ช่วงที่มีการส่งเสริมเราก็เข้าไปศึกษากับสำนักงานเกษตรอำเภอ

เพื่อเรียนรู้และศึกษาถึงวิธีการต่างๆ นำมาปรับใช้กับพื้นที่ โดยช่วงแรกการปลูกยางพารา เราใช้ระยะห่างระหว่างต้นและแถวอยู่ที่ 3×6 เมตร ระยะนี้จะได้จำนวนต้นที่มากแต่ต้นยางพาราจะเล็ก และบางส่วนก็ใช้ระยะห่างอยู่ที่ 3×7 เมตร ได้จำนวนต้นปลูกน้อยแต่ต้นยางพาราได้ขนาดที่ใหญ่ ช่วงแรกดูแลใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง พรวนดินไปรอจนกว่าไม้จะใหญ่เริ่มกรีดได้ขายได้” คุณทองใบ บอก

ต้นยางพาราที่พร้อมสำหรับให้กรีดน้ำยางได้นั้น ต้องมีอายุอย่างต่ำ 6-7 ปีขึ้นไป คุณทองใบ บอกว่า ในช่วงนั้นก็สามารถทำการตลาดได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีการใช้ปุ๋ยเคมีอยู่เสมอ ยังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการประหยัดต้นทุน ต่อมาเมื่อราคายางราคามีแนวโน้มตกต่ำ ทำให้มองเห็นถึงความสำคัญของการประหยัดต้นทุนการผลิตมากขึ้น จึงนำปุ๋ยชีวภาพเข้ามาปรับเปลี่ยนใช้ภายในสวน แบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้หยุดใช้เคมีในทันที

เมื่อวิธีการใช้ปุ๋ยชีวภาพสามารถลดต้นทุนการผลิตค่อนข้างแน่นอนอยู่ตัวแล้ว คุณทองใบจึงนำปุ๋ยชีวภาพเข้ามาใช้กับสวนยางพาราอยู่ตลอด ซึ่งน้ำยางที่ได้ก็ไม่ได้ลดน้อยและคุณภาพก็ไม่ต่างไปจากเดิม และที่เห็นได้ชัดคือจากพื้นที่ทำสวนยางพารา 40 ไร่ จากเดิมที่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมีอยู่ที่ 70,000 บาท ต่อปี พอทำสวนแบบประหยัดต้นทุน ทำให้การซื้อปุ๋ยเคมีลดลงตามไปด้วยเหลือเพียง 40,000 บาท ต่อปี

“การกรีดยางขายที่สวนของผม จะใช้วิธีแบบขายเป็นยางก้อนถ้วยเป็นส่วนใหญ่ เพราะที่สวนใกล้แหล่งรับซื้อ และทำให้เราสามารถมีเวลาว่างไปทำงานอื่นได้ด้วย โดยการกรีดยางก้อนถ้วย สวนของผมจะกรีดแบบวันเว้นวัน จะได้ยางก้อนถ้วยอยู่ที่ 5 มีด เก็บขายทุก 10 วัน ได้ยางก้อนถ้วยอยู่ที่ 1 กิโลกรัมกว่าๆ ต่อต้น ขายได้กิโลกรัมละ 15-17 บาท ใน 1 เดือนขาย 3 ครั้ง จะมีรายได้อยู่ที่ 45-50 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 20 บาท ต่อต้น ก็ยังพอมีผลกำไรให้เห็นแม้ช่วงนี้ราคายางพาราจะลดลงมากกว่าสมัยก่อนก็ตาม” คุณทองใบ บอก

นอกจากนี้ ภายในพื้นที่สวนยางพารา คุณทองใบยังมีการนำไก่พื้นเมืองและทำบ่อเลี้ยงปลาอยู่ภายในสวนยางพารา จึงทำให้มีรายได้เสริมจากการทำเกษตรอย่างอื่น ทำให้เกิดรายได้มากขึ้นมีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายภายในครัวเรือน

คุณทองใบ ให้ข้อมูลเสริมทิ้งท้ายว่า จากการที่เขาได้นำปุ๋ยชีวภาพเข้ามาใช้ในต้นยางพาราเพื่อลดต้นทุนการผลิต ถือว่าประสบผลสำเร็จและเห็นผลได้ชัดเจน เขาจะทำการปรับเปลี่ยนนำปุ๋ยชีวภาพมาใช้ให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ และเปลี่ยนจากเดิมที่เคยใส่ปุ๋ยเคมีปีละ 2 ครั้ง มาเหลือใส่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และจะค่อยๆ ปรับใช้เพียงปุ๋ยชีวภาพเพียงอย่างเดียว หยุดการใช้ปุ๋ยเคมี ก็จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตยางพาราลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีผลกำไรจากการจำหน่ายยางพาราทำเป็นอาชีพได้ที่ยั่งยืนต่อไป

สามารถสอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำสวนยางพาราแบบลดต้นทุนได้ที่ คุณทองใบ ทองนาค หมายเลขโทรศัพท์ ขอขอบพระคุณ คุณพัฒนะ มีพรหม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ (หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ) สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ ที่พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร

เมื่อเมฆฝนได้ผ่านพ้นไปเหมันตฤดูก็กำลังคืบคลานเข้ามา…ฉบับก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้เล่าถึงต้นสาละอินเดียที่พวกเราเคยหลงเข้าใจผิดว่า (ตอนนี้ก็ยังมี)…ต้นสาละอินเดีย กับต้นลูกปืนใหญ่คือต้นเดียวกัน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคนละชนิดกันเลย สาละอินเดีย เป็นไม้วงศ์ยาง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea robusta C.F. Gaertn. ส่วนต้นลูกปืนใหญ่นั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Couroupita guianensis

สาเหตุหลักๆ ที่จุดประกายให้ผู้เขียนอยากจะนำต้นสาละอินเดียมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ก็เพราะสาละอินเดียไม่ได้มีให้เราเจอะเจอมากนัก และต้นแม่ใหญ่ๆ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ต้นก็ไม่สามารถออกดอกออกผลได้ทุกปี หรือทุกฤดูกาล ต้องเว้นไปอีก 2-3 ปี จึงจะผลิตเมล็ดชุดใหม่ออกมา

อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะสาละอินเดียเป็นต้นไม้สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ผู้เขียนจึงอยากเพิ่มจำนวนต้นให้มีมากๆ เพื่อจะได้ช่วยกันปลูกให้ทั่วแผ่นดิน ให้คนไทยได้เห็น ได้รู้จัก ต้นสาละอินเดียมากยิ่งๆ ขึ้น และนับเป็นความโชคดีที่ผู้เขียนทำงานวิจัยด้านเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออยู่แล้ว จึงมี-อุปกรณ์เครื่องมือพร้อมที่จะทดลองทำ (ของหลวง..ฮาา…)

เมื่อกล่าวมาถึงคำว่า เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หลายท่านคงยังนึกภาพไม่ออก อาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่า…เนื้อเยื่อนำมาเพาะได้ด้วยหรือ นึกว่าเพาะได้แต่เมล็ด แล้วการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคืออะไร..ทำอย่างไร??

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือจะเรียกให้หรูหน่อยว่า tissue culture หรือ micropropagation ซึ่งไม่ว่าคำไหนก็หมายถึงการขยายพันธุ์พืช โดยใช้ชิ้นส่วนเล็กๆ จำพวกเนื้อเยื่อเจริญ เช่น ตายอด ตาข้าง มาเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ ในอาหารสังเคราะห์สูตรพิเศษที่มีสารอาหารที่พืชต้องการ สภาพที่เลี้ยงต้องควบคุมอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส แสง 3,000 ลักซ์ เวลาให้แสง 8-10 ชั่วโมง ต่อวัน ซึ่งจะทำให้ได้ต้นจำนวนมาก ที่มีหน้าตาหรือพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ เทคนิคนี้เหมาะกับการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณต้นที่หายาก หรือมีเมล็ดพันธุ์น้อย

ในสภาพที่ให้สารอาหารครบ อยู่ในที่สะอาด ไม่มีขี้ฝุ่น เปิดแอร์ให้นอน แถมให้น้ำตาลเป็นรางวัลอีก จะได้ไม่ต้องสังเคราะห์แสงเองเพื่อได้น้ำตาลในขั้นตอนสุดท้าย (แต่ยังต้องใช้แสงเพื่อการเจริญเติบโต และขบวนการอื่นๆ ของพืช) ไม่ต่างอะไรกับคุณหนูไฮโซ เค้าว่ากันว่าในสภาพนี้นี่แหละเนื้อเยื่อเจริญเติบโตได้ดีนัก เพิ่มจำนวนได้อย่างมากมาย หากต้องการให้เนื้อเยื่อเจริญไปเป็นตายอดหรือให้ออกราก ก็สามารถทำได้โดยให้สารควบคุมการเจริญเติบโต หรือที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” ถ้าต้องการให้ได้ยอดเยอะก็ให้ฮอร์โมนในกลุ่ม Cytokinin เช่น BA, Kinetin, TDZ ฯลฯ ถ้าต้องการให้ออกรากก็ให้ฮอร์โมนในกลุ่ม Auxin เช่น NAA, IAA, IBA เป็นต้น

งานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสาละอินเดียที่ผู้เขียนได้ทดลองทำครั้งแรกนั้น เริ่มต้นจากคุณหมอท่านหนึ่งได้นำกิ่งมาให้ผู้เขียน แล้วบอกให้เพิ่มจำนวนให้หน่อย กิ่งสาละอินเดียที่คุณหมอนำมานี้ได้มาจากวัดเบญจมบพิตร กทม. ซึ่งเป็นต้นที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2516 แต่ด้วยความที่เป็นกิ่งแก่ มีฝุ่น และจุลินทรีย์ติดมากับผิว ซอกใบ ตายอด และตาข้าง งานที่ทำในครั้งนั้นจึงล้มเหลว

ในการเลือกเนื้อเยื่อมาเพาะเลี้ยงควรเลือกกิ่งอ่อนที่เพิ่งแตกยอด หรือกิ่งที่ไม่แก่เกินไป เพราะเป็นเนื้อเยื่อที่ใหม่ และสะอาด จึงได้ขอกิ่งสาละอินเดียมาทดลองใหม่อีกครั้ง แต่ก็ล้มเหลวอีกเช่นเคย ผู้เขียนจึงศึกษาอย่างจริงจังจากงานวิจัยอื่นๆ แต่ก็ยังไม่พบงานวิจัยใดๆ ของคนไทยเลย หรือเพราะต้นสาละอินเดียมีถิ่นกำเนิดที่อินเดีย คนไทยจึงยังไม่รู้จัก และเห็นความสำคัญเท่าใดนัก

มีงานวิจัยของชาวอินเดียกลุ่มหนึ่ง คือ M. Singh, S. Sonkusale, Ch. Niratker, P. Shukla. ได้ตีพิมพ์ใน JOURNAL OF FOREST SCIENCE, 60, 2014 (2): 70–74 ว่าสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นสาละอินเดียได้ จึงทำให้ผู้เขียนเกิดแรงมุมานะที่จะทดลองทำใหม่อีกครั้ง ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งมีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เลยนึกเข้าข้างตัวเองว่าการทำงานกับต้นไม้สำคัญน่าจะต้องมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือบุญบารมีจากใครสักคนมาปกปักษ์ จึงส่งใจอธิษฐานขอให้งานที่ทำสำเร็จบ้างสักน้อยก็ยังดี

ต้นกล้าที่ผู้เขียนนำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในครั้งนั้น ได้มาตั้งแต่สมัยไปประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พฤษภาคม 2559) เป็นต้นที่เพาะจากเมล็ดของต้นแม่ที่สถานีวิจัยวนวัฒน์งาว จังหวัดลำปาง อายุตอนนี้ก็น่าจะหลายสิบปีแล้ว ตอนนั้นได้มาประมาณ 10 ต้น แต่ก็แจกจ่ายให้กับเพื่อนฝูงไปปลูกตามวัดหมดแล้ว เหลือไว้เป็นต้นพันธุ์สำหรับทำงานแค่ 2 ต้น ต้นที่เป็นพระเอกของเรื่องนี้เพิ่งได้ฤกษ์ปลูกลงดินเมื่อ 23 ตุลาคม 2561 นี่เอง ที่บ้านโนนตูม อำเภอชุมพวง จังหวัดนคราชสีมา ซึ่งที่นั่นผู้เขียนตั้งใจจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเกษตรอินทรีย์ และจะให้ชื่อว่า “ลานสะแบงฟาร์ม…ตามรอยเท้าพ่อ”

ต้นสาละอินเดียต้นนี้เป็นต้นหลักเลยทีเดียว พอผลิยอดออกมาใหม่ๆ ผู้เขียนก็ตัดไปทดลองทำ ได้เรียนรู้ ได้ศึกษางานมากพอสมควร ที่สำคัญต้นสาละอินเดียต้นนี้เป็นต้นที่ทำให้ผู้เขียนประสบความสำเร็จ ต้องขอบคุณน้องป่าไม้รูปหล่อคนนั้นที่ได้มอบกล้าไม้ชุดนี้ให้กับมือ

หลังจากนั้นไม่นานสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจก็ได้บังเกิดขึ้น ผู้เขียนสามารถนำชิ้นส่วนตายอดของต้นสาละอินเดียให้เข้ามาอยู่ในหลอดทดลองได้สำเร็จ และสามารถชักนำให้เนื้อเยื่อเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง และกำลังจะเจริญเติบโตพร้อมที่จะให้เราขยายเพิ่มปริมาณ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะจำนวนตัวอย่างที่ได้จากการทดลองครั้งนั้นมีน้อยมาก เมื่อผ่านฤดูฝนอากาศชื้น ห้องปฏิบัติการเกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ (contaminate) ผู้เขียนจึงสูญเสียเนื้อเยื่อทั้ง 4 หลอด นั้นไปอย่างไม่น่าให้อภัยตัวเอง แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ภาคภูมิใจว่า…งานที่ทำในครั้งนั้นยังไม่มีคนไทยเคยรายงานผลออกมาก่อนเลย…

การนำต้นสาละอินเดียมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น ความยากมันอยู่ตรงที่ว่า สาละอินเดียเป็นไม้เนื้อแข็ง การเจริญเติบโตในสภาพธรรมชาติเป็นอย่างไร เมื่อนำมาเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไร เราไม่สามารถบังคับหรือเปลี่ยนแปลงธรรมชาติได้ว่าให้มันโตเร็วๆ เริ่มจะสนุก หรือเครียด…กันบ้างแล้วหรือยัง??…มาดูขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกัน

ขั้นตอนแรก เป็นการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บริเวณผิว ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุด ถือว่าเป็นงานปราบเซียนเชียวหละ ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเลือกชิ้นส่วนที่สะอาด การทำให้ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ตามซอก หลืบ กิ่งแก่งต่างๆ สามารถเป็นที่ยึดเกาะของจุลินทรีย์ หรือฝุ่นได้ดี ต้องอาศัยฝีมือ และประสบการณ์ล้วนๆ

หากเราใช้สารเคมีที่เข้มข้นมากๆ มาฆ่าเชื้อจุลินทรีย์หวังให้ตายกันให้หมดให้สิ้นซาก เนื้อเยื่อที่เราจะเอาไปเลี้ยงก็ไม่รอดเช่นเดียวกัน เราต้องถนอมเนื้อเยื่อของพืชที่เป็นตาอ่อนๆ ไม่ให้ได้รับความเสียหาย เพราะตาเหล่านี้จะเกิดเป็นกิ่งหรือต้นใหม่ต่อไป ครั้นจะทำเบาๆ ถนอมหน่อย ใช้ความเข้มข้นต่ำๆ เชื้อจุลินทรีย์ทั้งหลายก็ตายไม่หมด เหลือไปอยู่ในขวดอาหารแทน เราก็คงจะได้เลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์แทนเนื้อเยื่อต้นไม้ (ฮา…)

ขั้นตอนที่ 2 การชักนำให้เกิดการแตกยอด ขั้นตอนนี้ก็เหมือนกับการปรุงอาหารชั้นเลิศให้กับชิ้นเนื้อเยื่อที่กำลังจะเจริญเติบโต แต่ละชนิดพืชชอบรสชาติของอาหารต่างกัน แต่องค์ประกอบหลักๆ ของสารอาหารคงไม่ต่างกัน เช่นเดียวกับคนที่ชอบข้าวมันไก่ น้ำจิ้มเปรี้ยว หวาน แตกต่างกัน

ขั้นตอนที่ 3 การชักนำให้เกิดราก ก็จะคล้ายกับขั้นตอนที่ 2 ที่ต้องเลือกว่าจะใช้ฮอร์โมนอะไร ความเข้มข้นสักเท่าไรกำลังดีที่จะให้ต้นออกราก ถ้าให้ผิดจากที่ชอบอาจไม่ออกรากเอาดื้อๆ

ขั้นตอนที่ 4 การย้ายปลูก หรือการอนุบาลต้นกล้า อันนี้แหละยิ่งกว่าปราบเซียน ส่วนใหญที่ตกม้าตายก็ขั้นตอนนี้ การอนุบาลต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าศาสตร์และศิลป์รวมกัน…กว่าที่ต้นไม้จะปรับตัวจากการเป็นน้องนางบ้านนา เข้ามาอยู่ในขวดแบบคุณหนูไฮโซได้ก็ต้องอาศัยเวลานานพอสมควร อยู่ๆ จะเอาออกมานอกขวดก็ต้องให้เวลากับเขาเตรียมตัวหรือทำใจสักหน่อย

สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนนี้คือ การปรับสภาพแวดล้อมให้ต้นไม้จากที่เคยอยู่ในขวดไปอยู่นอกขวด หรือสภาพธรรมชาติ จะต้องมีการลดแสง ลดอุณหภูมิ รวมทั้งความชื้น เพื่อให้ต้นไม้ชินกับสภาพใหม่ที่จะต้องไปอยู่ และเจริญเติบโตต่อไป

ก่อนที่จะมาถึงบทสุดท้าย…อยากจะบอกว่า ผู้เขียนได้ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย หลากหลายความรู้สึก ได้สั่งสมทุกๆ อารมณ์ โดยเฉพาะความท้อแท้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นสtละอินเดีย…แต่ก็ไม่ได้ท้อถอย และจากนี้ไปผู้เขียนคงจะเริ่มทำงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสาละอินเดียใหม่…และจะทำต่อไป เพื่อให้สมาชิกในชมรมรักษ์สาละ และทุกคนที่ปรารถนาดี สุขสมหวัง ให้สมกับการที่พวกเขารอคอยต้นกล้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

แค เป็นไม้ในตระกูลถั่ว เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง สูง 2-10 เมตร ปลูกโตเร็ว มีกิ่งก้านมาก หักโค่นง่าย เปลือกต้นสีเทา ผิวเปลือกมีร่องรอยขรุขระ เปลือกหนา มักเป็นที่สะสมของเชื้อรา และเป็นที่อาศัยของแมลงและหนอนต่างๆ ทั้งกิ่งเปราะหักโค่นง่าย เปลือกเป็นที่อาศัยของศัตรูพืช ทำให้เกิดผลกระทบกับพืชอื่นใกล้บริเวณนั้น ถูกศัตรูพืชระบาดทำความเสียหายง่ายมากขึ้น คงเป็นเหตุผลประกอบคำชี้แนะของคนรุ่นก่อน และที่ว่าไม่ควรปลูกต้นแคไว้บริเวณบ้าน ก็คงกลัวเด็กเล่นซุกซนปีนป่ายต้น กิ่งหักตกลงมาบาดเจ็บด้วย ซนจริงๆ เด็กสมัยนั้น

ชื่อว่า “แค” มีเรียกชื่ออื่น “แคบ้าน”, “แคขาว”, “แคแดง” หรือ “แคดอกแดง”, “แคดอกขาว” เป็นพืชพื้นเมืองของไทย และแถบอาเซียน พบเห็นในหลายประเทศแถบนี้ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นพืชอาหารของทั้งคนและสัตว์ ปลูกขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปลูกง่าย โตเร็ว ไม่ค่อยมีปัญหา หรือเป็นเงื่อนไขกับสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะที่ชุ่มชื้น หรือแห้งแล้งก็เจริญเติบโตได้ดี แต่ถ้าที่ดินน้ำอุดมสมบูรณ์ ก็จะสมบูรณ์ดีมากกว่าที่แร้นแค้น เป็นปกติธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มักพบต้นแคขึ้นตามป่าละเมาะ หัวไร่ปลายนา ริมถนนหนทาง มีหลายชุมชนที่นำต้นแคมาเป็นไม้ประดับ ตกแต่งภูมิทัศน์ชุมชน ได้ทั้งสีเขียวริมทาง ได้ทั้งพืชอาหารให้กับคนในชุมชนด้วย

ยอดแค มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าดอก แต่คนนิยมนำดอกมาเป็นอาหารมากกว่ายอด ทั้งยอดอ่อน และดอกแค มีเสน่ห์น่าลองลิ้มมาก มีความสวยงาม มีสีสันที่อ่อนหวาน ยอดอ่อนอวบอ้วนน่ากิน ใบเป็นประเภทใบประกอบ มีใบย่อยเล็กๆ 20-30 ใบ เรียงคู่ขนานกัน ดอกออกเป็นช่อ ออกตามซอกใบ ช่อหนึ่งมี 2-8 ดอก มีพันธุ์ดอกมีสีขาวและสีม่วงแดง ดอกยาว 6-10 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงสีเขียวรูประฆังคว่ำ รองรับฐานดอก ฝักแคยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ฝักอ่อนคล้ายถั่วฝักยาว แต่รูปร่างออกแบนบาง น่าทะนุถนอม

ยอดแค 100 กรัม ให้คุณค่าสารอาหารมากมาย ให้พลังงาน 87 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยเส้นใยอาหาร 7.8 กรัม แคลเซียม 395 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม เหล็ก 4.1 มิลลิกรัม ไนอะซิน 2.0 มิลลิกรัม วิตามินเอ 1,442 iu. วิตามินบีหนึ่ง 0.28 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.33 มิลลิกรัม วิตามินซี 19 มิลลิกรัม สารเบต้าแคโรทีน 8,654 ไมโครกรัม ซึ่งสารอาหารต่างที่มีอยู่มีสรรพคุณที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสหวานมัน สรรพคุณเป็นยาช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ดอก มีรสหวาน อมขมเล็กน้อย เวลานำมาทำอาหารมักดึงเกสรตัวผู้ออกก่อน สรรพคุณแก้ไข้หัวลมได้ดี

คนบ้านเรามักจะนำยอดอ่อน ใบอ่อน มาลวกหรือนึ่ง กินร่วมกับน้ำพริกต่างๆ ดอกแคนำมาผัดใส่ไข่ ผัดปลา ผัดกุ้ง ดอก ฝักอ่อน แกงส้มใส่ปลาช่อน ปลาหมอ กุ้งฝอย ปูนา อร่อยเป็นอาหารมากคุณประโยชน์ มากคุณค่าทางอาหาร บางท้องถิ่น เอาดอกแค ยอดอ่อนแค ห่อใบตองกล้วย ย่างไฟ กินกับน้ำพริก แจ่ว ป่น ฝักอ่อนใช้เป็นผักสด กินกับส้มตำ ลาบ ก้อย ใบแค ผสมเป็นอาหารสัตว์ชั้นยอด ใบที่ร่วงหล่นตามพื้นดิน นำมาผสมดินปลูกต้นไม้ เป็นปุ๋ยพืชที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง กิ่งต้นแคนอกจากใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว ใช้เพาะเห็ดหูหนูก็เด็ดนัก ต้นแคถ้ามีการดูแลตัดแต่งกิ่ง เด็ดยอด ตัดต้นให้เป็นพุ่มเตี้ย หมั่นดูแลเปลือกต้น ใบ ใช้วิธีขยันเด็ดยอดใบ หรือให้วัวกัดเล็มกิน จะช่วยให้มีศัตรูพืชน้อยลงมาก

แค เป็นพืชในวงศ์ LEGLMINOSAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania grandfloa (L) Pers. นิยมนำมาปลูกกัน ริมทางเดิน ริมบ่อปลา ข้างห้างนา เถียงนา ออกดอกฤดูหนาว แตกยอดอ่อนตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝนจะสะพรั่ง มองเห็นยอดอ่อนที่มีนวลขาว ยิ่งตอนที่เริ่มติดดอกตูม มองดูสะคราญตา ช่อดอกเมื่อออกมาอย่างสมบูรณ์ ส่วนใหญ่มักจะเด็ดดอกตูมมาทำกิน โดยแกะคลี่ ดึงเอาก้านเกสรที่อยู่ภายในออก ถ้าปล่อยให้ดอกบาน เนื่องจากกลีบดอกบางมาก อ่อน มักจะฉีกขาด ยุบเหี่ยวแห้งอย่างเร็ว หลังจากได้ผสมเกสรแล้ว และจะติดฝักอ่อน เป็นฝักเส้นเล็ก ค่อยๆ โตขึ้น ประมาณ 2 เดือน ฝักจะแก่ และมักจะแตก ต้องเก็บฝักมาใส่ถุงตากแดด หรือผึ่งไว้ ค่อยแกะเอาเมล็ดไปเพาะ ใส่ถุงดิน นำไปปลูกต่อไป

ที่จริงเคยพบเห็นต้นแคอยู่หลายชนิด ดอกสีชมพู ต้นสูงใหญ่ เรียกกันง่ายๆ ว่า แคฝรั่ง ที่พบขึ้นในป่าเปลือกต้นสีคล้ำ เรียกแคป่า นำมาปลูกข้างรั้วบ้าน ตัดพุ่มเตี้ย เรียก แคบ้าน หรือแคเตี้ย ที่ออกดอกเป็นก้านเรียวย่อยๆ เรียกแคฝอย หรืออาจจะเรียกตามสีของดอก ไม่ว่าจะเป็น แคขาว แคแดง แคลาย เมื่อคิดจะนำมาทำกิน ควรศึกษาหาความรู้ของแคแต่ละอย่าง บางอย่างก็กินได้ ไม่เป็นพิษเป็นภัย ปลอดภัยไม่อันตราย แคบางอย่างก็ไม่น่านำมาทำกิน หรือกินไม่ได้ สำหรับใครบางคนที่มีความรู้สึกเหมือนว่า อย่างไงก็ได้ ช่างมันฉันไม่แคร์ ก็ไม่ว่ากัน

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมเคยอ่านหนังสือพบว่า ประเทศญี่ปุ่นผลิตข้าวได้เพียงพอบริโภคภายในประเทศมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ไม่นาน แต่มีเพื่อนๆ บอกว่า ญี่ปุ่นยังต้องมีการนำข้าวเข้าไปยังประเทศอีก ผมจึงขอเรียนถามว่าเป็นเพราะเหตุใด ขอคำอธิบายด้วยครับ

ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบัน มีประชากร 170 ล้านคน asiacruisenews.com มีพื้นที่ขนาดเล็กกว่าประเทศไทยเกือบครึ่งหนึ่ง ที่ผ่านมาญี่ปุ่นสามารถผลิตข้าวได้พอเพียงบริโภคภายในประเทศ เฉลี่ยปีละ 11 ล้านตันข้าวกล้อง แต่ปัจจุบันปริมาณการผลิตลดลงเหลือ ประมาณ 7 ล้านตัน ด้วยชาวญี่ปุ่นหันมาบริโภคแป้งข้าวสาลีมากขึ้น โดยนำมาผลิตขนมปังและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา

สาเหตุการนำเข้าข้าวของญี่ปุ่น เป็นไปตามพันธสัญญาของ WTO จำนวนประมาณ 2 แสนตันข้าวสาร ข้าวที่นำเข้านี้ญี่ปุ่นจะนำไปช่วยเหลือประเทศยากจนอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเกิดภาวะสงคราม หรือฝนแล้ง น้ำท่วม ก็ตาม ข้าวอีกจำนวนหนึ่งเป็นข้าวเหนียวคุณภาพดี เป็นการนำเข้าจากประเทศไทย ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเชื่อมั่นว่าข้าวเหนียวจากประเทศไทยผลิตเหล้าสาเกได้รสชาติดีที่สุด ส่วนปริมาณการนำเข้าส่งออกไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล

ผมเคยเล่าให้ฟังแล้วว่า ญี่ปุ่นผลิตอาหารหล่อเลี้ยงภายในประเทศได้เพียง 45 เปอร์เซ็นต์ อีก 55 เปอร์เซ็นต์ จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแป้งข้าวสาลี เมล็ดถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ส่วนที่นำเข้าจากประเทศไทยมีเนื้อไก่ กุ้งสด และกุ้งแปรรูป พืชผัก ผลไม้ มีกล้วยหอม มะม่วง มังคุด และกระเจี๊ยบเขียว อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเองแม้มีข้อจำกัดด้วยสภาพอากาศ และพื้นที่จำกัดก็ตาม แต่ชาวญี่ปุ่นเองไม่ยอมปล่อยให้พื้นดินทิ้งไว้ว่างเปล่า ถ้าท่านเดินทางไปญี่ปุ่นทุกภูมิภาค จะเห็นที่ว่างพื้นที่เล็กๆ ตามริมถนนหนทาง ตามหมู่บ้าน หรือที่ว่างรอบอาคารของชาวบ้าน มีการปลูกพืชผักอายุสั้นหลากหลายชนิดสำหรับใช้บริโภคในครัวเรือน และมีวัฒนธรรมที่งดงามของญี่ปุ่นคือ เขาไม่มีการลักขโมยกัน

กลับมาที่บ้านเรา หากท่านผู้อ่านทุกท่านช่วยกันทำความสะอาดถนนใกล้บ้านอย่างพร้อมเพรียงกัน เท่านี้เมืองไทยของเราน่าอยู่ขึ้นอีกเป็นกอง ฟักแม้ว มะระแม้ว มะระหวาน หรือ ซาโยเต้ (Chayote) เป็นพืชจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับฟัก แฟง แตงกวา มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก เชื่อว่าหมอสอนศาสนาคริสต์นำเข้ามาในประเทศไทย แต่เมื่อใดไม่มีข้อมูลที่สามารถอ้างอิงได้

ฟักแม้ว เป็นประเภทไม้เลื้อย มีอายุข้ามปีหรือมากกว่า 1 ฤดู เถา ยาว 3-5 เมตร ใบ มี 3-5 เหลี่ยม ยาว 8-15 เซนติเมตร ผลเป็นประเภทผลเดี่ยว ดอกเพศผู้ เพศเมีย แยกกันอยู่คนละดอก แต่อยู่ในต้นเดียวกัน เถาเป็นรูปเหลี่ยม เนื้อผลพัฒนามาจากฐานรองดอก ขยายใหญ่ไปหุ้มเมล็ดไว้ คล้ายกับผลมะม่วง ผลฟักแม้ว มีทรงกลม ด้านยาวมากกว่าความกว้าง ผลขรุขระ สีเขียวอ่อน ยาว 7-20 เซนติเมตร และกว้าง 5-15 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 200-400 กรัม ต่อผล เนื้อมีรสหวาน