คุณยุ้ย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกเมล่อนให้ฟังว่า

ก่อนที่ครอบครัวของตนเองจะหันมาปลูกเมล่อนญี่ปุ่นเป็นอาชีพหลัก คุณพ่อคุณแม่มีอาชีพเป็นเกษตรกรทำนาปลูกข้าว ปลูกผักบุ้งมาก่อน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงหลายปีหลังมานี้ราคาข้าวค่อนข้างตกต่ำ สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูง เป็นสาเหตุทำให้ต้องหาอาชีพอย่างอื่นมารองรับ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยนำองค์ความรู้มาจากคุณพ่อ คือ คุณสว่าง สุขนุ่ม ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการปลูกเมล่อนจากหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการที่ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดขึ้น นำไปสู่การนำเอาองค์ความรู้ที่ได้มาจากการไปศึกษาดูงานมาต่อยอดทำฟาร์มเมล่อนเป็นของตัวเอง โดยคุณพ่อจะอยู่ในฝ่ายการผลิต ส่วนตนเองทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพของสินค้าในฟาร์ม เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานสามารถส่งห้างสรรพสินค้าได้อย่างไม่ติดขัด

ปัจจุบัน คุณสว่างถือเป็นมือโปรด้านการปลูกเมล่อน มีการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา” มีสมาชิกทั้งหมด 30 คน มีพื้นที่ปลูกเมล่อนรวมทั้งหมด 100 โรงเรือน แบ่งเป็นเฉพาะของที่ฟาร์มเอง 20 โรงเรือน และของสมาชิกอีก 80 โรงเรือน มีการจัดการวางแผนการปลูกสลับหมุนเวียนกันภายในกลุ่มทุกสัปดาห์ เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี

โดยหลักๆ เน้นปลูกเมล่อนญี่ปุ่น 2 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ 1. อาซาฮี มีจุดเด่นที่เนื้อสีส้ม รสชาติหวาน กรอบ และ 2. มิโดริ มีจุดเด่นที่เนื้อสีเขียว รสชาติหวานนุ่ม หอม ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 14-16 บริกซ์ และขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว อาศัยความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เช่น ถ้าหากเป็นลูกค้าที่เข้ามาซื้อถึงหน้าฟาร์มจะเลือกตัดผลแก่ที่มีความหวานฉ่ำให้ แต่ถ้าหากตัดผลผลิตส่งให้กับทางห้างสรรพสินค้า ความหวานจะอยู่ที่ประมาณ 14 บริกซ์ เป็นมาตรฐาน

เทคนิคการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นส่งห้าง ปัจจัยสำคัญอยู่ที่เวลาและการใส่ใจ

คุณยุ้ย อธิบายถึงเทคนิคการปลูกเมล่อน GAP ให้ฟังว่า เป็นการปลูกเมล่อนในโรงเรือนทั้งหมด เพื่อเน้นคุณภาพ ความปลอดภัยให้กับลูกค้า และยังสามารถการันตีกับลูกค้าได้ว่า ผลผลิตเมล่อนที่ซื้อจากฟาร์มของเราไป สามารถตรวจสอบที่มาของแหล่งผลิตได้ทุกลูก เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในมาตรฐานของผลผลิต รวมถึงการเน้นไปที่รูปแบบการจัดการตั้งแต่ปฏิทินวางแผนการปลูก แค่ให้เพียงพอกับความต้องการตลาด จะไม่ผลิตออกมาล้นจนทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านราคาและคุณภาพที่มีมากเกินการควบคุม โดยจะวางแผนปลูกทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3-4 โรงเรือน เพื่อให้ได้ผลผลิตออกสู่ตลาด สัปดาห์ละ 2-3 ตัน ตามความต้องการของลูกค้า

โรงเรือน ปลูกในโรงเรือนมาตรฐาน ขนาดความกว้าง 7×30 เมตร สามารถปลูกเมล่อนได้ประมาณ 600 กว่าต้น การเตรียมดินปลูก การปลูกเมล่อนสามารถปลูกได้ 2 รูปแบบ คือ ปลูกลงดิน และปลูกในวัสดุปลูกแทนดิน โดยของที่สวนจะเลือกปลูกด้วยวัสดุปลูกแทนดิน คือการใช้แกลบดำเป็นวัสดุปลูก เนื่องจากเป็นวัสดุปลูกที่ไม่อมน้ำ ทำให้ง่ายต่อการควบคุมโรคและป้องกันโรคที่เกิดจากความชื้นได้เป็นอย่างดี โดยวัสดุปลูกสามารถปลูกเมล่อนได้ 2 ครั้ง จากนั้นต้องเปลี่ยนวัสดุปลูกใหม่

การเพาะเมล็ด ใช้เวลาเพาะเมล็ดประมาณ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากเป็นช่วงที่มีแดดออกดีๆ 7 วัน สามารถย้ายกล้าลงถุงปลูกได้ แต่ถ้าหากช่วงไหนแดดไม่ค่อยมี อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะเมล็ด ประมาณ 10 วัน จึงค่อยย้ายกล้าลงถุงปลูก โดยเทคนิคการเพาะให้ต้นแข็งแรง โตดี คือการนำเอาเมล็ดไปแช่ไตรโคเดอร์ม่า คือการนำเอาเชื้อไตรโคเดอร์ม่าละลายกับน้ำ แล้วนำเมล็ดเมล่อนลงไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง จึงค่อยนำไปเพาะเมล็ด

หลังจากย้ายกล้าลงถุงปลูกได้ประมาณ 22-25 วัน จะเริ่มมีดอกตัวเมียและตัวผู้ให้ผสมเกสร และในช่วงนี้ควรมีการจดบันทึกหรือทำเครื่องหมายสัญลักษณ์แต่ละดอกที่ผสมเพื่อกำหนดวันเก็บที่ถูกต้องหลังจากผสมเกสร ปล่อยให้ผลโตขึ้น จากนั้นจะทำการคัดเลือกลูกที่มีความสมบูรณ์ ผิวสวย รูปทรงสมบูรณ์ที่สุดไว้ให้เหลือเพียงลูกเดียว ส่วนที่เหลือตัดทิ้ง จากนั้นต้องแขวนผลให้แข็งแรงเพื่อรับน้ำหนักโดยใช้เชือกคล้องที่ขั้วผลแล้วมัดไว้ที่ค้าง แล้วเลี้ยงต่อไปโดยใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้นตามอายุปลูก หลังจากนั้นนับจากวันที่ผสมเกสรไปเป็นเวลา 45 วัน เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย

ขั้นตอนการรดน้ำและใส่ปุ๋ย เทคนิคของที่ฟาร์มคือการให้น้ำและปุ๋ยด้วยระบบไทม์เมอร์ หรืออุปกรณ์ในการตั้งเวลารดน้ำใส่ปุ๋ยอัตโนมัติ โดยจะมีถังน้ำและถังปุ๋ยแยกกัน และมีการแบ่งช่วงเวลาการรดน้ำใส่ปุ๋ย ดังนี้

ช่วงเช้าให้ปุ๋ย 3 เวลา คือ 08.00 น. 10.00 น. และ 11.00 น. ให้ปุ๋ยรอบละ 2 นาที

ช่วงบ่ายรดน้ำ 3 เวลา แบ่งเป็นช่วง คือ 13.00 น. 15.00 น. และ 16.00 น. เปิดรดน้ำรอบละ 2 นาที เช่นเดียวกับการให้ปุ๋ย โดยปุ๋ยที่ใช้เป็นปุ๋ย AB แบบเกล็ดละลายน้ำ ถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ต้องอาศัยประสบการณ์และการปรับปรุงเรื่อยๆ เพื่อให้เหมาะกับที่พืชต้องการ และนอกเหนือจากนี้แล้วการที่จะผลิตเมล่อนให้ได้คุณภาพจำเป็นต้องมีเวลาในการดูแลเอาใจใส่อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เพราะเมล่อนเป็นพืชที่ค่อนข้างอ่อนแอ มีโรคระบาดที่ต้องระวังอยู่ตลอด

วิธีป้องกันเบื้องต้นคือ การวางแผนการปลูกให้รัดกุม และควรพักแปลงปลูกก่อนที่จะเริ่มต้นปลูกครอปใหม่ทุกครั้ง ประมาณ 45 วัน เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคและแมลงศัตรูพืช ไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค รวมถึงมีการใช้สารชีวภัณฑ์ในการฉีดพ่นช่วยด้วย เช่น สารสะเดา หรือยาสูบหมัก

การเก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 90 วัน แต่ของที่ฟาร์มจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เมล่อนอายุประมาณ 75-80 วัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า โดยปริมาณผลผลิตที่เก็บได้ในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับจำนวนและขนาดของโรงเรือนที่ปลูก ของที่ฟาร์มปลูกในโรงเรือนที่มีขนาดความกว้าง 7×30 เมตร สามารถปลูกเมล่อนได้ 600 กว่าต้น เมื่อหักลบผลผลิตที่เสียหายออกจะสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 600 ลูกต่อ 1 โรงเรือน เฉลี่ยน้ำหนักต่อผลอยู่ที่ 1.4-2 กิโลกรัม เป็นขนาดที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด

ห้างสรรพสินค้าต้องการเมล่อนแบบไหน?

นอกจากการผลิตที่ต้องใส่ใจอย่างพิถีพิถันแล้วนั้น คุณยุ้ย อธิบายให้ฟังว่า การที่จะครองใจผู้บริโภคในระดับโรงแรมและห้างสรรพสินค้าได้ ข้อที่ 1 คือต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของผลผลิตได้ ข้อที่ 2 เกษตรกรผู้ปลูกจะต้องมีศักยภาพในการควบคุมปริมาณ น้ำหนัก และความหวานให้ได้มาตรฐานสม่ำเสมอ เช่น น้ำหนัก ต้องให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน 1.4-2 กิโลกรัม ส่วนความหวานต้องให้ได้ค่ามาตรฐานเริ่มต้นที่ 13 บริกซ์ขึ้นไป ข้อที่ 3 ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ที่มีต่อลูกค้าอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ข้อนี้ถือว่าสำคัญ และข้อสุดท้าย เป็นสิ่งที่อยากแนะนำเกษตรกรทุกท่านคือเรื่องของการผลิตสินค้า GAP เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้และสร้างโอกาสการขายสินค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

“อย่างผลผลิตของที่ฟาร์ม ปัจจุบันมีตลาดส่งหลักๆ คือ 1. ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์ Smile melon 2. โรงแรม 3. พ่อค้าแม่ค้าประจำที่เข้ามารับซื้อผลผลิตถึงสวน 4. ต่อยอดเปิดคาเฟ่ ขายเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ปั่น และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้สำหรับผู้ที่สนใจการปลูกเมล่อน หรือสำหรับท่านที่อยากเข้ามาชิมเมล่อนผลสดๆ จากฟาร์ม สร้างรายได้จากการขายเมล่อนได้ เฉลี่ยครอปละ 70,000-100,000 บาท เป็นรายได้ที่หมุนเวียนกับสมาชิกในกลุ่ม รายได้ของส่วนตัวอาจจะเป็นแบบเดือนเว้นเดือน” คุณยุ้ย กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสนใจเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์มเมล่อน ของวิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 063-420-8885 วช.หนุนทีมวิจัย สจล.ถ่ายทอดกระบวนการผลิตไอน้ำสมุนไพร ต่อยอดองค์ความรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ชี้เป็นเทคโนโลยีการเกษตรแบบปลอดภัย สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดย วช. ได้ให้ทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครงการการยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2564 (การพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองตามแนวทางพระราชดำริ) ให้กับ “โครงการการควบคุมแมลงศัตรูพืชอย่างปลอดภัย ด้วยไอน้ำสมุนไพร: ชุมชนพึ่งตนเอง ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี”

ซึ่งมี “ดร.จรงค์ศักดิ์ พุมนวน” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี “กระบวนการผลิตไอน้ำสมุนไพร” ให้กับชุมชนที่ด้อยโอกาสทางเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร

ดร. จรงค์ศักดิ์ พุมนวน จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า การใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพรด้วยเทคโนโลยี “ไอน้ำสมุนไพร” ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นเทคโนโลยีที่ทีมวิจัยพัฒนามาจากความรู้ของคนในชุมชนบ้านรางยอม ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

โดยอาศัยหลักการทำงานเหมือนกับการกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากพืชทั่วไป คือ นำพืชสมุนไพรตามสูตรที่ต้องการ ล้างให้สะอาดแล้วสับให้ละเอียด ผสมกับน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่กำหนดใส่ในถังกลั่นให้ความร้อนจนน้ำ เดือด ขณะที่น้ำในถังกลั่นเดือดไอน้ำจะพาน้ำมันหอมระเหยจากพืชออกมาทางท่อซึ่งจะไปผ่านถังควบแน่น ไอน้ำและน้ำมันหอมระเหยจะถูกควบแน่นเป็นของเหลวออกมา ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ได้ไอน้ำสมุนไพรประมาณ 25-30 ลิตร ก่อนนำไปใช้งานต้องมีการผสมกับสารช่วยผสมระหว่างน้ำมันหอมระเหยกับน้ำก่อน

ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ทีมวิจัยได้ดำเนินโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับชุมชนใกล้เคียงที่ด้อยโอกาสทางเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของเกษตรในรูปแบบของกลุ่มเกษตร ให้เกิดความเท่าเทียมทางการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต ปัจจุบันสามารถสร้างศูนย์เรียนรู้และศูนย์การผลิตไอน้ำสมุนไพร ได้ 3 ชุมชนในตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี คือ ชุมชนพึ่งตนเองบ้านนาพระยา กลุ่มบ้านหนองสำโรงพัฒนา และป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี

ดร.จรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังกล่าว สามารถสร้างเครือข่ายการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานในรูปแบบ “ปราชญ์สู่ปราชญ์” จากชุมชนที่เข้มแข็งสู่ชุมชนด้อยโอกาส รวมทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากการใช้ประโยชน์ไอน้ำสมุนไพรกำจัดแมลงศัตรูพืช ซึ่งมีการวิเคราะห์ศักยภาพการผลิตจากต้นทุนและผลตอบแทนจากผลิตผลทางการเกษตร

พบว่าผลผลิตโดยเฉลี่ยต่อไร่ไม่สูงมากนัก ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งราคาปุ๋ยและสารเคมีที่ปรับราคาขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนของเกษตรกรในพื้นที่ จึงต้องมีการจัดทำแผนการดำเนินการผลิตไอน้ำสมุนไพรที่ยั่งยืน โดยจะต้องมีระบบการจัดการชุมชนเป้าหมายที่ดี ผู้นำดีน่าเชื่อถือ มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชน มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และต้องมีการวิเคราะห์พืชสมุนไพรและศัตรูพืชที่พบในพืชปลูกในชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนาสูตรตำรับของชุมชนต่อไป นอกจากนี้ยังต้องได้รับคำปรึกษาจากชุมชนต้นแบบและนักวิชาการอย่างใกล้ชิด และต้องมีการจัดการความรู้ที่ดี

จากการอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยี พบว่าผู้เข้าร่วมอบรมมีความพึงพอใจโดยรวมระดับมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบปราชญ์สู่ปราชญ์ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับชุมชนเป้าหมาย และยังได้เห็นถึงแผนการดำเนินงานการผลิตไอน้ำสมุนไพรที่อย่างยั่งยืน ภายใต้การจัดการของแต่ละชุมชนอย่างเป็นระบบอีกด้วย

สำหรับการขยายผลในอนาคต นอกจาก 3 ชุมชนข้างต้น ทางชุมชนต้นแบบบ้านรางยอม ยังมีความตั้งใจที่จะเผยแพร่เทคโนโลยีต่างๆ ให้กับชุมชนที่ด้อยโอกาสทางเทคโนโลยีต่อไป ขณะที่ชุมชนเป้าหมายที่ได้รับเทคโนโลยีไปแล้ว จะมีการเผยแพร่เทคโนโลยี และเมื่อเกิดความเข้มแข็งในชุมชนก็สามารถที่จะต่อยอดสร้างเป็นเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบ “ปราชญ์ สู่ ปราชญ์” หรือเพื่อนช่วยเพื่อนต่อไปได้

อย่างไรก็ดีทีมวิจัยเห็นว่าควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตไอน้ำสมุนไพรสำหรับใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับชุมชนที่ด้อยโอกาสด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อชุมชนในกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นๆ หรือในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากยังขาดแคลนทุนทรัพย์ในการผลิต “ชุดกลั่นไอน้ำสมุนไพร” ซึ่งหากมีการดำเนินการให้มีความเสมอภาคกันของการใช้เทคโนโลยีนี้ จะสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

ผักหวาน มีลักษณะเป็นไม้ทรงพุ่มขนาดกลาง ความสูงตั้งแต่ 1-3 เมตร ขึ้นไป เปลือกต้นมีลักษณะขรุขระ กิ่งที่ยังอ่อนจะมีลักษณะเป็นสีเขียวผิวเรียบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ผิวใบเกลี้ยงเรียบทั้งสองด้าน โดยนิยมนำใบอ่อนมาประกอบอาหารหลากหลายเมนู ซึ่งการขยายพันธุ์ของไม้ชนิดนี้นั้น นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง

จากความนิยมของตลาดที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ตลาดยังมีความต้องการไม้ชนิดนี้อย่างมาก เพราะบางฤดูกาลผลผลิตมีน้อยจึงส่งผลให้ราคาแพงตามไปด้วย จึงเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกได้เป็นอย่างดี

คุณนิมิตร อุ่นหลำ อยู่บ้านเลขที่ 23 หมู่ที่ 4 ตำบลสร่างโศก อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ได้ปลูกผักหวานเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้มาหลาย 10 ปี โดยชาวบ้านในพื้นที่นี้ปลูกผักหวานเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นสินค้าประจำอำเภอเลยก็ว่าได้ โดยในทุกปีจะมีเทศกาลผักหวานที่จัดขึ้นให้ผู้ที่สนใจได้มาซื้อหาและชิมผักหวานของชุมชนในย่านนี้ได้ จึงเกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี

คุณนิมิตร เล่าให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเขาได้จบการศึกษาใหม่ๆ ได้ไปสมัครงานหลายบริษัท เพื่อรอเรียกตัวเข้าไปทำงานในช่วงนั้น โดยในระหว่างนั้นเขาก็ไม่ได้ปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงได้นำผักหวานมาทดลองปลูกกับคุณแม่ เพราะช่วงนั้นครอบครัวก็มีการทำเกษตรอยู่บ้าง จึงมองเห็นถึงโอกาสที่จะได้นำผักหวานมาปลูกอีกหนึ่งชนิด เพื่อเป็นสินค้าสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวในขณะนั้น

“อำเภอบ้านหมอนี่ ส่วนใหญ่จะมีการปลูกผักหวานกันมาก เพราะผักหวานสามารถเจริญเติบโตได้ดี จะสังเกตได้จากดินที่นี่ จะค่อนข้างดำ ใครมาเห็นก็อิจฉา เพราะมันทำให้เห็นว่าที่นี่ดินยังมีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อนำผักหวานมาปลูกแล้ว จึงสามารถให้ผลผลิตที่ดี โดยที่ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกเลย” คุณนิมิตร บอก

ในขั้นตอนแรกก่อนที่จะนำต้นผักหวานมาลงปลูกภายในแปลงนั้น คุณนิมิตร บอกว่า จะเพาะเมล็ดผักหวานตามวิธีการให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะเมล็ดผักหวานเป็นพืชที่ค่อนข้างเพาะยาก หากทำไม่ถูกกรรมวิธี เมล็ดก็จะเน่าและไม่เกิดต้นอ่อนให้เห็น โดยส่วนใหญ่แล้วการเพาะจะต้องกะเทาะเปลือกออก และนำมาล้างทำความสะอาด จากนั้นผึ่งเมล็ดพันธุ์ให้แห้งในที่ร่ม 1-2 วัน

จากนั้นนำผ้าชุบน้ำให้เปียกมาคลุมลงบริเวณเมล็ดพันธุ์ 7-9 วัน พอผ่านเวลาช่วงนี้ไปเมล็ดจะเริ่มแตกออกแต่ก็ยังไม่มีต้นอ่อนให้เห็น จากนั้นนำเมล็ดที่แตกออกไปเพาะลงในถุงดำอีกครั้งหนึ่ง ผ่านไปไม่นานก็จะเริ่มเห็นต้นอ่อนงอกออกมาให้เห็นและนำไปเตรียมปลูกลงในแปลงปลูกต่อไป

โดยก้นหลุมที่จะนำต้นผักหวานปลูกนั้น คุณนิมิตร บอกว่า จะนำปุ๋ยคอกจำพวกขี้หมูมาลองที่ก้นหลุมก่อน เพื่อให้บริเวณที่ปลูกมีความสมบูรณ์ โดยระยะก็ไม่ได้ตายตัว เน้นให้อยู่แบบป่า และมีร่มรำไร จากนั้นดูแลต่อไปประมาณ 2-3 ปี ต้นผักหวานก็จะสามารถให้ผลผลิตเก็บยอดขายได้

“ที่บ้านจะมีคอกหมูอยู่ ก็จะเอามูลตรงนั้นที่ปล่อยให้เก่า อย่างน้อยประมาณ 1 ปี มาใส่ปรับปรุงบำรุงดินปีละ 2 ครั้ง การปลูกผักหวานของที่นี่จะไม่ใส่ปุ๋ยเคมีเลย จะเน้นใส่แต่ปุ๋ยขี้หมูที่เราเลี้ยงเอง ส่วนเรื่องน้ำก็ไม่ต้องรดปล่อย อาทิตย์ละ 1 ครั้ง หรือถ้าช่วงไหนร้อนมาก อาจจะรดอาทิตย์ละ 2 ครั้งก็ได้ เพราะผักหวานไม่ต้องการพื้นที่ให้แฉะมากจนเกินไป ดังนั้นพื้นที่ปลูกควรระบายในเรื่องน้ำให้ดี” คุณนิมิตร บอก

ในเรื่องของโรคและแมลงศัตรูพืชที่จะทำลายต้นผักหวาน คุณนิมิตร บอกว่า ตั้งแต่ปลูกมา 20 กว่าปี ยังไม่พบโรคระบาดหรือแมลงที่เข้ากัดกินจนเกิดความเสียหาย ถึงมีแมลงศัตรูพืชมากินยอดอ่อนบ้างแต่ก็เป็นอัตราส่วนที่น้อย จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดในการฉีดพ่น แต่ต้นผักหวานจะตายได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่เกิดจากการโยกต้นมากเกินไป จะทำให้รากได้รับการกระทบกระเทือน ส่งผลให้ต้นตายได้

เนื่องจากผักหวานเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตตามฤดูกาล ดังนั้นใน 1 ปี ผลผลิตที่ได้จะมีไม่มากเท่ากับช่วงฤดูฝน จึงส่งผลให้ราคาที่ขายแต่ละช่วงฤดูกาลแตกต่างกันไปด้วย โดยในช่วงที่มีผลผลิตออกมาก ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัม 50 บาท และช่วงที่ผลผลิตมีน้อยส่งผลให้ราคาผักหวานสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 200 บาท เลยทีเดียว

“เนื่องจากที่บ้านปลูกมานานแล้ว ก็จะมีแม่ค้าที่รู้จักกัน มารับซื้อถึงที่สวน โดยเราจะเริ่มเก็บยอดผักหวานตั้งแต่ 6 โมงเช้า พอสายๆ ได้เวลาแม่ค้าเขาก็จะมารับซื้อ แต่ช่วงที่ผลผลิตมีน้อย บางครั้งการเก็บขายก็ไม่คุ้ม เราก็จะเอายอดบางส่วนที่พอมีอยู่ในแปลง มาแปรรูปเป็นส่วนผสมในขนม โดยผู้ที่คิดค้นขึ้นมาก็คือน้องสาว นำยอดผักหวานมาผสมกับแป้ง ทำเป็นขนมเปี๊ยะแป้งเหนียวนุ่ม ในสูตรหวานน้อย ให้กับผู้ที่รักสุขภาพได้ทาน และมากด้วยคุณประโยชน์จากผักหวานเข้ามาเสริมด้วย” คุณนิมิตร บอกถึงเรื่องการตลาดและการแปรรูป

โดยขนมเปี๊ยะแป้งเหนียวนุ่ม ราคาขายส่งอยู่ที่กล่องละ 70 บาท ซึ่งใน 1 กล่อง บรรจุประมาณ 10 ลูก ซึ่งผู้ที่สนใจอยากสั่งไปลองชิม ก็สามารถบริการส่งตรงถึงบ้านให้กับลูกค้าได้เช่นกัน ด้วยระบบการขนส่งในปัจจุบันที่สะดวกและง่ายในการจัดการ

ซึ่งการปลูกผักหวานจึงเป็นงานที่สามารถสร้างเงินเป็นอาชีพเสริมได้ จนคุณนิมิตร บอกว่า ถึงจะมีงานประจำที่ทำอยู่ก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะเขารักการทำเกษตรถึงจะมีงานประจำที่ต้องไปทำ ก็จะแบ่งเวลาให้ลงเพื่อมาทำการเกษตรอยู่เสมอๆ

“ผมมองว่าเกษตรนี้ เป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดผมมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะตั้งแต่จำความได้ ผมก็ชอบการอยู่ในป่าในดง ตามแบบเด็กต่างจังหวัดที่ชอบเล่นซน เลยทำให้ชินและมีความคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ ส่วนผู้ที่สนใจ แต่ยังไม่ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง สิ่งแรกก็จะบอกว่าให้ทำการศึกษาก่อน โดยเรียนรู้จากผู้ที่เขาประสบผลสำเร็จแล้ว ว่าเขามีการทำอะไรบ้างที่ทำให้เขาได้ผลผลิตที่ดี ยิ่งเดี๋ยวนี้สิ่งเรียนรู้มีมากมาย หาได้ง่ายทั้งหนังสือ และข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ก็เป็นตัวช่วยที่ให้การทำเกษตรประสบผลสำเร็จเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” คุณนิมิตร แนะนำ

ท่านใดที่สนใจเรื่องการปลูกผักหวาน หรืออยากจะลองชิมขนมเปี๊ยะแป้งเหนียวนุ่ม ก็สามารถติดต่อสอบถามกันได้ที่ คุณนิมิตร อุ่นหลำ หมายเลขโทรศัพท์ (061) 939-4262 “จากเป็นคนที่ไม่เคยศรัทธาในอาชีพเป็นเกษตรกรมาก่อน เห็นพ่อกับแม่ทำ แต่ไม่นึกใส่ใจ แต่เมื่อเจอปัญหา อาชีพที่เรามองข้ามกลับมาช่วยเราปลดหนี้ พ่อเราจับจอบจับเสียมแต่สามารถช่วยเราปลดหนี้ที่เราไปทำล้มเหลวมาได้ จึงเริ่มเกิดความศรัทธาในอาชีพเกษตรกรรมขึ้น จนมีความคิดที่ว่าอาชีพเกษตรกรรมนี่แหละจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับตัวเองและคนในครอบครัวต่อไปได้”…คำสารภาพ ของ คุณกัลยา

คุณกัลยา พงสะพัง (พี่ยา) ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์สาวขอนแก่น อยู่บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 14 ตำบลบ้านเม็ง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เล่าว่า อดีตตนเคยทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับยางรถยนต์มาก่อน ทำอยู่ในส่วนฝ่ายจัดการผู้บริหารระดับสูง และประกอบธุรกิจส่วนตัวรับเหมาก่อสร้างควบคู่กันไป ไม่เคยศรัทธาในอาชีพเป็นเกษตรกรที่พ่อกับแม่ทำมาก่อนเลย คิดว่าจะทำงานอยู่กรุงเทพฯ ไปจนแก่

แต่ก็เกิดจุดพลิกผันธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ทำมีปัญหา ไปได้ไม่สวยอย่างที่คิด จำเป็นต้องยุบกิจการแล้วกลับบ้าน แต่ก็ไม่ได้กลับบ้านแบบสวยๆ เพราะติดหนี้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท ส่วนงานประจำที่ทำอยู่ก็ยังสามารถทำต่อได้ แต่ด้วยสภาพจิตใจที่ท้อและหมดแรง จึงตัดสินใจไม่ไปต่อ

หักดิบจากสารเคมี เปลี่ยนเป็น
เกษตรผสมผสานแบบอินทรีย์ 100%
พี่ยา บอกว่า เริ่มกลับมาอยู่บ้าน ปี 2559 ได้เป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ปี 2560 มีความคิดจะทำการเกษตรอย่างเต็มตัว ตั้งใจศึกษาหาความรู้จากหลายแห่ง ทั้งศึกษาจากผู้รู้ จากตำรา จากสื่อโซเชียล จนมาตกผลึกกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รู้สึกว่าเกษตรทฤษฎีใหม่นี้จะนำพาความยั่งยืนและช่วยปลดหนี้ที่เหลือได้ จึงเริ่มทดลองการทำเกษตรตั้งแต่ขั้นอนุบาล

ทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความชำนาญ มีการปรับพื้นที่ให้เป็นเกษตรผสมผสานเต็มรูปแบบ บนพื้นที่เดิมของพ่อ 43 ไร่ เมื่อเข้ามาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว ด้วยแนวคิดที่อยากเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบเกษตรที่บ้านให้ดีขึ้น เพราะต้องบอกตามตรงว่าพ่อเป็นเกษตรกรเต็มขั้น ทำสวนแบบธุรกิจมากๆ ทุกอย่างที่ปลูกจะใช้สารเคมีทั้งหมด ด้วยความที่ทำเกษตรแบบเร่งรีบ

“เราเป็นคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเห็นด้วย คิดว่าภายในอนาคตเกษตรที่ใช้สารเคมีจะไม่ยั่งยืน เพราะในสมัยปัจจุบันผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ สินค้าที่เป็นอินทรีย์จะตอบโจทย์ตลาดมากกว่า จึงเริ่มค่อยๆ ปรับเปลี่ยนระบบที่สวนจากเคมีให้เป็นอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์

โชคดีที่พ่อเป็นเกษตรกรที่เชี่ยวชาญ fuyibapro.com พ่อค่อนข้างจะสะสมองค์ความรู้ในการทำเกษตรมาหลายแขนง ซึ่งพ่อก็เคยมีความคิดที่จะทำเกษตรอินทรีย์มาก่อน แต่ยังไม่ได้ลงมือทำสักที พี่จึงมาเป็นคนเริ่มต้นเปลี่ยนรูปแบบมาทำเกษตรอินทรีย์ นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ในสวนมากขึ้น และลดแรงงานคนลง นำพืชสร้างมูลค่ามาปลูก และทำตลาดสร้างมาตรฐานส่งขึ้นห้าง ปัจจุบัน ที่สวนขายผลผลิตขาดให้ห้างกว่า 80 เปอร์เซ็นต์”

แนวคิดการทำเกษตรผสมผสาน
ทำอย่างไร ให้มีรายรับทุกวัน ทุกอาทิตย์ ทุกเดือน
จากที่มีแนวคิดทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ประกอบกับการหักดิบสารเคมี จึงเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพื้นที่เดิมของพ่อ จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้กลายเป็นเกษตรผสมผสานแบบอินทรีย์ เพราะเกษตรผสมผสานเป็นอะไรที่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ที่เราต้องการคือ ทำอย่างไร ให้ผลผลิตที่ปลูกเก็บขายได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี แล้วมีรายได้ที่เกิดจากการให้เงิน หรือทรัพย์สินทำงานแทนเรา (passive income) ในอนาคต

เมื่อมีแนวคิดที่ชัดเจน การเลือกพืชมาปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมาก และเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก และตอบโจทย์ในเรื่องรายได้ ควรเป็นพืชที่ตลาดในพื้นถิ่นต้องการ จึงเริ่มต้นด้วยการปลูกผักใบเขียว แน่นอนว่าสร้างรายได้ทุกวัน มีการปลูกดอกดาวเรืองให้แม่เก็บขายทุกวันพระและวันโกน สร้างรายได้เป็นสัปดาห์ และปลูกไม้ผล แก้วมังกร ฝรั่งกิมจู พุทราโบราณ 3 รส เป็นพืชสร้างเงินรายเดือนและรายปี ผลไม้ทั้งหมดนี้เรามีการจัดโซนปลูกอย่างเป็นระบบ

วิธีการจัดสรรพื้นที่
ทำอย่างไร ให้มีผลผลิตเก็บขายทุกวัน
1. เริ่มจากจัดสรรพื้นที่ปลูกผักใบ คะน้า กวางตุ้ง ต้นหอม ผักชี เป็นพืชผักที่มีอายุสั้น ปลูกบนพื้นที่ 1 ไร่ แบ่งพื้นที่ปลูกเป็นระบบ เพื่อให้มีผักออกขายได้ทุกวัน สร้างรายได้ทุกวัน วันละ 2,500 บาท

2. พืชสร้างเงินรายสัปดาห์ เลือกปลูกเป็นดอกดาวเรือง วางคร็อป (crop) ปลูกไว้ไม่เยอะมาก จะปลูกแล้วเก็บขายทุกวันพระ วันโกน แต่ถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษาต้องวางแผนมากหน่อย เพราะเป็นช่วงที่ตลาดต้องการใช้เยอะ จึงต้องวางแผนร่วงหน้าเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด สร้างรายได้ สัปดาห์ละ 3,000 บาท

3. ผลไม้สร้างเงินรายเดือนและรายปี เป็นผลไม้ตามฤดูกาล

1. ข้าวโพดกินฝักสด อันนี้จะวางแผนปลูกตลอดทั้งปี

2. ฝรั่งกิมจู จำนวน 3 ไร่ สามารถให้ผลผลิตได้ทั้งปี ได้มากได้น้อยแล้วแต่จะจัดการให้พักต้น หรือให้ออกตามปกติ 3. พุทรา 18 ไร่ ปลูกทั้งหมด 3 พันธุ์ ด้วยกัน
– พุทราพันธุ์เหรียญทอง
– พุทรานมสด
– พุทราโบราณ 3 รส ซึ่งเป็นพุทราทำเศรษฐกิจด้วย 4. แก้วมังกร ปลูก 5 ไร่ มีทั้งเนื้อสีขาว และเนื้อสีแดง เป็นออร์แกนิกแท้ๆ รายได้ประมาณการของการขายแก้วมังกรออร์แกนิก คิดเป็นเงินประมาณ 400,000 บาท พุทราฤดูเก็บเกี่ยวนาน 7 เดือน เฉลี่ยต่อวัน เก็บได้วันละ 2 ตัน บางวันเก็บได้เยอะถึง 5 ตัน ราคาส่งตลาดกลาง กิโลกรัมละ 15-18 บาท ส่งห้าง กิโลกรัมละ 60 บาท แบบคัดเกรด