“จุลินทรีย์หน่อกล้วย-ฮอร์โมนไข่” สูตรเด็ดความสำเร็จนาข้าว

ไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์กว่า 300 ไร่ อาจารย์ชัชวาลย์ เวียร์ร่า อยู่บ้านเลขที่ 121 หมู่ที่ 5 ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์กว่า 300 ไร่ โดยขั้นตอนการผลิตก็อินทรีย์ล้วนๆ ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป

อาจารย์กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำนาอินทรีย์ประสบความสำเร็จ คือการทำจุลินทรีย์หน่อกล้วยเพื่อเตรียมและปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้งฮอร์โมนไข่ โดย “จุลินทรีย์หน่อกล้วย” นั้นประกอบด้วย ไส้ของหน่อกล้วย ที่ได้จากหน่อหนุ่มสาว ลอกกาบออก ให้เหลือเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว ตัดเป็นท่อนยาว 50 เซนติเมตร ทุบให้ช้ำ อย่างอื่นมี กลูโคส 1 กระป๋อง (ราว 450 กรัม) น้ำส้มสายชู 1 ขวด (ราว 750 ซีซี) ขัณฑสกร 2 ช้อนโต๊ะ แป้งข้าวหมาก 6 ก้อน นมเปรี้ยว 1 ขวดเล็ก

นำสิ่งที่แนะนำมาใส่รวมกันในถัง 200 ลิตร จากนั้นเติมน้ำให้เต็ม นำไปวางไว้กลางแดด ใช้หินที่เป็นก้อนๆ ซึ่งเขาใช้ถมเป็นเขื่อนกันดินพัง หุ้มด้วยตาข่าย วางลงไปยังถัง 5-7 วัน ดูที่หินเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าจุลินทรีย์เริ่มทำงาน สามารถนำออกใช้งานได้

อัตราที่แนะนำ 5 ลิตร ต่อไร่ หรือจะมากกว่านี้ก็ได้ มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย เริ่มใช้เมื่อมีการเตรียมดิน โดยเทลงแปลงนา หรือจุดปล่อยน้ำเข้า จะช่วยย่อยสลายฟางข้าว ไม่ต้องเผา จากนั้นเติมลงไปในนา 10 วันครั้ง

ด้านวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำ “ฮอร์โมนไข่” ประกอบด้วย

ไข่อินทรีย์ที่มีเชื้อ หมายถึง เกิดจากการผสมพันธุ์ของตัวผู้และตัวเมีย จำนวน 4 ฟอง น้ำจุลินทรีย์ 5 ลิตร น้ำผึ้งแท้ 100 ซีซี กลูโคส 450 กรัม หากเป็นฤดูหนาวเติมน้ำมะพร้าว สังกะสี และแมงกานีสลงไปด้วย (มีจำหน่ายตามร้านวัสดุอุปกรณ์การเกษตร)

โดยส่วนผสมทั้งหมดนั้นเมื่อผสมแล้วใช้ได้เลย หากเหลือเก็บไว้ใช้ได้นาน อัตราที่แนะนำ ใช้ 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นให้ต้นข้าวทุก 10 วัน ทำนาแบบอินทรีย์ “แมลงศัตรู” มีบ้าง
ไม่ใช่กำจัดอย่างเดียว
การทำนาอินทรีย์ มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงบ้าง แต่เพราะมีระยะของต้นข้าวที่พอเหมาะ ทำให้ต้นข้าวใบตั้งแข็งแรง แมลงบางตัว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จึงเพียงมาอาศัยอยู่เท่านั้น การทำลายแทบไม่พบเห็น

ข้อคิดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งนั้น อาจารย์แนะนำว่า แมลงชอบมาทำลายต้นข้าวช่วงเดือนมืด ดังนั้น จะใช้กับดักกาวเหนียวดักจับแมลง

“แมลงบางชนิดมีประโยชน์ เกษตรกรไปกำจัดหมด เมื่อมีแมลงศัตรูพืชมา ต้องมีตัวห้ำตัวเบียน เดือนมืดโจรมา ผมใช้ฟิวเจอร์บอร์ดทาด้วยกาวดักแมลง เดือนมืดแมลงมา ข้างขึ้นไม่มา “คนเกิดข้างขึ้นฉลาดกว่าคนเกิดข้างแรม พืชเกิดข้างขึ้น เติบโตดีกว่าข้างแรม” โบราณถือเป็นตำนาน ทำนาข้าวต้องทำข้างขึ้นครับ ปลูกพืช ปลูกบ้าน ทำงานมงคลข้างขึ้น ผมทำอะไรเน้นข้างขึ้น…ควรให้เกษตรกรรู้เรื่องการใช้ปัจจัยการผลิต ผมไม่ให้เข้าเลยยูเรีย

ตัวอย่าง คนเหนือกินอาหารอย่าง คนภาคกลางกินอาหารอย่าง เพราะฉะนั้น เอ็นพีเค ไม่ใช่อาหารสำเร็จ ไม่รู้ว่าพืชขาดอะไร เกษตรกรรู้ เอ็นพีเค ว่าต้องใส่ ขาดไม่ได้…ถามว่าทำไมขาดไม่ได้ เพราะว่าในตลาดมีขาย

แนะนำกันไว้อย่างนี้ ในแปลงนาอินทรีย์ของเราไม่ใช้เคมีเลย เราใช้จุลินทรีย์ น้ำร้อนเพราะดูดซับแสงแต่ดินต้องเย็น ไม่ว่าฤดูกาลไหน ไม่เห็นรากพืชเราเป็นสีน้ำตาล เราเห็นรากสีขาวแตกฝอยเป็นเส้น ไม่มีการเจ็บป่วยทางราก รากกระจายรอบต้นเยอะมาก อายุข้าว 1 เดือน ถอนไม่ขึ้น ผมบอกเกษตรกรให้ทำนาดำ เกษตรกรจะลดต้นทุนได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ครับ กำไร 50 เปอร์เซ็นต์ อยู่ได้แล้วครับ นาที่ใส่ปุ๋ยเคมี 30-40 ปี ดินเป็นกรด ถ้านำดินไปสังเคราะห์นั่นแหละเป็นโรงงานปุ๋ย” เป็นแง่คิดในการทำนาหลายๆ เรื่อง ที่อาจารย์ชัชวาลย์ แนะนำ

หมายเหตุ: ปัจจุบัน ท่านอาจารย์ชัชวาลย์ เวียร์รา ได้เสียชีวิตแล้ว ผักกูด เป็นชื่อของผักชนิดหนึ่งจัดอยู่ในตระกูลเฟิร์น สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู และนอกจากจะนำมาเป็นอาหารได้แล้วยังใช้เป็นสมุนไพรได้อีกด้วย ผักกูดมักจะขึ้นอยู่ตามริมน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่าในป่าทึบ เจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้แล้ว ผักกูด ยังเป็นดัชนีชี้วัดถึงสภาพแวดล้อม ให้ได้รู้ว่าบริเวณไหนอากาศไม่ดี ดินไม่บริสุทธิ์ มีสารเคมีเจือปนอยู่ ผักกูดจะไม่ขึ้นหรือแตกต้นในบริเวณนั้น ด้วยสรรพคุณและคุณค่าที่มีมากมาย จึงทำให้ในปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกผักกูดเชิงการค้ามากขึ้น

คุณชาญณรงค์ พวงสั้น อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 7 ตำบลวังจันทร์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี เล่าถึงงานปลูกผักกูดว่า เกิดนึกสนใจและมองเห็นอนาคตของผักกูดว่าน่าจะไปได้ดี ผักกูดเป็นผักที่หาได้จากธรรมชาติในสมัยก่อน แต่ในปัจจุบันเริ่มหารับประทานยากขึ้นทุกวัน ตนจึงมองเห็นโอกาสจากตรงนี้ ใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำงานสวนปลูกผักกูดอินทรีย์แซมสวนสัก โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 คือปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดังนั้น ในสวนของคุณชาญณรงค์จะเต็มไปด้วยการปลูกพืชที่เอื้ออำนวยกันไปเป็นลำดับ

พื้นที่ 21 ไร่ ยึดหลัก ปลูก 3 ประโยชน์ 4
คุณชาญณรงค์ เล่าว่า พื้นที่เดิมตรงนี้เป็นป่าละเมาะเล็กๆ ตนเริ่มปลูกมะนาวเป็นอย่างแรก ได้มีการใช้สารเคมีมากมาย เมื่อเวลาผ่านไปสักพักได้เล็งเห็นว่าความปลอดภัยน้อยลง ทั้งในเรื่องของสุขภาพ และสภาพพื้นดิน จึงหยุดปลูกมะนาว หันมาปลูกจันทน์ผาอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนั้นจันทน์ผากำลังเป็นที่ฮือฮา ก็ขายได้บางส่วน พื้นที่อีกส่วนใช้ปลูกต้นสัก เพราะสักเป็นพืชที่มีอนาคต อายุต้นสักภายในสวนคุณชาญณรงค์อายุ 15 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่าต้นละ 5,000 บาท ภายในสวนมี 1,000 ต้น ปลูกในระยะ 6×4 เมตร สาเหตุที่ตนปลูกพืชหลายอย่างในสวนเดียวกัน เพราะได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ชั้นล่างสุดจะปลูกผักกูด ชั้นสองคือ จันทน์ผา ชั้นสาม ไม้สัก ตกกลางคืนจะมีหิ่งห้อยเข้ามาบ่งบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ในสวนแห่งนี้ สิ่งเหล่านี้ได้ประโยชน์กว่าที่คิด

ปลูกผักกูดอย่างไร ให้ได้กิน ได้ขาย
คุณชาญณรงค์ เล่าให้ฟังว่า ผักกูด เป็นพืชที่อยู่คู่กับริมแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณริมแม่น้ำจะมีผักกูดขึ้นอยู่เต็มไปหมด แต่การปลูกเป็นแปลงจะน้อย เกษตรกรจะใช้วิธีเก็บผักกูดตามริมน้ำ ซึ่งในฤดูแล้งจะขาดแคลน ผู้บริโภคที่ต้องการก็จะหายาก

ผักกูด เป็นพืชที่ให้น้ำหนักดีมาก โดยยอดที่สมบูรณ์ โดยประมาณ 30 ยอด ได้น้ำหนักถึง 1 กิโลกรัม ถ้ายอดเล็กประมาณ 50 ยอด จะได้ 1 กิโลกรัม ปุ๋ย ให้เป็นปุ๋ยคอกอย่างเดียว ปีละครั้ง ระบบน้ำ ดินชื้นไม่ต้องให้ ดินแห้งจึงให้

“ฤดูฝนไม่ต้องให้น้ำ ผักกูดเป็นพืชที่ไม่ชอบแสงแดดมากเกินไป ถ้าน้ำน้อยน้ำขาดจะแห้งเลย ถ้าอยากปลูกผักกูดสร้างรายได้ต้องคำนึงถึงน้ำและร่มเงา ปลูกกลางแจ้งไม่ได้ ข้อจำกัดเขามีอยู่ตรงนี้ อีกวิธีหนึ่งคือใช้ซาแรนคลุมเพื่อลดแสงแดด แต่จะเป็นการเพิ่มต้นทุน ใบไม้ก็สามารถทำเป็นปุ๋ยได้ เมื่อทิ้งไว้นานใบไม้เริ่มเปื่อยใช้ได้ดี ใช้ไม่มีหมด อย่าไปเผา อย่าไปทำลายฉีดยา สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ทั้งนั้น” คุณชาญณรงค์ บอก

ศัตรูพืช ของผักกูดคือ แมลงกินใบ แต่คุณชาญณรงค์บอกว่าไม่เป็นไร เพราะใบของผักกูดมีเยอะ ถ้าเราให้น้ำเยอะใบก็แตกเยอะ แมลงกินไม่ทัน คุณชาญณรงค์ยังพูดติดตลกอีกว่า ก็แบ่งๆ แมลงกินบ้างไม่เสียหาย ดีกว่าเสียเงินไปซื้อยาฆ่าแมลง ทั้งเพิ่มต้นทุนและทำลายระบบนิเวศที่สมบูรณ์อยู่แล้ว

ผักกูด นำมาประกอบอาหารอร่อยเลิศ
หากท่านใดเคยได้ลิ้มลองผักกูดในเมนูอาหารต่างๆ มาแล้ว มั่นใจว่าท่านจะต้องติดใจในรสชาติความหวานและความกรอบของยอดผักกูดอย่างแน่นอน สำหรับท่านที่ยังไม่เคยได้ลองเมนูผักกูดถือว่าพลาดมาก รีบไปหามารับประทานได้เลย ผักกูดสามารถประกอบอาหารได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นยำ แกงส้มผักกูด ผัดผักกูดใส่หมูกรอบ หรือจะลวกจิ้มน้ำพริกอร่อยสุดยอด และยังมีคุณค่าทางสมุนไพรอีกด้วย

การตลาดหาไม่ยาก เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว
“แก่งกระจาน มีรีสอร์ตเยอะ ดังนั้น การตลาดของผมจึงไม่ต้องคิดมากเลย มุ่งหน้าทำตลาดกับรีสอร์ต ก่อนเป็นอันดับแรก เหตุผลที่เลือกส่งรีสอร์ตจะเป็นในเรื่องของความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลานั่งขาย ได้รายได้แน่นอนกว่า แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ผมก็จัดสินค้าบางส่วนส่งให้ตลาดในท้องถิ่นและตลาดที่กรุงเทพฯ ซึ่งแม่ค้านำสินค้าจากในพื้นที่เข้ากรุงเทพฯ ก็จะติดผักกูดไป กิโลกรัมละ 50 บาท ลองคิดดูเล่นๆ ตกยอดละบาทกว่าเลยนะ แปลงนี้เรายังไม่เน้นขาย เน้นทำพันธุ์และเก็บกิน แจก เหลือก็ขาย พอสร้างรายได้เลี้ยงคนงาน” คุณชาญณรงค์ บอก

แนะนำสำหรับคนที่อยากปลูก
สิ่งแรกที่ต้องดูคือ ตลาด ว่าผู้บริโภคต้องการไหม เพราะพืชบางตัวผู้บริโภคไม่ต้องการก็มี สอง ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูก 3 ประโยชน์ 4 เพื่อลดความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แถมได้รายได้หลายทาง ไม่ต้องปลูกเยอะเริ่มจากน้อยๆ เพื่อรับรู้ลองถูกลองผิด เมื่อชำนาญแล้วจึงขยาย ถ้าทำแบบนี้ได้จะปลูกอะไรก็สำเร็จ และสร้างอาชีพได้อย่างยั่งยืน สำหรับท่านที่สนใจอยากซื้อต้นพันธุ์ผักกูดต้องรออีกนิด เพราะเบี้ยยังเล็กอยู่ แต่ถ้าจะมาศึกษาดูงานหรือจะมารับประทานอาหารเมนูผักกูดก็ได้ คุณชาญณรงค์ยินดีให้คำปรึกษา

อินทผลัม เป็นพืชตระกูลปาล์มมีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแบบทะเลทราย ลำต้นมีความสูงประมาณ 30 เมตร โดยใบติดอยู่บนต้น 40-60 ก้าน ทางใบยาว 3-4 เมตร ลักษณะใบของอินทผลัมเป็นแบบขนนก ใบย่อยพุ่งออกหลายทิศทาง ช่อดอกจะออกจากโคนใบ เมื่อติดผลมีลักษณะเป็นรูปทรงรี ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีรสหวานฉ่ำ สามารถทานได้ทั้งผลสดและสุก ซึ่งผลมีสีเหลืองถึงสีส้มและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่จัด โดยผลสุกจะนิยมไปตากแห้งจึงเป็นหนึ่งพืชที่น่าจับตามองในเรื่องของการทำตลาด

ปัจจุบัน ในบ้านเรามีเกษตรกรหลายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าคุณภาพตามฤดูกาล สร้างรายได้ไม่น้อยทีเดียว คุณธัญญา กาญจนประดิษฐ์ เป็นเกษตรกรชาวกาญจนบุรี ที่ได้มองเห็นถึงอนาคตของการทำตลาดของอินทผลัมว่าเป็นสินค้าที่มีราคา เธอจึงแบ่งพื้นที่ทำนาบางส่วนมาปลูกอินทผลัมเพื่อเป็นการกระจายรายได้ เมื่อราคาข้าวตกต่ำก็ยังมีผลผลิตของอินทผลัมอยู่ แม้พื้นที่ปลูกจะเป็นดินที่ผ่านการทำนามาก่อนแต่ก็สามารถปลูกจนประสบผลสำเร็จ

คุณธัญญา เล่าว่า เป็นคนที่ชอบทานอินทผลัมมานานมากแล้ว แต่ด้วยพืชชนิดนี้ในเมืองไทยยังค่อนข้างหาซื้อยาก จึงเป็นจุดประกายให้เธอคิดที่อยากจะปลูกเอง เพราะไม่กี่ปีให้หลังมานี้ข้าวมีราคาถูกและทำได้ปีละ 1 ครั้ง จึงได้เกิดความคิดที่อยากจะปรับปลี่ยนจากพื้นที่นาบางส่วนมาแบ่งปลูกอินทผลัมเพื่อชดเชยรายได้

“แบ่งปลูกเป็น 2 ช่วงอายุ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกรุนแรก 8 ไร่ กับรุ่นที่ 2 บนเนื้อที่ 7 ไร่ รวมพื้นที่ปลูกอินทผลัมทั้งหมดก็ประมาณ 15 ไร่ ซึ่งนาก็ไม่ได้เลิกทำยังทำอยู่ เพียงแต่แทนที่เราจะปลูกข้าวอย่างเดียว เราก็มาปลูกทำเกษตรอย่างอื่นด้วย เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้ครบทุกด้านอย่าทำพืชเชิงเดี่ยวอย่างเพียงเดียว” คุณธัญญา เล่าถึงที่มา

โดยวิธีการปลูกและการเลือกซื้อสายพันธุ์นั้น คุณธัญญา บอกว่า ได้ศึกษาหาข้อมูลเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ พร้อมทั้งเดินทางไปศึกษาจากเพื่อนๆ ที่ปลูกจนประสบผลสำเร็จ จากนั้นเธอจึงได้ข้อสรุปเลือกอินทผลัมที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูกสร้างรายได้

ในเรื่องของวิธีการปลูกอินทผลัมนั้นมีการเตรียมพื้นที่ปลูกก่อนในช่วงแรก โดยให้บริเวณรอบๆ สวนมีร่องน้ำสำหรับระบายน้ำไม่ให้ท่วมขังภายในพื้นที่ปลูก เพราะอินทผลัมเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขังอยู่บริเวณโคนต้น ดังนั้น ในเรื่องของการระบายน้ำออกจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การเตรียมต้นกล้า ระยะแรกจะนำมาอนุบาลเพื่อให้มีระบบรากแข็งแรง โดยใช้เวลาประมาณ 8 เดือน จากนั้นเมื่อเห็นว่าต้นอินทผลัมมีความสมบูรณ์ดีแล้ว จะนำมาลงปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้ทันที

“ใช้ต้นกล้าที่ผ่านการอนุบาลมาประมาณ 8 เดือนมาลงปลูก พื้นที่ปลูกก็จะเน้นให้มีระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถวอยู่ที่ 7×7 เมตร โดยการปลูกจะไม่ฝังต้นลงไปใต้ดินจนลึก ขนาดหลุมปลูกกว้าง 1 เมตร ความลึกอยู่ที่ 40 เซนติเมตร พอปลูกเสร็จแล้วก็จะมีไม้ค้ำยันไว้ เพื่อไม่ให้ต้นโยกไปมา ให้ต้นตั้งตรงอยู่นิ่งๆ จะช่วยให้รากค่อนข้างที่จะเดินได้ดี หลังจากนั้นก็ดูแลให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกลอร์ทุกวันประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนให้น้ำ 2-3 วันครั้งก็เพียงพอ” คุณธัญญา บอก

หลังจากที่ปลูกได้ครบ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วยสูตร 20-10-10 ดูแลไปจนได้อายุเข้า 2 ปีครึ่ง อินทผลัมก็จะเริ่มเจริญเติบโตจนให้ผลผลิตได้ ซึ่งแต่ก่อนที่จะติดผลต้องเตรียมต้นให้พร้อมเสียก่อน

โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมเปลี่ยนใส่ปุ๋ยเป็นสูตร 8-24-24 หลังจากนั้นช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม อินทผลัมก็จะเริ่มมีจั่นออกมาให้เห็น ในช่วงนี้เมื่อเห็นว่าจั่นมีความสมบูรณ์จึงช่วยผสมเกสรเพื่อให้ติดผลผลิตได้ดีขึ้น

ซึ่งอินทผลัมเป็นพืชที่แยกเพศอย่างชัดเจน คือ ต้นตัวผู้และต้นตัวเมียจะอยู่คนละต้นกัน ดังนั้น ในการปลูกภายในสวนจะให้มีอัตราส่วนต้นตัวผู้ 1 ต้น ต่อต้นตัวเมีย 15-20 ต้น โดยจะปลูกในพื้นที่กี่ไร่ก็ตาม จะเน้นอัตราส่วนของต้นตัวผู้และตัวเมียในอัตราส่วนนี้เสมอ

“พอเราผสมเกสรติดดีแล้ว ช่วงที่ดูแลผล ก็จะมีการปรับเปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตร 15-5-20 กับสูตร 11-6-25 สลับกันไปมาในช่วงที่ติดผล ซึ่งผลของอินทผลัมกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ นับจากวันที่ผสมเกสรไปใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 140 วัน ช่วงนี้ผลก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ นำกระดาษมาหุ้มพร้อมทั้งใช้ตาข่ายห่ออีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันหนูและแมลงที่มาทำลายผล พอครบกำหนดผลก็จะเริ่มสุกพร้อมๆ กัน สามารถเก็บเกี่ยวได้” คุณธัญญา บอก

ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคและแมลงนั้น คุณธัญญา บอกว่า สิ่งที่ต้องป้องกันมากที่สุดคือด้วงมะพร้าว โดยหมั่นเดินสำรวจอยู่เสมอเพื่อไม่ให้มี ถ้าหากมีการเข้าทำลายของศัตรูพืชชนิดนี้ยอดของอินทผลัมจะได้รับความเสียหาย ดังนั้น จึงต้องหมั่นป้องกันและดูแลตั้งแต่ครั้งแรกที่ปลูก

สำหรับตลาดเพื่อส่งขายอินทผลัม คุณธัญญา บอกว่า ได้มีลูกค้ามาติดต่อขอซื้อถึงสวนไว้แล้ว และส่วนที่เป็นอีกเกรดก็จะขายตามตลาดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งทางสวนของเธอเองก็ได้มีการปลูกแบบได้มาตรฐานจีเอพี (GAP) ลูกค้าที่รับซื้อจึงมั่นใจได้ในผลผลิตที่ผ่านการดูแลเป็นอย่างดีในทุกขั้นตอน

“ราคาของอินทผลัมผลสด ที่สวนเราขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท ซึ่งที่สวนมีอยู่ประมาณ 200 ต้น ผลผลิตที่เฉลี่ยคาดว่าจะได้แต่ละปี 4-5 ตัน ด้วยราคาประมาณนี้คิดว่าก็น่าจะทำเงินได้ แต่ถ้าอนาคตต่อให้ราคาลงไปบ้าง เราก็มองว่าน่าจะทำเงินได้อยู่ เพราะอินทผลัมเมื่อเทียบกับพืชบางชนิด เรื่องใช้ปุ๋ยและยาน้อยมาก จึงทำให้ต้นทุนในเรื่องนี้ไม่ค่อยมาก ในการลงทุนแต่ละปี ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพืชที่น่าสนใจ” คุณธัญญา บอกเรื่องการตลาด

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะปลูกอินทผลัม คุณธัญญา แนะนำว่า หากมีพื้นที่บางส่วนที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวอยู่ ก็ให้แบ่งมาปลูกพืชให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเลือกพืชที่เหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ อย่างที่เธอเลือกปลูกอินทผลัม เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยเมื่อเทียบกับการทำนา ดังนั้น อินทผลัมจึงเป็นอีกหนึ่งพืชที่เธอมองว่าน่าจะทำรายได้เสริมควบคู่ไปกับกับทำนาของเธอ

พื้นที่บ้านห้วยส้ม ตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกไม้ผลหลากหลายชนิด เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง ลางสาด และเงาะ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 4,000 ไร่ ไม้ผลถือเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรนอกจากการกรีดยางพารา ซึ่งปัจจุบันมีราคาผันผวนและตกต่ำ อย่างไรก็ตาม การจัดการแปลงไม้ผลเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี มีราคาสูงทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งการใช้ปุ๋ยเคมีต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานทำให้โครงสร้างดินเสื่อมลง จะส่งผลกระทบทำให้ดินแน่น ทำลายสัตว์หน้าดินและจุลินทรีย์ในดิน

คุณสิทธิชัย ฑีฆะ ประธานกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ เล่าว่า กลุ่มเกิดจากการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน โดยชุมชนบ้านห้วยส้ม ดังนั้น เกษตรกรในชุมชนจึงมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักถิ่นบ้านห้วยส้ม ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ รวมถึงการผลิตพืชอย่างยั่งยืนให้แก่สมาชิกในชุมชน เอกลักษณ์ที่โดดเด่น วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นวัสดุและมูลสัตว์ที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้จากการขายวัสดุให้แก่กลุ่ม รวมถึงปุ๋ยอินทรีย์ได้รับมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร

ความสำคัญภูมิปัญญาท้องถิ่น สมาชิกกลุ่มมีความชำนาญในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้วัสดุที่มีคุณภาพมาใช้ในการผลิต ซึ่งสมาชิกมีการผลิตใช้เองมาเป็นเวลานาน เป็นที่ยอมรับจากเกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก

ประธานกลุ่มได้อธิบายถึงความสำคัญของปุ๋ยอินทรีย์หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากสารอินทรีย์หรือวัสดุอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีต่างๆ อาทิ การสับ การบด การหมัก การร่อน การสกัด หรือด้วยวิธีการอื่นๆ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพด้วยย่อยสลายของจุลินทรีย์ก่อนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อพืช

รูปแบบการผลิตปุ๋ยอินทรีย์
1. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยการกองในหลุมหรือกองพื้นสูง และนำไปใช้โดยไม่ผ่านการอัดเม็ด
2. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยการกองในหลุมหรือกองพื้นสูง และนำไปใช้โดยผ่านการอัดเม็ด

ความสำคัญของปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่มีความสำคัญต่อการปรับปรุงดินและให้แร่ธาตุอาหารแก่พืช เพราะประกอบด้วยอินทรียวัตถุและแร่ธาตุต่างๆ ที่จะทำให้ดินมีสภาพดีขึ้น พร้อมช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม โดยปุ๋ยอินทรีย์มีความสำคัญ ดังนี้

ปุ๋ยอินทรีย์มีแร่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และธาตุอาหารรอง รวมถึงจุลชีพที่พอเพียงต่อความต้องการของพืช
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในระยะแรกอาจทำให้พืชมีผลผลิตไม่มากนัก แต่หากใช้ในระยะยาว ผลผลิตพืชจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ทำให้คุณสมบัติของดินดีขึ้นเรื่อยๆ
ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยให้ความเป็นกรด-ด่างของดินมีความเหมาะสมต่อการเติบโตของพืช และช่วยให้ความเป็นกรด-ด่างเปลี่ยนแปลงได้ยากขึ้น รวมถึงช่วยในการดูดยึดธาตุอาหารไว้ในดินได้มากขึ้น

ช่วยให้อนุภาคของดินจับตัวกันเป็นก้อนหรือเม็ดดินได้ดี nancyajramonline.com เนื้อดินไม่อัดตัวกันแน่น มีความร่วนซุย การถ่ายเทอากาศการอุ้มน้ำและการไหลซึมของน้ำในดินดีขึ้น
ช่วยให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินสามารถเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากอินทรียวัตถุสามารถเอื้อประโยชน์และสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต
ช่วยเพิ่มความสามารถในการย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้ดีขึ้นจากปริมาณจุลินทรีย์ในดินที่เพิ่มขึ้น
เป็นปุ๋ยที่สามารถหาได้ง่ายและทำขึ้นได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้มีราคาถูกสามารถใช้วัตถุดิบทั่วไปตามท้องถิ่น
มีวิธีการใส่ไม่ยุ่งยาก และไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงต่อเกษตรกร
ธาตุอาหารในปุ๋ยอินทรีย์มีโอกาสสูญเสียจากการซึม การไหลบ่าของน้ำ การเสื่อมสภาพ เนื่องจากสารอาหารหรือแร่ธาตุจะเป็นองค์ประกอบในสารอินทรีย์เหล่านั้น อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียวทำให้มีข้อเสียพอสมควร ได้แก่
– การใส่ปุ๋ยอินทรีย์มากเกินความจำเป็นจะเป็นการเพิ่มแร่ไนโตรเจนมากเกิน ควรทำให้พืชเติบโตเฉพาะในส่วนใบและลำต้น ทำให้ผลผลิตของผลหรือเมล็ดน้อย
– ปุ๋ยอินทรีย์มีปริมาณธาตุอาหารหลักน้อย หากต้องการผลผลิตมากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีที่มีแร่ธาตุอาหารหลักสูงร่วมด้วย
– การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณมากอาจมีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ค่าแรง ค่าน้ำมัน มากกว่าการใส่ปุ๋ยเคมีแต่เพียงอย่างเดียว
คุณสิทธิชัยบอกรายละเอียดและขั้นตอนวิธีทำปุ๋ยอินทรีย์ให้มีคุณภาพต้องมีส่วนผสมอะไรบ้าง

นำมูลวัวผสมกับมูลไก่ โดยผสมสลับกันทำเป็น 4 ชั้น
ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วรดด้วยน้ำหมักชีวภาพให้ทั่ว หมักไว้ 3 วัน แล้วใช้เครื่องพรวนดินตีปุ๋ยให้เข้ากัน
กลับกองปุ๋ยทุกๆ 5 วัน จนกว่าปุ๋ยจะมีอุณหภูมิต่ำ
เมื่อปุ๋ยมีอุณหภูมิต่ำ บรรจุปุ๋ยจำหน่าย
ราคาจำหน่าย กิโลกรัมละ 8 บาท (กระสอบละ 25 กิโลกรัม ราคากระสอบละ 200 บาท)

การทำการเกษตรมีหลากหลายอย่าง เกษตรกรมือใหม่ หรือผู้ที่จะทำการเกษตร ควรศึกษาหาความรู้และลงมือปฏิบัติ เมื่อมีปัญหาหรือข้อขัดข้องสามารถปรึกษาหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง หรือเกษตรกรที่ทำก่อนหน้าเพื่อแก้ไข ให้การทำการเกษตรหรือกิจกรรมที่เราดำเนินการประสบผลสำเร็จ

คุณดอน ไชยลังกา หรือ ลุงยอด ที่ชาวบ้านเรียกกัน อยู่บ้านเลขที่ 29 หมู่ที่ 1 บ้านท่าฟ้า ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เล่าให้ฟังว่า เดิมมีอาชีพทำการเกษตรอยู่แล้ว ซึ่งทำมาหลายอย่าง ตั้งแต่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การปลูกมะละกอ และการปลูกไม้ไผ่ไต้หวัน และมาจบที่การปลูกฝรั่งพันธุ์กิมจู โดยเริ่มปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2554 หรือประมาณ 11 ปีที่แล้วมา โดยสั่งซื้อต้นพันธุ์มาจากนครปฐม เริ่มแรกปลูก 3 ไร่ ต่อมาจึงขยายเป็น 11 ไร่ โดยขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งเอง การทำสวนฝรั่งกิมจูของตนเองจะทำแบบเกื้อกูลกันกับการเลี้ยงวัว โดยจะตัดหญ้าที่ขึ้นในแปลงไปให้วัวกิน เมื่อวัวถ่ายมูลออกมาก็จะนำไปตากและหมัก แล้วนำกลับไปเป็นปุ๋ยบำรุงต้นฝรั่ง ทำให้ดินร่วนซุยและฝรั่งงาม มีความอุดมสมบูรณ์ดี อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากใช้ปุ๋ยเคมีน้อยลงเมื่อเทียบกับสวนอื่นที่ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว