จังหวัดลพบุรี ต้นแบบการปลูกมะขามเทศเงินล้านบ้านไร่เปี่ยมสุข

“มะขามเทศ” เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง เพราะปลูกดูแลง่าย ทนทานต่ออากาศร้อนแห้งแล้งได้ดี ให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีแคลเซียมและวิตามินอีสูง เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์กับร่างกาย

สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี ได้ยกย่อง “คุณก้อย-ทิพย์วรรณ สลุงอยู่” เกษตรกรรุ่นใหม่ (YSF) อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นเกษตรกรคนเก่งที่เป็นต้นแบบในการปลูกไม้ผล โดยเฉพาะ มะขามเทศ ทุกวันนี้ คุณก้อยมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต กิ่งพันธุ์ ถ่านผลไม้และน้ำส้มควันไม้เพิ่มขึ้นทุกปี หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือผลกำไรสุทธิต่อปี มากกว่าล้านบาททีเดียว ผลงานที่โดดเด่นทำให้คุณก้อยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวนระดับจังหวัด รางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2562 และรางวัลชมเชย เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2563 สาขาทำสวน

กทม. ไม่ใช่คำตอบของชีวิต

หลังเรียนจบปริญญาตรี ด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง คุณก้อย ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. เพื่อเก็บออมเงินสร้างครอบครัว

แต่วันหนึ่งคุณก้อยค้นพบว่า การสร้างอนาคตที่ กทม. ไม่ใช่คำตอบของชีวิตอีกต่อไป จึงได้ตัดสินใจลาออกจากงาน กลับมาอยู่บ้านและสร้างธุรกิจเกษตร เริ่มจากขายปุ๋ยอินทรีย์ แต่แข่งขันราคาสู้เอกชนรายใหญ่ไม่ไหว ก็ต้องเปลี่ยนมาทำไร่อ้อย

ระหว่างที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิต คุณก้อยตัดสินใจลงทุนปลูกมะขามเทศ เพื่อเป็นรายได้เสริม เพราะเป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตเร็ว ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง

คุณก้อย ตัดสินใจปลูกมะขามเทศพันธุ์สีชมพู หลังปลูกไปได้ 2 ปี มะขามเทศออกผล ปรากฏว่าไม่ใช่พันธุ์สีชมพูที่ต้องการ จึงตัดถอนทิ้งทั้งหมด และลงทุนซื้อกิ่งพันธุ์ตามต้องการจากสวนโดยตรง จำนวน 500 ต้น นำมาปลูกบนเนื้อที่ 20 ไร่ ด้วยความเชื่อและทัศนคติในการทำการเกษตรที่มีต่อๆ กันมา ว่าต้องใช้สารเคมีเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช ต้องใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงต้นเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีจำนวนมาก

เนื่องจากความไม่รู้และต้องการมีรายได้แบบหวังรวย ทำให้คุณก้อยมีต้นทุนในการซื้อปุ๋ยและสารเคมีราคาแพง ช่วงนั้น คุณก้อยขายผลผลิตให้แม่ค้าได้แค่ 6,500 บาท แต่มีค่าจ้างคนงานมากถึง 6,000 บาท เท่ากับว่าคุณก้อยขายผลผลิตได้แค่ 500 บาท เท่านั้น ยังไม่ได้ค่าปุ๋ย และค่าต้นทุนแรงงานของตัวเองเลย

ลดต้นทุน เพิ่มรายได้

เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คุณก้อยหันมาปรับปรุงรูปแบบการจัดการสวนมะขามเทศอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2559-ปัจจุบัน คุณก้อย ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการทำเกษตร

โดยบำรุงดูแลมะขามเทศปลอดสารพิษ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สีชมพู พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์จัมโบ้ และพันธุ์พุทธบาท จากเดิมปลูก 500 ต้น ก็ลดปริมาณการปลูกมะขามเทศลง เหลือ 200 ต้น เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการ ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน คุณก้อย หันมาสร้างแบรนด์ “ไร่เปี่ยมสุข” ให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อแสดงอัตลักษณ์สินค้า ให้ติดตลาด-การทำตลาดออนไลน์ ผ่านทาง Page Facebook ทำให้เกิดช่องทางการตลาดที่หลากหลายยิ่งขึ้น-การส่งผลผลิตผ่านช่องทางเคอรี่ (Kerry) ช่วยขยายฐานลูกค้าและมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

การปลูกมะขามเทศ ไร่เปี่ยมสุข ปลูกมะขามเทศแบบเว้นระยะห่าง 8×8 เมตร ขุดหลุมลึกโดยประมาณ 30 เซนติเมตร ปลูก 45 องศาโดยประมาณ เฉียงตามลมหน้าฝน เนื่องจากต้นมะขามเทศส่วนมากเป็นต้นตอนไม่มีรากแก้ว จึงต้องปลูกเฉียง เพื่อไม่ให้ต้นโค่นล้มลงโดยง่าย ปลูกให้สูงจากดินไม่มาก ช่วงแรกปลูกให้ดินเป็นหลุมเพื่อที่จะได้มีพื้นที่สำหรับรดน้ำ การรดน้ำเมื่อต้นยังเล็กรดน้ำวันเว้นวัน

การปลูกที่ไร่เปี่ยมสุขไม่ได้รองก้นหลุม เนื่องจากพื้นที่ที่ปลูกมีแมลงใต้ดินอยู่มาก หากใส่เศษใบไม้ที่ยังไม่ย่อยสลายอาจเป็นตัวกระตุ้นให้แมลงมาทำลายรากได้

อีกทั้งมะขามเทศเป็นพืชที่หากินธาตุอาหารจากผิวดิน จึงเน้นการบำรุงที่ผิวดินมากกว่า การปลูกที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม การชักนำการออกดอก ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ไร่เปี่ยมสุข จะฉีดสารบิวเวอเรีย และน้ำส้มควันไม้ไล่แมลง และฉีดฮอร์โมนไข่ เพื่อชักนำให้เกิดการออกดอกก่อนฤดูกาล ทำให้ได้ราคาดีกว่าช่วงอื่นๆ

ช่วงเก็บฝัก เป็นช่วงที่สาคัญ โดยให้น้ำวันเว้นวัน และฉีดสารชีวภัณฑ์เพื่อไล่แมลง โดยปกติจะเก็บผลผลิตได้ในช่วงปลายเดือนมกราคม-เมษายน แต่ทางสวนสามารถเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม-เมษายน

ไร่แห่งนี้ เน้นใช้ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยหมักจากใบไม้ที่ร่วงหล่นจากต้นไม้ในสวน ผลิตสารไล่แมลงจากสมุนไพรในไร่ ผลิตฮอร์โมนไข่เร่งดอกผล บำรุงต้นให้สมบูรณ์ น้ำส้มควันไม้กำจัดศัตรูพืช

ส่วนถ่านที่เผาได้จากกิ่งที่ตัดแต่งก็นำไปขายเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง ใช้บิวเวอเรียและเชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช และยับยั้งการเกิดเชื้อรา จากการพัฒนาและต่อยอดความคิด คุณก้อย เกิดแนวคิดที่จะบังคับให้มะขามเทศออกผลนอกฤดูกาลโดยไม่ใช้สารเคมี เทคนิคคือ การทำให้ต้นสมบูรณ์ รดน้ำสม่ำเสมอ และมีการใช้ฮอร์โมนไข่ในการชักนำให้ออกดอก

การตัดแต่งทรงพุ่ม เมื่อต้นโตต้องหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อไม่ให้ทึบจนเกินไป ลดการเกิดโรคจากเชื้อรา โดยจะตัดแต่งกิ่งภายหลังจากการเก็บผลผลิตเสร็จ ทำให้ติดผลได้มากขึ้น วิธีตัดแต่ง จะตัดตรงกลางออกให้แดดส่องได้ทั่วต้นคล้ายฝาชีหงาย กิ่งที่เหลือก็จะเป็นกิ่งที่ชี้ออกด้านข้าง ถ้าต้นสูงมากก็ให้ตัดยอด จะตัดแต่งกิ่งในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน และพักต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน

คุณก้อยมีการจดบันทึกการปฏิบัติงาน กิจกรรมในแปลง ประวัติแปลง และบันทึกการจัดจำหน่ายสม่ำเสมอ ปัจจุบันได้ผ่านการประเมินเบื้องต้น GAP และสมัคร PGS ระดับเขต ในปี 2561 และระดับจังหวัด ในปี 2562

ใช้เทคโนโลยีจัดการ ดิน-น้ำ

ไร่เปี่ยมสุข เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยเพียงน้ำฝนเท่านั้น คุณก้อยจึงแก้ไขโดยขุดบ่อบาดาล จำนวน 3 บ่อ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากมะขามเทศมีความต้องการน้ำ เพื่อกระจายน้ำได้อย่างทั่วถึง คุณก้อยลงทุนติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ในแปลงปลูก

เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เคยใช้ปลูกอ้อยมาก่อน ทำให้คุณภาพดินไม่อุดมสมบูรณ์ แร่ธาตุในดินมีน้อย คุณก้อยเลิกใช้สารเคมี หันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยศึกษา เรียนรู้และจัดการทรัพยากรที่เหลือใช้ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม โดยผลิตถ่านและน้ำส้มควันไม้จากกิ่งมะขามเทศที่ตัดแต่ง ใช้ใบมะขามเทศทำปุ๋ยหมักและใช้คลุมดิน ทำให้ดินมีความร่วนซุย และลดการคายน้ำได้มากยิ่งขึ้น จนปัจจุบันดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

คุณก้อย ใช้ฮอร์โมนไข่ ในการชักนำการออกดอกของมะขามเทศแทนฮอร์โมนที่ซื้อตามท้องตลาด พบว่า สามารถชักนำการออกดอกได้อย่างดี ใกล้เคียงกับการใช้สารเคมี และลดต้นทุนได้ ที่ผ่านมา คุณก้อยเจอปัญหากิ่งพันธุ์มีรากเล็ก ไม่ถูกใจลูกค้า คุณก้อยจึงใช้มูลไส้เดือนเป็นส่วนผสมในการทำวัสดุตอนมะขามเทศ ทำให้รากใหญ่และแข็งแรง เป็นที่ต้องการของตลาด

ขณะเดียวกันพบว่า กรรไกรตอนกิ่งทั่วไปเมื่อผ่านการใช้งานไปสักพัก จะไม่ยึดเกาะกับกิ่ง ทำให้การทำงานช้าลง และไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น คุณก้อยจึงออกแบบกรรไกรตอนกิ่งให้เหมาะสมกับการตอนกิ่งมะขามเทศโดยเฉพาะ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตอนกิ่งให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ไร่เปี่ยมสุข ทำสวนมะขามเทศอย่างครบวงจร ตามศาสตร์พระราชา โดยใช้ทุกส่วนของต้นมะขามมาใช้ประโยชน์ คือ

1. ปลูกมะขามเทศเพื่อได้ผลผลิตหลัก คือ ฝักมะขามเทศ

2. กิ่งสามารถตอนเพื่อขายเป็นกิ่งพันธุ์มะขามเทศ

3. หลังการตัดแต่งกิ่ง สามารถนำกิ่งไปผลิตถ่านคุณภาพสูงได้

4. ใบมะขามเทศที่หล่นสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักแล้วใส่คืนกลับสู่ดิน เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับพืช

ทุกวันนี้ จังหวัดลพบุรี มีการปลูกมะขามเทศ ประมาณ 1,707 ไร่ 234 ราย และได้รับความนิยมในการบริโภคสูง ทางไร่เปี่ยมสุขเล็งเห็นถึงความเหมาะสมของพื้นที่และช่องทางการตลาด จึงได้ตัดสินใจปลูกมะขามเทศขึ้น และได้พัฒนารูปแบบการผลิตจากสารเคมี ปรับเปลี่ยนเป็นการใช้สารชีวภัณฑ์ ปัจจุบันทางสวนมีค่าเฉลี่ยของราคา อยู่ที่ 70 บาท/กิโลกรัม และมีผลผลิตต่อไร่ต่ำสุด เท่ากับ 769 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ทั้งราคา และผลผลิตต่อไร่

การดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คุณก้อยและครอบครัวมีความสุข พออยู่พอกิน มีกินมีใช้ และมีเหลือส่งขาย มีรายได้รายวัน รายเดือน รายปี และหนี้สินลดน้อยลง จากการเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรรายอื่นได้เป็นอย่างดี ติดต่อสอบถามคุณก้อยเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร.081-362-5536

อนึ่ง ขอขอบคุณ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี และ Facebook “ บ้านไร่เปี่ยมสุข ลพบุรี ” ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบข่าว อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นอีกหนึ่งแห่งของพื้นที่อีสานใต้ซึ่งในอดีตมีความแห้งแล้งขาดแหล่งน้ำ ไม่มีต้นไม้ มีแต่หญ้าขึ้นสูงเต็มไปหมด ส่วนดินก็เป็นดินปนทราย พอเข้าหน้าฝนน้ำจะท่วมทุ่งทุกปี ใต้ผืนดินลงไปเป็นดินเค็ม น้ำที่สูบขึ้นมาก็เป็นน้ำเค็ม ยากแก่การปลูกพืชชนิดใดได้สำเร็จ สภาพเช่นนี้จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้”

ภายหลังที่หน่วยงานต่างๆ ระดมเข้าให้ความช่วยเหลือ ด้วยการสร้างถนน สร้างอ่างเก็บน้ำ ขุดคลองซอยจำนวนหลายแห่งให้เชื่อมกัน พร้อมกับจัดการผันน้ำที่มีปริมาณมากในฤดูฝนเข้าสู่ทุกพื้นที่ ขณะเดียวกันกับความมุ่งมั่น บากบั่น และอดทนของชาวบ้านในพื้นที่แต่ละแห่งที่ต่างช่วยกันจนสามารถพลิกผืนดินที่ไร้ประโยชน์ให้กลับมาเกิดความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้สภาพทุ่งกุลาฯ ในตอนนี้ไม่ต้องร้องไห้อีกต่อไป

ปลูกข้าวใช้สารเคมี ไม่เคยมีเงินเหลือเลย

ครอบครัวอินทร์สำราญ ที่ประกอบไปด้วย คุณสิทธิ์ และ คุณรำพึง พร้อมบุตรชายอีกคน ได้ผจญกับความเดือดร้อนทุกข์ยากเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติแทนการนิ่งเฉย จึงทำให้พวกเขานำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วลงมือทำนาอินทรีย์ ควบคู่ไปกับการทำสวนเกษตรผสมผสาน เมื่อปี 2550 จนกระทั่งประสบความสำเร็จได้รับคัดเลือกจากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็น “เกษตรกรปราดเปรื่องด้านข้าว”

คุณสิทธิ์ เล่าว่า ตอนแรกทำนาอย่างเดียว โดยใช้สารเคมี พร้อมกับมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเฟอร์นิเจอร์ไปด้วย พอทำไปได้สักพัก พบว่า การทำนาเคมีไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ อีกทั้งยิ่งทำยิ่งมีหนี้สินเพิ่มและเก็บเงินไม่ได้เลย จากนั้นจึงหยุด แล้วศึกษาการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ด้วยการขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานราชการ พร้อมไปกับได้เข้าอบรมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ แล้วมีโอกาสไปดูงานตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง

แบ่งที่ 2 งาน ทำนาอินทรีย์ ไม่นานมีเงินเก็บเฉียดหมื่น

เมื่อคิดว่าตัวเองเข้าใจลึกซึ้งระดับหนึ่ง แล้วจับหลักของการทำเกษตรอินทรีย์ได้ชัดเจน จึงลงมือทดลองทำทั้งการปลูกข้าวและปลูกพืชชนิดอื่นแบบผสมผสาน ในพื้นที่ จำนวน 2 งานก่อน มีทั้งปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ โดยใช้เวลาลองผิด/ถูกกับแปลงเรียนรู้นี้ เป็นเวลา 5 ปี ระหว่างทดลองทำได้ให้คุณรำพึงทำบัญชีรับ-จ่าย เพื่อเก็บตัวเลขควบคู่ไปด้วย

ผลที่ตามมาปรากฏว่า จากไม่เคยมีเงินเก็บเลย กลับเริ่มพอมีเงินเก็บจากการทำสวนผสมอินทรีย์ ด้วยหลักการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนทั้งการทำปุ๋ยเอง บริโภคอาหารจากพืช/ผักที่ปลูกไว้ สามารถประหยัดค่าอาหาร ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงเดือนละ 6,000-10,000 บาท แล้วยังลดต้นทุนการทำนาจาก 5,000 บาท เหลือเพียง 3,000 บาทต่อไร่ ส่งผลให้ครอบครัวอินทร์สำราญ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากแปลงทดลอง 2 งาน ที่ได้คลุกคลีกับวิถีอินทรีย์นี้เอง

มั่นใจแน่…ขยายพื้นที่ทำนาอินทรีย์เต็มร้อย

คุณสิทธิ์ ต่อยอดทันทีด้วยการเริ่มต้นปรับปรุงที่นาของเขาให้เป็นแนวทางอินทรีย์ทั้งหมด มีการขุดบ่อ ปลูกหญ้าแฝกบริเวณโดยรอบพื้นที่เพื่อสร้างกำแพงกั้นตามธรรมชาติตามหลักการทำเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกันขุดหลุมเพื่อปลูกต้นไม้หลายชนิดจำนวนร้อยกว่าต้น จากนั้นได้ไปปลูกบ้าน และปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์กลางทุ่งนา จนชาวบ้านที่เห็นต่างสบประมาทว่าคงเป็นไปไม่ได้ จึงทำให้เขาตัดสินใจนำเงินที่เก็บสะสมไว้เมื่อคราวทำแปลงทดลองมาซื้อแผงโซลาร์เซลล์

หลายปีที่ทำนาอินทรีย์ เกษตรกรรายนี้พบความจริงว่า เมื่อการปลูกข้าวอินทรีย์ในช่วงเริ่มต้นมีการทุ่มเทเอาใจใส่อย่างเต็มที่แล้ว หลังจากนั้น สามารถค่อยๆ ลดจำนวนและปริมาณปุ๋ย/น้ำหมัก ลงได้จนอาจไม่ต้องใช้เลยในที่สุด ทั้งนี้ เป็นเพราะการสะสมอาหารและแร่ธาตุในดินมีมากพอจากที่ให้ในตอนแรก ขณะเดียวกันดินกลับฟื้นคืนสภาพที่มีความสมบูรณ์ดียิ่งขึ้นอันเอื้อประโยชน์ต่อพืช

เดินหน้าทำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

พื้นที่ในแปลงอินทรีย์ทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ปลูกข้าวแบบอินทรีย์ทุกขั้นตอน การทำไร่นาสวนผสม ปลูกไม้ผล พืชผัก ไม้ยืนต้น การปศุสัตว์ การขุดบ่อเลี้ยงปลา เพื่อการบริโภคและจำหน่าย จัดสร้างที่อยู่อาศัย

จากการที่ คุณรำพึงได้เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมูลนิธิชัยพัฒนา “เพื่อนช่วยเพื่อน” ทำให้ได้รับพระราชทานทุนทรัพย์จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 7,000 บาท เพื่อสร้างศาลาเรียนรู้พระราชทานและฝึกอบรมแก่เกษตรกรผู้ที่สนใจอีกด้วย

คุณรำพึง ชี้ว่าจากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับเกษตรอินทรีย์มา ทำให้พบว่า การปลูกพืชแบบอินทรีย์ไม่ได้ยากอย่างที่เคยเข้าใจ ขออย่างเดียวคือ ต้องมีใจรักก่อน แล้วค่อยเรียนรู้ทีละอย่าง ทำความเข้าใจแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด ควรจัดระบบดินให้มีความสมบูรณ์ ด้วยการไถกลบตอซังแล้วหว่านปุ๋ยพืชสด

“เมื่อจัดการได้เช่นนี้แล้ว ปุ๋ยหมักกับปุ๋ยคอกแทบจะไม่ต้องใส่เลย โดยเฉพาะหลังเกี่ยวข้าวแล้วจะใช้โรตารีปั่นตอซังข้าวกลบ กระทั่งน้ำแห้งจึงค่อยหว่านถั่วพร้าที่เป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อบำรุงดินต่อ”

นอกจากนั้น ยังเพิ่มเติมว่าการปลูกปอเทืองแล้วไถกลบเป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มคุณภาพดิน และควรไถกลบหลายครั้งไป-มา เพื่อเป็นการเติมออกซิเจนในดิน แล้วยังช่วยกำจัดวัชพืชแทนการปราบด้วยสารเคมี ถือเป็นการลดรายจ่าย

แล้วยังระบุว่า การปลูกข้าวแบบนาดำจะช่วยในการประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้มาก เป็นการช่วยลดต้นทุน เพราะฉะนั้นจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียง 10 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น ประการต่อมาของข้อดีการทำนาดำคือ ต้นข้าวกอไม่แน่นเกินไป ทำให้แสงแดดสามารถส่องลงมายังผิวดินได้ทั่วถึง จึงไม่เป็นแหล่งก่อให้เกิดโรค/แมลง ได้ง่าย

ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนในศูนย์เรียนรู้ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้

การผลิตข้าวอินทรีย์ด้วยคุณภาพจากความใส่ใจเช่นนี้ จึงทำให้คุณรำพึงและสามีอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี และได้รับเลือกให้ทำนาปลูกข้าวเพื่อขายเมล็ดพันธุ์ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา และอีกหลายแห่ง

ไม่เพียงแค่ปลูกข้าว ยังปลูกพืช/ไม้ผลชนิดอื่นแบบผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงร่วมในพื้นที่ด้วย อย่าง กล้วยน้ำว้า มะม่วง มะนาว ไผ่ ฯลฯ โดยผลผลิตเหล่านี้มักมีผู้ที่เข้ามาดูงานซื้อกลับไปบ้าง บางส่วนจะเก็บไว้สำหรับใช้ประกอบอาหารหรือเลี้ยงผู้ที่เข้ามาดูงานในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

ไก่เลี้ยงแบบอินทรีย์ ด้วยการซื้อข้าวจากชาวบ้านที่กินไม่หมด ราคากิโลกรัมละ 3 บาท แล้วนำมาผึ่งแดด มาแช่ แล้วนำแมลงที่ดักไว้ในช่วงกลางคืนเทลงไปพร้อมข้าวเพื่อให้เป็ด/ไก่กิน ดังนั้น ไข่ที่ได้ก็เป็นไข่อินทรีย์ที่ปลอดภัยด้วย

ส่วนปลาให้อาหารด้วยการต้มข้าวคลุกกับรำ หรือใช้ฟางทั้งก้อนโยนลงในบ่อ เพื่อให้ปลากิน เพราะเลี้ยงแต่ปลากินพืชอย่าง ปลาตะเพียน นอกจากนั้น ยังเลี้ยงหมูไว้ จำนวน 100 ตัว เพื่อขายลูกหมูเป็นรายได้ สำหรับปุ๋ยคอกที่นำมาใส่ต้นไม้หลายชนิดจะมาจากมูลสัตว์ที่เลี้ยง

“การทำพืชอินทรีย์เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มที่มีใจเต็มร้อยก่อน ไม่ว่าจะเป็นใครในครอบครัวก็ตาม และไม่ต้องไปมองนาด้านข้างบ้านว่า ทำไมจึงสวยจัง แต่ควรมองเฉพาะแปลงตัวเอง แล้วตั้งใจทำแปลงตัวเองให้ดีที่สุดเท่านั้น” คุณรำพึง กล่าวในตอนท้าย

บุคคลทั้งสองถือว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากวิถีเกษตรอินทรีย์แบบพอเพียง สามารถพลิกท้องทุ่งที่แห้งแล้งกันดารให้กลับมาเป็นผืนนาที่มีความอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งสร้างความเขียวขจีให้พื้นที่ จึงถือเป็นต้นแบบให้กับคนทั่วไปได้ศึกษา

หมู่คณะใดที่สนใจต้องการเข้าเยี่ยมชมความสำเร็จจากการทำเกษตรอินทรีย์ปลูกข้าวและสวนผสม สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณรำพึง และ คุณสิทธิ์ อินทร์สำราญ บ้านเลขที่ 118 หมู่ที่ 3 บ้านกระเบื้อง ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ โทรศัพท์ (089) 634-2273, (089) 845-4725

สวัสดีครับ ยินดีที่ได้พบกันผ่านคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย กันเป็นประจำ ฉบับนี้มาอธิบายกันต่อในเรื่อง ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural ที่เคยอธิบายที่มาที่ไปเอาไว้เมื่อฉบับที่แล้ว ฉบับนี้ผมจะมาอธิบายกันต่อว่า ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural มีหลักการพื้นฐานและขอบเขตในตัวเองอย่างไร ตามไปดูครับ ว่าทำธุรกิจเกษตรแบบไหน จึงจะเป็นการเกษตรแบบบูติค

หลักการพื้นฐานของระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural
ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบไหนล่ะ ที่เรียกว่า ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค ทำอย่างไรจึงเป็นระบบการเกษตรแบบบูติค ผมรวบรวมความรู้ส่วนตัวทั้งจากงานวิจัย เช่น งานวิจัยเรื่อง เปิดฟาร์มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว-ปรับธุรกิจท่องเที่ยวให้มีฟาร์ม ระบบธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของประเทศไทยในปัจจุบัน (กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างในภาคตะวันตกของประเทศไทย) และจากการตระเวนระหกระเหเร่ร่อนทำข่าวเกษตรมาทั่วประเทศ เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ผมขออนุญาตให้คำจำกัดความเป็นหลักการพื้นฐานของระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค ดังนี้ครับ

ต้องทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรควบคู่กับการทำธุรกิจบริการ (ร้านอาหาร ที่พัก รีสอร์ต จำหน่ายของที่ระลึก นำเที่ยว ฯลฯ) โดยมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไรเป็นหลัก
2. ระบบการเกษตรแบบบูติค การเกษตรที่ทำควบคู่กับธุรกิจบริการนั้นจะต้องใช้ผลผลิต และ/หรือนำกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรนั้นๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจบริการด้วย เช่น ใช้แกะที่เลี้ยงเองมาให้นักท่องเที่ยวซื้อหญ้ามาป้อน ใช้เนื้อหมูที่เลี้ยงเองมาทำอาหารเสิร์ฟลูกค้าที่เข้ามาพักในรีสอร์ต ใช้ผักที่ปลูกเองมาเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารสำหรับผู้ที่เข้ามาพักในรีสอร์ต เป็นต้น
3. เจ้าของระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติคมุ่งหวังผลกำไรจากทั้ง 2 กิจกรรม ทั้งกิจกรรมการเกษตรและการทำธุรกิจบริการ เช่น เลี้ยงแกะจำนวนมากเพื่อจำหน่ายและนำแกะบางส่วนที่มีมาโชว์ให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม เป็นต้น

ขอบเขตของระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค
ขอบเขตของระบบการเกษตรแบบบูติค มีขอบเขตบริบทตามรายละเอียด ดังนี้

1. ทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรพร้อมกันกับการทำธุรกิจบริการ
2. ทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรพร้อมหรือควบคู่กับการทำธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ขนาดเล็กในเมืองหรือจะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ในชนบท หากมีการทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรควบคู่กับการทำธุรกิจบริการโดยมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไรเป็นหลักจากทั้ง 2 ธุรกิจ พร้อมๆ กัน ก็เป็นระบบการผลิตแบบบูติค
3. ทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรพร้อมหรือควบคู่กับการทำธุรกิจบริการ ไม่ว่าจำนวนกิจการการเกษตรจะมีจำนวนเท่าใด จำนวนกิจกรรมในธุรกิจบริการจะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม หากกิจกรรมธุรกิจการเกษตรและกิจกรรมการทำธุรกิจบริการเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกันและมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไรเป็นหลักจากทั้ง 2 ธุรกิจ พร้อมๆ กัน ก็เป็นระบบการผลิตแบบบูติค
4. กิจกรรมในธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเน้นเรื่องใด (ร้านอาหาร ที่พัก รีสอร์ต จำหน่ายของที่ระลึก นำเที่ยว ฯลฯ) จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ก็ได้ แต่ต้องมีการทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรควบคู่กับการทำธุรกิจบริการโดยมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไรเป็นหลักจากทั้ง 2 ธุรกิจ พร้อมๆ กัน
5. กิจกรรมธุรกิจการเกษตรและกิจกรรมการทำธุรกิจบริการ จะต้องส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน และเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจจากลูกค้าให้มาใช้บริการ
6. กิจกรรมในธุรกิจเกษตรจะเป็นกิจกรรมที่เน้นการผลิตปราศจากการปรุงแต่งให้สวยงาม หรือจะเป็นกิจกรรมในธุรกิจเกษตรที่เน้นการปรุงแต่ง สร้างสรรค์ให้สวยงาม ก็ถือว่าเป็นระบบการผลิตแบบบูติค หากกิจกรรมในธุรกิจเกษตรนั้นมีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมในธุรกิจบริการ
7. กิจกรรมในธุรกิจเกษตรจะใช้รูปแบบ วิธีการผลิตระบบใดก็ได้ แต่เน้นในเรื่องการใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไร
8. ทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรพร้อมหรือควบคู่กับการทำธุรกิจบริการ ที่ตอบสนองความต้องการของประชากรทุกวัย

หากมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งตรงตาม 8 ข้อ ด้านบน หรือหลายข้อรวมกัน ก็นับระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติคครับ ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural
ใช่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือไม่
ความหมายของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีผู้ให้ไว้ สมัครน้ำเต้าปูปลา เช่น กรมการท่องเที่ยว (2552) ได้ให้คำจำกัดความ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร หมายถึง การท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นทางด้านการเรียนรู้วิถีเกษตรกรรมของชาวชนบท โดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวในการดำเนินกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้มาทำให้เกิดประโยชน์ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชน และตัวเกษตรกร การท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะเป็นการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

รำไพพรรณ แก้วสุริยะ (2544) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร หมายถึง การเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่เกษตรกรรม สวนเกษตร วนเกษตร สวนสมุนไพร ฟาร์มปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง เพื่อชื่นชมความสวยงาม ความสำเร็จ และเพลิดเพลินในการทำสวนเกษตร ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ใหม่บนพื้นฐานความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกต่อการรักษาสภาพแวดล้อมของสถานที่แห่งนั้น

กรมส่งเสริมการเกษตร (2548) กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตร คือการเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ชุมชนเกษตรกรรม สวนเกษตร วนเกษตร สวนสมุนไพร ฟาร์มปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ สถานที่ราชการ ตลอดจนสถาบันการศึกษาที่มีงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตการเกษตรที่ทันสมัย ฯลฯ เพื่อชื่นชมความสวยงาม ความสำเร็จและความเพลิดเพลินในกิจกรรมทางการเกษตรในลักษณะต่างๆ ทำให้ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ บนพื้นฐานความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกต่อการรักษาสภาพแวดล้อมของสถานที่นั้น

โดยสรุป การท่องเที่ยวเชิงเกษตร หมายถึง การท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้วิถีเกษตรกรรมของชาวชนบท โดยการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชน และตัวเกษตรกร นักท่องเที่ยวได้รับความเพลิดเพลินในกิจกรรมทางการเกษตร และมีจิตสำนึกต่อการรักษาสภาพแวดล้อม (ณัฎฐพงษ์ ฉายแสงประทีป)

จะเห็นได้ว่า ความหมาย คำจำกัดความ ของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรมีความแตกต่างค่อนข้างมากจากการเกษตรแบบบูติค ทั้งเรื่องของสถานที่ ที่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรมักหมายถึงพื้นที่ในชนบท ในชุมชนต่างจังหวัด แต่การเกษตรแบบบูติคไม่จำกัดว่าจะทำที่ไหน การท่องเที่ยวเชิงเกษตรไม่ได้เน้นว่าจะต้องใช้กิจกรรมการเกษตรมาเป็นประโยชน์กับธุรกิจบริการ ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรบางสถานที่อาจจะซื้อผลผลิตเกษตรมาขายในแหล่งท่องเที่ยว ไม่ได้ผลิตเองเหมือนคำจำกัดความของการเกษตรแบบบูติค

ดังนั้น การเกษตรแบบบูติคมีความแปลกแตกต่างจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องของแนวคิดและการปฏิบัติ ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural เป็นสิ่งที่ผมอยากฝากเอาไว้ว่ายังมีระบบการผลิตทางการเกษตรอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนครับ ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว พบกับคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ได้ใหม่ในฉบับต่อไป สวัสดีครับ