จากสถานการณ์ดังกล่าว ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

มีความห่วงใยเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีน้อย จึงสั่งการให้สภาเกษตรกรแห่งชาติออกหนังสือแจ้งเตือน “สถานการณ์ปริมาณน้ำน้อยในเขื่อนสำคัญ” และขอให้พื้นที่ที่ใช้น้ำจากเขื่อนทั้ง 8 แห่ง เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ รวมทั้งจัดเตรียมแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในฤดูแล้งปี 2563 นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้สภาเกษตรกรแห่งชาติและสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด ติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับ สสน.อย่างใกล้ชิดต่อไป

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดย สำนักนวัตกรรมซีพีเอฟ และหน่วยงานนวัตกรรมอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดงานประกวด “CPF INNO CONNECT 2019” การประกวดรอบตัดสิน โดยมี นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแก่ผู้แข่งขัน ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคารเจียไต๋ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

CPF INNO CONNECT 2019 จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้คู่ค้าของบริษัทฯ ได้คิดค้นนวัตกรรมหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และร่วมกันพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ มีคู่ค้าเข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 17 ราย รวม 22 โครงการ โดยเข้าอบรมหลักสูตร Design Thinking กับนวัตกรซีพีเอฟ และคัดเลือกจนเหลือ 8 โครงการ เพื่อประกวดรอบตัดสิน โดยมี คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน ได้แก่ นายสิรพัฒน์ ชนะกุล นักส่งเสริมนวัตกรรมอาวุโส สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA นายกมล พงษ์ประยูร ผู้จัดการทั่วไปอาวุโสบริหารส่วนกลาง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL และคณะผู้บริหารซีพีเอฟ ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1-3 จะได้รับใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล ตลอดจนการเข้าศึกษาดูงานที่ Alibaba Campus ประเทศจีน และการจดสิทธิบัตร

สำหรับผลงานที่ได้รางวัลชนะเลิศทั้ง 3 อันดับ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงการจุลินทรีย์จาวปลวก แก้ปัญหาไก่ถ่ายเหลว จากแสงอุไรฟาร์ม รับรางวัล รวมมูลค่า 146,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โครงการเปลี่ยนถาดใส่ไข่พลาสติกสีดำ เป็นถาดไข่สีแดง จากฟาร์มชุนเซ้ง รับรางวัล รวมมูลค่า 136,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ Weight Estimation for Silo จากฟาร์มบิซ รับรางวัล รวมมูลค่า 126,000 บาท

ส่วนรางวัลชมเชย รวม 5 รางวัล ได้แก่ โครงการศูนย์เรียนรู้ ด้านการจัดการฟาร์มสุกรพันธุ์ จากฟาร์มหมอต้น โครงการแพ็กเกจเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน จากวีระพงศ์ ฟาร์ม โครงการปรับความเร็วลเล้าคลอด จากฟาร์มเขาอ้อม โครงการจัดระบบน้ำผิวดิน สำหรับล้างโรงเรือนไก่ไข่ จากฟาร์มชุนเซ้ง และโครงการอ่างจุ่มเท้าอัจฉริยะ จากฟาร์มไก่ไข่เกาะแต้ว ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ และเงินสด 8,000 บาท รวมทั้งการจดสิทธิบัตร

มะม่วงลูกพลับทอง ชื่อฟังเป็นชื่อไทย ซึ่งก็น่าจะเป็นมะม่วงของไทย แต่มะม่วงลูกพลับทองไม่ใช่มะม่วงดั้งเดิมหรือมะม่วงโบราณ หรือเป็นมะม่วงพันธุ์ใหม่ของไทย มะม่วงลูกพลับทองเป็นมะม่วงสายพันธุ์ใหม่อีกสายพันธุ์หนึ่งของไต้หวันที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย

ปัจจุบัน มีมะม่วงจากไต้หวันอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 20 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมักเป็นสายพันธุ์ที่มีผลผิวสวยงามสะดุดตา (สีแดง) ผลมีขนาดใหญ่ และมีรสชาติดี แต่บางสายพันธุ์กลับไม่ได้รับความนิยม เพราะมีคุณสมบัติไม่ดีพอ ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาด เช่น ผิวสีไม่สวย รสชาติไม่ดี มีเสี้ยนมาก เปลือกบาง ผลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นขี้ไต้ เก็บไม่ได้นาน เน่าเสียง่าย และไม่เหมาะที่จะปลูกเพื่อการค้า เป็นต้น

ดังนั้น สายพันธุ์เหล่านี้จึงไม่ค่อยมีการทำกิ่งออกมาจำหน่าย แต่สำหรับมะม่วงลูกพลับทองแม้ว่าขาดคุณสมบัติที่ดีของมะม่วงไปบางอย่าง แต่ก็มีคุณสมบัติอีกอย่างที่โดดเด่นคือ มีรูปทรงผลที่แตกต่างจากผลมะม่วงอื่นๆ จึงเป็นการขายความแปลกใหม่ให้กับผู้ชอบสะสมพันธุ์มะม่วงและนักสะสมพรรณไม้แปลกใหม่เสียมากกว่าที่จะหวังผลกับการปลูกเพื่อการค้า

ชื่อของมะม่วงลูกพลับทองนั้น ที่ต้องตั้งชื่อเป็นภาษาไทยก็เพื่อให้ง่ายต่อการเรียก โดยยังคงความหมายเดิมไว้ไม่ได้ผิดไปจากชื่อเดิม มะม่วงลูกพลับทอง (Gold persimmon mango) แปลตรงมาจาก คำว่า “หวางจินซื่อจื่อ” (黃金柿子芒果 Huángjīnshìzi) ซึ่งออกเสียงเรียกยาก บางคนจึงอ่านเป็น “หวงจินซื่อจื่อ” คำว่า หวาง หมายถึง สีเหลือง ชื่อ “หวางจินซื่อจื่อ” ถ้าคงความหมายเดิมให้เต็ม น่าจะเป็น “มะม่วงลูกพลับสีเหลืองทอง” หรือ “มะม่วงลูกพลับสีเหลืองดั่งทอง” ทำนองนั้น

ถ้าให้คนไทยตั้งชื่อก็จะเปรียบมะม่วงนี้เหมือนกับลูกจันทน์ อาจตั้งชื่อเป็น มะม่วงลูกจันทน์ ก็ได้ แต่ที่ไต้หวันไม่มีลูกจันทน์ให้เปรียบเทียบ ที่นั่นมีแต่ลูกพลับ ลูกท้อ จึงตั้งชื่อให้สอดคล้องรูปพรรณสัณฐานของมัน เหมือนกับลูกพลับมากกว่าเป็น มะม่วงลูกพลับทอง

ส่วน คำว่า “ซื่อจื่อ” หมายถึง ลูกพลับ คนไทยชอบเรียกให้ง่ายปาก เมื่อเรียกสั้นๆ อาจจะเป็น “มะม่วงลูกพลับ” เหมือนกับ “มะม่วงมะพร้าว” มีชื่อเต็มของมันว่า “มะม่วงมะพร้าวปากีสถาน” (Pakistan coconut mango) คนเรียกกันแต่ “มะม่วงมะพร้าว” จนเป็นที่เข้าใจกัน เพราะมีผลใหญ่ป้อมยาว ขนาดเท่าๆ กับมะพร้าวน้ำหอม รับประทานดิบเนื้อกรอบ รสชาติมันหวาน มะม่วงมะพร้าวกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของชาวสวนมะม่วงบางกลุ่ม เนื่องจากมีผลใหญ่ รสชาติดี

มะม่วงลูกพลับทอง มะม่วงสายพันธุ์ใหม่ของไต้หวันนี้ ไม่ทราบแหล่งที่มาของสายพันธุ์ว่าได้มีการพัฒนาหรือการปรับปรุงพันธุ์มาจากมะม่วงพันธุ์ใดบ้าง หรือเป็นพันธุ์มะม่วงที่นำเข้ามาจากประเทศอื่น แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ เหมือนกับผลไม้บางชนิด มะม่วงลูกพลับทองนี้ชาวไต้หวันนิยมซื้อผลไปเป็นของฝากหรือใช้รับรองแขกที่มาเยือนที่บ้าน หรือแนะนำให้เพื่อนรู้จักในทางอินเตอร์เน็ต

ผลของมะม่วงลูกพลับทอง มันไม่ได้แบนเป็นจานแบนๆ เหมือนลูกพลับ ดังกับชื่อ มะม่วงลูกพลับทอง จัดเป็นมะม่วงที่มีผลขนาดเล็ก ผลป้อมกลม ที่ส่วนหัวใหญ่ ส่วนก้นปลายงอนเล็กน้อย ส่วนปลายสุดไม่แหลม มีผลขนาดพอเหมาะกับการรับประทานคนเดียวได้หมดผล ดูเผินๆ มีส่วนคล้ายกับมะม่วงแอปเปิ้ลหรือมะม่วงอาร์ทูอีทูหรือมะม่วงตลับนาค จะต่างกันที่ขนาด เพราะขนาดของมะม่วงลูกพลับทองเล็กกว่ามะม่วงดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีมะม่วงผลป้อมกลมในลักษณะเดียวกันมีอีกหลายพันธุ์ เช่น มะม่วงแอปเปิ้ลของอินโดนีเซีย (Apel mangga) ผลป้อมกลมแต่ใหญ่กว่า หรือ มะม่วงไข่ของเขมร (ซวายปวงเมือน) ที่มีผลเล็กกลมป้อมเนื้อเหลืองและรสชาติมัน มะม่วงส่วนใหญ่มีทรงผลส่วนมาก หรือมีรูปทรงผลแบนยาวหรือผลป้อม

ผลของมะม่วงลูกพลับทองเมื่อมองจากด้านบนลงมาผลป้อมค่อนข้างกลม เมื่อมองด้านข้างทั่วไปผลป้อมค่อนข้างกลมคล้ายลูกท้อและลูกเซียนท้อมากกว่าจะเหมือนลูกพลับหรือลูกจันทน์

ลำต้นมะม่วงลูกพลับทอง มีลำต้นตรง ทรงพุ่มต้นค่อนข้างโปร่ง กิ่งก้านแตกแผ่ไม่ทอดเลื้อย เปลือกลำต้นตอนอ่อนสีเขียวเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทา กิ่งก้านยอดที่ยังอ่อนอยู่เป็นสีชมพูเรื่อๆ เมื่อโน้มงอกิ่ง กิ่งไม่เปราะหักง่าย กิ่งที่ไม่แก่สามารถดัดงอโค้งได้มาก

ใบมะม่วงลูกพลับทองเป็นใบเดี่ยวเรียงตัวสลับกัน ที่บริเวณปลายกิ่งมักจะมีใบเกิดถี่ โดยทั่วไปใบมีขนาดเล็ก ใบเล็ก ไม่มีหูใบ ใบอ่อนมีสีม่วงอ่อนๆ อมชมพู เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ใบเรียวยาวผิวใบเป็นมัน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นบ้าง ใบห่อขึ้นเล็กน้อย เมื่อแก่ใบจะห่อมากขึ้นและระหว่างเส้นใบย่อยเป็นร่องใบลึก เส้นกลางใบเด่นชัดและมีเส้นใบย่อยไม่เกิน 30 คู่ ใบเล็กจะมีจำนวนเส้นใบน้อยกว่า 10 คู่ ขึ้นไป ใบอยู่ที่ด้านบนและส่วนยอดจะมีขนาดเล็กกว่ามาก ใบยาวเฉลี่ย 16 เซนติเมตร กว้าง 3 เซนติเมตร ส่วนใบที่เจริญสมบูรณ์ดีอยู่ด้านล่างมักมีขนาดใหญ่กว่า แต่ปรากฏเป็นส่วนน้อย โดยมีความยาวประมาณ 24-26 เซนติเมตร และกว้าง 5-6 เซนติเมตร เมื่อขยี้ใบแก่จะไม่มีกลิ่นเปรี้ยว ส่วนใบอ่อนขยี้แล้วมีกลิ่นหอมคล้ายมะม่วงมัน ใบมะม่วงลูกพลับทองจึงมีส่วนคล้ายกับใบมะม่วงตลับนาค

ดอกและช่อดอก ออกดอกที่ปลายกิ่งหรือตาตามกิ่งช่อ แต่ละช่อจะมีดอกจำนวนมาก ดอกเป็นสีขาว ก้านช่อดอกมีสีแดง ก้านดอกสั้นมาก ดอกมีกลิ่นหอม ขั้วผลที่ช่อสั้น ติดผลดกมาก ช่อหนึ่งติดเป็นพวงหลายผล เมื่อยังผลเล็กก็เริ่มปรากฏเป็นผลกลม

ผลมะม่วงลูกพลับทอง ผลมีผิวเรียบ น้ำหนักของผล 400-500 กรัม ความยาวของผล ประมาณ 9 เซนติเมตร (วัดตามแนวดิ่ง) ความกว้างประมาณ 8-9 เซนติเมตร (วัดตามแนวราบ) ที่ส่วนหัว (มองจากด้านบนลงมาผลค่อนข้างเป็นวงรี) วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 8 เซนติเมตร ผลที่ยังไม่แก่หรือผลดิบ ก้านช่อดอกเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนๆ ยางจากขั้วผลไม่มีกลิ่นเปรี้ยว ผลดิบมีรสเปรี้ยวแต่ก็เปรี้ยวไม่มากติดรสมันบ้างเล็กน้อย เนื้อแน่นกรอบ

ผลจะแก่ภายใน 5-6 เดือน หลังจากดอกบานหรือประมาณต้นเดือนมิถุนายนผลจะแก่เต็มที่ เมื่อผลสุกมีผิวผลสีเหลืองเหมือนกับขมิ้นหรือไพล ผลมีผิวสีสวยงามยิ่งประกอบกับผลมีขนาดเล็ก เมื่อวางในอุ้งมือมองดูงดงามน่ารัก การใช้ถุงห่อมีผลต่อสีผิว ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ใช้ถุงห่อผิวผลจะมีสีเขียว เมื่อแก่จึงปรากฏสีเหลืองที่แก้มและส่วนหัว เมื่อบ่มสุกมีสีเหลืองไม่เข้มมาก แต่เมื่อใช้ถุงคาร์บอนห่อจะให้ผิวสีเหลืองอร่าม ใช้เวลาบ่มสุก 4-5 วัน บ่มธรรมชาติห่อด้วยกระดาษ บ่มสุกแล้วมีสีเหลืองทองสวยงามอร่ามตาไม่ค่อยเห็นจุดดำเล็กๆ หรือต่อมน้ำมัน (oil gland) เด่นชัด หากใช้ถุงขาวห่อจะให้ผิวสีเขียวเข้ม ตอนแก่แก้มและหัวมีสีเหลืองเรื่อๆ บ่มสุกแล้วมีสีเหลืองอมเขียว สีผิวไม่เสมอกันทั่วทั้งผล เห็นจุดดำเล็กๆ หรือต่อมน้ำมันกระจายเห็นชัดโดยเฉพาะด้านที่โดนแดดส่อง

หลังจากปล่อยให้สุกต่ออีกหลายวันไว้ในตู้เย็น 1 สัปดาห์ เมื่อนำออกมาสีผิวจะเหลืองเข้มยิ่งขึ้นหรือมีสีเหลืองส้มสวยงามมาก คล้ายกับผิวเหลืองของมะพูดสุก โดยผลไม่เกิดแผลเน่าเป็นจุดดำของโรคแอนแทรคโนส ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนส ดังนั้น ความสวยงามของผิวผลขึ้นอยู่กับชนิดของถุงที่ใช้ห่อด้วย

ผลมีผิวบาง เนื้อสีเหลืองเข้มจัด หรือเหลืองขมิ้นสีเนื้อจะเหลืองเข้มกว่าสีผิว กลิ่นหอมพอประมาณ มีกลิ่นหอมคล้ายมะม่วงไทยที่มีรสหวานหรือมีกลิ่นหอมคล้ายน้ำหวานอ้อย แต่ทางไต้หวันบอกว่ามันมีกลิ่นคล้ายกับกลิ่นของลำไยหรือน้ำผึ้งจากดอกลำไย ซึ่งไม่ติดกลิ่นขี้ไต้เหมือนกับมะม่วงไต้หวันบางสายพันธุ์ เนื้อละเอียดเนียนฉ่ำน้ำ บีบอาจจะเละได้ง่าย มีเสี้ยนบ้างเล็กน้อย รสชาติอร่อย จัดเป็นมะม่วงที่มีความหวานมากพันธุ์หนึ่ง วัดระดับความหวานได้ระหว่าง 18-20 องศาบริกซ์ (น้ำมะม่วง ทิ้งไว้ข้ามคืน วัดได้ 20 องศาบริกซ์)

เมล็ดเล็กแบนป้อมโค้งไปตามรูปทรงของผลเล็กน้อย เปลือกชั้นนอกหุ้มเมล็ดแข็งค่อนข้างหนา เปลือกเมล็ดชั้นในเป็นเยื่อหุ้มเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม น้ำหนักของเมล็ดระหว่าง 20-30 กรัม

ในการโฆษณาขายระบุว่า เป็นมะม่วงที่มีความต้านทานโรคสูง อัตราการเจริญเติบโตดี ลำต้นเจริญเติบโตเร็วและลำต้นจะแข็งแรงขึ้นตามอายุ

การมองเห็นมะม่วงเป็นผลแบนเหมือนลูกพลับหรือแบนแบบลูกจันทน์ หรือแบนเป็นมะเขือจาน ดังภาพที่ปรากฏในเว็บไซต์ของไต้หวันนั้น จะเป็นมะม่วงที่มีผลค่อนข้างแบน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมกล้อง ถ้าถ่ายภาพจากด้านบนลงมา จะมองเห็นมะม่วงมีผลแบนจริง เมื่อถ่ายด้านข้างจะไม่แบนเป็นแบบนั้น ดังนั้น ภาพที่ปรากฏทางเว็บไซต์จึงเป็นเทคนิคในการถ่ายภาพ เพื่อใช้ในการโฆษณาที่หวังผลทางการค้า

แต่ภาพส่วนใหญ่ที่ปรากฎอยู่นี้เป็นมะม่วงลูกพลับทองที่ให้ผลแล้วในประเทศไทย จึงถ่ายภาพได้หลายมุม บางมุมจึงมองเห็นเป็นผลแบนจริง เมื่อถ่ายด้านข้างก็ไม่ได้แบนมาก แต่มะม่วงลูกพลับทองก็เป็นมะม่วงที่ผลและสีแปลกแตกต่างจากมะม่วงที่มีผลกลมป้อมทั่วไป

อนึ่ง ต้องสร้างความเข้าใจกับผู้อ่านหรือชาวสวนมะม่วงเสียก่อนว่า การตั้งชื่อ มะม่วงลูกพลับทอง ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นมะม่วงที่มีผลแบนเหมือนลูกพลับ แต่ตั้งชื่อแปลตามความหมายเดิม สรุปก็คือ ทั้งรูปทรงของผลและรสชาติไม่สร้างความผิดหวังอย่างแน่นอน อีกไม่นานคงมีกิ่งพันธุ์ออกมาจำหน่าย ราคาน่าจะแพงอยู่เพราะเป็นของใหม่ มะม่วงลูกพลับทอง จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับชาวสวนมะม่วงได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคเป็นผู้กำหนด

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสำหรับการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม มีการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ จะอย่างไรก็ตาม การเกษตรของเรามักเผชิญปัญหาภาวะฝนแล้ง และน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ จึงเกิดปัญหาตามมาหลายประการ

ผมอยากทราบว่า รัฐบาลไทยมีแนวทางจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ในมุมมองของคุณหมอเกษตร มองอย่างไรและจะหาทางออกให้กับภาคการเกษตรของเราอย่างไร ขอข้อเสนอแนะด้วยครับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวผมเอง และผู้อ่านอีกจำนวนมาก ผมจึงถือโอกาสขอบคุณคุณหมอเกษตรมาเป็นการล่วงหน้า แล้วผมจะติดตามอ่านคอลัมน์หมอเกษตรต่อไปครับ

เรื่องเกี่ยวกับสภาวะทางภูมิอากาศ ผมขอนำข้อมูลจากผลงานวิจัยของ ดร. สมพร อิศรานุรักษ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพแวดล้อมพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ประเทศไทยในทุกๆ รอบ 10 ปี จะเกิดสภาวะแห้งแล้ง 4 ปี แล้งรุนแรง 2 ปี แล้งไม่รุนแรง 2 ปี น้ำท่วม 3 ปี และฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเป็นปกติเพียง 3 ปีเท่านั้น โดยใช้จำนวนลมพายุดีเปรสชั่นเป็นตัวชี้วัด ดังนี้

ปีใดที่พายุดีเปรสชั่นพัดเข้ามาในประเทศไทย 3 ลูก ฝนฟ้าจะเป็นปกติ หากน้อยกว่า 3 ลูก เกิดภาวะแห้งแล้ง แต่หากมากกว่า 3 ลูก จะเกิดภาวะน้ำท่วม ยิ่งพัดเข้ามาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ความรุนแรงจากน้ำท่วมย่อมเกิดขึ้นทันที ตัวอย่างเมื่อปี พ.ศ. 2554 พายุดีเปรสชั่นพัดเข้ามามากถึง 5 ลูก ความเสียหายเกิดขึ้นย่อมเป็นที่ประจักษ์ ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงที่สุดเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2485 จนทำให้ข้าวในที่ลุ่มภาคกลางสูญพันธุ์ไปแล้วก็มี หากนับเป็นวงจรก็จะอยู่ในรอบ 69 ปีพอดี ปัจจุบันนี้อาจมีการเบี่ยงเบนไปบ้าง เนื่องจากภาวะโลกร้อน แต่ธรรมชาติก็ยังคงดำรง ตราบใดที่น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่กว้างใหญ่ไพศาลที่เป็นแหล่งกักเก็บและปลดปล่อยพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์อย่างสม่ำเสมอไม่เสื่อมคลาย

กลับมามองภาคการผลิตการเกษตรของไทยเราบ้าง การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ต้องกลับมาทบทวนกันครั้งยิ่งใหญ่ โดยนำข้อมูลที่มีอยู่มากมาย (Big Data) มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาระดมสมองร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างใหญ่ อย่างนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอน

มองประเด็นปัญหาในภาพรวมให้ชัดเจน แล้วจัดลำดับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับสาขาอาชีพทางการเกษตร เพื่อหาวิธีการแก้ไข ผมขออนุญาตนำข้อมูลระดับครัวเรือนมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้

ข้าว มีพื้นที่เพาะปลูก 60.9 ล้านไร่ เกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำนา จำนวน 3.7 ล้านครัวเรือน ได้ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 27 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 11.50 ล้านตันข้าวสาร และส่งออก 9.8 ล้านตันข้าวสาร (ข้อมูล ปี 2560, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ภาวะฝนแล้ง อาชีพการทำนาจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ในทางกายภาพและชีวภาพ ข้าว เป็นพืชที่ใช้น้ำเปลืองที่สุด แต่ตัวข้าวเองบริโภคน้ำจำนวนไม่มาก ที่สิ้นเปลืองมากคือ ใช้ในการรักษาอุณหภูมิในแปลงนา และที่สำคัญช่วยควบคุมปัญหาวัชพืช

ข้าวโพด พื้นที่เพาะปลูก 7.1 ล้านไร่ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 4.4 แสนครัวเรือน ผลผลิตรวม 4.6 ล้านตัน

มันสำปะหลัง พื้นที่เพาะปลูก 8.5 ล้านไร่ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 5.5 แสนครัวเรือน ผลผลิตรวม 32 ล้านตัน อ้อย พื้นที่เพาะปลูก 9.5 ล้านไร่ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 3.3 แสนครัวเรือน ผลิตผลรวม 11 ล้านตัน

ยาง พื้นที่เปิดกรีด 18.8 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 4.4 ล้านตัน เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 1.4 ล้านครัวเรือน ปริมาณการส่งออกเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ปาล์มน้ำมัน พื้นที่ให้ผลผลิต 4.2 ล้านไร่ ต้องนำเข้า 1.8 แสนตัน

มะพร้าว พื้นที่เก็บเกี่ยวได้ 1.1 ล้านไร่ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 2.6 แสนครัวเรือน

ลำไย พื้นที่เก็บผลผลิตได้ 1.0 ล้านไร่ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 2.3 แสนครัวเรือน

มะม่วง เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 2.1 ล้านครัวเรือน ผลผลิตรวม 3.1 ล้านตัน ส่งออก 7.1 หมื่นตัน และ กล้วยไม้ เกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 2.2 หมื่นครัวเรือน ผลผลิตรวม 5.0 หมื่นตัน ส่งออก 2.7 พันล้านบาท เป็นตัวอย่าง

ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องนำตัวเลขข้างต้นมาวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาที่เกิดจากภาวะภัยแล้ง แล้วหาแนวทางและวิธีการชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างถูกต้อง และโปร่งใส อย่าให้เกิดเช่นเดียวกับในอดีตที่ผ่านมา นอกจากนี้ ต้องมีการอบรมวิธีการฟื้นฟูเกษตรกรผู้เสียหายอย่างเหมาะสมกับเกษตรกรในแต่ละสาขา ทั้งข้าว พืชไร่ พืชสวน ไม้ดอกไม้ประดับ การประมง และปศุสัตว์ หากร่วมมือกันทุกองค์กรอย่างจริงจังและจริงใจ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาวะภัยแล้งจะทุเลาเบาบางลง รัฐบาลได้เครดิตไปเต็มๆ

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร. สมวงษ์ ตระกูลสุข ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และความร่วมมือ ด้านการวิจัยพัฒนาการทดสอบพิษวิทยาของจุลินทรีย์และสารสกัดสำหรับพัฒนาชีวภัณฑ์

พร้อมนี้ ดร. พงศธร ประภักรางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ สวทช. ลงนามในความร่วมมือฯ ด้วย โอกาสนี้คณะผู้บริหารและนักวิจัย วว. ได้เยี่ยมชมและศึกษาดูงานของไบโอเทค ในด้านการวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ การวิจัยความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ ในวันที่ 24 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุม 405 ชั้น 4 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (CC) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นวาระที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยในส่วนของภาคเกษตร แม้จะยังไม่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก แต่กลับเป็นภาคที่มีความเสี่ยงสูงต่อสถานการณ์ภาวะโลกร้อน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2562 ที่กระทบพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง ต่อมาเพียง 2 สัปดาห์ เกิดพายุโซนร้อนฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันในภาคอีสานตอนล่าง มีพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 3.36 ล้านไร่ (ข้อมูลศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ณ วันที่ 20 กันยายน 2562)

ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศอย่างเห็นได้ชัด โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ประเมินไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2573 หรืออีก 11 ปีหลังจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรในทุกพื้นที่ทั่วโลกหากไม่มีการรับมือจริงจัง

การจัดอันดับดัชนีความเสี่ยงจากสภาพอากาศโลก ระหว่างปี ค.ศ. 1998 – 2017 ในรายงาน Global Climate Risk Index 2019 ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 10 ในปี ค.ศ. 2017 (สูงขึ้นจากอันดับที่ 20 ในปี 2016) และคาดว่าภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรไทยลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านสินค้าเกษตรของไทย คือ เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 6

ในขณะที่กลุ่มประเทศจีน นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา กลับได้รับอานิสงค์จากภาวะโลกร้อน เพราะอากาศอุ่นขึ้นทำให้ผลิตภาพการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 – 25 ซึ่งหากการคาดการณ์ถูกต้องจะกระทบศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลกอย่างแน่นอน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง สศก. ในฐานะหน่วยงานประสานหลักด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคเกษตร ได้ร่วมกับทุกหน่วยงานขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศด้านการเกษตร พ.ศ. 2560 – 2564 มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ภาคเกษตรไทยมีภูมิคุ้มกันและมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” และได้ดําเนินงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ