จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรสมาชิกทุกท่านออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ผู้แทนเกษตรกร ในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2562 นี้กันให้มากๆ โดยนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือใบขับขี่ หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ที่มีหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และรูปถ่ายที่สามารถใช้อ้างอิงได้ ยื่นแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งเพื่อจะใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเกษตรกรสมาชิกสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้ 1 คน เพื่อให้ได้ผู้แทนเกษตรกรเข้ามาเป็นปากเป็นเสียง ร่วมเสนอความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร ตลอดจนการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาของเกษตรกรทั้งด้านหนี้สิน การพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรมให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับเกษตรกร” นายสไกร กล่าว

กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเจ้าภาพประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ครั้งที่ 1/2562 เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปีงบประมาณ 2563 โดยวางแนวทางการขับเคลื่อนแปลงใหญ่ ปีที่ 4 เน้นสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงด้านการตลาดที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มช่องทางตลาดสินค้าเกษตรแปลงใหญ่

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2559 และมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีสินค้าเกษตรแปลงใหญ่กว่า 70 ชนิด มีจำนวนแปลงใหญ่ 5,521 แปลง

พื้นที่รวม 5,581,317 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการฯ 337,570 ราย มีการจัดชั้นคุณภาพของแปลงใหญ่ แบ่งเป็นเกรด A B และ C และมีคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ร่วมกับภาครัฐขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการพัฒนาเกษตรกรให้มีการบริหารจัดการร่วมกัน จากที่เกษตรกรเป็นรายย่อยในแต่ละสินค้า ก็ให้มาบริหารจัดการร่วมกันเพื่อจะนำไปสู่การลดต้นทุนพัฒนาคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า

การดำเนินงานเกษตรแบบแปลงใหญ่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกร ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และได้พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรได้จริง จะเห็นว่าสินค้าจากเกษตรแปลงใหญ่ส่วนมากขายตามคุณภาพ แบ่งเป็นเกรด A B และ C ชัดเจน โดยแต่ละเกรดก็มีราคาที่แตกต่างกัน จึงเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรอยากมารวมกันเป็นแปลงใหญ่มากขึ้น เพราะเมื่อรวมกันเป็นแปลงใหญ่แล้วทำให้มีเงินออมในกระเป๋ามากขึ้น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรยืนยันว่าการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่ตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา ทุกแปลงเป็นรูปธรรม

เกษตรกรรู้ว่าตลาดต้องการสินค้าประเภทไหน คุณภาพเป็นอย่างไร ก็จะผลิตตามที่ตลาดต้องการ เกษตรกรรู้จักการใช้ข้อมูลนำไปวิเคราะห์และวางแผนการผลิตร่วมกันซึ่งเป็นไปตามหลักการของการตลาดนำการผลิต ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานต่อจากนี้ ก็ยังต้องดูแลพี่น้องเกษตรกรต่อไป แม้ตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา เกษตรกรจะมีความเข้มแข็งและเดินต่อไปได้เอง แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนในบางประเด็นที่จะช่วยให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงด้านการตลาดที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มช่องทางตลาดสินค้าเกษตรแปลงใหญ่

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ยังได้กำหนดให้มีการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่น ประจำปี 2562 เพื่อคัดเลือกให้เป็นตัวอย่างในการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ แบ่งเป็นแปลงใหญ่ดีเด่น อันดับ 1-3 และรางวัลชมเชย รวมทั้งสิ้น 6 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 60,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 40,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 20,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ซึ่งทุกรางวัลจะได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติบัตร การปรับปรุงระบบสารสนเทศในการบันทึกข้อมูลแปลงใหญ่และรายงานผลการดำเนินโครงการฯ

การนำตราสัญลักษณ์ (โลโก้) สินค้าแปลงใหญ่ และ ศพก. มาใช้ในการรับรองสินค้าที่ผลิตจากแปลงใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบ รวมทั้งโครงการบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Mega Farm Enterprise) เพื่อเพิ่มพูนรายได้เกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบเกษตรกรรมของไทย ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตจนกระทั่งมีผลผลิตจำหน่ายออกสู่ตลาด และให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของภาครัฐและเอกชน

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นำทีมเยี่ยมชมโครงการ “เกษตรวิชญา” บ้านกองแหะ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมส่งเสริมการดำเนินการสหกรณ์ ให้มีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก

วันที่ 11 มิถุนายน 2562 นายประยูร อินสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ “เกษตรวิชญา” บ้านกองแหะ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งดําเนินการในลักษณะคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน เป็นศูนย์ฝึกอบรม และวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เกิดเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติ และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแบบอย่างยั่งยืน

นายประยูร กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรบ้านกองแหะ จำกัด ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมในโครงการฯ 32 ราย ได้รับจัดสรรที่ทำกินจากโครงการรายละ 1 ไร่ โดยสหกรณ์ได้ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกหอมหัวใหญ่ รอบการผลิตใช้เวลา 6 เดือน ผลผลิตต่อไร่สามารถสร้างรายได้ประมาณ 60,000 บาท แบ่งเป็นต้นทุน 20,000 บาท กำไร 40,000 บาท นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้สมาชิกปลูกถั่วแขก ถั่วแระ ถั่วลิสง ถั่วดาวอินคา เผือก ซาโยเต้ มะเขือยาว องุ่น ดอกดาวเรือง หลังฤดูปลูกหอมหัวใหญ่ เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

ด้านปัญหาและอุปสรรคของสหกรณ์ พบว่า ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งเงินทุน ไม่มีสำนักงานในการปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ โดยคณะได้ร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและรับทราบร่างแผนดำเนินการ และแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ “เกษตรวิชญา” ร่วมกับกำหนดทิศทางการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ในพื้นที่ โดยจะนำความรู้ไปถ่ายทอดและขยายผลในสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง โครงการตามพระราชดำริ รวมถึงสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วไป.

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งที่บริโภคข้าวเป็นหลักมาตั้งแต่แรกเกิดก็ว่าได้ แต่ไม่เคยทราบว่า ข้าวเปลือก 1 เกวียน เมื่อนำมาสีเป็นข้าวสารแล้วจะได้ข้าวสารกี่กิโลกรัม และอีกคำถามหนึ่ง ผมอยากทราบว่า ข้าวนึ่งที่ส่งออกไปขายต่างประเทศนั้น เป็นข้าวนึ่งเหมือนกับที่เรารับประทานกับลาบส้มตำหรือไม่ ขอคำอธิบายด้วยครับ

ตอบ คุณนิวัฒน์ มงคลกิตติพงษ์

ข้าวไทย เป็นข้าวเมล็ดยาว จัดเป็นชนิดอินดิกา (Indica Type) ซึ่งต่างกับข้าว ชนิดจาโปนิกา (Japonica Type) ซึ่งเป็นชนิดเมล็ดป้อม และสั้น มีปลูกมากในเขตอบอุ่น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ทางตอนเหนือบางมณฑล

ข้าวไทย เป็นข้าวชนิดเมล็ดยาวเรียว เมื่อผ่านกระบวนการขัดสี จะได้ต้นข้าวเพียง 66 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ตามข้อมูลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ รายงานไว้ว่า ข้าว 1 เกวียน หรือข้าวเปลือก 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน นำมาแปรรูปแล้วได้เนื้อข้าว เฉลี่ย 660 กิโลกรัม นอกจากนั้น เป็นรำข้าวขาว รำข้าวกล้อง และแกลบ ในปริมาณ 80, 30 และ 230 กิโลกรัม ตามลำดับ ส่วนข้าวชนิดจาโปนิกา แปรรูปแล้วจะได้ต้นข้าวมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นเมล็ดข้าวที่สั้นและป้อม เมล็ดจึงแตกหักน้อยกว่าข้าวชนิดอินดิกา รวมทั้งข้าวไทยของเราด้วย

กลับมาที่ข้าวนึ่ง ข้าวนึ่งชนิดที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่วนใหญ่ส่งไปจำหน่ายที่ศรีลังกา บังกลาเทศ และประเทศแอฟริกาบางแห่ง ภาษาทางวิชาการ รวมทั้งทางธุรกิจ เรียกว่า พาบอยล์ไรซ์ (Paboil Rice) ข้าวประเภทนี้เริ่มจากนำข้าวเปลือกที่เปียกน้ำ มีความชื้นสูง

หลังจากผึ่ง หรือตากแห้งแล้ว เนื้อแป้งจะแตกหัก หรือร้าว หากนำไปขัดสีทันทีข้าวจะหักป่นเสียหาย ขายไม่ได้ราคา จึงต้องนำไปนึ่งด้วยไอน้ำ ด้วยอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นกระบะ รูปร่างและขนาดคล้ายรถปิกอัพของญี่ปุ่น ส่วนพื้นปูด้วยตะแกรงตาข่ายเหล็ก ให้ไอน้ำผ่านได้ แต่ป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวหล่นจากกระบะ ตั้งไว้เหนือหม้อต้มน้ำ ขนาดใกล้เคียงกัน รักษาอุณหภูมิไว้ที่ 100-120 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 30-45 นาที อุณหภูมิไอน้ำระดับนี้ช่วยให้เมล็ดข้าวที่แตกหักให้เชื่อมกลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน

แต่ข้อเสียทำให้กลิ่นสาบของเปลือกข้าวซึมซับเข้าในเนื้อข้าว อีกทั้งสีของเมล็ดข้าวจะคล้ำลงไปจนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน หลังจากแปรรูปมาเป็นข้าวสารแล้ว ข้าวนึ่งชนิดนี้กลุ่มประเทศแขก หรืออินเดียน คอนติเนนตัล (Indian Continelton) นิยมบริโภคกับแกงกะหรี่ คาดเดาเอาว่า กลิ่นแกงจะกลบกลิ่นสาบของข้าวลงก็เป็นได้ แต่คนไทยเราไม่ยอมนำมาบริโภคอย่างแน่นอน

อยากเล่าให้ฟังครับ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2520 ผมมีโอกาสไปฝึกอบรมระยะยาวเรื่องข้าวญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี มีอยู่วิชาหนึ่ง มีการทดสอบความชอบของข้าวแต่ละพันธุ์ (Paratability test) คือมีตัวอย่างข้าวที่หุงแล้วหลากหลายพันธุ์ โดยไม่ระบุชื่อ แต่จะมีรหัสตัวเลขกำกับไว้

ผลการทดสอบปรากฏว่า ชาวอินเดียนคอนติเนนตัล โหวตให้ข้าวนึ่งว่าเป็นข้าวที่พวกเขาชอบมากที่สุด ส่วนคนญี่ปุ่นไม่ชอบข้าวที่มีกลิ่น เช่น ข้าวพันธุ์ดอกมะลิ 105 เขาบ่นว่ามีกลิ่นแรงไป ข้อมูลทั้งหลายญี่ปุ่นเก็บไว้ในสมองหมดแล้ว ถ้ามาทดสอบที่ประเทศไทย คงเกิดปรากฏการณ์ข้าวพันธุ์เขย่งให้เห็นเป็นแน่แท้

ตำราเคลื่อนที่ด้านเศรษฐกิจพอเพียง อย่าง คุณสมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์ของแผ่นดิน จังหวัดระยอง หรือเรียกกันว่า ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ในวัย 66 ปี นับเป็นแบบอย่างที่ดีงามสำหรับผู้คนในยุคนี้ ในยุคที่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย” เหลือเพียงแต่พระราชปณิธานและพระราชดำริ รวมทั้งพระราชดำรัสอีกจำนวนมาก ให้พสกนิกรชาวไทยได้ปฏิบัติเพื่อความผาสุกและความร่มเย็น ซึ่งผู้ใหญ่สมศักดิ์ได้เดินตามรอยพ่อในทุกมิติ จนประสบความสำเร็จ และมีวันนี้ได้เพราะน้อมนำพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้อย่างจริงจัง ทั้งศึกษาภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้รู้อย่างถ่องแท้

เพราะหากนำพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ จะพบว่า “ความรวย” อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และใครๆ ก็รวยได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากตัวเอง โดยผู้ใหญ่สมศักดิ์แนะทางรวยตามวิถีพึ่งพาตนเอง โดยให้เริ่มต้นทำเรื่องของตัวเองก่อน และต้องทำตัวเองให้รอด จึงจะแบ่งปันผู้อื่นได้

“แต่ก่อนจะทำเรื่องของคนอื่น แต่ทำไม่ได้ เพราะเข้าใจไม่ตรงกัน ผลสุดท้ายก็กลับมาทำเรื่องของตัวเอง เอาตัวเองให้รอด พอตัวเองเริ่มรอด แต่กว่าจะรอดก็นาน เพราะมีอะไรต้านเยอะแยะ บางทีทำอะไรที่เราว่าดี คนนั้นเขาว่าไม่ดี บางทีคนที่ว่าไม่ดี เขามีอำนาจ เขามีพลัง จนเราไม่สามารถทำตรงนั้นได้ ผลสุดท้ายก็ถอยออกมา ถอยออกมานอกกรอบมาทำเอง เริ่มจากการพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน มีเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงทรงตรัสไว้ 2 ขั้น คือ 1. ขั้นพื้นฐาน และ 2. ขั้นก้าวหน้า หลักเศรษฐกิจพอเพียงมีเท่านี้ ให้พึ่งพาตนเอง ย้ำว่า อย่าข้ามขั้น ให้เดินทีละก้าว ให้กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์อธิบายและบอกต่ออีกว่า

“แต่ส่วนใหญ่จะข้ามขั้น แต่ฉันไม่ข้ามขั้นนะ ฉันทำจนขั้นพื้นฐานสำเร็จ พอขั้นพื้นฐานสำเร็จแล้ว ขั้นก้าวหน้ามาเอง เขารออยู่แล้ว ขั้นก้าวหน้า อยากได้เงิน เงินก็มา อยากได้ทอง ทองก็มา อยากได้เพื่อน เพื่อนก็มา แต่ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน ขั้นพื้นฐานต้องแน่นก่อน และขั้นพื้นฐานที่ว่า มันมีอะไร เกี่ยวกับดินและน้ำ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา เริ่มจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ อาหาร อยากกินพริกปลูกพริก อยากกินมะเขือก็ปลูกมะเขือ ง่ายจะตาย ไม่ต้องไปคำนึงว่าจะลงทุนเท่าไร”

“บางคนจะลงทุนก็ไปคำนึงว่า ไม่มีทุน มันไม่เกี่ยวกับทุนหรอก มันเกี่ยวกับปัญญา มีปัญญาหรือเปล่า ปัญญากับทุนมันคนละเรื่อง ทุนมันคือ สตางค์เป็นหนี้ แต่ใช้ปัญญาไม่เป็นหนี้ พริกเม็ดหนึ่งเพาะได้ตั้งกี่ต้น และพริกเม็ดต้องซื้อไหม ไม่ต้องซื้อหรอก ต้องใจเย็นๆ ทำเรื่องนี้ต้องใจเย็น อย่าใจร้อน ก็ใจร้อนปลูกพริก ได้กินไม่กี่วัน”

“ขั้นตอนง่ายๆ มีนิดเดียว ถ้านึกไม่ออกว่าจะปลูกอะไรก่อน เขามีตำราอยู่ว่า ลองคิดจะปลูกต้นไม้ให้ได้วันละ 10 ต้น วันนี้คิดไม่ออก ปลูกมะพร้าว 10 ต้น พรุ่งนี้คิดไม่ออก ลองปลูกกะเพราสัก 10 ต้น ปลูกตะไคร้ 10 ต้น มะรืนนี้คิดไม่ออก ปลูกพริก 10 ต้น ลองปลูกต้นไม้ให้ได้วันละ 10 ต้นๆ ปลูกทุกวัน ลองจด แล้ว 3 เดือน ได้กี่ต้น ปลูกต้นไม้ทุกวัน วันละ 10 ต้น 3 เดือน ไม่ต้องขอใครกิน พริกออกแล้ว มะเขือออกแล้ว มีกิน 3 เดือน” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากการน้อมนำพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จนประสบความสำเร็จ

ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับวิธีคิดของคนในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้การเริ่มต้นเดินหน้าใช้ชีวิต “พอเพียง” เป็นเรื่องยาก เพราะต้องเริ่มจากการปลูกต้นอะไรสักอย่าง ที่อยากปลูก และมีกำลังทำได้ อย่างเช่น พริก ปลูกง่าย แต่ไม่รู้มันปลูกกันไม่ได้ ไม่รู้ด้วยสาเหตุเพราะอะไร

“มีคนบอกไม่ให้ปลูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือคนบอกปลูกซะยาก แต่ปลูกง่ายจะตาย ปลูก 3 เดือน ทุกๆ วัน เหลือกิน ลองปลูกทุกวัน วันละ 10 ต้นๆ ทุกวัน อย่าหยุดน่ะ ปลูกสัก 6 เดือน เดินไปหิ้วไปไหนถือตะกร้าเต็ม ไม่ต้องไปขาย หิ้วไป มันมีคาถาในหลวงแจกไว้ว่า ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา ลองถือตะกร้าพริก มะเขือ เดินแจกไป ได้อะไรไม่รู้ คนแจกน่ะรู้ เพราะฉะนั้น อยากจะรู้ได้อะไร ลองแจกดู แต่อย่าหยุดปลูกนะ ปลูกทุกวัน วันละ 10 ต้น ครบ 1 ปี เมื่อไร คุณมีที่ 2 ไร่ 3 ไร่ เมื่อไร คุณไม่มีที่ปลูกหรอก”

“เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดูว่า จะเลือกเอาพริกเหลือหนึ่งกิโลไปขาย หรือจะเอาพริกหนึ่งกิโลไปแจกเพื่อน แล้วใส่ถุงเพาะ ทั้ง 2 วิธี นี้เป็นปริศนาอยู่ แต่ผมเลือกเพาะ ผมไม่ขาย แจกพริกแล้วเพาะพริก เก็บไว้ทุกวันๆ เชื่อไหมหนึ่งปี มันเก็บพริกขากลับ มันก็ผ่านต้นพริก สตางค์มาเอง น้ำใจคนมันมี ในหลวงตรัสไว้เยอะแยะหมด ถ้าพื้นฐานทำ พื้นฐานเศรษฐกิจก้าวหน้าจะมาเอง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ แนะวิธีเริ่มต้นเป็นเศรษฐี แง่คิดยอดเยี่ยมของผู้ใหญ่

หลักวิธีคิดและวิธีการที่ผู้ใหญ่สมศักดิ์นำมาใช้นั้น เป็นหนึ่งในคาถาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้กับประชาชนคนไทยและคนทั่วโลก โดยเน้นว่า ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา ขาดทุนคือกำไร

“นี่เป็นคาถาของในหลวงทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นวันนี้ผมทำพื้นฐานแน่นแล้ว แต่หลังจากพื้นฐานแน่นแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกว่า อย่าลืมเพื่อนที่อยู่ข้างเรา พยายามหามิตรเข้าไว้ วิธีหามิตรคือ การให้ ให้บ่อยๆ จะกลายเป็นบารมี ท้ายที่สุดวันนี้ ถ้าคนเอาตัวรอดแล้ว คนเดินเข้ามาหา ไม่ต้องเดินเข้าไปชวนมาเรียน มาศึกษา ถ้าเราเอาตัวรอด เขาจะเดินเข้ามาเอง แต่ถ้าเราคุยอวดดีเหลือเกิน เอาตัวไม่รอด ไปบังคับคนมาก็ไม่มา ในหลวงรัชกาลที่ 9 เลยตรัสเรื่องการพึ่งตนเอง ต้องพึ่งได้จริง คำว่า พอก็พอแล้ว แต่ต้องพอได้จริง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ บอกเล่าด้วยความอิ่มใจ

ฉะนั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะทำให้เป็นคนรวยทางโลกแล้ว ยังรวยทางธรรม ได้หลักธรรมจากการทำเกษตรกรรมในแต่ละวัน อย่างที่ผู้ใหญ่สมศักดิ์ยกตัวอย่างการปลูกพริก แค่เรื่องเดียว ได้ทั้งเรื่องการให้ การรับ ความพอในหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายคนไทยยุคนี้อย่างมาก

“ทำเรื่องนี้ไม่มีความทุกข์ เพราะมันพอดี พอต้องดีด้วยน่ะ ต้องพอดี พอดี อย่ามากจนเกินไป อย่าน้อยจนเกินไป อย่าให้คนอื่นซะตัวเองเดือดร้อน หรืออย่าเอาคนอื่นซะตัวเองเดือดร้อน ต้องพอดีๆ นั้นแหละ คือความสุข ความสุขไม่ได้อยู่ที่สตางค์ แต่ความสุขอยู่ที่ใจ ทำยังไงใจถึงจะมีความสุข ก็เจอหน้าคนยิ้ม ไม่ใช่เจอหน้าบึ้ง และทวงหนี้ อันนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเจอคนต้องยิ้ม และคนยิ้มก็ต้องมีความสุขด้วยนะ ไม่ใช่เจอหน้ายิ้ม แต่หันหลังไปไม่มีจะกิน ไม่มีความสุขแล้ว เพราะฉะนั้น ทำตนเองให้มีความสุข หลังจากนั้นค่อยมองเพื่อนบ้าง” ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ทิ้งท้าย

พร้อมกับบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เจอหนทางแห่งความร่ำรวย แต่เมื่อเจอแล้ว ต้องเริ่มต้นทำ เพราะความร่ำรวยที่ว่านี้ก็คือ ความพอเพียงในหัวใจนั่นเอง

ในการฉีดเปิดตาดอกมะม่วง เกษตรกรส่วนมากจะใช้ ไทโอยูเรีย ผสมกับโพแทสเซียม-
ไนเตรต (13-0-46)

ที่สวน คุณจรัญ อยู่คำ จะใช้ สูตรเปิดตาดอก ไทโอยูเรีย 1 กิโลกรัม+สาหร่าย-สกัด 300 ซีซี (ต่อน้ำ 200 ลิตร) ฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน แล้วรอดูการเปลี่ยนแปลงของตายอด โดยปกติแล้ว ตาดอกจะเริ่มแทงหลังเปิดตาดอกครั้งแรก ประมาณ 10-15 วัน แต่ถ้าเริ่มแทงใน วันที่ 3-4 โอกาสเป็นใบอ่อนจะสูงมาก กรณีเปิดตาดอกแล้วเป็นใบ สามารถแก้ไขได้ แต่ใบอ่อนที่ออกมาต้องมีความยาวไม่เกิน
1 เซนติเมตร หรือยังไม่คลี่ใบ ให้ใช้

ครั้งที่ 1
– ปุ๋ย 10-52-17 500 กรัม
– ไฮเฟต 500 ซีซี

(ต่อน้ำ 200 ลิตร) หลังฉีด ครั้งที่ 2 เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของตาใบอย่างชัดเจน ใบจะหยุดนิ่งแล้วเริ่มเปลี่ยนเป็นตาดอก สูตรนี้เกษตรกรจำนวนมากใช้แล้วได้ผลดี แต่ต้องดูว่าความยาวของตาใบ ต้องไม่เกิน 1 เซนติเมตร จะได้ผลดีที่สุด

การดูแลต้นมะม่วง กรณีออกดอกพร้อมกัน

จำไว้ว่า ใบอ่อนเสมอ ดอกจะเสมอ การดูแลจะง่าย เมื่อเราเห็นช่อดอกเริ่มแทงออกมา ให้ดูแลตามขั้นตอน ดังนี้ ระยะเดือยไก่ เป็นระยะแรกของการออกดอก เราจะสังเกตเห็นตาดอกที่ออกมาเริ่มแตกและบิดเป็นเหมือนเดือยของไก่ แต่ถ้ายอดแตกออกมาเป็นทรงหอกหรือตั้งชู นั่นคือ อาการแตกใบอ่อน ไม่ใช่ออกดอก จำไว้ ต้องแทงแล้วบิดถึงจะเป็นช่อดอก การดูแลระยะเดือยไก่ การให้น้ำ ระยะนี้ถ้าฝนตกปกติ ไม่ต้องเปิดน้ำให้ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงจะต้องรดน้ำเพื่อให้ดอกออกมาสมบูรณ์และยาวมากขึ้น

การให้ปุ๋ย ทางดินจะใส่ปุ๋ย สูตร 9-25-25 หรือ 8-24-24 อัตรา ต้นละ 1 กิโลกรัม ถ้าเป็นพื้นที่ดินเหนียว อาจใช้สูตร 12-24-12 ก็ได้

การให้ปุ๋ยทางดิน จะทำให้ดอกสมบูรณ์ติดผลง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ใส่จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องเร่งให้ช่อดอกสมบูรณ์ที่สุดจึงจำเป็นต้องให้อาหารที่เพิ่มพลังการติดผล ตัวหลักๆ เลยก็คือ ปุ๋ยสูตร 10-52-17 เป็นปุ๋ยเร่งดอกสูตรดั้งเดิมที่เป็นที่นิยมของเกษตรกรทั้งในอดีตและปัจจุบัน ปุ๋ยสูตรนี้หาซื้อง่าย มีขายตามร้านเคมีเกษตรทั่วไป อัตราการใช้ 25-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน หรือจนกว่าดอกจะโรย สำหรับเกษตรกรยุคใหม่ อาจเลือกใช้ปุ๋ยบำรุงดอกสูตรใหม่ๆ ที่ผลิตโดยบริษัทเคมีเกษตรชั้นนำก็ได้ ปุ๋ยบำรุงดอกที่สามารถเลือกใช้แทนปุ๋ยสูตร 10-52-17 ก็อย่าง เช่น ปุ๋ยเฟอร์ติไจเซอร์ (3-16-36) ปุ๋ยซุปเปอร์เค (6-12-24)

ฮอร์โมนที่นิยมใช้ช่วงเดือยไก่ ได้แก่ โปรดั๊กทีฟ ฮอร์โมนช่วยเพิ่มปริมาณดอก ดอกสมบูรณ์ ก้านดอกยาว เพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดผล ป้องกันดอกและผลอ่อนร่วง แนะนำให้ใช้ 3 ระยะ คือ เดือยไก่ ก้างปลา และดอกโรย เอ็นเอเอ (NAA) เช่น บิ๊กเอ เป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มจำนวนดอกสมบูรณ์เพศ เหมาะมากสำหรับแปลงมะม่วงที่ออกดอกช่วงฤดูหนาว หรือออกดอกเต็มต้น บางครั้งเราจะพบว่าแม้มะม่วงจะออกดอกทั้งต้น แต่ก็ไม่ติดผล ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศทำให้ดอกมะม่วงแปรผัน การฉีดพ่น NAA จึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องเพศของมะม่วงได้เป็นอย่างดี การใช้ NAA ที่ถูกต้อง ให้ฉีดพ่นช่วงเดือยไก่ ความยาวช่อดอก 2-3 เซนติเมตร และฉีดพ่นเพียงครั้งเดียวจะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณดอกสมบูรณ์เพศได้มากกว่าต้นที่ไม่ได้พ่น 4-5 เท่าตัว จิบเบอเรลลิน ห้ามใช้ช่วงก่อนดอกบาน

ข้อควรระวัง เกษตรกรหลายท่านเข้าใจผิดในการใช้ฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน ว่าฉีดแล้วทำให้ช่อยาว ติดผลดี ความเข้าใจนี้คลาดเคลื่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การใช้จิ๊บในมะม่วงให้ฉีดช่วงดอกใกล้โรย หรือช่วงติดผลเล็กๆ เท่านั้น ฮอร์โมนจิบเบอเรลลินจะไปช่วยขยายขนาดผล ลดการหลุดร่วงของผลอ่อน แต่หากใช้ฉีดพ่นในระยะก่อนดอกบาน จะทำให้ช่อมะม่วงมีดอกตัวผู้มากขึ้น การติดผลจะยากขึ้น