จึงอยากให้รัฐบาลให้มีนโยบายเฉพาะกิจสนับสนุนโครงการ

พีเอ็นสต๊อก ข้าวกับโรงสี โดยให้สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ร่วมกับภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการช่วยพยุงราคาข้าว และราคาข้าวจะสูงขึ้น ชาวนาจะขายข้าวได้ราคาที่ดี

การทำ พีเอ็นสต๊อก ดอกเบี้ย ร้อยละ 3-4/ปี มูลค่า 2,000 ล้านบาท/ปี ดอกเบี้ย 3-4 เปอร์เซ็นต์ ให้ ธ.ก.ส. เป็นเจ้าภาพ เพื่อนำเงินไปซื้อข้าวเปลือกชาวนา ซึ่งจะสามารถซื้อข้าวในภาคใต้ได้ทั้งหมด การทำ พีเอ็นสต๊อก คือเก็บข้าวเปลือกไว้ในโรงสีเป็นหลักประกันกับ ธ.ก.ส. จะทำให้ชาวนาภาคใต้ ขายข้าวได้หมด โดยไม่ต้องส่งไปยังส่วนกลาง ซึ่งแต่ละปีจะส่งขาย ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ราคาข้าวตกต่ำลง เพราะผู้ค้าต้องหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าขนส่ง ฯลฯ

“ปัจจุบัน โรงสี 50 เปอร์เซ็นต์ มีศักยภาพ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ยังขาดการต่อยอด เพราะขาดทายาทสืบทอด นอกนั้นเป็นโรงสีขนาดเล็กและเป็นโรงสีชุมชน โดยภาคใต้มีรายได้จากข้าวภาพรวม ประมาณ 300,000 ตัน มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี”

คุณหวน ทนงาน นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา บอกว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ที่มีนาข้าวปลูกข้าวมากคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และจังหวัดพัทลุง ตามลำดับ โดยภาพรวมปริมาณข้าวที่ผลิต ประมาณ 300,000 ตัน นาข้าวไม่น่าจะเกิน 600,000 ไร่

“สำหรับภาคใต้ผลิตข้าวกินเองไม่พอ และสำหรับจังหวัดสงขลาผลิตขายโดยส่วนใหญ่ไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ที่นิยมบริโภค นอกนั้นนำไปแปรรูปทำขนมจีน ทำแป้ง เป็นต้น”

คุณไพรวัลณ์ ชูใหม่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง บอกว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่มีที่นาและผลิตข้าวมากคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และจังหวัดพัทลุง โดยทำนาปีและนาปรัง ทำ 2 ฤดูกาล/ปี มีที่นาอยู่ประมาณ 500,000-ไม่เกิน 600,000 ไร่ เฉพาะจังหวัดพัทลุง 150,000-160,000 ไร่ เป็นต้น สงขลา ประมาณ 200,000 ไร่ นอกนั้นเป็นนาข้าวของจังหวัดนครศรีธรรมราช

“ปัจจุบัน การทำนา ได้มีคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาทำกันมากขึ้น โดยทดแทนคนรุ่นเก่า และยังเริ่มการทำนารูปแบบนวัตกรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยี ทำให้มีผลผลิตเพิ่มมาก พร้อมกับผลผลิตปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับรูปแบบการทำนานวัตกรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยี โดยทำเต็มระบบ จะได้ลดต้นทุนได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เช่น เตรียมดินปรับปรุงบำรุงดินดี ใช้น้ำหมัก สลายตอซัง ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยลง และต้นข้าวแข็งแรง และตลอดจนการเก็บเกี่ยว ฯลฯ จะทำให้ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น

“3 จังหวัดภาคใต้ ทำนา 2 ฤดู มีนาปี และนาปรัง นาปีทำประมาณ 100,000 ไร่ จะเป็นข้าวอายุสั้น และนาปรัง ทำประมาณ 60,000 ไร่ จะเป็นการปลูกข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวสังข์หยด เล็บนก เฉี้ยง ทับทิมชุมแพ กระดังงา ฯลฯ ผลิตและแปรรูปด้วยความประณีต และความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นระดับกลางขึ้นไป”

คุณสมศักดิ์ พานิชน เจ้าของโรงสีข้าวทิพย์พาณิชย์ และประธานชมรมโรงสีข้าว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา บอกว่า จังหวัดสงขลา ทำนาข้าวในขณะนี้ ประมาณ 200,000 ไร่ จากเดิมมีประมาณ 400,000 ไร่ ปัจจัยที่นาข้าวลดลง เนื่องจากได้หันไปปลูกปาล์มน้ำมันกันมากขึ้น และส่วนหนึ่งเมื่อข้าวมีราคาผันแปร ราคาต่ำลง จึงเลิกทำนา ทิ้งให้เป็นนาร้าง

“ที่ผ่านมา นาข้าวจังหวัดสงขลา มีความสมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีภัยแล้ง ทำให้น้ำในทะเลสาบสงขลาไม่มีความเค็ม สามารถนำน้ำมาใช้กับนาข้าวได้อย่างมีคุณภาพ พื้นที่ปลูกข้าวมาก คือ อำเภอระโนด กระแสสินธุ์ และอำเภอสิงหนคร ให้ผลผลิตพื้นที่นาที่มีระบบชลประทาน ประมาณ 700 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนพื้นที่นา นอกระบบชลประทาน ให้ผลผลิตประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่ ภาพรวมน่าจะไม่เกิน 120,000 ตัน/ปี”

พริกเหลืองอินโด เป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่น โดยการแปรรูปทำเป็นเครื่องแกงปรุงอาหารชนิดต่างๆ รสชาติถูกปากของคนใต้และเพื่อนบ้านมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพราะดูได้จากกลุ่มลูกค้าผู้สั่งซื้อผลผลิตพริกเหลืองอินโดเข้ามาต่อเนื่องและมีความต้องการบริโภคทั้งปี

พริก เป็นพืชผักทางเศรษฐกิจโลก เพื่อการบริโภคและใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ได้แก่อุตสาหกรรมอาหารทั้งคนและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ยาและเวชสำอาง จึงทำให้ความต้องการใช้พริกทั่วโลกจำนวนมาก มีการพัฒนาพันธุ์พริกหลากหลาย เพื่อใช้ประโยชน์แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมการกินอยู่ของแต่ละประเทศ

ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตพริกในระดับต้นๆ ของโลก เป็นพริกเขตร้อน เช่น พริกขี้หนู พริกสวน พริกชี้ฟ้า พริกหนุ่ม ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศทั้งในรูปของพริกสด พริกแห้ง และพริกป่น รวมทั้งพริกแปรรูปต่างๆ ได้แก่ ซอสพริก พริกแกง น้ำพริก เป็นต้น

พริก เป็นพืชวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างมาก เป็นพืชที่อยู่คู่ครัวคนไทยมาช้านาน และยังเป็นพืชสมุนไพรใกล้ตัวที่ปลูกกินเองได้ทุกครัวเรือน จะเห็นได้ว่าจะมีพริกเกือบทุกเมนูอาหารไทยเป็นส่วนประกอบ ทำให้อาหารมีรสชาติยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของพริก คือความเผ็ดที่เกิดจากสารแคปไซซิน ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยา ทั้งในคนและสัตว์ สรรพคุณที่โดดเด่นของสารแคปไซซินคือ มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลกลูโคส เพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย

อีกทั้งยังมีการสกัดสารแคปไซซินเพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มสุกรและสัตว์ปีก ช่วยกระตุ้นให้สัตว์กินอาหารได้มากขึ้น เร่งการเจริญเติบโต และยังเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งปัจจุบันการสกัดสารแคปไซซินในบ้านเรายังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

การค้าพริกพบว่า ตลาดเติบโตขึ้นทุกปี มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์การแปรรูปทั้งพริกแห้ง พริกป่น หรือซอสพริก ประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี แต่ขณะเดียวกันไทยต้องนำเข้าพริกแห้งเพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปจากประเทศจีน อินเดีย และเมียนมา มีมูลค่าสูงถึง 4,681.7 ล้านบาท ในปี 2559 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

คุณศศิพร ชำนาญพล หรือ คุณแนน เกษตรกรผู้ปลูกพริกเหลืองอินโด อยู่บ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านเต่า อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ โทร. 081-269-8979 อีกหนึ่งเกษตรกรหญิงเหล็กลูกเจ้าพ่อพญาแล ที่มุ่งมานะทำอาชีพปลูกพริกเหลืองอินโดส่งขายลูกค้ามาเลเซียร่วมกว่า 5 ปีแล้ว

ด้วยที่ทำอาชีพในท้องถิ่นบ้านเกิดไม่เหมือนใคร จึงต้องทนต่อกระแสเพื่อนบ้านที่ท้าทายอาชีพ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ล้อมรอบไปด้วยไร่อ้อย ไร่มัน น้อยนักที่จะมีคนปลูกพืชผักอื่นๆ หรือมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ต้องล้มเลิกไป ด้วยเหตุที่มีการใช้สารเคมีฉีดพ่นกำจัดวัชพืชที่มีการออกฤทธิ์รุนแรง ส่งผลต่อการปลูกพืชล้มลุก อย่าง พริก ถั่ว หรือผักกินใบ ในพื้นที่ใกล้เคียงต้องกระทบตายตามไปด้วย ในส่วนของตนจะกันพื้นที่ล้อมรอบด้วยผ้ามุ้งเขียวเป็นรั้วกันชน และปลูกกล้วยเป็นแนวรั้วไว้อีกด้วย

คุณแนน บอกว่า ทำพริกพันธุ์นี้จะยากกว่าพันธุ์อื่นๆ เพราะเดิมเป็นพันธุ์พื้นเมืองของอินโดนีเซีย เป็นพืชที่ไม่ชอบสารเคมี จึงต้องเรียนรู้จากแหล่งเดิมที่เขาปลูกกัน ตนได้นำแร่ธาตุจากหินภูเขาไฟมาใช้ปรับสภาพดิน ทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี มีการใช้น้ำหมักจากพืชสมุนไพร และการนำสารชีวภัณฑ์มาผสมกับปุ๋ยคอกเพื่อใช้ในการเตรียมดินก่อนปลูกทุกครั้ง ทำให้ต้นพริกที่ปลูกเติบโต ต้านทานโรคได้ดี ปัญหากุ้งแห้ง ใบร่วง ใบด่าง ใบหงิก และรากเน่าโคนเน่า จะลดน้อยลงหรือแทบจะไม่มีเลย

อาชีพเกษตรกรรมคือความฝัน วันนี้สิ่งที่ฝันไว้มาถึงแล้ว

คุณศศิพร เล่าย้อนอดีตชีวิตจริงของตนให้ฟังว่า ชีวิตนี้มันไม่แน่นอน สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตนไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ฝันจะเป็นจริงได้เร็วอย่างวันนี้ จำได้ว่าชีวิตเกษตรกรที่เริ่มจับจอบจับเสียมจับมีดพร้าช่วยพ่อแม่รับจ้างตัดอ้อย สู้ชีวิตอย่างที่แสนลำบากมากับครอบครัวลูกอีสานจนๆ ความใฝ่ฝันที่อยากได้อยากมี สารพัดอย่างที่ประดังมากระตุ้นให้ชีวิตต้องสู้ ดิ้นรน เพื่อความอยู่ดีกินดี เพื่อครอบครัว พ่อแม่ต้องมีความสุข ตนคิดตนหวังเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น จนได้ปั้นความจริงตามที่หวังได้จริงๆ

แต่ความหวังของตนกว่าจะถึงวันนี้ได้ มันล้มลุกคลุกคลาน ต้องสู้กับชะตาชีวิต นับจากสาวฉันทนาในโรงงาน ลูกจ้างร้านอาหาร และกระทั่งดิ้นรนบินลัดฟ้าไปหางานทำที่ประเทศนิวซีแลนด์ร่วม 10 ปี ไม่ต่างจากสาวนักสู้ชาวอีสานนับแสนคนที่ต้องไปขายแรงงานเมืองนอกเมืองนาในต่างแดน

ทำงานเมืองนอกพยายามเก็บเงินเก็บทองเพื่อหวังเป็นทุนมาประกอบอาชีพที่ใจรัก เมื่อถึงเวลาจึงตัดใจบินกลับบ้านเกิดที่อำเภอบ้านแท่น ชัยภูมิ ในใจคิดว่าจะทำแปลงเกษตรปลอดสารพิษ เพราะเห็นถึงพิษภัยของสารเคมีบวกกับประสบการณ์ที่เคยใกล้ชิดกับแปลงทำสวนเกษตรที่นิวซีแลนด์ โดยเจ้าของฟาร์มจะทำเกษตรแบบธรรมชาติ ไม่มีการนำสารเคมีเข้ามาใช้ในแปลง จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนความคิดจากตรงนั้นนั่นเอง

เริ่มทำแปลงปลูกพริกเหลืองอินโด 10 ไร่

ด้วยความรู้ที่ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนชาวอินโดนีเซียที่เคยไปทำงานต่างประเทศด้วยกัน เขากลับบ้านเกิดมาพร้อมๆ กัน และครอบครัวเขาปลูกพริกเป็นอาชีพหลัก ขายในท้องถิ่นและส่งขายให้กับลูกค้ามาเลเซีย ตลาดเขาต้องการมาก ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ได้ปรึกษาทางไลน์กันตลอด และเขาได้ชวนปลูกพริก ส่งให้เขาด้วย เมื่อเขาได้นำเม็ดพริกให้ดูก็ไม่ต่างอะไรกับพริกที่ปลูกทางภาคใต้บ้านเรา จึงขอซื้อพันธุ์พริกจากเขามาทดลองเมื่อ 5 ปีก่อน ได้ศึกษาแนวทางการปลูกให้ได้ผลผลิตดี ดก ปลอดโรคเหมือนอย่างที่เขาปลูกกันที่อินโดนีเซีย

ได้ลองผิดลองถูกอยู่นานร่วม 2 ปี หาทุกวิธีเพื่อมาแก้ปัญหาใบหงิก ใบงอ ใบเหลือง ใบด่าง โรครากเน่าโคนเน่า กุ้งแห้ง สารพัดที่เจอปัญหา บางครั้งแทบไม่ได้ผลผลิตเลย แต่คิดว่าถ้าเราหยุดมันจะแพ้กับแนวทางเกษตรทันที เมื่อใจมันสู้ก็ไม่ยอมถอย ตั้งใจให้สำเร็จให้ได้ เพราะมั่นใจว่าถ้าทำได้ มันคือช่องทางตลาดที่เป็นทางเลือกใหม่เพื่อส่งไปขายในมาเลเซีย ซึ่งไม่ไกลมากนักสามารถส่งเป็นพริกสดได้ไม่ยากนัก

จากเริ่มต้น 3 ไร่ ได้ขยับเป็น 10 ไร่ ปลูกเองขายเอง จนมั่นใจว่าตลาดไปได้ดี มีความต่อเนื่องทั้งปี และยังสามารถทำรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอาชีพหลักก็ว่าได้ ประกอบกับตลาดมีความต้องการมากขึ้น ทั้งพริกสด พริกแห้ง ส่วนเรื่องราคาเราได้ทำสัญญาล่วงหน้าไว้ ราคาพริกสด ประกันต่ำสุด 60 บาท ส่วนพริกแห้ง ขึ้นกับช่วงตลาดปัจจุบัน

“พริกสดที่เก็บในพื้นที่ 10 ไร่ จะแบ่งครึ่งเก็บทุก 3 วัน จะได้ผลผลิตพริกสด ประมาณ 500 กิโลกรัม จะเน้นส่งคาร์โก้ขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิหรือดอนเมือง เพื่อส่งไปรวมกันที่หาดใหญ่ โดยผู้รับซื้อจะรวบรวมคัดพริกส่งอีกต่อหนึ่ง เราไม่ต้องกังวลเรื่องที่ขาย มีเท่าไรลูกค้ารับหมด อีกอย่างคือเราขายได้ราคาล่วงหน้า ถ้าเราคัดพริกสวย ไม่เน่า ไม่มีหนอน ไม่อ่อนเกินไป นั่นคือราคาที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าดีใจ”

คุณศศิพร หรือ คุณแนน บอกว่าตอนนี้มีกลุ่มเกษตรกรหลายราย มาดูงานที่แปลงปลูกแล้วขอเข้าร่วมโครงการด้วยแล้วกว่า 200 ไร่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ชัยภูมิ เพราะเน้นการดูแลแปลงได้สะดวก ผลผลิตที่ได้คุณภาพ มีการติดตามผลได้อย่างใกล้ชิด และจะเปิดรับผู้สนใจเข้าร่วมปลูกพริกเหลืองอินโดเพิ่มตามความต้องการตลาด สามารถเปิดรับได้ไม่เกิน 500 ไร่ ต่อเดือน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด รักษาฐานราคาประกันไว้ให้พอดีกับความต้องการของผู้บริโภค และที่สำคัญผู้ปลูกยังได้ราคาขายพริกสดได้ราคาดีทั้งปีอีกด้วย

ด้วยความตั้งใจดำเนินการด้านการตลาด โดยเน้นการตลาดนำการผลิต ซึ่งนับเป็นเจ้าแรกที่ส่งเสริมการปลูกพริกเหลืองอินโดด้วยการประกันราคา หรือการนำหลักการตลาดซื้อขายล่วงหน้ามาใช้ในการส่งเสริมเกษตรกรให้มีหลักประกันที่จะรู้ราคาล่วงหน้าก่อนวางแผนการปลูกพริก ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดและได้ราคาที่น่าพอใจ

ด้าน คุณณัฐวุฒิ ธิสา หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร สภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ทางสภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิได้ร่วมกันกับเครือข่ายอาชีพในจังหวัดชัยภูมิ ให้ความสนใจเพื่อร่วมกันผลักดันสร้างกลุ่มปลูกพริกเหลืองอินโด เพื่อขยายผลสู่เกษตรกรรองรับกับความต้องการของตลาด เพราะจากการติดตามผลการดำเนินงานในเครือข่ายอาชีพผู้ปลูกพริก ส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ทางตนจึงได้จัดทำโครงการปลูกพริกเหลืองอินโดส่งออก โดยร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตลาดเกษตรลอยฟ้า เพื่อจัดประชุมให้ความรู้กับเกษตรกรผู้สนใจอีกทางหนึ่งด้วย

คุณณัฐวุฒิ หรือ คุณโหน่ง ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการปลูกพริกเหลืองอินโด ดังนี้ วัตถุประสงค์/เป้าหมาย เพื่อสร้างอาชีพและเสริมรายได้ในครัวเรือนตามแนวทางการตลาดนำการผลิต พื้นที่เป้าหมายการส่งเสริม เกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ กำหนดพื้นที่ไว้ 500 ไร่ ต่อรอบการปลูกต่อเดือน ใน 1 ปี จะส่งเสริมแบบหมุนเวียนได้ประมาณ 6,000 ไร่ ราคาประกันกำหนดขั้นต่ำ 60 บาท ต่อกิโลกรัมพริกสด ราคาหน้าแปลง ผลผลิตต่อไร่ 2,000-2,700 กิโลกรัม ต่อไร่ ประมาณการรายได้ต่อรอบการปลูก 6 เดือน 120,000 ถึง 160,000 บาท

การลงทุนการปลูกพริกเหลืองอินโด อาทิ ค่าไถ ค่าปรับปรุงดิน ค่าสารชีวภาพ ค่าพันธุ์ ค่าระบบน้ำ ส่วนแรงงานนั้นเน้นในครัวเรือน หากเกษตรกรมีปัจจัยการผลิตในเบื้องต้นบ้างแล้ว การลงทุนไม่น่าจะเกิน 6,000 บาท ต่อไร่

การเตรียมแปลงปลูก จะแนะนำให้ไถยกร่อง ระยะปลูกระหว่างต้น 80 เซนติเมตร ระหว่างร่อง 1.50 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ไม่เกิน 2,000 ต้น พริกพันธุ์นี้จะมีทรงพุ่มใหญ่ ก่อนปลูกให้ใช้สารปรับสภาพดินผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ หว่านบนร่องปลูกให้ทั่วแปลง หลังจากนั้น ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักผสมเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหรือราเขียวให้ชุ่มแปลง รดน้ำให้เปียก หมักดินไว้ก่อนย้ายกล้าปลูกอย่างน้อย 3 วัน

หลังจากปลูกแล้ว 10 วัน ให้ใช้แร่ธาตุทีสปริง (แร่ภูเขาไฟ) อัตราส่วน 50 กรัม ผสมปุ๋ย 15-0-0 อัตราส่วนเท่ากัน ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นช่วงเย็นทุก 5 วัน เมื่ออายุพริกได้ 40 วัน ให้เติมสูตรเสมอ 16-16-16 อัตราส่วน 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อเร่งการเติบโต

ส่วนการป้องกันโรคจะใช้สารชีวภัณฑ์ อาทิ ไตรโคเดอร์ม่า ป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า โรคกุ้งแห้ง ใบด่างใบเหลือง ใบหงิก ส่วน บิวเวอเรีย จะใช้ป้องกันแมลงตัวเล็กๆ เช่น เพลี้ยไฟ ไรแดง แมงหวี่ขาว ส่วนเชื้อบีที จะใช้ป้องกันหนอนเจาะ หรือแมลงปากดูด ทั้งนี้ จะใช้สลับกันตามช่วงอายุของพริก โดยการละลายน้ำผ่านระบบน้ำไปพร้อมๆกันได้บ่อยๆ จะได้ผลดีมาก จะทำให้ต้นพริกเหลืองอินโดเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตดก ทำให้เก็บพริกได้นานหรือเก็บทุก 5 วัน ร่วมปีทีเดียว อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของดินและสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ

ด้านการตลาด

คุณโหน่ง บอกว่า ความต้องการพริกเหลืองอินโด ที่ติดต่อตลาดล่วงหน้าไว้กับผู้ซื้อส่งออกไปประเทศมาเลเซียเป็นพริกสด มีความต้องการไม่น้อยกว่า 5,000 กิโลกรัม ต่อวัน หรือต้องใช้พื้นที่ปลูกอย่างน้อย 500 ไร่ ต่อเดือน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเก็บพริกสดขายได้ทั้งปี ในราคาที่ตกลงกันไว้ ขั้นต่ำ 60 บาท ต่อกิโลกรัม

ส่วนการสนับสนุนหาแหล่งเงินทุนนั้น ทางสภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ อาทิ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตเบื้องต้น ที่หนุนช่วยให้เกิดอาชีพสร้างรายได้ในชุมชนตามลำดับต่อไป

ม. ราชภัฏชัยภูมิ พร้อมหนุนกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายอาชีพ
ดร. รัศมีเพ็ญ นาครินทร์ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิได้เล็งเห็นถึงการสร้างอาชีพชุมชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน “ชัยภูมิโมเดล” ร่วมสร้างเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางของการพัฒนาท้องถิ่นอันสอดคล้องกับการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏเคียงคู่ชุมชน พร้อมสนับสนุน ให้เกิดการต่อยอดในภาคการตลาดที่กว้างขวางขึ้น มีความต่อเนื่องและยั่งยืนในกลุ่มอาชีพดังกล่าว

“คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ พร้อมที่จะช่วยเป็นที่ปรึกษา อาทิ ให้ความรู้ด้านการจัดการธุรกิจชุมชน การตลาด ตลอดจนการนำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หรือการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคอีกด้านหนึ่งด้วย” ดร. รัศมีเพ็ญ กล่าว และบอกว่า หากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มธุรกิจท้องถิ่น หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต้องการขอคำปรึกษา ติดต่อได้ที่ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ โทร. 044-815-111 ต่อ 3100 (ดร. เจี๊ยบ)

ปรง (Cycad) เป็นพืชโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยเป็นพันธุ์พืชโบราณที่เกิดก่อนยุคไดโนเสาร์ มีมานานมากกว่า 300 ล้านปี พบได้ทั่วทุกมุมโลก แต่พบต้นปรงตามธรรมชาติได้มากสุดแถบเส้นศูนย์สูตร ปรงเป็นพืชที่มีขนาดเล็ก คล้ายกับใบของปาล์ม แต่การเรียงตัวของใบนั้นคล้ายกับเฟิร์นข้าหลวง คือมีการเรียงตัวอยู่รอบๆ ศูนย์กลางของลำต้น ต้นปรงมีเมล็ดแต่ไม่มีดอก

ปรง ส่วนใหญ่อยู่ในตระกูล Cycadaceae เป็นพืชเมล็ดเปลือย (gymnosperm) ปรงเป็นพืชที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตช้ามาก คือ 1 ปี จะเกิดใบเพียงแค่ใบเดียวเท่านั้น ปรงสามารถทนต่อการขาดน้ำได้เป็นอย่างดี และถ้าขาดน้ำนานๆ ใบของปรงจะแห้งเหี่ยวตายไป แต่พอได้รับน้ำอีกครั้งใบก็จะเกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ต้นปรง king of garden

ต้นปรงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความสวยงามเมื่อปลูกอยู่ในสวน UFABET บางประเทศเรียกต้นปรงว่า king of garden ต้นปรงมีลักษณะเด่นสำคัญคือ ความสวยของใบ (form) รูปแบบการบิดของใบ (twisted) ความสมบูรณ์ (healthy) สีอันโดดเด่นของใบ(colour) นักจัดสวนทั่วโลกจึงนิยมปลูกต้นปรงกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะต้นปรง วงศ์ Encephalartos hirsutus ที่ถูกยกย่องว่าเป็น King of Blue Leaf

ปรงสกุล Encephalartos มีประมาณ 60 ชนิด ส่วนใหญ่พบทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา ในแวดวงคนรักต้นปรงต่างยอมรับว่า ตระกูลปรง Encephalartos จากแอฟริกาใต้ มีความสวยงามโดดเด่นที่สุด เป็นที่ต้องการของนักสะสมพันธุ์ไม้ทั่วโลก พันธุ์ปรงยอดนิยมที่ขายดี ได้แก่ ปรงใบสีฟ้า และปรงใบสีเขียวที่หายาก โดยประเมินราคาซื้อขายกันเป็นเซนติเมตร ที่มีเป็นมูลค่ากว่า 2,000 บาทขึ้นไป

แนะจัดสวนด้วยต้นปรง

โดยธรรมชาติแล้ว ต้นปรง เป็นพันธุ์ไม้ที่ดูแลรักษาง่าย ชอบแสงแดดจัด เป็นพืชที่ทนต่อการขาดน้ำ ต้องการน้ำพอประมาณ สามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนทราย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบริเวณโคนต้น ปีละ 2 ครั้ง สามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการแยกหน่อ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงมารบกวน จะมีก็แต่แมลงจำพวกไรแดงและเพลี้ยหอย ซึ่งสามารถดูแลป้องกันกำจัดได้ โดยใช้สารเคมีประเภทดูดซึมเพราะปรงมีใบเล็กและลื่น

คุณโต้ง หรือ คุณกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา แนะนำให้คนไทยใช้ปรงในการจัดสวนสวย เพราะต้นปรงเป็นไม้ประดับที่ดีที่สุด เติบโตช้า แถมเป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่ในประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ จึงอยากให้คนไทยปลูกต้นปรงประดับในบ้านเรือน

คุณโต้ง พาไปชมปรงสกุล Cycas วงศ์ Cycadaceae เป็นพืชดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ที่เคยครอบครองโลกในยุค 280 ล้านปีก่อน ปัจจุบันพบมากในแถบเส้นศูนย์สูตร พืชในสกุลนี้มีลำต้นเตี้ยๆ เป็นรูปทรงกระบอก ที่ล้อมรอบด้วยฐานก้านใบ ใบออกเป็นกระจุกที่ยอดของลำต้น มีดอกหรืออวัยวะสืบพันธุ์แยกเพศอยู่กันคนละต้น เรียกว่า โคน (Cone) ดอกเพศผู้เป็นช่อแน่น ทรงกระบอกยาว ปลายยอดเป็นทรงกรวย ส่วนดอกเพศเมียแผ่ออกเป็นแผ่นคล้ายกาบ