จากการปลูกทดสอบในแปลงพบว่า มีความทนทานต่อโรคไวรัส

จุดวงแหวนได้ดีกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ เป็นมะละกอที่สามารถบริโภคได้ทั้งผลดิบและผลสุก โดยเฉพาะผลดิบเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพื่อทำส้มตำ ส่วนผลสุกใช้บริโภคสด

โดยปกติแล้วมะละกอสามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย มีการระบายน้ำที่ดี เช่น ดินร่วนปนทราย ถ้าพื้นที่เป็นดินเหนียวหรือดินทรายจัด เราควรปรับปรุงดินก่อนโดยการใส่อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดี

การระบายน้ำของแปลงปลูกมะละกอจะต้องดี เพราะต้นมะละกอเป็นพืชที่ไม่ทนต่อสภาพน้ำขังแฉะ โดยเฉพาะถ้าต้นมะละกอยังเล็ก ถ้ามีน้ำขังมากๆ ต้นมะละกออาจจะชะงักการเจริญเติบโตและอาจถึงตายได้

ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน

ในอดีตชมพู่ทับทิมจันท์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย มีชื่อพันธุ์ว่า ซิต้าŽ มาปลูกในประเทศไทยจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกกันทั่วประเทศและยังเป็นพันธุ์ที่นิยมมากที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง เนื่องจากเป็นชมพู่ที่มีรสชาติอร่อยมาก เนื้อหวาน กรอบ และผิวมีสีแดงเข้ม

ในขณะที่ไต้หวันเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ชมพู่ และชมพู่จัดเป็นผลไม้ที่มีราคาแพงมากในไต้หวัน มีการบรรจุหีบห่อที่สวยงาม ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้ไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวันและได้ชมพู่สายพันธุ์ใหม่ของไต้หวันมาทดลองปลูกในบ้านเรา

ดูจากลักษณะสายพันธุ์แล้วเป็นชมพู่ที่มีขนาดของผลใหญ่มาก มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 500-800 กรัม รสชาติหวาน กรอบ สำหรับระยะปลูกชมพู่แนะนำให้ใช้ระยะระหว่างต้น 5 เมตร ระยะระหว่างแถว 6 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 50 ต้น

เคล็ดลับที่สำคัญที่จะทำให้ชมพู่มีคุณภาพดีและรสชาติอร่อย ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต 15 วัน จะต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มความหวาน เช่น สูตร 8-24-24 อัตราต้นละ 500 กรัม ต่อต้น (ต้นชมพู่ อายุ 2-3 ปี) แต่ถ้าต้นชมพู่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป ให้ใส่ต้นละ 1 กิโลกรัม ทางใบให้ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบที่มีโพแทสเซียมสูง

ฝรั่งพันธุ์ ฮ่องเต้

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2513 ทางไต้หวันได้มีการนำฝรั่งจากประเทศไทย ซึ่งมีขนาดผลใหญ่ เนื้อแน่น และกรอบ ไปปลูกได้ผลผลิตเป็นที่ชื่นชอบของคนไต้หวันในขณะนั้น เวลาผ่านไปไต้หวันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ฝรั่งเรื่อยมา โดยเน้นความกรอบอร่อยของเนื้อ มีเมล็ดน้อย และนิ่ม

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีเกษตรกรไทยนำพันธุ์ฝรั่งจากไต้หวันมาปลูกจนประสบผลสำเร็จในบ้านเรา และที่รู้จักกันดีคือ พันธุ์เจินจู ซึ่งมีเมล็ดนิ่มและรสชาติอร่อย เริ่มมีเกษตรกรไทยขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้นในขณะนี้

นอกจากฝรั่งพันธุ์เจินจู ที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ปัจจุบันได้มีฝรั่งไต้หวันอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ได้กิ่งพันธุ์จากไต้หวันมาปลูกที่จังหวัดพิจิตร

เป็นกิ่งประเภทเสียงยอด มีรากแก้วจำนวน 2 ต้น (การขยายพันธุ์ฝรั่งในบ้านเราเกือบทั้งหมดจะใช้วิธีการตอนกิ่ง) และมีชื่อพันธุ์ว่า ฮ่องเต้Ž เริ่มปลูกต้นฝรั่งทั้งสองตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 มาจนถึงขณะนี้

ฝรั่งพันธุ์ ฮ่องเต้ ได้พบความแตกต่างจากฝรั่งไต้หวันสายพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกในบ้านเรา ตรงที่รูปทรงผลจะเป็นทรงกระบอกสี่เหลี่ยม เมื่อผลเจริญเติบโตเต็มที่มีน้ำหนักผลไม่ต่ำกว่า 500 กรัม เนื้อมีรสชาติหวานกรอบ เมล็ดน้อยมากและนิ่ม ที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลง่าย ให้ผลผลิตดี

ที่ไต้หวันไม่ว่าจะเป็นสวนเล็กหรือสวนใหญ่จะมีความประณีตในการห่อผลฝรั่งมาก เริ่มแรกจากการปลิดผลทิ้งบ้างให้เหลือกิ่งละไม่กี่ผล เมื่อผลมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับส้มเขียวหวานจะใช้ตาข่ายโฟมห่อที่ผลก่อนเป็นลำดับแรกและห่อตามด้วยถุงพลาสติคบางใสและเหนียว สังเกตได้ว่าถุงพลาสติคที่เกษตรกรไต้หวันใช้จะบางมาก และสามารถมองทะลุเห็นผลภายในอย่างชัดเจน เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว

สวนคุณลี ตั้งอยู่เลียบคลองชลประทาน อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยมชมสวนคุณลี และเลือกซื้อผลผลิต พันธุ์ไม้ผล เมล็ดพันธุ์พืช ได้ทุกวัน สวนคุณลีเปิดเวลา 8.00-17.00 น. เปิดเข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามเส้นทาง 081-9013760 และ โทร 081 886 7398

“ ภูมิพลินทร์ ” จัดเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ซึ่งกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สำรวจพบเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2552 บริเวณแก่งหินปูนในเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน

กรมวิชาการเกษตร ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวข้องด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพรรณไม้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2554 ว่า “ภูมิพลินทร์” ซึ่งมีความหมายว่า พรรณไม้ที่เป็นศรีสง่าแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ภูมิพลินทร์ (Trisepalum bhumibolianum) species nova เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 20-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มจำนวนมาก ลำต้นส่วนล่างมีเนื้อไม้แข็ง เปลือกไม้แตกเป็นร่องตามแนวยาวสีน้ำตาลอมเทา ยอดที่เกิดใหม่ยาว 10-15 เซนติเมตร กิ่งมีขนาดเล็กเรียว

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 1.5–2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5–6 เซนติเมตร ปลายมน โคนรูปลิ่ม ขอบหยักตื้น ใต้ใบปกคลุมด้วยขนแบบใยแมงมุม สีขาว ก้านใบยาว 3–7 มิลลิเมตร

ช่อดอก เป็นช่อกระจุกสั้น เกิดที่ยอดหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ใบประดับและใบประดับย่อยรองรับดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบสีเขียว ฐานเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก 3 แฉกบนติดกัน 2 แฉกล่างแยกกันเป็นอิสระ กลีบดอกรูประฆัง สีชมพูหรือม่วงอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ที่โคน 3 แฉกล่างมีแต้มกลมสีเหลือง เกสรเพศผู้ 2 อันติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 อันลดรูปจนมีขนาดเล็ก รังไข่ปกคลุมด้วยขนสั้น หนาแน่นยอดเกสรเพศเมียเป็นแถบรูปลิ้น ผลแบบผลแห้งแตก เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก

“ ภูมิพลินทร์ ” จัดเป็นพืชหายาก และเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย เป็น 1 ในพืชสกุลชาฤาษีที่มีจำนวน 20 ชนิดในประเทศไทย เนื่องจาก ภูมิพลินทร์ เป็นพืชป่าที่พบใหม่ จึงยังไม่เคยมีรายงานการนำไปใช้ประโยชน์

“มะไฟ” ภาคใต้เรียก “ ส้มไฟ” ฝรั่งมังค่าเรียก “เบอร์มีส เกรฟ ” มะไฟพบได้ในป่า ตั้งแต่เนปาล อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ เขมร เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย ปัจจุบันประเทศที่นิยมปลูกมะไฟคือ อินเดีย มาเลเซีย และไทย ในอดีตประเทศไทยมีแหล่งผลิตและรวบรวมพันธุ์ดีอยู่ที่กรุงเทพฯ ชลบุรี และนนทบุรี

“ มะไฟ ” เป็นผลไม้พื้นบ้าน เมล็ดสีขาวขุ่น รสเปรี้ยวอมหวาน ลักษณะเด่นของมะไฟ เป็นไม้ที่มีความสูง 10-25 เมตร มีทั้งต้นตัวเมีย ตัวผู้ และต้นกะเทย โคนต้นแตกเป็นพู ใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปหอกถึงรูปไข่ กว้าง 4-9 เซนติเมตร และยาว 10-20 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1-8 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งและลำต้น ช่อดอกตัวผู้ยาว 3-8 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกตัวเมียยาว 15-30 เซนติเมตร ดอกเดี่ยวมีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ

การปลูกด้วยเมล็ดส่วนใหญ่จะเป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ปัจจุบันนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด จึงได้ต้นพันธุ์เป็นต้นกะเทยเกือบทั้งหมด ต้นกะเทย ดังกล่าวหมายถึงต้นที่มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ขนาดผลมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-3.0 เซนติเมตร มีรูปร่างกลม และกลมรี ผลอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ปกคลุมผิวเปลือก ต่อมาจะหลุดร่วงเมื่อผลแก่ ผิวมีสีเหลือง หรือสีชมพูอ่อน เนื้อผลสีขาวครีม เมล็ดในสีน้ำตาลอ่อน เนื้อผลมีทั้งรสเปรี้ยว และรสหวาน ในหนึ่งผล มี 2-3 เมล็ด หรือ 2-3 พู พันธุ์ที่ปลูกกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น พันธุ์เหรียญทอง ไข่เต่า กระถิน และมะไฟพันธุ์ทองสยาม

มะไฟ เป็นพืชต้องการดินร่วน หรือดินร่วนเหนียว ระบายน้ำได้ดี จะติดดอกออกผลดีต้องอยู่ในสภาพมีพืชร่วมช่วยบังแสง หรือไม่ชอบแสงแดดจัด มีปริมาณน้ำพอเพียง มีความชื้นในบรรยากาศค่อนข้างสูง ต้องการน้ำมากในระยะติดผล และระยะเริ่มติดดอก หากขาดน้ำจะทำให้การผสมเกสรล้มเหลว การปรับปรุงบำรุงดินนับว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน

แต่ทั้งนี้การให้ปุ๋ยต้องให้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยระยะก่อนออกดอก ควรใส่ปุ๋ยตัวกลางสูง เช่น สูตร 10-30-10 เพื่อกระตุ้นการพัฒนาของรากและการผลิดอก แต่เมื่อติดผลแล้วต้องใส่ปุ๋ยสูตรตัวท้ายสูง เช่น สูตร 13-13-21 หรือ 14-14-21 ปุ๋ยตัวท้ายคือ โพแทสเซียม ช่วยเร่งกระบวนการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลจากใบและต้นไปยังผล อีกทั้งทำให้สีสันสวยยิ่งขึ้น

สิ่งสำคัญระวังอย่าให้มีการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งและเพลี้ยอ่อน เนื่องจากแมลงทั้งสองชนิดจะดูดน้ำเลี้ยงที่ช่อดอกของมะไฟกินเป็นอาหาร ทำให้น้ำเลี้ยงหรืออาหารไปหล่อเลี้ยงดอกและผลไม่พอเพียง ดอกและผลจะร่วงหล่นในที่สุด วิธีป้องกันกำจัดที่ดีที่สุดคือ การกำจัดมดแดง และมดคันไฟ ที่นำแมลงทั้งสองชนิดไปดูดกินน้ำเลี้ยง และได้น้ำหวานที่แมลงขับถ่ายออกมากินเป็นอาหารตอบแทน กำจัดมดเพื่อไม่ให้นำแมลงไปยังช่อดอก ด้วยวิธีที่เหมาะสม หากคุณปฏิบัติได้ตามคำแนะนำข้างต้น คุณจะได้ช่อมะไฟที่สวยงามตามความประสงค์

เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ได้จัดกิจกรรมขึ้นหลากหลายกิจกรรม หนึ่งในนั้นคือกิจกรรมสร้างสวนรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่น ซึ่งรวบรวมเอาพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชหายาก พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและมีการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็นอาหาร เป็นยา หรือเป็นไม้ประดับไว้ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (ศูนย์ปฏิบัติการฯ) 50 ศูนย์ ของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

โดยแบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ คือ ข้าว-พืชไร่ ไม้ผล-ไม้ยืนต้น ไม้ดอก-ไม้ประดับ และพืชผัก-สมุนไพร โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนกันยายน 2561 นั้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจเรื่องพันธุ์ไม้ได้เข้ามาศึกษาและขอรับคำแนะนำ

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการรวบรวมพันธุ์พืชสำคัญในท้องถิ่น มาจัดเป็นสวนรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (ศูนย์ปฏิบัติการฯ) 50 ศูนย์ ของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เรียบร้อยแล้ว และเริ่มเปิดให้บริการ ต้อนรับเกษตรกรและผู้สนใจมาศึกษาหาความรู้เรื่องพันธุ์พืช โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรพร้อมให้คำแนะนำ

เช่น ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งจัดรวบรวมพันธุ์กล้วยไข่ที่ดีมีมาตรฐานไว้ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาชมและศึกษา ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร ที่รวมพันธุ์ไม้ดอกอย่างรวงผึ้งไว้ ตลอดจนศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัด (ศูนย์ปฏิบัติการฯ) อื่น ๆ ที่รวบรวมพันธุ์พืชหลากหลายแตกต่างกันไปในพื้นที่ของตน

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจในพืชชนิดใดสามารถค้นหาข้อมูลเฉพาะพืชนั้นได้ทาง https://50years.doae.go.th/ โดยสามารถแสกน QR Code ดูรายละเอียดข้อมูลเบื้องต้นของพืชนั้นในเว็บไซต์ดังกล่าว สำหรับผู้ที่ต้องการนำคณะมาศึกษาดูงานเรื่องพันธุ์พืช สามารถติดต่อโดยตรงไปยังศูนย์ปฏิบัติการฯ ที่สนใจในวันและเวลาราชการ

การรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่นในครั้งนี้จัดแสดงตัวอย่างพันธุ์ไว้ในลักษณะสวน พร้อมข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ประวัติพืช แหล่งพันธุ์ การปลูกและดูแลรักษา ให้เกษตรกรและประชนชนในพื้นที่ ได้ตระหนักในความสำคัญของพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น และยังถือเป็นแหล่งฐานพันธุกรรมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ใช้เป็นฐานในการต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อไป

นายบัณฑิต ไตรจันแดง อายุ 38 ปี เลขที่ 19 หมู่ 5 ต.นาแขม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า “ ได้ยินคนพูดกันที่ตลาดว่า ข้าวกำลังมีราคา ซึ่งรับซื้อในราคาตันละ 12,000-12,500 บาท ซึ่งแพงกว่าที่แล้วมา

เมื่อได้ยินมารีบเกี่ยวข้าวในนาของตัวเองทันที ซึ่งอาศัยจังหวะที่ช่วงแรกๆ ที่มีแนวโน้มราคาดีกว่า นาข้าวของตน 15 ไร่ กำลังเก็บเกี่ยวได้พอดี หากเวลาผ่านนานไปไม่แน่ใจว่าราคาข้าวจะปรับลดลงอย่างที่แล้วๆมา ถ้าข้าวนาปี-นาปรัง ออกสู่ตลาดเยอะ

และตัดสินใจเกี่ยวข้าวในวันนี้ ได้ถามร้านรับซื้อ รับซื้ออยู่ที่ 9,000 บาท จึงรีบเกี่ยวข้าวขายทันที แม้จะได้ราคา 9,000 บาท ก็ถือว่าคุ้มพออยู่ได้ สำหรับชาวนา แม้เกี่ยวไปขายมีความชื้นสูง ได้ราคาตันละ 9,000 บาท ก็ถือว่าคุ้มแล้ว จึงรีบเกี่ยวข้าวในนาขายก่อนเพื่อนเกรงว่าราคาข้าวจะลง เพราะมีข่าวพืชผลทางการเกษตรรับซื้อราคานี้ 2-3 ราคา จะไม่ทรงตัวเพราะเคยเห็นมาแล้วในแต่ละปี” นายบัณฑิต กล่าว

และกล่าวต่อไปว่า “ไม่แน่ใจราคาพืชผลทางการเกษตรในแต่ละปี แต่ละช่วงฤดูกาล ขึ้นลงทุกวัน สอดคล้องกับทางรัฐบาลประกาศให้สหกรณ์การเกษตร โดย นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้นำประกาศฉบับดังกล่าวประกาศให้เกษตรกรทราบโดยทั่วกัน

ซึ่งมีเกณฑ์รับซื้อข้าวเปลือก เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 61 ที่ผ่านมา (ข้าวหอมมะลิ) ความชื้น 25% เฉลี่ยตันละ 12,000 บาท – 12,500 บาท ความชื้น 15% เฉลี่ยตันละ 15,000 -18,000 บาท ปีนี้ข้าวหอมมะลิรับซื้อ 18,000/ตัน”

กรณีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูจนสามารถพลิกฟื้น “เขาหัวโล้น” นำร่องที่ บ้านดงผาปูน-บ้านนาบง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคาและป่าผาแดง จนเขียวขจีได้อีกครั้ง ถึง 1,200 ไร่ โดยใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น และเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่เขาหัวโล้นอื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปลูกป่าโดยตรงอย่าง กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องออกมาชี้แจง เพราะกำลังตกเป็นจำเลยของสังคมนั้น

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ ทส. กล่าวถึงกรณีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นในพื้นที่ จ.น่าน ที่ดำเนินการโดย วท. แทนที่จะเป็น ทส. ว่า การฟื้นฟูสภาพป่า จ.น่าน มีหน่วยราชการ องค์กรเอกชน และภาคประชาชน ให้ความสนใจร่วมบูรณาการการทำงานในหลายพื้นที่ และกรมป่าไม้ได้ให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จ.น่าน มีพื้นที่ 7.58 ล้านไร่ เป็นพื้นที่มีสภาพป่า 4.65 ล้านไร่ หรือร้อยละ 61.39 พื้นที่ไม่มีสภาพป่า 2.93 ล้านไร่ หรือร้อยละ 38.61 มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ 3.22 ล้านไร่ เป็นพื้นที่มีสภาพป่า 1.87 ล้านไร่ พื้นที่ไม่มีสภาพป่า 1.35 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประมาณ 2.83 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ไม่มีสภาพป่า ประมาณ 2.05 แสนไร่

โฆษกกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา พื้นที่เขาหัวโล้นของ จ.น่าน ส่วนใหญ่ได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าตามแผนงานของศูนย์จัดการต้นน้ำและโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ สำหรับกรมป่าไม้ได้ฟื้นฟูสภาพเขาหัวโล้นในท้องที่ จ.น่าน ถึงปัจจุบัน โดยได้ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าตั้งแต่ปี 2556 พื้นที่รวม 4.33 หมื่นไร่ ปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ตั้งแต่ปี 2560 โดยราษฎรปลูกไม้ยืนต้นควบคู่กับการทำกินตามโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื้อที่รวมกว่า 1.39 หมื่นไร่ สมาชิก 1,300 ราย ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาราษฎรทำประโยชน์ในพื้นที่เขาสูงชันตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 โดยกำหนดมาตรการให้ราชการร่วมวางแผนกับราษฎรและกรรมการหมู่บ้านเพื่อดำเนินการตามแนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่างฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าโดยประชาชนใช้ประโยชน์ระหว่างแถวของต้นไม้และเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไม้ที่ปลูกและพืชพื้นล่างด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งชุดปฏิบัติการ คทช. อำเภอ เพื่อลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับราษฎรในพื้นที่ จ.น่าน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเขาหัวโล้นเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตกของ ทส. ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการปลูกป่าโดยตรง จากข้อมูลของ ทส. ระบุพื้นที่เขาหัวโล้นที่ถูกบุก มีดังนี้ จ.เชียงใหม่ 1,103,499.54 ไร่ ผู้บุกรุก 195,433 คน จ.น่าน 1,180,859.49 ไร่ ผู้บุกรุก 69,802 คน จ.เชียงราย 765,100.08 ไร่ ผู้บุกรุก 104,043 คน จ.ตาก 706,990.20 ไร่ ผู้บุกรุก 104,052 คน จ.แม่ฮ่องสอน 602,288.43 ไร่ ผู้บุกรุก 14,814 คน จ.พิษณุโลก 176,518.61 ไร่ ผู้บุกรุก 30,000 คน จ.เพชรบูรณ์ 560,125.66 ไร่ ผู้บุกรุก 20,112 คน จ.พะเยา 149,320.38 ไร่ ผู้บุกรุก 14,858 คน จ.แพร่ 126,220 ไร่ ผู้บุกรุก 14,814 คน จ.ลำปาง 89,006.76 ไร่ ผู้บุกรุก 14,746 คน จ.ลำพูน 39,962.73 ไร่ ผู้บุกรุก 24,660 คน จ.อุตรดิตถ์ 118,185.86ไร่ ผู้บุกรุก 25,000 คน และ จ.เลย 1,076,089.70 ไร่ ผู้บุกรุก 56,000 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแก้ปัญหาเขาหัวโล้นที่ผ่านมา พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ ทส. เคยให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ไปปักหลักพักค้างบนเขาหัวโล้นเพื่อทำการปลูกป่า แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งที่มีการออกมาตรการให้คุณให้โทษกับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา การปลูกป่า ยังมีปัญหาร้องเรียนการทุจริต ถึงขนาดมีการตั้งคณะกรรมการสอบ แต่เรื่องก็เงียบหายไปในที่สุด ไม่มีการแถลงให้ประชาชนรับทราบ และยิ่งกว่านั้นกรมป่าไม้ ยังปล่อยให้ตำแหน่งอธิบดีตัวจริงว่างมานานกว่า 1 ปี จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการแต่งตั้ง

ขยะ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่นับวันจะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น เป็นขยะที่เหลือจากการคัดแยกนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้แล้ว โดยการกำจัดหากนำไปฝังลงดินหรือใช้วิธีการปล่อยให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ ขยะเหล่านั้นต้องใช้ระยะเวลานานหลายสิบปีกว่าจะย่อยสลายหมดไป จึงทำให้มีการรณรงค์ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ช่วยทำให้ขยะภายในประเทศไทยลดน้อยลง

ซึ่งการกำจัดขยะด้วยวิธีการเผา เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ง่าย และสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช้เวลานานเหมือนเช่นการฝังกลบ แต่การเผาหากไม่มีการปฏิบัติที่ถูกวิธี จะยิ่งทำให้เกิดมลพิษและเกิดผลเสียกับสิ่งแวดล้อมตามมา เพื่อให้สอดคล้องต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้มีการผลิตเตาเผาขยะในรูปแบบต่างๆ ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดขยะประเภทต่างๆ ให้หมดไปอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งไม่เกิดมลพิษและส่งผลกระทบต่อสังคมประชากรโลก แต่เป็นการรักษาสภาพแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

คุณเริงชัย พนมเริงศักดิ์ เจ้าของ บริษัท สยามวิศว์ จำกัด ตั้งอยู่ เลขที่ 2/5 หมู่ที่ 9 ซอยเจริญผล แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ที่ประดิษฐ์และคิดค้น “เตาเผาขยะไม่ก่อมลพิษ รุ่น K650” สามารถใช้งานได้ง่ายมีระบบการแยกขยะก่อนที่จะเผา นำส่วนที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้กลับไปใช้ใหม่ และส่วนที่ไม่นำกลับมาใช้ใหม่กำจัดได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น และเตาสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 24 ชั่วโมง เลยทีเดียว

คุณเริงชัย เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นเตาเผาขยะ รุ่น K650 เกิดจากการที่เขามีความสนใจเกี่ยวกับเครื่องจักร รวมถึงระบบและกลไกในการทำงานต่างๆ ประกอบกับมีความรู้และความสามารถในการประดิษฐ์อุปกรณ์และเครื่องจักร เมื่อมีโอกาสจึงได้ศึกษาและลงมือสร้างเตาเผาขยะในแบบที่ไม่ก่อมลพิษขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบันที่นับวันปริมาณของขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากมีการกำจัดที่ช้าจะเกิดปัญหาเรื่องความสกปรกและเชื้อโรคต่างๆ อีกด้วย