จีดีพีเกษตร Q1 ทรงตัว ขยาย 0.5% เหตุ อ้อยผลผลิตลดลงมาก

ตั้งเป้าทั้งปีโต 3% นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2562 พบว่า ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ขยายตัวได้ในระดับต่ำหรือค่อนข้างทรงตัว เป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของสาขาพืชที่ชะลอลงเป็นหลัก (มูลค่าการผลิตของสาขาพืชมีสัดส่วนสูงสุดในภาคเกษตร)

อย่างไรก็ตาม การผลิตพืชเศรษฐกิจหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย ยกเว้นอ้อยโรงงาน ซึ่งมีมูลค่าการผลิตสูงสุดในสาขาพืชในไตรมาสแรก กลับมีผลผลิตลดลงค่อนข้างมาก ด้านการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งมีการจัดการฟาร์มที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่วนการผลิตสินค้าประมง ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการทำประมงทะเลและการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมีทิศทางเพิ่มขึ้น สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา พบว่า

สาขาพืช ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สำหรับ ข้าวนาปี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกในนาที่เคยปล่อยว่าง ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการดูแลที่เหมาะสม และมีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงการเพาะปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก

ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา มันสำปะหลัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคามันสำปะหลังในปีที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นมาก จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก และปลูกทดแทนพืชอื่น เช่น อ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่กรีดได้เพิ่มขึ้นจากต้นยางพาราที่ปลูกตั้งแต่ปี 2556 โดยปลูกแทนในพื้นที่พืชไร่ พื้นที่นา ไม้ผล และต้นยางพาราที่มีอายุมาก ประกอบกับเนื้อที่กรีดได้ส่วนใหญ่เป็นต้นยางพาราที่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง

ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น และต้นปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำเพียงพอ ลำไย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2559 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ และเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศเหมาะสม เกษตรกรมีการบำรุงดูแลรักษาที่ดี ต้นลำไยจึงออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา

ผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้การแตกกอและการเจริญเติบโตของต้นอ้อยไม่สมบูรณ์ ประกอบกับในช่วงปลายปี 2561 มีการเปิดหีบอ้อยเร็วขึ้น ทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งตัดอ้อยไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ถึงเดือนกรกฎาคม 2561 ทำให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ยังมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการกำหนดราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท (ความชื้นไม่เกิน 14.5%) ภายใต้โครงการตามนโยบายประชารัฐ และมันสำปะหลังมีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง

สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยลดลง ได้แก่ ข้าว มีราคาลดลง เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อ อ้อยโรงงาน มีราคาลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก เนื่องจากปริมาณน้ำตาลของโลกอยู่ในภาวะล้นตลาด สับปะรดโรงงาน มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังคงมีมากกว่าความต้องการของตลาด ยางแผ่นดิบ มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเนื้อที่เปิดกรีดยางใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการภายในประเทศชะลอการสั่งซื้อยาง รวมถึงผลกระทบจากอุปทานส่วนเกินของผลผลิตยางพาราโลก ปาล์มน้ำมัน มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมาสู่ตลาดมาก รวมทั้งสต็อกน้ำมันปาล์มมีปริมาณสูงกว่าสต็อกเพื่อความมั่นคงที่ประเมินไว้ และ ลำไย มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตลำไยที่ออกสู่ตลาดจำนวนมากจากการปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น

KAPI จัดพิธีมอบโล่รางวัลให้แก่ผู้ชนะในการประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thailand Green Design Awards ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยในปีนี้มีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 27 ผลงาน จาก 115 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด ผู้ชนะได้รับโล่รางวัล ประกาศเกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัล หวังให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมหันมาใส่ใจและตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และให้งานวิจัยได้มีการพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น

ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงภาพรวมของโครงการ Thailand Green Design Awards 2019 ว่า “การประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thailand Green Design Awards 2019 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ปีนี้เรามุ่งเน้นในด้านการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตผลิตภัณฑ์อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบในการผลิตว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรอบอย่างไร รวมทั้งกระตุ้นเกื้อหนุนและเอื้อต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบอย่างสร้างสรรค์เช่นไร โดยเน้นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คอนเซ็ปต์การประกวดปีนี้จะเน้นในผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรีนดีไซน์และผลิตภัณฑ์ที่เป็นการนำพวกพลาสติกที่จะเป็นขยะในอนาคต รวมถึงที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนาเป็นผลงานมากขึ้น

ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ มีส่งเข้าประกวดทั้งหมด 115 ผลงาน ชิ้นงานที่ส่งเข้าประกวดปีนี้หลายชิ้นงานที่เน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่สวยงาม และการใช้งานได้จริง ทำให้เห็นว่าผู้เข้าประกวดเริ่มเข้าใจจุดมุ่งหมายของโครงการที่ต้องการปลูกจิตสำนึกและรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ก้าวสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ จนทำให้คณะกรรมการตัดสินมีความหนักใจในการพิจารณา จนได้ทั้ง 27 ผลงานที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินพิจารณาของโครงการ ทั้ง 27 ชิ้นงานที่ผ่านเข้าเกณฑ์ล้วนเป็นชิ้นงานที่มีความน่าสนใจ มีการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ที่ดี จับต้องได้ สามารถต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ได้เลย และบางชิ้นหลังจากที่ได้ไปโชว์ผลงานที่งานเกษตรแฟร์ ’62 ก็มีผู้ที่สนใจติดต่อขอซื้อไปบ้างแล้ว ทางโครงการก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นสื่อกลางในการทำหน้าที่ต่อยอดทางธุรกิจ”

ดร.มะลิวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของผลงานสำหรับสังคมผู้สูงอายุ ในปีนี้มีการส่งผลงานในประเภทนี้เข้ามาเยอะมากขึ้นจากในปีก่อนๆ เป็นชิ้นงานที่พร้อมจำหน่าย กลุ่มที่ส่งเข้าประกวดมากที่สุดคือ กลุ่มภาคเอกชน เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ อีกทั้งปัจจุบันในท้องตลาดเริ่มมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผู้สูงอายุมากขึ้น อาจจะเพราะประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนเหล่านี้มองว่าถ้าชิ้นงานได้เข้าโครงการ TGDA ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักผลิตภัณฑ์ของเขา จนต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ได้ในที่สุด

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลจากโครงการไปแล้วจากในการประกวดของปีที่ผ่านๆ มา ทางโครงการได้มีการติดตามผลงานที่ได้รับรางวัลและเข้าประกวดในโครงการอยู่ตลอด ว่าได้มีการพัฒนาต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ตามจุดมุ่งหมายของการประกวดหรือไม่ ซึ่งเราพบว่ามีบางผลงานได้มีวางขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นน้ำยาซักผ้าที่ผลิตมาจากเอนไซม์สับปะรด PIPPER พิพเพอร์ สแตนดาร์ด และมีไลน์ผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากน้ำยาซักผ้าแล้ว

ก็มีน้ำปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน หรือในส่วนของผลงาน เฟรชชี่ โซป ชาวเวอร์ ชีท ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานประเภทที่ช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต กลุ่มผู้ประกอบการและบริษัทเอกชน เมื่อได้มีการเผยแพร่ จนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้มีผู้ที่สนใจถามหาผลิตภัณฑ์มากขึ้น มีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ในส่วนของสถาบันก็ได้มีการส่งนักวิจัยเข้าไปช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมมากขึ้นให้กับชิ้นงานที่ต้องการในการพัฒนาต่อยอด”

นอกเหนือจากนี้ TGDA2019 ยังได้มุ่งเน้นในการสร้างพื้นที่สีเขียวให้เข้าไปอยู่ในใจของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น โดยการตัดสินในปีนี้ คณะกรรมการตัดสินได้สัมผัสกับหลายชิ้นงานที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของแนวคิด คอนเซ็ปต์ การออกแบบดีไซน์ การใช้ได้จริง การนำเทคโนโลยีมาใช้ และที่สำคัญคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้คณะกรรมการรู้สึกดีใจที่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด เข้าใจในวัตถุประสงค์และแนวคิดของโครงการมากขึ้น จนได้มาซึ่งผลงานที่ผ่านเกณฑ์และได้รับรางวัลทั้ง 27 ผลงาน และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ตระหนักและใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

ได้ทำการมอบรางวัลพิเศษนักออกแบบหัวใจสีเขียวรุ่นเยาว์ The Best of The Best Young “TGDA2019” ให้กับผลงานประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ “การออกแบบฐานฟื้นฟูปะการังเพื่อสภาพแวดล้อมในทะเล (Re-Coral)” โดย นายสิชล รอดทยอย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นผลงานที่มีแนวคิดมาจากการได้ไปศึกษาและลงพื้นที่ปลูกปะการัง และกำลังศึกษาในเรื่องการนำวัสดุเปลือกหอยแมลงภู่และหอยแครงที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการบริโภค จึงมีแนวคิดในการนำวัสดุดังกล่าวมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าแทนการใช้ปูนซีเมนต์ที่อาจเป็นผลเสียต่อท้องทะเลในระยะยาว

ด้าน คุณนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีในการดำเนินธุรกิจ กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม ได้ยืนหยัดในฐานะ “ผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy)

ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ล้ำสมัยในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ไปพร้อมกับการตอบแทนคืนสู่สังคม และมุ่งสร้างชื่อเสียงประเทศไทยให้ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก เราทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างคุณค่าพื้นที่เมืองที่เราเข้าไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับผู้คนและสังคม อาทิ การใช้พื้นที่ภายในศูนย์เพื่อเป็นเวทีสนับสนุนให้กับคนไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้พัฒนาศักยภาพและเป็นที่รู้จัก

ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักในความสำคัญกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมดีๆ เพื่อช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการและกลุ่มสาธารณชนทั่วไปเสมอมา และเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการร่วมดำเนินโครงการการประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thailand Green Design Awards 2019 ในครั้งนี้อีกด้วย”

ดร.มะลิวัลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนและผลักดันมากกว่านี้ อยากให้เห็นความสำคัญของการนำผลงานการวิจัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพราะหลายๆ ผลงานสามารถนำไปวิจัยต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นให้กับองค์กร ให้กับประเทศมากขึ้น เพราะทุกวันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนโลกใบนี้

ดังจะเห็นได้จากปัญหาของฝุ่นละออง pm2.5 เรื่องพลาสติก Thailand Green Design Awards ก็เป็นเพียงงานประกวดงานหนึ่งที่มุ่งเน้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด หากทุกๆ คนเล็งเห็นความสำคัญตรงนี้แล้วร่วมกันตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม จะทำให้การใส่ใจสิ่งแวดล้อมกระจายในวงกว้างมากขึ้น มิใช่แค่เพียงผู้ที่ได้รับรางวัลเท่านั้น แต่เรามุ่งหวังให้ทุกคนในสังคม มีความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและร่วมกันสร้างสังคมสีเขียวที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน”

นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ที่เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตรา ไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งมีเป้าหมายเกษตรกร 150,000 ราย พื้นที่ 2.25 ล้านไร่ โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการโอนเงินช่วยเหลือตามโครงการไปแล้ว จำนวน 149,949 ราย เป็นเงิน 2,025.02 ล้านบาท พื้นที่ 1.35 ล้านไร่ คิดเป็น 99.96%

นายศรายุทธ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เห็นชอบในการเพิ่มเป้าหมายในโครงการดังกล่าว ภายใต้กรอบงบประมาณเดิม อีก 99,918 ครัวเรือน พื้นที่ 0.9 ล้านไร่ เป็นเงิน 1,348.87 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ได้เร่งดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ซึ่งเกษตรกรสามารถมาเบิกรับเงินได้ตั้งแต่ วันที่ 27 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระค่าครองชีพของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน สร้างความมั่นคงเข้มแข็งในการประกอบอาชีพและการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 มีนาคม ที่ห้องประชุมโรงแรมอัศวรรณ อ.เมืองหนองคาย นสพ. สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ระหว่างตัวแทนปศุสัตว์ชายแดน ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา จากนั้นได้ปล่อยขบวนคาราวานความร่วมมือเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ขบวนรถเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษออกพ่นยาฆ่าเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตามแนวชายแดน

นสพ. สรวิศ กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์สำคัญที่เกิดกับสุกร มีอัตราการป่วยและการตายสูง ปัจจุบันมีรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนพบการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ล่าสุดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีรายงานการเกิดโรคที่เวียดนาม ซึ่งไทยตรวจพบการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรที่ผลิตจากเวียดนามโดยผ่านประเทศลาวเข้ามาทางจังหวัดนครพนม

กรมปศุสัตว์ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมกับด่านกักกันสัตว์ในพื้นที่เข้าปฏิบัติงานตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกร ในพื้นที่ 7 จังหวัดชายแดน ที่ติดกับ สปป.ลาว ได้แก่ เลย นครพนม มุกดาหาร หนองคาย บึงกาฬ และอุบลราชธานี ปฏิบัติงานลาดตระเวนตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสัตว์ ซากสัตว์ บริเวณจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว และช่องทางธรรมชาติ ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายและการค้าสัตว์ ซากสัตว์ ตามตลาดในพื้นที่ชายแดนไทยลาว

นสพ. สรวิศ ในครั้งนี้ได้มีการหารือกับประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อหามาตรการป้องกันให้ประเทศในภูมิภาคปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร การปล่อยขบวนคาราวานฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามแนวชายแดนครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะพื้นที่ชายแดนมีความเสี่ยงในการเลี้ยงสุกรแบบปล่อย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่เข้มแข็ง ทางปศุสัตว์ได้ทำคู่มือให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ผ่านทางจังหวัดและปศุสัตว์จังหวัดต่างๆ

“โรคนี้คล้ายกับโรคอหิวาต์ธรรมดา แต่มีอัตราการป่วยตายสูง เป็นโรคที่ไม่ติดคน ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน เชื้อทนทานต่อความร้อน อัตราการตายสูง กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยทางชีวภาพ ส่วนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้ดำเนินการให้ความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ยกระดับโรคนี้เป็นวาระแห่งชาติทุกหน่วยงานราชการต้องช่วยกัน ประชาชนยังไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะเป็นโรคที่ไม่ติดคน แต่ติดในสุกรอย่างเดียว” นสพ. สรวิศ กล่าว

กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามความร่วมมือ กับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ในการฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ เช่น “เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ” อ.เขาสมิง จ.ตราด ได้มีทักษะความรู้ ประสบการณ์เรื่องการปลูกหม่อนและเเปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม เพื่อเป็นแนวทางสร้างอาชีพเลี้ยงตนเอง พบว่า ผู้ต้องขัง ที่เข้าร่วมโครงการเมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว ส่วนใหญ่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพการเกษตร โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต

นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหม ได้ร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ คืนคนดีสู่สังคม โดยจัดอบรมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ผู้ต้องขังก่อนการปลดปล่อย เพื่อมีความรู้ติดตัวไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สำหรับเรือนจำที่มีพื้นที่ว่างเพียงพอ กรมหม่อนไหมจะเข้าไปส่งเสริมความรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกหม่อนผลสด สาวเส้นไหม ฟอกย้อมสีเส้นไหม ทอผ้าไหม และแปรรูปผลิตภัณฑ์ หลายอย่าง อาทิ ชาหม่อน แปรรูปหม่อนผล ผลิตรังไหมสดเพื่อจำหน่าย ฯลฯ ส่วนเรือนจำที่มีพื้นที่จำกัดและไม่มีพื้นที่ปลูกหม่อน จะส่งเสริมความรู้ด้านการฟอกย้อมสีเส้นไหม การทอผ้าพื้นและผ้าไหม การเเปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม เป็นต้น

“เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ” อ.เขาสมิง จ.ตราด เป็นหนึ่งในเรือนจำต้นแบบที่กรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตให้เเก่ผู้ต้องขังในเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ภายใต้โครงการกำลังใจ ในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา น้อมนำศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในเรือนจำ เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ต้องขังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเมื่อพ้นโทษ

เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามศาสตร์พระราชา มีน้ำใช้ตลอดปี มีสวนป่า ปลูกพืชผสมผสาน ปลูกไม้ผล มีบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงสัตว์นานาชนิด เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพให้กับประชาชนทั่วไป ทำให้เรือนจำชั่วคราวเขาระกำได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศการประกวดเรือนจำดีเด่น ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทุกวันนี้ เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ พัฒนาจาก “คุก” กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ จ.ตราด ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้านเศรษฐกิจพอเพียง

“นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จะได้เรียนรู้งานด้านหม่อนไหมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการปลูกหม่อนผลสดในระบบอินทรีย์ รวมทั้งการเเปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม อาทิ สบู่โปรตีนไหม ครีมอาบน้ำ แชมพู คุกกี้โปรตีนไหม สมูตตี้หม่อนผลสด ท้อฟฟี่โปรตีนไหม โอ่งใส่ทิชชู่ผ้าไหม เป็นต้น จึงอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ดังกล่าวและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหม่อนไหมเป็นของขวัญของฝากติดมือกลับบ้าน เพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ต้องขัง ” อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว

ด้านนางชุติกาญจน์ รัชตะปิติ ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ นครราชสีมา เปิดเผยว่า “เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ” อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ จังหวัดนครราชสีมา กรมหม่อนไหมได้ทำข้อตกลง MOU กับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้การเเปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ช่วยให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพจิตดีขึ้น ลดความเครียดระหว่างต้องโทษ และมีอาชีพติดตัวไปหลังได้รับการปลดปล่อย

โครงการนี้ กรมหม่อนไหม ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรม นำมาใช้ในโครงการคืนคนดีสู่สังคม โดยอบรมความรู้เรื่องการเเปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม รวมทั้งสนับสนุนต้นหม่อนผลสด พันธุ์เชียงใหม่ให้อดีตผู้ต้องขังนำไปปลูก รวมทั้งสนับสนุนด้านการตลาด นำสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าตามศูนย์ราชการต่างๆ เป็นต้น

นางชุติกาญจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมหม่อนไหม ได้ให้การสนับสนุน นายธาดา ทริดสังข์ (ถิก) ผู้พ้นโทษจากเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จ.ตราด ได้นำความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมมาประกอบอาชีพ ผลิตน้ำหม่อน แยมหม่อนจำหน่ายในตลาดนัด และเปิด “เพจบ้านน้ำหม่อน” เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอีกด้วย

ส่วนผู้ต้องขังในบ้านดินหม่อนไหม ซึ่งเป็นผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม โดยใช้ตราการค้า “น้ำหม่อนจากเขาระกำ” จะได้รับเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า สินค้าขายดีที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วไป ได้แก่ หม่อนผลสด เครื่องดื่มสมูทตี้ น้ำหม่อนแปรรูป และสินค้าแปรรูปอื่นๆ อีกมากมาย

“นักโทษชั้นดี ที่เข้าร่วมกิจกรรมบ้านดินหม่อนไหม กับกรมหม่อนไหม จะมีความสุขกับการทำงานในร่ม เกิดความผ่อนคลาย ไม่เครียด พวกเขามีใจรักในงานบริการ หลังเปิดที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พวกเขามีโอกาสเจอนักท่องเที่ยวทุกวัน ได้ขายสินค้าผลงานของพวกเขา โดยเฉพาะสมูทตี้มัลเบอรี่ ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายดีมาก เก็บหม่อนผลสดมาปั่นสดๆ ทุกวัน ทำให้พวกเขามีขวัญกำลังใจในการทำงานอย่างมีความสุข” นางชุติกาญจน์ กล่าวในที่สุด

ท่องโลกใต้ท้องทะเล สัมผัสความอลังการของอาณาจักรปะการัง ใกล้ชิดธรรมชาติใต้ทะเลลึก ณ “เกาะบุโหลนเล” จังหวัดสตูล กับนักเดินทางหัวใจสีเขียว “จ๊อบ – นิธิ สมุทรโคจร” พาสัมผัสแหล่งดำน้ำที่สวยติดอันดับ พร้อมลิ้มลองอาหารถิ่นสูตรเด็ดแดนใต้

ซัมเมอร์นี้ ไปฟินท่ามกลางเกาะแสนสวยแห่งทะเลอันดามัน อย่าง เกาะบุโหลนเล เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ มีธรรมชาติและหาดทรายสวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินไปกับแนวปะการังหลากหลายชนิด รับความสดชื่นริมชายหาดทรงโค้งเว้าคล้ายพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งพิธีกรหนุ่ม “จ๊อบ – นิธิ” รับอาสาทำภารกิจดำน้ำเก็บขยะใต้ท้องทะเล เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ จากนั้นไปสัมผัสเสน่ห์วิถีชีวิตชาวบุโหลนเล ลิ้มลอง “ขนมตายาบ” ขนมโบราณ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งอันดามัน อนุรักษ์ท้องทะเลไทย กับ จ๊อบ นิธิ สมุทรโคจร ในรายการ สมุดโคจร On The Way: สตูล – บุโหลนเล วันเสาร์ ที่ 30 มีนาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 28 (3SD) หรือติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ที่

ตะไคร้ ช่วยให้ผมดกดำ ลดปัญหาผมแตกปลาย

ตะไคร้ เป็นพืชสมุนไพรที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเส้นผมให้คุณได้อย่างปลอดภัย เพียงแค่คุณนำต้นตะไคร้มาสัก 3-4 ต้น นำมาล้างให้สะอาด จากนั้นแกะเปลือกนอกที่แข็งๆ ของตะไคร้ออก สัก 2-3 เปลือก แล้วนำมาหั่นเป็นท่อนเล็กๆ จะตำหรือใส่เครื่องปั่นก็ได้แต่ต้องทำให้ได้เนื้อตะไคร้ที่ละเอียดๆ จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำตะไคร้เข้มข้นที่ได้จากการปั่นหรือตำจนละเอียด นำน้ำตะไคร้ที่ได้มาใส่ผมที่สระสะอาดแล้ว หมักทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ใช้น้ำตะไคร้หมักผมหลังสระผมทุกครั้ง ควรทำติดกันเป็นเวลา 1-2 เดือน

ผลที่ได้ก็คือ คุณจะมีผมที่ดกดำเงางาม และไม่มีปัญหาเส้นผมแตกปลาย แถมยังทำให้เส้นผมของคุณมีน้ำหนักอีกด้วย

สมุนไพรรักษารากผม ทำให้ผมหงอกช้า กระเทียม สามารถช่วยทำให้รากผมของคุณแข็งแรงและหงอกช้าได้ เพียงแค่คุณนำกระเทียม 3-4 กลีบหรือหัวมาปอกเปลือกออก แล้วนำมาตำหรือปั่นให้ละเอียด จากนั้นนำไปผสมรวมกันกับน้ำมันมะกอกประมาณ 5-8 ช้อนโต๊ะ แล้วนำส่วนผสมที่ได้ใส่ถ้วยหรือขวดปิดฝาให้แน่นทิ้งไว้ 1-2 วัน จากนั้นนำมาใช้ได้โดยการนำมานวดให้ทั่วหนังศีรษะที่สระสะอาดแล้ว จากนั้นหมักทิ้งไว้ 30-45 นาที โดยนำผ้าขนหนูมาโพกศีรษะไว้ จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาดแล้วสระใหม่อีกครั้ง ทำเช่นนี้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 1-2 เดือน

เหงือกปลาหมอดอกม่วง

เหงือกปลาหมอดอกม่วงเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถช่วยรักษารากผมของคุณให้แข็งแรงได้ เพียงแค่คุณนำใบของต้นเหงือกปลาหมอดอกม่วงประมาณ 10 ใบมาตำหรือปั่นให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำของใบเหงือกปลาหมอดอกม่วงแล้วนำมาทาให้ทั่วหนังศีรษะและเส้นผม ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และสระผมตามปกติ ทำแบบนี้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน 1 เดือน ผลที่ได้คือ รากผมของคุณจะแข็งแรง ลดปัญหาผมขาดหลุดร่วง ผมมีสุขภาพดีขึ้น สมุนไพรแก้ผมร่วงและศีรษะล้านเปลือกส้มเขียวหวาน