จุดประสงค์ของการสร้างบ้านพักในสวนเพื่อให้เป็นที่พักผ่อนหย่อน

คลายเครียดสำหรับคนเมืองซึ่งอยู่ภายในภาวะกดดันในเมืองใหญ่ ได้มีโอกาสมาเที่ยวชมธรรมชาติ เรียนรู้การทำเกษตรปลอดภัย และให้เด็กซึมซับความเป็นไปของวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เพราะการสัมผัสชีวิตแบบนี้หาไม่ได้ในห้างใหญ่ๆ ที่คนกลุ่มทุนสร้างความสะดวกสบายไว้ให้มอมเมาเยาชนซึ่งมีแต่สิ่งฟุ้งเฟ้อราคาแพง

การทำสวนของไร่ที่นี่เน้นการใช้ชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ซึ่งใช้ประโยชน์ 3 อย่าง คือ ด้านอุปโภค ได้แก่ การนำน้ำหมักสมุนไพรด้วยจุลินทรีย์ผลิตสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ส่วนด้านการบริโภค เช่น การหมักสมุนไพรเพื่อบำรุงร่างกาย แต่ในไร่นี้เน้นเรื่องการใช้จุลินทรีย์ทางการเกษตรเป็นหลัก

คุณวิรัตน์ ดูแลเรื่องวิชาการและองค์ความรู้ทางด้านเกษตรไบโอเทคนิค ให้ความรู้ว่า “การหมักด้วยจุลินทรีย์ก็เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายธาตุอาหารจากโมเลกุลใหญ่เป็นโมเลกุลเล็ก พืชสามารถดูดซึมเข้าสู่เซลล์ของพืชได้โดยตรง จุลินทรีย์จะย่อยสลายธาตุอาหารพืชไปเป็นพลังงาน การกินของจุลินทรีย์จะใช้วิธีการปล่อยเอนไซม์ออกมาช่วยย่อย หลักการก็เหมือนคนกินอาหารจากชิ้นใหญ่เคี้ยวเป็นชิ้นเล็กมีน้ำย่อยมีน้ำดีมีเอนไซม์ย่อยให้เล็กลงไปอีก จากโมเลกุลใหญ่เป็นโมเลกุลเล็กที่สุดครั้งสุดท้ายที่ลำไส้เล็กส่วนต้น จนสามารถดูดซึมเข้าผนังลำไส้เล็กไปสู่เม็ดเลือดแดงและท่อน้ำเหลืองส่งไปทั่วร่างกายได้จุลินทรีย์ที่นำมาใช้ สามารถแบ่งตัวเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ สามารถขยายเพิ่มปริมาณเชื้อได้ไม่มีวันหมดสิ้นหากให้ธาตุอาหารสม่ำเสมอ”

การหมักธาตุที่พืชต้องการ 16 ธาตุ โดยการนำพืชและวัสดุที่ต้องการมาหมัก ใส่ลงถังหมักในปริมาณที่มากพอ เติมจุลินทรีย์ลงไป เทน้ำให้ท่วม ปิดฝาทิ้งไว้ 15 วัน การนำไปใช้ดูจากการหมักเป็นหลัก หมักวัสดุน้อยน้ำมาก อัตราส่วนพื้นฐาน 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หากหมักเข้มข้นมากให้เจือจาง 20 ซีซี ต่อน้ำ 50 ลิตร เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องดูช่วงวัยพืชและลักษณะใบเป็นหลักด้วย

ธาตุอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืช

พืชต่างๆ ที่ให้ธาตุอาหารจะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ไนโตรเจน มีมากในสาบเสือ เปลือกสับปะรด ฟอสฟอรัส มีมากในมูลค้างคาว มูลสัตว์ต่างๆ โพแทสเซียม มีมากในผักตบชวา โกโก้ ถั่วเหลือง คาร์บอน มีมากใน มูลค้างคาว แคลเซียม มีมากในงาดำ เปลือกไข่ ขิง แมกนีเซียม มีมากในหญ้า ซัลเฟอร์ มีมากในกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ ธาตุเหล็ก มีมากในกระถิน สังกะสี มีมากในน้ำต้มหอยนางรม งาดำ ทองแดง มีมากในน้ำต้มหอยนางรม ถั่วเหลือง แมงกานีส มีมากในน้ำต้มหอยนางรม ถั่วลิสง โมลิบดีนัม มีมากในธัญพืช โซเดียม มีมากในเกลือแกง คลอรีน มีมากในเกลือแกง โบรอน มีมากในผักบุ้ง ตำลึง กะทกรก ซิลิกา มีมากในฟางข้าว แกลบ

การดำรงอยู่ของ มาหาไร่ มหาลัย เป็นการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างสงบสุข การปลูกพืชอินทรีย์เป็นสิ่งที่สำคัญรองลงมา จุดมุ่งหมายของไร่นี้ ต้องการ 3 ประการคือ สร้างอาหารปลอดภัยให้แก่ครอบครัวและผู้บริโภค และจะมีการสร้างรายได้ทางด้านการเกษตรให้ยั่งยืน ประการสุดท้ายต้องการชักชวนพื้นที่รอบข้างหรือผู้ตระหนักในพิษภัยของสารเคมีหันมาทำเกษตรปลอดภัยเพื่อเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายไป

ถ้าท่านสนใจต้องการพักผ่อนในวิถีแบบชนบทสูดกลิ่นไอทางธรรมชาติให้เต็มปอด มาหาไร่ มหาลัย เป็นแหล่งเกษตรแห่งการเรียนรู้การดำรงชีวิตที่ไม่ให้ถูกทุนนิยมขบกัดลูกหลานท่าน จนพาเข้าไปสู่สังคมบริโภคนิยมที่เป็นทาสความคิดนายทุนจนลืมวิถีชีวิตตัวเอง ติดต่อ คุณสานิต สิทธิชัย โทร. (085) 355-1828

ที่ตำบลบ้านเสด็จ จังหวัดลำปาง สามีภรรยามีภูมิลำเนาเดิมอยู่คนละจังหวัด แต่ไปตั้งหลักปักฐานปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าที่จังหวัดลำปาง จากเมล็ดพันธุ์ทดลองเพาะ ปลูกด้วยตนเองอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดประสบผลสำเร็จ และได้สร้างนวัตกรรมเกษตร นำเมล็ดพันธุ์โรบัสต้าสายพันธุ์ดีและสายพันธุ์พื้นเมือง มาเพาะพันธุ์จนได้กาแฟโรบัสต้าต้นใหม่ ที่ผิดแปลกไปจากต้นกาแฟโรบัสต้าโดยทั่วไป

คุณทรงวุธ มีศิริ อายุ 49 ปี ภรรยา คุณนุชจรี รัศมี อายุ 35 ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่เลขที่ 733 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โทร. (098) 975-7132 เจ้าของสวน “ศิริรัศมี” มาจากชื่อสกุล มีศิริ และ รัศมี

เป็นมาอย่างไร จึงมาปลูกกาแฟโรบัสต้าที่ลำปาง
ผู้เขียนตั้งคำถาม

คุณทรงวุธ ลำดับเหตุการณ์ย้อนอดีตให้ฟังว่า ตนเองมีถิ่นกำเนิดอยู่จังหวัดชลบุรี ส่วนภรรยาเป็นชาวจังหวัดชุมพร เดิมมีอาชีพรับเหมา รายได้ดีพอมีเงินเก็บ แต่งานหนัก ยังไม่มีที่ดิน คิดอยากทำการเกษตร แต่ที่ดินในแถบนั้นถูกซื้อไปเพื่อทำอุตสาหกรรม ประกอบอาชีพนี้มา 10 ปี มีปัญหาสุขภาพเป็นกระดูกทับเส้น เดินไม่ได้ 7 เดือน ใช้เงินที่เก็บออมไว้มารักษาตัวจนแทบจะไม่เหลือ

มีอยู่ปีหนึ่งไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่จังหวัดพะเยา แม้ร่างกายยังเดินไม่ได้ก็อยากไป ถึงจังหวัดลำปาง เห็นเขาปลูกสับปะรดกันต้นงามดี ดินคงจะดี ภรรยาลงจากรถไปซื้อสับปะรดแล้วสอบถามคนแถวนี้ว่า ที่ดินบริเวณนี้เขาขายกันแพงไหม แต่ก็ยังไม่ได้คิดที่จะซื้อ และเมื่อได้กลับไปบ้านเพียงไม่นาน ก็ได้รับโทรศัพท์ บอกว่าจะขายที่ดิน จึงตกลงซื้อไว้ และย้ายบ้านมาตั้งหลัก ตั้งใจทำเกษตรที่จังหวัดลำปาง ทั้ง 2 คน พากันไปดูงาน สอบถามข้อมูลการปลูกกาแฟ ณ สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี (ดอยวาวี) จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ได้ให้คำชี้แจง และแนะนำอย่างดีว่า ทางภาคเหนือบนดอยสูงปลูกได้ดีคือกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ส่วนพื้นราบอากาศค่อนข้างร้อนและแล้ง ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าจะดีกว่า

เริ่มนับ 1 ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า

คุณทรงวุธ เล่าต่อว่า ตนเองและภรรยาจึงเดินทางไปที่บ้านพ่อตาที่จังหวัดชุมพร ซึ่งท่านมีอาชีพปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ามาเป็นสิบๆ ปี นำเมล็ดกาแฟมาเพาะไว้ที่จังหวัดลำปาง แต่เมล็ดไม่งอก จึงลงไปจังหวัดชุมพรอีกครั้ง ทำการเพาะเมล็ดที่นั่น แล้วนำต้นกล้าขึ้นมาปลูกที่จังหวัดลำปาง โดยช่วงแรกก็ยังเพาะเมล็ดไปด้วย หวังว่าเมล็ดจะงอกให้ดูสักจำนวนหนึ่ง ใช้ความพยายามจนถึงปีที่ 3 จึงประสบความสำเร็จ

นำต้นกล้าลงไปปลูก ในช่วงแรกทดลองปลูก 200 ต้น เพื่อหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ที่ยังสงสัย เมื่อต้นกาแฟอายุได้ 3 ปี ก็ให้ผลผลิต ได้น้ำหนักหลังนำไปตากแดด 258 กิโลกรัม และเมื่อนำไปสีเป็นสารเขียวเมล็ดกาแฟ ชั่งได้ 127 กิโลกรัม หลังจากสีแล้วนำเมล็ดสารส่วนหนึ่งไปตรวจสอบความเข้มข้นของสารกาแฟ พบว่ามีความเข้มข้นมาก เป็นที่ยอมรับของนักดื่มกาแฟ

ได้สอบถามและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ปลูกกาแฟทางภาคใต้ สรุปว่าที่ตนเองผลิตกาแฟโรบัสต้าได้น้ำหนักดีกว่า คาดว่าปัจจัยที่สำคัญคงเป็นสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ หรือ ดิน น้ำ อากาศ เพราะทางภาคใต้มีปริมาณน้ำเยอะ น้ำฝนก็ตกลงมามาก แต่ที่ปลูกในไร่กาแฟแห่งนี้ ต้นจะโตช้าไปหน่อย แต่ทนแดด เมล็ดได้น้ำหนักดี และสารกาแฟมีรสเข้มข้น และที่สำคัญดอกกาแฟที่ได้ นำไปทำเป็นชาดอกกาแฟ ส่วนทางภาคใต้ทำไม่ได้ เหตุจากฝนชุก ทำให้ดอกร่วง นอกจากชาดอกกาแฟแล้ว คุณนุชจรี ได้กล่าวเสริมว่าได้นำดอกกาแฟไปทดลองผลิตสบู่ดอกกาแฟด้วย ผลิตได้แล้ว แต่แบ่งปันกันใช้ในหมู่สมาชิก ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ออกสู่ตลาด

ขยายพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า ร่วมกับพืชชนิดอื่น

คุณทรงวุธ อธิบายว่า ด้วยสภาพของดินในบริเวณนั้น ได้เคยผ่านการปลูกสับปะรดมาก่อน เป็นดินที่ผ่านการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมามาก ดินมีลักษณะเป็นสีเทา หน้าดินมีสภาพแข็ง มีทรายและหินปะปนอยู่ ต้องปรับปรุง ปรับสภาพดินอยู่นาน แล้วจึงนำต้นกล้ากาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าลงปลูก 1,500 ต้น บนเนื้อที่ 10 ไร่

“ไม่ได้ปลูกตรงตามหลักเกณฑ์อะไร ผมดูจากสภาพพื้นที่เป็นหลัก ใช้ระยะความห่างระหว่างต้น 2.5 เมตร x 3 เมตร ระหว่างแถวของต้นกาแฟ ผมทดลองปลูกพืชล้มลุก และพืชยืนต้นจำนวน 30 ชนิด เพื่อจะดูว่าพื้นดินบริเวณนี้เหมาะกับพืชชนิดใดอีก เพื่อจะใช้เป็นพืชเสริม ขายก็ได้ เป็นที่ต้องการของตลาด เมื่อเวลาผ่านไป มีพืชเพียง 10 ชนิดเท่านั้น ที่คงไว้ ตอบโจทย์ลักษณะสภาพดินได้ ได้แก่ สะตอ มะพร้าว น้อยหน่า หมาก มะกรูดตัดใบ ส้ม มะละกอ ตะไคร้ กล้วย มะม่วงหิมพานต์” คุณทรงวุธ เล่า

การดูแลต้นกาแฟโรบัสต้า คุณทรงวุธ บอกว่า หลังจากปลูกต้นกาแฟโรบัสต้าแล้ว ก็ดูแลไปตามปกติ

น้ำ นอกจากน้ำฝน ก็มีน้ำจากสระ หน้าแล้งขาดน้ำก็ใช้ระบบน้ำหยด ผลิตอุปกรณ์จากวัสดุเหลือใช้ปุ๋ย จะให้เฉพาะปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักจากขี้ไก่ผสมแกลบ โรยบางๆ เพื่อป้องกันแสงแดดเป็นหลัก เหตุที่ไม่ใช้ฟางข้าวคลุมโคนต้น เพราะฟางข้าวเป็นสิ่งที่หายากในพื้นที่นี้

การกำจัดวัชพืช นอกจากการตัดวัชพืชให้สั้นแล้ว จะใช้น้ำหมักชีวภาพผสมเกลือ น้ำยาล้างจาน ฉีดพ่นที่ต้นวัชพืชช่วงที่แดดจัดๆ ฉีดพ่นได้ทุกฤดูกาล

คุณทรงวุธ ให้ความสำคัญกับการตัดแต่งกิ่งต้นกาแฟเป็นอย่างมาก ปกติต้นกาแฟที่มีอายุ 3 ปี จะตัดแต่งกิ่งให้เหลือ 3-5 กิ่ง ถ้าบริเวณพื้นที่นั้นเป็นดินที่สมบูรณ์ แต่ถ้าบริเวณใดดินไม่ดีจะไว้กิ่ง 3-4 กิ่ง เท่านั้น กอปรกับในพื้นที่ตรงนี้ดินมีปัญหา น้ำก็มีน้อย จึงต้องไว้กิ่งเพียง 4 กิ่ง เพราะฤดูร้อนยาวนานกว่าทางภาคใต้ ระยะเวลาตัดแต่งกิ่งที่นี่ปฏิบัติการ 2 เดือน ต่อครั้ง เพื่อจะทำให้ลำต้นนำน้ำไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ได้ดี จะได้กิ่งก้านที่ยาว ติดผลดี ต้นไม่โทรม แม้ใบร่วงต้นก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้

แต่ในอนาคต เมื่อต้นกาแฟโรบัสต้า ณ ไร่แห่งนี้ อายุได้ 8 ปี คุณทรงวุธ บอกว่า จะต้องตัดแต่งลำต้นกิ่งที่สูง กิ่งที่โน้มลงไม่ได้ คือสูงเกินไป และจะนำเอาลำต้น กิ่ง ไปเผาถ่านต่อไป

ผลผลิตกาแฟโรบัสต้า

เมื่อถามถึงผลผลิตกาแฟโรบัสต้า คุณทรงวุธ ตอบว่า ต้นกาแฟที่ไร่ของตน จะออกดอกปีละ 4 ครั้ง คือช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ กล่าวคือ จะได้ผลผลิต 4 รุ่น โดยจะเริ่มเก็บผลสดได้ตั้งแต่เดือนกันยายนเรื่อยไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม แต่ละรุ่นจะใช้เวลาตั้งแต่ต้นกาแฟผลิดอก จนเก็บผลสด ที่เป็นผลเชอร์รี่ 10-11 เดือน ผลผลิตที่ดีที่สุด เก็บผลในเดือนธันวาคม ต้นกาแฟโรบัสต้าที่มีอายุ 3 ปี จะให้ผลผลิตเป็นผลสด 7-10 กิโลกรัม ต่อต้น โดยในรุ่นแรกคุณทรงวุธบอกว่า จะรูดผลทิ้งทั้งหมด เนื่องจากผลกาแฟสดรุ่นแรก จะให้ผลผลิตน้อย ต้องการให้ต้นกาแฟมีอายุที่ยืนยาว ถ้าไม่รูดผลทิ้ง จะทำให้ไม่ได้คุณภาพ จะได้ผลกาแฟเป็นผลครึ่งเมล็ด เมล็ดเล็ก และมีจุดสีดำข้างในเมล็ด

เมื่อเก็บผลสดที่เป็นผลเชอร์รี่แล้ว คุณทรงวุธ บอกว่า จะนำผลนั้นไปตากแดดอย่างน้อย 14-15 วัน หรือ 10 แดด ขึ้นไป แล้วจึงนำไปสีเป็นสารเขียวเมล็ดกาแฟ จากนั้นบรรจุเมล็ดสารใส่กระสอบป่าน เนื่องจากกระสอบป่านสามารถระบายอากาศได้ดี

คุณทรงวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า เปลือกหรือกากของผลกาแฟที่ได้จากการสี จะถูกนำกลับมาผลิตปุ๋ยหมัก เมื่อถึงฤดูฝนก็จะนำน้ำหมักจุลินทรีย์มารดบนกองปุ๋ย แล้วนำผ้าใบคลุมไว้ เมื่อได้เป็นปุ๋ยหมัก ก็จะนำไปใช้ในไร่กาแฟต่อไป กากกาแฟมีธาตุอาหารไนโตรเจนสูง เหมาะกับพืชที่ต้องการสร้างใบ

สร้างเครือข่ายผู้ผลิตและตลาดกาแฟสวนศิริรัศมี

คุณทรงวุธ บอกว่า นอกจากตนเองจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟด้วยตนเองแล้ว ยังเพาะเมล็ดพันธุ์กาแฟโรบัสต้าบรรจุถุงแจกจ่ายให้แก่เพื่อนๆ เกษตรกรเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟ และเป็นผู้รวบรวมผลดิบกาแฟจากสมาชิกมาตากแห้ง แล้วสีเป็นสารเขียวเมล็ดกาแฟส่งให้โรงงานอีกทีหนึ่ง

“แต่ปัญหาก็มี เป็นปัญหาการรวบรวมผลกาแฟ มักพบสิ่งเจือปน เกษตรกรไม่เก็บผลกาแฟเชอร์รี่ตามที่ตกลงกันไว้ หรือก็มีปัญหาที่เกษตรกรปลูกกาแฟหลายสายพันธุ์ เมื่อถึงเวลาเก็บผลสด ก็มักจะเก็บปะปนกัน ไม่แยก ทำให้ยากต่อการควบคุมมาตรฐานเมล็ดกาแฟ แนวทางแก้ไขของผม ก็คือ อาจจะให้แต่ละกลุ่มควบคุมดูแลกันเอง ช่วยกันกลั่นกรองว่าผลกาแฟที่เก็บจากต้น เก็บขณะที่ผลมีสีเหลือง-ส้ม-แดง หรือ แดงม่วง เพื่อคุณภาพความเชื่อใจของผู้ซื้อ” คุณทรงวุธ เล่า

คุณทรงวุธ ยังเปิดเผยอีกว่า สารกาแฟที่ถูกบรรจุในกระสอบป่านจะนำไปขายยังจุดรับซื้อที่เป็นตัวแทนของ บริษัท เนสท์เล่ จำกัด ซึ่งต้องผ่านการกลั่นกรองของจุดตัวแทนนี้ก่อนส่งเข้าโรงงาน สำหรับต้นทุนการผลิตกาแฟโรบัสต้านั้น จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาท หากขายได้ตามราคา ณ จุดรับซื้อ จะมีกำไรประมาณร้อยละ 40 ของต้นทุนการผลิต ซึ่งดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นอย่างแน่นอน

นวัตกรรมเกษตรจากการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟโรบัสต้า

เป็นที่น่ายินดีสำหรับสวนศิริรัศมี และ คุณทรงวุธ ในการสร้างนวัตกรรมเกษตร พัฒนาสายพันธุ์กาแฟโรบัสต้า จนได้ต้นที่มีลักษณะแตกต่างจากต้นกาแฟโรบัสต้าโดยทั่วไป ที่เกิดจากการใช้ความรู้ ความคิด ประสบการณ์ ในการเพาะเมล็ดพันธุ์กาแฟ

คุณทรงวุธ เล่าให้ฟังว่า ได้นำเมล็ดพันธุ์กาแฟพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร มาปลูกสลับกับพันธุ์พื้นเมืองชุมพร เมื่อหลายปีก่อน เมื่อได้ผลผลิต 3-4 ปี แล้วจึงนำเมล็ดพันธุ์ที่ดีไปเพาะและปลูก ซึ่งต้องคัดเลือกจากต้นที่ผลดก ข้อถี่ หลุดง่าย ซึ่งต้นพันธุ์ที่ได้มาใหม่นี้มีลักษณะเด่นคือ ใบมีสีม่วง ดอกสีชมพูอมม่วง มีกลิ่นหอมมาก ให้ผลดก มีข้อถี่ หลุดง่าย ทนแดด แมลงไม่รบกวน และเมื่อนำเมล็ดไปปลูกตามพื้นที่อื่น ลักษณะใบ ดอก สีของใบและดอก ก็เป็นเช่นนั้น จึงได้ข้อสรุปว่าคงได้ลักษณะต้นพันธุ์ที่นิ่งแล้ว

“ผมยินดีหากมีการตรวจสอบกายภาพของต้น ใบ ดอกกาแฟต้นใหม่ แล้วนำไปขยายสายพันธุ์แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรทั่วๆ ไป ผมก็จะดีใจมากครับ เพียงแต่ผมยังไม่รู้จะเดินเข้าไปหาหน่วยงานใด ผมเป็นเกษตรกรตัวเล็กๆ ที่เสียงไม่ดัง ไม่เคยเข้าไปสัมพันธ์กับหน่วยราชการด้านการเกษตรครับ” คุณทรงวุธ แจ้งความประสงค์

คุณทรงวุธ ต้องการให้ทางราชการตรวจสอบ ไม่ว่าจะออกหนังสือรับรองพันธุ์พืช หรือจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ เพื่อจะได้รับการคุ้มครองปกป้องทรัพยากรพันธุ์พืชของประเทศ

เกษตรกร ตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปลูกต้นไผ่สร้างรายได้และสามารถพัฒนาเป็นอาชีพจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้กลุ่มลูกค้าที่เข้ามารับซื้อต่างพากันชื่นชมในความพยายาม นอกจากนี้ ยังบรรลุผลสำเร็จเกี่ยวกับการแปรรูปไม้ไผ่เจาะตลาดการขายให้กับคนรุ่นใหม่

คุณปริชมน หาญเผชิญโชค เกษตรตำบลป่าระกำ เล่าก่อนที่จะมารู้จักกับเกษตรกรที่เริ่มจากการพูดคุยกับเกษตรกร ซึ่งในช่วงแรกก็ไม่ได้มีการสนับสนุนอะไรเลย แต่พอมาเห็นว่าที่บ้านของ คุณสำราญ อภัยกาวี มีการทำกิจกรรมมากมายหลายอย่าง ก็ได้เชิญคุณสำราญ เข้าไปเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ภายใต้ชื่อโครงการ สวนสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญก็คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจเลือกคุณสำราญ เพราะว่าเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งและพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร หลังจากนั้นมา ทางด้านเกษตรตำบลป่าระกำร่วมกับทางเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ทั้งนี้ เพื่อชักชวนคนในพื้นที่และต่างพื้นเข้ามาเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีอาชีพและรายได้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกด้วย

“ช่วงแรกก็ไม่มีการสนับสนุนอะไรเลย แต่พอมาเห็นมีการทำอาชีพนี้ขึ้นมาก็อยากจะส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจ ในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ก็เลยเชิญคุณสำราญ ไปเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้กับชาวบ้าน ผลตอบรับจากชาวบ้านก็ดี ทำให้ทางเกษตรตำบลและเกษตรจังหวัดเข้ามาส่งเสริมในเชิงการท่องเที่ยวเพื่อให้เกษตรกรมีงานทำ” คุณปริชมน บอก

ด้านคุณสำราญ อาภัยกาวี เจ้าของสวนไผ่ บ้านเลขที่ 46/2 หมู่ที่ 8 ตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่า เดิมตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดแพร่ จนกระทั่งได้มีครอบครัวเป็นคนที่นี่จึงต้องมาอาศัยอยู่ที่บ้านภรรยา ที่ตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในช่วงที่ตนเองมาอาศัยอยู่ที่นี่ก็ได้สังเกตเห็นว่าในพื้นที่อำเภอปากพนังส่วนใหญ่ไม่มีในเรื่องของผลผลิตทางการเกษตร จึงตัดสินใจกลับไปที่จังหวัดแพร่เพื่อไปนำไม้ข้าวหลามกาบแดงมาขาย เนื่องจากเห็นว่าในพื้นที่อำเภอปากพนังส่วนใหญ่มีการขายข้าวหลามทุกปี กลายเป็นที่มาของการปลูกไม้ไผ่ข้าวหลามกาบแดงและขยายพันธุ์ไม้ไผ่ข้าวหลามกาบแดง

ในการปลูกนั้นใช้พื้นที่ไป 15 ไร่เศษ ช่วงแรกๆ ที่ปลูกไผ่โตสมบูรณ์ดี เพราะว่ามีการรดน้ำใส่ปุ๋ยและดูแลทุกวัน จนสามารถเก็บไปขายได้ แต่พอมาถึงระยะหลังๆ สังเกตเห็นว่าต้นไผ่เริ่มโตไม่เป็นปกติเหมือนกับช่วงแรกที่เริ่มปลูก จึงหาวิธีด้วยการนำไม้สัก ไม้ตะเคียนมาปลูกในบริเวณใกล้ๆ กับต้นไผ่ ซึ่งเหตุผลที่ทำวิธีนี้ก็เพื่อที่จะรักษาผลผลิตนั่นเอง

“เป็นการปลูกที่มีการผสมผสานพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เพื่อที่จะสร้างรายได้ด้วยการขายหน่อไม้ และลำไม้ไผ่ ซึ่งถ้าให้ต้องพึ่งหวังจากต้นไม้ใหญ่ อย่างไม้สัก ไม้ตะเคียน ก็คงต้องรออีกนาน ต่อมาก็ได้มีกระแสไม้ไผ่ที่ขายดีมาตลอด เลยเริ่มจริงจังทั้งในการปลูกและดูแลอย่างเต็มที่ จนต้องมาทำอาชีพปลูกไผ่ขายมาจนถึงวันนี้” คุณสำราญ เล่าให้ฟัง

ไผ่จะโตดีมีวิธีการดูแลดังนี้

การดูแลไผ่ที่ปลูกนั้น คุณสำราญ บอกว่า ดูไปเรื่อยๆ เพราะว่าต้นไผ่ถือเป็นไม้พุ่มที่ไม่ต้องดูแลอะไรมากมายเหมือนไม้อื่นๆ ซึ่งขั้นตอนแรกในการปลูกนั้น เริ่มที่การหาพื้นที่ในการปลูกที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด จากนั้นยกร่องให้สูงเพราะว่าพื้นที่ทางภาคใต้จะมีฝนตกบ่อย อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมจนทำให้ต้นไผ่ที่ปลูกเสียหายได้ ต่อมาทำการขุดหลุมลึกลง 4 นิ้วเพื่อลงต้นพันธุ์ที่ได้มา โดยในการปลูกนั้นควรเว้นระยะห่างไว้ที่ 2×2 เมตร หลังจากนั้น รดน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และเมื่อผ่านขั้นตอนการรดน้ำเรียบร้อยแล้วนำใบไม้ไผ่หรือใบของต้นไม้อื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้มากลบไว้ที่ต้นไผ่เพื่อรักษาความชื้น

ใส่ปุ๋ยเดือนละ 1 ครั้ง อาจจะใช้ปุ๋ยยูเรียผสมกับสูตร 16-20-0 ก็สามารถทำได้ สำหรับการใส่ปุ๋ยแล้วคุณสำราญ ได้อธิบายต่อว่า เกษตรกรคนใดที่อยากจะขายหน่อไม้ ก็ต้องเน้นใส่ปุ๋ยให้เยอะๆ แต่ห้ามใส่ให้หน่อไม้สูงเกิน 3 เมตร โดยเฉพาะในช่วงของเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พื้นที่ทางภาคใต้มักจะเกิดลมมรสุมอาจจะทำให้หน่อไม้หักได้ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนด 1 เดือนต้นไผ่ก็จะออกหน่อ

ซึ่งวิธีง่ายๆ ในการสังเกตเมื่อมีการออกหน่อคือ ใบของต้นไผ่จากที่เป็นสีเหลืองจะกลายเป็นสีเขียวแทน หลังจากที่สังเกตการเริ่มออกหน่อของต้นไผ่แล้วก็ต้องรอไปอีก 8 เดือนจนกว่าหน่อไม้จะให้ผลผลิตและสามารถตัดแล้วนำไปขายได้ ทั้งนี้ การออกหน่อจะออกเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่สามารถตัดขายได้ตลอดตราบใดที่ดูแลรักษาให้ดีๆ ในส่วนของลำต้นนั้นก็ต้องรอไปถึง 2 ปี กว่าจะตัดขายได้

แปรรูปเอาใจตลาดคนรุ่นใหม่

ในช่วงที่มีกระแสเข้ามานั้น เริ่มมีการหากลุ่มตลาดทั้งที่เป็นคนในพื้นที่หรือกลุ่มที่เป็นลูกค้าจากต่างจังหวัด โดยในการทำการตลาดในช่วงแรกก็ได้มีการนำลำต้นของไม้ไผ่มาตัดขายเป็นเมตร ขายในราคา 3 เมตร 20 บาท แต่ถ้าท่อนเล็กๆ ประมาณ 1 เมตรกว่าๆ ก็มีราคาประมาณ 15 บาท ต่อมาได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากที่มีขายแค่ลำไผ่ ต่อยอดจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกแปรรูปจากไม้ไผ่กลายมาเป็นกระปุกออมสิน แก้วน้ำ หลอดน้ำดื่ม จนทำให้เป็นที่รู้จักทั้งที่เข้ามาเที่ยวและสื่อสมัยใหม่อย่างโลกโซเชียล

นอกจากการขายตามตลาดทั่วไปแล้วยังมีการสร้างร้านค้าในโลกโซเชียล อย่างเฟซบุ๊กอีกด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อเจาะกลุ่มตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบความสะดวกและประหยัดเวลาได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้คือที่มาก่อนที่จะมาทำการตลาดจนประสบผลสำเร็จและการันตีรายได้ที่มั่นคงมาถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ คุณสำราญได้ฝากถึงคนที่กำลังต้องการศึกษาความรู้ในการปลูกไผ่ ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ บ้านเลขที่ 46/2 หมู่ที่ 8 ตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หมายเลขโทรศัพท์ (087) 284-1309

“ผ้าทอนาหมื่นศรี” เป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนไทยมายาวนานหลายร้อยปี หลักฐานการจดบันทึกในเอกสารจดหมายเหตุ พระราชกิจรายวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 6) ช่วงที่เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 128 ได้ทอดพระเนตรผ้าทอที่เมืองตรัง สมุหเทศาภิบาลมณฑลได้ทรงจัดผ้าพรรณทุกอย่างซึ่งเป็นของทำในพื้นบ้าน เช่น ผ้ายก ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้าคาด ผ้าเช็ดหน้า ถวายประทานแจกแก่ข้าราชการตามสมควร

ลักษณะพิเศษของผ้าทอนาหมื่นศรี อยู่ที่โครงสร้างของผืนผ้า ลวดลาย และสี เนื่องจากผู้ทอเป็นช่างที่มีฝีมือ สามารถนำลวดลายต่างๆ มารวมไว้บนผืนผ้า เช่น ลายลูกแก้วใหญ่ ลายดอกจัน ลายแก้วชิงดวง ฯลฯ ลายแก้วชิงดวงของที่นี่มีลักษณะลวดลายเป็นวงกลมหรือรูปไข่เกี่ยวร้อยทับกันภายในช่องที่เป็นใจกลางมีลูกแก้วฝูง 4 เม็ด ส่วนช่องที่เกี่ยวทับกัน 4 ช่อง ใน 1 วง จะมีลูกแก้วฝูง ช่องละ 2 เม็ด ซึ่งจะอยู่ในเขตของวงกลม 2 วง เหมือนแก้ว 2 ดวง แย่งชิงกันอยู่ จึงเรียกชื่อลายว่า แก้วชิงดวง เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผ้าทอของที่นี่ก็คือ ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้ายกดอก ที่ชาวบ้านทอขึ้นเพื่อใช้เอง จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในเรื่องสี เพราะนิยมใช้ด้ายยืนสีแดง ยกดอกสีเหลืองเป็นหลัก

ชาวบ้านจะผ้าทอนาหมื่นศรี โดยใช้กี่ 2 ชนิด คือกี่พื้นเมือง และกี่กระตุก โดยทั่วไป ผ้าทอนาหมื่นศรี แบ่งตามลักษณะโครงสร้างของผืนผ้าได้ 3 ชนิด ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าตา และผ้ายกดอก ซึ่งมีการทอหลายรูปแบบตามประโยชน์ใช้สอย ได้แก่ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าสำหรับนุ่งห่ม เช่น ผ้าผืนยาวสำหรับโจงกระเบน ผ้าถุง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าเบี่ยงหรือผ้าสไบ ผ้าพาดบ่า (มักใช้ลวดลายดั้งเดิม ในอดีตเคยมีการทอผ้าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา) และผ้าทอด้วยจุดประสงค์พิเศษ เช่น ผ้าอาสนะ ผ้าตั้ง และผ้าพานช้าง (เป็นการทอผ้าเช็ดหน้าต่อกันหลายผืน เพื่อใช้ในพิธีงานศพ เจ้าภาพจะตัดแยกเพื่อถวายพระเมื่อเสร็จพิธี)