จังหวัดอุบลราชธานี และหลายจังหวัดที่อยู่ติดริมโขง เหมาะสำหรับ

ปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ในท้องถิ่น เพราะได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ แม้จะเจอปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งในทำเลดังกล่าว แต่มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่ทนทานต่อปัญหาน้ำท่วมได้ดี มะพร้าวน้ำหอมสร้างรายได้ดี สูงกว่า 1 ไร่ 1 แสนบาท ต่อปี จึงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าปลูกสำหรับพื้นที่ภาคอีสานในอนาคต” ผศ. ประสงค์ กล่าว

ปัจจุบัน ผศ. ประสงค์ ทำสวนมะพร้าวแกงและมะพร้าวน้ำหอม อยู่ในพื้นที่ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมสวน หรือสอบถามข้อมูล ติดต่อกับ ผศ. ประสงค์ ทองยงค์ ได้ที่เบอร์โทร. (081) 836-6228

รศ. ธัญพิสิฐ พวงจิก อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานชมรมคนรักไผ่ ร่วมกับ คุณนิมิตร สื่อเจริญสม เกษตรกรผู้ปลูกไผ่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แบ่งปันข้อมูลด้านวิชาการและประสบการณ์ตรงจากการปลูกไผ่เชิงการค้า กล่าวว่า ไม้ไผ่เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงมาก และคนไทยได้ใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่มาตั้งแต่อดีตหลายร้อยปี ปัจจุบันมีการพัฒนาการใช้ไม้ไผ่ให้มีประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น ได้แก่ ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และยังใช้ในเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ การแก้ปัญหาโลกร้อน ใช้เป็นไม้ทดแทนไม้จริงในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเฟอร์นิเจอร์ได้

ในอนาคตไม้จริงจะหายากขึ้นและมีราคาแพงมาก ใช้ทำเส้นใยเสื้อผ้าคุณภาพดี เป็นพลังงานทดแทนได้ดี ให้ถ่านไม้ไผ่ที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งหน่อไม้ก็เป็นอาหารที่มีรสชาติดี มีราคาถูก เป็นอาหารที่สำคัญของชาวชนบท ซึ่งไม้ไผ่ในประเทศไทยกำลังถูกทำลายอย่างมาก ไม้ไผ่ที่อยู่ในธรรมชาติก็ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร พื้นที่ปลูกลดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยประโยชน์อันหลากหลายมากมายของไผ่ จึงถือว่าไผ่เป็นพืชมหัศจรรย์จริงๆ เราจึงต้องช่วยกันเพิ่มพื้นที่การปลูกไผ่ให้มากยิ่งขึ้น และพัฒนาการใช้ประโยชน์ให้สูงยิ่งขึ้นไป เพราะไผ่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายสิบปีกว่าต้นไผ่จะตาย

ไผ่ เป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีขนาดลำต้นใหญ่โต ให้น้ำหนักชีวมวลต่อไร่ในระยะเวลาที่เท่ากันสูงกว่าพืชชนิดอื่น เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ทุกส่วนของต้นไผ่ประกอบด้วยเซลลูโลสซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นชีวมวลผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนได้หลากหลาย ได้แก่ สกัดเป็นน้ำมันดิบได้ในอนาคต ทุกชิ้นส่วนของต้นสดบดเป็นผง แล้วนำไปหมักจะได้ก๊าซชีวภาพ (มีเทน) ที่มีค่าพลังงานสูงมาก ผลิตเม็ดพลังงานแห้งซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง และยังใช้ผลิตถ่านไม้ไผ่ที่มีคุณภาพสูง เป็นต้น

ข้อดีของการปลูกไผ่คือ ช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายและการกัดเซาะหน้าดิน ดูดซึมน้ำลงสู่ใต้ดินได้อย่างรวดเร็วในปริมาณมาก และช่วยลดปัญหาอุทกภัยที่ตามมาด้วย พันธุ์ไผ่ที่ให้ปริมาณชีวมวลในปริมาณมาก ได้แก่ พันธุ์กิมซุ่ง ตงลืมแล้ง ซางหม่น และวะโซ่ เป็นต้น ทุกประเทศทั่วโลกมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไผ่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการปลูกเป็นพืชพลังงานทดแทนของโลกต่อไปในอนาคต

ช่วงที่มีเมฆมากและมีฝนตกชุก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวไร่สับปะรดเฝ้าระวังโรคยอดเน่ารากเน่า ที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของสับปะรด อาการที่ต้น ใบยอดมีสีซีด โคนใบหรือฐานใบเน่าช้ำมีสีขาวอมเหลืองขอบสีน้ำตาล และส่งกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว เมื่อดึงส่วนยอดจะหลุดได้โดยง่าย

ถ้าอาการรุนแรงกลุ่มใบตรงกลางต้นจะหักล้มพับลงมา อาการที่ราก เริ่มแรกมีอาการใบสีซีดคล้ายอาการที่ต้น ใบด้านล่างจะนิ่มกว่าปกติ และแห้งตายลามเข้ามาจากปลายใบ ต้นชะงักการเจริญเติบโต รากมีแผลสีน้ำตาล เปื่อย และเน่า หากดึงจะหลุดออกมาจากดินได้โดยง่าย อาการที่ผล ผลมีขนาดเล็ก ผลจะเน่าเป็นจุดสีเขียวเข้ม เมื่อผ่าดูภายในเนื้อเยื่อจะเน่าเป็นสีน้ำตาล

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นที่เริ่มแสดงอาการของโรคยอดเน่ารากเน่า ให้พ่นด้วยสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือให้ขุดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุโรค จากนั้นให้โรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ทุกครั้ง

หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้นำส่วนต่างๆ ของพืชที่เป็นโรคไปเผาทำลายทันที หากเกษตรกรจะปลูกสับปะรดในฤดูถัดไป ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี ไม่ควรมีน้ำท่วมขัง

กรณีเกิดน้ำท่วมขังควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงโดยเร็ว และให้เลือกใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค ก่อนปลูก เกษตรกรควรจุ่มจุกหน่อพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล อัตรา 50-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

สภาพอากาศในระยะนี้ มักมีฝนตกชุกและมีอุณหภูมิลดต่ำลง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกขมิ้นให้เฝ้าระวังโรคเหี่ยว ที่สามารถพบได้ในระยะการเจริญเติบโตทางต้นของขมิ้น

อาการเริ่มแรกใบจะเหี่ยวม้วนเป็นหลอดสีเหลือง และลุกลามจากส่วนล่างขึ้นไปยังส่วนปลายยอดจนแห้งตายทั้งต้น บริเวณโคนต้นและหน่อที่แตกออกมาใหม่มีลักษณะฉ่ำน้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำ เมื่อผ่าลำต้นตามขวางจะพบเมือกแบคทีเรียไหลซึมออกมาเป็นสีขาวขุ่น ลำต้นเน่า และหลุดออกจากเหง้าได้ง่าย อาการบนเหง้ามีลักษณะฉ่ำน้ำสีคล้ำ ต่อมาเหง้าจะเน่าในที่สุด

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นขมิ้นที่เริ่มแสดงอาการของโรคเหี่ยว ให้ขุดต้นไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุโรค จากนั้นให้โรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค

และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ หากเกษตรกรจะปลูกขมิ้นในฤดูถัดไป ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้ และควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี

นอกจากนี้ การป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวในฤดูปลูกถัดไป เกษตรกรควรเตรียมดิน โดยไถพรวนดินให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะสามารถช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก

ก่อนปลูก ให้รมดินฆ่าเชื้อโรคด้วยการโรยยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80:800 กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้นไถกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้น ทิ้งไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ จึงเริ่มปลูกขมิ้น และให้เลือกใช้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค

หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้นำส่วนต่างๆ ของพืชที่เป็นโรคไปเผาทำลายทันที กรณีในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ไม่ควรปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อ เช่น พืชตระกูลขิง มะเขือ มันฝรั่ง พริก และถั่วลิสง รวมถึงควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค

การล้มละลายครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของที่สุดแห่งชีวิตคือความสิ้นหวัง เกิดมาแล้วชีวิตต้องมีความหวัง ทุกเรื่องราวของชีวิตที่เกิดขึ้นนั้นล้วนเราทำเพื่อตัวเราทั้งสิ้น ดังนั้น พยายามกระทำทุกเรื่องราวสำหรับตัวเราอย่างมีความหวัง อย่าท้อ อย่าสิ้นหวัง เพราะลมหายใจเรายังมีอยู่ ต้องสู้และสู้ พร้อมก้าวเดินไปบนถนนชีวิตอย่างทระนงและต้องไม่ลืมนำความขยันและอดทนติดตัวไปด้วย เพราะนี่คือความมั่นใจในการก้าวออกเดิน เมื่อพร้อม เส้นทาง เดินห่าง…จากความจน ยินดีต้อนรับเสมอสำหรับบุคคลที่มีคุณสมบัติพร้อมเช่นนี้หากต้องการ เพราะคุณคือคนที่ต้องการดูแลลมหายใจให้อยู่คู่กับเวลาที่เหลืออยู่ได้อย่างดีที่สุด

สวัสดีครับแฟนๆ ก่อนอื่นทุกๆ ครั้งด้วยความเคารพรัก ต้องกราบขอบพระคุณต่อแฟนๆ ที่ติดตามคอลัมน์นี้เป็นอย่างมากจากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและผู้เขียน ที่ให้กำลังใจกันตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงไปหาหรือจากเฟซบุ๊กที่ชื่อ นายสมยศ ศรีสุโร มีแฟนๆ คนใหม่เพิ่มขึ้นๆ ตลอดจึงทำให้มีวันนี้ วันแห่งความจริงที่สัมผัสได้ และทุกเรื่องราวล้วนติดตามเรื่องของ ชะอมไม้เค็ด 2009 กันทั้งสิ้น

สำหรับปักษ์นี้นำเสนอเรื่อง ผู้หญิงคนนี้…เลี้ยงไส้เดือน ที่แฟนๆ ให้ความสนใจมากเหลือเกิน ที่มาแรงรองจากชะอมไม้เค็ด 2009 ชนิดที่ผมคิดไม่ถึงทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเฟซบุ๊กหรือจากการส่งเสียงไปถามถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเธอ

ส่วนเธอได้บอกผมไปว่ามีแฟนๆ ที่อ่านคอลัมน์นี้ติดต่อเธอไปเยอะมากทุกเรื่องราวที่เกี่ยวกับไส้เดือน เธอบอกต่อไปว่าหลังจากนั้นได้มีสถานีโทรทัศน์รายการหนึ่งได้ติดต่อเรื่องราวของเธอหลังจากได้ทราบข่าวจากคอลัมน์นี้ เพื่อนำเรื่องราวการเลี้ยงไส้เดือนของเธอนำไปออกอากาศอีกด้วย เยี่ยมมากครับ

ในที่สุดไม่รอช้า ผมจึงได้กลับไปเยี่ยมหาเธออีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผมลงท้ายถึงปักษ์ที่เขียนถึงชุดทดลองเลี้ยงไส้เดือนของเธอพร้อมขมวดท้ายลงไปว่าหากแฟนๆ ได้ทดลองเลี้ยงไส้เดือน จนในที่สุดมั่นใจว่ามีความชอบและพร้อมที่สนใจจะต่อยอดเพื่อเลี้ยงต่อ เธอนั้นมีวิธีเลี้ยงไส้เดือนหลากหลายวิธีที่น่าสนใจอย่างมากครับ

ปรากฏว่ามีแฟนๆ หลายท่านส่งเสียงไปหากันเยอะว่ารีบๆ หน่อย เพราะกำลังติดตามอยู่ว่าจะมีเรื่องราวจะเป็นเช่นไรบ้างในหลากหลายวิธีเลี้ยงไส้เดือนของเธอที่จะมานำเสนอ เผื่อว่าจะได้นำมาเลี้ยงน้องเดือนบ้าง หากว่าไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดเนื่องจากไม่เคยคิดรังเกียจน้องเดือนอีกด้วย แถมบางท่านบอกไปด้วย คิดว่าน่าสนุกและตื่นเต้นเพราะติดตามเรื่องราว ผู้หญิงคนนี้…เลี้ยงไส้เดือน มาทุกครั้ง น่าสนใจมากและต้องการ “มีความสุขกับชีวิต เมื่อได้ใกล้ชิดน้องเดือน” ตามที่ผมได้เขียนไว้บ้าง

ทันทีเลยครับ ผมย้ำแฟนๆ เสมอว่า เมื่อเขียนเรื่องราวอะไรก็ตามหากมีแฟนๆ สนใจติดตาม ผมเป็นปลื้มพร้อมยินดีเสมอที่จะสนองตอบกับแฟนๆ เขียนแล้วมีแฟนๆ ติดตาม ความสุขย่อมเกิดกับคนเขียนจริงไหม? ผมจึงรีบนำมาเสนอทันทีเรื่องราวของ ผู้หญิงคนนี้…เลี้ยงไส้เดือน ตอน วิธีเลี้ยงไส้เดือนตามแบบฉบับของเธอทันทีครับ

ก่อนอื่นต้องเรียนให้แฟนๆ ทุกท่านทราบเป็นเบื้องต้นก่อนนะครับว่า วิธีการเลี้ยงไส้เดือนที่นำเสนอต่อไปนี้เป็นการนำเสนอที่ได้มาจากตัวเธอ คุณนิรัชพร ธรรมศิริ หรือ “ต่าย” บ้านเลขที่ 167 ถนนเทศา 2 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ที่แฟนๆ ติดตามคอลัมน์นี้ล้วนรู้จักเธอเป็นอย่างดี เพราะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ผู้หญิงคนนี้…เลี้ยงไส้เดือน ได้นำเสนอในคอลัมน์นี้มาแล้ว

สำหรับตัวเธอบอกกับผมเช่นนี้ครับแฟนๆ “การเลี้ยงไส้เดือนนั้นไม่ได้มีรูปแบบที่กำหนดลงไปชัดเจน เพราะเราจะสามารถหาสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเราหรือวัสดุบางชิ้นที่เราคิดว่าน่าจะนำมาประยุกต์นำมาเลี้ยงน้องเดือนเป็นใช้ได้ทั้งสิ้น ขอเพียงมีขั้นตอนและวิธีการเท่านั้นเป็นพอ” เมื่อเป็นเช่นนี้หากแฟนๆ ท่านใดจะนำคุณเดือนไปเลี้ยงด้วยวิธีอื่นก็ได้ตามสะดวกนะครับ ไม่ผิดกติกาใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับไส้เดือนที่เธอแนะนำให้แฟนๆ เลี้ยงนี้เป็นสายพันธุ์อัฟริกันไนต์ครอเลอร์ (AF) ข้อดีคือ ไส้เดือนสายพันธุ์นี้สามารถกินอาหารเก่งมากโดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง ขยายพันธุ์ได้เร็ว มีลูกดก แถมตัวโต เป็นสายพันธุ์ที่นิยมนำไปใช้เป็นอาหารโปรตีนสำหรับเลี้ยงกบ นก และปลาได้ ส่วนมูลไส้เดือนนั้นเป็นปุ๋ยที่นำไปใส่ต้นไม้ หรือพืชผักได้อย่างดีอีกด้วย

ก่อนอื่นจะทำความเข้าใจกับมือใหม่หัดเลี้ยงน้องเดือนเป็นเบื้องต้นเสียก่อน เพราะทุกรูปแบบของการเลี้ยงน้องเดือนนั้นต้องมีส่วนผสมที่นำมาใช้เลี้ยง หรือเขียนให้อ่านง่ายก็คืออาหารของน้องเดือนที่แฟนๆ ต้องเตรียมพร้อมก่อนที่จะนำน้องเดือนลงไปให้อาศัย

1. มูลสัตว์ เช่น มูลวัวทั้งหลาย จะเป็นวัวบ้าน วัวนม โคขุนหรือมูลควาย ได้ทั้งนั้น ต้องนำมาแช่ในวงบ่อหรือถังน้ำ หรือกะละมัง เพื่อให้คลายความร้อนและลดแก๊สที่สะสมให้ลดน้อยลง ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ตามแต่ว่ามูลที่นำมานั้นจะเป็นมูลเก่าหรือใหม่ ที่นิยมเรียกว่า เบดดิ้ง (Bedding) เธอบอกด้วยว่าเรื่องนี้แฟนๆ ที่ต้องการเลี้ยงค่อนข้างจะมีความพะวงเป็นอย่างมาก เพราะค่อนข้างไม่มั่นใจว่าจะได้ผลออกมาเช่นไรหากลงมือปฏิบัติการเอง

2. ขุยมะพร้าว หรือกาบมะพร้าวสับให้ละเอียด ไม่จำเป็นต้องนำไม่แช่น้ำ แต่เมื่อจะนำมาใส่ลงในที่เลี้ยงให้รดน้ำให้ชุ่ม

3. เศษกระดาษทั่วไป ข้อนี้ก็ไร้ปัญหาเพราะหาได้ง่ายมาก ฉีกให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำมาแช่น้ำ

4. ดินร่วนที่ใช้ปลูกต้นไม้ หาซื้อเอาตามร้านที่ขายพันธุ์ไม้ทั่วไปที่บรรจุใส่ถุงไว้

สำหรับส่วนผสมที่ใช้เลี้ยงน้องเดือนนั้น เบดดิ้ง 2 ส่วน กับ ขุยมะพร้าว เศษกระดาษ และดินร่วน อย่างละ 1 ส่วน จะเป็นอัตราส่วนที่เยี่ยมที่สุด สำหรับอัตราส่วนระหว่างตัวไส้เดือนที่จะใส่ลงไปนั้นให้ดูจากขนาดของวัสดุอุปกรณ์ที่แฟนๆ ต้องการนำมาเลี้ยง หากมีปัญหาปรึกษารายละเอียดกับเธอได้ตลอดเวลา เพราะเรื่องราวเช่นนี้เธอมีประสบการณ์มาแล้วครับแฟนๆ

หลังจากนำน้องเดือนลงเลี้ยงไปประมาณ 2-3 วัน รอให้น้องเดือนคุ้นและชินกับบ้านหลังใหม่เสียก่อน หลังจึงค่อยนำเศษผัก ผลไม้ ขอให้มีรสหวานเพราะน้องเดือนจะโปรดปรานเป็นอย่างมาก เช่น ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักบุ้ง แตงโม ขนุน กล้วยน้ำว้า แคนตาลูป ฟักทองสุก กรุณาใส่ทีละน้อยเพราะว่าหากเยอะไปจะทำให้ผักหรือผลไม้นั้นเน่าจะสามารถทำให้น้องเดือนป่วยได้

ต่อไปนี้คืออุปกรณ์ที่เธอนำเสนอกับแฟนๆ สำหรับที่จะนำมาเลี้ยงน้องเดือน และขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าเป็นวิธีการเลี้ยงที่เธอได้ทำการทดลองมาก่อนแล้ว เมื่อเห็นว่าได้ผลเยี่ยมจึงนำมาเสนอกับแฟนๆ หากสนใจสามารถนำไปใช้ได้ตามความต้องการ มีดังนี้

1. กะละมังพลาสติก จะเป็นกะละมังสีอะไรก็ได้ ขอเพียงแค่ว่าอย่าให้ถึงแตกร้าวจนดูว่าขาดความมั่นใจสำหรับความเป็นอยู่ของชีวิตน้องเดือนเป็นใช้ได้ นำมาเจาะรูด้านล่าง ประมาณ 10 รู สำหรับเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้

2. กระถางดินเผา วัสดุชิ้นนี้เธอบอกว่าแฟนๆ สามารถเลี้ยงคุณเดือนได้ดีเช่นกัน เนื่องจากกระถางดินเผาสามารถเก็บความเย็นและความชื้นได้ดี ส่วนมากกระถางรูปแบบนี้เป็นแบบที่แฟนๆ ส่วนใหญ่จะนำมาใช้สำหรับปลูกต้นไม้ มีมากมายหลายขนาด เลือกเอาตามต้องการส่วนมากจะมีรูเจาะไว้ก่อนแล้วด้านล่างเพียงรูเดียว แฟนๆ ต้องหาวัสดุมาอุดไว้ให้พอระบายน้ำได้แต่ต้องพยายามไม่ให้น้องเดือนหนีออกไปเที่ยวได้ด้วยนะครับ

3. กล่องพลาสติก จะมีรูปร่างแบบใดหรือขนาดใด สามารถนำมาเลี้ยงน้องเดือนได้ทั้งนั้น เพียงนำมาเจาะรูด้านล่าง ประมาณ 10 รู เพื่อระบายน้ำเช่นเดียวกัน

4. วงบ่อซีเมนต์ จะมีหลายขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลาง 60, 80 และ 100 เซนติเมตร ต้องใช้ฝาปิดมาด้วยแต่นำมาวางไว้ด้านล่าง เจาะรูระบายน้ำตรงกลางเพื่อไว้รับน้ำหมักมูลไส้เดือน

(รูปแบบการเลี้ยงทั้ง 4 แบบ นี้ ที่นำเสนอมานั้น หากแฟนๆ ต้องการน้ำหมักมูลไส้เดือนด้วย แฟนๆ ต้องหาสิ่งของ เช่น อิฐบล็อก ก็น่าจะเหมาะสำหรับนำมารองให้มีความสูงตามที่ต้องการ เพื่อจะให้สามารถรองรับภาชนะที่อยู่ด้านล่างสำหรับน้ำมูลหมักไส้เดือนที่ได้หลังจากที่รดน้ำให้ความสดชื่นกับน้องเดือน)

ส่วนรูปแบบที่ 5 คือ กล่องลิ้นชักพลาสติก จะกี่ชั้นก็ตามแต่สะดวกของผู้ต้องการ แต่ต้องนำมาเจาะรูด้านล่างทุกชิ้น ประมาณ 10 รู เพื่อไม่ให้น้ำขังในแต่ละชั้น แต่การเลี้ยงวิธีนี้ชั้นสุดท้ายไม่จำเป็นต้องเจาะรู เพราะว่าเราจะไว้เก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนที่เกิดจากเมื่อเวลาเรารดน้ำชั้นบนจะตกลงมารวมกันชั้นสุดท้าย สามารถนำน้ำหมักมูลไส้เดือนที่ได้นั้นไปใช้ได้เลย

การเลี้ยงวิธีนี้ลงทุนมากกว่าแบบอื่นเนื่องจากราคากล่องที่ค่อนข้างมีราคาแพงกว่า แต่คิดว่าน่าจะคุ้มค่าและสะดวก เพราะสามารถนำไปเก็บไว้บริเวณหลังบ้านหรือชิดข้างบ้านในที่ร่ม ใช้เนื้อที่น้อยแถมเลี้ยงแบบนี้จะเก็บความชื้นได้ดีไม่ต้องรดน้ำบ่อย และสามารถป้องกันศัตรูที่จะมาเยี่ยมหาเพื่อทำร้ายน้องเดือนได้อีกด้วย

เธอได้บอกต่อไปถึงวิธีสุดท้ายหากแฟนๆ ต้องการแค่ปุ๋ยไส้เดือนเท่านั้น ไม่ต้องการมูลหมักไส้เดือน จะเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกเช่นกันและจะได้ปุ๋ยครั้งละมากอีกด้วย (ดูภาพประกอบ)

1. ใช้อิฐบล็อก จำนวน 10 ก้อน นำมาเรียงกั้นตามแบบ

2. หาวัสดุ เช่น ถุงปุ๋ย เป็นต้น มาลองพื้นจนถึงขอบสำหรับไม่ให้คุณเดือนหนีไปเที่ยว

3. ใช้เบดดิ้ง (Bedding) จำนวน 2 ถุง ถุงละประมาณ 20-25 กิโลกรัม ล้วนๆ หรืออาจจะมีการผสมของขุยมะพร้าว กระดาษ หรือดินร่วนลงไปก็ได้ ตามจำนวนที่บอกไว้โดยประมาณ ทั้งหมดนี้จะสามารถนำตัวไส้เดือน จำนวน 1 กิโลกรัม ลงไปเลี้ยงได้อย่างเหมาะสม

4. สุดท้าย หาวัสดุมาปิด เช่น ซาแรนพรางแสง ไว้เพื่อป้องกันแสงแดดเพราะไส้เดือนชอบความมืด ความชุ่มชื่น และศัตรูของไส้เดือน ข้อที่สำคัญอย่างมากคือบริเวณที่เลี้ยงนั้นต้องเป็นในที่ร่ม อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก และไม่ให้โดนแดดโดยตรงหรือโดนฝน คุณเดือนจะโปรดปรานอย่างยิ่ง

หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ หากจะให้พวกเศษผัก ผลไม้ สามารถนำเป็นอาหารเสริมให้คุณเดือนได้เลย และต้องดูด้วยว่าคุณไส้เดือนสดชื่นดีอยู่ไหม หากเห็นว่าไม่สดชื่นต้องบริการน้ำด้วย อีก 45 วัน แฟนๆ ก็จะสามารถร่อนเอาปุ๋ยที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงไส้เดือนมาใช้กับสวนของเราได้ทันทีครับ

หรือหากว่าแฟนๆ ที่สนใจต้องการเลี้ยงวิธีแบบไหนหรือคิดว่ามีวิธีที่ต้องการเลี้ยงแบบที่ตัวเองคิด หรือหากต้องการรายละเอียดเพิ่มมากกว่านี้ กรุณาติดต่อเธอได้ รับประกันความผิดหวังที่ Facebook. Niratchaporn Thammasiri หรือ ID. Tai_shop99 หรือ (091) 842-4968

เธอมีตัวไส้เดือนสำหรับบริการแฟนๆ ได้ชนิดรับรองคุณภาพว่าแข็งแรงทั้งสิ้น และเธอมีผลผลิตจากไส้เดือนตรา “กระต่าย” จำหน่ายอีกด้วย คือ ปุ๋ยมูลไส้เดือนแท้ 100% และปุ๋ยน้ำหมักมูลไส้เดือนไว้บริการอีกด้วย

สุดท้าย ชีวิตคนเรานั้นตลอดการก้าวเดินไปบนถนนของชีวิตที่ผ่านมา ย่อมจะพบกับความผิดหวังบ้างในช่วงระยะทาง แต่มันก็เป็นแค่ช่วงหนึ่งของเส้นทางที่เราก้าวเดินเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้เมื่อเหนื่อยนักก็พักเสียบ้าง ขอเพียงอย่าเกิดอาการท้อแท้หรือหยุดนิ่งไม่เดินต่อไป หายเหนื่อยแล้วใช่ไหม? ลุกขึ้นทันที ช้าอยู่ทำไม? สู้และสู้ต่อไปบนเส้นทางการก้าวเดินกับเวลาที่เหลืออยู่ ยังให้โอกาสเสมอ แม้ว่าบางครั้งเราอาจก้าวเดินช้าไปบ้าง อย่าไปกังวล ขอเพียงให้ทุกก้าวที่เดินในทุกวันต้องให้ดีกว่าก้าวเดิม และไม่จำเป็นต้องดีกว่าใครเป็นใช้ได้

แฟนๆ ครับ การก้าวเดินของชีวิตกับเวลาที่เหลืออยู่ ต้องก้าวไปแบบเดินหน้าอย่างมั่นใจ อย่าท้อ เพราะชีวิตไม่เป็นอย่างที่เราคิด แต่ชีวิตจะเป็นอย่างที่เราทำ ความรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเองคือราคาความยิ่งใหญ่ของเรา ขอย้ำอีกครั้งว่า การล้มละลายครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของที่สุดแห่งชีวิตคือความสิ้นหวัง ขอบคุณ สวัสดี

ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตร ชื่นชม “สามพรานโมเดล ” ต้นแบบพัฒนาเกษตรอินทรีย์ครบวงจร สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุรพล จารุพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในพื้นที่ จ.นครปฐม พร้อมแวะศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว และ สุขใจออร์แกนิกฟาร์ม พื้นที่เครือข่ายสามพรานโมเดล เพื่อศึกษาดูงานการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของโครงการ พร้อมร่วมสังเกตการณ์การประชุมประจำเดือนของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ โดยมีนายอรุษ นวราช ผู้บริหารสามพราน ริเวอร์ไซด์ และผู้ก่อตั้ง สามพรานโมเดลให้การต้อนรับและประชุมร่วมกับเกษตรกรครั้งนี้ด้วย

นายสุรพล กล่าวว่า วันนี้ตนเองตั้งใจมาดูงานโครงการสามพรานโมเดล เพราะรับทราบถึงความตั้งใจจริง และอุดมการณ์ของผู้บริหาร สามพราน ริเวอร์ไซด์ ที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมีกระบวนการทำงานที่น่าสนใจ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างเป็นระบบแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิต ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนำระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS และพัฒนาสู่มาตรฐานสากล IFAOM ขณะเดียวกันมีการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยการแปรรูป และการเชื่อมช่องทางการตลาด ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักสำคัญ ของการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์

ทั้งนี้ นายสุพล กล่าวอีกว่า จากที่ตนสังเกตรูปแบบการประชุม รวมถึงแนวคิดต่างๆ ที่เกษตรกรนำมาแชร์กันในวงประชุมวันนี้ ทำให้เห็นกระบวนการกลุ่มที่ดีมาก ผสานกับหลักคิด วิธีการขับเคลื่อนโครงการ ของคุณอรุษ ทำให้มองว่า สามพรานโมเดล คือรูปแบบหนึ่งที่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำการเกษตรอินทรีย์ครบวงจร

ซึ่งไม่เฉพาะส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว แต่สอนให้รู้จักแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างช่องทางการตลาด เชื่อมตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ซื้อขายกันในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นหลักการที่น่าสนใจ ที่พื้นที่อื่นๆ สามารถเรียนรู้ และนำ ไปเป็นแบบอย่าง ปรับใช้ในแต่ละพื้นได้ไม่ยาก

“โดยรวมได้ประโยชน์จากการดูงานครั้งนี้เป็นอย่างมาก และดีใจที่ได้ร่วมวงฟังกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมชองเกษตรกร โรงแรม รวมถึงมูลนิธิสังคมสุขใจที่ มีการทำงานเชื่อมโยงเครือข่ายครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้ง สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชนต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้เห็นความตั้งใจของเกษตรกร ที่บอกว่า มีอุดมการณ์มีกฎกติกาของกลุ่ม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายสุรพล กล่าวทิ้งท้าย

วันนี้ เป็นเรื่องของการปลูกหญ้าจำหน่ายที่ ต.หนองสามวัง อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ซึ่งที่นี่มีเกษตรกรที่ยึดอาชีพนี้สร้างรายได้มากกว่า 24 ปี แต่ก่อนจะไปพูดคุยกับเกษตรกร รู้หรือไม่ว่า หญ้าเป็นพืชล้มลุก สามารถเจริญเติบโตได้ทุกสภาพดิน โดยมีประมาณ 600 สกุล และกว่า 1,000 ชนิด แต่ในบ้านเรา ที่นิยมปลูกจำหน่ายกันอยู่ มีเพียง 5 สายพันธุ์ คือ หญ้านวลน้อย หญ้ามาเลเซีย หญ้าญี่ปุ่น หญ้าพาสพาลั่ม และหญ้าเบอร์มิวด้า หรือหญ้าแพรก…และหญ้าแต่ละสายพันธุ์มีวิธีปลูกและดูแลต่างกันอย่างไร

วันนี้ คุณดารุด พูลเต่า หรือผู้ใหญ่ดารุด เจ้าของนาหญ้าที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จะมาเผยเคล็ดลับแบบไม่มีกั๊ก ผู้ใหญ่ดารุด เล่าให้ฟังว่า อาชีพทำนาหญ้าเป็นอาชีพที่ทำสืบกันมาหลายปี และยิ่งในบ้านเราหรือประเทศที่กำลังพัฒนา จะมีการก่อสร้างเกิดขึ้น ดังนั้น ความต้องการพื้นที่สีเขียวจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และที่สำคัญ เป็นพืชที่ปลูกไม่ยาก ขึ้นอยู่กับน้ำ การดูแล และการให้ปุ๋ย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องฝึกหัดและหาประสบการณ์ไปพร้อมกับการทดลองทำ

สำหรับการทำนาหญ้าครั้งแรก ผู้ใหญ่บอกว่า จะต้องลงทุนสูงเพราะต้องจ้างรถมาเกรดปรับหน้าดินให้เสมอกันและดินจะต้องแน่น โดยพื้นที่ปลูกจะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ เนื่องจากต้นหญ้าปลูกใหม่ต้องการน้ำในปริมาณมาก “ขั้นแรกต้องปรับเตรียมพื้นที่ให้เรียบ เปิดน้ำรดให้ชุ่ม จากนั้นใช้เครื่องปั่นเลนแล้วดูดขึ้นมาฉีดบนพื้นที่ปรับไว้ให้เต็มพื้นที่ และจะใช้คนงานฉีกหญ้าเป็นแผ่นๆ เล็กมาดำ ซึ่งการปลูกจะปลูกในช่วงฤดูฝน เพราะจะได้ไม่ต้องรดน้ำ หลังจากปลูกไปแล้ว 1 วัน จะใช้ลูกกลิ้ง กลิ้งทับหญ้าให้แน่น รดน้ำและเริ่มใส่ปุ๋ยครั้งแรกได้ทันที และประมาณ 1 สัปดาห์ จะใส่ปุ๋ยอีก 1 ครั้ง พอครบ 11-12 วัน จะเริ่มตัดใบครั้งแรกเพื่อให้หน่อเดินลงดินเป็นแผ่นหญ้าที่มีความแข็งแรง ส่วนโรคและแมลง จะเจอกับหนอนที่มากัดกินหญ้า และเพลี้ย ซึ่งวิธีแก้ปัญหาก็จะพ่นสารเคมีป้องกัน”

ราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และฤดูกาล อย่างหญ้าญี่ปุ่นช่วงที่ราคาดี จะสูงถึงตารางเมตรละ 18 บาท แต่ถ้าช่วงที่หญ้าล้นตลาด ราคาก็จะถูกลงเหลือตารางเมตรละ 9-10 บาท สำหรับพื้นที่ 1 ไร่จะใช้หญ้าประมาณ 550 ตารางเมตร 1 ปี จะปลูกได้ถึง 6 รอบ แต่ละรอบจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 บาท ใช้เวลาปลูกประมาณ 30-45 วัน โดยพื้นที่ 1 ไร่จะทำรายได้ประมาณ 12,000 บาท 1 ปี จะมีกำไรประมาณ 36,000 บาท

หลายท่านคงจะสงสัยนะครับว่า มะม่วงตามใจฉัน คาสิโน UFABET มีด้วยหรือมะม่วงสายพันธุ์นี้ แต่ความจริงแล้วเป็นวิธีการปลูกมะม่วงตามที่เกษตรกรต้องการ ต้องการสายพันธุ์ไหนที่ชอบ ตลาดมีความต้องการ เปลี่ยนสายพันธุ์ได้ทันที ใช้ระยะเวลาไม่นาน ดังที่สวนของ คุณประสิทธิ์ ทองเทศ อดีตเกษตรอำเภอหลายพื้นที่ ในจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ ทำให้สะสมประสบการณ์ด้านการเกษตรมายาวนาน

คุณประสิทธิ์ ทองเทศ เล่าให้ฟังว่า หลังจากเกษียณอายุราชการที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้หาซื้อพื้นที่ที่เป็นนาข้าว บ้านเลขที่ 91 หมู่ที่ 6 ตำบลบุ่งคล้า จำนวน 40 ไร่ เพื่อมุ่งหวังจะทำการเกษตรให้เป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย ระยะนั้นพื้นที่ทั่วไปมีปัญหาการทำนาที่เกิดฝนแล้ง น้ำท่วม ข้าวราคาตกต่ำ จึงเกิดแนวคิดใช้ที่นามาทำเป็นสวนและเป็นแปลงเรียนรู้แก่เกษตรกรรายอื่น ระยะแรกๆ ปลูกมะขามหวานหลายพันธุ์ ตั้งแต่พันธุ์ตาแป๊ะ พันธุ์สีทอง ฯลฯ

ต่อมาเมื่อประมาณ ปี 2550 จึงเกิดแนวคิดว่า ปลูกมะม่วงดีกว่าแน่นอน เพราะว่าเมื่อปลูกต้นมะม่วงเป็นแม่พันธุ์ ลำต้นใหญ่ ให้ผลผลิตแล้ว หากว่ามะม่วงพันธุ์ไหนราคาตกต่ำ รสชาติเปลี่ยนแปลง ตลาดลดความต้องการ ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เราเองก็สามารถเปลี่ยนยอดพันธุ์ตามที่ตลาดต้องการ แต่ต้องสังเกตความต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดประเทศจีน มีแนวโน้มความต้องการมะม่วงที่มีผลใหญ่ ทั้งผลดิบและผลสุก ตนเองจึงหาซื้อมาขยายพันธุ์ในสวนของตนที่ชื่อ “สวนไทรทอง”

ในสวนขณะนี้มีพันธุ์มะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตแล้ว ได้แก่ อาร์ทูอีทู งาช้างแดง หงส์ไข่เท่อ แดงจักพรรดิ เกาสงหรือหิมะฤดูร้อน มังกรแดง เขียวสามรส ผิงกัวเหวิน ฯลฯ มีข้อสังเกตว่า บางครั้งบางพื้นที่ นำมะม่วงจากต่างประเทศมาปลูก เมื่อให้ผลผลิตแล้วจะตั้งชื่อสายพันธุ์ตามที่ตนเองต้องการ สายพันธุ์เดียวกันแต่ปลูกคนละพื้นที่ ทำให้เรียกชื่อพันธุ์แตกต่างกันไป