คุณต้อม บอกว่า ตลาดต้องการมะละกอผิวสวย รสชาติหวาน อร่อย

ก่อนเก็บผลผลิตออกขาย คุณต้อมต้องตรวจเช็กคุณภาพสินค้ามะละกอทุกล็อตว่า ผิวเสียหรือเปล่า รสชาติหวานหรือไม่ การควบคุมสินค้าให้ได้มาตรฐานทุกล็อต ทำให้คุณต้อมได้รับความไว้วางใจจากผู้ซื้อและสามารถกำหนดราคาขายมะละกอได้เอง ขณะที่มะละกอจากแหล่งผลิตทั่วไป แม่ค้าจะเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อเป็นหลัก คุณต้อมจะคำนวณราคาขายสินค้าโดยประเมินจากราคาซื้อขายมะละกอในทุกภาคทั่วประเทศก่อนแจ้งผู้ซื้อ

สวนคีโม สไมล์ ฟาร์ม
สวนแห่งนี้ดูแลให้น้ำแปลงปลูกมะละกอวันเว้นวัน ให้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ฮอร์โมนไข่ น้ำหมักรกหมู ทุกๆ 10 วัน ให้ปุ๋ยเคมีทุกๆ 15 วัน หากพบโรคและแมลง ก็ให้สารกำจัดบ้าง หลังปลูกเพียงแค่ 8 เดือน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ 250 กิโลกรัม/ไร่ ทุกๆ 3 วัน ดังนั้น พื้นที่ปลูกมะละกอ 5 ไร่ จะเก็บผลผลิตได้ 1,250 กิโลกรัม ทุกๆ 3 วัน เมื่อคิดราคาขายขั้นต่ำสุด ที่กิโลกรัมละ 10-15 บาทแล้ว เท่ากับจะมีรายได้เฉลี่ย 25,000-38,000 บาท/สัปดาห์ทีเดียว ในขณะที่ต้นทุนค่าปุ๋ยและยาต่อสัปดาห์ อยู่ที่ 2,500 บาท เท่านั้น

เมื่อต้นมะละกอมีอายุเข้าปีที่ 2 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นสูงอีกเท่าตัว ในปีที่ 2 หลังเก็บผลผลิตไปต่อเนื่องสัก 6 เดือน ก็จะหมดรอบการผลิต พักต้นไปอีก 3-4 เดือน ก็จะเริ่มติดผลรอบใหม่ จนกระทั่งต้นมะละกออายุครบ 3 ปี ต้นมะละกอฮอลแลนด์ก็จะให้ผลผลิตน้อยลง ให้รื้อแปลงเพื่อลงทุนปลูกใหม่

ผลิตมะละกอครบวงจร
นอกจากขายผลมะละกอสุกแล้ว คุณต้อม ยังผลิตต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์พันธุ์แท้ (2-3 ต้น/ถุง ขายถุงละ 6 บาท)และเมล็ดพันธุ์มะละกอ (ราคาขีดละ 700 บาท) ออกจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจปลูกมะละกอทั่วประเทศ คุณต้อม เริ่มขายต้นพันธุ์และเมล็ดพันธุ์มะละกอตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะต้นพันธุ์ที่นำไปปลูกมีคุณภาพดี เติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ และให้ผลผลิตคุณภาพดีตรงกับความต้องการของตลาด

“ผมไปสอนเกษตรกรลูกไร่ เรื่องการคัดต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ว่า ชนิดไหนที่เก็บทำพันธุ์ได้ โดยสังเกตจากใบมะละกอที่มีธงใบและให้ผลมะละกอ ที่มีรูปทรงสวยได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ จึงคัดเป็นต้นพันธุ์ นอกจากนี้ อายุของต้นพันธุ์ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเก็บพันธุ์จากต้นมะละกอที่แข็งแรงสมบูรณ์ อายุ 2 ปี เท่านั้น” คุณต้อม กล่าว

“ปุ๋ยอินทรีย์เคมี” ตัวช่วยลดต้นทุน
สวนมะละกอทั่วไป นิยมใช้ปุ๋ยเคมีเป็นส่วนใหญ่ จึงมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ช่วงมะละกอต้นเล็ก จะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 หลังจากนั้นอีก 2 เดือน เติมปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 และปุ๋ยสูตร 16-16-16 หลังต้นมะละกอติดดอก-คัดเพศแล้ว จะใส่ปุ๋ย 8-24-24 โดยใช้ปุ๋ยเคมีทั้ง 3 สูตร ใส่สลับกันไปมา วิธีนี้จะช่วยให้ต้นมะละกอเติบโตงอกงาม ให้ผลดกก็จริง แต่เสี่ยงเป็นโรคพืชได้ไว

คุณต้อม เลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีดูแลแปลงปลูกมะละกอ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างลงตัว สวนแห่งนี้ปลูกมะละกอ 1,000 ต้น เสียค่าปุ๋ย 2 ลูกครึ่ง แบ่งเป็นปุ๋ยเคมี 1 ลูก (ราคา 1,000 บาท) และปุ๋ยอินทรีย์ 1.5 ลูก (ปุ๋ยขี้หมู ราคาลูกละ 150 บาท เท่ากับ 450 บาท/ครั้ง) โดยเติมปุ๋ยบำรุงดินทุกๆ 15 วัน

ขณะที่สวนมะละกอทั่วไปที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลักจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยเคมี ครั้งละ 3,000 บาท แต่สวนแห่งนี้ เสียต้นทุนค่าปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพียงแค่ 1,450 บาท เท่านั้น เท่ากับประหยัดต้นทุนไปถึงครึ่งต่อครึ่งทีเดียว

คุณต้อม กล่าวว่า โดยทั่วไปสวนมะละกอที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก จะได้ผลผลิตประมาณ 40-50 ผล/ต้น แต่สวนแห่งนี้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมี จะได้ปริมาณผลผลิตสูสีใกล้เคียงกัน สินค้ามีคุณภาพเหมือนกัน แต่มีรายได้น้อยกว่า ก็ไม่เป็นไร

“เจ้าของสวนมะละกอบางราย ที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก หลังเห็นต้นมะละกอได้ผลผลิตดกเต็มคอ ก็เฝ้ารอแต่วันเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นหลัก ละเลยการใส่ปุ๋ยเคมีในบางครั้ง ทำให้ต้นมะละกอหิว เพราะขาดอาหาร โดยธรรมชาติแล้ว มะละกอมีเชื้อไวรัสแฝงอยู่ในทุกต้นเหมือนกับโรคมะเร็งที่อยู่ในตัวมนุษย์ เมื่อต้นมะละกอขาดอาหาร ในช่วงที่กำลังเลี้ยงลูก ทำให้ต้นมะละกออ่อนแอ และเกิดไวรัสด่างวงแหวนระบาดได้ง่าย เจ้าของสวนก็ต้องทุ่มยาเข้าใช้แก้ไข ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายเข้าไปอีก” คุณต้อม กล่าว

เมื่อถามถึงต้นทุนการทำสวนลักษณะนี้ คุณต้อม คำนวณให้ฟังคร่าวๆ ว่า สวนมะละกอฮอลแลนด์ เนื้อที่ 4 ไร่ ที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก เมื่อเก็บผลผลิตออกขายจะมีรายได้ 400,000 บาท หักต้นทุนการผลิตออก 50% จะมีผลกำไรเหลือ 200,000 บาท แต่สวนมะละกอของคุณต้อมเก็บผลผลิตออกขายได้ 300,000 บาท แต่ใช้เม็ดเงินลงทุนน้อยกว่า เพียงแค่ 60,000-70,000 บาท เท่านั้น หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วยังเหลือผลกำไร ประมาณ 230,000-240,000 บาท ซึ่งคุณต้อมมองว่า ผลตอบแทนที่ได้คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม

การปลูกดูแลต้นมะละกอโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีของคุณต้อม มีจุดเด่นหลายประการ คือ

1. ใช้ต้นทุนน้อยกว่า หักค่าใช้จ่ายแล้ว ถือว่าได้ผลกำไรดีคุ้มค่ากับการลงทุน

2. ต้นมะละกอเติบโตแข็งแรงกว่าแปลงที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก เพราะต้นมะละกอได้กินปุ๋ยเคมีเป็นอาหารจานด่วนอย่างรวดเร็วแล้ว ยังได้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นอาหารเสริม (ละลายช้า) เท่ากับต้นมะละกอมีอาหารกินตลอด ทำให้ต้นมะละกอไม่ค่อยเจอปัญหาโรคไวรัสด่างวงแหวน เป็นศัตรูพืชสำคัญของมะละกอ

ที่ผ่านมา สวนแห่งนี้ปลูกมะละกอ 1,000 ต้น เจอปัญหาโรคไวรัสด่างวงแหวนเพียงแค่ 10 ต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นมะละกอที่กำลังมีลูกดก ชาวสวนทั่วไปเมื่อเห็นต้นมะละกอให้ผลดก มักไม่ค่อยใส่ปุ๋ยบำรุงต้น แต่คุณต้อมจะไม่ปล่อยให้มะละกอที่มีผลดกขาดอาหาร เพราะเสี่ยงทำให้โรคไวรัสจุดวงแหวนระบาดขึ้นยอดต้นมะละกอทันที

เมื่อเจอโรคไวรัสจุดวงแหวน คุณต้อมจะใช้วิธีตัดต้นมะละกอต้นนั้นทิ้งทันที เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเผาทำลายต้น ณ จุดเกิดเหตุ เพราะไวรัสจุดวงแหวนมะละกอ เกิดจากไวรัสที่มีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำมาแพร่ระบาด เป็นโรคที่ไม่มีสารเคมีใดๆ สามารถกำจัดเชื้อได้โดยตรง ฉะนั้น การป้องกันกำจัดการแพร่ระบาดของโรค ต้องใช้วิธีกำจัดแมลงพาหะเป็นหลัก หากเคลื่อนย้ายต้นที่เป็นโรคไปยังจุดอื่น เสี่ยงทำให้เพลี้ยอ่อนที่เป็นแมลงพาหะมีโอกาสกระจายไปยังมะละกอต้นอื่นได้ง่าย

สวนมะละกอโดยทั่วไป มักมีแมลงศัตรูพืชอีกหลายชนิด เช่น เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว คุณต้อม มักกำจัดแมลงศัตรูพืชเหล่านี้ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือสุมควันไล่แมลง โดยนำเศษวัสดุใบไม้ใบหญ้า ที่หาได้ในท้องถิ่น หรือนำยางล้อรถยนต์มาตัดเป็นชิ้นเล็กสุมไฟให้เกิดควันไล่แมลง โดยย้ายจุดสุมควันไปทั่วสวนมะละกอ

ปรากฏว่า เทคนิคง่ายๆ แบบนี้ ช่วยป้องกันการระบาดของโรคและแมลงได้ผลดีอย่างน่าทึ่ง ทำให้สวนแห่งนี้ไม่ค่อยเจอปัญหาการระบาดของโรคแมลงเหมือนกับสวนอื่นๆ ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายและแรงงานในการดูแลสวนมะละกอได้อย่างดี

ข้อแนะนำการลงทุน
สำหรับเกษตรกรรายใดที่ปลูกไม้ผลอยู่แล้วและยังพอจะมีพื้นที่ว่าง ให้ลองนำมะละกอฮอลแลนด์ไปทดลองปลูกดู โดยคุณต้อมให้คำแนะนำว่า ควรลงทุนปลูกมะละกอฮอลแลนด์อย่างน้อยสัก 5 ไร่ก่อนในเบื้องต้น ปลูกมะละกอจำนวน 250 ต้น เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอสำหรับผู้รับซื้อ โดยมีต้นทุนค่าทำแปลง ค่าต้นพันธุ์ ค่าวางระบบน้ำ ประมาณ 25,000 บาท มะละกอฮอลแลนด์ หาตลาดได้ไม่ยาก ให้ลองไปคุยกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดใหญ่ๆ ดูก่อน

“ตลาด คือหัวใจสำคัญของการทำสวนมะละกอ ก่อนอื่นเกษตรกรควรไปพูดคุยกับแม่ค้าก่อนว่า จะปลูกมะละกอฮอลแลนด์สักเท่าไร จะปลูกสักกี่ต้น กี่ไร่ ปริมาณผลผลิตเท่านี้ แม่ค้าจะลงมารับซื้อถึงไร่ของเราได้ไหม หรือจะให้ชาวสวนรวบรวมผลผลิตไปส่งขายที่ตลาด

หากผลผลิตเยอะสัก 2-3 ตัน/รอบ ส่วนใหญ่แม่ค้าจะนำรถมารับซื้อผลผลิตถึงสวน หากผลผลิตน้อยๆ ไม่กี่ร้อยกิโลกรัม ลองหาตลาดรับซื้อในท้องถิ่น หากรวบรวมผลผลิตได้เป็นตันขึ้นไป แม่ค้าตีรถมารับซื้อถึงสวน แต่จังหวะนั้นแม่ค้าไม่มีรถ เราก็ตีรถขึ้นไปส่งถึงตลาดแทน” คุณต้อม กล่าวในที่สุด

ปัจจุบัน สวนมะละกอคีโม สไมล์ ฟาร์ม เปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมกิจการและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการจัดการสวนมะละกอ รวมทั้งเลือกซื้อมะละกอรสชาติหวานหอมติดมือกลับบ้าน หากสนใจติดต่อ กับ คุณอมรเทพ (ต้อม) และ คุณศิริวรรณ (ผึ้ง) เสือสังโฆ ได้ที่ สวนคีโม สไมล์ ฟาร์ม บ้านเลขที่ 270/2 หมู่ที่ 1 ตำบลสนามคลี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เบอร์โทร. 084-800-8866 ได้ทุกวัน

คณะผู้บริหารคลังประจำจังหวัดพะเยา เปิดโครงการคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดพะเยา (คบจ.) ร่วมใจส่งเสริมเกษตรปลอดภัย ด้วยน้ำหมักชีวภาพ โดยใช้โดรน ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพลดต้นทุนการผลิต

คุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดโครงการ คบจ. ร่วมใจส่งเสริมเกษตรปลอดภัย ด้วยน้ำหมักชีวภาพ ที่บ้านจำป่าหวาย ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดพะเยา หรือ คบจ. ประกอบด้วยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการเงินในสังกัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานของคณะผู้บริหารการคลัง ประจำจังหวัดพะเยา สอดรับกับยุทธศาสตร์จังหวัด ด้านการส่งเสริมเกษตรปลอดภัย และการค้าการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจังหวัดพะเยามีพื้นที่เกษตรปลอดภัยเพิ่มขึ้น พื้นที่เพาะปลูก 975 ไร่ ได้รับผลกระทบราคาใบยาสูบตกต่ำ จากโครงการรณรงค์งดสูบบุหรี่ของทุกภาคส่วน

ดังนั้น สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่พะเยา และสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดพะเยา ได้คิดค้นสูตรน้ำหมักชีวภาพ กำจัดแมลงศัตรูพืช ที่ผลิตจากสุราพื้นบ้านผสมใบยาสูบ และสมุนไพรพื้นบ้าน นำไปฉีดพ่นในพืชได้ทุกชนิด และมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืช หากเก็บน้ำหมักชีวภาพไว้เป็นเวลานาน น้ำหมักจะกลายเป็นปุ๋ยน้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สำหรับวิธีการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ จะใช้นวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา ลดการสูญเสียน้ำหมัก และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดพ่นสารแบบดั้งเดิม หรือการใช้คนเดินฉีด สอดรับกับนโยบายเกษตรยุค 4.0 ของรัฐบาล ผลผลิตทางการเกษตรจะไม่มีสารพิษตกค้าง ทำให้ปลอดภัยกับตัวเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภค

เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ โดรน (Drone) หรือ ยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) ถือเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่กำลังถูกหลายฝ่ายจับตามองอยู่ในขณะนี้ เพราะทำหน้าที่ในการบังคับเครื่องบินแทนมนุษย์ ทั้งนี้ บทบาทของ โดรน หรือเรียกอีกอย่างว่า อากาศยานไร้คนขับ กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำธุรกิจในวันนี้ ต่างจากอดีตที่โดรนถูกใช้ในการทหารและภารกิจป้องกันประเทศเป็นหลัก โดยผลการศึกษาที่ผ่านมา ระบุว่า 64% ของผู้บริหารทั่วโลกเชื่อว่า ในอนาคตเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) จะยิ่งถูกนำมาผนวกอยู่ในรูปแบบการทำธุรกิจและถูกประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายครอบคลุมแทบทุกสายอุตสาหกรรม

ถ้าพูดกันตามภาษาชาวบ้านแล้ว โดรน คือ เครื่องบินอัตโนมัติที่เราเห็นคุ้นตาบนท้องฟ้าในเวลานี้ เช่น การใช้โดรนเพื่อบันทึกภาพหรือเหตุการณ์จากมุมสูง การสำรวจพื้นที่การเกษตรและชลประทาน การสำรวจท่อส่งก๊าซ การเก็บข้อมูลสภาพอากาศ สภาพการจราจร และการลำเลียงขนส่ง เป็นต้น ตามปกติหลักการทำงานของโดรนใช้เพื่อเป็นตัวตรวจจับ ขนส่ง วิจัย โจมตี ค้นหา และช่วยเหลือ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 Multirotor UAVs เป็นประเภทที่พบเห็นบ่อยมากที่สุด เคลื่อนตัวได้รวดเร็วและคล่องแคล่ว เนื่องจากมีทั้งแบบ 4, 6 และ 8 ใบพัด ไม่ต้องใช้รันเวย์ในการบิน แต่มีข้อเสียคือ ขีดความเร็วของการบินน้อยกว่าโดรนประเภทอื่นๆ จึงทำให้บินได้ช้ากว่า ในปีที่ผ่านมา โดรนประเภทนี้ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 77%

ประเภทที่ 2 Fixed-wing drones มีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับเครื่องบิน จึงต้องมีรันเวย์ ซึ่งโดรนประเภทนี้สามารถบินได้นานกว่าและเร็วกว่า เหมาะกับการใช้งานเพื่อสำรวจในพื้นที่กว้างใหญ่ แถมยังบรรทุกของหนักได้ในระยะไกล และใช้พลังงานน้อย

ประเภทที่ 3 Hybrid model (tilt-wing) สามารถบินได้เร็วกว่า ไกลกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบที่ 2 แถมไม่ต้องใช้รันเวย์ แต่โดรนประเภทนี้มีอยู่น้อยในตลาดโลก อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ปัจจุบัน โดรนถูกพัฒนาให้ใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการบินสำรวจพื้นที่การเกษตร หรือพื้นที่ที่ต้องการการตรวจสอบและดูแล นอกจากนี้ หลายคนอาจจะคุ้นตาและรู้จักโดรนเฉพาะด้านที่ใช้ในการถ่ายวิดีโอ สารคดี และบันทึกภาพที่มีความละเอียดสูง ยิ่งไปกว่านั้น โดรนยังมีความสามารถในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ภาพหรือข้อมูลนั้นๆ เช่น วิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental impacts) ในบริเวณนั้นๆ และยังวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เป็นต้น

ด้วยประโยชน์ของโดรนที่มีมากมายมหาศาลนี่เอง ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกนำโดรนมาใช้งานในรูปแบบต่างๆ เช่น ใน สหราชอาณาจักร มีการใช้โดรนในอุตสาหกรรมระบบรถไฟในประเทศเพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงรางรถไฟฟ้าผ่านดิจิทัล และการวิเคราะห์แบบสามมิติ (3D) หรือ บริษัทใน ญี่ปุ่น คิดค้นโดรนสำหรับการตรวจสอบและซ่อมแซมระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สะพาน ทางเดินรถ โดยมีจุดเด่นในการบินราบไปกับในแนวเสาทำให้สำรวจและตรวจสอบความเสียหายได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ โดรนยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร ไม่ใช่เพียงแต่การหว่านเมล็ดพันธุ์แทนการใช้คนเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจสอบคุณภาพของพืชพันธุ์ ตรวจสอบการเพาะปลูก วิเคราะห์ดินและพื้นที่การเกษตร รวมไปถึงสำรวจหาพื้นที่ขาดน้ำด้วยระบบเซนเซอร์ได้อีกด้วย ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ของโลกอย่าง Amazon ก็กำลังทดสอบเทคโนโลยีโดรนสำหรับใช้ขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าภายใต้ชื่อว่า Amazon Prime Air โดยต้องการร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าให้เหลือเพียง 30 นาที หลังได้รับออเดอร์

คุณสมบัติที่โดดเด่นของโดรนที่สามารถทำงานแทนมนุษย์ในหลากหลายด้าน ทั้งสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ ประมวลผล อีกทั้งประหยัดเวลา และลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้โดรนเป็น 1 ใน 8 ของเทคโนโลยีสำคัญในอนาคต ขณะที่การใช้งานของโดรนจะเป็นไปในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีระหว่าง ปี 2558 ถึง 2563 อยู่ที่ 19% เทียบกับทางทหารมีเพียง 5% เท่านั้น

โดยการจัดโครงการในครั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่การปลูกกระเจี๊ยบเขียวของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตกระเจี๊ยบเขียวจังหวัดพะเยา ดำเนินการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (Drone) จำนวน 20 ไร่

มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการในพื้นที่บ้านจำป่าหวาย หมู่ที่ 3 ตำบลจำป่าหวาย อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรนำน้ำหมักชีวภาพไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิตจากการซื้อสารเคมีที่มีราคาแพง สนับสนุนให้มีการใช้สารอินทรีย์ ประชาชนมีสุขภาพดี และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการพัฒนาการเกษตรสู่เกษตรอินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

มะงั่ว เป็นไม้จำพวกส้มชนิดหนึ่ง ที่หาดูต้นของจริงได้ยาก แม้จะมีชื่อและข้อมูลปรากฏในตำราเก่าๆ อยู่บ้าง แต่จะหาภาพถ่ายจากต้นจริงไม่ค่อยได้ ดังนั้น จึงเป็นไม้ผลที่พวกเราควรจะมาทำความรู้จักให้มากขึ้น ใน “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ฉบับนี้ จะได้เลิกคิดว่า มะงั่ว เป็นแต่เพียงผลไม้ในตำนานเสียที แล้วก็มาดูย้อนหลังกันว่า คนโบราณท่านใช้มะงั่วเป็นยาอย่างไรบ้าง

มะงั่ว เป็นไม้ผลที่มีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละถิ่น แถบอีสาน เรียกว่า หมากเว่อ เชียงใหม่ เรียกว่า มะโว้ช้าง และในถิ่นอื่นๆ เรียกต่างไปอีกว่า มะนาวควาย มะนาวริปน ส้มนาวคลาน และส้มละโว้ เป็นต้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้บันทึกเรื่องของมะงั่ว ไว้ว่า

“มะงั่ว น. ชื่อไม้ต้นขนาดเล็ก ชนิด UFABET Citrus ichangensis Swing. ในวงศ์ Rutacea ผลคล้ายส้มโอ รสเปรี้ยวจัด ใช้ประสมกับขมิ้นเพื่อย้อมผ้า” ทางภาคอีสานท่านจัดให้ มะงั่ว เป็นผลไม้พวกเดียวกับส้มซ่า

นอกจากจะใช้น้ำเป็นของเปรี้ยวแทนมะนาวแล้ว เราก็ได้ทราบเพิ่มเติมอีกว่า คนสมัยก่อนใช้น้ำมะงั่วในการย้อมผ้าสีเหลืองอีกด้วย เข้าใจว่าคงจะช่วยทำให้สีสดขึ้นหรือติดทนทานยิ่งขึ้นกระมัง?

การที่เราจะระบุว่าผลไม้หรือต้นไม้ชนิดใดเป็นไม้โบราณนั้น ทางหนึ่งคือ ตรวจดูว่าพรรณไม้ชนิดนั้นๆ ได้ถูกเอ่ยชื่อไว้ในตำรับยาในพระคัมภีร์แพทย์แผนไทยของเก่าหรือไม่ หากมีเอ่ยชื่อไว้ เราก็นับเอาไว้ในสมุนไพรโบราณได้

แต่หากไม่มีระบุไว้ก็อาจจะไม่นับเข้าเป็นต้นไม้โบราณก็ได้ (แต่ก็อาจจะนับเข้าเป็นไม้โบราณได้ หากมีชื่อปรากฏในตำรับยาที่เก่ารองลงมา โดยเฉพาะหากเป็นตำราที่แพทย์แผนไทยรุ่นเก่าที่น่าเชื่อถือได้บันทึกเอาไว้)

สำหรับมะงั่วนั้น เราเชื่อได้ว่าเป็นผลไม้โบราณอย่างแน่นอน เพราะมีระบุชื่อไว้ในพระคัมภีร์แพทย์แผนไทยของเก่า อันได้แก่ พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์,-ธาตุวิภังค์,-มหาโชตรัต,-โรคนิทาน,-ธาตุวิวรณ์,-ธาตุบรรจบ และพระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา แม้จะไม่ถูกระบุชื่อไว้ในพระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) ก็ตาม

จากพระคัมภีร์แพทย์ของเก่าที่เอ่ยชื่อมานั้น ท่านใช้ส่วนต่างๆ ของมะงั่วเข้าในตำรับยา อันได้แก่ เมล็ดในมะงั่ว ใบมะงั่ว รากมะงั่ว ผิวเปลือกผลมะงั่ว น้ำมะงั่ว และที่ระบุว่า มะงั่วเฉยๆ ก็มี และโรคที่ท่านระบุชื่อว่าแก้ได้ ได้แก่ โรคกุมารสำรอกและสะอึก โรคซาง โรคละอองแสงเพลิง โรคลมบ้าหมู โรคมูกเลือด โรคลม โรคป่วง โรคหืดหรือไอ โรคสันนิบาต โรคนอนไม่หลับ โรคเสมหะพิการ โรคริดสีดวง โรคเกี่ยวกับตับ และโรคกษัยที่เกิดเถาดานโลหิตในท้อง เป็นต้น

เมื่อย้อนกลับมาดูตำราแพทย์แผนไทยรุ่นหลังๆ เช่น สารานุกรมสมุนไพร ของ อาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช ท่านระบุสรรพคุณของมะงั่ว ไว้ว่า น้ำในผล-รสเปรี้ยว ฟอกโลหิต ระดู แก้ไอ กัดเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน และ ราก-รสปร่าจืด กระทุ้งพิษ แก้พิษผิดสำแดง แก้พิษฝีภายใน และแก้เสมหะเป็นโทษ

ในขณะที่หนังสือ ช่วยสอบวิชาเภสัชกรรมแผนโบราณ ของ อาจารย์มัธยัสถ์ ดาโรจน์ ระบุสรรพคุณของน้ำมะงั่วและรากมะงั่วไว้ตรงกันกับที่อาจารย์วุฒิระบุไว้ แต่มีเพิ่ม ผิวจากผลมะงั่วว่า มีสรรพคุณแก้ลม และขับลมในลำไส้อีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่พวกเราควรจะรู้เอาไว้