จากสถานที่เที่ยวเหล่านี้ผลักดันให้เกิดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยว

ในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ การนำพืชผัก ผลไม้ มาขาย มีของที่ระลึกขาย ตลอดจนอาชีพรับจ้างต่างๆ ที่ล้วนสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้ตลอดทั้งปี

‘ที่พักดอยแม่อูคอ บ้านปากาเกอะญอโฮมสเตย์’ เป็นสถานที่พักแนวแบ็คแพ็คตั้งอยู่ใกล้กับน้ำตกแม่สุรินทร์ทำให้ผู้พักมีความสุขจากการได้ยินเสียงน้ำที่ไหลจากภูเขา ตลอดจนบรรยากาศที่มีความชุ่มชื้นเย็นสบาย สามารถมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนมาก

นอกจากนั้น เจ้าของโฮมสเตย์แห่งนี้ยังทำสวนผสมอินทรีย์เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ขายให้แก่นักท่องเที่ยว แล้วยังนำมาปรุงอาหารให้แก่ผู้เข้าพักโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อ อีกทั้งยังมีสำหรับบริโภคในครอบครัวญาติพี่น้อง ช่วยให้ลูกค้าได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย แถมยังประหยัดต้นทุน

คุณการุณ คำสวัสดิ์ เจ้าของโฮมสเตย์ซึ่งเป็นชาวปกากะยอบอกว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำอาชีพนี้ ตัวเขาเคยมีอาชีพรับจ้างทั่วไปในเมืองกรุง ทำงานหลายปีไม่เคยมีเงินเก็บ จนได้เห็นพระราชกรณียกิจเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในโทรทัศน์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดเพื่อมาทำตามในผืนดินของครอบครัว

คุณการุณ ซึมซับแนวคิดและเรียนรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงจากพัฒนาชุมชน และสำนักงานเกษตร ขณะเดียวกันยังเติมความรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงจากการเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นทุกแห่ง แล้วนำข้อมูลมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตัวเอง ขณะเดียวกันยังถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้แก่ชาวบ้านที่สนใจ

กระทั่งเมื่อแนวคิดตกผลึก แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในแบบฉบับของคุณการุณจึงได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยกัน 2 ส่วน คือ การสร้างโฮมสเตย์ กับทำสวนเกษตรผสมผสาน โดยกิจกรรมทั้งสองส่วนจะต้องอยู่ภายใต้หลักคิดเริ่มต้นทำแต่น้อยๆ ใช้วัสดุอุปกรณ์ในพื้นที่โดยไม่ต้องลงทุน หรือใช้ทุนให้น้อยที่สุด เรียนรู้ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้การทำน้อยๆ จะช่วยให้ได้ผลดีมากกว่าการทำมากๆ หลายอย่างจนล้มเหลว จากแนวคิดนี้ทำให้คุณการุณสามารถต่อยอดกิจกรรมแต่ละชนิดแล้วประสบความสำเร็จได้อย่างง่าย

โฮมสเตย์ของคุณการุณมีชื่อว่า ‘ที่พักดอยแม่อูคอ บ้านปากาเกอะญอโฮมสเตย์’ สร้างขึ้นแบบเรียบง่ายแนวธรรมชาติ ที่ตั้งอยู่ติดกับต้นทางน้ำตกแม่สุรินทร์ จึงทำให้มีเสียงน้ำไหลเป็นเครื่องขับกล่อม มีอากาศเย็นชุ่มชื่นสบายตัว จึงเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการตลอดปี

ในช่วงเทศกาลดอกบัวตองคือราวเดือนพฤศจิกายน มักจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาเที่ยวแล้วจองห้องพักกันอย่างคึกคัก ทำให้สินค้า อาหาร ขายดีมาก ทั้งนี้ ราคาโฮมสเตย์คิดเป็นรายคน คนละ 150 บาท ต่อคืน ส่วนอาหารก็คิดเป็นรายคนเช่นกัน ในอัตราคนละ 70 บาท มีอาหาร 3 อย่าง เป็นอาหารพื้นบ้าน หรือผักเมืองหนาว ผักกูด มีไก่บ้าน ไข่เจียว ไข่ดาว

สวนเกษตรผสมที่เกิดจากความคิดคุณการุณจะใช้หลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทาง อันประกอบด้วยบ่อเลี้ยงปลาดุกและปลาไน ปลูกข้าว ปลูกพืชผัก ผลไม้ ปลูกกาแฟ และเพาะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อขายพันธุ์และทำปุ๋ย ซึ่งทุกกิจกรรมเน้นความเป็นอินทรีย์

ผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดขึ้นถูกนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการบริโภคในครอบครัวและใช้เป็นอาหารของแขกที่มาพัก เขายกตัวอย่างการปลูกข้าวให้ฟังว่า ใช้ข้าวดอย หรือภาษาท้องถิ่นเรียกข้าวดอยบือโปะโละ ที่มีลักษณะเมล็ดกลมคล้ายข้าวญี่ปุ่น เป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านพื้นเมืองปลูกกันมายาวนาน เป็นข้าวคุณภาพที่เกิดจากลักษณะภูมิประเทศที่มีความเย็น จึงไม่สามารถปลูกข้าวพันธุ์อื่นอย่างในพื้นที่ราบลุ่มได้ ทั้งนี้ จะเก็บแยกพันธุ์ข้าวไว้เพื่อนำมาใช้ปลูกในแต่ละรอบ

“ข้าวดอยดูแลไม่ยาก ใช้น้ำจากแหล่งน้ำบนเขา จะเริ่มปลูกข้าวราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนแล้วเก็บเกี่ยวประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ข้าวที่ปลูกไม่ต้องใส่ปุ๋ยยาอะไรเลย เพราะดินมีคุณภาพแล้วอากาศดีมาก ทั้งนี้ผลผลิตจากข้าวดอยที่เป็นข้าวซ้อมมือที่มีสรรพคุณช่วยแก้เหน็บชา ปวดตามแขนขา”

คุณการุณ ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ปลูกข้าวดอยในลักษณะเป็นกลุ่ม แล้วแปรรูปข้าวบรรจุเป็นแพ็คขาย ราคา 1 กิโลกรัม 70 บาท และครึ่งกิโลกรัม ราคา 35 บาท โดยขายตรงผ่านเฟซบุ๊ก อีกทั้งยังนำไปวางขายตามร้านต่างๆ หลายแห่งในละแวกพื้นที่ใกล้เคียง

“กาแฟ” เป็นพืชที่ชาวบ้านในพื้นที่ปลูกกันมายาวนาน ในสมัยก่อนชาวบ้านแยกกันขายผลผลิตกาแฟ แล้วประสบปัญหาราคาผันแปรจนบางครั้งกระทบกับรายได้ครัวเรือน แต่มาถึงตอนนี้พวกเขารวมตัวกันเป็นกลุ่มสร้างผลผลิตกาแฟพันธุ์อราบิก้าที่มีคุณภาพเนื่องจากปลูกในสภาพพื้นที่เหมาะสม แล้วแต่นับจากปี 2562 ทางราชการจะสนับสนุนเครื่องจักรก็คาดว่าจากนั้นชาวบ้านจะสามารถผลิตและแปรรูปได้เอง เกิดมีความเข้มแข็งขึ้น ช่วยให้มีรายได้มากขึ้น พร้อมกับการเพิ่มพื้นที่ปลูกเพื่อขยายกำลังการผลิตต่อไป

คุณการุณ เล่าว่า กาแฟเป็นพืชที่ปลูกมาในยุคคุณตาที่เริ่มปลูกเป็นรายแรก ตอนนี้คุณตาอายุ 108 ปี การปลูกกาแฟช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้ที่ยั่งยืน เพราะปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนาน ความรู้เรื่องการปลูกกาแฟใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมา ขณะเดียวกันในเรื่องเทคโนโลยีได้รับการแนะนำส่งเสริมจากทางเกษตรที่สูง

“จุดเด่นของกาแฟในพื้นที่คือเป็นกาแฟที่ปลูกแบบธรรมชาติไม่ได้ใส่ปุ๋ยยาบำรุงอะไรเลย โดยพื้นที่ปลูกมีลักษณะลาดชัน ขณะที่ชาวบ้านทุกครัวเรือนเลี้ยงหมู/ไก่กัน ดังนั้นมูลสัตว์เหล่านี้จะดูดซึมลงในดิน และบางส่วนไหลไปตามพื้นที่ปลูกพืชเป็นบริเวณกว้าง จึงทำให้ดินทุกแห่งมีความสมบูรณ์ ขณะเดียวกันป่าในพื้นที่มีความชื้นสูงเพราะอยู่ใกล้น้ำตก สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ผลผลิตกาแฟมีความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นกาแฟอินทรีย์ที่มีรสเข้มข้น หอมละมุน ถูกใจนักดื่ม”

ปลูกกาแฟในลักษณะรวมกลุ่มแบบเครือข่าย ผลผลิตกาแฟจะเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เป็นกาแฟที่ปลูกในสภาพธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์มาก ปลูกในระดับความสูงที่ได้มาตรฐาน โดยผลผลิตที่แปรรูปแล้วจะบรรจุใส่ซอง ใช้ชื่อ “9102” เป็นกาแฟที่มีความปลอดภัย สะอาด ราคากาแฟน้ำหนัก 400 กรัม ราคาถุงละ 150 บาท

อีกทั้งยังปลูกเสาวรสไว้จำนวน 1 ไร่ มีจำนวนประมาณ 50 ต้น ขายผลผลิตเป็นผลสดให้แก่พ่อค้าในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ทั้งนี้ ผู้มาเที่ยวก็สามารถซื้อในราคานี้ได้ โดยจะแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับคั้นเป็นน้ำผลไม้ไว้ให้ลูกค้าที่มาพัก แล้วขายดีมากให้แก่นักท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

แล้วได้ขุดบ่อเลี้ยงปลาดุกและปลาไน เพาะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อขายพันธุ์แล้วผลิตปุ๋ยไส้เดือนไว้ใช้เองแล้วมีจำหน่าย นอกจากนั้น ยังปลูกมะระหวาน หรือซาโยเต้ เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตตามต้นไม้ใหญ่ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยยาอะไรก็งอกงามสมบูรณ์ดีมาก มีขนาดใหญ่ แล้วล่าสุดกำลังเริ่มปลูกอะโวกาโด เขาชี้ว่าความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้พืชไม้ผลทุกชนิดมีคุณภาพ สมบูรณ์เต็มที่โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปุ๋ยยาแต่ประการใดเลย

ไม่เพียงผลผลิตทางการเกษตรที่คุณการุณผลิตและจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวและคนในชุมชน แต่เขายังจัดให้เป็นแหล่งทอผ้าพื้นเมืองของชาวปะกาเกอญอมีผ้าทอหลายแบบ หรือจะสั่งทอตามแบบ/ขนาดที่ลูกค้าต้องการ ทั้งนี้ เสื้อผ้าทอพื้นเมืองมีราคาเริ่มต้นที่ตัวละ 300 บาท

คุณการุณ ถือเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง หัวไว ใจสู้ ไม่ย่อท้อ แล้วมักลองทำทุกอย่างที่ท้าทาย ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างที่ไม่คาดฝันมาก่อน พร้อมกับได้รางวัลชีวิตตอบแทนด้วยการรับตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มโฮมสเตย์ แล้วยังเป็นสมาชิกกลุ่ม Young Smart Farmer อีกทั้งยังได้รับรางวัล Young Smart Farmer ดีเด่นของอำเภอขุนยวมด้วย

“จากเมื่อก่อนไม่เคยมีเงินเก็บจนกระทั่งตัดสินใจกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่บ้านเกิดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเห็นผลจริงตามที่พ่อหลวงสอน ทำให้ทุกวันนี้มีรายได้เป็นของตัวเอง มีเงินเก็บ มีโอกาสซื้อรถ และสิ่งของเครื่องใช้เป็นของตัวเอง มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น เพราะเราเริ่มต้นและใช้ชีวิตอย่างพอเพียงมาตลอด” คุณการุณ กล่าว

หากมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน อย่าลืมแวะไปเที่ยว “อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์” แล้วแวะพักแรมที่ “บ้านปากาเกอะญอโฮมสเตย์” พร้อมเลือกซื้อผลผลิตการเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (062) 983-0571 หรือเข้าไปส่องดูกิจกรรมต่างๆ ใน fb : ที่พักดอยแม่อูคอ บ้านปากาเกอะญอโฮมสเตย์

ที่บ้านน้อยจอมศรี อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำการเกษตร ทำนา ทำไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจาก “เขื่อนน้ำอูน” สำหรับทำการเกษตร ฉะนั้น ผู้ที่เดินทางไปจังหวัดสกลนคร จะพบพื้นที่เขียวชะอุ่มไปด้วยข้าวนาปรัง พืชฤดูแล้ง ตลอดจนบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงกบ ห่างตัวเมืองสกลนคร ประมาณ 12 กิโลกรัม มีหมู่บ้านเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของเมืองสกลนคร คือ บ้านน้อยจอมศรี ต.ฮางโฮง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่มีกลุ่มอาชีพหลากหลาย อาทิ กลุ่มทำหมอนขิด กลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มเลี้ยงปลา และกลุ่มเลี้ยงกบ

โดยเฉพาะกลุ่มเลี้ยงกบ ที่มีมากที่สุดของจังหวัดสกลนคร กว่า 10 รายคุณรัตนา ศรีบุรมย์ และคุณกมลชัย ศรีบุรมย์ อยู่บ้านเลขที่ 218 ตำบลฮางโฮง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร สองสามีภรรยา เป็นหนึ่งในกลุ่มเลี้ยงกบ ที่กบพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ กว่า 3,000 ตัว โดยคุณรัตนา เล่าว่า ก่อนเลี้ยงกบเป็นอาชีพ ได้ทำนาและทำไร่มาก่อน รวมทั้งเป็นลูกจ้างกรรมกรในตัวเมือง

“นอกจากทำนาปลูกข้าวแล้ว ชาวบ้านแห่งนี้ยังมีอาชีพเสริมคือการการเกษตรปลูกพืชฤดูแล้งเลี้ยงสัตว์ และบางส่วนเลี้ยงกบ ขายพันธุ์กบเป็นส่วนน้อย เน้นขายตัวอ่อนของกบหรือฮวก (ลูกอ๊อด) เป็นส่วนใหญ่ โกยเงินเป็นล่ำเป็นสันเรียกกันว่า “เถ้าแก่น้อย” ในหมู่บ้าน”

คุณกมลชัย กล่าวอีกว่า จากที่เห็นเพื่อนบ้านทำนาและเลี้ยงปลา กบเสริมแล้วทำให้มีรายได้ จึงศึกษาและนำกบมาทดลองเลี้ยงจนเกิดความชำนาญ จากแต่ก่อนเลี้ยงเพียงไม่กี่ร้อยตัว ก็เพิ่มจำนวนเลี้ยงขึ้นมาเป็นหลายพันตัว จากเดิมไม่มีคนรู้จัก ก็มีลูกค้ามาซื้อกบถึงบ้าน บรรดาเพื่อนบ้านที่เลี้ยงกบต่างมีรายได้ต่อปีหลายแสนบาท บางรายตั้งเป้าทำกำไรจากกบตัวละ 1 บาท หากขายได้ปีละ 1 ล้านตัว ก็มีรายได้ 1 ล้านบาท

“เมื่อ 5 ปีก่อน เริ่มเลี้ยง และนำเงินทุนที่มีอยู่ไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบเหลืองหัวเขียว และกบพื้นบ้าน ประมาณ 20-30 ตัว พ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบกิโลกรัมละ 50-70 บาท ตัวขนาด 2 นิ้ว 1 กิโลกรัม ได้ประมาณ 40 ตัว ลงทุนลงแรงเลี้ยงกบในที่นาตัวเอง โดยใช้ท่อปูนชีเมนต์ร่วมกับภรรยาเพียง 2 คน”

คุณกมลชัย เล่าว่า การเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ เพื่อผลิตตัวอ่อนหรือลูกอ๊อด มีขั้นตอนการเลี้ยงยุ่งยากกว่าเลี้ยงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดอื่น ใจไม่สู้ เลี้ยงไม่ได้ไปไม่รอด ปัจจุบัน ตนมีกบพ่อพันธ์ จำนวน 2,000 ตัว แม่พันธุ์ 2,000 ตัวเศษ โดยกบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เหล่านี้ จะถูกนำมาเลี้ยงไว้ที่ท่อซีเมนต์ กว่า 30 ท่อ แต่ละท่อจะมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปล่อยเลี้ยงประมาณ 50-60 ตัว

ส่วนการผสมพันธุ์นั้น เริ่มจากใช้คันนาดินที่เป็นบ่อกั้นไว้ให้แล้ว นำตาข่ายไนล่อนพลาสติก ภาษาอีสานเรียก “ดาง” หรือ “ผ้าแหยง” รูถี่ มาขึงกางตาข่าย กว้าง 1.20 เมตร ความยาวแล้วแต่ขนาดคันนาเป็นมาตรฐาน ใช้ไม้ไผ่สูงขนาดเท่ากับตาข่ายค้ำยัน กั้นเพื่อขึงตาข่ายให้ตึง ป้องกันกบกระโดดหนีระยะห่าง 2 เมตร ต่อเสา และควรกั้นไว้หลายๆ บ่อเพื่อคัดแยกขนาดของกบและลูกอ๊อดออกจากกัน

“กบพันธุ์ไม่แข็งแรงเหมือนกบนาจะกระโดดเฉพาะช่วงผสมพันธุ์กันและมีฝนตก และควรเตรียมบ่อผสมพันธุ์ไว้ ตามต้องการแต่ควรเว้นระยะเนื่องจากการจำหน่ายต้องไม่ขาดช่วงหากทำพร้อมกันจะทำให้กบไข่มากทำให้ขายไม่ทัน”

วิธีการ คือ นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ ที่คัดแยกจากท่อที่เลี้ยงไว้ 4 ท่อ และตัวเมีย 4 ท่อ รวม 8 ท่อ นำตัวผู้และตัวเมียอย่างละ 200 ตัว รวม 400 ตัว ผสมเยอะไม่ได้ กบจะกระโดดหนีใส่ตาข่ายจนบาดเจ็บปากแดง

วิธีคัดแยกกบมาผสมกัน สังเกตกบตัวผู้จะคางย่นพอง ควรให้ผสมพันธุ์กันในช่วงเย็น ถ้าฝนไม่ตกให้เปิดน้ำแทนฝนจะผสมพันธุ์กันดี พอรุ่งเช้าให้แยกตัวผู้ตัวเมียกลับท่อ ถ้าแดดร้อนจัดลูกอ๊อดจะขยายพันธุ์รวดเร็ว ถ้าไม่มีแดดต้องรอข้ามคืน ตกเย็นในวันเดียวกันจะเห็นลูกอ๊อดลอยน้ำในบ่อผสม ช่วงนี้ลูกอ๊อดจะกินคราบไข่ในบ่อผสมก่อน 2 วัน ถึงจะให้อาหารเป็นหัวอาหารเมล็ดที่ใช้เลี้ยงปลา แล้วนำไปลงบ่ออนุบาลและอีก 5 วัน ก็นำลูกออ๊ดออกจากบ่ออนุบาลไปลงที่บ่อดินที่เตรียมไว้

นอกจากนี้ ควรห้สังเกตปริมาณลูกกบว่าในบ่อมีลูกอ๊อดมากน้อยหรือไม่ หากให้อาหารเยอะไปลูกอ๊อดจะตาย แรกๆ ลูกอ๊อดอยู่ในน้ำใส ข้อควรระวังยิ่งควรปรับสภาพน้ำให้เขียวขุ่น โดยใช้น้ำหมักชีวภาพที่รดใส่แปลงพืชผักผสมกับกากน้ำตาลเทใส่บ่อเพื่อสร้างอุณหภูมิปรับน้ำให้เขียว เพื่อให้ลูกอ๊อดอำพรางตัวไม่ให้เห็นกัน ถ้าอยู่ในน้ำใสตัวใหญ่จะกินตัวเล็ก เป็นธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้ ระยะเวลาหลังผสมพันธุ์กันเสร็จ 25 วัน ลูกอ๊อดจะโตเต็มที่จะขายได้ ตัวใหญ่และได้น้ำหนัก ดีนับร้อยกิโล ขึ้นไป

คุณรัตนา บอกว่า สิ่งที่ต้องทำและหมั่นเอาใจใส่ คือ เมื่อลูกอ๊อดโตได้ 5 วัน ให้รีบเอาออกจากบ่อผสมพันธุ์ นำพักไว้ในบ่อดินที่เตรียมไว้ หลังคัดเกรดเสร็จก็ควรจะกระจายลงไปในบ่อที่ว่างอีก จากนั้น ต้องคัดตัวใหญ่แยกออกจากตัวเล็กที่ไม่สมบูรณ์ ไม่อย่างนั้นลูกอ๊อดกินกันเองไม่เหลือผลผลิตตามเป้า และควรให้หัวอาหารเช้าเย็นวันละ 2 กระสอบ

“การเลี้ยงกบนั้น ไม่ได้ศึกษาจากที่ใด อาศัยประสบการณ์ลองผิดลองถูกเมื่อมีปัญหาก็จะไปสอบถามคนที่เลี้ยงมาก่อน ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำเป็นอย่างดี ปัจจุบัน กบของตัวเองที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หนึ่งตัวจะสามารถผสมเพาะได้ ถึง 10-12 ครั้ง/ตัว หลังจากนั้นก็จะนำออกมาจำหน่ายเพราะกบเรียกกันว่าโทรมมากแล้ว จากนั้นจะคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ใหม่ มาทดแทน ฤดูกาลของลูกอ๊อดผลผลิตจะเริ่มออกในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม แต่จะออกเยอะในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน เนื่องจากมีอากาศเย็นและมีฝนตกลูกอ๊อดไม่ค่อยตาย ต้นฤดูที่ผสมใหม่ๆ จะทำเงินให้สูงตกกิโลกรัมละ 200-250 บาท”

คุณรัตนา บอกอีกว่า ทุกวันนี้สามารถขายได้วันละ 30-50 กิโลกรัม โดยได้ใช้วิธีเพาะพันธุ์แบบให้เป็นเว้นระยะไม่ทำครั้งเดียว เพราะถือว่าทำได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง จะอยู่ที่วันละ 4,500-6,000 บาท ซึ่งหากหักค่าใช้จ่ายจากพวกหัวอาหารแล้วก็มีกำไรมากกว่าครึ่งของรายได้

การเลี้ยงกบหากมองดูจริงแล้วไม่ยากอย่างที่คิด ปัญหาอยู่ที่ความขยันขันแข็ง ทำแล้วเลี้ยงแล้วต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่ ไม่ปล่อยเป็นกบ “เทวดาเลี้ยง” และคนเลี้ยงกบต้องรู้จักศึกษาอ่านหนังสือหาความรู้และสังเกตกบว่าเป็นอย่างไร และควรปรับเปลี่ยนไปตามนั้นเพราะประสบการณ์จะทำให้เราได้เรียนรู้ดีกว่าการอ่านแล้วมาลองทำ เพราะอาจทำให้เสียเวลาได้ สุดท้ายก็เสียเงิน ล้มเหลว ไม่ประสบผลสำเร็จ

ผู้สนใจท่านใดอยากได้รายละเอียดหรือติดต่อสอบถามข้อมูล ได้ที่คุณรัตนา ศรีบุรมย์ โทร 088-5160013 ได้ทุกวัน

โดยทั่วไปแล้วการจำแนกกล้วยในทางกายภาพของทั้งโลกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กล้วยกินสด กับ กล้วยที่ต้องปรุงให้สุกโดยการประกอบอาหารเสียก่อน

กล้วยกินสด เป็นกล้วยที่เมื่อแก่จัดจนสุกก็สามารถนำมารับประทานได้ทันที โดยไม่ต้องนำมาทำให้สุกด้วยความร้อนเสียก่อน เพราะกล้วยสำหรับกินสดนี้เมื่อสุกเนื้อจะนิ่มนวล มีรสหวาน เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว เป็นต้น

กล้วยที่ใช้ประกอบอาหาร เป็นกล้วยที่เมื่อยังดิบอยู่จะมีแป้งมาก เนื้อค่อนข้างแข็ง ดังนั้นเมื่อสุกแล้วก็ยังมีปริมาณแป้งอยู่มาก เนื้อกล้วยในกลุ่มนี้ไม่ค่อยนิ่ม รสไม่หวานมาก ต้องนำมาต้ม เผา ปิ้ง เชื่อมก่อนจึงจะทำให้อร่อย มีรสชาติดีขึ้น เช่น กล้วยกล้าย กล้วยหักมุก เป็นต้น

นักโภชนาการบางคนจึงเรียกกล้วยสองกลุ่มนี้ด้วยคำที่แตกต่างกันไปเลย คือ เรียกกล้วยกินสดว่า “กล้วย” และเรียกกล้วยที่ต้องปรุงสุกว่า “กล้าย” โดยใช้ปริมาณแป้งที่แตกต่างกันนี่เองเป็นตัวแบ่งประเภท

ซึ่งในหลายประเทศก็แยก กล้าย ออกจาก กล้วย ไปเลย เช่นที่ตลาดอเมริกาบอกว่า “กล้าย” ไม่ใช่ “กล้วย” โดยเรียกกล้ายว่า Plantains ใช้กินเป็นผักเพราะมีแป้งมากกว่าและหวานน้อยกว่า นิยมปรุงให้สุกเป็นอาหารมากกว่ารับประทานแบบผลไม้สด

ลักษณะที่โดดเด่นของกล้าย คือ มีขนาดลูกค่อนข้างใหญ่ อ้วน มีเปลือกหนา สีเขียว เหลือง หรือดำ เป็นสีเปลือกที่ใช้บอกสถานะของความสุกงอมได้ตามลำดับ

นักนิยมชมชอบการกินกล้วย ขอให้รับรู้กันไว้เลยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานี่เองแหละ คือศูนย์กลางความหลากหลายของกล้วย ทั้งกล้วยป่าและกล้วยพันธุ์นานาชนิด แต่เราก็ไม่ค่อยแยกความแตกต่างระหว่าง กล้วย กับ กล้าย แบบที่ฝรั่งเขานิยมกันนัก

ในอินเดียนิยมนำกล้ายมาบดเป็นแป้งเรียก แป้งกล้าย ใช้ปรุงอาหารจำพวกเค้ก คุกกี้ และขนมต่างๆ บางประเทศจะติดฉลากกล้ายว่า Platanos หรือ Plantains นิยมนำมาปรุงอาหารด้วยการย่างหรือทอด กินกับปลาหรือไก่ คล้ายมันฝรั่ง ในหลายประเทศนิยมทอดในเนยให้เหลืองหอมแล้วกินกับน้ำผึ้งหรือซอสนานาชนิด บ้างก็ยังไส้ชีส กินตอนร้อนๆ เป็นอาหารประจำฤดูหนาว

หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าฝรั่งเขามีวิธีกินกล้วยแปลกไปกว่าบ้านเราหลายอย่าง คือ นำกล้วยหอมสุกไปแช่แข็งแล้วเอามาบดด้วยเครื่องปั่นให้เหลวเละเติมครีมปั่นจนเนื้อละเอียด ฉันเห็นพวกเขากินขณะเย็นจัดอย่างเอร็ดอร่อยเหมือนไอศกรีมเลย แต่ลองชิมดูแล้วรสชาติไม่น่าจะถูกปากคนไทยนัก เพราะมันหวานเลี่ยนๆ แหยะๆ เละๆ พิกล แถมยังมีกลิ่นกล้วยฟุ้งหนักเกินไป คนละแบบกับกินกล้วยหอมสุกเทียบกันไม่ได้เลย และฉันเคยเห็นตามซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองนอกว่าเขามีกล้วยเหลวจุกระป๋อง( Banana Puree) ขายด้วยแต่ไม่รู้ว่าเขาเอาไปปรุงอาหารอะไร หรือว่าอาจจะเอาไปกินสดๆเลยก็ได้

มีคนเล่าให้ฟังว่า ที่อินโดนีเซียชาวบ้านที่นั่นเขาทำกล้วยบวดชีเหมือนกัน แต่วิธีทำแตกต่างไปจากบ้านเรา คือ เขาจะใช้กล้วยห่ามเชื่อมกับน้ำตาลให้ความหวานเข้มข้นเข้าเนื้อก่อน จากนั้นจึงใส่กะทิสดในหม้อ เติมกล้วยที่เชื่อมแล้วและเนื้อมะพร้าวอ่อนลงไป ตั้งไฟพอเดือดอีกครั้ง แล้วเติมเกลือพอเค็มๆมันๆ สุดท้ายตามด้วยแป้งมันอีกรอบเพื่อเพิ่มความเข้มข้นให้น้ำ ได้กล้วยบวดชีเหนียวหนึบอร่อยแปลกไปอีกแบบ คิดอยู่เหมือนกันว่าจะลองทำดูสักหน่อย แต่ยังไม่มีเวลาทดลองเลย

สำหรับบ้านเรานั้น คนไทยรู้จักวิธีพลิกแพลงทำอาหารแปรรูปจากกล้วยมากมายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกล้วยตาก กล้วยทับ กล้วยปิ้ง กล้วยแขก กล้วยกวน กล้วยต้ม ข้าวเกรียบกล้วย กล้วยแผ่น กล้วยเชื่อม กล้วยอบน้ำผึ้ง กล้วยบวดชี แกงกล้วย กล้วยอบกรอบ และสารพัดกล้วย

กล้วยยอดนิยมหลักๆ ของเราก็หนีไม่พ้น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง เป็นต้น เหล่านี้เป็นกล้วยนิยมกินสดตอนสุกกันทั้งสิ้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่กินดิบกันเสียเลย เช่น เราเอากล้วยดิบมากินแนมกับอาหารเวียดนามจำพวกแหนมเนืองบ้าง เอาไปทำส้มตำกล้วยดิบบ้าง โดยนิยมกินทั้งเปลือกเพื่อให้ได้รสฝาดของเปลือกและรสมันแบบแป้งกล้วยไปตัดกับรสชาติผักอื่นๆที่เป็นเครื่องเคียง นอกจากนั้นทางภาคใต้ยังนิยมเอากล้วยน้ำว้าดิบไปทำเป็นแกงลูกกล้วย ซึ่งเป็นแกงกะทิปักษ์ใต้รสจัดเข้มข้นที่แสนเอร็ดอร่อย

สำหรับกล้วยที่นิยมกินแบบปรุงสุกของเรา ที่โดดเด่นเป็นเอกไม่มีใครเทียบได้เลยก็คือ “กล้วยหักมุก”กล้วยหักมุกเมื่อวางเทียบกับกล้วยชนิดอื่นแล้ว จะเห็นได้ชัดว่ามีผลใหญ่กว่า ก้านผลยาว ปลายผลลีบเรียวลงและมีเหลี่ยมชัดเจน ลักษณะเปลือกหนา เมื่อสุกเปลือกจะมีสีเหลืองอมน้ำตาล เนื้อผลจะมีสีเหลืองเข้มอมส้ม

นอกจากกล้วยหักมุกสายพันธุ์ดั้งเดิมแล้ว เดี๋ยวนี้ยังมี “กล้วยหักมุกทอง” ซึ่งเป็นกล้วยที่เจริญได้ดีในที่ดอนไม่ชอบน้ำมากเหมือนกล้วยน้ำว้า ลักษณะพิเศษของกล้วยหักมุกทอง คือ ขนาดผลเล็กกว่ากล้วยหักมุกทั่วไปมาก เกือบจะใกล้เคียงกับกล้วยน้ำว้า และเปลือกจะบางเนียนเรียบไม่แตกลายงาเมื่อตอนแก่จัด สีผลเมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองทองไม่กระดำกระด่าง ขนาดเครือยาว และผลดก หัวปลีกล้วยหักมุกทองจะมีรสฝาดแต่ยังพอรับประทานได้ แต่หัวปลีของกล้วยหักมุกธรรมดาจะฝาดขมมาก

สุดยอดของการรับประทานกล้วยหักมุกในบ้านเราก็คือการเอามาทำ “กล้วยปิ้ง” โดยนิยมใช้กล้วยหักมุกที่แก่จัดสุกจนเกือบงอมมากรีดเปลือกออกด้านหนึ่งออกแล้วย่างไฟทั้งเปลือกจนสุกเหลืองทั่วทั้งผล กินตอนที่ยังร้อนๆ เพิ่งเอาออกจากเตาย่างใหม่ๆจะได้รสชาติเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ การปิ้งกล้วยหักมุกแบบนี้เห็นได้ทั่วไปตามตลาดสดที่ขายกล้วยปิ้ง

บางบ้านถ้าย่างกินกันเอง อาจใช้วิธีผ่ากลางครึ่งผลทั้งเปลือกเลย ระหว่างปิ้งก็ทาเกลือหรือน้ำผึ้ง น้ำกะทิลงไปได้ แล้วแต่ชอบ ปิ้งไฟอ่อนถึงปานกลางจนเปลือกนอกสีดำเกรียมนั่นแหละถึงจะสุกจริง กลิ่นไหม้ของเปลือกกล้วยจะช่วยชูรสของกล้วยหักมุกปิ้งอย่างแรง

วิธีกินกล้วยหักมุกแบบดั้งเดิมอีกอย่างคือ “กล้วยหักมุกเผา” ซึ่งนิยมกันมาแต่ดั้งเดิมในบ้านที่ใช้เตาถ่านทำกับข้าว โดยจะเอากล้วยยัดใส่เตาถ่าน หมกไว้ตรงชั้นล่างกับกองขี้เถ้า พอทำอาหารเสร็จกล้วยเผาก็สุกได้ที่กำลังดี โดยเปลือกข้างนอกจะดำปี๋ไหม้เกรียม แต่ข้างในนั้นสุกหวานหอม แกะเปลือกออกมาควันฉุย เห็นเนื้อกล้วยสีทองอร่าม กินเปล่าๆโดยไม่ใส่อะไรก็ได้รสชาติของกล้วยธรรมชาติหอมกรุ่น ถ้าชอบหวานหน่อยอาจราดน้ำผึ้งหรือนมสด

บางคนบีบมะนาวลงไปด้วยกลายเป็นกล้วยสามรส

แต่สำหรับกล้วยหักมุกทองซึ่งเปลือกค่อนข้างบางนั้นจะย่างแบบกล้วยหักมุกทั่วไปไม่ได้ เพราะอาจจะไหม้ก่อนสุกได้ หรือถ้าย่างไฟอ่อนนานๆเนื้อกล้วยก็อาจจะแห้งเกินไปจนแข็งไม่น่ารับประทาน ดังนั้น จึงนิยมนำกล้วยหักมุกทองไปทำกล้วยเชื่อมมากกว่า

พูดถึง “กล้วยเชื่อม” นี่ที่สุดของความอร่อยก็ต้องยกให้กล้วยหักมุกเช่นกันค่ะ เพราะแป้งที่มีอยู่เยอะในกล้วยหักมุก เมื่อนำไปเชื่อมจะไม่เละเหมือนกับกล้วยไข่หรือกล้วยหอมเชื่อม แต่จะแข็งกำลังดี เหนียวหนึบกรุบๆ ให้รสสัมผัสที่ดีมาก เทียบกับกล้วยน้ำว้าเชื่อมหักมุกก็อร่อยกว่า แถมตอนเชื่อมเสร็จแล้วก็ยังคงมีสีเหลืองทองเหมือนเดิม ไม่เหมือนกับกล้วยน้ำว้าที่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ

นอกจากทำกล้วยเชื่อมแล้วยังมีผู้นิยมนำกล้วยหักมุกไปทำ “กล้วยกวน” ด้วย เพราะเนื้อกล้วยหักมุกซึ่งมีแป้งอยู่มาก เมื่อนำไปกวนจะแข็งได้รูปเองโดยไม่ต้องใส่แบะแซ และมีสีน้ำตาลอ่อนไม่ดำปี๋เหมือนกล้วยน้ำว้ากวน เวลากวนก็ไม่ต้องใส่น้ำตาลเลยเพราะความหวานจะออกจากเนื้อกล้วยมาเอง

เคยได้ยินมาว่ามีคนทดลองนำกล้วยหักมุกไปแปรรูปเป็นเฟรนช์ฟรายด์กล้วยหักมุกด้วย แต่ก็ไม่เคยเห็นและไม่เคยชิมจึงไม่รู้จะเล่าให้ฟังได้อย่างไร ส่วนกล้วยทอดนั้นก็ยังไม่เคยเห็นว่ามีแม่ค้ารายไหนเอากล้วยหักมุกมาทำกล้วยทอด

เดี๋ยวนี้แค่จะหากล้วยหักมุกปิ้งกินตามตลาดสดยังยากเลย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

อาจเป็นไปได้ว่าเทียบกับเมื่อก่อนแล้วกล้วยหักมุกมีราคาแพงขึ้นมาก แพงขึ้นเรื่อยๆเพราะไม่ค่อยมีใครปลูกกันแล้ว เนื่องจากปลูกยากกว่ากล้วยชนิดไหนๆและใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะออกผล จึงทำให้ผลผลิตมีน้อยลง

เกษตรกรที่ปลูกกล้วยเล่าให้ฟังว่า โดยปกติแล้วต้นกล้วย 1 ต้นตั้งแต่เริ่มโตจนออกเครือต้องใช้เวลาเฉลี่ย 1 ปี ต้นหนึ่งได้ผลผลิตเพียง 1 เครือ เมื่อออกเครือแล้วต้นกล้วยก็จะตาย แต่กล้วยหักมุกใช้เวลามากกว่า 1 ปีถึงจะออกเครือได้ทำให้คนไม่ปลูกจึงหาซื้อยาก

ที่ตลาดสดประชานิเวศน์1 มีแม่ค้าขายกล้วยหักมุกปิ้งอยู่เจ้าหนึ่ง เธอเล่าให้ฟังว่าเดี๋ยวนี้หาซื้อกล้วยหักมุกยากมากจริงๆ เธอต้องไปเสาะหาแหล่งปลูกไกลถึงราชบุรีและสั่งซื้อเป็นประจำให้มาส่งถึงที่ ไม่เช่นนั้นจะหากล้วยไม่ได้เลย พอได้กล้วยมาแล้วต้องใช้แปรงปัดทำความสะอาดให้ดีก่อนนำไปห่อหนังสือพิมพ์บ่มให้สุกด้วยแก๊สก้อนประมาณ 3 – 5 วัน ถึงจะใช้ได้

ส่วนการปิ้งนั้นต้องใช้ถ่านดีๆ เพื่อให้ได้ความร้อนสม่ำเสมอ ที่นิยมที่สุดคือถ่านจากไม้โกงกาง แต่ทุกวันนี้แทบหาซื้อไม่ได้แล้วเพราะไม้โกงกางหมดป่า ก็ต้องใช้ถ่าจากไม้ชนิดอื่น จะย่างโดยใช้ไฟอ่อน นานเกือบ 30 นาทีจึงจะสุกถึงไส้ในและต้องคอยกลับพลิกด้านอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สุกจนทั่วถึงทั้งลูก

เมื่อก่อนแม่ค้าขายใบละ 2-3 บาท เดี๋ยวนี้สู้ต้นทุนไม่ไหวเลยขึ้นราคาไปที่ใบละ 5 บาทมาหลายปีแล้ว วันไหนกล้วยลูกใหญ่หน่อยก็เพิ่มเป็น 6 บาท ทราบมาว่าบางแหล่งกล้วยหักมุกปิ้งราคาขายอยู่ที่ใบละ 7 บาทขาย 3 ใบ 20 บาท แพงมาก แต่คนที่ชอบกินก็จะซื้อ เพราะสะดวกกว่าเสาะหาไปปิ้งกินเอง

มีเพื่อนนักจ่ายตลาดบางคนบอกว่าตลาดสะพานขาว-มหานาค และตลาดคลองเตย ยังพอเห็นกล้วยหักมุกขายกันอยู่เยอะ หวีละ 25-30 บาท แต่สำหรับคนที่จะกินแค่ไม่กี่ลูก คงไม่คุ้มค่าที่จะฝ่าฟันการจราจรเขาไปซื้อกล้วยสดทีละหวีสองหวีใจกลางเมือง ยอมจ่ายให้แม่ค้าที่ตลาดใกล้บ้านหรือที่ทำงานดีกว่า เฉลี่ยต้นทุนการเดินทางและเสียเวลาตอนปิ้งย่างแล้ว เผลอๆซื้อจากแม่ค้าถูกกว่าหลายเท่า

ที่สำคัญบ้านสมัยใหม่ จะหาเตาถ่านที่ไหนมาปิ้งกล้วย ดังนั้น วันไหนที่ผ่านไปตลาดแล้วเจอกล้วยหักมุกปิ้ง ฉันก็จะขนซื้อมาเลยทีละ 10 ลูก เอามาใส่ในตู้เย็นไว้ เวลาจะกินค่อยเอาออกมาอุ่นในเตาอบ หรือเตาไมโครเวฟก็ได้ เหมาะที่สุดสำหรับเป็นอาหารเช้าอุ่นท้องค่ะ เช้าละ 2 ลูกก็จุกแล้ว