จังหวัดชัยนาท (ภาคกลาง) เสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนการ

ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นกิจกรรมทางเลือกอื่น ได้แก่ การปลูกหญ้าเนเปียร์ เป็นพืชอาหารสัตว์ที่เกษตรกรสามารถปลูกไว้ใช้เลี้ยงปศุสัตว์และจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์รายอื่น สามารถให้ผลตอบแทนสุทธิ 31,228 บาท/ไร่ รวมทั้งการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น แพะ (เลี้ยงแม่แพะ 30 ตัว เพื่อผลิตลูกแพะจำหน่ายและเกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์เอง 1 ไร่ จะมีผลตอบแทนสุทธิ 201,530 บาท) และ แม่โคเนื้อพันธุ์ลูกผสม (จำนวน 3 ตัว เพื่อผลิตลูกโคจำหน่ายและเกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์เอง 1 ไร่ มีผลตอบแทนสุทธิ 40,812 บาท) ซึ่งมีช่องทางการตลาดและความต้องการสูง โดยเฉพาะตลาดในประเทศ เพื่อนบ้าน นอกจากนี้ แนะนำให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

จังหวัดจันทบุรี (ภาคตะวันออก) การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ ยางพารา และไม้ผล อาทิ ลำไย ทุเรียน มังคุด และ เงาะ ซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับจังหวัด โดยสินค้าทั้ง 5 ชนิด ไม่มีปัญหาในการบริหารจัดการภายในจังหวัด แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมระดับประเทศ สินค้ายางพาราที่มีปัญหาราคาตกต่ำ จึงเสนอให้เกษตรกรปลูกพืชแซมยางหรือปลูกพืชร่วมยาง เพื่อเพิ่มรายได้และทำให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี เช่น พืชผัก พืชสมุนไพร (เร่วหอม กระวาน ไม้ตัดใบ) โดยมีตลาดในพื้นที่และตลาดในกรุงเทพมหานคร รองรับ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 สศก.จะดำเนินการ อีก 19 จังหวัดเพิ่มเติม

บิ๊กศรแดง “ปลื้มยอดขายเมล็ดพันธุ์ผักปีนี้พุ่ง 12-14% ยังครองมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่งเหนียวแน่น ตั้งเป้าปีหน้าโตไม่ต่ำกว่า 10% เข็นเมล็ดพันธุ์พริก แตงกวา เมลอน แตงโมสายพันธุ์ใหม่ออกสู่ตลาด พร้อมจัดกิจกรรมครบรอบ 35 ปีจัดงาน “อีสท์ เวสท์ ซีด ฟิลด์เดย์ 2017” ใกล้กรุง ตอกย้ำความเป็นผู้นำ

นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักตรา “ศรแดง” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ว่า คาดว่าจะมียอดขายเติบโต 12-14% เมื่อเทียบกับปี 2559 หรือมียอดขายประมาณ 1,200 ล้านบาท จากยอดขายรวมเมล็ดพันธุ์ผักทุกบริษัทในประเทศไทยประมาณ 2,200-2,300 ล้านบาท ขณะที่ตั้งเป้าหมายยอดขายในปี 2561 เพิ่มไม่ต่ำกว่า 10% โดยจะมีการออกเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ประมาณ 5-6 ชนิดเหมือนเช่นทุกปี โดยจุดเด่นที่จะนำออกมาสู้กับคู่แข่ง จะเน้นผลผลิตเพิ่ม คุณภาพดีขึ้น ต้านทานโรคได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ เมล็ดพันธุ์ผักสายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ 1.พริกขี้หนูสวน จากปกติที่ขายในตลาด ขณะนี้จะมีความยาว 5-6 ซม. พันธุ์ใหม่จะมีความยาวมากขึ้นเป็น 6-8 ซม. ขนาดของผลพริกใหญ่ขึ้นเพื่อจูงใจผู้บริโภคซื้อและน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตขายได้ในราคาสูงขึ้น 2.แตงกวาผลผลิตจะออกผลเร็วขึ้นจากเดิม 35 วัน เหลือ 30 วัน ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ปุ๋ยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลงไปได้พอสมควร 3.เมลอน จะนำออกสู่ตลาด 2 สายพันธุ์ จุดเด่นคือ เนื้อสีขาวเหมือนไข่ไดโนเสาร์ ส่วนสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่จะนำออกสู่ตลาดอาจจะมีแตงโมพันธุ์ใหม่เพิ่มด้วย

ส่วนกรณีที่ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรจะเสนอปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้น นายวิชัยกล่าวว่าเห็นด้วย เพราะเป็นการสนับสนุนเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน นักวิชาการและบริษัทเอกชน มาเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืชออกสู่ตลาดมากขึ้น และได้รับการคุ้มครองยาวนานขึ้นกว่าเดิม เพราะพืชหลายชนิดต้องใช้เวลาและทุนทรัพย์ในการวิจัยค่อนข้างนาน อย่างเช่น มะระของบริษัทลายหยดน้ำ ต้องใช้เวลาวิจัยนานถึง 8 ปี และการนำออกมาจำหน่าย ต้องใช้เวลาและการโฆษณาอีกหลายปีกว่าจะติดตลาด ที่มีการกล่าวว่า จะขายแพงขึ้นนั้น กลไกตลาดจะปรับตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทใหญ่ผลิตเมล็ดพันธุ์กว่า 10 บริษัท และบริษัทขนาดเล็กอีกกว่า 300 บริษัท การขายแพงเกินไปจึงเป็นไปได้ยาก

นายวิชัยกล่าวต่อว่า ในปีนี้บริษัทดำเนินกิจการในไทยครบรอบ 35 ปี เพื่อเป็นการตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดเมล็ดพันธุ์ผักเขตร้อนในกลุ่มประเทศอาเซียน บริษัทจะมีการจัดกิจกรรมฉลอง โดยจัดงาน “อีสท์ เวสท์ ซีด ฟิลด์เดย์ 2017 35 ปี เพาะด้วยใจให้ยั่งยืน” ขึ้น บนพื้นที่ 20 ไร่ ด้านหลังบริษัทติดถนนไทรน้อย กม.20 มีการโชว์พันธุ์พืชผัก ดอกไม้กว่า 200 สายพันธุ์ แบ่งออกเป็น 5 โซน คือ 1.โซนผักพื้นบ้านของไทย 2.โซนสวยงามกับดาวเรืองหลากสี 3.โซนนวัตกรรม ชมการปรับปรุงพันธุ์ผัก การตัดแต่งกิ่ง พริก ฟักทอง แตงโม เมลอน ต่างกันอย่างไร 4.โซนสวนเพื่อการค้า เช่น ข้าวโพด คะน้า ผักใบ และ 5.โซนแสดงนิทรรศการเกษตรกรปลูกผัก ขายผักอย่างไร และกว่าจะมาเป็นเมล็ดพันธุ์ผักต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง

โดยสิ่งที่น่าสนใจในนิทรรศการครั้งนี้ ได้แก่ “อุโมงค์ผักที่ยาวที่สุดในประเทศไทย” มีการรวบรวมพันธุ์ผักประเภทไม้เลื้อยต่าง ๆ เช่น ฟักทองรูปน้ำเต้าหรือบัตเตอร์นัต แฟงชนิดต่าง ๆ บวบหลากหลายสายพันธุ์ และชม “สวนผักพื้นบ้านไทยที่บางชนิดอาจจะใกล้สูญหายไปจากสังคมแล้ว เช่น ถั่วฝักยาวไร้ค้าง ถั่วแปบสีม่วง ตามด้วยแปลงดาวเรืองหลากสี ทั้งพันธุ์ตัดดอกเพื่อการค้าและพันธุ์ปลูกประดับ”

นอกจากนี้ยังมี “พืชโรงเรือน” โดยเฉพาะเมลอนและมะเขือเทศเชอรี่ สามารถชมและศึกษาการทำพืชโรงเรือนแบบมืออาชีพได้เลย ทั้งยังมี “แปลงผักเพื่อการค้าหลากหลายชนิด” อาทิ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพด ข้าวโพดข้าวเหนียวหลากหลายสีสันที่บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์สูงถึง 80% และผักสายพันธุ์การค้าต่าง ๆ ให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษานำความรู้ไปใช้ในการทำไร่ สวนของตนเองได้ ทั้งนี้ บริษัทจะเริ่มเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมงานนี้วันที่ 18-19 พ.ย.ศกนี้

พาณิชย์จังหวัดมหาสารคามจับมือศูนย์ชั่งตวงวัดขอนแก่น ติวเข้มกฎหมายชั่งตวงวัด หวังให้เกษตรกรรู้ทันกลโกงพ่อค้าหัวใส เผยมีเครื่องชั่งไฟฟ้าที่ใช้รับซื้อข้าวเปลือก ยางพารา แอบใช้รีโมตกำหนดน้ำหนักเองได้ กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 300 เครื่อง ระบาดหนักสุดในภาคอีสาน

ปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรชาวไร่ชาวนาประสบอยู่ทุกปีเมื่อนำพืชผลการเกษตรไปขายให้พ่อค้าคือ การถูกโกงตาชั่ง เนื่องจากเกษตรกร ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายชั่งตวงวัดรวมทั้งไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของพ่อค้าว่าถูกโกงตาชั่งอย่างไร

กรณีดังกล่าว ทางศูนย์ชั่งตวงวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) ได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดมหาสารคาม จัดฝึกอบรมโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรด้วยกฎหมายชั่ง ตวง วัด เพื่อให้เกษตรกรรู้ทัน รู้ราคา รู้รายได้ ไม่ถูกโกง โดยผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา จาก 13 อำเภอในจังหวัดมหาสารคาม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองประจำพื้นที่

นายสุชาติ สินรัตน์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการอบรมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรด้วยกฎหมายชั่งตวงวัด มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ เทคนิคการใช้เครื่องชั่ง ตวง วัด ในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกร เช่น เครื่องชั่งสปริง เครื่องชั่งรถยนต์ เครื่องชั่งความชื้นข้าวเปลือก เครื่องชั่งวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสำปะหลัง เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรได้ทราบถึงลักษณะเทคนิคการใช้ที่ไม่ถูกต้อง และมีการเอารัดเอาเปรียบ การฝึกอบรมประกอบด้วยการบรรยายและการสาธิตด้วยเครื่องชั่งตวงวัด ของจริงที่พบการกระทำผิดในคดีมาสาธิต แสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ไขน้ำหนัก การหักความชื้น และสิ่งเจือปนเพื่อเอาเปรียบ คาดหวังว่าเมื่อเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเทคนิคการโกงตาชั่งแล้ว จะทำให้ปัญหาการโกงตาชั่งลดน้อยลงไป

ผู้สื่อข่าวรายงานพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการแนะนำตัวอย่างเครื่องชั่งที่นิยมใช้ในปัจจุบัน อาทิ เครื่องชั่งสปริงที่นิยมใช้ในตลาดสด ร้านขายของทั่วไป ซึ่งเครื่องชั่งแบบนี้ตามกฎหมายกำหนดให้มีสองหน้าปัด หากเป็นแบบหน้าปัดเดียว

หรือเครื่องชั่งทำจากพลาสติกห้ามใช้ชั่งซื้อขาย และสิ่งที่ผู้บริโภคต้องดูคือที่หน้าปัดสองด้าน เข็มต้องชี้เลขศูนย์ ปลายเข็มต้องไม่หัก หรือนำสินค้ามาวางบังหน้าปัด และจะต้องดูว่ามีเครื่องหมายเป็นรูปขอบนอกตราครุฑจากพนักงานเจ้าหน้าที่

แต่ที่น่าห่วงมากที่สุดคือ เครื่องชั่งไฟฟ้าที่ใช้สำหรับรับซื้อพืชผลการเกษตร อาทิ ข้าวเปลือก ยางพารา โดยแอบใช้รีโมตบังคับ ซึ่งจะกำหนดน้ำหนักเท่าไรก็ได้ ขณะนี้พบว่ากระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 300 เครื่อง สามารถตามจับได้ประมาณ 5-6 เครื่องเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากเกษตรกรอีสานส่วนใหญ่ยังไม่รู้เทคนิคการโกง

ทั้งนี้เมื่อนำสินค้าขึ้นวางบนตาชั่งก็จะใช้รีโมตกดตัวเลขกำหนดว่าได้กี่กิโลทันที แต่เมื่อยกของลง ตัวเลขจะต้องเป็นศูนย์ให้เกษตรกรสังเกตตรงนี้ หากตัวเลขค้าง แสดงว่ามีการใช้รีโมตบังคับ หรือก่อนขายจะต้องตรวจสอบแท่นรับน้ำหนักตรงกันรวม 5 จุดว่าน้ำหนักตรงกันหรือไม่ เมื่อชั่งเสร็จก่อนรับใบสั่งจะต้องดูตัวเลขน้ำหนักตรงกับหน้าจอ
หรือไม่ เกษตรกรจะต้องรักษาผลประโยชน์ตัวเอง จะต้องสังเกตว่ามีความผิดปกติหรือไม่ นอกจากนั้น เครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกทุกเครื่องก็ต้องมีเครื่องหมายรับรองจากกรมการค้าภายใน ต้องมั่นใจว่าเป็นเครื่องวัดความชื้นเฉพาะข้าวเปลือก และต้องวัดซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง จึงจะหาค่าเฉลี่ยเพื่อความเที่ยงตรง หรืออาจจะสอบเทียบความชื้นจากรายอื่นก่อน

ส่วนเครื่องชั่งวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมัน ใช้กำหนดราคาซื้อขายหัวมันสำปะหลัง เครื่องวัดต้องได้ระดับไม่เอียง ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย จะต้องเลือกหัวมันฝ่ายละเท่า ๆ กัน อย่าให้พ่อค้าเลือกฝ่ายเดียวและต้องทำความสะอาดหัวมันออกให้หมด และหากพบการทุจริตฉ้อโกงก็ขอให้แจ้งข้อมูลมายังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือโทร.สายด่วน 1569

สคช. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำ “โครงการมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นการน้อมนำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและประชาชนชาวไทยทั้งด้านองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐาน ตรงตามแนวพระราชดำริ พัฒนาสู่ยุค 4.0 อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คาดประกาศใช้ได้ภายในพฤษภาคมปีหน้า

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยว่า ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำ “โครงการมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรม ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นการน้อมนำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่

เกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและประชาชนชาวไทยทั้งด้านองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐาน ตรงตามแนวพระราชดำริ และนำไปสู่ภาคปฏิบัติให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข พอเพียง พ้นจากความยากจน อีกทั้ง เพื่อให้สถานศึกษาทุกระดับ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ ได้ตรงกับแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน อันจะนำประชาชน ชุมชน และสังคมไทยได้เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เกิดการบูรณาการอย่างยืดหยุ่น มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม จนสามารถก้าวไปสู่การพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาประเทศสู่ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึงมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ว่า “สำหรับองค์ความรู้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือว่า สคช. จะขอน้อมเกล้านำมาจารึกไว้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นมาตรฐานเพื่อให้คนรุ่นหลังทั้งคนไทย และคนต่างประเทศได้นำหลักการ แนวพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ ไปใช้และปฏิบัติ ตามพระราชดำริที่พระองค์ทรงพระราชทานไว้ และยังจะทำให้เกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงไม่สูญหาย จะยังคงเปรียบเสมือน “ทรัพย์อันทรงคุณค่าของแผ่นดินไทย” ถ้าประชาชนทั้งประเทศนำไปใช้เชื่อว่าทุกครัวเรือนจะมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น พ้นจากความยากจนด้วยความเพียรอีกหนทางหนึ่ง

การสร้างมาตรฐานอาชีพนี้ นอกจากจะทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากการทำเกษตรที่ได้ผลผลิตเพิ่มตลอดปี มีความหลากหลายแบบผสมผสานแล้ว ยังเกิดความพอเพียง ไม่ทำเกษตรเกินตัว โดยส่งผลให้มีข้าว น้ำ พืชผล สัตว์ ใช้บริโภคตลอดปี หากเหลือกินเหลือใช้สามารถนำไปขายสร้างรายได้ของครอบครัวอีกด้วย

“คาดว่า การทำมาตรฐานฯ ครั้งนี้จะเสร็จสมบูรณ์ประมาณเดือนพฤษภาคม 2561 ในขั้นตอนการรับรองมาตรฐาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจะต้องเชิญบุคคลที่มีความรู้และรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในช่วงการก่อกำเนิด เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็คือ อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด มาให้การรับรองข้อมูลอย่างถูกต้องและถ่องแท้ เพื่อเป็นมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้สมบูรณ์แบบมากที่สุด หลังจากนั้นจะนำองค์ความรู้ที่รวบรวมมาจัดทำเป็นมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบสู่การปฏิบัติอย่างทั่วถึงผ่านเว็บไซต์ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงถือว่า เป็นทรัพย์ของแผ่นดินและเป็นทรัพย์ของสากล หากนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง” ดร.นพดล กล่าว

ทั้งนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ขอเรียนเชิญหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมสนับสนุนช่วยเหลือให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย อาทิ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง จังหวัดกำแพงเพชร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้านโครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์เกษตรอนินทรีย์วิถีชุมชนหนองกระโดนมน

จังหวัดสุพรรณบุรี ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนำควาย และที่ขาดไม่ได้ คือ มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิน้ำเพื่ออีสาน และปราชญ์ชาวบ้านที่น้อมนำแนวทฤษฎีใหม่ไปปฏิบัติใช้แล้วเห็นผลเชิงประจักษ์ ประสบความสำเร็จ ขอเชิญท่านให้เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ และคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรทฤษฏีใหม่ตามหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเปรียบเสมือน “ทรัพย์อันทรงคุณค่าของแผ่นดินไทย” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อมวลประชาโลกสืบไป

นายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิน้ำเพื่ออีสาน กล่าวถึง หลักการทำทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริว่า ทฤษฎีใหม่เป็นการประยุกต์การทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน เป็นพระราชดำริเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็ก ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทฤษฎีใหม่ เป็นขั้นของความเข้าใจและจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนคือ 30 เปอร์เซ็นต์ ขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำฝน ต่อมา 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารเพียงพอตลอดปีลดค่าใช้จ่าย

ถัดมา 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เหลือก็นำไปจำหน่าย และสุดท้าย 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่อยู่อาศัยเลี้ยงสัตว์และโรงเรือน หากเกษตรกรเข้าใจคำว่าทฤษฎีใหม่แน่นอนว่าครอบครัวเกษตรกรนั้นจะมีงานทำตลอดทั้งปี ทำให้เกิดทักษะ เกิดความขยันในการทำงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้และค่าตอบแทนแน่นอน ผลิตผลที่ผลิตในพื้นที่ย่อมมีกินตลอดปี และทำให้เกิดจิตวิญญาณที่จะมุ่งมั่นสู่การทำงาน ซึ่งจะได้ความสุขในชีวิตตอบแทนกลับคืนมาด้วย แต่ต้องมีความเพียรพยายาม ดังพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “การทำทฤษฎีใหม่ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง…ผู้ที่ปฏิบัตินี้ต้องมีความเพียร และต้องอดทน …ทฤษฎีใหม่…ยืดหยุ่นได้และต้องยืดหยุ่น เหมือนชีวิตของเราทุกคนต้องมียืดหยุ่น ”

“โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นการสร้างความยั่งยืนในการน้อมนำ “เกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมนำมาใช้เป็นแนวทางและหลักการอย่างตรงตามแนวพระราชดำริ ทั้งด้านองค์ความรู้ ความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างเป็นขั้นตอน ความสามารถในการวางแผนอย่างมีกระบวนการ การจัดการทรัพยากรการผลิตอย่างสมดุลและเหมาะสม จนเกิดนวัตกรรมในการพึ่งพาตนเองได้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์และบริบทพื้นที่” นายปราโมทย์ กล่าว

การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จะมีการจัดแบ่งระดับของมาตรฐานวิชาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ใน 3 ระดับ คือ 1.ระดับต้น โดยจะมุ่งกำหนดกรอบสมรรถนะเพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต รายได้ ความมั่นคงของตัวเกษตรกรและชุมชนชน มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง ถัดมา 2. ระดับกลาง ที่มีกรอบของสมรรถนะมุ่งเน้นการสร้างกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อดำเนินการการเกษตรอย่างครบวงจร และ 3. ระดับก้าวหน้า ที่มีกรอบสมรรถนะมุ่งเน้นการเป็นผู้ประกอบการ และสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกเพื่อสนับสนุนการผลิตและการตลาด

ทั้งนี้ การจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อกำหนดแนวทางเดินให้กับเกษตรกร ซึ่งในตอนนี้เกษตรกรมีพื้นฐานความเข้าใจอยู่แล้วส่วนหนึ่ง เรียกว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” แต่อาจไม่สมบูรณ์ ถ้าหากทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพดำเนินการต่อยอดเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้าใจและชี้ให้เห็นภาพว่ามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพคืออะไร ตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก

ส่วนเรื่องเครื่องจักรกลต่าง ๆ ทางภาครัฐเองก็ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน queermuseum.com ต้องทำตามพระราชดำรัสว่า “บวร” และต้องสร้างความริเริ่มในการพัฒนาให้กับเกษตรกรด้วย โดยทาง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะต้องแนะแนวทางการสร้างมาตรฐานว่าควรเป็นแบบใดและขับเคลื่อนตามมาตรฐานได้อย่างไร” อาจารย์ปราโมทย์ อธิบายต่อว่า “นอกจากนี้ มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรม ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องเป็นการพัฒนาศักยภาพ และสมรรถนะของเกษตรกรหรือผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างสอดคล้องกับการเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ และทิศทางการพัฒนาภาคเกษตรในบริบทของ Thailand 4.0 สู่การเป็นเกษตรกรที่มีมาตรฐาน และมีสมรรถนะมืออาชีพ นำไปสู่การขยายผลของความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรมต่อไป

อธิบดีกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่อีสาน ติดตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าว เนื่องเป็นช่วงผลผลิตกำลังออก พร้อมติดตามโครงการ แอพพลิเคชั่น จองรถเกี่ยวข้าว รับเกษตรกรสนใจเข้าร่วมมากขึ้น

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2560 ว่า เพื่อชี้แจงและติดตามมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบและอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/61 เพื่อรองรับผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป อีกทั้ง เปิดรับฟังปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพื่อนำไปแก้ไขต่อไป

เบื้องต้น กรมฯก็ได้ชี้แจงถึงโครงการ มาตรการที่รัฐบาลจะดำเนินการให้เกษตรกรได้รับทราบถึงนโยบายที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ก็รับทราบนโยบาย แต่ก็ได้มีความกังวลถึงราคา เมื่อจะนำข้าวออกมาขายหรือเข้าร่วมโครงการ จะได้ราคาหรือไม่ ซึ่งกรมฯ ก็ได้ชี้แจงรายละเอียดซึ่งทุกคนก็เข้าใจ รวมไปถึงมาตรการอื่นๆด้วย

นอกจากนี้ เพื่อติดตามโครงการนำร่อง ที่กรมการค้าภายในดำเนินการด้านการบริหารจัดการรถเกี่ยวข้าวโดยนำเรื่องของการใช้ Application ซึ่งกรมฯได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำ Application“จองรถเกี่ยว” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถเกี่ยวข้าวและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนรถเกี่ยวข้าวในพื้นที่

โดยกรมฯได้นำร่องโครงการนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ ซึ่งดำเนินโครงการในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอเดชอุดม อำเภอเขื่องใน อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอตระการพืชผล เบื้องต้น พบว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกร ชมรมรถเกี่ยวข้าวของจังหวัด ซึ่งยังได้รับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี จากความสำเร็จครั้งนี้ กรมฯ จะขยายพื้นที่การดำเนินการไปในแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญในพื้นที่อื่น ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และพะเยา จำนวน 1,200 ราย ล่าสุด พบว่า มีเกษตกรสนใจ ดาวน์โหลด Application “จองรถเกี่ยว” เพื่อใช้งานแล้วจำนวน 555 ราย ลงทะเบียนใช้งาน 472 ราย และจองรถเกี่ยวข้าว ในระบบจำนวน 174 ราย

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ประมาณ 2.5 ล้านตัน 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2560/61 โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 8 ล้านตัน ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ย 60 – 180 วัน