“จิสด้า”ชี้อีก 7 วัน-ทะเลหนุนซ้ำ ส่วน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กล่าวว่า ต้องจับตาสถานการณ์น้ำใน จ.เพชรบุรี อีก 7 วันข้างหน้า คือวันที่ 9-11 ส.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูง อาจเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในช่วงกลางคืน ประมาณ 3-4 ทุ่ม ดังนั้นหน่วยงานที่ต้องบริหารจัดการน้ำต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย สิ่งที่ต้องสังเกตคือ น้ำท่วม จ.เพชรบุรี รอบนี้ถือเป็นระลอกแรก เพราะปกติช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. จะเป็นฝนรอบแรก แต่ จ.เพชรบุรี น้ำก็เต็มเขื่อนแล้ว

“ช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. ปกติคือฝนระลอก 2 ซึ่งปกติประเทศไทยมีฝน 2 ระลอก ระลอก 2 จะหนักกว่าระลอกแรก ระลอก 2 อาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ จ.เพชรบุรี อีก การท่วมปีนี้ถือว่า 3 ปีติดแล้ว หากบริหารจัดการน้ำยังไม่หมด อาจท่วมยาวกว่าที่คิด เพราะปกติฝนรอบ 2 จะตกหนัก และนานกว่ารอบแรก เพราะเมื่อน้ำท่วม จ.เพชรบุรี เมื่อเดือนพ.ย.2560 นั่นคือระลอก 2 ที่ทำให้ จ.เพชรบุรี จมอยู่ในน้ำถึง 8 อำเภอ” ผอ. จิสด้า กล่าว

ปิดท่องเที่ยว”น้ำตกป่าละอู”
ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี นั้น ที่บริเวณสปิลเวย์ หรือทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี น้ำล้นสปิลเวย์แล้ว น้ำมีความสูงเหนือสันสปิลเวย์ 0.5 ซ.ม. เจ้าหน้าที่ชลประทานรื้อถอนท่อสูบน้ำขนาดเล็ก คงเหลือท่อสูบน้ำขนาดใหญ่ สำหรับระบายน้ำแบบกาลักน้ำ และเร่งติดตั้งเพิ่มอีก 1 ท่อ เพื่อเร่งระบายน้ำอีกช่องทาง ขณะที่ รีสอร์ตหลายแห่งที่ติดริมแม่น้ำเพชรบุรีได้รับผลกระทบ เนื่องจากนักท่องเที่ยวยกเลิกเกินครึ่ง และคาดว่าน้ำจะถึงเขื่อนเพชรในเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 6 ส.ค.นี้

นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า ประกาศปิดบริการกางเต็นท์ทุกจุด และปิดท่องเที่ยวน้ำตกป่าละอู เป็นการชั่วคราว พร้อมกำชับให้หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ทุกหน่วย และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมอพยพ และเข้าช่วยเหลือชาวบ้าน

ร.พ.รับมือ-พร้อมอพยพคนไข้
ที่มณฑลทหารบกที่ 15 จ.เพชรบุรี พล.ต. สุรินทร์ นิลเหลือง ผบ.มทบ.15 ตรวจความพร้อมของกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย เตรียมรับมืออุทกภัย โดยจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มทบ.15 กำลังพล 150 นาย รถยนต์ทหารยกสูง รถผลิตน้ำดื่มสะอาด รถครัวผลิตอาหารเคลื่อนที่ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือในการช่วยเหลือต่างๆ มีความพร้อมเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

นพ.ชุมพล เดชะอำไพ ผอ.ร.พ. พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี กล่าวว่า เคยประสบปัญหาน้ำท่วมบริเวณโดยรอบ ร.พ. มาก่อน พบว่า จุดบริการคนไข้ที่น้ำท่วมถึงได้ คือแผนกเอกซเรย์ และหอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม จึงทำคันปูนยกสูงไว้โดยรอบป้องกันน้ำเข้า ส่วนน้ำที่ซึมผ่านเข้ามา ร.พ.มีสระหมือนแก้มลิงไว้รองรับน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ วางกระสอบทรายด้านหน้า ร.พ และเตรียมความพร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

น้ำโขง ยังท่วม 10 จว. อีสาน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานนั้น นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จ.นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 12 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น จ.มุกดาหาร น้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 7 อำเภอ จ.อำนาจเจริญ น้ำในลำน้ำโขงล้นตลิ่ง 5 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ จ.อุบลราชธานี น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง 6 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำลดลง จ.บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง 5 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำลดลง

อธิบดี ปภ. กล่าวต่อว่า จ.สกลนคร น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ประชาชนได้รับผล กระทบ 146 ครัวเรือน 473 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว จ.ร้อยเอ็ด น้ำไหลเข้าท่วม 2 อำเภอ คือ เสลภูมิ และโพนทอง จ.กาฬสินธุ์ น้ำท่วม 5 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำลดลง จ.ยโสธร น้ำท่วม 5 อำเภอ ปัจจุบันระดับน้ำในลุ่มน้ำเซบาย และลุ่มน้ำชีมีแนวโน้มลดลง และจ.หนองคาย ท่วม อ.ท่าบ่อ รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน

น้ำอูนล้น-เขาแหลมเพิ่มระบาย
ส่วนสถานการณ์เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร นั้น นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 532 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 102 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่มีน้ำล้นตลิ่ง จึงยังไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนกรณีน้ำโขงหนุนสูง ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ และมีฝนตกเพิ่มเติม อาจส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในบริเวณริมตลิ่งใน อ.พังโคน อ.พรรณานิคม อ.เมืองสกลนคร และ อ.กุสุมาลย์ แม้สถานการณ์จะปลอดภัย แต่กรมชลฯ ต้องเร่งระบายน้ำ เพื่อรองรับฝนรอบใหม่

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณ หรือเขื่อนเขาแหลม จ.กาญจนบุรี เพิ่มระบายน้ำ แต่ยังไม่เพิ่มการระบายน้ำผ่านทางประตูระบายน้ำฉุกเฉิน เนื่องจากยังมีความจุ หรือช่องว่างรองรับน้ำได้อีก ปริมาณน้ำที่ปล่อย ออกมาส่งผลกระทบกับรีสอร์ต พื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง หรือพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำแควน้อย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งไปยัง ผวจ.กาญจนบุรี และประชาชนก่อนเพิ่มการระบาย 2 วัน ล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมและขนย้ายสิ่งของให้พ้นน้ำแล้ว

“กาญจน์” เตือน 5 อำเภอ ริมน้ำ
ขณะที่ นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี มีหนังสือด่วนที่สุดถึงนายอำเภอทุกแห่งว่า ในช่วงวันที่ 5-9 ส.ค. จะมีฝนตก หนักเพิ่มขึ้นทุกภาค ปริมาณฝนสะสมที่เพิ่มมากขึ้นอาจเกิดภาวะอุทกภัย และน้ำท่วมฉับพลันบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ ประกอบด้วย อ.ศรีสวัสดิ์ ทองผาภูมิ ไทรโยค เมืองกาญจนบุรี ท่าม่วง และท่ามะกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สภาพแหล่งท่องเที่ยวเกาะกลางแม่น้ำแม่กลอง หรือสะดือแม่กลอง บริเวณริมเขื่อนเขตเทศบาลเมืองโพธาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้รับความเสียหายทั้งหมด หลังถูกมวลน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนต้นน้ำใน จ.กาญจนบุรี เข้าท่วมสูง เจ้าหน้าที่ต้องนำเรือดัดแปลงทำเป็นแพข้ามแม่น้ำมาผูกไว้อยู่บนเกาะ เพื่อไม่ให้ลอยหายไปกับกระแส น้ำที่ไหลแรง โดยปริมาณน้ำขณะนี้มีความสูงเท่ากับระดับถนนชั้นล่างของเขื่อน และเอ่อล้นเข้ามาท่วมถนนไปแล้วครึ่งหนึ่ง

พร่องน้ำ ไม่ให้เข้าเมืองเพชร
ต่อมาช่วงบ่าย วันเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย รองนายกฯ รัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมเกียรติ เลขาฯ สทนช. และ นายทองเปลว อธิบดีกรมชล ประทาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ติดตามสถานการณ์การระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน พร้อมเพิ่มเติมมาตรการต่างๆ ให้เกิดความสมบูรณ์ ลดผลกระทบ ที่เกิดกับประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด

นายสมเกียรติ เลขาฯ สทนช. กล่าวว่า รองนายกฯ สั่งการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ โดยเร่งพร่องน้ำในลำน้ำต่างๆ เพื่อรองรับน้ำใหม่ ระดมเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำผันน้ำออกระบบชลประทาน หน่วงน้ำไม่ให้ลงแม่น้ำเพชรบุรี โดยเฉพาะไม่ให้ผ่านตัวเมืองเพชรบุรี เสริมคันกั้นน้ำลุ่มต่ำ และจำกัดพื้นที่น้ำท่วมให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด แจ้งเตือนทำความเข้าใจ ไม่ให้ตระหนก และพร้อมให้การช่วยเหลือในทันที

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่าการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนดังกล่าว เราใช้ 3 ช่องทาง คือ ประตูปิด-เปิดธรรมดา ช่องทางน้ำล้น (สปิลเวย์) และใช้เครื่องสูบน้ำออก โดยน้ำทั้งหมดจะลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมวลน้ำใหญ่กำลังเคลื่อนตัวลงมา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แยกมวลน้ำดังกล่าวให้ออกไปทางซ้ายและขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ส่วนหนึ่งใช้เครื่องสูบน้ำเป็นทางลัดสู่อ่าวไทย อีกส่วนกำลังดูพื้นที่ว่างที่ยังไม่ทำเกษตรให้น้ำลงพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่ทำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องสูบน้ำและการผันน้ำออกทางซ้ายขวา ทำให้น้ำที่จะลงไปสู่ตัวเมืองเพชรบุรีลงไปช้าและมีปริมาณน้อยลง จึงมีเวลาให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมความพร้อม

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ในส่วนราชการทั้งระดับพื้นที่และส่วนกลางนั้น จะพยายามเร่งระบายน้ำตามวิธีดังกล่าวให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในเมืองเพชรบุรีให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ ตนได้รับรายงานล่าสุด เมื่อเวลา 07.00 น. ระดับน้ำยังอยู่ในระดับล่าง ไม่ขึ้นมาริมตลิ่ง ซึ่งแผนการบริหารจัดการน้ำก็ยังเป็นไปตามที่ตนกล่าวเอาไว้อยู่ แต่ปัจจัยที่เรายังไม่กล่าวถึงคือ ฝนที่จะตกลงมาใหม่หรือไม่ แต่ตลอด 24 ชม. ที่ผ่านมายังไม่มีฝนในปริมาณมากตกลงมา

เมื่อถามว่า มีแผนรองรับในกรณีที่มีฝนตกหนักหรือไม่ นายกฤษฎา กล่าวว่า ต้องดูปริมาณน้ำก่อน เราคาดการณ์ว่ามีปริมาณน้ำไหลอยู่ที่ประมาณ 70-80 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ถ้าขึ้นมา 200-300 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในเมือง จ.เพชรบุรี น้ำท่วม แต่จะไม่ท่วมกระจายเหมือนเมื่อก่อน เพราะเรามีผนังกั้น และเครื่องสูบน้ำคอยรองรับไว้จากกรมชลประทาน 35 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มสูบน้ำออกไปแล้ว

เมื่อถามถึงกำหนดการเดินทางไปตรวจการระบายน้ำที่ จ.เพชรบุรี ของนายกรัฐมนตรี นายกฤษฎา ยืนยันว่า นายกฯ ยังมีกำหนดการเดิมเพื่อไปเยี่ยมประชาชน แม้ว่าน้ำจะยังไม่ท่วม โดยจะไปดูการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและหัวหน้าส่วนราชการได้เตรียมการไว้อย่างดีแล้ว

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี เสี่ยงเขื่อนแตก นายกฤษฎา กล่าวว่า เขื่อนดังกล่าวใช้หลักการระบายน้ำแบบเดียวกัน ส่วนพื้นที่อื่นตามลุ่มแม่น้ำโขง ที่ตอนนี้ก็ประสบปัญหาเช่นกันนั้น ขณะนี้ยังบริหารจัดการได้ แต่ด้วยน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณที่มาก ทำให้ระบายได้ช้า ส่วนเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ยังคงรับน้ำได้อยู่ และยืนยันน้ำจะไม่ท่วมแบบปี 2554 แน่นอน

เดอะ การ์เดี้ยน รายงาน งานวิจัยออสเตรเลียเผยความลับยืดอายุขัยให้ยืนยาว ด้วยการใช้โต๊ะทำงานแบบปรับระดับนั่ง-ยืน ทำงานได้ เพื่อลดการนั่ง-เพิ่มการเคลื่อนไหว

งานวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Scandinavian Journal of Work, Environment and Health โดยการวิจัยนี้ได้รับทุนจาก VicHealth และ สภาวิจัยสุขภาพและการแพทย์แห่งชาติ โดยมีการทดลองกับพนักงานในมหาวิทยาลัยดีกิ้น จำนวน 230 คน ที่แต่เดิมมักนั่งทำงานเป็นหลัก เปลี่ยนมายืนทำงานแทน

“การปรับเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมโต๊ะทำงานนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานให้คนขาดงานน้อยลง และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โต๊ะทำงานปรับระดับนั่ง-ยืน นี้ จะช่วยให้แรงงานในออสเตรเลียมีสุขภาวะที่ดีขึ้น” หัวหน้าคณะผู้วิจัย ดร.ลัน เกา จากมหาวิทยาลัยดีกิ้น กล่าว และว่า การทำงานที่โต๊ะโดยใช้เวลาที่ยาวนานเกินไปจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงซึ่งแพทย์เรียกกันว่า Hyperglycemia) และโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังอาจนำไปสู่อายุขัยที่ลดลงอีกด้วย

งานวิจัยยังได้ศึกษาต้นทุนของโต๊ะนี้ โดยเฉลี่ยพบว่า มีราคา 344 ดอลลาร์ ต่อคน แต่ทั้งนี้สามารถลดต้นทุนได้อีกหากมีการผลิตจำนวนมาก หรือหากมีการแชร์โต๊ะทำงานร่วมกัน ตามหลักของ Economy of scale โดยประเมินว่า หากร้อยละ 20 ของสถานที่ทำงานมีการปรับเปลี่ยนโต๊ะทำงานจะต้องใช้งบในการลงทุนประมาณ 185.2 ล้านเหรียญ

ทั้งนี้ งานวิจัยยังระบุว่า พฤติกรรมที่ทำเป็นประจำจะมีผลต่อสุขภาพแม้ว่าจะยังไม่มีผลการทดลองที่ระบุเวลาแน่ชัดในการนั่งพัก หรือนอนพัก ที่จะส่งผลให้สุขภาพแย่ลง แต่แนะนำว่าให้แบ่งเวลานั่งพัก นอนพัก อย่างสม่ำเสมอเท่าที่จะเป็นไปได้

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ระบุว่า “การอยู่นิ่งๆ เป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะนั่งหรือยืน ย่อมมีผลแย่ต่อสุขภาพ”

สศท.9 ลงพื้นที่ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ผู้บริโภคร้อยละ 62 เคยซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะมั่นใจในตรารับรองมาตรฐาน ในขณะที่ร้อยละ 38 ยังไม่เคยซื้อ เพราะเห็นว่ามีราคาแพงและหาซื้อค่อนข้างยาก แนะ รุกช่องทางการจำหน่ายสินค้าในตลาดปกติทั่วไป และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้สะดวกขึ้นและเพิ่มสัดส่วนของผู้บริโภคภายในประเทศ

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในรูปแบบคณะทำงานการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ โดยจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้าและการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” สศก. จึงได้ดำเนินการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) เป็นหน่วยงานดำเนินการ

จากการติดตามผล ในกลุ่มตัวอย่าง 3,356 ตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561 โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิงร้อยละ 65 เพศชายร้อยละ 35 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประเภทสินค้าผักสด ร้อยละ 46 ผลไม้ร้อยละ 26 ข้าวร้อยละ 21 ธัญพืช/สมุนไพรร้อยละ 4 เนื้อสัตว์/ไข่ ร้อยละ 2 และอื่นๆ ร้อยละ 1 ตามลำดับ

ผู้บริโภคส่วนใหญ่เคยซื้อสินค้าอินทรีย์ ร้อยละ 62 โดยส่วนใหญ่ซื้อเป็นอาหารสด อาหารพร้อมปรุงกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป และอาหารแช่แข็ง สาเหตุหลักตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์มาบริโภค เนื่องจากมีความมั่นใจในตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ว่าปลอดภัยกว่าสินค้าทั่วไป และมีความมั่นใจว่าปราศจากสารพิษและสารเคมี โดยนิยมแหล่งที่เลือกซื้อสินค้า ได้แก่ ตลาดสดปกติทั่วไป ร้อยละ 35 ตลาดนัดทั่วไป ร้อยละ 25 ตลาดเกษตรอินทรีย์ ร้อยละ 18 และตลาดโมเดิรน์เทรด ร้อยละ 10 และตลาดอื่นๆ 12

ในขณะที่ผู้บริโภคร้อยละ 38 ที่ไม่เคยซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ สาเหตุส่วนใหญ่เนื่องจากสินค้าเกษตรอินทรีย์มีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป หาซื้อค่อนข้างยาก วางจำหน่ายไม่ต่อเนื่อง และประเภทสินค้าเกษตรอินทรีย์มีให้เลือกไม่หลากหลาย ซึ่งแม้ปัจจุบัน กระแสการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์จะเป็นที่สนใจมากขึ้น

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพัฒนาช่องทางตลาดให้มากขึ้นต่อไป โดยเฉพาะการส่งเสริมการผลิตอาหารอินทรีย์ในรูปของอาหารสด และจัดหาช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดปกติทั่วไป เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้สะดวกขึ้น ตลอดจนประชาสัมพันธ์ถึงคุณประโยชน์และข้อดีของการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นช่องทางการเพิ่มสัดส่วนของผู้บริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ ผลการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ของ สศท.9 นับเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ สศก. จะจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการตลาดเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศให้มากขึ้น สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 โทร. 074 312 996 หรือ zone9@oae.go.th

กรมส่งเสริมสหกรณ์ต่อยอดโครงการส่งเสริมสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล หวังสร้างสหกรณ์ต้นแบบที่มีหลักการบริหารจัดการที่ดี เกิดความโปร่งใสเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากสมาชิก เผยเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 60 ขณะนี้มีสหกรณ์เข้าร่วมแล้ว 464 สหกรณ์ เตรียมขยายผลในปี 62 ให้ได้ 2,000 สหกรณ์ทั่วประเทศ

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินโครงการส่งเสริมสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล โดยรณรงค์ให้สหกรณ์ทั่วประเทศนำหลักธรรมาภิบาลมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมกันสร้างสหกรณ์สีขาว ที่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานเพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน มีระบบการควบคุมภายในที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันปัญหาเรื่องการทุจริตในสหกรณ์ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาจากสมาชิกที่มีต่อสหกรณ์กลับคืนมา โดยกรมได้นำเกณฑ์ประเมินจัดระดับการกำกับดูแลองค์การภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มาผนวกกับความเป็นสหกรณ์ เพื่อประยุกต์เป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยเริ่มที่สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีทุนดำเนินงานเกินกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 201 สหกรณ์

การดำเนินโครงการดังกล่าวได้ส่งผลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถยกระดับการบริหารงานได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น และมีการควบคุมภายในที่ดี มีความโปร่งใส โดยในปี 2561 กรมได้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังสหกรณ์ทุกประเภทที่มีความสมัครใจเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มเติมเป็น 464 สหกรณ์ พร้อมทั้งได้ตั้งคณะทำงานส่งเสริมธรรมาภิบาลระดับจังหวัด การประเมินธรรมาภิบาลของสหกรณ์ แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ สหกรณ์สีขาว, ดีมาก, ดี, พอใช้ และต้องปรับปรุง ตามลำดับ ผลการประเมินในครั้งแรกพบว่า มีสหกรณ์ผ่านเกณฑ์ในระดับสหกรณ์สีขาว จำนวน 21 สหกรณ์ ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหมด และอยู่ในเกณฑ์ระดับดีมาก จำนวน 50 สหกรณ์ เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ 45 แห่ง สหกรณ์การเกษตร 4 แห่ง สหกรณ์นิคม 1 แห่ง และในเดือนกรกฎาคม 2561 คณะทำงานตรวจประเมินธรรมาภิบาลระดับจังหวัด ซึ่งมีการแต่งตั้งบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมเป็นคณะทำงาน ทำการประเมินผลธรรมาภิบาลครั้งที่สอง คาดว่าจะมีจำนวนสหกรณ์ที่สามารถยกระดับเป็นสหกรณ์สีขาวเพิ่มขึ้นเป็น 71 สหกรณ์

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับในปี 2562 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เตรียมแผนต่อยอดการส่งเสริมสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล มีการประชาสัมพันธ์ให้สหกรณ์ทุกประเภทเห็นถึงประโยชน์ของการบริหารจัดการที่ดี ตามหลักธรรมาภิบาลและมีความเป็นสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายโครงการ ขยายผลไปยังสหกรณ์ 2,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์ทุกแห่ง และสหกรณ์ภาคการเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบสหกรณ์สีขาว สามารถเป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการที่ดีแก่สหกรณ์ขนาดเล็กนำไปประยุกต์ใช้ตามความพร้อมของแต่ละสหกรณ์ นอกจากนั้น การส่งเสริมสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมมาตรฐานสหกรณ์ รวมทั้งเชื่อมโยงต่อยอดไปถึงการส่งเสริมสหกรณ์สู่ดีเด่น ซึ่งกรมจะได้บูรณาการแนวทางส่งเสริม ทั้งสามเครื่องมือให้สนับสนุนซึ่งกันและกัน ตั้งแต่กระบวนการวางแผน การดำเนินงาน การติดตามประเมินผล และการปรับปรุงพัฒนา เพื่อให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

กระบวนการบริหารจัดการตาม “หลักเกณฑ์สหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล” อาจเป็นภาระสำหรับสหกรณ์ในช่วงแรกเริ่มดำเนินการ เช่น บุคลากรมีงานเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายและมีการจัดทำเอกสารเพิ่มขึ้น แต่เป็นการยุ่งยากในครั้งเดียว เมื่อมีระบบบริหารจัดการที่ดีเป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารสหกรณ์แล้ว จะช่วยลดปัญหาจากการดำเนินงานและช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับสหกรณ์ได้ และการดำเนินงานอยู่ภายใต้กรอบของความเป็นสหกรณ์ที่แท้จริง กรรมการมีภูมิคุ้มกันและมีฐานข้อมูลสำหรับช่วยประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง หรือหากเกิดความเสียหายก็สามารถหาผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิกสหกรณ์ ก่อให้เกิดศรัทธาและรักองค์กร มีส่วนร่วมในธุรกิจและกิจกรรมเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและการยอมรับต่อสาธารณชน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และความร่วมมือทางธุรกิจ