่งบนถนนทางหลวงได้ ซึ่งจากเดิมห้าม เนื่องจากรถเกี่ยวข้าวมีขนาดและความกว้างเกินกฎหมายกำหนด แต่จะผ่อนผันให้ในช่วงดังกล่าว และจะไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมในการนำรถมาวิ่งบนถนน

พร้อมกันนี้ก็จะประสานไปทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พิจารณายกเว้นหรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวนอกสถานที่ในอัตราต่ำสุดด้วย นอกจากนี้ ยังจะหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ช่วยลดค่าธรรมเนียม หรือขอยกเว้นเรียกเก็บ กรณีที่รถเกี่ยวข้าวเป็นเครื่องจักที่ก่อให้เกิดมลภาวะลงเพื่อเป็นการลดภาระให้กับชาวนา เนื่องจากภาระดังกล่าวนี้ถูกผลักไปอยู่ที่ชาวนา ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็จะเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณะสุขในการพิจารณาช่วยเหลือต่อไป

สำหรับกรณีกระแสข่าวที่พบว่ามีการพบว่ามีการนำข้าวขาวจากปทุม และสุพรรณบุรี ปนกับข้าวหอมมะลิและนำไปขายที่ภาคอีสาน นายวิชัยกล่าวว่า กรมฯไม่ได้นิ่งนอนใจได้ประสานไปทางพาณิชย์จังหวัด ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ติดตามและตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แต่ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการปลอมปนจริง แต่เพื่อป้องกันปัญหาได้กำชับเจ้าหน้าที่ หากพบเห็นให้ตรวจสอบหากพบว่ากระทำผิดให้ดำเนินการทางกฎหมายทันที ซึ่งมีโทษทางอาญา เรื่องของฉ้อโกง และปลอมปนสินค้า ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าโรงสีมีความชำนาญในเรื่องของการดูข้าวอยู่แล้ว จึงมองว่าโรงสีสามารถแยกชนิดข้าวได้