จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรชาวสวนยางพบว่า

การทำให้สวนยางไม่ได้มีแค่ยาง เป็นคำตอบที่ดีในการรับมือความเสี่ยงราคายางผันผวน กล่าวคือ ต้องปรับตัวโดยการปลูกพืชชนิดอื่นแซมในสวนยาง เพื่อสร้างรายได้เสริมและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ คำถามคือ ปลูกพืชอะไรแซม? ต้องบอกว่า พืชที่ปลูกในสวนยางได้มีหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะละกอ พืชสมุนไพร

แต่เกษตรกรต้องคำนึงถึง (1) ชนิดของพืชตามความเหมาะสมของดินแต่ละพื้นที่ และพืชที่เลือกปลูกสามารถอยู่ร่วมกับยางอายุเท่าไร เนื่องจากคุณลักษณะพืชแต่ละชนิดแตกต่างกัน บางชนิดปลูกร่วมกับยางได้เฉพาะยางที่อายุไม่เกิน 3 ปี บางชนิดปลูกร่วมกับยางได้ถึงอายุ 10 ปี (2) ความรู้เกี่ยวกับพืชที่จะปลูก ทั้งด้านการเพาะปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ขยายพันธุ์ เนื่องจากความรู้เหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนลองผิดลองถูก และช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ (3) ทดลองปลูกพืชในแปลงขนาดเล็กก่อน ให้มั่นใจว่าพืชนั้นๆ

สามารถเติบโตได้ และเป็นต้นแบบสำหรับการคำนวณผลตอบแทนและความคุ้มค่าในการเพาะปลูก (4) เมื่อทดลองในแปลงขนาดเล็กสำเร็จค่อยขยายผลไปสู่แปลงขนาดใหญ่ โดยปรับลดพื้นที่ปลูกยางบางส่วน การทำเช่นนี้ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพืชเชิงเดี่ยวดังเช่นกรณี พิเชษฐ์ ล่าบู เกษตรกรชาวสงขลา ประสบความสำเร็จจากการลดพื้นที่ปลูกยางบางส่วน มาปลูกกล้วยหอมทอง โดยหลังจากทดลองปลูกได้ระยะหนึ่ง พบว่า กล้วยหอมทอง ที่ปลูกเป็นพืชเสริมกลายมาเป็นพืชที่สร้างรายได้หลักให้กับครอบครัว จึงขยายผลโดยลดพื้นที่ปลูกยาง ปัจจุบัน คุณพิเชษฐ์ มีพื้นที่สวนกล้วยหอมทองมากกว่าสวนยาง

อีกกรณีตัวอย่าง คุณเสกสรร ชูเขียว เกษตรกรชาวสงขลา ประสบความสำเร็จากการปลูกมัลเบอรี่เพียง 2 ต้นในสวนยาง ก่อนขยายพื้นที่โดยลดพื้นที่ปลูกยางลง และต่อยอดทดลองปลูกพืชอื่นๆ จนขยายเป็นไร่นาสวนผสม ช่วยลดรายจ่ายให้ครอบครัว และ คุณเฉลิม ศรีสุข เกษตรกรชาวตรัง เริ่มทดลองปลูกเสาวรสในพื้นที่ 2 งาน จนขยายผลเป็นสวนเสาวรส พื้นที่ 2 ไร่ และใช้วิธีตัดต้นยางให้เหลือตอสูง แทนการลงทุนทำเสาปลูกเสาวรส ช่วยลดต้นทุนได้

หลังจากที่เกษตรกรทำให้ “สวนยางไม่ได้มีแค่ยาง” สำเร็จแล้ว คำถามต่อไปคือ ปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน? คำตอบง่ายที่สุดคงเป็นการขายให้พ่อค้าคนกลาง แต่อาจถูกกดราคารับซื้อต่ำกว่าราคาตลาด ดังนั้น หากเราต้องการขายสินค้าในราคาตลาด เราต้องทำให้ตลาดรู้จักเรา โดย (1) ปลูกพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ผลไม้หรือผักอินทรีย์ ทำให้หาช่องทางการขายได้ง่าย เช่นกรณี คุณนิวัฒน์ เนตรทองคำ เกษตรกรชาวสงขลา ประสบความสำเร็จจากการปลูกผักกูดอินทรีย์แซมในสวนยาง และต่อยอดทำไร่นาสวนผสมแบบอินทรีย์ มีลูกค้าเข้ามาติดต่อซื้อสินค้าโดยตรงถึงสวน

(2) ปลูกพืชให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน สิ่งนี้จะช่วยยกระดับผลผลิตให้เป็นที่รู้จัก ขายได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาด ทำตลาดง่ายขึ้น และมีช่องทางการตลาดหลากหลาย โดยขอยกตัวอย่างคุณพิเชษฐ์อีกครั้งหลังจากขยายพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง และปรับกระบวนการผลิตจนได้รับมาตรฐาน GAP แล้ว การเข้ามามีบทบาทสำคัญของภาครัฐในการช่วยหาตลาดทำให้คุณพิเชษฐ์ส่งขายกล้วยหอมทองในร้านสะดวกซื้อชั้นนำได้

(3) การรวมกลุ่มเกษตรกรทำสัญญาซื้อขายกับร้านค้าชั้นนำหรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เนื่องจากการรวมกลุ่มจะทำให้มีสินค้ามากพอต่อความต้องการของร้านค้า และเมื่อทำสัญญามีกำหนดเวลาแน่นอน ทำให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตได้ และลดปัญหาด้านการตลาดของเกษตรกรในที่สุด

จะเห็นได้ว่า หากเกษตรกรสามารถทำข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นได้ จะมีกลุ่มลูกค้าและช่องทางในการขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรท้ายที่สุดแล้ว การทำสวนยางที่ไม่ได้มีเพียงแค่ยาง เกษตรกรต้องเลือกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชนั้นๆ ทดลองปลูกก่อนขยายผล และหากทำให้พืชของตนเป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรย่อมสามารถรับมือกับความผันผวนของราคายางได้

ภก.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เขียนไว้ในคอลัมน์ คนงามเพราะแต่ง วารสารอภัยภูเบศร ปีที่ 16 ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับ “ใบหูเสือ” ว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตรงส่วนร้านอาหารในสปามีทำใบหูเสือเป็นอาหาร จำได้ว่าตอนนั้นกินทั้งแบบเมี่ยงเป็นผัก และเป็นเครื่องดื่ม (ปั่นผสมสับปะรด น้ำผึ้ง เล็กน้อย ทำให้ดื่มง่ายขึ้น) กินทีไรก็รู้สึกดี คือรู้สึกโล่ง หายใจสะดวก และอาการภูมิแพ้ก็ค่อยๆ ดีขึ้น จนหายปกติ ภายใน 1 สัปดาห์ ที่กินเกือบทุกวัน วันละมื้อเดียว คือมื้อกลางวัน ดิฉันสนใจสมุนไพรต้นนี้ จึงอยากหาข้อมูลเผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ เพราะต้นหูเสือ ปลูกง่าย หน้าตาน่ารัก ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นกลิ่นน้ำมันหอมระเหย เนื่องจากพืชชนิดนี้อยู่ในวงศ์เดียวกันกับกะเพราและออริกาโน

ทางแผนไทยจัดว่า ใบหูเสือ มีรสเผ็ดร้อน นิยมใช้ใบเป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร เพิ่มน้ำนม น้ำมันหอมระเหยในใบ หากนำมาขยี้ดมจะช่วยแก้อาการหวัดคัดจมูกได้ หากนำมาทาภายนอกที่ท้องหรือกินจะช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อย ขับลม การเคี้ยวใบช่วยดับกลิ่นปาก ป้องกันฟันผุ ต้มน้ำดื่มแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ใบหูเสือ ยังออกฤทธิ์โดดเด่นที่ระบบทางเดินหายใจ ใช้เป็นยาแก้หวัด บรรเทาอาการไอ ไอเรื้อรัง แก้เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอลซิลอักเสบ แก้หอบหืด ทำให้หายใจโล่ง ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยใบสดประมาณ 4-5 ใบ นำมาฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร กินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ อาจจะใส่น้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อย หรือจะนำไปทำเป็นเมนูอาหาร เช่น ต้มเป็นแกงจืด โดยสับใบหูเสือกับหมูสับเมี่ยงหูเสือ รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ลาบ แกล้มอาหาร

งานวิจัยปัจจุบันพบว่า ใบหูเสือ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ลดการอักเสบ ต้านมะเร็งปอดในหลอดทดลองด้านเนื้องอก ด้านการแพ้ ว่าแล้วก็หาไปปลูกกันสักต้นดีไหม ไว้เป็นยาและอาหารในครัวเรือน

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ที่จ.นครราชสีมา จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะที่อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบต่อนาข้าว ทำให้ต้นข้าวในหลายพื้นที่ยืนต้นตาย เนื่องจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ห้วย หนอง คลอง บึง ต่างๆ เหลือปริมาณน้ำเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ ไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ทำให้น้ำที่เหลือมีความเค็มจากเกลือธรรมชาติที่ผสมในชั้นดิน ไม่สามารถสูบมาใช้ทำการเกษตรได้ แต่พบชาวนาหลายคน พยายามต่อสู้กับปัญหาภัยแล้งอย่างไม่ย่อท้อ

นายน้อม ทัปกลาง ชาวนาบ้านสระแทด ต.ตลาดแค อ.โนนสูง กล่าวว่า หลังปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมต่อท่อน้ำกับระบบสปริงเกลอร์ ปล่อยน้ำให้เป็นละอองฝอยสร้างความชุ่มชื่นให้ต้นข้าว ทดแทนการสูบน้ำใส่ต้นข้าวโดยตรง ซึ่งวิธีนี้นอกจากสร้างความชุ่มชื่นให้ต้นข้าวแล้ว ยังลดความเค็มของน้ำที่จะทำให้ต้นข้าวตาย โดยทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แล้วแต่สภาพอากาศ แม้จะเพิ่มต้นทุน ค่าอุปกรณ์สปริงเกลอร์ ท่อน้ำ และปั๊มน้ำ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถนำกลับมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง

“อยากให้เพื่อนเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ลองปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาใช้ระบบสปริงเกลอร์น้ำกันให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาภัยแล้งแล้ว ยังช่วยประหยัดน้ำทำการเกษตรในปีต่อๆ ไปด้วย” บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมโชว์ความเป็น “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” ในงานมหกรรมภาคอุตสาหกรรมแห่งปี Thailand Industry Expo 2019 ตอกย้ำความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารชั้นแนวหน้าระดับโลก

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผนึกกำลัง ภาครัฐ ภาคเอกชน ในงาน Thailand Industry Expo 2019 งานมหกรรมภาคอุตสาหกรรมแห่งปี จัดโดย กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งในปีนี้ชูแนวคิด Synergy for Success สานพลัง ร่วมใจ วิวัฒน์อุตสาหกรรมสู่อนาคต ร่วมแสดงนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของซีพีเอฟ ภายใต้แนวคิด “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” โดยนำนวัตกรรมอาหารที่โดดเด่นจากฝีมือของคนไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่สด “เบญจา ชิคเก้น” (Benja Chicken) ภายใต้แบรนด์ยูฟาร์ม (U Farm)

ซึ่งเป็นอาหารสดเพียงรายเดียวที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 50 สุดยอดนวัตกรรม THAIFEX Taste Innovation Finalist 2019 พร้อมด้วย หมูดำ ซีพี คูโรบูตะ และผลิตภัณฑ์อาหารอีกมากมายมาร่วมจัดแสดง นอกจากนี้ ภายในบู๊ธยังจัดแสดงกระบวนการผลิตอาหารที่ใส่ใจในคุณภาพทุกขั้นตอนด้วยมาตรฐานสากล ตอกย้ำความเป็นผู้นำเทรนด์อุตสาหกรรมอาหาร ตอบโจทย์การมีสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคทุกช่วงวัย ร่วมสร้างความยั่งยืนให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย ดร. พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมเยี่ยมชมบู๊ธซีพีเอฟ

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมงาน “Thailand Industry Expo 2019” พร้อมสัมผัส นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากซีพีเอฟได้ ระหว่างวันที่ 17-21 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.00-20.00 น. ณ บู๊ธที่ AA10 ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

เมื่อไม่นานมานี้ พบเห็นข่าวพืชยักษ์ เป็นพืชจำพวกพืชผัก ที่บ้านเรานิยมรับประทาน ทั้งนำมาทำขนมหวาน อาหารคาว และเป็นยาป้องกันรักษาอาการเจ็บป่วย ผิดปกติ ได้มากมายหลายอย่าง ที่สำคัญเป็นของที่คนไทยทั่วทุกภูมิภาครู้จัก และรักที่จะนำมาเป็นประโยชน์ มีขนาดที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ลูกเล็กๆ จนถึงผลยักษ์ ประมาณว่า ใช้คนตัวโต 2 คนอุ้ม หรือใส่คานหามกันเลยก็มี ผิวเรียบเกลี้ยงเกลาก็มี ผิวผลหยาบขรุขระ เป็นตะปุ่มปมน่าเกลียด ชนิดที่เคยเรียกขานเปรียบเปรยว่า นอกขรุขระในตะติงโหน่งก็มี เราๆ ท่านๆ คงรู้จัก “ฟักทอง” กันเป็นส่วนมากแล้ว

“ฟักทอง” เป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในประเภทพืชผัก นิยมนำมาประกอบอาหาร

ฟักทอง ชื่อสามัญว่า PUMPKIN

พืชในวงศ์เดียวกับมะระ แตง CUCURBITACEAE มีปลูกกันอยู่ 2 ตระกูล คือ ฟักทองตระกูลสคว็อซ (Squash) คือ ฟักทองไทย และฟักทองญี่ปุ่น ปลูกกันมาก เพื่อส่งตลาดผักในและต่างประเทศ ขนาดผลพอเหมาะ เนื้อแน่น เหมาะนำมาทำอาหารที่ต้องการเป็นชิ้น เป็นคำของผัก สะดวกในการขนส่งและการตลาด อีกตระกูลคือ ฟักทองอเมริกัน (Pumpkin) เป็นฟักทองที่มีผลขนาดใหญ่ เนื้อยุ่ย เหมาะสำหรับนำมาทำขนม และปั่นเป็นอาหารเหลว แต่ฟักทองทั้ง 2 ตระกูล ดูเหมือนว่าจะมีการผสมปนพันธุ์กัน เป็นพันธุ์ที่แพร่หลายกันในชนบทขณะนี้

สายพันธุ์ที่มีการปลูกแพร่หลาย เป็นพันธุ์ลูกผสม มีการแสดงความเป็นเจ้าของ ตั้งชื่อเป็นกลุ่มพันธุ์ สายพันธุ์ฟักทอง ตามลักษณะผลฟักทอง เช่น สายพันธุ์คางคก ที่มีผิวขรุขระ ได้แก่ คางคกดำ คางคกลาย หรือตั้งชื่อให้เป็นมงคล เช่น พันธุ์ศรีเมือง พันธุ์ข้องปลา เป็นต้น ฟักทองส่วนใหญ่จะมีสีผิวเปลือกเมื่ออ่อนสีเขียว แก่จะสีเหลืองสลับเขียว ผิวขรุขระเล็กน้อย หรือมากก็มี เปลือกนอกแข็ง เนื้อในสีเหลือง มีเมล็ดมากพอสมควร ลักษณะเป็นเมล็ดแบนๆ สีขาว ติดเป็นตลับ หรือเป็นก้อนอยู่ช่องโพรงกลางในผล เรียกว่าไส้ฟักทอง เมล็ดนำมาคั่ว หรืออบเกลือ เป็นของขบเคี้ยว คล้ายเมล็ดแตงโม หรือเมล็ดทานตะวัน และเก็บคัดแยกเมล็ดที่สมบูรณ์ไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อไป

การปลูกฟักทอง ขุดหลุม หยอดเมล็ดตามที่ว่างทั่วไป หรือปลูกแซมในแปลงพืชไร่อื่นๆ ได้ เท่าที่สังเกตเห็น ฟักทองที่ขึ้นได้ดีในบริเวณที่เป็นเนินดิน มีความชื้นพอประมาณ หรือจะปลูกเป็นแปลงใหญ่ ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น หรือหลุม 1.5 เมตร หรือห่าง 2.5 ถึง 5 เมตร ระหว่างแถว 1.8 ถึง 2 เมตร ขุดหลุมกว้าง หรือวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 25-30 เซนติเมตร ปรับพรวนดินใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หยอดเมล็ดฟักทองหลุมละ 3-5 เมล็ด กลบดินให้เมล็ดจม ลึก 2-4 เซนติเมตร กลบด้วยขี้เถ้าแกลบดำ หรือเศษหญ้าแห้ง

เพื่อให้มีความชื้นพอที่จะทำให้เกิดการงอกงามเจริญเติบโต และที่ให้ทำหลุมปลูกห่างกัน ก็เพื่อให้ต้นฟักทองซึ่งเป็นพืชประเภทเถาเลื้อย จะยืดปล้องให้เถายาวๆ ซึ่งจะหมายถึง มีมากข้อปล้อง ก็จะให้ผลมาก แต่ว่าบนเถาหรือต้นหนึ่งควรไว้ผลเพื่อจะเอาผลโตและแก่เต็มที่ ไม่เกิน 4 ผล นอกนั้นสามารถตัด ผลอ่อน ดอกที่มีรังไข่คล้ายผลติดอยู่ นำไปใช้เป็นผัก ต้มผัดแกงทอดอร่อยมาก เช่นเดียวกับยอดปลายเถาฟักทอง มักจะตัดเอาไปเป็นผักทำอาหารได้หลายอย่าง หั่นฝอยผัดไข่ ใส่แกงเลียง แกงหน่อไม้ แกงเห็ด ต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริก ผลอ่อนฟักทองเป็นผักการค้า ตลาดผักสดต้องการมาก แต่แหล่งปลูกฟักทองเพื่อการค้า มักจะปลูกเลี้ยงจนฟักทองโต ดอกผลอ่อนที่เป็นส่วนเกินจะเด็ดทิ้ง อาจจะเป็นเพราะว่ากรรมวิธีการปลูก การดูแลรักษา ความปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ระหว่างการปลูกไว้กิน กับปลูกเพื่อการค้า มีกรรมวิธีต่างกัน ความเสี่ยงจากพิษภัยของสารเคมี ทำให้ต้องทิ้งในส่วนที่เป็นของชาวบ้านกินกันบ้าง คิดและทำถูกต้องแล้ว

อายุ 70-80 วัน หรือประมาณ 3 เดือน ต้นฟักทองหรือเถาฟักทองที่เลื้อยยาว จะแตกแขนง ขั้วที่ 5-6 จะออกดอกให้ผล ดอกตัวเมียจะมีรังไข่ติดอยู่ส่วนโคนเห็นได้ชัด ลักษณะเหมือนผลอ่อน และนั่นก็คือ ผลฟักทอง เมื่อได้รับการผสมเกสรแล้ว จะโตขึ้นเป็นผลอ่อน ผลแก่ ตามลำดับ ดอกฟักทองจะบานช่วงเช้ามืด ประมาณ 03.30 น. ถึง 06.00 น. ถ้าจะช่วยผสมเกสรช่วงเวลาที่เหมาะ ตอนที่ดอกฟักทองบานเต็มที่ 06.00-09.00 น.ช่วงเวลาออกล่าหาเกสรและน้ำหวานของแมลง แต่จะอาศัยแมลงพวกแมลงภู่ผึ้งคงไม่เพียงพอ ต้องช่วยผสมเกสรให้ด้วย ฟักทองจะได้ให้ลูกให้ผลเป็นรุ่นๆ เก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน แต่ถ้าจะทยอยเก็บ ปล่อยตามธรรมชาติก็พอที่จะทำได้ สภาพภูมิศาสตร์และบรรยากาศแบบบ้านเรานั้นเหมาะกับการเจริญพันธุ์ได้มากอยู่แล้ว

ฟักทอง มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก ให้พลังงานมากถึง 26 กิโลแคลอรี โดยเฉพาะวิตามินต่างๆ ได้แก่ วิตามินเอ มีมากถึง 476 ไมโครกรัม หรือ 0.476 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.11 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม 0.6 มิลลิกรัม วิตามินบีห้า 0.298 มิลลิกรัม วิตามินบีหก 0.061 มิลลิกรัม วิตามินบีเก้า 16 มิลลิกรัม วิตามินซี 9 มิลลิกรัม วิตามินอี 0.44 มิลลิกรัม แคลเซียม 21 มิลลิกรัม เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม แมงกานีส 0.125 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 44 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 340 มิลลิกรัม โซเดียม 1.0 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 6.5 กรัม น้ำตาล 2.76 กรัม เส้นใยหรือไฟเบอร์ 0.5 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม โปรตีน 1.0 กรัม และยังประกอบด้วยเบตาแคโรทีน ลูทีน ซีแซนทีน สารทั้ง 3 ชนิดหลังมีพบมากในฟักทอง เป็นสารที่สำคัญในการรักษา บำรุง ปรับปรุง ฟื้นฟูร่างกาย ได้อย่างยอดเยี่ยม

มีคุณสมบัติเป็นยา ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ฟื้นบำรุงผิว บำรุงสายตา เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงประสาท อารมณ์ดี ลดน้ำตาลในเลือด ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โรคผิวหนัง กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน บำรุงกล้ามเนื้อ รากต้มกินแก้ไอ ช่วยระบบย่อยอาหาร การขับถ่าย ป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ นิ่ว ลูกหมากโต ปรับฮอร์โมนเพศชายในลูกอัณฑะ บำรุงตับ และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฟักทองมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ก็พึงระวังและระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งใดมีคุณอนันต์ ก็มีโทษอย่างมหันต์ได้เช่นกัน ฟักทอง ถ้ากินมากๆ เป็นพืชมีฤทธิ์ร้อน ก่อให้เกิดโรคกระเพาะร้อน กรดไหลย้อน กระหายน้ำ ท้องผูก แผลช่องปาก เหงือกบวม ควรกินแต่พอดี เกิดประโยชน์มากมาย ฟักทองแก่ ต้ม บด จัดเป็นอาหารเหลวให้ผู้ป่วยทางสายยาง ทดแทนอาหารหนักได้ เพราะในตัวฟักทองมีคุณค่าทางอาหารมากมาย และสูงค่ามาก ควรค่าแก่การนำมาบอกกล่าวให้รับรู้โดยทั่วกัน

ผมชอบเดินชมตลาดสดอยู่เสมอ โดยเฉพาะในโซนของผักสด ผมเกิดสงสัย เพราะมีพืชหัวหลากหลายชนิด รูปแบบแตกต่างกันไป ในทางวิชาการเขาได้จำแนกไว้อย่างไร จะได้จำไว้ว่าเป็นส่วนราก หรือลำต้น เพราะว่าส่วนดังกล่าวสามารถนำไปขยายพันธุ์ได้อีกด้วย ผมขอคำอธิบายด้วยครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง ตามที่คุณสุรวิทย์ ถามมานั้น เป็นลักษณะประจำของพืชในแต่ละวงศ์ ในส่วนที่ดูเป็นหัวของพืชชนิดนั้นๆ จะทำหน้าที่เหมือนกันคือ เป็นที่สะสมอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วยังเป็นส่วนขยายพันธุ์พืชได้ด้วย ซึ่งล้วนเป็น ลำต้นใต้ดิน (Under grown stem) ผมขอเริ่มจาก เง้า (Rhizome หรือ Rootstock) เป็นลำต้นใต้ดินที่เจริญเติบโตไปตามแนวขนานกับผิวดิน มีลักษณะแตกออกเป็นแขนง หรือยืดตัวออกไปรอบข้าง รูปร่างกลม ยาว มีข้อปล้องสั้นๆ ลำต้นและใบแทงขึ้นมาเหนือผิวดิน

และมีส่วนของรากแทงหยั่งลงไปในดิน ตัวอย่าง ขมิ้น ขิง ข่า และพุทธรักษา ทิวเบอร์ (Tuber) เป็นประเภทลำต้นใต้ดินสั้นๆ มีข้อและปล้อง 3-4 ปล้อง ไม่มีใบ ทำหน้าที่สะสมอาหาร รูปร่างอวบและกลม มีตาอยู่รอบบริเวณปล้องตาที่บุ๋มลงไปเล็กน้อย ตาเหล่านี้สามารถงอกเป็นต้นขึ้นได้ เช่น หัวมันฝรั่ง และมันหัวเสือ บัลบ์ (Bulb) เป็นลำต้นใต้ดินที่ตั้งตรง มีข้อปล้องสั้นมาก ตามปล้องมีใบเกล็ด ทำหน้าที่สะสมอาหาร ซ้อนห่อหุ้มลำต้นเอาไว้เป็นชั้นๆ จำนวนหลายชั้น ทำให้เห็นเป็นลักษณะกลม ใบชั้นนอกสุดลีบ แบน ไม่สะสมอาหาร ส่วนล่างสุดของลำต้นมีรากเป็นกระจุก ตัวอย่าง หอม กระเทียม พลับพลึง และว่านสี่ทิศ

คอร์ม (Corm) เป็นลำต้นใต้ดินที่มีลำต้นตั้งตรง ลักษณะกลมยาว หรือกลมแบน ตามข้อมีเกล็ดบางๆ หุ้ม ลำต้นสะสมอาหารทำให้ดูอวบมีตามข้อ สามารถงอกเป็นใบโผล่ขึ้นเหนือดิน หรืออาจแตกเป็นลำต้นใต้ดินขึ้นใหม่ได้ ด้านล่างของลำต้นมีรากฝอยเส้นเล็กๆ จำนวนมาก ตัวอย่าง เผือก แห้ว บัวสวรรค์ และซ่อนกลิ่น ไหล (stolon หรือ runner) ชนิดลำต้นเป็นสายกลมยาว เลื้อยไปตามผิวดินหรือผิวน้ำ มีข้อปล้องห่างกัน 20-25 เซนติเมตร ตามข้อเกิดรากแล้วแทงลงดินเพื่อช่วยพยุงลำต้นและที่ข้อจะมีตาเจริญเกิดขึ้นไปเป็นแขนง ยืดยาวออกขนานไปกับพื้นดินหรือผิวน้ำ แล้วงอกรากทำให้เกิดเป็นต้นใหม่ ตัวอย่าง สตรอเบอรี่ บัวบก ผักบุ้ง และหญ้านวลน้อย