จากเศษเหล็กทำเงินหมื่น หนุ่มชาวเขาเลิกทำสวนผลิตเตาผัวนึ่งข้าว

ออเดอร์ตรึมจ้าหนุ่มชาวเขาเมืองน่าน พลิกอาชีพหลังปลูกข้าวโพดขายขาดทุน หันประดิษฐ์เตานึ่งข้าวแบรนด์ผัวนึ่งข้าวขาย เน้นคุณภาพ ทนทาน จนได้เสียงตอบรับดีจากเพื่อนบ้าน จึงทำขายตามตลาดนัดสร้างรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวสืบทราบว่ามีหนุ่มชาวเขาที่เลิกจากการทำสวน หันมาผลิตเตานึ่งข้าวออกจำหน่าย จนขายดิบขายดี สร้างรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท เลี้ยงครอบครัว จึงเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ต.ป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน พบนายอนุรักษ์ ย่านสากล หนุ่มชาวเขาคนดังกล่าว อยู่บ้านเลขที่ 300/3 ต.ป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน กำลังเร่งทำเตานึ่งข้าวขนาดต่างๆออกจำหน่าย

นายอนุรักษ์ เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวมีอาชีพทำการเกษตร ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขายมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แต่ก็ไม่มีเงินเก็บ บางครั้งขาดทุนจากค่าปุ๋ย ยา และราคาผลผลิตตกต่ำ จึงหันหาอาชีพอื่นทำ และนำเศษเหล็กจากร้านรับซื้อของเก่ามาประดิษฐ์เป็นเตาถ่านใช้นึ่งข้าวในครัวเรือน และเมื่อเพื่อนบ้านมาเห็นว่าใช้งานดีจึงสั่งทำกัน จึงเริ่มผลิตออกขายตามตลาดนัดต่างๆ และพัฒนาเป็นขนาดต่างๆให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท ซึ่งจำหน่ายตั้งแต่ราคาอันละ 300-1,000 บาท

ปรากฏว่าได้รับความนิยม มีเสียงตอบรับจากแม่บ้านทื่ซื้อไปใช้ว่าใช้งานดี แข็งแรง ทนทาน จนสามีที่บ้านชอบขยันนึ่งข้าวทุกวัน จึงเป็นที่มาของชื่อว่า ‘เตาผัวนึ่งข้าว’ ซึ่งทุกวันนี้ครอบครัวเลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมาช่วยกันทำเตาผัวนึ่งข้าว ไปขายตามตลาดนัดต่างๆ เฉลี่ยเดือนละกว่า 100 เตา สร้างรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่หลายครอบครัวเดินทางกลับบ้านมาพร้อมหน้ากัน ก็จะทำกับข้าวกินกันในครอบครัว ซึ่งข้าวเหนียวก็เป็นอาหารหลักด้วย

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายไพฑูรย์ ตัณทานนท์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า นักศึกษา และอาจารย์ในวิทยาลัยได้ร่วมกันทำเค้กเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตกแต่งหน้าเค้กอย่างสวยงาม นอกจากจะตกแต่งเป็นรูปดอกไม้พร้อมคำอวยพรเหมือนเช่นทุกปีแล้ว ยังมีการตกแต่งเป็นหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความ “อาชีวะรักนายก สวัสดีปีใหม่ 2561” และเค้กรูปหน้า “ตูน บอดี้สแลม” หรือนายอาทิวราห์ คงมาลัย พร้อมข้อความ “ก้าวคนละก้าว” ต่างได้รับความสนใจจากลูกค้าสั่งซื้อไปรับประทาน และเป็นของขวัญปีใหม่กันเป็นจำนวนมาก

นายไพฑูรย์กล่าวอีกว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นักศึกษาของสถาบันทุกแผนกวิชา จะร่วมกันผลิต และจำหน่ายขนมเค้กแก่ลูกค้า ทั้งในพื้นที่ และต่างจังหวัด มีทั้งเค้กครีม เค้กช็อคโกแล็ต และเค้กแยม โดยปีนี้ผลิตภายใต้แนวคิดไทยแลนด์ 4.0 เน้นความแปลกใหม่ ออกแบบ แต่งหน้าเค้ก ที่กำลังได้รับความนิยมให้ถูกใจผู้ซื้อ มีราคาเพียงปอนด์ละ 170-190 บาท โดยจำหน่ายที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ ไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2561 ขณะนี้มีคำสั่งซื้อแล้วกว่า 7,000 ปอนด์

“คาดว่ายอดจำหน่ายเค้กทั้งหมดในปีนี้ไม่น้อยกว่า 8,000 ปอนด์ รายได้กว่า 1 ล้านบาท ซึ่งกำไรที่ได้ มีการปันส่วนให้กับนักเรียนที่มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ทั้งการผลิต และจำหน่าย ที่เหลือนำมาพัฒนาวิทยาลัย และมอบเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่เรียนดีแต่มีฐานะยากจนต่อไป” นายไพฑูรย์ กล่าว

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวประจำ จ.กาฬสินธุ์ รายงานว่า ที่บริเวณริมถนนถีนานนท์ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของร้านข้าวห่อใบตองของ น.ส.พิมพ์ทอง คลังบุญครอง อายุ 22 ปี บัณฑิตจบใหม่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้นำเมนูอาหารที่ซื้อง่ายขายคล่องแถมอร่อย มาเปิดขายให้กับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรดาผู้ปกครอง และข้าราชการ ที่บอกว่าไม่ค่อยมีเวลาในการจัดเตรียมอาหารให้กับนักเรียน เมนูที่ว่าคือข้าวห่อใบตองห่อละ 20 บาท ที่ดูเหมือนจะสุดแสนบรรดา แต่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ด้วยวิธีการปรุงรสชาดข้าว และด้วยการโรยหน้าในเมนูต่างๆ บนข้าวเหนียวสีม่วงร้อนๆ ที่ผสมกลิ่น และสีของดอกอัญชัน ก็ทำให้ข้าวห่อใบตองมีความหอมอร่อยยิ่งขึ้น

น.ส.พิมพ์ทอง แม่ค้า “ข้าวห่อใบตอง” กล่าวว่า ที่ตัดสินใจให้มาขายข้าวห่อใบตอง ก็เพื่อจะนำเงินไปเรียนต่อปริญญาโท อีกทั้ง หลังเรียนจบก็ยังหางานอยู่ จึงคิดว่าต้องหารายได้ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ ประกอบกับตนเป็นคนกาฬสินธุ์โดยกำเนิด “เป็นลูกข้าวเหนียว” ทุกวันจะช่วยพ่อแม่แช่ข้าวเหนียวแล้วนำมานึ่งไว้รับประทานอยู่แล้ว ซึ่งสมัยก่อนพ่อแม่จะนำข้าวเหนียวมาห่อใบตองไปโรงเรียนทุกวัน จะเห็นว่าข้าวเหนียวที่ห่อใบตองจะยังคงความนิ่มหอม และเหนียวอยู่ตลอด จึงได้ตัดสินใจนำมาเป็นเมนูเด็ด

“สิ่งต่างๆ ที่ทำนั้นเพื่อเรียกลูกค้า ข้าวเหนียวของที่นี่จะเลือกเอาข้าวพื้นถิ่นกาฬสินธุ์ปลอดสารพิษมาผสมกับข้าวเหนียวเขาวงบางส่วน จากนั้นจะนำไปแช่กับน้ำดอกอัญชันที่จะให้สีม่วง นำมานึ่งตามปกติไว้ขาย โดยจะจำหน่าย 9 หน้า ประกอบด้วย หมูหวานงา หมูเค็ม หมูแดดเดียว หมูทอดกระเทียม หมูยอ กุนเชียงทอด หมูทอดน้ำปลา หมูเส้น และหน้าหมูทอดธรรมดา ในราคาห่อละ 20 บาท”
แม่ค้าข้าวห่อใบตอง กล่าว

น.ส.พิมพ์ทองกล่าวต่อว่า ได้เปิดร้านริมถนนถีนานนท์มาเกือบ 5 เดือนแล้ว ช่วงแรกลูกค้าก็ไม่มาก แต่หลังจากที่มีลูกค้าประจำคือกลุ่มผู้ปกครองมาแวะเวียนมาซื้อก็ทำให้ขายดีมากขึ้น เพราะจะเน้นในเรื่องความสะอาด เปิดขาย และตักโรยหน้ากันเห็นๆ โดยเฉพาะในช่วงนี้อากาศหนาวเย็น ยิ่งทำให้ข้าวเหนียวห่อใบตองขายดีมากขึ้น โดยในแต่ละวันจะขายเฉพาะข้าวก็ประมาณ 40 กิโลกรัม ทำให้มีรายได้พอยังชีพได้ในขณะนี้

พ.ต.ท.สรวิชญ์ ภูวเศรษฐนนท์ กล่าวว่า ตนเป็นลูกค้าประจำ และจะแวะซื้อประจำ โดยจะซื้อให้ลูกไปโรงเรียน เพราะข้าวห่อใบตองจะเก็บรักษาความอร่อยไว้ได้ตลอดทั้งวัน เมื่อนำมารับประทานก็ยังคงเหนียว และนุ่มเหมือนเดิม บวกกับราคาห่อละ 20 บาท ถือว่าคุ้มค่าหากเทียบกับอาหารจานด่วนในราคา 30-40 บาท ถือว่าอิ่มเหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร้านข้าวเหนียวห่อใบตองจะจำหน่ายทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 06.00-09.30 น.หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

ในแต่ละปี ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารไปทั่วโลก มีมูลค่าสูงนับล้านล้านบาท มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะ “ครัวของโลก” ทั้งมีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2561 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ราว 7% มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน สัดส่วนส่งออกประมาณ 30% ญี่ปุ่น 14% สหรัฐ 10% จีนและแอฟริกา สัดส่วนเท่ากันที่ 9%

พูดได้เต็มปากว่า มาตรฐานการผลิตสินค้าอาหารจากไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัย ถึงกระนั้นก็ยังมีข่าวคราวอยู่เป็นระยะ กรณีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยอันดับต้น ๆ สั่งกักสินค้าอาหารบางรายการจากไทย อ้างตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย Salmonella พบยาฆ่าแมลงตกค้าง หรือสารตะกั่วตกค้าง แปลว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ยังไม่นับกรณีคล้าย ๆ กันที่เกิดกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ

หลังจากสหรัฐประกาศใช้กฎหมาย Food Safety Modernization Act (FSMA) ไปเมื่อเดือน พ.ค. 2559 ผู้ผลิตอาหารส่งออกรายใหญ่ต้องเร่งปรับตัว จัดทำ Food Safety Plan ตามระเบียบ Preventive Controls for Human Food ซึ่งมีความเข้มข้นมากกว่า HACCP เดิมในหลายประเด็น ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กยังไม่ตื่นตัวมากนัก
ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ต้องการส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกา จะถูกบังคับตามระเบียบใหม่ให้ดำเนินการตั้งแต่ ก.ย. 2559 ในขณะที่ผู้ประกอบการโรงงานขนาดเล็กกำหนดให้ดำเนินการภายใน ก.ย. 2560 แต่จนถึงขณะนี้ ผู้ประกอบการ SMEs หลายรายยังไม่ทราบระเบียบใหม่นี้เพราะลำพังเพียง GMP และ HACCP นั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว หากต้องการส่งสินค้าอาหารไปขายในสหรัฐอเมริกา

มาตรฐานการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยที่จะบริโภค กลายเป็นข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับผู้ผลิต ปัจจุบันมีระบบคุณภาพมากมาย ได้แก่ GMP, HACCP, BRC, IFS, SQF, ISO 9000, ISO 22000 เป็นต้น แต่มาตรฐานการนำเข้าของประเทศคู่ค้าอาจมีข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละประเทศปลีกย่อยไปอีก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ food safety ซึ่งมักมีการเพิ่มเติม หรือปรับปรุงอยู่เสมอ

ที่น่าห่วงคือ ผู้ประกอบการ SMEs โรงงานอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่มีจำนวนสัดส่วนมากถึง 93% หรือประมาณ 7,440 ราย (ที่เหลืออีกราว 7% หรือราว 560 ราย เป็นโรงงานขนาดใหญ่) ยังไม่นับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมโรงงานฯ รวมแล้วอีกนับแสนราย ซึ่งยังไม่มีความพร้อมทั้งบุคลากร เงินทุน เทคโนโลยีการผลิต และองค์ความรู้ต่าง ๆ รวมทั้งขาดการปรับตัวที่รวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลง

สำหรับโรงงานขนาดใหญ่อาจแก้ปัญหาเรื่อง food safety ด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิตอาหารในอนาคต โดยใช้เครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนในระหว่างการผลิต ลดปัญหาการควบคุมคุณภาพ และสามารถติดตั้งตรวจสอบย้อนกลับได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับ SMEs ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่ายนัก

การเตรียมตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านอาหารของประเทศคู่ค้า เพื่อรับมือกับการสร้างความปลอดภัยอาหารในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความรู้แจ้งในข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ด้านมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ กฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนดหรือกติกาใหม่ ๆ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จึงเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรละเลย ที่สำคัญ ต้องเปิดใจรับเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ ให้ทันยุคทันสมัย แม้เพียงนำมาประยุกต์ใช้บางส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง food safety ตามความเหมาะสมของศักยภาพตนเอง ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น มีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่คอยอัพเดตข้อมูล และให้คำปรึกษาทั้งด้านเงินทุน และเทคโนโลยีการผลิตต่าง ๆ สามารถเลือกใช้บริการได้ตามสะดวกครับ

นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์มันสำปะหลังปี 2560/61 ว่า สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วงผลผลิตหัวมันสดจะมีประมาณ 28 ล้านตัน ลดลงจากปีการผลิตก่อนที่มีปริมาณ 30 ล้านตัน เมื่อฝนตกช่วงนี้ เกษตรกรจะเลื่อนขุดมันออกไป ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาด โดยเดือนมกราคม-เมษายน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมาก เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดไม่กระจุกตัวและไม่กระทบต่อราคาที่เกษตรกรจะขายได้ คาดว่าราคาปี 2561 อาจจะขยับขึ้นไปถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาทหรือสูงกว่าได้ ซึ่งดีกว่าปี 2560 ล่าสุดราคาหัวมันสดปรับขึ้นจากกก.ละ 2.25 บาท มาอยู่ที่ 2.40 บาทแล้ว

นายกีรติ กล่าวว่า ตลาดรองรับผลผลิตมัน ทั้งมันเส้นและแป้งมัน มีความต้องการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างจีนต้องการซื้อมันเส้นเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซื้อแป้งมันนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและอื่นๆ ขณะเดียวกันกรมฯ ได้ทำแผนเร่งขยายตลาดส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้น เช่น ตุรกี จะไปโรดโชว์ในช่วงเดือนเมษายน 2561 โดยเฉพาะมันที่นำไปทำอาหารสัตว์ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลักอย่างจีนมากจนเกินไป ยังมีแผนจะจัดงานประชุมมันสำปะหลังนานาชาติช่วงเดือนมิถุนายน 2561 และจะร่วมมือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง กำหนดราคาส่งออกที่สะท้อนความเป็นจริง และป้องกันปัญหาการขายตัดราคา จนส่งผลกระทบกลับมายังหัวมันสด

นายกีรติ กล่าวว่า การส่งออกมันสำปะหลังในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ปี 2560 มีปริมาณ 10.025 ล้านตัน ลดลง 1% มูลค่า 2,507 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาส่งออกมันเส้นล่าสุดอยู่ที่ตันละ 205 เหรียญสหรัฐ และแป้งมันตันละ 430 เหรียญสหรัฐ ส่วนทั้งปี 2561 คาดว่าการส่งออกน่าจะอยู่ในระดับ 10-11 ล้านตัน

นายกีรติ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 กระทรวงพาณิชย์จะนำมาตรการใหม่ที่ดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ ก่อนนำเข้าจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำเข้า ให้กรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ และพิมพ์ลงกระดาษออกมาประกอบการนำเข้า โดยสามารถติดต่อกรมฯ ทางออนไลน์ได้ และให้กรมฯอนุญาตก่อนนำเข้า และต้องพร้อมให้พนักงานสุ่มตรวจคุณภาพมาตรฐานมันด้วย มาตรการนี้ไม่ได้เป็นการกีดกันการนำเข้า หรือห้ามการนำเข้าใดๆ ยังคงสามารถนำเข้าได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

บล.เอเซีย พลัส ส่องกำไรสุทธิ บจ.ไตรมาส 4/60 แตะ 2.2-2.3 แสนล้านบาท ส่วนปี”61 บจ.ปั๊มกำไรโตทะยาน 14.5% แตะระดับ 1.1 ล้านล้านบาท ชี้กลุ่มเกษตร-รับเหมา-บันเทิง เรียงแถวโกยกำไรนำโด่ง

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ fixcounter.com สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในงวดไตรมาส 4/2560 มีแนวโน้มสดใสต่อเนื่อง โดยคาด บจ.จะทำกำไรสุทธิได้ราว 2.20-2.30 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2560 ที่ทำได้ 2.11 แสนล้านบาท และไตรมาส 4/2559 ที่ทำได้ 2.09 แสนล้านบาท

โดยสาเหตุที่กำไรสุทธิในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากผลประกอบการในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ อาทิ กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม, ค้าปลีก และกลุ่มพลังงาน ที่ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ที่คาดว่าจะยังเติบโตได้ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่กำไร บจ.รวมทั้งปี 2560 คาดว่าจะทำได้ระดับ 9.75 แสนล้านบาท หรือเติบโต 4.7% จากปีก่อน หลังช่วง 9 เดือนแรก บจ.ทำกำไรสุทธิรวมแล้วกว่า 7.08 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี คาดว่าผลประกอบการ บจ. ปี 2560 จะต่ำกว่าที่คาดไว้ช่วงต้นปีที่ระดับ 9.9 แสนล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบันทึกรายการพิเศษเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีก้อนใหญ่ของกลุ่มพลังงาน (กรณีการตั้งสำรองด้อยค่าของ ปตท.สผ.และ ปตท. มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) และการตั้งสำรองหนี้เสียของกลุ่มแบงก์

“กลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตอย่างโดดเด่นในปี 2560 นำโดยกลุ่มบันเทิง +16%, อสังหาริมทรัพย์ +29%, พลังงาน +28% และขนส่ง, ค้าปลีก, เครื่องจักรอุตสาหกรรม, ปิโตรเคมี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่ากันราว 19%” นายเทิดศักดิ์กล่าว

นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มกำไรสุทธิ บจ.ในปี 2561 คาดจะทำได้ราว 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) 113.57 บาท และคิดเป็น EPS growth กว่า 14.5% จากปีก่อนที่อยู่ 99.05 บาทต่อหุ้น ดังนั้นจึงเป็นตลาดที่มี EPS growth ปรับตัวเพิ่มมากสุดอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่ตลาดหุ้นอินเดียที่โต 28.2%

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะมีกำไรสุทธิเติบโตมากสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ธุรกิจการเกษตรโต 300% 2.รับเหมาก่อสร้าง 106%, 3.สื่อ-บันเทิง 84%, 4.ไอซีที 63% และ 5.ขนส่ง 33% ส่วนกลุ่มที่คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตน้อยสุด 5 อันดับ คือ 1.การแพทย์ -4%, 2.วัสดุก่อสร้าง 2%, 3.อสังหาฯ 5%, 4.ยานยนต์ 7% และ 5.พลังงาน 6%

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการและนักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า คาดว่าอัตรากำไรสุทธิของ บจ.โดยรวมในปี 2561 จะเติบโตระดับ 9.2% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 3.68% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้น หลังจากปี 2560 มีแรงผลักดันหลักจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นพระเอก

ขณะที่ปี 2561 คาดว่าการบริโภคเอกชนจะดีขึ้น และผลผลิตการเกษตรก็น่าจะเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของเกษตรกร รวมถึงอานิสงส์จากโครงการลงทุนรัฐ เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะกระตุ้นการลงทุนในประเทศได้ ทั้งนี้ คาดว่าหุ้นที่กำไรจะเติบโตโดดเด่นในปีหน้า คือ กลุ่มที่อิงภาวะเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ กลุ่มแบงก์, ค้าปลีก, โรงแรม, นิคมอุตสาหกรรม และรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น

ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย มีอากาศเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว (ตุลาคม – กุมภาพันธ์) มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 3-6 องศาเซลเซียส ดอยแม่สลอง มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม เช่น ดอกซากุระหรือ พญาเสือโคร่ง ออกดอกเบ่งบาน ตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์ หากใครมาเยี่ยมเยือนดอยแม่สลองในช่วงฤดูหนาว จะเห็นดอกซากุระ สีชมพู เบ่งบานสะพรั่งอยู่สองข้างทาง ตั้งแต่เชิงเขาไปถึงดอยแม่สลอง