จังหวัดพะเยา คว้าสุดยอดป่าชุมชนของประเทศ ถ้วยรางวัลพระ

คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2562 ราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ กรมป่าไม้ร่วมกับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการประกวดป่าชุมชนระดับประเทศ ประจำปี 2562 ในโครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน โดยป่าชุมชนบ้านปี้ จังหวัดพะเยา คว้ารางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง จังหวัดแพร่ ได้รับรางวัลชนะเลิศป่าชุมชนดีเด่นด้าน “ป่าชุมชน: สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

การประกวดป่าชุมชนระดับประเทศ เป็นกิจกรรมในโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นประจำทุกปี ภายใต้ความร่วมมือของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และกรมป่าไม้ และนับเป็นโครงการต้นแบบความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ที่มุ่งส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกด้วยแนวคิดการปลูกป่าในใจคน และขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบของป่าชุมชน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบการปกป้องดูแลรักษาป่าไม้ของประเทศ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึง 128 ล้านไร่ คิดเป็น 40% ของทั้งประเทศ ป่าชุมชนเป็นแนวทางที่ช่วยผลักดันให้ภารกิจการเพิ่มพื้นที่ป่ามีความก้าวหน้าเป็นลำดับ และยังเป็นเกราะป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างดียิ่ง

นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนยังช่วยให้การดำเนินงานของกรมป่าไม้ขยายผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นเป็นประจักษ์ คือ โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ที่กรมป่าไม้ ได้ร่วมกับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินงาน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

เห็นได้จากจำนวนชุมชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับชุมชนที่ขออนุมัติจัดทำโครงการป่าชุมชนจากกรมป่าไม้เพิ่มสูงขึ้นทั้งทางด้านจำนวนชุมชนและขนาดพื้นที่ป่าชุมชน ช่วยทำให้แนวคิดป่าชุมชนเผยแพร่กว้างขวาง ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญ และมองเห็นประโยชน์จากการดูแลรักษาป่า เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหารของชุมชนมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบัน จำนวนป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้เพิ่มขึ้นเป็น 15,535 ป่าชุมชน คิดเป็นพื้นที่ป่ารวม 7,356,618 ล้านไร่ ทั้งนี้ กรมป่าไม้ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนป่าชุมชนให้ถึง 10 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี ซึ่งเรามั่นใจว่าพื้นที่ป่าชุมชนจำนวนนี้จะคงอยู่ยั่งยืนด้วยพลังของชุมชนที่มีใจรักษ์ป่าและส่งต่อเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่นี้จากรุ่นสู่รุ่นอย่างแน่นอน ผมขอแสดงความยินดีกับป่าชุมชน 147 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับรางวัลโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ปี 2562 ซึ่งจะเป็นแบบอย่างของการเรียนรู้การจัดการป่าชุมชนแบบป่ายั่งยืน ชุมชนได้ประโยชน์ และจุดประกายความคิดให้กับชุมชนอื่นๆ เพื่อขยายเครือข่ายป่าชุมชนให้กว้างขวางและแข็งแกร่งต่อไป”

ด้าน นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนของบริษัท และโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนเจตนารมณ์ดังกล่าวให้สัมฤทธิผลเป็นรูปธรรม อันเป็นผลจากการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องครอบคลุมป่าชุมชนในทุกภูมิภาคของประเทศ นับตั้งแต่ ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน บริษัทได้สนับสนุนป่าชุมชนผ่านกิจกรรมประกวดป่าชุมชนในโครงการดังกล่าวรวมจำนวน 1,683 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ป่า รวม 1,512,847.99 ไร่

นอกจากนี้ ยังสามารถขยายผลแนวคิด “ป่าชุมชน” การอนุรักษ์และบริหารจัดการป่าแบบยั่งยืน และเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชนในการดูแลรักษาป่าผ่านกิจกรรมค่ายเยาวชน และการสัมมนาเครือข่ายผู้นำชุมชนด้วย

ผลการประกวดป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี 2562

รางวัลป่าชุมชนระดับประเทศ

♦ ป่าชุมชนชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท คือ ป่าชุมชนบ้านปี้ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ที่มีกระบวนการบริหารจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนอย่างโดดเด่น ตามหลัก บ้าน วัด โรงเรียน (บ-ว-ร) เมื่อดูแลป่าจนอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่า จึงเกิด “กองทุนสวัสดิการผึ้ง” ที่นำรายได้มาสู่ชุมชนประมาณ 125,000-250,000 บาท จัดสรรเป็นทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวันให้แก่เยาวชน และทุนสนับสนุนการสอนให้แก่ครู

♦ รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 3 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลแห่งละ 100,000 บาท ป่าชุมชนบ้านดอนโจร หมู่ที่ 4 ตำบลลำไทรโยง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

• ป่าชุมชนบ้านเนินพระ (บ้านศาลเจ้า) หมู่ที่ 2 อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

• ป่าชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 หมู่ที่ 13 ตำบลสุคิริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

รางวัลดีเด่นเฉพาะด้าน “ป่าชุมชน : สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา”

♦ ป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง หมู่ที่ 2 ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท

♦ รางวัลรองชนะเลิศ จำนวน 3 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลแห่งละ 25,000 บาท ได้แก่

• ป่าชุมชนบ้านบุ่ง หมู่ที่ 6 ตำบลนาแห้ว อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

• ป่าชุมชนบ้านหนองวัวดำ หมู่ที่ 11 ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

• ป่าชุมชนบ้านต้นตาล หมู่ที่ 2 ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

รางวัลป่าชุมชนระดับภาค

♦ จำนวน 4 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 30,000 บาท

รางวัลป่าชุมชนระดับจังหวัด

♦ จำนวน 68 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 25,000 บาท

รางวัลชมเชย

♦ จำนวน 67 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 10,000 บาท

ในระยะนี้จะมีหมอกในตอนเช้า และมีอากาศเย็นในตอนกลางคืน กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีเฝ้าระวังการระบาดของโรคแอนแทรคโนส สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของสตรอว์เบอร์รี

มักพบอาการบนก้านใบและลำต้น มีแผลสีม่วงแดงขนาดเล็กขยายลุกลามไปตามความยาวของก้านใบและลำต้น ต่อมาเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาล เนื้อเยื่อบริเวณแผลแห้ง ทำให้เกิดรอยคอด หากอาการรุนแรง ต้นจะเหี่ยว และตายในที่สุด

อาการบนผล พบแผลฉ่ำน้ำสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อรอบขอบแผลสีซีด แผลยุบตัวลง หากอาการรุนแรง แผลจะขยายใหญ่จนทำให้ผลเน่า ในสภาพที่มีอากาศชื้นอาจพบกลุ่มสปอร์สีส้มของเชื้อราสาเหตุโรคอยู่บริเวณแผล

ส่วน อาการบนไหล จะมีแผลเล็กสีม่วงแดงขยายลุกลามไปตามความยาวของสายไหล ต่อมาแผลที่ขยายยาวจะเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาล ทำให้เกิดรอยคอดของไหลบริเวณที่เป็นแผล เมื่อย้ายต้นจากไหลที่มีการติดเชื้อมาปลูกหากสภาพอากาศเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรค สตรอว์เบอร์รีจะแสดงอาการใบเฉา ต่อมาจะเหี่ยวอย่างรวดเร็ว และพบว่ากอด้านในจะเน่าแห้งสีน้ำตาลแดง หรือบางส่วนเป็นแผลขีดสีน้ำตาลแดง และต้นจะตายในที่สุด

แนวทางในการป้องกันกำจัด เกษตรกรต้องหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก กรณีพบโรคเริ่มระบาดให้งดการให้น้ำแบบพ่นฝอย ควรให้น้ำแบบ ระบบน้ำหยด จากนั้น ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟลูโอไพแรม+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 25%+25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟลูโอไพแรม+ทีบูโคนาโซล 20%+20% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 วัน

สำหรับแปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตสตรอว์เบอร์รีแล้ว ให้เกษตรกรเก็บซากพืชนำไปทำลายนอกแปลงปลูก และควรเลือกใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค จากนั้น เกษตรกรควรไถดินให้ลึกและพลิกหน้าดินตากแดดหลายๆ วัน เพื่อทำลายเชื้อสาเหตุโรคที่ติดอยู่กับเศษซากพืช และใส่ปูนขาวปรับสภาพดิน ก่อนปลูกพืชฤดูถัดไป อีกทั้งควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ย้ำที่หนึ่งแหล่งรวมวัตถุดิบอาหารปลอดภัย จัดเทศกาลอาหารนานาชาติ ที่สาขาถลาง จังหวัดภูเก็ต เอาใจผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ในพื้นที่ ขนสินค้าคุณภาพจากแหล่งผลิตทั่วโลก ทั้งเนื้อสัตว์ ซีฟู้ด สร้างทางเลือกใหม่ในการต่อยอดธุรกิจ ขานรับมาตรการกระตุ้นชิมช้อปใช้ช่วงไฮด์ซีซั่น

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่ลูกค้าผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจจัดเลี้ยง มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจสูง แม็คโคร ในฐานะแหล่งรวมวัตถุดิบอาหารคุณภาพปลอดภัยมีความหลากหลายแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการนิยมมาซื้อหาไปต่อยอดทำกำไร ได้จัดงานเทศกาลอาหารนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 29 ตุลาคม ณ สาขาถลาง และจัดรายการต่อเนื่องร่วมกับอีก 4 สาขา ได้แก่ สาขาภูเก็ต, ราไวย์, ป่าตอง, กะรน จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน

“การจัดงานในครั้งนี้ แม็คโครมุ่งหวังที่จะนำเสนอวัตถุดิบคุณภาพทั่วโลก ทั้ง ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย มาสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการ รับแนวโน้มการบริโภคอาหารสุขภาพ อาหารสไตล์ฟิวชั่น โดย เชฟมืออาชีพจากโรงแรม ร้านอาหารดัง มาสาธิตการทำเมนูต่างๆ ให้ชมและชิมเพื่อเป็นไอเดียกับผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจจัดเลี้ยง หรือกลุ่มธุรกิจโฮเรก้า ในภูเก็ต พังงา และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งต้องการพัฒนาเมนูอาหารให้โดดเด่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวยุโรป อินเดีย จีน ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาอย่างคึกคัก”

สำหรับเทศกาลอาหารนานาชาติในครั้งนี้ มีไฮไลท์ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์, แคนาเดียนล็อปสเตอร์ดิบ, ชิ้นส่วนแกะ, ปลาฮิรามาสะ, ชไรเบอร์เกรทเทดพามาซานชีส, ขนมปังฝรั่งเศส, อะโวกาโด, ปลาแซลมอลแทสมาเนียน, หอยนางรมซิดนีย์ร็อค, เนื้อวัว จากออสเตรเลีย ฯลฯ โดยเชฟมืออาชีพจะนำวัตถุดิบเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นเมนูนานาชาติ อาทิ ข้าวหน้าปลาฮิรามาสะกับไข่ปลาแซลมอนคาร์เวียร์, ล็อปสเตอร์ย่างมิโซะครีม กับสลัดโซเมน, สปาเกตตีแคนาเดียนล็อปสเตอร์, อะโวกาโดซัมเมอร์แร็พ, อิตาเลียน พิซซ่า ฯลฯ หมุนเวียนตลอดทั้งวัน

“วัตถุดิบคุณภาพที่แม็คโครคัดสรรมามีความสดใหม่ทุกวัน มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย และสร้างความยั่งยืน เนื่องจากบริษัทพันธมิตรทางธุรกิจของเราได้การรับรอง อันหมายถึงการมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการสร้างระบบการเลี้ยงที่ยั่งยืน เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่มี ให้สมบูรณ์สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไปได้ในอนาคต และการขนส่งวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการควบคุมอุณหภูมิอย่างเคร่งครัดและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อให้ถึงจุดหมายรวดเร็วและปลอดภัย”

ทั้งนี้ อาหารยอดนิยมที่เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย อาหารแนวอิตาเลียน ยุโรป, ญี่ปุ่น, เกาหลี, อินเดีย

“จากปัจจัยบวกที่เข้ามาในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชิมช็อปใช้ของรัฐบาล แม็คโครคาดหวังว่า การจัดงานในครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการพบความหลากหลายของวัตถุดิบคุณภาพและช่วยขยายกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจจัดเลี้ยง หรือโฮเรก้า ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของแม็คโครอยู่แล้วด้วย” นางศิริพร กล่าว

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรพงษ์ อินทรวงศ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาทางการแพทย์ว่า กัญชาในรอบนี้ได้ถูกวางแผนการปลูกเพื่อให้ได้วัตถุดิบสำคัญ 4 ส่วนคือ ดอก ใบ ก้านใบ และราก นับตั้งแต่ย้ายปลูกต้นกล้ากัญชาเมื่อวันที่ 19 กันยายน จนถึงวันนี้รวมระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์ ต้นกัญชามีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ดี ใบและก้านใบพร้อมส่งต่อให้โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อนำไปผลิตเป็นยาแผนไทย โดยทีมงานได้เก็บข้อมูลการปลูกเพื่อถอดองค์ความรู้ที่ได้เป็นต้นแบบและคู่มือการปลูกกัญชาทางการแพทย์ตามมาตรฐาน GACP และเปิดสอนให้วิสาหกิจชุมชนในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการต่อไป

ดร.ศุภสิทธิ์ สิทธาพานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูก กล่าวว่า ใบที่ใช้เป็นใบที่มีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ ต้องเก็บรุ่งเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และได้รับความร่วมมือกับทีมงานจากโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นฯ ร่วมเก็บผลผลิตในครั้งนี้ โดยจะเก็บในส่วนใบก่อน ส่วนอื่นๆ จะดำเนินการในครั้งต่อๆ ไป

ดร.ณธกร ทัศนัส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาและพืชเสพติดสมุนไพรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ใบกัญชาที่ปลูกโตเร็วมาก และเก็บได้เร็วกว่าที่กำหนด 1 เดือน ซึ่งเดิมกำหนดว่าจะเก็บในเดือนมกราคม 2563

ทางด้าน พญ.กัญญาภัค ศิลารักษ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กล่าวว่า จะนำวัตถุดิบกัญชาที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ในล็อตแรกนี้ ซึ่งได้ทำการเก็บเกี่ยวในส่วนของใบและก้านใบ ไปคัดแยกในส่วนของใบและก้านใบเพื่อในไปเข้าตำรับยากัญชาที่โรงพยาบาลได้รับอนุญาตให้ผลิตจำนวน 3 ตำรับ ได้แก่ ส่วนใบ นำไปใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาศุขไสยาศน์ และยาแก้ลมแก้เส้น และส่วนของก้านใบ จะนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาแก้โรคจิต ซึ่งวัตถุดิบที่ได้ในวันนี้คาดว่าจะสามารถผลิตยาศุขไสยาศน์ได้ 4,000 ซอง ยาแก้ลมแก้เส้น 4,000 ซอง และยาแก้โรคจิตจำนวน 5,000 ซอง

จากข้อมูลสรุปโดย ดร.เจษฎา ภัทรเลอพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสรีรวิทยาการผลิตพืชกัญชาของทีมงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร พืชกัญชามีการเจริญเติบโตที่ดี มีความสูงมากกว่า 1.50 เมตร หลังย้ายปลูก 1 เดือน คิดเป็นการเติบโตด้านความสูงเฉลี่ย วันละ 3 เซนติเมตร เคล็ดลับที่สำคัญมีดังนี้

การเพาะเมล็ดได้ดี โดยใช้วัสดุเพาะเป็นพีทมอสส์ ซึ่งมีคุณสมบัติดูดน้ำได้ดี แต่มีความโปร่งและระบายน้ำดี และมีธาตุอาหารครบถ้วนในตัวเอง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้ากัญชา ทำให้เมล็ดกัญชางอก และกล้าเติบโตดี
การย้ายปลูกในระยะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการเพาะกล้าทำในถาดเพาะซึ่งแต่ละหลุมเพาะมีวัสดุเพาะในจำนวนจำกัด ถึงแม้วัสดุเพาะจะมีธาตุอาหารครบถ้วน แต่เมื่อต้นกล้าเติบโตขึ้น ธาตุอาหารในหลุมเพาะไม่เพียงจะทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโตเมื่อย้ายปลูก และต้องใช้เวลานานกว่าต้นกล้าจะตั้งตัวได้ หรือเสี่ยงที่ต้นกล้าจะแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตอีกเลย

การใช้วัสดุปลูกมีความโปร่งระบายน้ำดี และมีธาตุอาหารสมบูรณ์ เลือกใช้ดินผสมปุ๋ยหมัก โดยดินเป็นแหล่งของธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง และการใช้ปุ๋ยหมักเพื่อเป็นแหล่งของจุลธาตุ และปรับสภาพทางกายภาพให้มีความโปร่ง เนื่องกัญชาเป็นพืชไม่มีเนื้อไม้ ระบบรากไม่แข็งแรง ต้องการดินที่โปร่งระบายน้ำดี
การให้น้ำด้วยระบบอัตโนมัติ ให้ทีละน้อยแต่ให้บ่อยๆ ทำให้ต้นกัญชาได้รับน้ำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็รักษาระดับความชื้นของดินไม่ให้สูงเกินไป ต้นกัญชาไม่เกิดสภาวะเครียดแม้ในช่วงบ่าย จึงเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

การให้ปุ๋ยไปพร้อมน้ำ (Fertigation) ทำให้ต้นกัญชาได้รับปุ๋ยต่อเนื่องตลอดเวลาและเพียงพอ เนื่องจากต้นกัญชาโตเร็วมากกว่าต้นพืชทั่วๆ ไป จึงมีความต้องการธาตุอาหารมากตามไปด้วย การปลูกกัญชาในภาชนะปลูกซึ่งมีปริมาตรของวัสดุปลูกจำกัด จึงมีธาตุอาหารจำกัด การให้ปุ๋ยพร้อมกับการให้น้ำจึงช่วยเสริมให้ต้นกัญชาได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา

การให้แสงเสริม เพิ่มจากแสงธรรมชาติ ช่วยยืดระยะเวลาในการสร้างอาหารผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง เพิ่มการเติบโต และบังคับไม่ให้กัญชาออกดอกก่อนเวลา เนื่องจากกัญชาเป็นพืชวันสั้น หากได้รับแสงน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ต่อวัน จะกระตุ้นการสร้างตาดอก เมื่อต้นกัญชาออกดอกจะนำอาหารที่สร้างได้มาสร้างดอกทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก
สำหรับการเก็บใบกัญชาในชุดแรกนี้เริ่มตั้งแต่เวลา 04.30 น. แล้วเสร็จเวลา 06.00 น.โดยประมาณ และส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลฝั้น อาจาโร มีน้ำหนักรวม 30 กิโลกรัม จากต้นกัญชา 330 ต้น และคาดว่าจะเก็บผลผลิตได้ต่อไปในทุก 2 สัปดาห์

สกสว. พร้อมจับมือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เป็นสะพานเชื่อมงานวิจัยก้าวข้ามหุบเหวมรณะไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศและสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยภาครัฐจะต้องช่วยออกแบบงานวิจัยตั้งแต่ต้นทาง

29 ตุลาคม 2562 – โครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยภาคนโยบาย ฝ่ายบริหาร ภายใต้ภารกิจส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ (สนค.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การเชื่อมโยงการวิจัยและนโยบายสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อส่งผ่านงานวิจัยไปสู่ฝ่ายนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ณ ห้องประชุม สกสว. โดยนำเสนองานวิจัยที่มีศักยภาพโดดเด่นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงการนำไปใช้โดยภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ อีกทั้งนำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและผู้ผลิตเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลกภายใต้พลวัต ว่าการค้าและเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ประเทศกำลังพัฒนามีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งเอเชียที่อยู่ท่ามกลางศักยภาพทางเศรษฐกิจและสงครามการค้าโลก เราต้องยืดหยัดได้ด้วยตัวเอง ปัจจุบัน สนค.ได้ตกผลึกมาระยะหนึ่งแล้วว่าแนวโน้มหลักในอนาคตจะประกอบด้วย (1) การเปลี่ยนขั้วทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย (2) แนวโน้มนวัตกรรม ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ได้แก่ ABCDE (AI, Blockchain, Cloud, Data, E-business) รวมถึง IoT และ E-commerce (3) โครงสร้างสังคมเมือง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงสังคมเมือง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทักษะที่มีอยู่ยังไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ ภัยแล้ง การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะส่งผลต่อฝนฟ้าอากาศและผลผลิตทางการเกษตร

“งานวิจัยจะต้องใช้งานง่าย เข้าใจง่าย จับต้องได้ ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องช่วยออกแบบงานวิจัยเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง เทคโนโลยีสมัยใหม่มีผลกระทบกับการค้าทุกด้าน นโยบายภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนจากการอุดหนุนมาเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความปลอดภัยอาหาร ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้แรงงานทาส” ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

ขณะที่ รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวระหว่างการนำเสนอภาพรวมแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายของกระทรวงพาณิชย์โดยงานวิจัย ว่างานวิจัยเชิงนโยบายนำมาใช้ประโยชน์ได้ 2 ประเภท คือ เอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย นำเสนอข้อมูลสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย ซึ่งขณะนี้กำลังหารือเรื่องการจัดทำชุดความรู้เพื่อให้คณะกรรมาธิการต่างๆ กำหนดเป็นนโยบายที่ถูกต้อง โดยจะต้องมีทางเลือกในการออกนโยบาย ชี้ผลดีและผลเสียให้ผู้กำหนดนโยบายได้เห็น ขณะที่งานวิจัยที่มีศักยภาพแต่ขายไม่ออก หากผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายช่วยผลักดันก็จะทำให้ขายได้

“งานวิจัยที่ขายได้มักจะทำมาอย่างต่อเนื่องจากงานวิจัยพื้นฐาน แต่สิ่งที่ยากคือ เมื่อมีต้นแบบแล้วจะต้องลงทุนวิจัยเพื่อให้ก้าวข้ามหุบเหวมรณะ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นสะพานเชื่อมงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สิ่งสำคัญคือ ต้นทางจะต้องตั้งโจทย์และเลือกประเด็นวิจัยโดยผู้ใช้ประโยชน์ ส่วนปลายทางต้องมีการผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ถ้าต้นทางไม่ชัด ปลายทางก็จะเป๋ไปหมด ดังนั้น จึงต้องวิเคราะห์ให้ชัดว่า “ใคร” คือผู้เกี่ยวข้อง ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อม ผู้ปฏิบัติ ใช้กระบวนการให้ทุกคนมีส่วนร่วม และใช้ข้อมูลความรู้ในพื้นที่และสภาพแวดล้อมภายนอกให้เป็นประโยชน์”

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว.มีนวัตกรรมจากงานวิจัยในระดับต่างๆ จำนวนมากและพร้อมจะออกสู่ตลาด แต่พบว่ายังมีอุปสรรคไม่น้อย จึงอยากจะทำความร่วมมือและทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อผลักดันงานวิจัยให้ใช้ประโยชน์ได้จริง โดยงานวิจัยพื้นฐานที่มีศักยภาพสามารถขยายผลต่อยอดกับภาคเอกชนผ่านทุนวิจัยของฝ่ายอุตสาหกรรม และขึ้นบัญชีนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนสู่การใช้งานจริงในอนาคต

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจงถึงการที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ GSP สินค้าเกษตรบางรายการไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงหลักอย่างกุ้งและทูน่า ที่หลายฝ่ายกังวลอย่างแน่นอน พร้อมทั้งชูนโยบายส่งเสริมและการปลูกโกโก้ในประเทศ เพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เนื่องจากเป็น 1 ใน 7 รายการสินค้าเกษตรที่สหรัฐอเมริกาคืนสิทธิ GSP ให้ไทย

จากกรณีดังกล่าว ตั้งแต่มกราคม ถึงกันยายน ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา รวมเป็นมูลค่า 93,772 ล้านบาท ซึ่งสินค้ากุ้งและทูน่าเป็นสินค้าทางประมงที่ไม่ได้ผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP โดยยังคงรักษาศักยภาพการส่งออกได้ดีและต่อเนื่อง สำหรับสินค้าเกษตรที่คาดว่ามีโอกาสขยายการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามากขึ้น อันเป็นผลมาจากการได้รับคืนสิทธิ GSP ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ กล้วยไม้ตัดดอกและโกโก้ โดยในปี 2562 (มกราคม-กันยายน) ไทยส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ปริมาณ 1,975 ตัน มูลค่า 432 ล้านบาท ในอัตราภาษี 6.4% สำหรับสินค้าโกโก้ ไทยสามารถส่งออกเมล็ดโกโก้และผลิตภัณฑ์โกโก้ไปยังสหรัฐอเมริกา ปริมาณ 36.31 ตัน คิดเป็นมูลค่า 32.32 ล้านบาท ในอัตราภาษี 3.5% ซึ่งหากได้รับคืนสิทธิ GSP จากสหรัฐอเมริกา จะทำให้อัตราภาษีนำเข้าลดลงเหลือร้อยละ 0 จะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวได้มากขึ้น