ชวนชิม ‘จระเข้หัน’ ราคาย่อมเยา ที่ราชบุรีคนแห่ซื้อเพียบ

ชี้รสชาติเหมือนเนื้อไก่ผสมเนื้อกุ้งเปิดเมนูพิสดาร จระเข้ย่าง ไม้ละ 20 บาท พลิกวิกฤติเป็นโอกาสหลังจากประสบปัญหาการเลี้ยงจระเข้มีราคาตกต่ำ ทำให้มีแนวคิดหันมาใช้เนื้อจระเข้ปิ้งย่างเสียบไม้ขาย ไม้ละ 20 บาท กลับมีลูกค้าสนใจอุดหนุนเพียบ เฉลี่ยวันละ 3-5 ตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเปิดขายเมนูแปลกใหม่ เป็นการจำหน่ายขายเนื้อจระเข้ของทวีชัยฟาร์ม ตั้งอยู่เลขที่ 10/1 หมู่ 8 ต.หนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ที่มี นายสิทธิชัย เพ็ญชาติ อายุ 50 ปี เป็นเจ้าของร่วมกับญาติๆ เปิดร้านขายเนื้อจระเข้หัน จระเข้ย่าง และเนื้อจระเข้สดในราคาย่อมเยา เสียบขายไม้ละ 20 บาท หลังจากธุรกิจการเพาะเลี้ยงจระเข้เพื่อขายหนังมีสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงได้มองหาลู่ทางทำธุรกิจของครอบครัวให้อยู่ได้ โดยเริ่มต้นทดลองนำเนื้อจระเข้มาเสียบไม้ย่างขายอยู่ริมถนนหน้าฟาร์มของตัวเอง จนเริ่มมีลูกค้าให้ความสนใจแวะเวียนเข้ามาชิมกันทุกวัน จนเริ่มแพร่หลายและมีออเดอร์สั่งเข้ามาเพียบ ด้วยถูกใจในรสชาติของเนื้อจระเข้ที่จะคล้ายๆ กับเนื้อไก่ผสมเนื้อกุ้ง เขาว่ากันอย่างนั้น

นายสิทธิชัย เพ็ญชาติ เจ้าของฟาร์มเปิดเผยว่า เริ่มแรกชอบเลี้ยงจระเข้จนกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์แล้ว ต่อมามีตลาดเข้ามารับซื้อที่ฟาร์มจนทำเป็นธุรกิจครอบครัว ช่วงนี้หลังจากที่ได้เปิดขายเนื้อจระเข้ย่างจะชำแหละขายบริเวณหน้าฟาร์มริมถนน และยังมีลูกค้าติดต่ออยากให้ทำแฟรนไชซ์เนื้อจระเข้ด้วย ซึ่งแต่ละตัวจะต้องดูขนาดและน้ำหนักที่จะนำมาใช้ ยาวประมาณ 1.50 -1.80 เมตรขึ้นไป หนังประมาณ 30 กิโลกรัม จึงจะใช้ได้ เพราะเนื้อกำลังดี นุ่ม ไม่เหนียว ไม่นิ่มจนเกินไป รสชาติต้องลองชิมแล้วจะรู้ ไม่คาว คนไม่เคยกินนั้น หากลองชิมสักไม้แล้วล่ะก็จะต้องกลับมาซื้อไปกินซ้ำอีก อีกทั้งมีสูตรการปรุงรสที่แปลกไม่เหมือนใคร ทั้งดับกลิ่นคาว รสชาติดี เป็นสูตรคิดเองทำเอง

นายสิทธิชัย เปิดเผยว่า เลี้ยงจระเข้ที่ฟาร์ม ประมาณกว่า 1,000 ตัว มีหลายขนาด ส่งให้กับลูกฟาร์มด้วย พอเวลาถึงได้ขนาดก็จะไปซื้อกลับคืนมา และที่ฟาร์มก็จะนำตัวเล็กไปให้เลี้ยงใหม่หมุนเวียนไป เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจการเลี้ยงจระเข้ตอนนี้ตกต่ำมาก เรียกว่าเป็นศูนย์ จากเซนติเมตรละ 60 บาทเศษ เหลือ เซนติเมตรละ 20 บาทเศษ เพราะมีการเลี้ยงประกันราคาลูกบ่อไว้ สมมุติ ตัวละ 7,000-10,000 บาท แต่พอให้ไปเลี้ยงประมาณ 2 ปีครึ่ง และไปจับกลับไม่ใช่ราคา 7,000 บาท แต่กลับเหลือตัวละ 4,000 บาท ลูกบ่อเกิดความไม่เชื่อถือแล้ว เราจึงต้องยอมขาดทุนไปจับลูกบ่อให้เขาได้ เมื่อได้จระเข้มาแล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเราอยู่รอด จึงคิดนำมาแปรรูปขายย่างเนื้อแบบนี้

อย่างจระเข้ตัวหนึ่งคิดคำนวณออกมาแล้ว เมื่อขายเป็นเนื้อย่างก็พอมีกำไรอยู่บ้าง เน้นปริมาณเยอะ และคิดสูตรรสชาติทำขึ้นมาเฉพาะเอง ผลตอบรับดีมาก ถึงขนาดต้องแบ่งลูกน้องออกเป็น 2 ทีม วันหนึ่งขายดีใช้จระเข้ 4-5 ตัว ในช่วงนี้ และยังมีออเดอร์สั่งเข้ามาเยอะ มีเมนูย่าง ลูกชิ้น แหนม ยอ หัน และอนาคตกำลังจะทำก๋วยเตี๋ยวเนื้อจระเข้ และอุ้งมือจระเข้ตุ๋น เป็นเมนูเด็ดต่อไปที่คิดแปรรูป

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศที่ร้านมีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงต่างสนใจได้แวะเข้ามาลองชิมเนื้อจระเข้ย่างหันกันอย่างคึกคัก บางคนขอชิมรสชาติก่อน ซึ่งเจ้าของร้านใจดีเปิดให้ชิมฟรีก่อนที่จะซื้อกลับไปกินที่บ้านได้ ทำให้หลายคนรู้สึกประทับใจและสนใจเลือกซื้อกัน คนละ 5-10 ไม้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะมาชิมเนื้อจระเข้หันย่าง สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 098-481-9889 มีขายทุกวันตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น

มกอช.หนุนนโยบายเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปูพรมพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเร่งขยายผลทั่วประเทศ พร้อมวางเป้าดันเมนูอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ล่าสุด มกอช.ได้นำร่องดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดสตูล จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส) โดยได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “แนวทางการดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ 5 จังหวัดขึ้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร รับทราบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ที่ยึดการบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Base) เป็นหลัก

นางสาวเสริมสุข กล่าวด้วยว่า การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 ประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นราย ซึ่งปัจจุบันมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูปมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 1,300 ล้านบาท

สำหรับแนวทางในการดำเนินการ ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ ขยายผลครอบคลุมทั้ง 13 กลุ่มจังหวัด 56 จังหวัด โดยยึดการบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Base) เป็นหลัก ตลอดจนเป็นการสร้างการรับรู้แนวทางการพัฒนาและจัดทำกรอบการรับรองแบบ PGS โดยวางเป้าหมายดำเนินการใน 7 พื้นที่หลัก ได้แก่ พื้นที่ใกล้โรงเรียน พื้นที่ใกล้โรงแรม พื้นที่ใกล้โรงพยาบาล พื้นที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่ดำเนินการโดยเอกชน/กลุ่มเกษตรกรและพื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่เกษตรกรมีความพร้อมและสมัครใจทำเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งเน้นให้มีการบูรณาการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในระดับพื้นที่

นางสาวเสริมสุข กล่าวต่อว่า การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ก็เป็นนโยบายหนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการเกษตรของไทย สอดคล้องกับแนวโน้มการบริโภคหรือความต้องการอาหารของพลโลกได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหาร ประกอบกับเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 โดยมีสาระสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม 2. พัฒนาการผลิต 3. พัฒนาการตลาดและการรับรองมาตรฐาน และ 4. การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์และให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน

ตามที่ได้มีสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กในชื่อ Seri Suksa ได้โพสต์ภาพและคลิป พร้อมระบุข้อความว่า “ทุเรียนไร้หนาม นวัตกรรมทางการเกษตร ที่สร้างสรรค์ทุเรียนคุณภาพจากเมืองลับแล ปี 2562 รับรองได้ชิมแน่นอนครับ” หลังจากนั้น ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า อยากลองชิมทุเรียนไร้หนาม รวมทั้งสอบถามและชื่นชมเกษตรกรที่มีการพัฒนาจนสามารถปลูกทุเรียนไร้หนามได้ โดยมีการแชร์ต่อออกไปกว่า 15,000 ครั้ง

โดยผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวคือ คุณเสรี สุกสา อายุ 45 ปี เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ครอบครัวมีสวนผลไม้อยู่ประมาณ 50 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกต้นทุเรียน อยู่ประมาณ 600 – 700 ต้น ชีวิตเรียกว่าโตมากับต้นทุเรียน และปัจจุบันหลายพื้นที่ในประเทศไทยต่างก็หันมาปลูกต้นทุเรียนกันเป็นจำนวนมาก

ตนจึงต้องการสร้างความแตกต่าง โดยใช้เทคนิคเพื่อกำจัดหนามทุเรียนที่เป็นอุปสรรคในการรับประทานทุเรียนของผู้บริโภค เพื่อให้ง่ายต่อการปอกเปลือกทุเรียนเวลาจะรับประทาน จึงคิดหาเทคนิค ซึ่งยังไม่ขอเปิดเผย มาทดลองทำกับทุเรียนตั้งแต่เริ่มติดผลอ่อน โดยเลือกทดลองทำก่อน 1 ต้น แต่ด้วยเทคนิคที่อาจจะยังใหม่และอยู่ในขั้นทดลอง จึงทำให้ผลผลิตมีน้อย ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์เพียง 2 ลูก เมื่อลองแกะรู้สึกได้ว่ามีความง่ายมากๆ ไม่ต้องกลัวมือจะเป็นแผลจากหนามที่แหลมคม ที่สำคัญคุณภาพของทุเรียนยังคงเดิม

“รู้สึกพอใจกับการทดลอง ถือว่าประสบผลสำเร็จ หลังจากที่ได้โพสต์ในโลกออนไลน์ได้รับการตอบรับกลับมาดีมากๆ ทั้งเพื่อน คนรู้จัก และลูกค้าที่เคยซื้อทุเรียนกันอยู่ ต่างจับจองผลผลิตในปีหน้ากันไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ในปี 2562 ตั้งใจจะนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้กับผลผลิตในสวน ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้ได้สักประมาณ 1,000 ลูก หากประสบความสำเร็จก็จะได้บอกต่อให้กับเกษตรกรชาวสวนลับแลให้ได้นำไปใช้ จะได้เป็นการเพิ่มราคาผลผลิตขึ้นได้อีก” นายเสรี กล่าว

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

อนึ่ง ในช่วง วันที่ 7-9 กันยายน 2561 ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศจีนตอนใต้จะมีกำลังแรงขึ้น และมีแนวโน้มเคลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ขอให้ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางด้วย เนื่องจากมีพายุไต้ฝุ่น “เจบิ” (JEBI) กำลังเคลื่อนตัวผ่านบริเวณดังกล่าว

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ เวลา 12:00 น. วันนี้ ถึง 12:00 น. วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคกลาง มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ และลพบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

สำหรับคนเมืองที่อยู่แต่ในห้องปรับอากาศหรือในที่ร่ม การทำงานกลางแดดซึ่งต้องใช้เวลานาน เพราะความไม่ถนัดและเรี่ยวแรงไม่เหมือนกับคนทำงานภาคเกษตรตั้งแต่เด็กๆ ปัญหาเรื่องแดดสำคัญมาก เพราะสู้ความร้อนไม่ไหว ใช้ร่มแม่ค้าขนาดใหญ่บังเวลาทำงานกลางแจ้ง ตอนแรกๆ ก็ดี พอตอนขยับไปเรื่อยๆ ก็จำเป็นต้องขยับร่มตามก็มีปัญหา เพราะมันวุ่นวายพอสมควร บางครั้งมีปัญหาเรื่องลมจนต้องเปลี่ยนเอาร่มกันฝนธรรมดานี่แหละมามัดติดตัวไว้ พอก้มๆ เงยๆ ดันหลุดขึ้นมาอีก วุ่นวายไม่ได้งาน มัวแต่สาละวนกับร่มกันแดด

นำท่อ พีวีซี ขนาด 6 หุน มาต่อเป็นที่สวมบ่าทั้งสองข้าง ส่วนข้องอที่รับกับไหล่ใช้ข้องอของพลาสติกที่ใช้ร้อยท่อสายไฟฟ้า เนื่องจากโค้งเข้ารับกับไหล่มากกว่า ส่วนด้านหลังต่อไว้สำหรับเสียบก้านร่ม และจะมีเข็มขัดร้อยมารัดไว้ด้านหน้าเพื่อให้เกิดความสมดุลไม่หลุดง่าย (ดูตามภาพจะเข้าใจง่ายกว่า) เราก็จะได้ร่มสุริยันกรรแสงมา 1 คัน เพราะไม่ว่าจะก้มจะเงยอย่างไร แสงแดดก็ไม่โดนเรา ทีนี้จะทำงานกลางแดดก็ทำไปไม่ต้องทนร้อนอีก

ขอบคุณไอเดียสุดเจ๋งจาก ลุงป่วน ชื่นบาน อยู่ที่หมู่บ้านอิรวดี ซอยนานาชาติ ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

นายธีระ วงษ์เจริญ สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อ พ.ศ. 2558 สภาเกษตรกรแห่งชาติได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ….. ถึงรัฐบาล โดยรัฐบาลได้มอบให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณาและเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน ซึ่งสภาพัฒน์ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและมีการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวโดยเปลี่ยนชื่อเป็น ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ…..

และเตรียมนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อครม.ลงมติเห็นชอบจึงนำสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดหวังว่าจะเสร็จสิ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ ปัจจุบันการเป็นอยู่ของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและถูกโดดเดี่ยวถ้าระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเข้ามา รัฐต้องเข้าไปคุ้มครองดูแลในเรื่องของการจัดระบบ ทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรกรรมรูปแบบอื่น ทั้งนี้ ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีเกษตรกรรมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

และดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับเกษตรกรและสังคมไทย การพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการทำงานในเชิงระบบเป็นองค์รวมและต่อเนื่อง ตลอดจนต้องกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนามาจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง และเพื่อให้เกิดระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในทุกระดับ และทุกภาคส่วนที่เอื้อต่อการพัฒนาและ

ส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและแปลงนโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และนิเวศน์ของแต่ละชุมชนจึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ อย่างไร ก็ตาม จากการรับฟังความคิดเห็นประเด็นหลักใหญ่อยู่ที่เรื่องของการกำหนดนิยาม องค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบ รวมทั้งประเด็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันซึ่งได้ตรวจสอบแล้วว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีการวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจนเป็นไปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คณะกรรมการตามพ.ร.บ.นี้มาจากทุกภาคส่วนมี สตง.รวมทั้งหน่วยงานติดตามตรวจสอบภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยได้ชี้แจงไปเรียบร้อย

นายธีระ กล่าวอีกว่า ถ้าระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเข้ามารัฐต้องเข้าไปคุ้มครองดูแลในเรื่องของการจัดระบบ ในตัวบทกฎหมายของสภาเกษตรกรแห่งชาติจะดูเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงคล้ายสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นส่วนนโยบาย สำนักงานเกษตรกรรมยั่งยืนจะเป็นตัวปฏิบัติเป็น Action หาก 2 ส่วนนี้ทำงานควบคู่กันเกษตรกรจะได้รับประโยชน์คือมีหลักประกันความคุ้มครองในอาชีพ มีสวัสดิการ มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพราะมีการศึกษาวิจัยจะเข้ามาช่วยดูแลให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น เกษตรกรจะเข้าถึงระบบการคุ้มครอง

องค์ความรู้จับต้องได้ง่ายขึ้น จึงอยากให้พี่น้องเกษตรกรติดตามร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในฉบับนี้ แล้วร่วมกันสนับสนุนเพราะเป็นร่างของประชาชน เป็นร่างของเกษตรกรอย่างแท้จริง เราจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายที่เราได้ร่วมมือกันแล้วก็สร้างกันขึ้นมาด้วยพลังของพวกเราโดยสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นชอบแล้วนำเสนอไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปผสมผสานกับฉบับของสภาพัฒน์ จึงถือว่าเป็นร่างที่ประชาชนเสนอแล้วมีความสมบูรณ์มากที่สุดในขณะนี้ หากเกษตรกรมีข้อกังวลใดสามารถสอบถามได้ที่สภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้มั่นใจได้ว่าหลังจากนี้เป็นต้นไปถ้าเรามีพ.ร.บ.ฉบับนี้เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้และมีความมั่นคงในชีวิตได้ดีขึ้นกว่าเดิม

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาของสหกรณ์ นำร่อง 2 จังหวัด ทั้ง พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ รวมพื้นที่ 6,000 ไร่ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้ที่มั่นคงจากการปลูกพืชหลังนาแทนการปลูกข้าวอย่างเดียว

วันที่ 3 กันยายน 2561 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการ “Kick Off การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาของสหกรณ์” ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี นายเสถียรพงศ์ มากศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ และ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้การต้อนรับ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ

และต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้ที่มั่นคง โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ตลาดต้องการและให้ผลตอบแทนสูง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อย แนวโน้มตลาดมีความต้องการสูง โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตรกรจำนวน 10 ราย จากนั้นเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อชมการสาธิตการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ของสมาชิกสหกรณ์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายในการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชอื่นๆ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้คัดเลือกพื้นที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพื้นที่เป้าหมายนำร่อง จำนวน 6,000 ไร่ สมาชิก 415 คน เป็นสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 4 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโรงหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโคกหม้อ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรพิชัย จำกัด และพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศกว่า 24 ล้านคน อย่างเป็นระบบ และแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด โดยเฉพาะข้าวที่ปลูกกันเป็นจำนวนมาก โดยให้หาทางเลือกในการปลูกพืชชนิดอื่น จึงนำมาสู่การส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นำร่องในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกเพราะสภาพพื้นที่มีความเหมาะสม โดยให้ดำเนินการผ่านกลไกสหกรณ์ เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเจรจาทำสัญญากับเอกชนอย่างรอบคอบ

ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกับซีพี และเบทาโกรไว้ในการเข้ามารับซื้อข้าวโพดที่ได้มาตรฐานจากสหกรณ์ โดยความชื้นไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรจะขายได้ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท แต่หากความชื้นอยู่ที่ 14.5 ราคาอยู่ที่ 8 บาท ต่อกิโลกรัม และหากพื้นที่นำร่องนี้ประสบผลสำเร็จ จะสามารถนำไปขยายผลต่อได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการทำประกันพืชผลการเกษตรให้แก่เกษตรกร แต่อยู่ระหว่างการดำเนินการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการ สหกรณ์จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ส่งเสริมการผลิต การดูแลพื้นที่เพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิต ตลอดจนจัดหาตลาดมารองรับผลผลิตของสมาชิกเกษตรกร ในลักษณะเชื่อมโยงเครือข่าย มีการบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบริหารจัดการสินค้าข้าวโพดแบบครบวงจร โดยมีระยะเวลาดำเนินการเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นไป และหากได้ผลดีเกษตรกรมีรายได้สูงกว่าการทำนา จะมีการส่งเสริมและขยายพื้นที่การเพาะปลูกพืชหลังนาเพิ่มขึ้นในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะเริ่มดำเนินการเพาะปลูกข้าวโพดตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2561 โดยสหกรณ์ได้ทำการคัดเลือกเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ตรวจสอบคุณสมบัติและข้อมูลสภาพพื้นที่การเพาะปลูกที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงภัยจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตร การจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรสมาชิก เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การคัดเลือกพันธุ์เพาะปลูกให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และรอบการผลิต การตรวจติดตามแปลง การตรวจติดตามคุณภาพ และการบริหารจัดการตลาดโดยสหกรณ์เป็นจุดรวบรวมรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก