ชาวแก่งกระจาน เพชรบุรี ปลูกผักกูด ผลิตผลการเกษตรส่งรีสอร์ต

และตลาดสดแทบจะไม่น่าเชื่อว่าพืชที่อยู่ในตระกูลเฟินอย่าง “ผักกูด”จะสามารถนำมาปรุงอาหารรับประทานได้ด้วยการนำยอดอ่อน ช่ออ่อน มาทำแกงกับปลาเนื้ออ่อนน้ำจืด เช่นปลาช่อนหรือลวกจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ ยำผักกูด ผักกูดผัดน้ำมันหอย แกงกะทิกับปลาย่าง ลวกกะทิ และที่ดูน่าอัศจรรย์ไปกว่านั้นคือ ยังมีสรรพคุณแก้ไข้ตัวร้อน พิษอักเสบ บำรุงสายตา บำรุงโลหิต ความดันโลหิตสูง

โดยธรรมชาติของผักกูดที่มีลักษณะเหมือนเฟินคือชอบขึ้นอยู่ที่ริมน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง มีใบเป็นแผงรูปขนนกคู่ขนานกัน ขณะที่ใบยังอ่อนปลายยอดม้วนงอแบบก้นหอย ตรงส่วนยอดอ่อน คือส่วนที่นำมาใช้ประกอบอาหาร มีสปอร์ซึ่งอยู่ด้านหลังใบที่แก่จัดทำให้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว โดยการแตกกอใหม่

นอกจากนั้น ยังเป็นผักที่บ่งบอกถึงคุณภาพและความปลอดภัยของสภาวะแวดล้อม กล่าวคือ บริเวณไหนอากาศไม่ดี ดินไม่บริสุทธิ์ หรือมีสารเคมีเจือปนอยู่ ผักกูดจะไม่ยอมขึ้นหรือแตกต้นใหม่เด็ดขาด อีกทั้งยังเป็นผักที่มีสารเบต้าแคโรทีนและธาตุเหล็กในตัวสูง ดังนั้น เมื่อรับประทานแล้วจึงได้ประโยชน์มากมายดังที่กล่าวข้างต้น

ปัจจุบัน ความนิยมรับประทานผักกูดยังมีอยู่ในวงจำกัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผักชนิดนี้จะเจริญเติบโตดีและสมบูรณ์เฉพาะบริเวณที่ชื้นริมน้ำ อีกทั้งแหล่งปลูกควรเป็นดินทรายถึง 70 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงด้านการขนส่งที่จะต้องเก็บความชื้นอย่างดีเพื่อให้ผักมีสภาพสมบูรณ์สด ใหม่ เมื่อถึงมือลูกค้า ฉะนั้น น้อยคนนักที่จะรู้จักและเคยรับประทานผักชนิดนี้เหมือนเช่นผักอื่น จึงทำให้มักไม่ค่อยพบตามตลาดทั่วไป

อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะริมแม่น้ำเพชรบุรีเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ชาวบ้านหันมายึดอาชีพปลูกผักกูดจำหน่าย อาจเป็นเพราะความที่อยู่ใกล้แม่น้ำเพชรบุรีแล้วยังมีคุณสมบัติของดินที่เหมาะสม จึงทำให้สามารถปลูกผักกูดได้เป็นอย่างดี

อย่างกรณีของสามี-ภรรยาคู่นี้ คือ คุณพูนผล ศรีสุขแก้ว และคุณธนพร (ภรรยา) อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 6 ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โทรศัพท์ 081-433-8310 อดีตเคยปลูกมะนาวสร้างรายได้ จนเวลาต่อมาเส้นทางการปลูกมะนาวดูจะไม่ราบรื่น เนื่องจากมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งทั้งสองไม่อาจแบกรับภาระเหล่านั้นได้อีกต่อไป จนต้องเปลี่ยนมาเริ่มชีวิตเกษตรกรรมใหม่ด้วยการปลูกผักกูด

จุดเริ่มต้นปลูก

คุณพูนผล ผู้เป็นสามีบอกว่า ความจริงตอนแรกปลูกมะนาวเป็นรายได้ ต่อมาภายหลังมีปัญหาการปลูกหลายอย่างทั้งต้นทุน ค่าแรง และโรค จึงเลิกปลูกมะนาวแล้วไม่นานพบว่าเพื่อนบ้านมีการปลูกผักกูดกันเลยโค่นมะนาวแล้วหันมาปลูกผักกูดเป็นรายได้หลัก

“เริ่มมาทำเกษตรด้วยการปลูกมะนาว ช่วงแรกถือเป็นไม้ผลที่สร้างรายได้ดี พอต่อมาจำนวนคนปลูกมากขึ้น การแข่งขันสูง ต้นทุนค่าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตลอด ค่าแรงเพิ่ม การใช้ปุ๋ยเคมีต้องเพิ่มตามจึงมีผลทำให้ดินเสีย ที่สำคัญสุขภาพไม่ปลอดภัย แล้วพอนำไปขายมีกำไรเล็กน้อย ไม่คุ้ม ทำไม่ไหว”

คุณธนพร บอกถึงความเป็นมาที่นำมาสู่การปลูกผักกูดเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เมื่อ 7 ปีก่อนว่า เธอและครอบครัวชอบรับประทานผักกูด เวลาต้องการบริโภคจะต้องไปหาซื้อตามตลาด ต่อมาเห็นว่าถ้าปลูกเองแทนการซื้อจะประหยัดค่าใช้จ่าย จึงตั้งใจปลูกผักชนิดนี้ไว้เพื่อรับประทานในครัวเรือน

“เห็นว่าเพื่อนบ้านปลูกกันไม่ยาก เลยหามาปลูกไว้ โดยเรียนรู้วิธีการปลูกและการดูแลจากเพื่อนบ้านที่ปลูกแล้วประสบความสำเร็จมาก่อน พอนานไปผักกูดมีการแตกพันธุ์ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วทำให้กินไม่ทันเลยเก็บไปขายตามร้านอาหาร และตลาดนัด”

เธอบอกว่า สมัยก่อนมีชาวบ้านไปเก็บผักชนิดนี้ที่ขึ้นตามริมน้ำแล้วนำไปขายที่ตลาดสด ราคากำละ 5 บาท เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีชื่อพันธุ์

ภายหลังที่คุณพูนผลได้พาเดินชมแปลงปลูกผักกูดเขาเล่าว่าได้ช่วยกับภรรยาปลูกผักกูดในพื้นที่ 5 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ พร้อมกับปลูกพืชชนิดอื่น อาทิ เงาะโรงเรียน,ทุเรียน,กล้วยเล็บมือนาง และปาล์มน้ำมัน จำนวน 300 กว่าต้น ซึ่งปาล์มที่ปลูกมีสองรุ่น รุ่นแรกมีอายุปีกว่า อีกรุ่นได้ 6 เดือน เขาบอกว่าคงต้องรออีกสัก 2 ปี จึงจะมีรายได้จากปาล์ม ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าราคาดีแค่ไหน

“กล้วยเล็บมือนาง ไม่ได้มีประโยชน์แค่การบังร่มเงาให้แก่ผักกูดเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้โดยนำผลผลิตไปขาย กิโลกรัมละ 8-10 บาท ถึงแม้ราคาขายดูจะไม่มากนัก แต่ยังถือว่านำไปเป็นค่าน้ำได้

เงาะโรงเรียนปลูกไว้ ประมาณ 30 ต้น เมื่อก่อนคิดว่าจะปลูกเงาะเป็นหลัก แต่ภายหลังเปลี่ยนใจเลยโค่นไปหลายต้น ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้จากเงาะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น ส่วนการเก็บผักกูดขายมีรายได้ทุกวัน” คุณพูนผล บอก

จากการลองชิมเงาะโรงเรียนพบว่า มีเปลือกบาง และรสชาติหวานใช้ได้ แต่น่าสังเกตว่าขนาดจะไม่ใหญ่ เนื่องจากเป็นการปลูกไปตามธรรมชาติ

“เมื่อมาทำผักกูดกลับพบว่า ไม่มีความยุ่งยากเหมือนการปลูกมะนาวเลย ตั้งแต่เริ่มทำแปลงก็ไม่ต้องปรับดินมากนัก เพียงแค่ถากถางหญ้าและวัชพืชอื่นออกให้หมดก่อนแล้วจึงนำต้นมาปลูก พอปลูกจำนวนตามที่ต้องการแล้วจากนั้นได้นำกล้วยเล็บมือนางมาลงเป็นแถวแนว แต่ไม่แน่นมากเพื่อให้ใบกล้วยบังแสงให้แก่ต้นผักกูดบ้าง” เจ้าของสวนให้รายละเอียดเพิ่ม

ด้านการดูแลบำรุงรักษาคุณธนพร บอกว่า เนื่องจากมีการปลูกผักกูดจำนวนมาก จึงมีการใช้ปุ๋ยยูเรียเดือนละครั้ง ครั้งละหนึ่งกระสอบ (50 กิโลกรัม) นอกจากนั้น ยังใช้ปุ๋ยหมักจากขี้ไก่ ขี้วัว จะใส่ครั้งละ 10 กว่าตัน โดยเทใส่ในพื้นที่ทั้งหมดเพื่อให้พืชชนิดอื่นได้ประโยชน์ด้วย ใช้วิธีหว่านแล้วพ่นน้ำตาม

“เนื่องจากเป็นผักที่ต้องใช้ยอดขาย ดังนั้น ถ้าช่วงใดที่ยอดแตกช้าจะเน้นใช้ปุ๋ยยูเรียเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ยอดแตกออกมา พอเวลา 7 วัน ให้หลังยอดจะแตกออกมาทันที”

ส่วนเคมีเธอเปิดเผยว่า อาจต้องใช้บ้างกรณีที่จำเป็นเพื่อป้องกันเชื้อราหรือป้องกันแมลงและหนอน เช่น ไตรโคเดอร์ม่า ใช้กันเชื้อราขี้ไก่ตามรากและบิวเวอเรีย แต่ทั้งนี้ยาที่ใช้เป็นการทำเองตามแนวทางการแนะนำของเกษตรอำเภอ

ศัตรูพืชที่ทำให้เกิดความเสียหาย

คุณธนพร บอกว่า ตั้งแต่ปลูกผักกูดมา แมลงศัตรูพืชที่พบแล้วมักสร้างความเสียหาย เช่น เพลี้ยไฟ ซึ่งจะเจอเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ได้แก้ไขปัญหาด้วยการใช้ยาแลนเนท เป็นการผสมใช้แบบอ่อนมากในอัตราส่วน น้ำ 200 ลิตร ต่อ ยา 2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 10-20 ซีซี ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าการใช้พ่นในถั่วหรือแตง

“อย่างบิวเวอเรีย ผสมกับน้ำ ในอัตรา 4 ถุง ต่อน้ำ 200 ลิตร แล้วใช้ฉีดพ่นป้องกันเพลี้ยไฟและหนอน ส่วนไตรโคเดอร์ม่า ผสมกับน้ำ ในอัตรา 4 ถุง ต่อน้ำ 200 ลิตร แล้วใช้ฉีดพ่นป้องกันเชื้อรา เมื่อมีการฉีดยาป้องกันเพลี้ยในแถวไหนกลุ่มไหนแล้วจะยังไม่เก็บทันที จะต้องปล่อยทิ้งไว้สัก 4 วัน จึงจะเก็บ และการฉีดพ่นยาจะทำปีละ 1-2 ครั้ง เท่านั้น แต่ถ้าหากไม่เกิดการแพร่ระบาดจะไม่ฉีดยาเลย”

ระบบน้ำใช้สปริงเกลอร์ โดยวางระยะห่างกว้าง 4 ยาว 4 เมตร ปล่อยน้ำวันเว้นวัน ครั้งละ 1 ชั่วโมง เปิดครั้งหนึ่ง จำนวน 30 หัว แต่ละแปลงจะเปิดน้ำทิ้งไว้สัก 1 ชั่วโมง แล้วย้ายไปทีละแปลงวนไปจนครบ

การเก็บผลผลิตเพื่อจำหน่าย

คุณธนพร ให้รายละเอียดการทำงานว่า โดยปกติเธอและสามีจะทำงานเป็นหลักเพียงสองคนเท่านั้น ปกติถ้าใช้เวลาเก็บ 1 ชั่วโมง ได้ผักกูด 10 กิโลกรัม วันใดต้องเก็บถึง 70 กิโลกรัม จะเริ่มตั้งแต่เช้า แต่ถ้าเก็บสัก 30 กิโลกรัม จะเริ่มเก็บในช่วงบ่ายไปจนถึงสักสี่โมงเย็น หรือหากลูกค้าต้องการทันที ก็สามารถเก็บให้ได้ แต่ควรมีสปริงเกลอร์ฉีดพ่นให้น้ำตลอด

“หลังจากเก็บจากต้นแล้ว ให้มัดเป็นกอแล้วนำไปแช่น้ำทันที แช่สักครู่ ประมาณ 5 นาที ห้ามแช่นานเกินไป เพราะผักจะสุกมีสีแดง จากนั้นให้เก็บขึ้นมาวางเรียงกัน ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดคลุมผักกูดที่วางเรียงกันไว้รอลูกค้ามารับ แต่ถ้าวางไว้โดยไม่คลุมผ้าผักจะเหี่ยวแล้วขายไม่ได้”

เธออธิบายต่อว่า แต่ละต้นที่เก็บยอดอ่อนที่ใช้งานออกไปแล้ว ยอดที่อยู่ติดกันซึ่งมีลักษณะโค้งงอจะเป็นยอดที่จะสามารถเก็บได้ในครั้งต่อไปอีกราว 3-4 วัน ดังนั้น ผักกูด แต่ละยอดในแต่ละต้นจะเก็บเว้นระยะเวลา 3-4 วัน แต่ไม่ควรเลยวันวันที่ 5 เพราะจะบาน

“แต่ละต้นจะมีใบ จำนวน 5 ใบ ถ้าพบใบแก่หลายใบ เช่น มีจำนวนถึง 10 ใบ ควรตัดหรือหักทิ้งเสีย โดยไม่ต้องขนไปทิ้งที่อื่น แต่ให้ทิ้งไว้ที่บริเวณนั้นเพื่อใช้คลุมความชื้นและเป็นปุ๋ย การตัดใบแก่ออกเพื่อปล่อยให้ยอดอ่อนที่กำลังโตเจริญได้อย่างรวดเร็ว มีบางคนไม่ยอมหักใบแก่ทิ้ง จึงทำให้ยอดแตกช้าและมีขนาดเล็ก”

คุณธนพร บอกต่ออีกว่า ผักกูดขยายพันธุ์ด้วยการดึงต้นอ่อนที่เธอเรียกว่าลูกที่แทงขึ้นมาจากพื้นข้างต้นแม่ออกด้วยความระมัดระวัง แล้วสามารถนำต้นอ่อนไปปลูกได้เลย ผักกูดเป็นพืชที่ตายยาก ที่สำคัญขอให้มีน้ำแล้วอย่าไปโดนแดดจัด

นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมด้วยว่าควรมีการดูแลเอาใจใส่บริเวณที่ปลูกต้องคอยหมั่นเดินดูแล้วดึงเศษวัชพืชทิ้ง แต่ห้ามใช้มีดฟันเพราะอาจไปโดนต้นอ่อนที่กำลังแตกออกมา ทั้งนี้ ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งสามารถเก็บยอดไปขายได้กินเวลาประมาณไม่เกิน 6 เดือน

เธอบอกว่า ผักชนิดนี้สามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ แต่สิ่งสำคัญควรให้น้ำอย่างเต็มที่และควรหาร่มเงาด้วย ส่วนความสมบูรณ์ของดินที่มีความเหมาะนั้นควรเป็นบริเวณพื้นที่เป็นดินทรายสัก 70 เปอร์เซ็นต์ และช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่มีผักกูดมากเมื่อผักกูดถูกฝนจะแตกยอดอ่อนกันอย่างคับคั่ง เพราะเป็นช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูงมากซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผักชนิดนี้

เก็บแล้วนำไปขายใคร ที่ไหนบ้าง

เจ้าของสวนผักกูดอธิบายถึงวิธีการเก็บการเก็บผักกูดไปขายว่า เพียงแค่เด็ดยอดที่มีความยาวจากปลายถึงตำแหน่งที่จะตัด ประมาณ 30-40 เซนติเมตร จะเก็บทุกวัน และภายในอาทิตย์หนึ่งต้องมีผักกูดส่งให้ลูกค้า ประมาณ 250 กิโลกรัม เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละประมาณ 30 กิโลกรัม

“ราคาจำหน่ายจากสวนไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง อย่างปีหนึ่งๆ ราคาจะทรงเท่าเดิม ประมาณ 40-50 บาท ต่อกิโลกรัม แต่อาจมีการปรับขึ้นบ้างในช่วงอากาศหนาว เพราะผักจะแตกยอดช้ามาก ส่วนราคาจำหน่ายของแม่ค้า ประมาณ 80-100 บาท ต่อกิโลกรัม”

สำหรับตลาดจำหน่ายผักกูดของคุณธนพรมีด้วยกันจำนวน 3 แหล่ง คือ ร้านอาหารในรีสอร์ต แม่ค้าในตลาดสด และแม่ค้าจากกรุงเทพฯ ซึ่งรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 250 กิโลกรัม หรือเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 ตัน และจะมีรายได้ถึงเดือนละ 4 หมื่นบาท

“อย่างเมื่อก่อน ยังมีผลผลิตน้อยไม่กล้ารับมากก็แค่ส่งละแวกแถวแก่งกระจานเท่านั้น แต่ภายหลังที่ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกแล้วสามารถเพิ่มจำนวนต้นขึ้นมาอีก จึงเริ่มรับยอดสั่งจากแม่ค้าด้านนอก ถ้าคราวใดที่แม่ค้าต้องการจำนวนมากและเกินขีดกำลังการผลิตที่ทำได้ อาจต้องร่วมกับชาวบ้านที่ปลูกรายอื่นด้วย”

ปัจจุบัน คุณธนพรไม่ได้เป็นเพียงผู้ปลูกผักกูดรายหนึ่งในอีกกว่าสิบรายในพื้นที่แก่งกระจานเท่านั้น เธอยังทำหน้าที่เป็นหมอดินอาสา แล้วยังเป็นเกษตรกรที่ขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ปี 2554 ซึ่งเป็นการรับรองโดยสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน

เจ้าของสวนผักกูดเปิดเผยอาหารที่ร้านในรีสอร์ตที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีนำไปใช้ผักกูดปรุงเป็นเมนูยอดฮิตของลูกค้าทำ ให้ติดใจสั่งกันเป็นประจำ เช่น แกงส้ม ผัดน้ำมันหอย ยำผักกูด หรือแม้แต่รับประทานดิบคู่กับน้ำพริกชนิดต่างๆ

“อย่างผักกูด 1 กิโลกรัม สามารถนำไปทำอาหารขายได้หลายประเภท เช่น ผัดน้ำมันหอย ราคาจานละ 100 บาท ยำผักกูด จานละ 150 บาท หรืออย่างแกงส้มผักกูด หม้อละ 150 บาท”

เป็นอย่างไร…แค่เมนูตัวอย่าง ก็ทำให้น้ำลายไหลแล้ว อยากจะบอกว่าเมนูเด็ดอย่างนี้ถ้าจะเอาสเต๊กมาแลกคงไม่ยอมแน่

ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า เจ้าผักชนิดนี้ให้ประโยชน์ทั้งคนปลูกและคนกิน แต่ดูเหมือนแผงผักตามตลาดจะหาผักกูดเจอได้น้อยมาก ดังนั้นหากใครสนใจต้องการปลูกเพื่อให้แพร่ขยายทั่วไป ลองโทรศัพท์ไปพูดคุยกับ คุณธนพร ได้ที่ 081-433-8310 เธอบอกว่ายินดีให้คำแนะนำการปลูกสำหรับผู้ที่สนใจจริง

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ตำบลบ้างปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2521 อยู่ท่ามกลางหุบเขา ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเขตพื้นที่อำเภอหางดง เมื่อก่อนพื้นที่ศูนย์ฯ ถือเป็นแหล่งทดลองไม้เมืองหนาวที่สำคัญ โดยเฉพาะกุหลาบที่มีกลิ่นหอม แต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนงานส่งเสริม โดยเน้นการปลูกพืชผักอินทรีย์ และไม้ผล ที่สำคัญ คือ อะโวคาโด ที่สามารถรับประทานสดมีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวประมาณ 8-20 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดปริมาณคลอเรสเอตรอลที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิตามินสูง นอกจากให้คุณค่าทางอาหารแล้ว ยังให้เป็นวัตถุดิบเพื่อการสกัดน้ำมันในอุตสาหกรรม

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำอะโวคาโดมาทดลองปลูกที่พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2526 ปรากฏว่าผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี จึงนำมาเป็นแนวทางที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้ผล เนื่องจากว่าความเหมาะสมของภูมิอากาศที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตรขึ้นไป

สำหรับพันธุ์อะโวคาโดที่นำมาปลูก มี 7 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson) เป็นเผ่าเวสอินเดียน ลักษณะเป็นผลค่อนข้างกลม มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง น้ำหนัก 200-300 กรัม เนื้อผลสีเหลืองอมเขียน รสดี เมล็ดใหญ่อยู่ในช่องเมล็ดแน่น เป็นพันธุ์เบาเก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

พันธุ์บัคคาเนีย (Buccaneer) เป็นลูกผสมระหว่างเผ่ากัวเตมาลันและเวสอินเดียน ลักษณะค่อนข้างกลมรี ขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 300-500 กรัม ผิวผลขรุขระ สีเขียน เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสดี เมล็ดขนาดกลาง มีไขมัน 7-14 เปอร์เซ็นต์ เก็บเกี่ยวผลได้เร็วปานกลาง ประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม

พันธุ์บูท 7 (Booth-7) เป็นลูกผสมระหว่างเผ่ากัวเตมาลัมและเวสอินเดียน ผลลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดกลาง น้ำหนัก 300-500 กรัม ผิวผลขรุขระเล็กน้อย สีเขียน เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสดี เมล็ดขนาดกลาง มีไขมัน 7-14 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเก็บเกี่ยวผลประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม

พันธุ์บูท 8 ( Booth-8) ลักษณะผลรูปไข่ ขนาดเล็กถึงกลาง น้ำหนักประมาณ 270-400 กรัม ผิวผลขรุขระเล็กน้อย สีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีครีมอ่อน รสชาติพอใช้ มีไขมัน 6-12 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมีขนาดกลางถึงใหญ่ อยู่ในช่องเมล็ดแน่น ฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม

พันธุ์ฮอลล์ (Hall) เป็นลูกผสมระหว่างเผ่ากัวเตมาลันและเวสอินเดียน ลักษณะผลคล้ายหลอดไฟ น้ำหนัก 400-500 กรัม ผลผิวค่อนข้างเรียบสีเขียวเข้ม เปือกหนาพอใช้ เนื้อสีเหลืองเข้มเมล็ดขนาดกลางถึงใหญ่ ฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม

และพันธุ์แฮสส์ (Hass) เป็นพันธุ์เผ่ากัวเตมาลัน ลักษณะผลรูปไข่ ผิวผลขรุขระมาก ผิวสีเขียวเข้ม เมื่อสุกอาจเป็นสีเขียวเข้มหรือม่วงเข้ม ผลมีขนาดเล็ก น้ำหนัก 200-300 กรัม เนื้อผลสีเหลืองมีไขมันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนพันธุ์แฮสส์ มีปัญหาเรื่องความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตไม่ค่อยดี ส่งเสริมเพียงบางส่วน”

คุณอาย เตจ๊ะ เกษตรกรบ้านแม่ขนิลเหนือ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อก่อนปลูกข้าวไร่ ปลูกกล้วย ทำสวนลิ้นจี่ มาโดยตลอดรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไม่ค่อยดี และไม่มีตลาดที่แน่นอน พร้อมทั้งต้องใช้หนี้ค่าปุ๋ย สารฆ่าแมลง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ประกอบกับสุขภาพก็ไม่ค่อยดี จึงมีแนวคิดจะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน พอมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของโครงการหลวงเข้ามาแนะนำและส่งเสริมให้ปลูกอะโวคาโดอินทรีย์ จึงสนใจหันมาปลูกอะโวคาโด พร้อมทั้งปลูกพืชผักแบบผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

“ช่วงที่เริ่มปลูกอะโวคาโดจะปลูกต้นอะโวคาโดที่มีต้านทานต่อโรคไว้ประมาณ 6 เดือน แล้วนำยอดพันธุ์ที่ทางโครงการหลวงส่งเสริมมาเสียบยอด หลังจากการเสียบยอดแล้วประมาณ 3 ปี ต้นอะโวคาโดจะให้ผลผลิตเพื่อจำหน่ายได้ ส่วนพืชผักที่ปลูก มียอดซาโยเต ถั่วฝักยาว มะเขือพวง ชะอม มะนาว สมุนไพรไทย เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริก ใช้สารชีวภาพที่ผลิตเองในการดูแลพืชผัก นอกจากนี้ยังได้เลี้ยงไก่ประดูหางดำ และเลี้ยงปลาในบ่อ ถือได้ว่าเป็นผลไม้ พืชผักอินทรีย์ และสัตว์เลี้ยงอินทรีย์ โดยได้รับรองจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และ AVA ประเทศสิงคโปร์ ส่วนผลผลิตอะโวคาโด จะส่งให้กับร้านโครงการหลวง พืชผักอินทรีย์ และสัตว์เลี้ยง ปลูกไว้บริโภคเอง ที่เหลือจำหน่ายให้กับตลาดภายในหมู่บ้าน”

สำหรับทางโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยมี 2 วิธี วิธีแรกมีการปลูกต้นตอต้นอะโวคาโดที่มีความทนทานต่อโรคไว้ประมาณ 6 เดือนแล้วนำกิ่งพันธุ์มาเสียบ และอีกวิธี นำต้นกล้าพันธุ์ที่ต้องการปลูกมาลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ที่มีความกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร และสูง 80 เซนติเมตร แต่ละต้นห่างกันประมาณ 8 เมตร ผสมปุ๋ยคอกคลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมาแล้วใส่ลงไปในหลุม ให้รอยต่อกิ่งหรือรอยแผลติดตาอยู่เหนือระดับดิน กลบดินรอยๆ โคนต้นให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม แล้วคลุมผิวหน้าดินด้วยวัตถุคลุมดินที่เตรียมไว้เพื่อรักษาความชื้น ปักไม้หลักผูกเชือกยึดติดไว้ป้องกันลมโยก รดน้ำให้สม่ำเสมอจนกว่าต้นจะตั้งตัวได้

การให้น้ำแต่ละครั้งประมาณ 20-30 ลิตรต่อต้น ทุก 3-4 วันในช่วงระยะเวลา 1 เดือนแรก สำหรับในช่วงฤดูฝนของปีแรกหลังจากฤดูฝนแล้วจะให้น้ำต้นอะโวคาโดทุกสัปดาห์ๆละ 40-60 ลิตรต่อต้น จนกว่าต้นอะโวคาโดจะมีอายุ 1 ปีหลังจากปลูก ในช่วงที่ต้นอะโวคาโดออกดอกจะงดให้น้ำ พออะโวคาโดเกิดตาดอกที่ยอด และช่อดอกเริ่มออกให้น้ำใหม่ โดยช่วงดอกออกประมาณเดือนธันวาคม หลังจากนั้นประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เริ่มติดผลเล็ก ช่วงระยะเวลาตั้งแต่การติดดอกจนถึงฤดูเก็บเกี่ยวประมาณ 7 -10 เดือน

การเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีการตรวจสอบก่อนว่าผลแก่พอเก็บได้ โดยใช้วิธีการเก็บผลอะโวคาโด ระดับที่ต่างกันบนต้นมาผ่าดูเยื่อหุ้มเมล็ด หากเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีน้ำตาลทั้งหมดสามารถเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้ยังต้องสังเกตลักษณะภายนอกของผลโดยการเปลี่ยนแปลงของสีผล การเก็บเกี่ยวผลอะโวคาโดจะไม่ให้ขั้วผลหลุดเพราะจะทำให้ผลเสียหายได้ง่ายขณะบ่มให้สุก

ส่วนผลผลิตอะโวคาโดในแต่ละปีจะเก็บเกี่ยวได้จากเกษตรกร ซึ่งขนาดของผลผลิตที่รับซื้อ พันธุ์ปีเตอร์สัน น้ำหนัก 200 กรัม พันธุ์บัคคาเนีย น้ำหนัก 250 กรัม พันธุ์บูท 7 บูท 8 และพันธุ์ฮอลล์ น้ำหนัก 250 กรัม ต้นอะโวคาโด 1 ต้นให้ผลผลิต 70-100 กิโลกรัม ราคารับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท

สำหรับผู้สนใจซื้ออะโวคาโดได้ที่ร้านค้าโครงการหลวง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัด(11 ม.ค.62) กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ เมื่อพรรคภูมิใจไทยปล่อยคลิป ตั้งคำถามแทงใจ เพราะอะไร “ทำไมชาวนาต้องซื้อข้าวกิน?” ข้าวไทยทั้งระบบกำไรมหาศาล แต่ทำไมชาวนาได้ส่วนแบ่งน้อยที่สุด

โดยพรรคภูมิใจไทยได้ปล่อยคลิป VDO ลงในเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ ในเพจทางการของพรรคและช่องทางเครือข่ายต่างๆ โดยเนื้อหาภายในคลิป VDO เป็นการตั้งคำถามถึงสถานะของชาวนา เกษตรกรหลักของประเทศไทยที่ส่วนใหญ่ยังคงยากจน ได้รับส่วนแบ่งหรือผลตอบแทนน้อยนิด

ขณะที่คนกลาง โรงสี ผู้ส่งออก ผู้ขายข้าวต่างได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนชะตากรรมของชาวนาที่ กระทั่งจะซื้อข้าวไว้กินเองก็ยังเป็นเรื่องยากลำบาก

ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยกำลังเตรียมนำเสนอทางออกด้วยระบบ แบ่งปันกำไรหรือ Profit Sharing ซึ่งจะช่วยให้ชาวนาเข้มแข็ง และได้รับส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรมมากขึ้น

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยได้โพสต์ข้อความแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับ คลิป VDO ดังกล่าวว่า “สมาชิกรุ่นใหม่ คนหนุ่มคนสาวของพรรคภูมิใจไทย เอาแนวคิดกำไรแบ่งปัน หรือ Profit Sharing ที่ผมพูดให้ฟัง เป็นแนวทางการช่วยเหลือชาวนา ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ไปทำคลิป มาให้ผม ดู…
ดูแล้วพูดไม่ออกครับคลิปสั้นๆ แค่ 2-3 นาที สื่อสารได้ดี มีความเจ็บปวดซ่อนอยู่ในใบหน้า แววตาของพ่อ ที่พยายามซ่อนไม่ให้ลูก ที่ไร้เดียงสา รู้เรื่องราวความไม่เป็นธรรม ก่อนวันเวลาอันสมควร
ลองดูกันนะครับ แล้ว จะมาอธิบายให้ฟัง ว่า ระบบกำไรแบ่งปัน ที่พรรคภูมิใจไทย นำเสนอ ให้เป็นแนวทางเพิ่มรายได้ให้ชาวนา เป็นอย่างไร”

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกและขายมะพร้าวมากเป็นอันดับต้นของประเทศ แม้จะเป็นรองจังหวัดในภาคใต้ตอนล่างอยู่บ้างก็ตาม แต่ผลิตผลที่ได้จาก “มะพร้าว” ก็มีหลากหลาย และได้รับการยอมรับในคุณภาพไม่น้อย

เกือบทุกส่วนของต้นมะพร้าวที่ไม่ได้ขายผลสด จะถูกแปรรูปขาย สร้างรายได้เช่นกัน

ทางมะพร้าวแก่ ที่หลุดร่วงจากต้น เกษตรกรส่วนใหญ่นำไปสุมโคนต้นไม้บางชนิด เพื่อประโยชน์ในทางการเกษตร แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่ปล่อยทิ้งไว้ หรือ กำจัดทิ้ง โดยการเผา สร้างมลภาวะทางอากาศ และทำให้หน้าดินสูญเสียแร่ธาตุ

ในบางมุมมองชาวบ้านหรือเกษตรกร อาจไม่ได้มองเช่นนั้น เมื่อเห็นว่าทางมะพร้าวแก่ที่หลุดร่วงจากต้น ไม่มีประโยชน์ หากนำไปกำจัดได้ ก็น่าจะเป็นผลดี

คุณฐนโรจน์ เดิมที่เป็นชาวนนทบุรี แต่ปักหลักมีครอบครัวอยู่ที่ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยความสนใจในการทำเกษตรกรรม จึงศึกษาและปลูกไม้ผล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไว้จำนวนหนึ่ง

แม้คุณฐนโรจน์ จะไม่ได้ปลูกมะพร้าวเหมือนเช่นเกษตรกรรายอื่นทำ แต่คุณฐนโรจน์ก็เห็นคุณค่าของทางมะพร้าวแก่ที่หลุดร่วงจากต้นมะพร้าว โดยไม่คิดทำลายทิ้งด้วยการเผา แต่มองเห็นเม็ดเงินในทางมะพร้าวเหล่านั้น

จากเริ่มแรกเห็นว่า ทางมะพร้าว มีประโยชน์ โดยเฉพาะการนำมาเหลาใบมะพร้าวออก เหลือแต่ก้านมะพร้าว แล้วนำมาทำเป็นไม้กวาด จึงขอให้ชาวบ้านเก็บทางมะพร้าวแก่ที่หลุดจากต้น มาเหลาใบทิ้ง ส่วนก้านขอซื้อ นำไปถวายวัด ให้วัดได้มีไม้กวาดใช้

“ตอนแรกคิดแค่อยากนำไปทำบุญเท่านั้น ถวายทางมะพร้าวไป ที่เหลือก็ขึ้นกับทางวัดจะนำไปทำเป็นไม้กวาดชนิดไหน เพราะก้านสำหรับทำไม้กวาดก็เป็นไม้ในท้องถิ่นที่หาได้ง่าย ผู้ใช้จะได้ถนัดมือด้วย”