จากเรื่องราว ส้มโอขาวแตงกวาไม้ผลเศรษฐกิจเงินแสน

ของเกษตรกรที่ศิลาดาน” เป็นการรวมกลุ่มปลูกแบบ “แปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาตำบลศิลาดาน” ได้ร่วมกันฟื้นฟูปลูกและผลิตด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ให้ได้ผลผลิตคุณภาพ มีตลาดรองรับและส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มีความมั่นคงที่ยั่งยืน

สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณลุงเรวัตร อินทร์เอม 82/2 หมู่ที่ 6 บ้านต้นมะขาม ตำบลศิลาดาน อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โทร. 081-379-7074 หรือที่ คุณลุงสุภาพ สุขสำราญ 45 หมู่ที่ 4 บ้านหาดมะตูม ตำบลศิลาดาน อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โทร. 089-272-2531 หรือที่ คุณมาโนช เทียนขาว เกษตรอำเภอมโนรมย์ โทร. 081-379-7074 ก็ได้ครับ

คุณวุฒิชัย ทองเล่ม อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 1 บ้านแสนสิทธิ์ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. 091-028-3692 เล่าให้ฟังว่าได้ปลูกมะยงชิดมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2550 มีเหตุจูงใจให้ต้องมาทำสวน เดิมทีก็ทำงานในบริษัทเอกชนที่จังหวัดลำปาง แต่ได้ขอลาออกเพื่อมาดูแลพ่อ และสานต่องานสวน ก็เลือกที่จะปลูกมะยงชิด เพราะเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ซึ่งเป็นเนินเขาสลับกับพื้นราบ มีความแห้งแล้ง มะยงชิดน่าจะเหมาะสม ธรรมชาติของมะยงชิดไม่ชอบน้ำอยู่แล้ว มีความทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ทำให้ประหยัดการใช้น้ำ ทนแดด ได้เลือกมะยงชิดสายพันธุ์ทูลเกล้า ได้กล้าพันธุ์มาจากจังหวัดนครนายก เหตุผลที่ใช้สายพันธุ์ทูลเกล้า เพราะให้ผลโต เมล็ดเล็กหรือเมล็ดลีบ น่าจะมีคุณภาพ จำนวนต้นที่ปลูก 400 ต้น ปลูกระยะห่างระหว่างต้น 4×4 เมตร ใช้แรงงานภายในครอบครัว คือ ตนเองกับพี่สาวเป็นผู้ดูแล

คุณวุฒิชัย ทองเล่ม ได้อรรถาธิบายให้ฟังว่า ต้นมะยงชิดของตนมีอายุ 10 ปี ผ่านการดูแลตั้งแต่ต้นยังเล็ก จนโตให้ผลผลิตมาหลายปี จึงขอเล่าถึงการปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยวผลไปแล้ว

หลังการเก็บผลมะยงชิด จนหมดรุ่นแล้วก็จะเริ่มปฏิบัติการในการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นมะยงชิดแตกใบอ่อนอย่างมีคุณภาพ อย่างน้อย 2 ชุดใบ และเตรียมความพร้อมให้ต้น กิ่ง ใบ มีความสมบูรณ์ พร้อมที่จะให้ผลผลิตในฤดูกาลต่อไป แต่ก่อนการเริ่มที่จะตัดแต่งกิ่ง ทางดิน จะบำรุงต้นด้วยการใส่ปุ๋ยคอกที่ใช้วัตถุดิบจากมูลวัว มูลไก่ หรือแกลบผสมมูลไก่ แล้วทอดระยะเวลาสักพัก จึงจะตัดแต่งกิ่ง นำใบ กิ่งแขนงเล็กๆ กลบไว้ที่โคนต้นของมะยงชิด เพื่อจะรักษาความชื้นในดิน

หลังจากนั้นก็จะให้น้ำตลอดเป็นระยะๆ โดยให้น้ำประมาณเดือนละครั้ง ไม่ได้ให้น้ำถี่หรือบ่อย เพราะมะยงชิดเป็นไม้ผลที่ทนแล้งอยู่แล้วโดยธรรมชาติ กับอีกเหตุผลหนึ่งถ้าให้น้ำถี่ ต้นมะยงชิดก็จะแตกใบมาก ซึ่งไม่เหมือนการดูแลเมื่อครั้งแรกเริ่มที่ปลูกต้นมะยงชิดใหม่ๆ จะให้น้ำในปริมาณมาก และมีความถี่ เพื่อให้ต้นแตกยอดดี โตไว

แต่เมื่อต้นโตแล้ว การดูแลก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะเราต้องการผล คุณภาพของผลมะยงชิด โดยปกติจะดูแลให้ต้นมะยงชิดแตกใบ 2 ชุดใบ แต่ละชุดใบเมื่อแตกยอดอ่อนจะฉีดพ่นปัจจัยต่างๆ เพื่อควบคุมคุณภาพของใบ ป้องกันไม่ให้แมลงมากัดกินใบอ่อน

จากนั้นจะดูแลด้วยการให้ธาตุอาหาร ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และให้ปุ๋ยเร่งดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ต้องดูสถานการณ์ด้านลม ฟ้า อากาศด้วย บางครั้งก็ให้ปุ๋ยเร็วกว่านี้ เท่าที่ปฏิบัติการให้ปุ๋ย หากเป็นใบอ่อนชุดแรก จะให้ปุ๋ยพอประมาณ ซึ่งในชุดนี้จะแตกใบไม่มากนัก และมักมีแมลงมารบกวน แต่ถ้าเป็นใบชุดที่ 2 หรือ 3 จะให้ปุ๋ยในปริมาณมาก

นอกจากนั้น ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน จะให้ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 แล้วให้น้ำในปริมาณที่มาก จากนั้นก็จะถึงช่วงเวลาแห่งการรอคอย คือช่วงการเปิดตาดอก ซึ่งมีความสำคัญมาก คุณวุฒิชัย บอกว่า การเปิดตาดอกของสวนแห่งนี้จะใช้แคลเซียมคาร์บอเนต และแคลเซียมฟอสเฟต โดยจะให้แคลเซียมฟอสเฟตก่อน ซึ่งเป็นผง นำมาผสมน้ำ การให้แคลเซียมฟอสเฟตก่อน จะส่งผลให้มะยงชิดติดผลดี

และใช้วิธีการเสริมด้วยการติดตั้งหลอดไฟขนาด 50 วัตต์ เป็นหลอดไฟที่ให้แสงสีเหลือง เลียนแบบแสงอาทิตย์ ช่วงที่จะเปิดตาดอก จะติดตั้งหลอดไฟเพียงหลอดเดียวต่อ 1 ต้น แขวนไว้กลางทรงพุ่ม เปิดไฟให้แสงสว่างในช่วงเวลา 6 โมงเย็น จนถึง 6 โมงเช้าของอีกวันหนึ่ง จะเปิดเช่นนี้ตลอด จนต้นมะยงชิดผลิดอกรุ่นแรก วิธีการนี้จะช่วยเร่งในเรื่องการออกดอกติดผล และยังช่วยไล่แมลงอีกด้วย

เจ้าของให้ความสำคัญกับการดูแลช่วงการออกดอก เมื่อปลายยอดสุดของต้นมะยงชิดแตกตาดอก ช่วงเป็นกระเปาะไข่ปลา จะคอยฉีดพ่นปัจจัยต่างๆ เพื่อควบคุมคุณภาพของช่อดอก เว้นแต่ช่วงดอกบานต้องงดพ่น แต่ให้ธาตุอาหารได้

คุณวุฒิชัย บอกว่า เมื่อเห็นผลของมะยงชิดมีผลเล็กๆ เท่าหัวไม้ขีดไฟ จะฉีดพ่นฮอร์โมนสังเคราะห์แสง หรือฮอร์โมนไข่ ให้ทุกสัปดาห์ เมื่อผลมะยงชิดเริ่มโต ผลสีเขียว จะให้น้ำแบบพรมน้ำรอบๆ ทรงพุ่ม จะทำให้เพิ่มขนาดของผล และเพื่อป้องกันผลแตก จะฉีดพ่นแคลเซียม หรือแคลเซียมโบรอนให้ช่วงให้ผลจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว

อาจจะมีแมลงมารบกวน โดยเฉพาะแมลงวันทอง “ป้องกันและกำจัดโดยใช้ขวดพลาสติกเหลือใช้มาผ่าข้างขวด 2 ข้าง ตรงกันข้ามของขวด พอให้แมลงบินเข้าไปภายในขวดได้ ภายในขวดจะใช้ผ้าหรือวัสดุอื่นชุบสารล่อแมลงวันทอง ใส่ไว้เพื่อล่อให้แมลงเข้าไปในขวด นำไปแขวนไว้ตามต้น และภายนอกบริเวณสวน วิธีการนี้จะมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก เหมือนเช่นการห่อผล ซึ่งต้นทุนสูง และใช้แรงงานมาก” คุณวุฒิชัย บอกอีกว่า “ก็เคยห่อนะ วิธีการก็คือ ใช้ถุงพลาสติกใสเจาะรูถุงให้ใหญ่เพื่อช่วยในการระบายอากาศ ถ้าไม่เจาะจะทำให้ผลแตก การห่อมีข้อดีคือทำให้ผลใหญ่ขึ้น แต่ก็มีข้อเสียด้วย คืออาจทำให้ผลแตก”

การเก็บผลมะยงชิด

คุณวุฒิชัย กล่าวว่า ผลมะยงชิดหากนับระยะเวลาตั้งแต่ดอกบานจนถึงการเก็บผล จะใช้เวลาการพัฒนาผลประมาณ 75-80 วัน
ผลผลิต ต้นมะยงชิดที่มีความสมบูรณ์ จะให้ผลผลิตต้นละ 25 กิโลกรัม แต่บางปี ฝน ฟ้า อากาศดี ก็จะให้ผลผลิตมากกว่านี้ ผลจะมีขนาดใหญ่พอๆ กับไข่เป็ดหรือไข่ไก่ จำนวน 9-12 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม

การเก็บผล จะเก็บผลที่ความสุกแก่ที่ร้อยละ 70-80 แต่ถ้าปล่อยไว้บนต้นนานกว่านี้ จะทำให้ผลสุกช้ำ เมื่อเก็บแล้วนำไปขายจะเสียราคา ผลมะยงชิดจะเก็บได้ 2 รุ่น รุ่นที่ 1 เก็บผลได้ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ รุ่นที่ 2 ช่วงปลายเดือนมีนาคม

ผลมะยงชิดในท้องถิ่นนี้จะมี 2 เกรด คือ เกรดสวย กับเกรดลาย เหตุที่ผลมะยงชิดมีผลลาย บางครั้งจะเห็นเป็นจุดตำหนิที่ผลเป็นจุดสีดำ กรณีนี้เกิดจากการที่ผลมะยงชิดผลอื่นหลุดร่วง ทำให้เกิดยางไหลถูกผลที่อยู่ด้านล่าง แต่ถ้าหากใช้วิธีติดสปริงเกลอร์ไว้สูงกว่าต้น แล้วเปิดน้ำ จะช่วยบรรเทา ช่วยล้างผิว และยังช่วยเพิ่มขนาดของผล ช่วงผลยังมีสีเขียว อีกทั้งช่วยไล่แมลงได้ด้วย

จุดเด่นของมะยงชิดที่นำมาปลูกในแต่ละพื้นที่ จะมีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพขึ้นอยู่กับสภาพของดิน ลม ฟ้า อากาศ แต่มะยงชิดที่สวนแห่งนี้
ผล ใหญ่มาก หากนำผลมาชั่ง จะได้ 9-12 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม
รสชาติ หวาน รสอมเปรี้ยวอมหวาน
เนื้อ นิ่ม หนา กรอบ เนื้อไม่ยุ่ย ไม่เละ
เมล็ด เล็กหรือเมล็ดลีบ

เคล็ดลับในการกินมะยงชิดให้อร่อย กรอบ

คุณวุฒิชัย ได้กล่าวถึงเคล็ดลับดังกล่าวว่า “ต้องฝานเปลือกผลมะยงชิดออกแค่บางๆ ให้ติดผิว แล้วนำใส่กล่องแช่ไว้ในตู้เย็น เมื่อนำออกมากินจะได้เนื้อที่ฉ่ำน้ำ เนื้อจะกรอบ” ตลาดมะยงชิด คุณวุฒิชัย บอกว่า มีหลายวิธีการที่จะขาย ได้แก่ ขายส่งให้ล้งที่มาตั้งจุดรับซื้อในพื้นที่ ถ้าเป็นมะยงชิดเกรดสวยรุ่นแรก จะได้ราคากิโลกรัมละ 90-95 บาท แต่ถ้าเป็นเกรดลาย ราคาจะตกไปอยู่ที่ กิโลกรัมละ 40-50 บาท เท่านั้น กับอีกวิธีการหนึ่งคือ ขายผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก และไลน์ ซึ่งจะขายได้ถึงกิโลกรัมละ 120-150 บาท โดยไม่แยกเกรด

ปลูกไม้ผลอื่นที่ให้ผลผลิตตลอดฤดูกาล

คุณวันทนา ทองเล่ม พี่สาวของคุณวุฒิชัย นอกจากช่วยเหลือการทำสวนให้กับครอบครัวทองเล่มแล้ว เธอยังมีงานประจำอยู่ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ แพร่ อีกด้วย ได้เล่าให้ฟังว่า “ที่สวนแห่งนี้ปลูกไม้ผลอื่นๆ ด้วย เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งฤดูกาล”

-ทุเรียน และมังคุด จะให้ผลผลิตช่วงเดือนสิงหาคม
-ลางสาด ให้ผลผลิตเดือนกันยายน
-ลองกอง ให้ผลผลิตเดือนตุลาคม
-มะยงชิด ให้ผลผลิตเดือนมีนาคม
-หม่อนกินผล ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ขายได้ทั้งผลสด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหม่อนอีกด้วย ติดต่อสอบถาม พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ คุณวุฒิชัย หรือ คุณวันทนา ทองเล่ม ทางโทรศัพท์ ตามหมายเลขที่แจ้งไว้ตอนต้นครับ

คุณชยุตม์ โตสำราญ อยู่ หมู่ที่ 2 ตำบลโพชนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ยังสมาร์ทฟาร์ม เมอร์ นักเรียนรู้ พัฒนาสวนไม้ผลจากความรู้ติดลบ สู่สวนไม้ผลอินทรีย์ สร้างผลผลิตคุณภาพ ขายได้ราคาดี ด้วยต้นทุนเพียงหลักสิบ

คุณชยุตม์ โตสำราญ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นเกษตรกรว่า ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ตนเป็นพนักงานประจำของบริษัทญี่ปุ่นมาก่อน ส่วนจุดเปลี่ยนในการหันมาทำอาชีพเกษตรกรรมนั้น เกิดจากที่แม่ป่วยแล้วไม่มีใครดูแล จึงต้องตัดสินใจลาออกจากงานแล้วกลับมาดูแลแม่ ซึ่งในช่วงแรกที่กลับมาต้องยอมรับตรงๆ เลยว่า รู้สึกเคว้งคว้าง เพราะไม่ได้มีการเตรียมตัวหางานรองรับไว้ล่วงหน้า จนบังเอิญได้ไปเจอหนังสือโครงการพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ก็ได้ลองหยิบมาอ่านจนเกิดแรงบันดาลใจและเริ่มมองเห็นอนาคตว่าจะเดินไปต่ออย่างไร ซึ่งอนาคตที่มองเห็นนั้นคือ การทำเกษตร ที่ถือเป็นการสร้างแหล่งอาหารขั้นต้น ประจวบเหมาะกับที่บ้านมีพื้นที่ว่างอยู่ 3 ไร่ จึงตัดสินใจทดลองทำเกษตรตั้งแต่นั้นมา

โดยเริ่มต้นจากการทดลองปลูกฝรั่ง จำนวน 30 ต้น ด้วยพื้นฐานความรู้ด้านการเกษตรเป็นศูนย์ รู้เพียงแค่ว่าปลูกแล้วต้องดูแลรดน้ำ ส่วนการดูแลใส่ปุ๋ย หรือการกำจัดโรคแมลงนั้นไม่มีเลย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นไปตามคาด คือปลูกแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะโดนแมลงศัตรูพืชเล่นงาน นี่จึงเป็นประสบการณ์ล้มเหลวครั้งแรกของการทำเกษตร แต่ก็ยังไม่หมดความพยายามไว้แค่นี้ เพียงแค่ต้องหยุดพักการปลูกไว้ก่อน แล้วกลับมาตั้งหลักใหม่ ด้วยการเข้าหาหน่วยงานราชการ เข้าไปขอคำปรึกษาจากเกษตรอำเภอ และแจ้งความจำนงกับทางเจ้าหน้าที่ไว้ว่า หากมีการจัดอบรมที่เกี่ยวกับการปลูกพืชอย่างปลอดภัย การทำสารชีวภัณฑ์ การทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง การจัดการระบบน้ำในแปลง รวมถึงการเรียนรู้การจัดการดิน รบกวนให้ทางเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบ เพื่อที่จะเข้าอบรมนำความรู้ที่ได้มาพัฒนา เริ่มปรับปรุงทำสวนใหม่ และหลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ก็ติดต่อมาว่า มีจัดอบรมในหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้ แล้วนำกลับมาทำลองผิดลองถูกกว่า 3 ปี จนประสบผลสำเร็จกับการปลูกพืชผักผลไม้แบบอินทรีย์

“จากที่เคยปลูกฝรั่ง 30 ต้น ได้ผลผลิตไม่ถึง 10 กิโลกรัม ก็เริ่มได้ผลผลิตมากขึ้น เริ่มมีความรู้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 10 เป็น 100 จนถึงปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มกว่า 200 ต้น และที่สำคัญสินค้าได้รับรองมาตรฐานสินค้าปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” คุณชยุตม์ กล่าวถึงที่มาของความสำเร็จ

เผยเทคนิคปลูกฝรั่งกิมจูแบบอินทรีย์
ให้ได้ผลผลิตคุณภาพ ตรงใจลูกค้า
เจ้าของบอกว่า รูปแบบการทำเกษตรของตนนั้นทำในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผสมผสานทั้ง ไม้ผลและพืชผักสลัด ในส่วนของไม้ผลเลือกปลูกมะละกอฮอลแลนด์ กล้วยหอม กล้วยไข่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และมีฝรั่งกิมจู เป็นสินค้าเด่นของสวน แล้วใช้พื้นที่ว่างใต้ต้นไม้ผลชนิดอื่นๆ ปลูกผักสลัดแซมลงไป ถือเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้านเทคนิคการปลูกฝรั่งนั้น ก่อนปลูกต้องมีการวางแผนจัดสรรพื้นที่ก่อนปลูก เว้นระยะห่างที่พอเหมาะ มีการตัดแต่งกิ่ง แต่งคัดลูกก่อนห่อผล ด้วยวิธีการห่อแบบประณีต ผลผลิตออกมาจะได้คุณภาพ ตรงใจลูกค้า

ขั้นตอนการปลูก
โดยที่สวนจะเลือกปลูกฝรั่งกิมจูเป็นสายพันธุ์หลักเชิงการค้า และนอกจากนี้ยังปลูกสายพันธุ์อื่นๆ ไว้แซมบ้าง ทั้งไร้เมล็ด และฝรั่งสายพันธุ์โบราณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ฝรั่งขี้นก เพื่อรักษาสายพันธุ์เก่าๆ ที่มากคุณค่าไว้ด้วย

การเตรียมดิน…เตรียมล่วงหน้าก่อนปลูก 7-14 วัน ด้วยวิธีการทำปุ๋ยพืชสดโดยการปล่อยหญ้าให้ขึ้นสูง ประมาณ 60-70 เซนติเมตร แล้วตัด จากนั้นใช้น้ำหมักที่เตรียมไว้รดบนหญ้าที่ตัดไว้ แล้วเปิดสปริงเกลอร์รดน้ำบนกองหญ้าและปุ๋ย เพื่อช่วยการย่อยสลาย อุ้มความชื้น และเพิ่มธาตุอาหารให้ต้นพืช ส่วนน้ำหมักที่นำมารดบนหญ้านั้นทำมาจากผลไม้ที่เกิดความเสียหายภายในสวนนำมาหมักเป็นปุ๋ยแล้วฉีดที่พื้นดินในอัตราที่เข้มข้น

เทคนิคการปลูก… เน้นขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอน โดยอาศัยการใช้เกสรของฝรั่งไร้เมล็ด เพื่อให้ได้จุดเด่นของฝรั่งไร้เมล็ดที่มีเมล็ดน้อย และรสชาติที่จัดจ้าน มาผสมกับสายพันธุ์ฝรั่งกิมจูที่มีรสชาติหวาน จนเกิดเป็นจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร รสชาติหวานอมเปรี้ยว เมล็ดน้อย ผิวสวย เนื้อกรอบ

ระยะห่างระหว่างต้น… ใช้ระยะ 4×5 เมตร เป็นระยะห่างที่วางแผนไว้เผื่อตอนต้นฝรั่งโตขึ้น จะใช้พื้นที่ใต้ต้นปลูกแซมด้วยผักสลัดไว้สร้างรายได้เสริม ขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร เปิดปากกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร ลงต้นพันธุ์ปลูก กลบดินไปแค่ครึ่งหลุม เพราะตอนเริ่มปลูกครั้งแรกฝรั่งจะต้องการน้ำมากในการดูแล น้ำต้องโอบล้อมรอบๆ ต้นทั้งหมด

การดูแล… ดูแลด้วยปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด ตั้งแต่การใช้น้ำหมัก นำเอาพืชผักที่มีสีเขียวมาหมักเพื่อช่วยเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโต ฉีดให้ทางดิน สัปดาห์ละครั้ง เพื่อบำรุงฟื้นฟูดิน และต่อมาเป็นเรื่องของการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ จะใช้ปุ๋ยหมักจากผลไม้ ช่วยเสริมการเจริญเติบโตของพืชในส่วนของราก ดูแลการออกดอกและผล และช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้ง ส่วนข้อแตกต่างระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์นั้น ผลลัพธ์จะตรงกันข้าม ถ้าใส่ปุ๋ยเคมีจะเห็นผลได้ในเร็ววัน แต่ถ้าเป็นปุ๋ยอินทรีย์จะเห็นผลแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นผลดีในระยะยาว ยิ่งนานไปยิ่งให้ผลผลิตดก ดินยิ่งดีขึ้น

หากท่านใดสนใจ อยากจะทดลองทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองภายในสวนบ้าง อันดับแรกต้องขอแนะนำว่าให้เริ่มต้นสำรวจสภาพพื้นดินบริเวณที่จะเพาะปลูก ว่าเป็นดินชุดอะไร ดินแต่ละชุดมีธาตุอาหารไม่เหมือนกัน หรือถ้าใครปลูกไปแล้วก็ให้ลองเก็บผลไม้ที่ปลูกมาชิม ว่ารสชาติเป็นแบบไหน ขาดอะไร เพราะเราสามารถที่จะปรุงแต่งรสชาติผลไม้ได้เองโดยการใช้ผลไม้สุกมาหมักทำเป็นปุ๋ยได้ เช่น ผลไม้สุกที่เป็นสีเหลืองจะช่วยในเรื่องของการผลิดอกออกผล

“ยกตัวอย่าง พื้นที่ของผมมีสภาพเป็นดินร่วนปนทราย การปรับสภาพดินช่วงแรกใช้กล้วยเป็นผลไม้ปรับสภาพดิน ในส่วนของต้นกล้วยและหน่อกล้วย นำมาใช้ทำฮอร์โมน ส่วนของหยวกกล้วยเอามาช่วยเร่งขนาดของผล ทำให้ผลใหญ่ ส่วนของปลีกล้วย เอามาหมักช่วยให้ขั้วเหนียว และในส่วนของผลเอามาช่วยเพิ่มความหวาน ที่แนะนำเป็นกล้วยเพราะว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่สามารถหาได้ง่ายทุกพื้นที่”

ระบบน้ำ… มีทั้งระบบน้ำหยดและสเปรย์หมอก เลือกใช้ให้เหมาะสมตามฤดูกาล แต่ถ้าเป็นฝรั่งที่สวนจะใช้ระบบน้ำหยดเป็นหลัก เปิดวันละ 1 ชั่วโมง หรือถ้ายังมีความชื้นอยู่ให้รดแบบวันเว้นวัน เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน และไม่สิ้นเปลืองเวลา

ระยะปลูกถึงเก็บเกี่ยว ฝรั่งจะเริ่มเก็บผลผลิตได้เมื่ออายุได้ประมาณ 8 เดือน หลังปลูก โดยใน 1 ปี จะทำชุดใหญ่ 3 ชุด เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ ประมาณ 1.2-1.3 ตัน ในกรณีที่ผลผลิตนิ่งแล้ว ถือว่าผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ที่สู้กับเคมีได้สบาย

เทคนิคการห่อผลแบบประณีต
ลักษณะของผลที่จะห่อ ต้องมีสีเขียว มัน สด ไม่มีตำหนิ
ให้เริ่มห่อตั้งแต่ขนาดผลเท่าเหรียญสิบ
ก่อนห่อต้องตัดแต่งกิ่ง คัดลูกให้เรียบร้อยก่อนห่อ จากนั้นห่อผลชั้นแรกด้วยถุงพลาสติกใหม่ แล้วห่อทับด้วยถุงกระดาษอีกชั้น เพียงเท่านี้ก็จะได้ผลผลิตฝรั่งที่ผิวสวย ลูกไม่เป็นลาย และยังช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชเบื้องต้นได้ด้วย
ผลิตสินค้าอินทรีย์
มีตลาดรองรับไม่ขาดสาย

เรื่องของการตลาด คุณชยุตม์ บอกว่า ด้วยความที่ผลผลิตของตนมีมาตรฐานสินค้าปลอดภัยอยู่แล้ว จึงหาตลาดได้ไม่ยาก เริ่มจากการเข้าหาหน่วยงานราชการให้เขาแนะนำตลาดจนมีโอกาสได้เข้าไปขายในตลาดเกษตรอินทรีย์ และได้มีการพัฒนาทั้งคุณภาพสินค้า และขยายตลาดมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันผลผลิตของตนสามารถทำส่ง ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ในจังหวัดได้แล้ว และนอกจากนี้ยังมีในส่วนของตลาดออนไลน์อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งก็ต้องบอกกันตามตรงว่า ตอนนี้ผลผลิตที่มีอยู่ไม่พอขาย ในอนาคตจึงมีการวางแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกและกำลังที่จะขยายเครือข่ายหาผู้ที่สนใจการทำเกษตรเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ทุกรูปแบบ ส่วนเรื่องรายได้นั้น คิดเป็นรายได้ต่อครอป 3-4 เดือน อยู่ที่ประมาณ 45,000-50,000 บาท ฝรั่งถือเป็นพืชที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี ออกผลทั้งปี ปลูกครั้งเดียวเก็บผลผลิตได้นานหลายปี ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลที่ดีด้วย

ฝากถึงเกษตรกรทั้งมือเก่าและมือใหม่
“อยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ใครที่มีพื้นที่ทำเกษตรอยู่แล้วแต่ยังทำเป็นเคมีอยู่ก็อยากให้ค่อยๆ ลองปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ดูบ้าง แล้วจะเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่าง การทำเกษตรอินทรีย์สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง ที่สวนผมปลูกฝรั่งแบบอินทรีย์ทุกขั้นตอน ต้นทุนการผลิตฝรั่งอยู่ที่กิโลกรัมละไม่เกิน 10 บาท แต่สามารถขายผลผลิตได้ กิโลกรัมละ 30-50 บาท แค่นี้ก็มองเห็นกำไรแล้ว และที่นอกเหนือจากเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่าการใช้สารเคมีแล้ว เกษตรกรและผู้บริโภคจะได้สุขภาพที่ดีกลับคืนมาด้วย จึงอยากให้เกษตรกรทั้งมือเก่าและมือใหม่หันมาให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์กันให้มากขึ้น” คุณชยุตม์ กล่าวทิ้งท้าย

หลายปีก่อน เดินทางไปที่ “มิตรชัยฟาร์ม” จากการอ่านข้อมูลของฟาร์ม ว่ามีการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวชี้หนึ่งที่ทำให้เห็นความสำเร็จของการทำการเกษตรที่นี่ได้เป็นอย่างดี

ในคราวนั้นจุดเด่นของที่นี่คือ แปลงไผ่เลี้ยง บ่อน้ำเลี้ยงปลาบึก แปลงผัก และโรงเรือนเลี้ยงไก่

พ่อคือ คุณมิตรชัย ยุทธรักษ์ และแม่คือ คุณรัชนก ยุทธรักษ์ สองสามีภรรยา ผู้เปลี่ยนผืนนามาเป็นมิตรชัยฟาร์ม ตำบลนางแซง อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 18 ไร่ และประสบความสำเร็จจากการทำการเกษตรตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

ในตอนนั้น มีลูกชายที่กำลังศึกษาคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ช่วยในยามปิดภาคเรียน ส่วนในช่วงเวลาปกติเป็นแรงงานที่จ้างไม่กี่คน และแรงงานจากคุณมิตรชัยและภรรยาเอง

วันนี้ มิตรชัยฟาร์มเติบโตขึ้น ไม่ใช่การขยายพื้นที่ สมัคร BALLSTEP2 แต่เป็นการบริหารจัดการภายในแปลงเกษตรเล็กๆ แห่งนี้ได้ครบวงจร คุณชาญณรงค์ ยุทธรักษ์ ลูกชาย หลังจบการศึกษาจากคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็กลับมาช่วยพ่อและแม่ทำการเกษตรเต็มตัว และพา คุณไพลิน ยุทธรักษ์ จากคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยเดียวกัน มาเป็นคู่คิดคู่ใจในการจัดมิตรชัยฟาร์ม

“ผมยังทำเหมือนกับสมัยที่พ่อทำนะครับ ผมเข้ามาบริหารจัดการให้ฟาร์มเป็นระบบมากขึ้น เหมือนการทำบัญชีครัวเรือน ที่ทำให้เรารู้รายรับ รายจ่าย ช่องโหว่ เพื่ออุดรูรั่ว และทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

แปลงไผ่เลี้ยง มีพื้นที่ 6 ไร่ เป็นไผ่เลี้ยงหวาน ทำไผ่นอกฤดูเพื่อขายหน่อให้ได้ราคา โดยจะตัดแต่งต้นเพื่อให้ออกหน่อ และเริ่มเก็บขายได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ราคาขายหน่อไผ่นอกฤดูสูง 80-100 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่หน่อไผ่เลี้ยงในฤดูขายได้เพียงกิโลกรัมละ 20-30 บาทเท่านั้น ใช้น้ำจากบ่อปลาสำหรับรดแปลงไผ่

บ่อน้ำจำนวน 6 บ่อ ใช้พื้นที่ไปทั้งหมด 7 ไร่ ปลาบึกเป็นปลายืนพื้นเลี้ยงไว้ยาวนานตั้งแต่เริ่มขุดบ่อใหม่ๆ ทุกบ่อ ปล่อยปลานิล ปลายี่สก ทยอยจับขายได้เรื่อยๆ ส่วนนี้เป็นรายได้ที่แทบไม่มีรายจ่าย เพราะปลาทุกบ่อไม่ต้องให้อาหาร ปล่อยให้ปลาหากินเองตามธรรมชาติ

คุณชาญณรงค์ บอกว่า เวลาจับปลาจะทยอยจับ ไม่ได้จับทุกวัน หรือรอรอบจับครั้งเดียว หากทำแบบนั้นต้องรอเวลา และไม่มีรายได้จากปลาในทุกวัน ที่นี่ใช้วิธีลากอวนตาห่าง เพื่อให้ได้เฉพาะปลาใหญ่ 2-3 เดือนครั้ง ส่วนหนึ่งนำไปขายสด ส่วนหนึ่งนำไปแปรรูปโดยการหั่นเป็นชิ้นแช่แข็ง ปลาเผา ปลาหมักสมุนไพร ปลาทอด ขายทำให้มีรายได้จากปลาทุกวัน

ไก่ไข่ ปรับปรุงโรงเรือนเป็นโรงเรือนปิด เลี้ยงไก่ไข่ 3 ชุด รวม 4,000 ตัว