คุณแม่ของคุณสันติ ปลูกมะกรูดไปได้ประมาณ 5 ปี

จนต้นมะกรูดเติบโตสูงประมาณ 5 เมตร มีขนาดลำต้นใหญ่มาก ต่อมาเจอปัญหาภัยแล้งคุกคามอีกครั้ง ทำให้ต้นมะกรูดขาดน้ำ ลำต้นแห้งตายไปมาก เหลือรอดอยู่เพียงไม่กี่ต้น คุณแม่ของคุณสันติขยายพันธุ์ต้นมะกรูดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผลผลิตมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าที่วิ่งรถผ่านบริเวณหน้าบ้าน สังเกตเห็นว่า บ้านแห่งนี้ ปลูกต้นมะกรูดไว้เป็นจำนวนมาก จึงติดต่อขอซื้อผลผลิตเพื่อนำไปขายในท้องถิ่นอื่น

คุณแม่ของคุณสันติ นำมะกรูดตัดใบออกขายในราคาไม่แพง โดยขายส่งในราคากิโลกรัมละ 15 บาท นอกจากนี้ ยังนำมะกรูดตัดใบออกขายในลักษณะเป็นกำ โดยมีราคาขายส่งอยู่ที่ กิโลกรัมละ 40 บาท ต่อมาคุณแม่ได้มอบหมายให้คุณสันติดูแลรับผิดชอบสวนมะกรูดแห่งนี้ ปัจจุบัน มะกรูดที่ปลูกรุ่นแรก มีอายุมากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังให้ผลผลิตที่ดี โดยมะกรูด 1 ต้น สามารถตัดใบออกขายได้ครั้งละ 20-30 กิโลกรัม ขึ้นไป

ส่วนต้นมะกรูด ที่ปลูกรุ่นหลังๆ มีอายุโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 3-5 ปี ขึ้นไป สามารถเก็บเกี่ยวผลมะกรูดออกขายได้ครั้งละประมาณ 2,000 ลูก สมัยก่อนแม่ค้ามารับซื้อผลมะกรูดในราคาหน้าสวน เฉลี่ย 100 ลูก ต่อราคา 20 บาท แต่ตอนนี้เกษตรกรสามารถขายผลมะกรูดในราคาที่สูงขึ้น เฉลี่ยผลละ 50 สตางค์

คุณสันติ เชื่อว่าราคามะกรูดจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกในอนาคต เพราะเป็นสินค้าขายดีเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและตลาดส่งออก ไม่ว่าจะเป็นใบมะกรูด และลูกมะกรูด เพราะมะกรูดเป็นพืชสมุนไพรคู่ครัวอาหารไทย ในเมนูอาหารต้มยำ เป็นส่วนผสมในเมนูเครื่องแกง อุตสาหกรรมน้ำพริกเผา ฯลฯ แล้ว มะกรูดยังเป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและธุรกิจน้ำมันหอมระเหย จึงนับได้ว่า มะกรูดเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะปลูกดูแลง่ายกว่าการทำสวนมะนาว แถมราคาซื้อขายคงที่ไม่หวือหวาเหมือนกับราคาผลมะนาว

ตลาดมะกรูดกว้างมาก

ในอดีต คุณแม่ของคุณสันติ มุ่งเก็บลูกมะกรูดและตัดใบมะกรูดออกขายเท่านั้น ระยะหลังได้ผลิต “กิ่งมะกรูดตอน” ออกขายเพิ่มขึ้น เพื่อขยายช่องทางการขายให้กว้างขวางมากขึ้น คุณสันติ บอกว่า คุณแม่ของผมเชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตกิ่งตอนมาก ประกอบกับมะกรูดที่ปลูกเป็นพันธุ์เกษตรใบใหญ่ ที่ให้ผลดก เติบโตแข็งแรง ปลูกดูแลง่าย ทำให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงมาติดต่อขอซื้อกิ่งมะกรูดตอนจากสวนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง

ทุกวันนี้ คุณสันติ ผลิตกิ่งมะกรูดพันธุ์เกษตร ที่มีลักษณะเด่น ในเรื่องลูกดก ใบใหญ่ จำหน่ายให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป โดยกิ่งมะกรูดชำบรรจุในถุงดำ จำหน่ายในราคา กิ่งละ 25-35 บาท ส่วนกิ่งตอนตุ้ม ขนาด 30-40 เซนติเมตร จำหน่ายในราคากิ่งละ 10 บาท กิ่งตอนตุ้ม 50 เซนคิเมตร ราคา 15 บาท กิ่งตอนตุ้ม 70 เซนติเมตรขึ้นไป ขายในราคากิ่งละ 20 บาท

ต้นมะกรูด ปลูกดูแลง่าย

คุณสันติ บอกว่า สมัยก่อน พ่อแม่จับจองพื้นที่เอาไว้ ประมาณ 100 กว่าไร่ แบ่งสรรเป็นที่ดินมรดกให้ลูกๆ จำนวน 5 คน ทำสวนมะกรูดเป็นรายได้เลี้ยงดูครอบครัวละ 50 ไร่ นอกจากนี้ ผมยังมีลูกไร่ปลูกมะกรูดส่งขายให้อีกเพราะอาชีพการทำสวนมะกรูดสร้างรายได้ที่ดีมากกว่าการทำนา ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง

เนื่องจากต้นมะกรูด ปลูกดูแลง่าย ไม่ต้องค่อยไถค่อยพรวนดินบ่อยๆ เสมือนเสือนอนกินระยะยาว ไม่เหนื่อยมาก แต่มีรายได้เข้าตลอด เกษตรกรที่ปลูกมะกรูด จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 200-300 บาท ต่อต้น ต้นมะกรูด ยิ่งอายุมาก ต้นยิ่งโตใหญ่ ยิ่งมีโอกาสขายทำเงินได้มากขึ้น ทั้งขายใบทั้งขายลูก หากขายเป็นกิ่งพันธุ์ ราคาขายไม่ต่ำกว่า 10 บาท หากเป็นกิ่งสวยๆ ขนาด ประมาณ 10-15 เซนติเมตร จะขายได้กิ่งละ 15 บาท

ส่วนใบมะกรูดขายได้ที่ กิโลกรัมละ 15 บาท ราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นกิโลกรัมละ 20 บาท จนถึง กิโลกรัมละ 35 บาท ก็เคยขายได้มากแล้ว โดยทั่วไปเกษตรกรสามารถขายใบมะกรูดได้ในราคา 25 บาทต่อกิโลกรัม ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ราคาซื้อขายใบมะกรูดจะยืนราคาสูงที่กิโลกรัมละ 25-35 บาท ทีเดียว ส่วนผลมะกรูดในช่วงฤดูฝนจะขายได้ในราคาประมาณ ร้อยละ 80-90 บาท

ทั้งนี้ การปลูกมะกรูดไม่มีปัญหาเรื่องโรคแมลง ดูแลรักษาง่าย ที่นี่ปลูกต้นยูคาลิปตัสบริเวณสวนมะกรูด เพื่ออาศัยกลิ่นเหม็นของต้นยูคาลิปตัสไล่แมลงอีกทางหนึ่ง หากใครคิดจะปลูกมะกรูดระยะชิด ควรปลูกไร่ละ 800 ต้น หากจะให้เหมาะสม ควรปลูกระยะ 2×2 จะได้ต้นมะกรูดจำนวน 400 ต้นพอดี และควรให้น้ำในระบบมินิสปริงเกลอร์ โดยฉีดพ่นน้ำให้ชุ่มเพียงวันละครั้งก็เพียงพอแล้ว

จากการพูดคุยกับคุณสันติ ทำให้เห็นว่า อาชีพการทำสวนมะกรูดง่ายไม่ยุ่งยากอะไรเลย เพียงแต่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ในระยะแรกๆ ที่ต้นมะกรูดยังเล็กอยู่เท่านั้น ด้านตลาดก็หายห่วง มีแต่คนอยากซื้อมะกรูด ปลูกเท่าไรก็ไม่พอขาย เรียกว่าซื้อง่ายขายคล่อง หากท่านผู้อ่านสนใจสามารถที่ต่อสอบถามได้ที่คุณสันติ โดยตรง ที่โทร. 087-161-2074 และ 093-682-1067 รับรองไม่ผิดหวัง ได้กิ่งพันธุ์คุณภาพดี ราคาไม่แพง

กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียม 3 มาตรการรองรับป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ผ่านพ้นวิกฤติ ปี 2562 นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่า ฤดูร้อนปีนี้จะมาเร็วและนานมากกว่าทุกปี ซึ่งอาจยาวนานไปจนถึงราวเดือนพฤษภาคม 2562 โดยฤดูร้อนปีนี้จะมีอุณหภูมิร้อนกว่าปี 2561 มากกว่าค่าปกติราว 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำในเขื่อนที่ลดน้อยลง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญในการเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง ในปี 2562 โดยกำหนดมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อพื้นที่การเกษตร ไว้ 3 ด้าน ดังนี้

การเตรียมความพร้อม เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรทราบ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรด้านพืชให้เป็นปัจจุบัน พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำด้านวิชาการแก่เกษตรกรในการดูแลรักษาต้นพืช ตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็น ใส่ปุ๋ยอินทรีย์คลุมโคนต้นด้วยหญ้าแห้ง ฟางข้าว การจัดทำระบบน้ำในสวนไม้ผล และเตรียมการป้องกันด้านศัตรูพืช ออกสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้คำแนะนำการป้องกันและกำจัดอย่างถูกวิธี

การจัดการในภาวะฉุกเฉิน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ และรณรงค์และขอความร่วมมือให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด และจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ออกเยี่ยมให้คำแนะนำด้านวิชาการ การดูแลรักษาต้นพืช การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งประเมินผลกระทบเบื้องต้น

การฟื้นฟู สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจและประเมินความเสียหายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายของเกษตรกรที่ประสบภัยภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นเงินแก่เกษตรกร

โดยใช้เงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 หรือขอใช้เงินงบกลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย ให้เกษตรกรมีเงินทุนเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในการเพาะปลูกพืชในรอบการผลิตถัดไป โดยช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพืชที่เสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ อัตราการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 คือ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท
หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือกองแผนงาน กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. (02) 579-9523

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น หรือ ซี.พี. เวียดนาม คว้า 7 รางวัลระดับโลก Total Productive Maintenance : TPM 2018 สะท้อนภาพลักษณ์องค์กรที่ประสบความสำเร็จด้านการควบคุมและจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตองค์กร และมีระบบงานตามแนวคิด “การป้องกัน” ส่งผลให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน พร้อมเอื้อประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชน

นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกของซีพีเอฟ 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานบางนา กม.21, โรงงานพิษณุโลก, โรงงานหนองแค และโรงงานปักธงชัย ผ่านการประเมินรางวัล TPM จากผู้เชี่ยวชาญ TPM Assessor ของสถาบัน JIPM (Japan Institute of Plant Maintenance) โดยวิธีการประเมิน 5 ด้าน คือ 1. ด้านการบริหารจัดการโรงงาน ที่มีการถ่ายทอดนโยบายไปสู่การปฏิบัติ (Policy Deployment)

เริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ไปจนถึงการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายการดำเนินงาน 2. ด้านระบบ ประเมินความน่าเชื่อถือ ความสมเหตุสมผลของระบบที่ถูกสร้างขึ้น ที่สามารถนำมาปฏิบัติและสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้จริงเป็นไปตามแนวทางของ TPM 3. ด้านบุคลากร ประเมินทักษะความสามารถของพนักงานทุกระดับในการวิเคราะห์ ปรับปรุง (Kaizen) เพื่อกำจัดความสูญเสียผ่านโครงการต่างๆ

โดยเฉพาะผู้ควบคุมเครื่องจักร (Operator) 4. ด้านผลลัพธ์ ประเมินผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับระบบและทักษะความสามารถของบุคลากร ทั้งความสมเหตุสมผลของตัวชี้วัด ความท้าทายของเป้าหมายและผลสำเร็จ 5. ด้านการมีส่วนร่วม ประเมินความมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อกำจัดความสูญเสียของพนักงานทุกคน ทุกระดับ ทุกหน่วยงาน

“กระบวนการประเมินทั้ง 5 ด้าน นอกจากจะส่งผลให้โรงงานมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดี ลดการสูญเสีย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังส่งผลถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชน อาทิ การลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ลดการเกิดมลภาวะภายในชุมชน พร้อมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นายเรวัติ กล่าว

ขณะเดียวกัน โรงงานอาหารสำเร็จรูปสระบุรี ยังสามารถคว้ารางวัล Award for TPM Excellence, Category A ได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย ทั้งนี้ นอกจากประเทศไทยแล้วซีพีเอฟยังขับเคลื่อนให้สถานประกอบการของบริษัทในต่างประเทศมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

นายชำนาญ หวังอัครางกูร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์และพันธุ์สัตว์ ซี.พี.เวียดนาม เปิดเผยว่า โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกของบริษัท 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานด่องนาย และโรงงานบิ่นเยือง ผ่านการประเมินรางวัล Award for TPM Excellence, Category A นับเป็นสถานประกอบการ 2 แห่งแรกของ ซี.พี.เวียดนาม ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

“การมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางและเป้าหมายของ TPM ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง จนถึงพนักงานหน้างานทุกระดับ และทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานทุกระดับของบริษัทมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกันในเรื่อง 3 Zero คือ Zero Accident, Zero Defect และ Zero Breakdown ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัย และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า” นายชำนาญ กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2015-2016 ธุรกิจอาหารสัตว์บกซีพีเอฟ สามารถคว้ารางวัล Award for TPM Excellence, Category A รวม 11 รางวัล สำหรับรางวัล TPM 2018 สถาบัน JIPM จะจัดพิธีมอบรางวัลในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ณ เกียวโต อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเฟอร์เรนท์ เซ็นเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น

สหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ใช้น้ำจากฝายเพื่อปลูกพืช มีเพียงธุรกิจบริการเพียงอย่างเดียว ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่การดูแลเกษตรกรมากยิ่งขึ้น เพิ่มธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรวบรวมสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด กล้วย พริก ปาล์มน้ำมัน เพื่อช่วยให้สมาชิกสหกรณ์สามารถลดต้นทุนการผลิต มีรายได้เพิ่มขึ้น

คุณสุทิน ปันดี ผู้จัดการสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด กล่าวว่า ทางสหกรณ์ได้จัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือสมาชิก แนวทางการส่งชำระหนี้สหกรณ์ แนวทางการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งสหกรณ์ได้มีการส่งเสริมด้านพืชผลทางการเกษตรแก่สมาชิก โดยเฉพาะในเรื่องของข้าวโพด สหกรณ์ให้การสนับสนุนทั้งด้านแหล่งรับซื้อผลผลิต การประกันราคาผลผลิต เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังการเก็บเกี่ยว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ในพื้นที่ทั้งหมด 60 ไร่

คุณเสถียร แข็งแรง สมาชิกสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอม กล่าวว่า เมื่อก่อนตนเองเป็นหนี้สินเพราะขายผลผลิตได้น้อย สหกรณ์ได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องการปลูกกล้วยหอมทอง โดยการรวมกลุ่มกัน จับกลุ่มกันปลูกกล้วยหอมทอง และสหกรณ์ประกันราคาให้ด้วย ประมาณ 10 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น ดีขึ้น มีเงินเหลือเก็บเล็กน้อย ก็ออมไว้กับสหกรณ์

คุณสัญชัย ปราศรัย สมาชิกสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด กล่าวว่า ตนเองเข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ และได้รับการแนะนำ และการสนับสนุนจากสหกรณ์ จนประสบความสำเร็จสามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องทำให้มีรายได้หลักหมื่นต่อเดือนเพื่อจุนเจือครอบครัว สามารถชำระหนี้ให้กับสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการวางแผนชีวิตฝากเงินออมกับสหกรณ์เพื่ออนาคต ส่วนใหญ่สหกรณ์จะแนะนำให้ปลูกพืชหลังฤดูทำนา ให้ปลูกพืชที่มีการใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ตอนที่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์

ก็หาเงินไปเรื่อย ๆ หนี้สินก็ยังไม่หมด พอเข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ สหกรณ์ได้ให้คำแนะนำเรื่องการชำระหนี้ ทำให้หนี้สินค่อย ๆ น้อยลงไปเรื่อย ๆ ผลผลิตที่สหกรณ์แนะนำให้ปลูก ทางสหกรณ์ก็รับซื้อทั้งหมด อีกทั้งยังรับซื้อตามราคาที่ประกันไว้ด้วย ส่วนคนที่ไม่มีทุนทางสหกรณ์ก็ให้กู้ยืม และยังสามารถนำปุ๋ยยาจากสหกรณ์มาใช้ก่อน พอเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำไปขายกับสหกรณ์แล้วจึงนำไปจ่ายค่าปุ๋ยทีหลังได้ เป็นการช่วยเหลือสมาชิก ไม่ให้เป็นหนี้เพื่อซื้อปุ๋ยยา ทำให้สมาชิกมีเงินเหลือใช้ เหลือเก็บมากขึ้น

ถือเป็นความสำเร็จของสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฝายยางประสบสุก จำกัด ที่ส่งเสริมและช่วยเหลือให้สมาชิกสามารถพึ่งตนเองได้ มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีภาระหนี้สินที่น้อยลงไปเรื่อยๆ และสมาชิกมีกิน มีใช้ อย่างยั่งยืน

จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็เป็นแหล่งผลิตมะม่วงคุณภาพ ปัจจุบัน มีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วงกว่า 2,500 ไร่ ผลผลิตรวมกว่า 4,000 ตัน มูลค่าเฉียด 70 ล้านบาท เกษตรกรในพื้นที่หันมารวมกลุ่มผลิตเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี และประเทศแถบยุโรป นับเป็นอีกหนึ่งพืชทางเลือกที่สร้างรายได้งามให้กับเกษตรกร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการวิเคราะห์เศรษฐกิจสินค้าเกษตร ตามโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ซึ่งจากการติดตามสินค้าเกษตรทางเลือกของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 (สศท.4) พบว่า จังหวัดมีศักยภาพในการผลิตมะม่วง ปลูกมะม่วงหลายสายพันธุ์เพื่อเป็นพืชทางเลือก เช่น มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ และมหาชนกที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และประเทศแถบยุโรป

ปัจจุบัน จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วง ได้แก่ อำเภอหนองกุงศรี ห้วยเม็ก ท่าคันโท ร่องคำ ยางตลาด และกมลาไสย จำนวน 2,532 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 1,728 ไร่ ผลผลิตรวม 4,463 ตัน มูลค่า 69.94 ล้านบาท มะม่วงที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานจะส่งไปขายต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี โดยมีบริษัทเอกชนรับซื้อมะม่วงจากเกษตรกรในปริมาณไม่จำกัด ขอเพียงสามารถผลิตมะม่วงให้ได้ตามคุณภาพเพื่อการส่งออกเท่านั้น โดยมะม่วงน้ำดอกไม้เกษตรกรสามารถขายส่งบริษัทรับซื้อได้ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 53.16 บาท ส่วนมะม่วงมหาชนก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 26.7 บาท

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตมะม่วงส่งออก ตำบลสำราญ เลขที่ 215 หมู่ที่ 9 ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี คุณสุดจรัส พันกุล เป็นประธาน ซึ่งมีการผลิตมะม่วงคุณภาพส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และประเทศแถบยุโรป วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตมะม่วงส่งออก ตำบลสำราญ เริ่มจดทะเบียนดำเนินการเมื่อปี 2558

ปัจจุบัน มีสมาชิกประมาณ 147 ราย พื้นที่เพาะปลูกมะม่วง ประมาณ 1,700 ไร่ มะม่วงที่ปลูกมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน อาทิ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้ เบอร์ 4 เขียวเสวย และโชคอนันต์ เป็นต้น แต่พันธุ์ที่เป็นที่นิยมสำหรับประเทศส่งออกจะเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งมะม่วงที่นี่จะเป็นที่นิยมและเป็นที่ติดใจในตลาดต่างประเทศ ทั้งด้านรสชาติ และลักษณะเนื้อมะม่วงแน่น

สำหรับ ปี 2559/60 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตมะม่วงส่งออก ตำบลสำราญ มีพื้นที่ให้ผลผลิตมะม่วง ประมาณ 800 ไร่ ผลผลิตส่งออก 333.78 ตัน มูลค่า 6.2 ล้านบาท ส่งออกผ่านบริษัทไปประเทศต่างๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และประเทศแถบยุโรป และสามารถผลิตมะม่วงนอกฤดูได้ ซึ่งใน 1 ปี มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ 10 เดือน (ยกเว้นเดือนกันยายน-ตุลาคม) มีการแนะนำให้สมาชิกกลุ่มเพาะพันธุ์มะม่วงป่าเป็นต้นตอ และเสียบกิ่งเมื่ออายุต้นตอได้ประมาณ 1 ปี หลังจากเสียบยอดแล้ว อีกประมาณ 3 ปี ก็จะได้ผลผลิต

มีการบริหารจัดการน้ำโดยการใช้น้ำบาดาล และมีแนวคิดที่ว่าผลิตแบบคุณภาพและตามความต้องการของตลาด รวมกลุ่มโดยยึดการตลาดนำการผลิต ทั้งนี้ ท่านที่สนใจเรื่องการทำมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางกลุ่มวิสาหกิจ ติดต่อได้ที่ คุณสุดจรัส พันกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตมะม่วงส่งออก ตำบลสำราญ ยินดีให้คำแนะนำได้ ที่เบอร์โทรศัพท์ (099) 931-9508

การทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นมีปัจจัยความพร้อมทางสภาพพื้นที่และทรัพยากรไม่เหมือนกัน จึงทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่างกัน แต่นั่นอาจไม่ใช่ปัญหาเนื่องจากชาวบ้านทุกหมู่บ้านต่างอาศัยภูมิปัญญาตกทอดนำมาปรับเข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่เพื่อใช้ประโยชน์จากเกษตรกรรมเหล่านั้นมาหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในครัวเรือนได้อย่างสมบูรณ์

ขณะที่ความทันสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสารและการเกษตรกรรมมีส่วนสำคัญทำให้ชาวบ้านก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพทางด้านการตลาดและจำหน่ายสินค้าเกษตรกรรมด้วยการแปรรูป ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงเป้า

อย่างชาวบ้านหมู่ที่ 3 บ้านแม่สุริน ตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้พร้อมใจกันจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของค่าใช้จ่ายครัวเรือน รวมทั้งยังฝึกฝนสร้างทักษะเพื่อให้นำผลผลิตทางเกษตรกรรมในชุมชนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมเพื่อสุขภาพ ดึงเทคโนโลยีการสื่อสารมาสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก แล้วชักชวนนักท่องเที่ยวมาสัมผัสวิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน

คุณเพ็ญพิกา เตือนชวัลย์ หรือ คุณเพ็ญ ประธานกลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์เกษตรทางเลือกบ้านแม่สุริน กล่าวว่า “แม่สุริน” มาจากชื่อลำน้ำที่ไหลผ่านที่ตั้งของชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านยึดอาชีพทำนาแต่ไม่มาก ส่วนมากทำเกษตรกรรมแบบปลูกพืชไร่ ข้าวที่ปลูกมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวพื้นเมืองที่มีทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า

เมื่อช่วงปลายปี 2544 เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ทำให้เกิดความเสียทั้งทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือจากราชการแต่ก็ยังไม่พอเพียง จึงเกิดความคิดที่จะช่วยกันหารายได้พิเศษขึ้นเพื่อไว้เป็นทุน เลยจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านออมทรัพย์ขึ้น โดยให้สมาชิกนำเงินมารวมกันในทุกเดือน แล้วนำเงินก้อนนี้ให้สมาชิกกู้แบบเสียดอกเบี้ยต่ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนหมู่บ้าน

ขณะเดียวกัน ยังมองว่าในช่วงเวลาว่างจากงานเกษตรกรรม ควรหางานทำเป็นรายได้เสริมเข้ามา โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแนะนำและถ่ายทอดความรู้งานประดิษฐ์และแปรรูปต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถนอมอาหารจากวัตถุดิบทางการเกษตรในพื้นที่หลายชนิด อย่างข้าว หน่อไม้ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แต่ระยะแรกสินค้ายังใหม่จึงมีข้อจำกัดทางการตลาด จึงต้องใช้วิธีขายกันในชุมชน หรือแลกเปลี่ยนกันไปก่อน

“จนเมื่อเกิดการจัดเป็นตลาดนัดชุมชนขึ้นจึงเริ่มนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทางกลุ่มผลิตขึ้นออกไปวางขายนำผลผลิตทางการเกษตรอีกหลายชนิดที่ปลูกแนวอินทรีย์มาสร้างมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นอาหารและขนม เน้นความสะอาด ปลอดภัย แล้วบรรจุใส่แพ็กเกจสวยหรู แบรนด์ “อิ่มสุข”