จะไปอยู่อีกโซนหนึ่ง มีทั้งมะม่วง ลิ้นจี่ รวมทั้งไผ่ยักษ์เมืองน่าน

ซึ่งทางศูนย์ได้รวบรวมพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่ปลูกไว้มากมาย ทั้งยังบอกอีกว่า กำลังจะทดลองปลูกอะโวกาโด อีกชนิดหนึ่งด้วย คุณสำราญ รักษาทรัพย์ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เล่าว่า พยายามทำเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านที่สนใจดู รวมทั้งมีการอบรมถ่ายทอดความรู้กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หากใครไปดำเนินการแล้วมีปัญหาอะไรก็สามารถมาปรึกษาร่วมกัน

“ที่ผ่านมา ชาวบ้านเขาทำการเกษตรกันแบบตามมีตามเกิด แต่เรามาให้ความรู้เพิ่มเติม แนะนำว่า เราสามารถทำการเกษตรแบบพรีเมี่ยมได้นะ ปลูกไม้ผลที่ได้ราคาดีกว่า ปลูกไม้แซมในร่องสวน ระหว่างรอไม้ผลเติบโต หรือปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง แม้กระทั่ง การสอนการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ รวมทั้งการเพาะเห็ด ซึ่งเกษตรกรที่นี่ก็สนใจเรียนรู้ บางคนมาเริ่มเรียนตั้งแต่เขี่ยเชื้อเห็ด ทำก้อนเห็ด เปิดก้อนเก็บเห็ดขาย กระทั่งตอนนี้ ทำก้อนเห็ดขายได้แล้ว เมื่อเค้าสนใจ แล้วลงมือทำ ก็ประสบความสำเร็จ”

เมื่อได้ผลผลิตมาแล้ว ก็ต้องมีตลาดด้วย จึงจะครบวงจร

คุณลิขิต ตอบว่า “เมื่อเราแนะนำให้เค้าผลิตแล้ว เรื่องการตลาดเราก็ไม่ทิ้ง ขณะนี้เราเริ่มจัดตั้งให้มีสหกรณ์การเกษตร (สหกรณ์ส่งเสริมกสิกรรม ชื่อในภาษาลาว) หงสา เพื่อเป็นที่รวบรวมผลผลิต ขายผลผลิต รวมทั้ง เป็นจุดที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไปด้วย เช่น เราจะต้องดูในเรื่องของสินค้า บรรจุภัณฑ์ อายุการเก็บรักษา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจักสาน และทอผ้า ซึ่งเป็นงานที่ชาวบ้านถนัด เราก็ช่วยทางด้านการตลาด อย่างผักสดๆ ที่เกษตรกรปลูกกันขึ้นมา เมื่อได้ผลผลิต เราก็ช่วยขาย หรืออย่างรีสอร์ตที่นี่ ก็ช่วยซื้อ ซึ่งนอกจากจะได้ผักสดๆ ปลอดสารพิษบริการลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งขาย หรืออย่างน้อยก็มีตลาดขึ้นมา”

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ศูนย์การเรียนรู้การทำการเกษตร ที่เมืองหงสา แห่งนี้ น่าจะมีศักยภาพรับนักท่องเที่ยวได้ ด้วยความน่าสนใจในกิจกรรม ความสวยงามของภูมิทัศน์ อากาศเย็นสบาย และการเดินทางที่ไม่ลำบากเลย

พูดถึงการเดินทาง สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ หากถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองหงสา กับ หลวงพระบาง ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร เสร็จสมบูรณ์ นั่นหมายความว่า การเดินทางจากประเทศไทย หากเข้าทางด่านห้วยโก๋น จ.น่าน ผ่านเมืองหงสา จะต่อไปยัง หลวงพระบางได้สะดวกขึ้น ทั้งทัศนียภาพสองข้างทางที่สวยงาม เพราะถนนเส้นเดิม จากหงสา ที่จะไปหลวงพระบางที่จะต้องไปผ่านทางท่าเดื่อ-น่าน สภาพถนนไม่ดีนัก อีกทั้งระยะทางยาวกว่า (หงสา-หลวงพระบาง เส้นทางเดิมระยะทางราว 200 กม. ขณะที่เส้นทางใหม่ซึ่งกำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จมีระยะทางราว 120 กม.)

ดังนั้น กล่าวได้ว่า ถ้าถนนเส้นใหม่เสร็จสมบูรณ์ เมืองหงสา จะเป็นเมืองที่ต้องแวะ หากใครมีจุดหมายที่หลวงพระบาง ซึ่งจะได้สัมผัสกับเมืองที่เต็มไปด้วยความสวย สงบ สะอาด สาธารณูโภคครบ ทั้งถนนดี น้ำไหล ไฟสว่าง เน็ทแรง (อินเตอร์เน็ท) รีสอร์ตสวย และวิถีชาวบ้านที่มีให้สัมผัส และเรียนรู้ได้ไม่จบ

และนี่คือ เมืองหงสา แห่ง สปป. ลาว อีกหนึ่งจุดหมายใหม่ ที่น่าจะอยู่ในลิสต์ของนักท่องเที่ยวไทย นายภาสันต์ นุพาสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการนำปฏิรูปภาคการเกษตรของสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยให้เกษตรกรแปรรูปผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้วจึงขาย เป้าหมายต่อไปคือการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่แปรรูป ซึ่งเห็นว่าการทำให้พื้นที่การเกษตรเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นการตลาดที่ดีช่องทางหนึ่งจึงประสานงานกับสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรีเพื่อเรียนรู้การบูรณาการร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

(องค์การมหาชน)(อพท.) ณ วิสาหกิจชุมชนตะเคียนเตี้ย (บ้านร้อยเสา) อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในอดีตชุมชนตะเคียนเตี้ยมีอาชีพทำนา น้ำสมบูรณ์ตลอดทั้งปี แต่ต่อมาน้ำที่ใช้ทำนาเริ่มไม่เพียงพอ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันไปปลูกมะพร้าวเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว จนปัจจุบันมีการทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น แต่มะพร้าวยังถือเป็นพืชหลักของชุมชนโดยสามารถใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวได้หลากหลายและที่สร้างชื่อให้กับชุมชนคือ “แกงไก่กะลา”

โดย นางอภิญญา ทิพนาค (ป้าแป๊ด) อายุ 54 ปี ชาวบ้านตะเคียนเตี้ย ผู้ปลูกมะพร้าวพันธุ์หมูสี ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองเล่าให้ฟังว่า ปลูกมะพร้าวพันธุ์ดังกล่าว พื้นที่ 2 ไร่ มะพร้าวหมูสีเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของที่นี่เป็นพันธุ์กินผลอ่อน น้ำมีรสชาติหวานแต่ไม่หอม ที่รอบหัวจุกมะพร้าวจะเป็นสีขาวเมื่อดึงขั้วจุกออกจะมีสีชมพูยังไม่มีเนื้อมะพร้าวเป็นกะลาอ่อน รสชาติกรุบ กรอบ มัน หวานอ่อน หอมมะพร้าวอ่อน อร่อย หากรอบขั้วจุกมะพร้าวเป็นสีเขียวจะมีเนื้อมะพร้าวใช้กินไม่ได้เพราะกะลาจะมีรสฝาด คนในชุมชนตะเคียนเตี้ยกินกะลามะพร้าวอ่อนกันมานาน และขายเป็นมะพร้าวกินผลอ่อน โดยนำกะลามาบริโภคเป็นอาหาร ราคาขายอยู่ที่ ลูกละ 25-30 บาท ซึ่งกะลามะพร้าวอ่อนจะเก็บได้เมื่อลูกมะพร้าวออกทะลาย 2-3 เดือน ใน 1 ปี จะมีผลผลิต 12 ทะลาย ต่อต้น หากเป็นมะพร้าวที่แก่กว่านี้ ราคาขายอยู่ที่ ลูกละ 4-5 บาท ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ แทน ผลผลิตกะลามะพร้าวอ่อนมีทุกวันและยอดสั่งจองก็มีทุกวันเช่นเดียวกัน

ในการผลิตกะลามะพร้าวอ่อนเพื่อการบริโภคนั้น จะนำส่วนกะลาอ่อนมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ 1 รอบการผลิตใช้มะพร้าว 50 ลูก ได้ผลผลิตประมาณ 2 กิโลกรัม เนื้อกะลามะพร้าวอ่อนสีไม่คล้ำ เคล็ดลับคือเมื่อฝานเนื้อกะลาแล้วนำแช่ในน้ำหมักมะนาวที่ผสมกับน้ำตาลทรายแดง ซึ่งป้าแป๊ดตั้งราคาขายไว้ที่ กรัมละ 1 บาท กิโลกรัมละ 1,000 บาท มียอดสั่งจองจากร้านอาหารเส้นถนนสาทร ครัวขึ้นชื่ออีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ จนผลิตไม่ทัน นักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนตะเคียนเตี้ย เมนูที่ต้องลิ้มลองคือ แกงไก่กะลา, ผัดฉ่ากะลาอ่อนใส่กุ้ง สูตรพื้นถิ่นด้วยส่วนประกอบสำคัญคือ กะเพรา 100 ปี

พันธุ์ดั้งเดิมที่อนุรักษ์ปลูกเฉพาะชุมชนตะเคียนเตี้ยด้วยกลิ่นหอม ฉุน ไม่เหมือนสายพันธุ์จากแหล่งอื่น จึงทำให้อร่อยล้ำไม่ควรพลาด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ชุมชนตะเคียนเตี้ยมีความแข็งแกร่ง และนำรายได้เข้าสู่ชุมชนได้มากขึ้น หน่วยงานภาครัฐได้ร่วมกับชุมชนสร้างความเข้มแข็งด้วยการดึงคนภายนอกให้เข้ามาเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตพอเพียง และเข้าชมพิพิธภัณฑ์บ้านร้อยเสา ซึ่งเป็นลานวัฒนธรรมและศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม เมื่อสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ศึกษากระบวนงานการพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจากชุมชนนี้แล้วจะขยายการพัฒนาชุมชน เกษตรกรพื้นที่อื่นๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามรอยบ้านร้อยเสาได้ในอนาคต โดยร่วมมือกับ อพท. ต่อไป ซึ่งผู้ที่สนใจท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางวันดี ประกอบธรรม หมายเลขโทรศัพท์ 098-412-1712

ในหนึ่งชีวิตที่หายใจดีอยู่มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา บางครั้งไม่ได้ผ่านมาเพื่อให้เป็นของเรา แค่ผ่านมาเพื่อให้เราผ่านมันไปให้ได้ต่างหาก ดังนั้น เราต้องจำในสิ่งที่ควรจำ ลืมในสิ่งที่ควรลืม ข้อหนึ่งที่ต้องพึงจดจำไว้เสมอว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอนหรอกครับ ที่แน่นอนที่สุดคือเราทุกคนได้รับของขวัญที่สุดล้ำค่าของที่สุดคือลมหายใจที่มีอยู่ และที่สุดของที่สุดอีกอย่างคือการที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ในทุกๆ วัน ชีวิตนั้นอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดไว้ แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างที่เราได้ลงมือกระทำ เมื่อเป็นเช่นนี้หากว่าชีวิตนั้นจำเป็นต้องเดินช้าหรือเร็วบ้างช่างมันเถอะ ขอเพียงให้ทุกก้าวที่ก้าวออกไปต้องดีกว่าเดิม และจำไว้เสมอว่าไม่ต้องดีกว่าใคร

สวัสดีครับแฟนๆ ขอต้อนรับด้วยคำว่า สวัสดี และขอบพระคุณอย่างมากมายจากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและผู้เขียนเป็นเบื้องแรก คอลัมน์นี้ได้รับแรงใจอย่างเหนียวแน่นจากแฟนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องราวของคำถามหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับ ชะอมไม้เค็ด 2009 แฟนๆ จะติดตามกันมาก แม้ว่าจะนำเสนอมาหลายปีก็ตาม มีการส่งเสียงไปหา โทร. (081) 846-0652 หรือติดตามทางเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อ นายสมยศ ศรีสุโร หรือ ID. Janyos กันอย่างต่อเนื่อง แถมบอกด้วยว่าอย่าให้เรื่องนี้หายไปไหน ชนิดผมปลื้มหัวใจมิรู้ลืมจริงๆ ครับแฟนๆ ขอขอบพระคุณอีกครั้งนะครับ

ปักษ์นี้ขอนำเสนอเรื่องราวของแฟนชะอมไม้เค็ด 2009 พันธุ์แท้จริงๆ ครับ ขอแนะนำให้แฟนๆ ที่ติดตามเรื่องราวของชะอมไม้เค็ด 2009 ได้รู้จักกับครอบครัวหนึ่ง คุณสมศักดิ์ และ คุณปราณี แก้วแสน บ้านเลขที่ 7 หมู่ที่ 5 ตำบลหมากเขียบ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ มีลูกหญิงชายอย่างละ 1 คน อาชีพเดิมคือช่างไฟฟ้ารับเหมาทุกเรื่องราวที่เกี่ยวกับไฟฟ้าอยู่แถวภาคตะวันออก จันทบุรี ระยอง และชลบุรี คุณสมศักดิ์เป็นแฟนประจำนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่สุดเยี่ยมไปกว่านั้นคือเป็นแฟนประจำคอลัมน์นี้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะเรื่องราวของชะอมไม้เค็ด 2009 จะติดตามตลอดและคิดเสมอว่า สักวันหนึ่งเมื่อตัดสินใจกลับไปอยู่ที่บ้านจะต้องปลูกชะอมไม้เค็ด 2009 อย่างแน่นอน

พ.ศ. 2556 หลังจากที่ลูกสาวคนโตจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อมีงานทำเรียบร้อยแล้วคุณสมศักดิ์จึงได้เดินทางกลับไปอยู่บ้านตามที่ได้ตั้งใจไว้ เนื่องจากต้องการที่จะไปใช้ชีวิตเกษตรกรเต็มรูปแบบชนิดมีความสุขในบั้นปลายชีวิตแบบพอเพียงกับครอบครัว พร้อมจะได้ดูแลพ่อแม่ทั้งของตัวเองและพ่อแม่ของภรรยาอีกด้วย แน่นอนที่สุดการทำนาคืออาชีพที่ไม่สามารถปฏิเสธได้สำหรับที่ต้องกลับไปใช้ชีวิตที่นี่

คุณสมศักดิ์ เล่าว่า พ่อตาแม่ยายมีเนื้อที่เป็นสวนอยู่ประมาณ 4 ไร่ ปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์เต็มพื้นที่ไว้นานมากแล้ว ระยะหลังเริ่มให้ผลผลิตน้อยลง อยู่ห่างจากบ้านพักไปอีกประมาณ 300 เมตร คุณสมศักดิ์จึงได้ปรึกษากับครอบครัว ในที่สุดลงมติเอกฉันท์ที่จะเอาต้นหิมพานต์ออกให้หมดทั้งสวนเพื่อที่จะปรับปรุงให้เป็นสวนผสมแบบที่ใช้แรงงานครอบครัวเท่านั้นมาเป็นตัวช่วย ต้องการปลูกทุกอย่างที่กินและสามารถนำเอาไปขายได้อีกด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยลืมเลือนไปจากความคิดของคุณสมศักดิ์ คือ ต้องปลูกชะอมไม้เค็ด 2009

คุณสมศักดิ์ เล่าต่อไปว่า หลายปีมาแล้วได้ไปเที่ยวในงานเกี่ยวกับเกษตรในตัวจังหวัด และได้ซื้อกิ่งพันธุ์ชะอมมาทดลองปลูกดู ประมาณ 30 ต้น ไว้หลังบ้านพักอาศัย ในระหว่างรอการทำสวนผสมหลังจากที่ได้จัดการกับต้นมะม่วงหิมพานต์ออกไปเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างปรับปรุงพื้นที่ให้พร้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดินหรือเรื่องของการขุดบ่อน้ำไว้ใช้ในสวนผสมนี้

เมื่อปรับปรุงพื้นที่เรียบร้อย ต่อมาปี 2559 คุณสมศักดิ์จึงได้ปรึกษากับลูกสาวถึงเรื่องราวของชะอมไม้เค็ด 2009 ที่ได้ติดตามจากคอลัมน์นี้ หลังจากนั้นลูกสาวจึงได้ติดต่อกับผม และสุดท้ายได้สั่งชะอมไม้เค็ด 2009 ชุดแรกโดยส่งทางไปรษณีย์ 200 กิ่ง พร้อมลงมือปลูกชุดแรกกับลูกชายและคุณปราณี เพื่อเป็นการเปรียบเทียบกับชะอมที่ปลูกอยู่ก่อนหน้านี้ที่ปลูกอยู่ก่อนแล้ว หลังจากที่ชะอมไม้เค็ด 2009 ได้ให้ยอดออกมา คุณสมศักดิ์บอกกับผมอย่างชัดเจนด้วยเสียงดังๆ ว่า ยอดชะอมไม้เค็ด 2009 นั้นจะโตกว่าต้นที่คุณสมศักดิ์ได้ซื้อมาทดลองปลูกครั้งแรกอย่างเห็นได้ชัดด้วยตาตัวเอง

เมื่อเช่นนี้อีกประมาณ 2 เดือนต่อมา จึงให้ลูกสาวสั่งกิ่งพันธุ์ชะอมไม้เค็ด 2009 ไปอีก 1 กล่อง 200 ต้น เพื่อปลูกเพิ่มลงไปอีก เมื่อเก็บยอดชะอมส่งขายให้แม่ค้าที่รับพืชผักทุกชนิดในหมู่บ้านเพื่อนำไปขายที่ตลาดในตัวจังหวัดศรีสะเกษทุกวัน แม่ค้าได้บอกกับคุณสมศักดิ์ว่า สำหรับยอดชะอมที่ปลูกนั้นหากเป็นยอดโตเช่นนี้เก็บเท่าไหร่ในแต่ละครั้งจะรับไว้ทั้งหมด ในที่สุดคุณสมศักดิ์จึงให้ลูกสาวสั่งกิ่งพันธุ์ชะอมไม้เค็ด 2009 เพิ่มไปอีก 2 กล่อง จำนวน 400 ต้น ในเวลาต่อมา

วันนี้ ปี 2561 คุณสมศักดิ์มีต้นชะอมไม้เค็ด 2009 ในแปลงสวนผสมทั้งสิ้นประมาณ 800 ต้น เป็นแปลงที่สุดสวย สะอาด น่าสัมผัสอย่างยิ่ง เนื่องจากระดับของต้นชะอมจะเป็นแนวสวยงาม เรียบร้อย โดยคุณสมศักดิ์ได้ปลูกระยะห่างของต้น คือ 50 เซนติเมตร ระยะห่างของแถวสำหรับไว้เดินเก็บยอด และสามารถกำจัดวัชพืชในแปลงชะอมได้สะดวก 1.20 เมตร ตามที่ได้คุยกับผมก่อนหน้านั้น

คุณสมศักดิ์ดูแลเอาใจใส่ทุกขั้นตอนจนเป็นแปลงชะอมที่สมบูรณ์ที่สุด พร้อมที่จะเก็บยอดได้ทุกวันอย่างมีความสุข และมีประโยคที่คุณสมศักดิ์บอกผมแบบได้ยินแล้วเป็นปลื้มไปเลยครับ “ผมปลูกชะอมไม้เค็ด 2009 ตามที่อาจารย์แนะนำทุกอย่างโดยเฉพาะระยะห่างของต้นนั้นทุกต้นผมได้ใช้ตลับเมตรวัดเพื่อให้ระยะห่างเท่ากันทุกต้นเลยครับ” อะไรจะขนาดนั้นเยี่ยมมากครับ

คุณสมศักดิ์ เล่าต่อว่า ทุกเช้าประมาณตี 5 กว่าจะไปเก็บยอดชะอมกับคุณปราณี ศรีภรรยาที่คุณสมศักดิ์บอกว่า จะมีฝีมือเก็บยอดได้อย่างรวดเร็วกว่า พร้อมกับตัดแต่งต้นไปด้วยทุกครั้งที่ตัดยอดชะอมเพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาตัดแต่งต้นอีกภายหลัง จะทำให้ง่ายต่อการเก็บยอดเมื่อเวียนกลับมาถึงอีกครั้งหนึ่งจะทำให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น คุณสมศักดิ์บอกอีกว่า ที่ต้องไปเก็บในช่วงระยะเวลานี้เนื่องจากยอดชะอมจะสดสวยและยอดชะอมไม้เค็ด 2009 นั้นจะมีหนามตามโคนยอดเล็กน้อยด้วย จะมีลักษณะนิ่มอีกต่างหากจนสามารถเคี้ยวกินได้ชนิดมันส์ติดเหงือกอย่างที่ผมเขียนไว้เสมอ

ใช้เวลาประมาณ 8 โมงครึ่งถึง 9 โมง จะเสร็จสิ้นโดยเก็บเป็นแถวตามที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละวัน จนวนมาครบเช่นนี้ให้ได้ตลอด 1 สัปดาห์พอดี แต่หากว่าวันไหนคุณสมศักดิ์และคุณปราณีมีธุระสำหรับเรื่องสำคัญที่ต้องทำ ทั้ง 2 ท่านจะรีบมาเก็บยอดชะอมให้เช้าและเร็วกว่าเดิมให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน เพราะแม่ค้าจะขอร้องเสมอว่าให้มียอดชะอมไม้เค็ด 2009 ทุกวันมากน้อยไม่ว่ากันสำหรับผักชนิดอื่นไม่เป็นไร

เก็บยอดชะอมเสร็จกลับมาทำแพที่บ้าน หนักแพละ 1 ขีด โดยใช้เวลาแค่ครึ่งวันเช้าหน้าที่จะเป็นของคุณปราณี ศรีภรรยา ที่คุณสมศักดิ์บอกผมว่าสามารถทำได้อย่างรวดเร็วสมบูรณ์แบบกว่าผมมาก ให้ได้เฉลี่ยประมาณ 80 แพ สำหรับในทุกๆ 1 วัน สำหรับราคานั้นคุณสมศักดิ์บอกว่า ทั่วไปแม่ค้าจะให้แพละ 5 บาท เป็นอย่างต่ำ ราคาจะขึ้นอยู่ตามฤดูกาล แต่หากว่าเป็นหน้าหนาวจะได้ 7-10 บาท ต่อแพ

สำหรับช่วงบ่ายทั้งคู่มีเวลาไปทำอย่างอื่นได้อีก เพราะภายในสวนผสมนั้นคุณสมศักดิ์ได้ปลูกผักต่างๆ อีกหลายอย่าง ถั่วฝักยาว แตงกวา ฟักทอง พริก มะเขือ ข้าวโพด กล้วย เป็นต้น ไว้เต็มเนื้อที่ในสวนผสม แต่มีชะอมไม้เค็ด 2009 เป็นตัวพระเอก ตัวอื่นคือพระรอง แต่ทั้งพระเอกและพระรองล้วนเป็นที่ต้องการของแม่ค้าทั้งสิ้น

ระบบน้ำ คุณสมศักดิ์ใช้ระบบสปริงเกลอร์ จะทำให้ทุกอย่างที่ปลูกในสวนสามารถได้น้ำทั่วถึงหมดในครั้งเดียวที่เปิดสปริงเกลอร์ ศัตรูร้ายสำหรับชะอมนั้นคุณสมศักดิ์บอกว่า จะมีหนอนเขียว มีลักษณะทั้งตัวแข็งและนิ่ม เป็นหนอนผีเสื้อตัวเล็กๆ เมื่อเราไปถูกตัวมัน มันจะชักใยยึดลงด้านล่างทันที แต่พอเราเผลอเมื่อไหร่มันก็จะกลับขึ้นไปใหม่เพื่อเตรียมกินยอดชะอม กับศัตรูร้ายอีกตัวคือมดแดงตัวเล็กๆ ที่คุณสมศักดิ์บอกว่าจะกัดเจ็บมาก และพวกนี้จะชอบไปอาศัยเดินเล่นที่ยอดชะอม แต่เมื่อมีแดดจะลงมาที่โคนต้น ทั้ง 2 ชนิดนี้ต้องกำจัดทันที เพราะคุณชะอมจะรังเกียจมากที่สุดครับ คุณสมศักดิ์บอกเช่นนี้ครับ

การดูแลแปลงชะอมไม้เค็ด 2009 และพืชผักทุกชนิดนั้น คุณสมศักดิ์จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีทั้งสิ้น ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น โดยมากจะเป็นปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดกำจัดวัชพืชเช่นกัน ใช้แรงงานภายในครอบครัว โดยเฉพาะส่วนใหญ่จะเป็นฝีมือของ ยายมี แผลงฤทธิ์ แม่ยายผมเองครับ คุณสมศักดิ์บอกผมเช่นนั้นครับ และบอกต่ออีกว่า กำลังวางแผนปลูกชะอมไม้เค็ด 2009 เพิ่มอีกในปีนี้

แฟนๆ ท่านใดสนใจ ติดต่อไปเยี่ยมหาคุณสมศักดิ์ได้ครับ ติดต่อโทร. (085) 676-9852 ก่อนจากกัน คุณสมศักดิ์บอกกับผมแบบเสียงดังฟังชัด “อาจารย์ครับผมปลูกชะอมไม้เค็ด 2009 ไปแล้วผมจะบอกแฟนตลอดว่าเหมือนเรามี ATM จริงๆ ครับ” เยี่ยมมากครับ ไม่ง่ายนะครับสำหรับเรื่องราวที่จะเกิดได้เช่นนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรจะยากสำหรับคุณสมศักดิ์และคุณปราณี เพราะคุณคือคนขยันและอดทน สุดยอดมาก จึงมีวันนี้วันที่คุณสามารถ เดินห่าง…จากความจน ที่คุณบอกผมว่าคุณชอบประโยคนี้มากๆ ขอบพระคุณมากเช่นกันครับ

หรือแฟนๆ ท่านใดหากต้องการไปเยี่ยมหาที่สวนชะอมไม้เค็ด 2009 ที่ปราจีนบุรี เพื่อศึกษาก่อนตัดสินใจ เรียนเชิญด้วยความยินดีครับ ไร้ค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หรือต้องการกิ่งพันธุ์ชะอมไม้เค็ด 2009 ที่สดและสมบูรณ์ที่สุดพร้อมทุกรายละเอียดกรุณาติดต่อ คุณสุพล แสงทอง โทร. (084) 558-8639 ด้วยความยินดีอย่างยิ่งครับ

แฟนๆ ครับ เมื่อหมดลมหายใจหมายถึงการสิ้นสุดกับเวลาพร้อมหนึ่งชีวิตของเราในทันที ทุกเรื่องราวของเราต่อจากนี้จะค่อยๆ ถูกลืมและเลือนหายไปในที่สุด ไม่มีใครหรอกที่จะมาจดจำหรือถามหาเราอีกต่อไป เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องไปลงทุนกับใครหรือไปเป็นหุ้นส่วนกับใครทั้งนั้น ตัวเรานี่แหละคือสินทรัพย์ที่ดีที่สุดยอดของที่สุด ลงทุนกับตัวเราให้มากที่สุด ทุกคนที่หายใจอยู่ไม่มีใครโง่กว่าใครหรอกครับ ในหนึ่งชีวิตของเรานั้นไม่ดีใจก็ต้องเสียใจ มันก็มีอยู่แค่นี้เองเพราะนี่แหละคือชีวิต ขอเพียงจำไว้ว่าอะไรที่ทำแล้วลำบากคนอื่นอย่าทำ แต่อะไรที่ทำลงไปแล้วสบายใจทำไปเถอะ เพราะนี่คือชีวิตเรา สุดท้ายเมื่อเราได้แค่ไหนก็แค่นั้นเพราะนี่คือความจริงของชีวิตในวันนี้ ขอบคุณ สวัสดี

ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่ได้ระบุว่าคุณต้องเคยหรืออยู่ในวงจรเกษตรกรรมมาก่อน หากสนใจต้องการปฏิบัติตามแนวทางทั้งสองทฤษฎี เพราะเชื่อมั่นและเลื่อมใสในผลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวิชาชีพใด อายุเท่าไร เป็นเพศอะไร ก็ล้วนนำไปปฏิบัติได้ ขอเพียงให้คุณทุ่มเท เอาใจใส่นำไปทำอย่างจริงจังโดยไม่ท้อแท้เท่านั้น

คุณวินัย ทัพทวี บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 2 ตำบลริมสีม่วง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ทำสวนเกษตรผสมผสานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 โดยปลูกทั้งพืช ไม้ผล เลี้ยงสัตว์ และประมง ในแบบอินทรีย์ แล้วนำผลผลิตไปขายที่ตลาดสุขภาพ หวังให้ผู้บริโภคมีอาหารที่ปลอดภัยไว้รับประทาน พร้อมกับได้ชักชวนชาวบ้านในชุมชนสร้างเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่นำผลผลิตไปขายเสริมรายได้

คุณวินัย หรือ หมอวินัย เคยรับราชการเป็นหมออนามัย และตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนางั่ว ไม่ได้รอเกษียณ แต่ขอลาออกก่อน ด้วยเหตุผลที่มีความตั้งใจต้องการทำเกษตรกรรมที่ปลอดสารเคมี แล้วเห็นว่าในขณะที่ร่างกายยังมีกำลังก็ควรรีบลงมือทำเสียก่อน

“ระหว่างทำงานเป็นหมอ ชอบกิจกรรมเกษตรกรรมหลายชนิด แล้วยังทำสวนไว้บ้าง แต่ไม่เต็มที่ เพราะมีงานประจำอยู่ จึงซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้เมื่อ 6 ปีก่อน ในครั้งนั้นพื้นที่บริเวณนี้มีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้ แห้งแล้ง แต่เมื่อได้เข้ามาจับจองเป็นเจ้าของที่ดิน จึงเริ่มปรับปรุงพัฒนาโดยยึดแนวทางการทำเกษตรของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 แล้วนำพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ทั้งเล็ก-ใหญ่ มาปลูก วางผังปรับปรุงดินบางส่วนเพื่อทำสวนปลูกผักสวนครัวและสมุนไพร เพราะตระหนักว่าถ้าที่ใดมีป่า ที่นั่นมีความชุ่มชื่น”

การเป็นป่าต้นน้ำของพื้นที่บริเวณนี้ ถือว่าเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่มีส่วนช่วยส่งเสริมให้พื้นดินมีความชุ่มชื้นและฟื้นตัวเร็ว ช่วยให้ต้นไม้ใบหญ้าเจริญงอกงามเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์ทันที

หมอวินัย เล่าว่า ตอนที่มาซื้อที่ดินผืนนี้ ชาวบ้านหลายหลังคาเรือนที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ มีความเป็นอยู่ตามอัตถภาพ ครั้นเมื่อเข้ามาปรับปรุงพัฒนาพื้นที่จนมีความสมบูรณ์ ปลูกพืช ไม้ผล ก็ได้ดั่งใจ เลี้ยงสัตว์ก็มีคุณภาพ เมื่อชาวบ้านเหล่านั้นได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจึงหันมายึดแนวทางที่ตัวเองทำ พร้อมกับให้ความร่วมมือทำเกษตรกรรมอีกหลายชนิดร่วมกัน

“บ้านไร่ธรรมชาติ” เป็นชื่อสวนผสมอินทรีย์ของหมอวินัย มีกิจกรรมเกษตรผสมผสานในพื้นที่จำนวน 12 ไร่ ประกอบด้วยปลูกผักทั้งสวนครัวและสมุนไพร ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ เลี้ยงสัตว์ อย่าง หมู ไก่ พร้อมกับทำประมงด้วยการเลี้ยงปลาทับทิมและปลานวลจันทร์ ล่าสุดกำลังเริ่มเลี้ยงปลาดุกอินทรีย์

คุณหมอ เรียนรู้การผลิตปุ๋ยจากมูลสัตว์ไว้ใช้เอง เป็นมูลจากหมูหลุมที่เลี้ยงไว้ มีจำนวน 7 ตัว นำไปใส่พืชได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาหมักเหมือนมูลไก่ คุณหมอ บอกว่า มูลหมูหลุมให้ประโยชน์กับพืชได้อย่างดีมาก เนื่องจากได้ผสมแกลบ รำ และเศษอาหารต่างๆ ในคอกไว้เรียบร้อยแล้ว การที่หมูเดินไป-มา ในคอกก็เท่ากับเป็นการเหยียบย่ำให้วัสดุเหล่านั้นผสมกันอย่างเรียบร้อย เมื่อต้องการนำมาใช้ เพียงตักขึ้นมาตากให้แห้งสนิทแล้วใส่ต้นไม้ได้ทันที

ไม่เพียงเท่านั้น การเติมเต็มความรู้ด้านการเกษตรของคุณหมออยู่เป็นประจำ ทำให้หมอวินัยนำทรัพยากรในพื้นที่หลายชนิดมาสร้างมูลค่า ลดต้นทุนด้วยการผลิตฮอร์โมนหน่อกล้วยจากต้นกล้วยน้ำว้าที่ปลูกไว้ รวมถึงฮอร์โมนไข่ โดยใช้ไข่จากไก่ที่เลี้ยง มีไก่พันธุ์โรดไทย จำนวน 100 ตัว พันธุ์โรดไอแลนด์กับพันธุ์อื่นอีก รวมแล้วกว่า 130 ตัว

“เมื่อฟักไม่เป็นตัวก็เก็บมาใช้ แล้วยังผลิตนมหมักไว้ใช้จำนวนเล็กน้อย เนื่องจากต้องสั่งซื้อ สิ่งเหล่านี้ช่วยทำให้ต้นไม้และพืชต่างๆ ที่ปลูกไว้เจริญเติบโตสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญทำให้ประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยและอาหารเสริมได้อย่างมหาศาล ดังนั้น ทุกสิ่งที่กล่าวมา เมื่อนำมาใช้ผสมร่วมกันจะเป็นอาหารที่มีประโยชน์อย่างสูงต่อพืช หรือเปรียบเป็นอาหารจานด่วนที่พืชได้รับอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สตรอเบอรี่ ที่ปลูกไว้มีความสมบูรณ์มาก ให้ผลผลิตดก มีขนาดผลใหญ่ รสหวาน จนหลายคนที่ได้ลิ้มลองต่างตกใจ ทำให้มีรายได้ดีจากการขายอีกด้วย”

ในส่วนพืชไม้ผลที่คุณหมอปลูกไว้ ได้แก่ สตรอเบอรี่ กล้วย อะโวกาโด มะคาเดเมีย ฝรั่ง มะละกอ มะม่วง โดยไม้ผลเหล่านี้ปลูกไว้กินเอง แล้วบางส่วนยังนำไปขายเป็นรายได้ที่ตลาดกรีน ซึ่งเป็นตลาดสุขภาพแห่งใหญ่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากนั้น บริเวณรอบที่ดินจะปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจอย่าง พะยูง และต้นมะขามหวาน ไว้เป็นกำแพงธรรมชาติเพื่อช่วยกลั่นกรองมลภาวะที่เป็นพิษจากสิ่งต่างๆ

ความสำเร็จของหมอวินัยสร้างความสนใจให้แก่ชาวบ้านในชุมชน แล้วได้เข้าร่วมทำกิจกรรมเกษตรผสมผสานแนวอินทรีย์ ในชื่อ “ริมสีม่วง ออร์แกนิควิลเลจ” ซึ่งมีสมาชิกถึงตอนนี้ ประมาณ 30 ราย ทั้งนี้สมาชิกแต่ละรายจะทำกิจกรรมทางการเกษตรที่ตนเองถนัด ต้องการจะทำแบบรวมทุกอย่างหรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่มีข้อตกลงว่าทุกอย่างที่ทำต้องเป็นอินทรีย์ด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์เท่านั้น

โดยสมาชิกจะมีโอกาสนำผลผลิตอินทรีย์ไปจำหน่ายที่ตลาดกรีน รวมถึงตลาดอินทรีย์อีกหลายแห่งในจังหวัด ซึ่งจะทำให้สมาชิกได้สิทธิพิเศษการขายสินค้าในราคาสูงกว่านำไปขายยังตลาดทั่วไป คุณหมอ เผยว่า ที่ผ่านมาสมาชิกกลุ่มพอใจกับกิจกรรมเหล่านี้ รวมถึงรายได้ตอบแทนด้วย เพราะทุกคนมองว่าเป็นความยุติธรรมกับระบบการผลิตและจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็ง abrahamstent.org ตลอดจนเป็นที่ยอมรับในสังคมเกษตรอินทรีย์ จึงได้ดำเนินการขอรับรองทำเกษตรอินทรีย์ จาก PGS (Participation Good System) หรือเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม โดยสมาชิกทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ

หมอวินัย บอกว่า สิ่งที่ไม่ค่อยพอใจนักเป็นเรื่องคุณภาพผลผลิต เพราะยังไม่ถึงตามเป้าหมายที่ต้องการ แต่ถ้าถามเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพ อันนี้การรันตีเต็มที่ เพราะรูปลักษณ์ภายนอกอาจไม่สวย ขนาดบางอย่างอาจยังไม่ได้มาตรฐาน คงต้องใช้เวลาปรับปรุงกันตลอด ฉะนั้น อีกไม่นานคงจะได้เห็นผลผลิตที่มีทั้งคุณภาพมาตรฐาน ส่วนเรื่องรสชาติคงไม่ต้องห่วง เพราะชิมแล้วได้ตามที่ต้องการ

“แท้จริงของเป้าหมายคือ ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมในพื้นที่ตัวเอง และพื้นที่ของสมาชิกให้มีความสมดุลทางธรรมชาติโดยปลอดสารเคมี เพื่อจะได้นำไปสู่การเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ จะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ ห่างไกลจากโรคภัย ไม่สร้างปัญหาต่อตนเองและภาระคนรอบข้าง

เมื่อพื้นที่ขนาดใหญ่มีคุณภาพ แล้วกลับสู่ความสมดุลทางธรรมชาติที่ปลอดสารเคมีแล้ว จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดของสมาชิกทุกรายสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ แล้วเชิญชวนผู้คนที่สนใจแนวอินทรีย์เข้ามาดูงาน มาเที่ยว หรือเข้ามาพักแรมก็ได้” คุณหมอวินัย กล่าวในตอนท้าย

การอยู่บนเส้นทางอาชีพรักษาคนไข้ ทำให้หมอวินัยมองว่าชีวิตที่สมบูรณ์ควรจะเริ่มจากต้นทาง คือความปลอดภัยจากน้ำ อากาศ อาหาร ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าการได้อยู่กับสภาพทางธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ดี ช่วยให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ

ทริปท่องเที่ยวคราวต่อไป ชวนท่านผู้อ่านปักหมุดไปเที่ยวเขาค้อ เพราะมีความเป็นธรรมชาติได้สัมผัสทั้งต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ แต่อย่าลืมแวะไปเยี่ยมเยียนสวน “บ้านไร่ธรรมชาติ” ของคุณหมอวินัย ได้ที่โทรศัพท์ (084) 623-8807 เผลอๆ ท่านอาจโชคดีมีผลิตภัณฑ์อินทรีย์ติดมือกลับบ้านด้วย

คุณบัญชา หนูเล็ก อยู่บ้านเลขที่ 9/5 หมู่ที่ 7 ต.บางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี โทร. 089-220-8438 ถือเป็นเกษตรกรมืออาชีพท่านหนึ่ง ใน อ.บางแพ ที่สะสมประสบการณ์ในการปลูกผักมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ประกอบ คุณบัญชา ได้นำเอาวิชาการ และเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรของตนเอง ส่งผลให้การปลูกผักประสบผลสำเร็จและเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ทั้งยังมีผลกำไรสูงสุด

“ขึ้นฉ่าย” ถือเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่คุณบัญชากล่าวว่าเป็นการทำการเกษตรแบบแจ๊กพอต ที่ปลูกเพียงครั้งเดียว สามารถสร้างรายได้ถึง 1 ล้านบาท แต่สามารถปลูกได้เพียงครั้งเดียวในรอบ 3-5 ปี เป็นเพราะอะไร คุณบัญชามีคำตอบและข้อแนะนำเคล็ดลับดีๆ ในการปลูกขึ้นฉ่าย