จากการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ

และสังคมแห่งชาติ (สดช.) เห็นว่ายุทธศาสตร์พระพิรุณมีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัลจึงอยู่ระหว่างดำเนินการขอสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อนำเงินมาพัฒนาระบบยุทธศาสตร์การยกระดับภาคเกษตรไทยภายใต้นโยบายตลาดนำการผลิตให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป

ที่ผ่านมาในอดีต การปลูกมะนาวของเกษตรกรไทยนิยมปลูกโดยใช้กิ่งตอนหรือกิ่งปักชำ โดยคิดว่าต้นมะนาวเจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว โดยไม่ได้นึกถึงปัญหาในเรื่องของระบบรากที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากกิ่งตอนมีแต่รากฝอย เมื่อต้นมะนาวเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่มักจะพบปัญหาว่าต้นมะนาวทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีภาระเลี้ยงผลมาก ที่สำคัญในปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหามหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายอย่างยับเยิน เกษตรกรที่ปลูกมะนาวโดยใช้กิ่งตอนน้ำท่วมขังเพียงไม่กี่วัน พบว่าต้นมะนาวยืนต้นตายเกือบทั้งหมด ในขณะที่เกษตรกรที่ปลูกต้นมะนาวโดยใช้กิ่งเสียบยอดบนต้นตอส้มต่างประเทศรอดตายหลายรายเนื่องจากมีระบบรากที่แข็งแรง

การปลูกมะนาวในปัจจุบันเกษตรกรจะปลูกมะนาวซ่อมกันทุกปี สาเหตุจากต้นมะนาวอายุไม่ยืน (ตายเร็ว) คือ อายุได้ 2 – 3 ปี ก็ตายแล้ว ปัญหาเหล่านี้เกิดจาก

กิ่งพันธุ์มะนาวที่นำมาปลูก “อมโรค” เป็นโรคทริสเตซ่าที่มีอาการ ใบเหลือง ต้นโทรม สาเหตุจากเกษตรกรตอนกิ่งภายในสวนตัวเองหรือแหล่งเดิมๆ ที่มีการปลูกมะนาวมานาน พบว่าต้นแม่พันธุ์มะนาวดังกล่าวมักจะอมโรคทริสเตซ่า ทำให้เกษตรกรจะต้องเสียเวลาและเสียโอกาส
ปัญหาต้นโทรม จากการที่มะนาวติดผลดกมากแต่ขาดการบำรุงที่ดีพอ หลังการเก็บเกี่ยว และใช้สารแพคโคลบิวทราโซลราดต้นมะนาวเพื่อบังคับให้ออกนอกฤดู เป็นสาเหตุให้ต้นโทรมทำให้ระบบรากอ่อนแอ จากนั้นก็จะมีโรครากเน่าและโคนเน่าซ้ำเติมทำให้ต้นมะนาวตายในที่สุด

ในแวดวงของนักวิชาการเกษตร และเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวในเชิงพาณิชย์ต่างก็ยอมรับกันว่า “มะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษ” ซึ่งมีลักษณะผลและคุณภาพเหมือนกับพันธุ์แป้นรำไพทุกประการ แต่ผลผลิตดกกว่า 4-5 เท่า ในอายุต้นที่เท่ากันและมีการติดผลเป็นพวง เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการผลผลิตมากที่สุด เนื่องจากพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลง่าย ขนาดของผลค่อนข้างโต เปลือกผลบางและมีปริมาณน้ำในผลมาก มีอายุตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ที่สำคัญมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษสามารถบังคับให้ออกฤดูแล้งได้ง่ายมาก ในช่วงปลายปี 2555 เป็นต้นมา จนมาถึงเดือนมีนาคม 2556 ราคามะนาวแป้นดกพิเศษขายจากสวนได้ราคาแพงมากเฉลี่ยผลละ 3-5 บาท เมื่อขายถึงผู้บริโภคราคาเฉลี่ยผลละ 7-10 บาท นับเป็นปีทองของชาวสวนมะนาวอีกครั้งหนึ่ง

การทำสวนมะนาวที่ปลูกด้วยกิ่งตอนนั้นอายุไม่ยืนยาว เฉลี่ยอายุประมาณ 3-5 ปีก็ตาย เกษตรกรจำเป็นต้องปลูกใหม่ ถ้าคิดการลงทุนปลูกใหม่ก็มีค่าใช้จ่ายมิใช่น้อย ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่คิดจะลงทุนปลูกมะนาวแป้นอย่างยั่งยืน โดยที่ต้นมะนาวควรจะมีอายุยืนอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ควรจะใช้ต้นตอส้มต่างประเทศ เช่น ทรอยเยอร์, สวิงเกิล, โวลคา-เมอเรียน่าฯลฯ โดยเฉพาะต้นมะนาวที่เสียบยอดบนต้นตอส้มโวลคา-เมอเรียน่า เจริญเติบโตเร็วมาก ปลูกไปเพียงปีเศษก็ให้ผลผลิตแล้ว และสภาพต้นแข็งแรงมาก ติดผลดกและให้ผลใหญ่มาก มีข้อมูลยืนยันทางวิชาการว่าทนทานโรครากเน่าและโคนเน่าได้ดี เนื่องจากมีระบบรากที่แข็งแรงและมีรากแก้ว

จากประสบการณ์การปลูกมะนาวบนต้นตอต่างประเทศที่แผนกฟาร์มของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร พบว่า ต้นมะนาวมีลำต้นที่แข็งแรง ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี แม้แต่สภาพพื้นที่ที่เป็นดินลูกรังก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี ข้อดีอีกประการคือ การปลูกมะนาวบนต้นตอต่างประเทศยังช่วยลดการใช้ไม้ค้ำช่วงติดผลดก โดยหากเราปลูกมะนาวด้วยกิ่งตอนจำเป็นต้องใช้ไม้ไผ่ค้ำกิ่งรอบทรงพุ่ม ถ้าคิดคำนวณให้พื้นที่ 1 ไร่ เราต้องใช้ไม้ไผ่นับพันลำ ถ้าคิดเป็นตัวเงินก็ประมาณ 5,000 – 6,000 บาท แต่จากการที่ปลูกมะนาวที่เปลี่ยนยอดบนต้นตอต่างประเทศ ปริมาณการใช้ไม้ไผ่ช่วยในการค้ำน้อยลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง เนื่องจากความแข็งแรงของกิ่งก้าน ทรงต้น สามารถแบกรับน้ำหนักผลมะนาวในต้นได้ มิต้องใช้ไม้ช่วยค้ำยันเป็นจำนวนมาก และสามารถบังคับให้ออกนอกฤดูได้ง่าย ต้นที่เปลี่ยนยอดจะขยันออกดอกอย่างชัดเจน

โดยทดลองนำมะนาวที่เสียบยอดบนต้นตอไปปลูกแทรกในแถวที่มะนาวปลูกด้วยกิ่งตอน ก็สังเกตเห็นชัดว่าสามารถออกดอกง่ายกว่า ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการลำเลียงน้ำและอาหารอาจจะไม่สะดวกโดยเฉพาะรอยต่อทำให้มีผลต่อการออกดอกง่ายขึ้น และบริเวณโคนที่เป็นต้นโตต่างประเทศที่เหนือพื้นดินขึ้นมาจะทนต่อยาฆ่าหญ้า หากฉีดโดนบ้างก็ไม่เป็นไร เทคนิคในการเสียบยอดให้ใช้ต้นตอส้มทรอยเยอร์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร ตัดยอดต้นตอส้มให้สูงจากพื้นดินประมาณ 15 เซนติเมตร

จากนั้นนำกิ่งมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษเสียบยอดด้วยวิธีการผ่าลิ่มให้แผลมีความยาวประมาณ 1 นิ้ว ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ยอดที่เสียบจะแตกยอดใหม่ออกมา นอกจากข้อดีของการปลูกมะนาวแป้นดกพิเศษที่เสียบยอดบนต้นตอส้มต่างประเทศที่ได้กล่าวมาแล้ว จากการปลูกจริงพบว่า ต้นมะนาวแป้นดกพิเศษที่เสียบยอดบนต้นตอส้มพันธุ์สวิงเกิล จะให้ผลผลิตมะนาวที่มีขนาดผลใหญ่มากและสภาพต้นเตี้ยสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต

การจัดการสวนที่ถูกต้องเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของการผลิตมะนาวนอกฤดู รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สรุปว่า สิ่งที่ชาวสวนมะนาวและนักวิชาการเกษตรไม่ควรมองข้ามในการบังคับให้มะนาวออกนอกฤดูนั้น เรื่องของการจัดการสวนเป็นหัวใจที่มีความสำคัญ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ โครงสร้างของดิน ดินที่มีลักษณะเป็นทราย มีการระบายน้ำที่ดีจะมีผลทำให้การชักนำการออกดอกได้ดีกว่าดินที่อุ้มน้ำสูงและดินเหนียว

ขนาดของพุ่มต้น ควรเตรียมแปลงปลูกในลักษณะของแนวแถวยกสูงเป็นแบบลูกฟูกอันที่จะช่วยให้เกิดการระบายน้ำได้ดีขึ้น และการชักนำการออกดอกจะง่ายกว่า ขนาดของพุ่มต้นมะนาวที่มีขนาดพุ่มต้นที่เล็กกว่าสามารถชักนำการออกดอกเพื่อการผลิตนอกฤดูได้ดีกว่า ต้นตอบสนองต่อสภาพการงดน้ำได้เร็วมากขึ้น(ใช้เวลาสั้นกว่า) และการปฏิบัติเพื่อชักนำการออกดอก ควรจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติและนิสัยการออกดอก กิ่งมะนาวจะไม่มีการออกดอกหากว่ากิ่งนั้นยังคงมีผลติดอยู่

เมื่อเป็นดังนี้จึงจำเป็นที่จะต้องทำลายดอกหรือผลในช่วงที่ไม่ปรารถนาออกทิ้งไปก่อน กิ่งจึงจะสามารถออกดอกได้ การเปลี่ยนแปลงจากตาใบไปเป็นตาดอกยังสามารถควบคุมได้ด้วยปุ๋ยทางใบที่มีธาตุโปแตสเซียม(K) สูงในระยะที่ตาผลิก่อนมีความยาวยอดมากกว่า 7.5 เซนติเมตร การพ่นปุ๋ยทางใบที่มี ธาตุ N:P:K ในสัดส่วน 1:1:3 ; 1:1:4 ; 1:1:5 หรือ 1:2:5 ในระยะยอดอ่อนผลิจะมีบทบาทช่วยให้การสร้างตาดอกดีมากยิ่งขึ้น

เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูแบบต่างๆ ปัจจุบันมีเทคนิคในการผลิตมะนาวนอกฤดูหลายวิธีทั้งภาคเกษตรกรและนักวิชาการเกษตรจึงจำเป็นที่จะต้องใช้หลายๆ วิธีเข้ามาใช้ร่วมกัน ดังนี้ การปลิดดอกและผลอ่อนของมะนาว มะนาวมีการออกดอกในฤดูกาลใหญ่ 2 ระยะ รวมทั้งกิ่งที่มีผลผลิตติดอยู่ก็ไม่สามารถออกดอกได้ดีตามต้องการจึงจำเป็นต้องกำจัดดอกและผลอ่อนที่ไม่ต้องการในฤดูกาลนั้นทิ้งไปเสียก่อน การตัดแต่งกิ่งนอกจากจะเป็นการกำจัดดอกและผลอ่อนออกไปได้บางส่วนแล้ว ยังเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้มีการผลิยอดอ่อนใหม่ที่ค่อนข้างสม่ำเสมออีกด้วย ซึ่งไม่ควรตัดลึกมากควรจำกัดอยู่ที่ปลายกิ่งระดับ 5-10 ซม. สามารถกำจัดดอกและผลอ่อนที่เหลือโดยการฉีดพ่นสารเอทธิฟอนที่ความเข้มข้น 300 ppm พ่นในระยะดอกบาน, กลีบดอกโรย รวมถึงระยะผลอ่อน, การยับยั้งการออกดอกของต้นมะนาวในฤดู สารควบคุมการเจริญเติบโตที่มีชื่อว่า จิบเบอเรลลิกแอซิด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “จิบเบอเรลลิน”

จิบเบอเรลลิน มีคุณสมบัติช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางกิ่งใบในไม้ยืนต้น ใช้พ่นเพื่อยับยั้งการออกดอก, การกำจัดใบ ต้นมะนาวที่สมบูรณ์มากมีพุ่มต้นแน่นทึบหรือมีลักษณะที่เรียกว่า บ้าใบ การปลิดใบออกบ้างบางส่วน อาจมีผลในด้านการลดระดับไนโตรเจนในต้นให้ลดต่ำลง อันเป็นการช่วยปรับระดับของคาร์โบไฮเดรตต่อระดับของไนโตรเจน หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่า ซี/เอ็น เรโช(C/N ratio) ให้สูงขึ้น อาจช่วยให้มีการออกดอกดีขึ้นได้ และเทคนิคสุดท้ายการใช้สารเคมี สารในกลุ่มชะลอการเจริญเติบโต เช่น สารแพคโคลบิวทราโซล มีบทบาทในการยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินในธรรมชาติของต้นพืช ดังนั้นพืชจึงมีการเจริญทางกิ่งใบลดลงส่งผลให้มีโอกาสในการออกดอกมากขึ้น แนะนำให้ฉีดพ่นสารแพคโคลบิวทราโซล

เทคนิคการผลิตมะนาวฤดูแล้งภาคเกษตรกร ในช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนกันยายน จะสะสมอาหารและสะสมตาดอกด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8 – 24 – 24 ทางดิน และ ทางใบจะฉีดสะสมอาหารด้วยปุ๋ยเกร็ดสูตร 0 – 52 – 34 ร่วมกับสารโปรดั๊กทีฟเป็นหลัก จะฉีดพ่นช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน จนใบมะนาวจะเริ่มแก่จัด หรือ“แก่ก้าน” มีใบลักษณะใบสีเขียวเข้มจับใบดูจะกรอบแสดงว่าต้นมะนาวมีความพร้อมที่จะเปิดตาดอก ช่วง 2 เดือนนี้เกษตรกรต้องดูต้นมะนาวอย่าให้แตกใบอ่อนออกมา เราต้องบังคับให้ไปแตกใบอ่อนพร้อมดอกหรือเปิดตาดอกในเดือนตุลาคมเท่านั้น ถ้ามีฝนชุกหรือต้นมะนาวดูงามเกินไปจะต้องเพิ่มอัตราปุ๋ย 0 – 52 – 34 เข้าไปอีกจากอัตรา 150 กรัม เป็น 200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 2 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร

เป็นที่ทราบกันดีว่าในการปลูกมะนาวในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันนี้ตลาดมีความต้องการมะนาวพันธุ์แป้นรำไพและพันธุ์แป้นดกพิเศษมากที่สุด และการเลือกใช้กิ่งพันธุ์มะนาวได้เปลี่ยนจากการใช้กิ่งตอนมาใช้กิ่งเสียบยอดบนต้นตอส้มต่างประเทศ เนื่องจากต้นมีความสมบูรณ์แข็งแรงและอายุยืนยาวกว่าปลูกด้วยกิ่งตอน

ในระยะที่มีฝนตกปานกลางถึงหนักมาก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนลำไยเฝ้าสังเกตการเข้าทำลายของหนอนเจาะขั้วผล สามารถพบได้ในระยะที่ต้นลำไยเริ่มติดผลอ่อน โดยจะพบหนอนเข้าทำลายลำไยที่เริ่มติดผลอายุประมาณ 1 เดือน จนถึงระยะเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลลำไยมีขนาดเล็ก น้ำหนักช่อน้อย ช่อผลลำไยชูขึ้น ผีเสื้อตัวเต็มวัยจะวางไข่อยู่ส่วนปลายของผลลำไย หากหนอนฟักออกจากไข่ก็จะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในผล และไม่สามารถเห็นรอยทำลายของหนอนจากการมองดูภายนอกได้ เมื่อผ่าผลลำไยดูจึงจะเห็นรอยที่ถูกหนอนเข้าทำลาย ผลที่ถูกทำลายจะไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ผลจึงร่วงหล่นหมด และจะพบหนอน 1-3 ตัว ต่อผล

การเข้าทำลายของหนอนในระยะที่ผลลำไยเริ่มเปลี่ยนสี มีขนาดผลโตขึ้น น้ำหนักผลเพิ่มขึ้น และช่อผลโค้งลง ผีเสื้อตัวเต็มวัยจะวางไข่อยู่บริเวณใกล้ขั้วผล และจะพบหนอนหรือมูลหนอนอยู่ที่ขั้วผลเสมอ ทำให้ผลลำไยร่วงหล่นได้ง่าย ให้สังเกตดูบริเวณใกล้ขั้วผล จะพบรูเล็กๆ ที่หนอนเจาะออกมาเข้าดักแด้ภายนอก กรณีที่ผลลำไยไม่ร่วงหล่น เกษตรกรชาวสวนลำไยยังสามารถนำมาขายได้ราคาดีอยู่ เพราะดูภายนอกจะไม่เห็นรอยทำลายของหนอน

สำหรับในสวนลำไยที่พบการระบาดของหนอนเจาะขั้วผลลำไย ให้เกษตรกรเก็บรวบรวมผลลำไยที่ถูกหนอนเจาะขั้วผลเข้าทำลายที่ร่วงหล่นบริเวณโคนต้น และเก็บรวบรวมดักแด้ของหนอนเจาะขั้วผลบนใบที่สามารถเห็นได้ชัดเจน นำไปฝังหรือเผาทิ้งทำลายนอกสวน จากนั้นหากพบการระบาดรุนแรงของหนอนเจาะขั้วผล เกษตรกรควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส/ไซเพอร์เมทริน 50%/5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

สวนกล้วยน้ำว้าในระยะที่มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักในบางแห่งของพื้นที่ช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าให้สังเกตอาการของโรคปานามา สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นกล้วย มักพบแสดงอาการของโรคมากในระยะที่ต้นกล้วยสร้างปลี จนถึงระยะติดผล

อาการเริ่มแรกพบใบกล้วยด้านนอกหรือใบแก่เหี่ยว เหลือง และลุกลามเหลืองจากขอบใบเข้ากลางใบ ก้านใบหักพับตรงรอยต่อกับลำต้น และทยอยหักพับตั้งแต่ใบด้านนอกเข้าไปสู่ใบด้านใน ซึ่งระยะแรกใบยอดยังเขียวตั้งตรง ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และใบทั้งหมดจะเหี่ยวแห้ง หากตัดลำต้นกล้วยตามขวางหรือตามยาว จะพบเนื้อในของกาบใบบางส่วนเน่าเป็นสีน้ำตาล ต้นกล้วยชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบให้ราดบริเวณกอกล้วยหรือโคนต้นที่เป็นโรคด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชอีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6%+24% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือสารทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร กรณีพบอาการรุนแรงจนใบเหลืองและเหี่ยวตายทั้งต้น ให้ขุดต้นที่เป็นโรคออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดจัด ให้ทั่วบริเวณหลุมที่ขุดต้นเป็นโรคออกไปหรือกอที่เป็นโรค อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อหลุม และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่

นอกจากนี้ เกษตรกรควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี และควรระมัดระวังการให้น้ำ โดยไม่ให้น้ำไหลผ่าน จากต้นที่เป็นโรคไปสู่ต้นปกติ หากเกษตรกรต้องการปลูกกล้วยในพื้นที่ใหม่ หลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และไม่นำหน่อพันธุ์จากต้นตอที่เป็นโรคไปปลูก

ให้เลือกใช้หน่อกล้วยที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค หรือชุบหน่อพันธุ์กล้วยด้วยสารเคมี อีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6%+24% อีซี หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี หรือสารทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร รวมถึงควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร ชวนเที่ยวงานเกษตรสร้างชาติ ในวาระครบรอบ 50 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร วันนี้ ( 2 กันยายน 2561) เป็นวันสุดท้าย เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ สร้างสินค้าดี เกษตรกรมีรายได้

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การสร้างอนาคตประเทศไทย เราจำเป็นต้องสร้างรากฐานที่แข็งแรงของภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จนถึงวันนี้ทุกอย่าง ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ได้รับความเชื่อมั่นจากต่างชาติมากขึ้น มี Start up ภาคการเกษตร มี Young Smart Farmer ที่เปรียบเสมือนเป็นอนาคตที่สำคัญในภาคการเกษตร มีสินค้าเกษตรส่งออกมากขึ้น

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมุ่งเสริมสร้างให้เกิดรากฐานที่ดี เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคการเกษตรเปรียบเสมือนรากฐานที่สำคัญของประเทศ ถ้ารากต้นไม้แข็งแรง ต้นไม้จะเติบโตแผ่กิ่งก้านใบออกดอกติดผลได้ แต่ภาคการเกษตรจะเข้มแข็งไม่ได้ หากไม่มีกระบวนการสร้างและพัฒนาเกษตรกรให้พึ่งพาตนเอง

ปัจจุบันเรามีกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง ได้แก่ Smart Farmer 1,056,026 ราย มีเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพแล้วกว่า 7,598 ราย มีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ที่คอยสนับสนุนงานทั่วประเทศ 75,138 ราย กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 19,151 กลุ่ม สมาชิก 479,822 ราย สมาชิก กลุ่มยุวเกษตรกรรวมทั้งประเทศ 165,216 ราย

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ( ศพก.) ที่มีเกษตรกรต้นแบบ 882 ราย สมาชิกแปลงใหญ่ จำนวน 3,899 กลุ่ม ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรกว่า 50 ปี ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น ในการสร้างเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จัดงาน “เกษตรสร้างชาติ” ขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-2กันยายน 2561 เป็นอีกงานที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจมหภาครวมทั้งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับพี่น้องเกษตรกร

โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนายกระดับสินค้าเกษตร และเข้าสู่การแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากตลาดท้องถิ่น ตลาดภูมิภาค สู่ตลาดต่างประเทศ และตลาดออนไลน์ ให้คนเมืองได้เห็น อย่างเป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งเกษตรผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก มีการกระจายตัวของรายได้มากขึ้น ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคได้โดยตรง

กรมส่งเสริมการเกษตรขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจ เข้าเยี่ยมชมงาน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร และทำความเข้าใจว่าเกษตรสร้างชาติได้อย่างไร ห้ามพลาดเด็ดขาด เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้าย

ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น จะเห็นได้จากหลายๆ ท่าน ค่อนข้างใส่ใจเรื่องอาหารการกิน รวมไปถึงการเลือกวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารก็ล้วนแต่เป็นวัตถุดิบที่ผ่านการปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีหรือที่ปลูกในระบบอินทรีย์นั้นเอง

การทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้รวมไปถึงในเรื่องของการผลิตพืชผักเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการนำมาปรับใช้กับการทำปศุสัตว์อีกด้วย เช่น การเลี้ยงไก่เชิงระบบอินทรีย์ ตลอดไปจนถึงการเลี้ยงไก่ไข่ให้เป็นไก่อารมณ์ดี ที่เลี้ยงในคอกหรือรั้วที่มีพื้นที่อิสระ บริเวณกว้าง ด้วยระบบให้กินอาหารอินทรีย์ จึงทำให้ไข่ที่ออกมาสามารถจำหน่ายได้ราคา จนสินค้ามีไม่พอจำหน่ายทีเดียว

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นสถาบันที่มีความพร้อมในเรื่องงานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น จึงได้มี โครงการ “ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL” (The KMITL organic agriculture model) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้ในเรื่องนี้

ผศ.ดร. สุพัตรา โพธิ์เอี่ยม อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าโครงการต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL ให้ข้อมูลว่า การจัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมานั้น เกิดจากการพัฒนาสารชีวภัณฑ์ เพื่อนำมาใช้ในการกำจัดแมลงและโรคพืชต่างๆ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งสารชีวภัณฑ์ที่นำมาใช้เกิดจากงานวิจัย ของ รศ.ดร. เกษม สร้อยทอง ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยนำสารชีวภัณฑ์มาป้องกันการเกิดโรคพืชต่างๆ พร้อมทั้งมีการพัฒนางานวิจัยขึ้นมาเรื่อยๆ ดังนั้น ทางสถาบันฯ เห็นถึงความพร้อมในทุกด้าน จึงได้ทำแปลงต้นแบบของการปลูกพืชในระบบอินทรีย์ขึ้น

“เนื่องจากสถานศึกษาของเราได้รับมอบพื้นที่ในตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 600 ไร่ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ จึงได้เกิดแนวความคิดที่อยากจะดำเนินโครงการที่เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ขึ้นมา เพื่อให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงาน ในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร พร้อมทั้งนำงานวิจัยและเทคโนโลยีของเราที่มีอยู่ มาปรับใช้ในการทำงานครั้งนี้ และที่สำคัญยิ่งขึ้นไป เรายังมีการพัฒนาผลงานวิจัยเหล่านี้ต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง” ผศ.ดร. สุพัตรา กล่าว

ซึ่งการทำแปลงเกษตรอินทรีย์ผลผลิตที่ได้ออกมาทั้งหมด ผศ.ดร. สุพัตรา บอกว่า จะเริ่มปรับเปลี่ยนส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาในสถาบัน ได้สนใจในเรื่องของการใส่ใจสุขภาพ หันมาดูแลอาหารด้วยการรับประทานผักที่ปลูกในระบบอินทรีย์ และต่อไปจะมีการขยายสินค้าออกไปเรื่อยๆ โดยการมีศูนย์จำหน่ายผลผลิตให้กับผู้ที่สนใจมาเลือกซื้อได้ที่ช็อปภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

มากด้วยการใส่ใจคุณภาพ

ในเรื่องของขั้นตอนการผลิตผักนั้น ผศ.ดร. สุพัตรา เล่าว่า เป็นสิ่งที่ทางโครงการหรือผู้ปฏิบัติงานทุกคน มีความใส่ใจและตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะผลิตพืชผักและวัตถุทางการเกษตรต่างๆ ออกมา ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานการทำเกษตรแบบอินทรีย์ โดยตั้งแต่การเตรียมดินปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว จะไม่มีการใช้สารเคมีทุกขั้นตอน ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าผลผลิตที่ได้ปลอดภัยจากสารเคมีแน่นอน

“การทำเกษตรอินทรีย์ เรื่องสารเคมีต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด ดังนั้น ตั้งแต่การไถเตรียมแปลงปลูก ไปตลอดช่วงการดูแลในเรื่องของการปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เราจะไม่มีการนำสารเคมีเข้ามาใช้ อย่างช่วงของการเตรียมแปลง ถ้าพบเห็นหญ้าหรือวัชพืชต่างๆ ขึ้นภายในแปลง จะเน้นใช้แรงงานคนหรือเครื่องตัดหญ้าเข้ามาช่วยเป็นหลัก รวมทั้งมีการจัดการเรื่องของระบบน้ำที่ดี ก็จะช่วยในเรื่องของการป้องกันวัชพืชได้ดีอีกด้วย” ผศ.ดร. สุพัตรา กล่าว

ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชอื่นๆ นอกจากการนำสารชีวภัณฑ์ที่เป็นผลจากการวิจัยก่อนหน้านี้มาใช้แล้ว ยังมีการต่อยอดและทำงานวิจัยอยู่ตลอดเวลา โดยทั้งอาจารย์และนักศึกษาภายในสถาบันฯ เป็นผู้ทำงานวิจัยเพื่อรองรับงานด้านโรคพืชต่างๆ ที่อาจมาทำลาย หรือก่อความเสียหายต่อพืช และเพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง แบบบูรณาการโดยใช้บุคลากรจากหลายคณะที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยกันทำงานวิจัย

จากองค์ความรู้และเทคโนโลยีทุกด้านที่มีอยู่ ในการทำเกษตรอินทรีย์ต้นแบบนี้ ผศ.ดร. สุพัตรา บอกว่า ที่เหลือก็เป็นระยะเวลาสร้างความเชื่อมั่นของเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจอยากจะปรับเปลี่ยนการทำเกษตร จากเดิมที่มีการใช้สารเคมีมาสู่กระบวนการเกษตรแบบอินทรีย์ ว่าสามารถให้ผลผลิตที่ดีและจำหน่ายได้ราคา

“บางครั้งคนมองว่าการทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ผลตอบแทนที่ได้อาจจะไม่ได้ดี แต่สิ่งแรกของผู้ที่ทำเกษตรอินทรีย์ได้รับ คือปัจจัยเรื่องสุขภาพของตัวเขาเอง เพราะจากที่เราเห็นเกษตรกรหลายพื้นที่ ได้มองเห็นถึงความสำคัญของเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมีหลายราย และมีการผลิตพืชผักแบบอินทรีย์ ทำให้มีบริษัทที่จำหน่ายสินค้าเหล่านี้ เข้ามารับซื้อผลผลิตถึงฟาร์ม พร้อมทั้งให้ราคาดี สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าพืชผักแบบที่ปลูกแบบเดิม รวมทั้งมีการวางแผนการผลิตที่ชัดเจน ทำให้สินค้าที่ผลิตไม่ออกมาล้นตลาด สามารถจำหน่ายได้ราคาอีกด้วย” ผศ.ดร. สุพัตรา กล่าว

พืชผักง่ายๆ ที่ผู้บริโภครับประทาน

ปลูกจำหน่ายได้ตลอดเวลา

ในเรื่องของการปลูกผักเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้า หรือผู้ที่สนใจอยากปลูกผักในระบบอินทรีย์ ผศ.ดร. สุพัตรา แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องเน้นพืชผักที่ผลิตเป็นสายพันธุ์ที่ยุ่งยาก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมรับประทานผักที่เรียบง่ายและนำมาประกอบอาหารได้ในชีวิตประจำวัน เช่น คะน้า ผักบุ้งจีน ถั่วฝักยาว และอื่นๆ อีกหลายชนิด ดังนั้น ที่แปลงแห่งนี้จึงปลูกพืชให้ตรงกับความต้องการของตลาด จึงทำให้สามารถจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรได้ตลอดเวลา ไม่มีสินค้าล้นตลาดจนเกิดสภาวะขาดทุน

“อย่างที่ศูนย์เรียนรู้ของเรา ในเรื่องของผลผลิตที่มี ก็จะมีบางส่วนเป็นลูกค้าจากบริษัทต่างๆ เข้ามาติดต่อขอซื้อ และบางส่วนเราก็จะแบ่งไปขายในช็อปที่อยู่ภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ก็จะเน้นเป็นพืชผักที่สามารถทานได้ง่ายๆ ทานได้เรื่อยๆ แบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้น สำหรับท่านใดที่มีพื้นที่ว่างและต้องการทำการเกษตรในรูปแบบนี้ ก็สามารถผลิตสินค้าแบบง่ายขายในชุมชน เพื่อให้ทุกคนได้รู้ถึงการปลูกว่า ระบบอินทรีย์ดียังไง ทานแล้วจะได้รับประโยชน์แบบไหน ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและซื้อพืชผักต่อเนื่อง และที่สำคัญได้ราคาดีอย่างแน่นอน” ผศ.ดร. สุพัตรา แนะเรื่องการทำตลาด

ทั้งนี้ ใครที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่รู้วิธีการและต้องการศึกษาองค์ความรู้ ผศ.ดร. สุพัตรา บอกว่า สามารถติดต่อเข้าศึกษาดูงาน หรือเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรได้ที่แปลงต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL ตั้งอยู่ที่ ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี จะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำกับผู้ที่สนใจเข้ามาชมการปลูกพืชในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของตนเอง อย่างน้อยถ้ายังไม่ได้เน้นทำเพื่อจำหน่าย ก็สามารถปลูกรับประทานเองที่บ้าน ช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนและได้วัตถุดิบที่ปลูกด้วยตนเองมาปรุงอาหาร พร้อมทั้งได้มีกิจกรรมยามว่างทำหลังจากเลิกงานประจำ เมื่อผลผลิตมีมากพอ สามารถจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมมีรายได้อีกด้วย

กรมการข้าว เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) ซึ่งถือเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ที่มีเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเข้ามามีส่วนร่วม โดยปัจจุบันมีจำนวนนาแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 1,902 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 2,433,172 ไร่ เกษตรกร จำนวน 175,647 ราย ในพื้นที่ 71 จังหวัด

คุณจุลมณี ไพฑูรย์เจริญลาภ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวได้ส่งเสริมการทำนาแบบแปลงใหญ่ เพื่อต้องการให้เกษตรกรรายย่อยมารวมกลุ่มกันผลิต รวมกันขาย เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มอำนาจการต่อรอง นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

จากผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน พบว่า เกษตรกรกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีความพึงพอใจในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันภายใต้ระบบนาแปลงใหญ่ ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้นในด้านการจัดการเพาะปลูกให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งการรวมกลุ่มทำให้เกิดประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิต การตลาด โดยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,326 บาท ต่อไร่ โดยปีแรกเพิ่มขึ้น 115 บาท ต่อไร่ ปีที่ 2 เพิ่มขึ้น 1,211 บาท ต่อไร่ เป็นผลมาจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น 17.50% ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง 19.02% ปี ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ต่างพอใจในผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น