ช่วงแรกได้ใช้เงินลงทุน ประมาณ 500,000 บาท ลงทุนปลูกผัก

เนื่องจากที่ดินแปลงปลูกไม่มีไฟฟ้าและแหล่งน้ำ ต้องขุดสระ 2 สระ ประมาณ 1 ไร่ แล้วนำดินไปถมในพื้นที่ลุ่มต่ำ และใช้เงินในการปลูก เตรียมเมล็ดพันธุ์ เครื่องสูบน้ำ 2 ตัว ค่าแรงงานปลูกและดูแลอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ได้เริ่มเก็บผักหวานป่าเมื่อเข้าปีที่ 5 ผักหวานป่าเริ่มโตเต็มที่ คาดว่าจะได้เงินทุนคืนภายในปีนี้

“หลังจากดิฉันได้ทำการตลาดออนไลน์ เพื่อโปรโมตสวนผักหวานป่าให้คนในพื้นที่ได้รู้จักเพิ่มมากขึ้น ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าในชุมชนทั่วอำเภอและทั้งจังหวัด มีออเดอร์จองผักหวานป่ากันข้ามวัน ลูกค้าต้องเข้าคิวรอ แจ้งจองล่วงหน้ากัน 1-2 วัน ลูกค้ากินแล้วติดใจผักหวานป่ายอดอ่อนๆ เก็บสดใหม่ทุกวัน ซึ่งต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ถึงตี 5 ทุกวัน เพื่อเก็บผักหวานป่าให้ทันออเดอร์ ซึ่งทำให้มีรสชาติหวาน หอม กรอบ อร่อย และลูกค้าต่างบอกปากต่อปากว่า ถ้าจะกินแกงผักหวานป่าให้อร่อยต้องซื้อจาก อมรฟาร์มเท่านั้น”

คุณพิมพ์พกานต์ บอกด้วยว่า ผักหวานป่านอกจากจะทำเป็นอาหารได้หลายเมนูแล้ว คนโบราณยังนิยมนำมาทำยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคได้หลายชนิด เนื่องจากเป็นพืชที่มีโปรตีน วิตามินซี และใยอาหารสูง ช่วยลดอาการเลือดออกตามไรฟัน และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ในส่วนของรากผักหวานป่า สามารถนำมาต้มเพื่อแก้อาการปวดมดลูกและแก้ดีพิการ อีกทั้งแก่นต้นผักหวานนำมาต้มน้ำดื่มแก้อาการปวดตามข้อ

สำหรับชาผักหวานป่า มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด โรคมะเร็ง เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินซี และสารประกอบฟีนอลิก ดื่มง่าย ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

เทคนิคการปลูกผักหวานป่า
คุณพิมพ์พกานต์ ยังได้แจกแจงเทคนิควิธีการปลูกและการดูแลผักหวานป่าเพื่อให้ออกตลอดทั้งปีว่า ทางฟาร์มเน้นปลูกจากการเพาะเมล็ดเป็นหลัก เนื่องจากจะได้ต้นผักหวานป่าที่มีรากเดินดีและแข็งแรง อีกทั้งจะมีชีวิตอยู่ได้นานเป็น 100 ปี สามารถเก็บผลผลิตได้ชั่วลูกชั่วหลาน

สำหรับขั้นตอนการปลูกก็ไม่ยาก เริ่มจาก

1. รองก้นหลุมด้วยขี้วัว

2. ปลูกหลังจากเพาะกล้าเมล็ดได้สัก 1 เดือน

3. ขุดหลุมปลูกไม่ต้องให้ลึกมาก

4. ระยะปลูกที่แนะนำ 1×1 เมตร จะได้จำนวน 400 ต้น ต่อไร่ และระยะ 2×2 เมตร จะได้ 200 ต้น ต่อไร่

5. ต้นอ่อนต้องครอบด้วยกระถางหรือเข่งไม้ไผ่ ให้ต้นกล้าผักหวานป่าต้นอ่อนโดนแสงแดดน้อย เป็นเวลา 1 ปี

6. หลังปลูกเสร็จ ต้องให้น้ำประมาณ 1 เดือน ก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง

7. ในฤดูกาลแตกยอดเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมของทุกปี ในช่วงที่ต้องการให้ผักหวานป่าออกยอด ควรตัดแต่งกิ่ง

8. ให้ขี้วัว ขี้หมู ขี้ไก่ ปีละ 2-3 ครั้ง

9. พ่นน้ำหมักชีวภาพหัวปลีฉีดพ่นยอดผักหวานป่า จะทำให้ยืดยาวได้น้ำหนัก

ช่วงที่เหมาะแก่การปลูกในพื้นที่ราบดอนประมาณเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม เมื่อได้รับน้ำสม่ำเสมอผักหวานป่าจะเจริญเติบโตเร็ว ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นเนินเขา ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูก จะต้องปลูกประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน

เจ้าของอมรฟาร์มบอกว่า การปลูกผักหวานป่าหลายคนบอกว่า ปลูกง่าย ดูแลยาก ตายง่าย โตช้า มีแนวโน้มตายมากกว่ารอด แต่จากประสบการณ์หลายปีที่ผ่านมาของทางฟาร์ม ค้นพบเทคนิคการปลูกผักหวานป่าให้รอด และโตไวด้วยวิธีธรรมชาติแบบง่ายๆ ดังนี้

1. ปลูกในพื้นที่ป่าที่มีอยู่แล้ว เช่น ป่าเต็งรัง สวนป่า

2. ผักหวานป่าชอบแดดรำไร ชอบมีต้นไม้พี่เลี้ยง เช่น ตะขบ มะขามเทศ ยางนา ขี้เหล็ก มะม่วง ประดู่

3. ที่ดินเหมาะแก่การปลูก ต้องเป็นที่เนิน ดอน ภูเขา น้ำไม่ท่วมขัง

4. การบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกผักหวานป่า เช่น ห้ามน้ำท่วมขัง ให้น้ำในหน้าแล้ง ต้องวางระบบน้ำให้ดี

สำหรับการดูแลต้นผักหวานป่าให้ได้ใบดกและดี มีหลายปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง อย่างเช่น ระวังหนู และแมงอีนูน หนอนจาะแทะต้น ระวังน้ำขัง รากเน่า ฝนฟ้าพายุ และระวังอย่าเหยียบหรือกระแทกต้นผักหวานบ่อยๆ

คุณพิมพ์พกานต์ ให้ข้อมูลอีกว่า ด้วยความที่ดินเป็นที่ราบดอน การบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งจำเป็น จึงขุดสระน้ำและเจาะบ่อบาดาลไว้ใช้ พอถึงหน้าแล้งก็บริหารจัดการน้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ หน้าฝนก็คอยดูแลไม่ให้น้ำท่วมขัง เพราะถ้าปล่อยให้น้ำแช่ขังจะทำให้รากเน่า ต้นผักหวานจะตายได้ ที่สำคัญต้องคอยตรวจว่ามีหนอนเจาะต้นผักหวานป่าหรือไม่ เพราะแมลงหนอนร้ายจะมากับพวกปุ๋ยขี้ไก่

แรกทีเดียวนั้น ทางอมรฟาร์มปลูกผักหวานป่า 6.5 ไร่ แต่ปีนี้ได้เพิ่มมาเป็น 10 ไร่ เนื่องจากที่ผ่านมาผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพืชชนิดนี้ต้องมีพืชพี่เลี้ยงด้วย โดยทางฟาร์มปลูกมะม่วง หม่อน และฝรั่ง เป็นพืชพี่เลี้ยง

ผักหวานป่าจะแตกยอดยาวพร้อมเก็บ และเก็บได้ต่อเนื่องจนถึงเดือนกรกฎาคม หากต้องการเก็บยอดจนถึงเดือนสิงหาคม สามารถกระตุ้นให้แตกยอดได้ด้วยการลิดใบแก่ออก และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่หลังจากเดือนสิงหาคมแล้ว ให้หยุดการเก็บยอด จนกว่าจะถึงกลางเดือนกันยายน ค่อยเริ่มการตัดแต่งกิ่งลิดใบออกอีกครั้ง เพื่อจะได้ยอดอีกครั้งกลางเดือนตุลาคม ซึ่งผักหวานป่าจะพักตัวช่วงหน้าฝนตกชุกในเดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน

และในช่วงฤดูหนาว ถ้าเจออากาศหนาวเย็นผักหวานป่าจะไม่ชอบ เริ่มจากเดือนธันวาคม-เดือนมกราคม จะหยุดชะงัก ยอดหงิกงอ หลังจากนั้นผักหวานป่าจะออกยอดดีในฤดูร้อน อากาศร้อนอบอ้าว

ปัจจุบัน การทำเกษตรในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก จะเห็นได้จากหลายๆ ท่าน ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่น้อยมาสร้างสวนเกษตรให้กับตัวเอง อย่างเช่น นำพืชผักสวนครัวที่ใช้ประกอบอาหารมาปลูกพืชเอง เพื่อเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนด้วยอีกช่องทาง ซึ่งการปลูกพืชนอกจากจะได้ผลผลิตแล้ว สิ่งที่ได้ตามมานั้นก็คือความสุข จึงทำให้เวลานี้ผู้ที่เกษียณจากงานประจำหันมาทำเกษตรมากขึ้น อย่างน้อยถ้าไม่ได้ทำเพื่อจำหน่าย หรือเกิดรายได้ถึงขนาดเลี้ยงตัวเองได้ แต่ก็ทำเป็นกิจกรรมยามว่าง สร้างความเพลิดเพลินและคลายเหงา

คุณศิริชัย พุ่มพฤกษา อยู่บ้านเลขที่ 192 ซอยรามอินทรา 8 ถนนรามอินทรา แขวงจรเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมงานทางด้านการเกษตร โดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่ภายในเมืองใหญ่ มาทำเกษตรหลังจากเกษียณงานประจำออกมา ทำให้ในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 เขาได้มีเวลาทำสวนมากขึ้น ทำให้ไม่เกิดความเครียด และมีพืชผักสวนครัวที่ปลูกเองไว้ประกอบอาหารในแต่ละวัน โดยที่ไม่ต้องออกไปยังแหล่งซื้อขายพบเจอผู้คนหนาแน่นเพื่อเป็นการสัมผัสเชื้อโควิด-19

คุณศิริชัย เล่าให้ฟังว่า เป็นคนต่างจังหวัดมาแต่กำเนิด ต่อมามีโอกาสได้เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร จึงทำให้ในเรื่องของการทำเกษตรนั้นยังอยู่ในความคิดเสมอ เมื่อมีโอกาสใกล้จะเกษียณจากงานประจำเป็นพนักงานธนาคาร ได้เห็นพื้นที่บ้านยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์มากนัก จึงได้เกิดแนวคิดที่อยากจะหาไม้ผลและพืชผักสวนครัวเข้ามาปลูก เพราะปล่อยให้เป็นพื้นที่ที่รกร้างมาถึง 20 ปี ทำให้เมื่อประมาณปลายปี 2562 จึงเป็นจุดเริ่มต้นนำพื้นที่บริเวณนั้นมาปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรไว้กินเอง และแจกจ่ายเพื่อนๆ หรือถ้ามีในปริมาณที่มากกว่านั้นก็จำหน่ายเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ

“พอเราตัดสินใจว่าจะนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ ก็ต้องเตรียมการให้พร้อม เนื่องจากในเนื้อที่ของเรายังไม่มีบ่อน้ำ ดังนั้นเราต้องขุดบ่อน้ำเตรียมไว้ เพราะนอกจากจะช่วยรดน้ำพืชผักในสวนได้แล้ว ยังสามารถนำปลามาปล่อยเลี้ยงได้อีกด้วย เมื่อปลาในบ่อน้ำโตเราก็มีอาหารที่ครบวงจร ทำให้การทำเกษตรบนเนื้อที่เกือบ 2 ไร่ของเราสมบูรณ์ เรามีการแบ่งโซนการทำเกษตรอย่างชัดเจน แบ่งปลูกไม้ผล แปลงพืชผักสวนครัว และบ่อน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง” คุณศิริชัย เล่าถึงที่มา

ไม้ผลที่ปลูกอยู่ขณะนี้หลักๆ จะเป็นส้มโอ กล้วย มะม่วง และมะนาว ส่วนพืชอื่นๆ ที่ปลูกไว้ทานก็จะมีข้าวโพด ถั่วฝักยาว ฟักทอง และพืชผักสวนครัวอีกหลากหลาย ทำให้เมื่อมีผลผลิตออกมาแต่ละช่วง มีพืชผักสลับหมุนเวียน นำมาประกอบอาหารได้เป็นระยะ เหมือนเป็นการทำเกษตรที่ชอบกินอะไร ก็เลือกปลูกสิ่งนั้นในพื้นที่ของตนเอง เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบเข้ามาประกอบอาหารแล้ว ยังเพิ่มความสุขจากสิ่งที่ได้ทำ

คุณศิริชัย เล่าถึงหลักการปลูกพืชในพื้นที่ของเขาว่า เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาสุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนเริ่มใส่ใจมากขึ้น จึงทำให้เขา เมื่อได้มาปลูกพืชผักสวนครัวเอง จึงเน้นในเรื่องของการปลูกที่ปลอดภัยโดยไม่ใช้สารเคมี คือใช้ปุ๋ยคอกมาช่วยปรับปรุงบำรุงดินและสร้างปุ๋ยหมักสูตรต่างๆ ที่ได้ศึกษามาจากสื่อโซเชียลต่างๆ ไว้ใช้เอง จึงทำให้มั่นใจได้ว่าพืชที่ปลูกปลอดภัยจากสารเคมีอย่างแน่นอน

“เดี๋ยวนี้ต้องบอกเลยว่าข้อมูลต่างๆ ค่อนข้างหาได้ง่าย เพราะฉะนั้นบอกเลยว่าการหาองค์ความรู้ต่างๆ สื่อออนไลน์นี่สะดวกมาก ผมก็จะดูจากยูทูปบ้าง เพราะว่าเราอยากเรียนรู้อะไรก็สามารถค้นคว้าได้ทันที จากนั้นเราก็นำสิ่งที่เราศึกษามาทดลองว่าสามารถใช้รวมกับพื้นที่ของเราได้มากน้อยเพียงใด เพราะว่าข้อมูลบางอย่าง เอามาใช้กับพื้นที่ของเราอาจจะไม่เหมาะสมก็ได้ ดังนั้นองค์ความรู้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการผลิตปุ๋ยหมัก หรือว่าการปลูกพืช เราต้องนำมาทดลองให้หมด เพราะว่าบางทีสิ่งที่เราไปศึกษาอาจจะนำมาใช้ และไม่เหมาะสมกับพื้นที่ของเราก็ได้ เพราะฉะนั้นยุคนี้มีสื่อออนไลน์เยอะก็จริง แต่ต้องศึกษาและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ให้มากที่สุด” คุณศิริชัย บอก

ส่วนในเรื่องของการทำตลาดนั้น คุณศิริชัย บอกว่า ในช่วงแรกที่คิดมาทำเกษตรยังไม่ได้มีความคาดหวังว่าจะต้องซื้อขายและมีการตลาดทันที เพราะพื้นที่ที่ทำยังมีปริมาณที่ยังไม่มากพอ แต่จะเน้นเมื่อมีผลผลิตแล้วจะแจกจ่ายญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านก่อน โดยการทำเกษตรของเขานั้นไม่ได้ต้องการทำเพื่อร่ำรวย แต่เน้นสร้างความสุขเป็นสำคัญ เพราะตัวเขาเองเป็นคนต่างจังหวัด ในเรื่องของการปลูกผักและไม้ผลต่างๆ จึงอยู่ในสายเลือดของเขา

จากสถานการณ์ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงทำให้มีการประกาศของรัฐบาลออกมาว่า ให้ประชาชนทุกคนอยู่บ้านหยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพราะการต้องออกไปนอกบ้านนั้นเป็นการนำตัวเองไปเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนั้น การมีสวนพืชผักสวนครัวอยู่ภายในบ้าน จึงเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์สำหรับเขามากที่สุด โดยที่เขาไม่ต้องออกไปจากบ้านเพื่อสัมผัสเชื้อ แต่สามารถใช้ผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกเองอยู่บริเวณบ้านมาประกอบอาหาร นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว เขายังมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำอีกด้วย

“พอได้เกษียณแล้วมาทำเกษตร ผมต้องบอกเลยว่า ชีวิตผมมีความสุขมาก เราได้เดินดูแลต้นไม้ในทุกๆ วัน เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก และสิ่งช่วงที่โควิดระบาด เราไม่สามารถเดินทางออกไปไหนได้ มันก็อาจทำให้รู้สึกเบื่อรู้สึกเครียดได้ แต่การมาปลูกต้นไม้ทำให้เรามีความสุขแม้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านก็ตาม แต่เรามีงานเกษตรให้ทำผ่อนคลาย พอผลผลิตเริ่มทยอยออก ช่วงแรกเราก็นำมาทำอาหารทานเองก่อน พอมากเข้าทำไม่ทันก็ค่อยๆ แจกเพื่อนบ้าน ส่วนที่มีคุณภาพเป็นผลผลิตที่ดีอย่างไม้ผล ก็สามารถขายได้เช่นกัน ดังนั้นจึงถือว่าการทำเกษตรสามารถทำได้จริง และสามารถสร้างความสุขไปพร้อมๆ กันได้” คุณศิริชัย บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะทำเกษตรและมีพื้นที่น้อย คุณศิริชัย บอกว่า อย่าเพิ่งไปคิดว่ามีพื้นที่น้อยหรือมากจะทำไม่ได้ เพราะการทำเกษตรหากตั้งใจที่จะทำจริงๆ ก็สามารถทำได้สำเร็จและไม่ยาก ถึงมีพื้นที่น้อยก็สามารถทำได้อย่างไม่สะดุด เหมือนอย่างเช่นเขาที่ทำเพราะเกิดจากความสุข และทำผลผลิตออกมาให้ได้ดีที่สุด ก็จะช่วยให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและจำหน่ายได้ราคาและเกิดรายได้เองในที่สุด

หากจะเอ่ยถึงแหล่งเพาะกล้าไม้ที่มีกล้าไม้หลากหลายในอันดับต้นๆ ของประเทศ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ก็น่าจะติดอันดับ เพราะเป็นแหล่งเพาะกล้าที่มีเกษตรกรผู้เพาะกล้าและมีจำนวนซื้อขายกล้าไม้ต่อปีหลายสิบล้านต้น ในที่นี่คงต้องพาเข้าไปถึงยังแหล่ง ซึ่งสำรวจแล้วพบว่ากล้าไม้วังทองที่ขึ้นชื่อ ไม่ได้ตั้งวางไปทั่วอำเภอวังทอง แต่มีเฉพาะตำบลดินทอง เขตอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เท่านั้น

พื้นที่ตำบลดินทอง เดิมเป็นหมู่บ้านในตำบลวังทอง มีแม่น้ำวังทองเป็นแนวเขต ต่อมาปี 2523 กระทรวงมหาดไทย ประกาศแยกหมู่บ้านดินทองออกจากตำบลวังทอง และให้ใช้ชื่อว่า ตำบลดินทอง ซึ่งเหตุที่ชื่อว่าตำบลดินทอง เนื่องจากผืนดินบริเวณนี้เป็นดินสีแดงและเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกไม้ทุกชนิด นอกจากนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลดินทองยังเป็นที่ราบ เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชไร่และพืชสวน เกษตรกรในพื้นที่มีอาชีพหลัก คือ ทำนา และมีอาชีพเสริม คือ เพาะพันธุ์กล้าไม้ ซึ่งปัจจุบันเกือบทุกครัวเรือนยกระดับอาชีพเสริมขึ้นมาเป็นอาชีพหลักไปแล้ว เพราะแม้กระทั่งสินค้าที่เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ยังเป็นผลิตภัณฑ์จากการเพาะชำกล้าไม้

จากการพูดคุยกับ คุณสุเทพ แสนประสิทธิ์ กำนันตำบลดินทอง ที่เอ่ยปากบอกกับ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ว่า เป็นคนหนุ่มที่เพิ่งมาทำงานในหน้าที่กำนันได้ไม่ถึงปี แต่ก็มีแนวคิดรวบรวมเกษตรกรผู้เพาะกล้าไม้ในตำบลดินทองทั้งหมด ตั้งเป็นกลุ่มเพาะชำกล้าไม้ตำบลดินทอง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า และเพื่อต่อรองราคาวัตถุดิบจำเป็นที่นำมาใช้ในงานเพาะกล้าไม้ อันเป็นช่องทางหนึ่งในการลดต้นทุนการเพาะกล้าไม้ของเกษตรกร

“ผมเกิดและโตที่นี่ ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นชาวบ้านเขาทำอาชีพเพาะกล้าไม้ขายกันมาก่อนแล้ว ก็น่าจะทำกันเป็นอาชีพไม่ต่ำกว่า 50 ปี เริ่มจากสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ส่งเสริมให้คนปลูกต้นไม้ด้วยการแจกกล้าไม้ แต่คนของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เพาะกล้าไม้ไม่มี จึงขอให้ชาวบ้านเพาะกล้าไม้แล้วรับซื้อไปด้วยงบประมาณของหน่วยงาน แล้วจึงนำมาแจกตามจำนวนงบประมาณที่ได้ในแต่ละปี หลังสถานีรับซื้อไปแล้ว ก็ยังพอเหลือกล้าไม้อยู่ พอวางขาย ก็มีคนมาขอซื้อ ชาวบ้านเห็นเป็นช่องทางสร้างรายได้ ก็เพาะเกินจำนวนที่สถานีต้องการ นำมาขายเป็นรายได้เสริม”

จากจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาซื้อ ขยายออกไปเกือบทั่วประเทศที่สั่งซื้อกล้าไม้จากที่นี่ เช่น ตลาดต้นไม้รังสิต คลอง 15 ตลาดต้นไม้สวนจตุจักร เป็นต้น

สัก ยางนา กันเกรา ประดู่ กระถินเทพา พยอม หว้า พะยุง ตะเคียน มะค่า แคนา กฤษณา มะฮอกกานี รัง แดง ขี้เหล็ก ฯลฯ หาได้จากที่นี่ จาก 1 เพิ่มเป็น 10 จาก 10 เพิ่มเป็น 100 ราย ปัจจุบันมีมากกว่า 200 รายจำนวนค่อยๆ เพิ่มขึ้น ถามว่า เพิ่มขึ้นเพราะเหตุใด

กำนันสุเทพ ให้เหตุผลว่า เพราะการขายกล้าไม้ได้เม็ดเงินเร็ว เห็นเม็ดเงิน ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ไม่เหมือนการทำนา ทำสวน หรือทำไร่ ที่ต้องรอรอบผลผลิตจึงขายได้เงิน และยังไม่แน่ใจว่าจะได้กำไรจากการลงทุนในแต่ละรอบการผลิตหรือไม่ แต่สำหรับกล้าไม้ที่ขายไป ไม่กี่เดือนก็ได้เงิน มีคนมาซื้อถึงบ้าน จ่ายเงินสด เห็นเงินเร็วกว่ารอรอบการผลิต ทำให้หลายบ้านเปลี่ยนอาชีพจากการทำนา ทำไร่ ทำสวน มาเพาะกล้าไม้ขายอย่างเดียว

ในอดีต กล้าไม้มีไม่กี่รายที่เพาะขาย ราคากล้าไม้จึงจัดว่าได้กำไรดีมาก กำไรต่อถุงกล้าไม้ 15-18 บาท จำนวนซื้อแต่ละครั้งไม่น้อยกว่าหลักหมื่น ขึ้นหลักแสน ไปถึงหลักล้านต้น เมื่อคำนวนเม็ดเงินที่ได้ในการซื้อขายแต่ละครั้ง ก็เป็นเม็ดเงินจำนวนไม่น้อย

จำนวนผู้ขายที่เพิ่มมากขึ้น เป็นทางเลือกให้กับลูกค้า แต่สำหรับผู้ขายแล้วหมายถึงรายได้ที่ลดหายไป การแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้กล้าไม้ราคาถูกลง คุณสุเทพ บอกว่า ไม่มีเกษตรกรรายใดเพาะกล้าไม้มาแล้วอยากให้กล้าไม้ถูกวางทิ้งไว้นาน เพราะต้นไม้ยิ่งโตมากเท่าไหร่ โอกาสถูกซื้อน้อยลงมากเท่านั้น และถ้าไม่มีคนซื้อ ก็เท่ากับทิ้งเงินที่เป็นต้นทุนไป

“กล้าไม้ที่ขายไม่ได้ ถ้าโตขึ้นหน่อยก็ต้องเปลี่ยนถุง เปลี่ยนดิน ต้องขยับเปลี่ยนที่วาง ไม่อย่างนั้นรากจะลงดิน ก็ต้องมาตัดรากอีก ต้นไม้ที่ตัดรากลูกค้าก็ไม่ค่อยอยากได้ เพราะนำไปปลูกก็เจริญเติบโตไม่ค่อยดี หรือเติบโตได้แต่ก็ไม่ค่อยแข็งแรง ฉะนั้น ขายได้ก็ต้องรีบขาย”

ปัจจัยผู้ค้าที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ราคาซื้อขายเปลี่ยนไป จากถุงละ 10-20 บาท เหลือเพียงราคาถุงละ 1.50-2 บาทเท่านั้น คุณสุเทพ ยืนยันว่า หากต้องการขายให้ได้กำไร ควรขายในราคาอย่างน้อยถุงละ 3 บาท มิฉะนั้นจะเข้าเนื้อขาดทุน แต่ก็มีเกษตรกรหลายรายที่ยอมขายในราคาขาดทุน เพราะไม่ต้องการให้กล้าไม้เหลือทิ้งข้ามปี เป็นภาระค่าใช้จ่ายตามมาอีกมาก

แม้ว่าตำบลดินทอง อำเภอวังทอง จะเป็นแหล่งที่มีดินอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้สำหรับเพาะกล้าไม้ เกษตรกรต้องควักกระเป๋าซื้อทั้งหมด นับตั้งแต่ ดิน (หน้าดิน) แกลบ ถุง เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ ยังมีค่าแรงคนงานในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ ค่ากรอก ร้อยละ 12 บาท ค่าแรงยกขึ้นรถ ร้อยละ 10 สตางค์ เป็นต้น

กำนันตำบลดินทอง บอกกับเราว่า ในอดีตชาวบ้านจะเข้าป่าไปเก็บเมล็ดพันธุ์นำมาเพาะกล้าเอง ไม่ต้องซื้อขาย แต่เมื่อเกษตรกรเพาะกล้าไม้เพิ่มมากขึ้น ก็มีเกษตรกรบางรายหัวใส เก็บมาจำนวนมากแล้วนำมาขายต่อ รายที่ไม่สะดวกเข้าไปเก็บเมล็ดพันธุ์เองก็พร้อมซื้อเมล็ดพันธุ์ต่ออีกทอด ความหลากหลายของไม้ป่าที่แหล่งเพาะกล้าไม้วังทอง เป็นผลพวงให้เกษตรกรที่นี่ยังคงเข้าป่าเก็บเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดใกล้เคียง และเดินทางออกไปไกลถึงป่าในจังหวัดแถบภาคอีสาน เพื่อนำมาขายให้กับเกษตรกรเพาะกล้าไม้ในพื้นที่ตำบลดินทอง

คุณมาลัย สิงห์อุดร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลดินทอง ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ตำบลดินทองมีเกษตรกรเพาะกล้าไม้ขายทั้งตำบล แต่ในพื้นที่หมู่ 7-9 เป็นกลุ่มเกษตรกรที่เพาะกล้าไม้ขายเป็นอาชีพมากที่สุด สำหรับความยากง่ายของการเพาะกล้าไม้ป่านั้น ขอแนะนำว่า กล้าไม้ป่าที่โตแล้วไม่ต้องกังวล แต่ระหว่างที่เพาะ นำลงถุงกล้า เป็นกล้าไม้เล็กๆ ต้องได้รับการดูแลอย่างดี ไม่อย่างนั้นก็ตายเสียเปล่า เริ่มจากการหว่านกล้าลงแปลง ใช้ยาราดซ้ำป้องกันเชื้อรา เมื่อกล้าที่หว่านแปลงเริ่มงอกขึ้นมา แล้วค่อยเลือกเด็ดออกมาเสียบกับถุงกล้าที่เตรียมดินไว้แล้ว

“ระยะเวลาที่เริ่มเพาะตั้งแต่หมดฤดูฝน ลงเพาะในแปลง จากนั้นเตรียมดิน กรอกถุงรอ ขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เริ่มเพาะจนเสียบในถุง รดน้ำ ให้กล้าพร้อมจำหน่าย ก็เข้าฤดูฝนพอดี กล้าไม้จะเริ่มขายดีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม เพราะเป็นช่วงฤดูฝนที่คนนิยมปลูกต้นไม้ โดยไม่ต้องรดน้ำ อาศัยน้ำฝนช่วงดูแลได้”

ตัวอย่างไม้ป่ายอดนิยมอย่างต้นสัก ราคาขายอยู่ที่ปี๊บละ 150 บาท เมื่อนำมาเพาะแล้วอัตราการงอกร้อยละ 70-80 ขึ้นกับความซื่อสัตย์ของพ่อค้าขายเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกษตรกรต้องเลือกซื้อพ่อค้าประจำ เพื่อมั่นใจว่าได้เมล็ดพันธุ์แก่มากพอสำหรับการเพาะ

ในแต่ละปี เกษตรกรแต่ละรายมีกำลังการผลิตกล้าไม้ที่ไม่เท่ากัน คุณสุเทพ บอกว่า กำลังการผลิตมากหรือน้อย ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่สำหรับวางกล้าไม้ด้วย เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ การเช่าพื้นที่วางกล้าไม้ก็ไม่คุ้มค่า เพราะต้นทุนการผลิตจะสูงมากขึ้นไปอีก แต่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 แสนต้น ในรายที่มีพื้นที่และขยันมาก สามารถผลิตกล้าไม้ได้ถึงปีละประมาณ 5 แสนต้น

ทุกปี ความต้องการกล้าไม้จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย ขึ้นกับกระแสการปั่นของพ่อค้าที่รับกล้าไป หากต้องการให้ต้นไม้ชนิดใดได้รับความนิยมในช่วงนั้นๆ ก็จะเชียร์ต้นไม้นั้นให้กับลูกค้า แต่ไม้ที่คงความนิยมไม่เสื่อมคลาย คือ สักและพะยุง

คุณสมคิด วรรณทวี เจ้าของร้านขายกล้าไม้รายแรกของตำบลดินทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเพาะกล้าไม้ป่าขายมาตั้งแต่ปี 2535 บอกว่า เกษตรกรในพื้นที่ตำบลดินทองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ การเพาะกล้าไม้เริ่มจากหน่วยงานราชการมีนโยบายแจกกล้าไม้ให้กับประชาชนฟรี เพื่อนำไปปลูก หน่วยงานราชการจึงจ้างวานให้ชาวบ้านใกล้เคียง เพาะกล้าไม้และรับซื้อ จึงเป็นที่มาของแหล่งเพาะกล้าไม้ของตำบลดินทอง

“เมื่อก่อนป้าเป็นลูกจ้างอยู่ในหน่วยงานทางป่าไม้ ก็เห็นเขาจ้างชาวบ้านเพาะกัน เราเห็นว่ามีรายได้ เลยเพาะกล้าขายบ้าง หลังลาออกจากการเป็นลูกจ้างในหน่วยงาน ก็ออกมาเพาะกล้าไม้ขายเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน”

แม้ว่ากล้าไม้ในพื้นที่ตำบลดินทอง จะเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศว่าเป็นแหล่งไม้ป่าที่มีครบทุกชนิด แต่ปัญหาการเพิ่มจำนวนเกษตรกรผู้เพาะกล้าไม้ยังคงไม่ยุติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคากล้าไม้ที่ตกต่ำอยู่แล้ว ตกต่ำลงไปได้อีกในอนาคต คุณสุเทพ ในฐานะกำนันตำบลดินทอง จึงมีแนวคิดสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม สำหรับการต่อรองซื้อวัตถุดิบ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตถูกลง มีความน่าเชื่อถือจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ โดยรวมกลุ่มเกษตรกรจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจเพาะชำกล้าไม้ตำบลดินทอง

“เกษตรกรผลิตกล้าไม้มีมากกว่า 200 ราย น้ำเต้าปูปลา แต่ที่รวมกลุ่มด้วยกันมีประมาณ 80 ราย ส่วนที่ไม่รวมกลุ่มอาจเป็นเพราะมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ขายกล้าไม้ได้ แต่เกษตรกรรายใดที่ยืนอยู่บนความเสี่ยง เมื่อรวมกลุ่มเราจะช่วยกันต่อรองราคาวัตถุดิบ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เช่น แกลบดำ ขนาด 1 รถสิบล้อ ราคา 4,500 บาท สามารถต่อรองให้เหลือเพียง 3,000-3,500 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้ลูกค้ามั่นใจ เพราะการสั่งกล้าไม้ในจำนวนหลักแสนขึ้นไป จำเป็นต้องมีการวางมัดจำ เพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งงานและลูกค้าไม่รับกล้าไม้ตามที่ตกลง เพื่อเป็นกติการะหว่างกัน แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์และแหล่งที่มา”

จากการเดินทางฝ่ากว่าพันโค้งไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถนนทางตรงแทบไม่มี มองไปทางไหนก็มีแต่สีเขียว ผลงานของเกษตรกรรมที่เกษตรกรสร้างไว้ โดยเฉพาะอำเภอแม่สะเรียง มีสิ่งละอันพันละน้อยที่เกษตรกรสร้างไว้มากมาย เก็บมาบรรยายได้นับไม่ถ้วน

เพราะห่างไกลความเจริญ เส้นทางเป็นภูเขาคดเคี้ยว ทำให้การติดต่อเป็นไปได้ยาก จึงเป็นความโชคดี เมื่อเราเดินทางไปพบคุณบุญยัง เทพแก้ว เกษตรกรที่ปลูกไผ่นอกฤดูประสบความสำเร็จมานานกว่า 10 ปี โดยไม่ได้นัดล่วงหน้ามาก่อน

นับถอยหลังไปเมื่อเริ่มปลูกไผ่ คุณบุญยัง อายุเพียง 40 เศษ เป็นเกษตรกรที่กล้าได้กล้าเสีย มีความคิดแตกต่างจากเกษตรกรรายอื่น เมื่อเขาลงทุนปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ เมื่อไม่ได้ผล จึงโล๊ะทิ้งทั้งสวน แล้วลงปลูกลำไย พยายามทำสวนลำไยให้เป็นเงินเกือบ 10 ปี ไม่ประสบความสำเร็จ ทุกปีมีแต่คำว่า “ขาดทุน” จึงหันไปมองพืชชนิดอื่น ตามวิสัยของเกษตรกรที่ไม่จมอยู่กับที่

“ผมไปแถวๆ ริมน้ำสาละวิน เขตชายแดนไทยติดต่อพม่า เห็นไผ่ขึ้นเยอะ ถามเพื่อนก็รู้มาว่า ไผ่ชนิดนี้เป็นไผ่ป่า ออกหน่อในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นฤดูที่ไผ่ทั่วไปไม่ออกหน่อ ผมจึงคิดจะนำกลับมาปลูก”

คุณบุญยัง เปลี่ยนจากสวนลำไย เป็น สวนไผ่ ทั้งหมด 20 ไร่