ซีพีเอฟผนึกกำลัง ธุรกิจพืชครบวงจร และ CP-Meiji เปิดศูนย์ผลิต

อาหารหยาบสำหรับโคซีพีเอฟผนึกกำลัง CPP CP-Meiji พัฒนาอาหารหยาบ “ข้าวโพดหมัก” หรือ Corn silage ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มีผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่เหมาะสม ส่งผลให้ได้น้ำนมดิบคุณภาพสูง และผู้บริโภคได้รับน้ำนมสดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ตั้งเป้าปี 62 ผลิตอาหารหยาบได้ 2 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจผลิตและขายอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจผลิตอาหารโคนมมานานกว่า 30 ปี โดยเฉพาะอาหารข้นสำเร็จรูป ขณะที่โคเป็นสัตว์เคี้ยงเอื้องมี 4 กระเพาะ จำเป็นต้องได้รับอาหารทั้งอาหารข้นและอาหารหยาบในสัดส่วนที่สมดุล ธุรกิจขายอาหารสัตว์บกซีพีเอฟ สำนักวิชาการอาหารสัตว์เครือเจริญโภคภัณฑ์ CP-Meiji และธุรกิจพืชครบวงจร-ข้าวโพด จึงร่วมกันดำเนินโครงการ “ศูนย์ผลิตอาหารหยาบสำหรับโคนม” ณ ฟาร์มพืชไร่ ตำบลแสลงพัน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี เพื่อนำหลักวิชาการมาพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะสม ด้วยการจัดหาพืชอาหารสัตว์ภายใต้โครงการผลิตข้าวโพดหมัก สำหรับเกษตรกรนำไปเป็นอาหารโคนม เพื่อให้ได้น้ำนมคุณภาพดี ป้อนให้กับโรงงานแปรรูปนมของ CP-Meiji ต่อไป

“ฟาร์มพืชไร่แสลงพันเป็นสถานที่วิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นศูนย์ผลิต Corn silage เนื่องจากรายล้อมไปด้วยฟาร์มโคนมที่หนาแน่นที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของซีพีเอฟที่ต้องการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในพื้นที่ที่มีความต้องการสูง โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายการผลิตที่ประมาณ 20,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท” นายเรวัติกล่าว

ด้าน นายสายัณห์ หงษา ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจพืชครบวงจร-ข้าวโพด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิวส์ จำกัด หรือ CPP กล่าวว่า ข้าวโพดหมัก เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกที่ถูกเลือกนำมาผลิต เนื่องจากมีวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้ในประเทศ และข้าวโพดอาหารสัตว์มีจุดเด่นที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนที่ดี มีอัตราการสะสมแป้งระยะสั้น อายุเก็บเกี่ยวไว ในขณะที่ใบยังเขียว ทั้งยังมีผลผลิตต่อไร่สูง ธุรกิจพืชครบวงจรจึงใช้ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาข้าวโพดมากว่า 40 ปี ในการทุ่มเทวิจัยและพัฒนาคัดสรรสายพันธุ์ข้าวโพดที่เหมาะสมสำหรับผลิต Corn silage ด้วยมุ่งหวังผลิตอาหารสัตว์ที่เป็นต้นน้ำทั้งอาหารข้นและอาหารหยาบ ส่งต่อแก่เกษตรกรฟาร์มโคนม เพื่อต่อยอดให้ธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปมีน้ำนมดิบที่สามารถควบคุมได้ตลอดกระบวนการ จนถึงมือผู้บริโภค

“การที่ CPP และซีพีเอฟ ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของเครือซีพีที่ได้ผนึกกำลังเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคง ขยายตลาด และเพิ่มโอกาสอุตสาหกรรมโคนมไทย ให้มีศักยภาพที่จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มีผลิตภัณฑ์อาหารหยาบ Corn silage ที่มีคุณภาพสูงและเหมาะกับความต้องการของโค ขณะเดียวกัน ทีมงานยังพัฒนาพื้นที่แปลงปลูกให้สามารถปลูกข้าวโพด นอกจากฤดูกาลที่ต้องผลิตเมล็ดพันธุ์หลัก นับเป็นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างสูงสุด” นายสายัณห์ กล่าว

วันที่ 3 เมษายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันงาน “5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” ณ ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวรายงานการจัดงานในครั้งนี้ว่า ทุกวันนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การเปลี่ยนแปลงอยู่หน้าประตูบ้าน อยู่ในครัว อยู่ในห้องนั่งเล่นของทุกท่าน ไอโอที (IoTs) เอไอ (AI) 5จี (5G) กลายเป็นคำคัพท์สามัญประจำบ้าน ทุกคนเริ่มเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เริ่มเล่นมือถือ คนแก่ที่เล่นไลน์ สะท้อนว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่ารัก ชอบ เกลียด ชัง อย่างไร แต่การเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว ทุกคนต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้

บริษัท มติชน ได้รับการอนุเคราะห์การจัดงานครั้งนี้ จาก กระทรวงดีอี กสทช. หัวเว่ย เอไอเอส ทรู คอร์ปอเรชั่น ดีแทค ซีพีเอฟ ไปรษณีย์ไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อกระตุ้นเตือนผู้คนในสังคมรับรู้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งนำเสนอตัวอย่างการใช้งานจริง (ยูสเคส) เพื่อให้ทุกท่านเห็นว่าเทคโนโลยีอยู่ใกล้ตัวเราเพียงใด เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศไทยไม่ให้ตกกระแสโลก เพราะเทคโนโลยี 5G เป็นความหวังของพวกเรา ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในประเทศนี้

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ดีอี ได้ร่วมมือกับ กสทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ใช้พื้นที่ มก.วิทยาเขตศรีราชา เป็นศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5จี ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมีเอกชนหลายรายสนใจเข้าร่วมโครงการทดสอบ 5จี ในครั้งนี้ด้วย เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ไปรษณีย์ไทย โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา โรงพยาบาลระยอง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) และ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. เตรียมศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจะขยายพื้นที่ทดสอบไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา เพราะหากไทยต้องล่าช้าในการก้าวสู่ 5G จะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน กสทช. จึงเร่งผลักดันเทคโนโลยี 5G ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยภายในปี 2563 สอดคล้องกับทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่า เทคโนโลยี 5G จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้กว่า 2.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2578

สถานการณ์ปัจจุบัน ข้อมูลนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการสหกรณ์ จึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยนวัตกรรม โดยพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองพฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบัน ให้ทันเทคโนโลยีและการสื่อสารที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งสหกรณ์โคนมท่าม่วง จำกัด เป็นอีกหนึ่งสหกรณ์ที่นำโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ไปใช้ และช่วยให้การบริหารจัดการระบบบัญชีมีความคล่องตัวขึ้น

นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีภารกิจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร เกษตรกร และประชาชน โดยการนำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการสู่ความสำเร็จ มีระบบบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีที่โปร่งใสและเข้มแข็ง โดยมีภารกิจหนึ่งที่สำคัญคือ การตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เป็นมาตรฐานสากล และกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดอย่างตรงไปตรงมา

ส่งผลประโยชน์สู่สมาชิกทั่วประเทศ และช่วยสร้างฐานรากเศรษฐกิจชุมชนที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งในการตรวจสอบบัญชี มีทั้งในรูปแบบการเป็นผู้สอบบัญชีเองและการควบคุมกำกับการสอบบัญชีของภาคเอกชน เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั้งหมดประมาณ 12,500,000 คน รวมทั้งผู้ที่จะใช้ข้อมูลด้านการเงิน การบัญชี ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชี

ทั้งนี้ กรมฯ ได้พัฒนางานระบบบัญชีและกลไกที่จะส่งเสริมระบบบัญชีให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และเท่าทันกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของสหกรณ์ ช่วยอำนวยความสะดวกให้สหกรณ์มีระบบการเงินการบัญชีและมีการควบคุมภายในที่ดี

สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างโปร่งใส รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่ทำหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบสหกรณ์แต่ละแห่งอย่างรู้เท่าทัน ซึ่งในเรื่องนี้ กรมฯได้เร่งพัฒนาสมรรถนะของผู้สอบบัญชีให้เป็น CYBER AUDITOR เพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการประกอบกิจการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่นับวันจะมีการพัฒนาแข่งกับธุรกิจเอกชนอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้ ในปัจจุบันสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีทุนดำเนินงานประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ

นอกจากนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้พัฒนาโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (Full Pack Accounting Software : FAS) ซึ่งประกอบด้วยระบบสมาชิกและหุ้น ระบบเงินให้กู้ ระบบเงินรับฝาก ระบบสินค้า และระบบบัญชีแยกประเภท เพื่อให้สหกรณ์มีระบบการเงินการบัญชีที่เป็นมาตรฐาน มีระบบการควบคุมภายในด้านสารสนเทศที่เหมาะสม

และเป็นการเพิ่มคุณภาพการให้บริการภาครัฐด้วย ปัจจุบัน มีสหกรณ์ที่นำโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจรไปใช้ในการจัดทำงบการเงินและการบริหารจัดการข้อมูลทางการเงินการบัญชี อีกทั้งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้พัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองพฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และเพื่อสร้างข้อมูลที่มีคุณค่าให้สหกรณ์ โดยมีนวัตกรรม Smart4M ที่สามารถใช้งานได้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ประกอบด้วย Smart Me แอปพลิเคชั่น

สำหรับสมาชิกสหกรณ์และบุคคลทั่วไปใช้ในการบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ Smart Member แอปพลิเคชั่น สำหรับสมาชิกสหกรณ์ ช่วยให้สมาชิกสหกรณ์สามารถตรวจสอบฐานะทางการเงินของตนเองได้ตลอดเวลา Smart Manage แอปพลิเคชั่น สำหรับกรรมการสหกรณ์ ใช้ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ และ Smart Monitor แอปพลิเคชั่นสำหรับผู้สอบบัญชี ผู้กำกับดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถติดตามความเคลื่อนไหว และความผิดปกติทางการเงินของสหกรณ์ ซึ่งจากนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกร สมาชิก กรรมการสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันอย่างคุ้มค่า

ด้าน นายปภณภพ เฉลิมกลิ่น ผู้จัดการสหกรณ์โคนมท่าม่วง จำกัด เปิดเผยว่า โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่สหกรณ์ขออนุญาตนำมาใช้ก็เป็นตัว Full Pack ซึ่งครบวงจรตั้งแต่บัญชีแยกประเภท บัญชีทั่วไป นอกจากนี้ ยังใช้แอปพลิเคชั่น Smart Member เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกสามารถเข้ามาดูตัวเรือนหุ้น เงินฝาก หรือหนี้สินที่เขามีอยู่ในสหกรณ์ รวมถึงการใช้แอปพลิเคชั่น Smart Managegr เพื่อให้คณะกรรมการที่บริหารงานผ่านระบบมือถือ สามารถดูข้อมูลงบ กำไร ขาดทุน วิเคราะห์ทางการเงินต่างๆ ผ่านระบบมือถือได้ ดูจำนวนเงินทั้งหมดของสหกรณ์ที่มีอยู่ในธนาคารว่ามีอยู่เท่าไร ซึ่งจะทำให้สะดวกสบายในการบริหารจัดการด้านการเงินของสหกรณ์ได้

ความแตกต่างระหว่างโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กับการทำบัญชีในแบบเดิม คือมีความสะดวกสบายขึ้น สามารถดูเรื่องของการเงินได้ รับรู้ความเคลื่อนไหวของเงินในสหกรณ์เป็นรายวันได้ กรณีสหกรณ์บันทึกบัญชีผิดพลาด มีปัญหา ก็แจ้งทางสำนักงานกรมตรวจ เขาก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไอทีมาดำเนินการแก้ไขให้ ซึ่งในจุดนี้สหกรณ์ได้ประโยชน์ สมาชิกก็ได้ประโยชน์ เพราะสหกรณ์ก่อสร้างมาโดยเงินของสมาชิกทุกคน และสหกรณ์เป็นของสมาชิกทุกคน ถ้าตัวองค์กรได้ประโยชน์ สมาชิกก็ได้ประโยชน์เช่นกัน

ทำให้เกิดความโปร่งใส โดยสมาชิกสามารถตรวจสอบได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น Smart Me และแอปพลิเคชั่น Smart Member สามารถดูได้ว่ามีความเคลื่อนไหวของตัวเองหรือเปล่า ถ้าในส่วนของผู้บริหารก็จะดูแอปพลิเคชั่น Smart Manage จะดูเรื่องการเงิน เรื่องหนี้สิน เรื่องเจ้าหนี้ว่าครบกำหนดการชำระแล้วหรือยัง ซึ่งในระยะเวลา 18-19 ปี ที่ผ่านมา การใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังไม่มีปัญหาอะไร อีกทั้งยังลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้เยอะ สามารถดึงข้อมูลมาใช้งานได้ทันที ที่สำคัญคือฟรี และมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรีมาให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง และสามารถนำข้อมูลที่เป็นซอฟต์แวร์ไปตรวจสอบบัญชีที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดได้อีกด้วย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เปิดงานวันสาธิตการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จากนั้นได้เดินทางไปยังแปลงข้าวโพด เพื่อขับรถเกี่ยวข้าวโพดในแปลงสาธิตและขับรถไถกลบเศษวัสดุการเกษตร และเยี่ยมชมจุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสหกรณ์การเกษตรบ้านตาก จำกัด ซึ่งนำอุปกรณ์การตรวจวัดความชื้นและการกำหนดราคารับซื้อข้าวโพดตามคุณภาพผลผลิต เพี่อมาสาธิตถึงขั้นตอนกระบวนการในการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร โดยสหกรณ์ได้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร ความชื้น 30% ราคา 6.26 บาท/กก. แต่หากเกษตรกรนำมาแปรสภาพให้เหลือความชื้นไม่เกิน 14.5% จะขายได้ 8.00 บาท/กก. ซึ่งทางสหกรณ์ได้รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรแล้วส่งจำหน่ายให้กับผู้แทนบริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) ก่อนส่งเข้าโรงงานผลิตอาหารสัตว์ต่อไป

พื้นที่จังหวัดตากเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา จำนวน 25,070.75 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2,876 ราย และมีสหกรณ์ในจังหวัดตาก เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 7 แห่ง สมาชิกเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดรวม 348 ราย พื้นที่รวม 3,002 ไร่ ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ตาก จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ้านตาก จำกัด สหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด สหกรณ์การเกษตรแม่สอด จำกัด สหกรณ์นิคมแม่ระมาด จำกัด สหกรณ์การเกษตรแม่ระมาด จำกัด และสหกรณ์การเกษตร พบพระ จำกัด

จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดตากที่ดำเนินตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา จะสามารถรวบรวมผลผลิตได้ จำนวน 25,543.62 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,000 กก./ไร่ ขณะนี้ได้ดำเนินการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว ประมาณ 2,283.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.11 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยสหกรณ์ในจังหวัดตากทั้ง 7 แห่ง

ได้เตรียมความพร้อมเปิดจุดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในแต่ละอำเภอ คาดว่าผลผลิตจะทยอยเก็บเกี่ยวระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2562 นี้ จึงจะแล้วเสร็จทุกพื้นที่ โดยเกษตรกรจะได้ผลตอบแทนไร่ละ 5,950 บาท เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวนาปรังให้ผลตอบแทนไร่ละ 3,300 บาท ดังนั้น เกษตรกรที่หันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จึงได้ผลตอบแทนมากกว่าปลูกข้าวนาปรัง 2,650 บาท ต่อไร่ ทำให้เกษตรกรจังหวัดตากลดพื้นที่นาปรังแล้วหันมาปลูกข้าวโพดตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความพึงพอใจกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยสู่เกษตรกร วางแผนใช้ ศดปช.-ศพก.-แปลงใหญ่ นำร่อง

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร​ ดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อยกระดับความรู้ด้านดินและปุ๋ยให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านดินปุ๋ยที่เหมาะสมจากงานวิจัยที่พร้อมขยายผล โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร เช่น ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนสีกลีบเลี้ยงของมังคุดและแนวทางแก้ไข ปุ๋ยชีวภาพ​พีจีพีอาร์และแนวทางการขยายผล การให้ปุ๋ยทางระบบน้ำ

ในอ้อยและมันสำปะหลัง ชุดตรวจสอบสังกะสีในดินเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว การจัดการสวนส้มโอเพื่อผลิตส้มโอคุณภาพสำหรับส่งออก และการใช้วัสดุปรับปรุงดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช เป็นต้น

นายสำราญ กล่าวอีกว่า เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการดินและปุ๋ยได้อย่างแม่นยำตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช จึงจัดให้มีการประชุม​เชิงปฏิบัติการ​ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและการแก้ปัญหาด้านดินและปุ๋ย แก่เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรทุกภูมิภาค ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1-6 สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และส่วนกลาง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในรูปแบบการบรรยาย สาธิต ฝึกปฏิบัติ นำเสนอแผนถ่ายทอดความรู้ และการจัดทำแปลงต้นแบบการเกษตรแม่นยำเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดินปุ๋ยจากงานวิจัยที่พร้อมขยายผลสู่เกษตรกรสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ศพก. และ​แปลงใหญ่​ต่อไป เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการ ลดต้นทุนการผลิตได้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิก ศดปช. ศพก. และแปลงใหญ่ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่ สศก. ได้คาดการณ์ถึงข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างไปแล้วนั้น ในส่วนของไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ได้ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ประมาณการไม้ผลในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต (ข้อมูล ณ 19 มี.ค. 2562) พบว่า

ผลผลิตในภาพรวม 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนมีจำนวน 542,797 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 396,168 ตัน (เพิ่มขึ้น 146,629 ตัน หรือร้อยละ 37.01) เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยตั้งแต่ต้นปี กอปรกับราคาไม้ผลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 โดยเฉพาะทุเรียน เกษตรกรจึงเอาใจใส่ดูแลสวนผลไม้มากขึ้น โดยผลผลิตต่อไร่ของทั้ง 4 ชนิดพืช มีทิศทางเพิ่มขึ้น เพราะสภาพต้นสมบูรณ์ พร้อมต่อการออกดอกติดผล ส่งผลให้ไม้ผลออกดอก ติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อจำแนกปริมาณไม้ผลแต่ละชนิดของภาคใต้ตอนบน พบว่า

ทุเรียน ภาคใต้ตอนบน มีเนื้อที่ยืนต้น 369,913 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 6.37 เนื้อที่ให้ผล 283,395 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 ผลผลิตรวม 338,270 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.94 ผลผลิตเฉลี่ย 1,194 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.80

มังคุด เนื้อที่ยืนต้น 190,621 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 0.23 เนื้อที่ให้ผล 181,681 ไร่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.71 ผลผลิตรวม 129,022 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.61 ผลผลิตเฉลี่ย 710 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.31

เงาะ เนื้อที่ยืนต้น 47,973 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 9.53 เนื้อที่ให้ผล 46,667 ไร่ ลดลงร้อยละ 10.27 ผลผลิตรวม 50,360 ตัน ลดลงร้อยละ 1.95 ผลผลิตเฉลี่ย 1,079 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.21 ทั้งนี้ เนื้อที่ให้ผลเงาะลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ทุเรียน มังคุด ส่งผลให้ผลผลิตลดลง

ลองกอง เนื้อที่ยืนต้น 57,443 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 22.77 เนื้อที่ให้ผล 56,121 ไร่ ลดลง ร้อยละ 22.33 ผลผลิตรวม 25,145 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.61 ผลผลิต 448 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.37 อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อที่ให้ผลลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีช่วงแล้งที่เหมาะสมให้ลองกองออกดอก มากกว่าปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ผลผลิตปีนี้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมของไม้ผลภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด คาดว่าจะมีผลผลิตรวมประมาณ 712,002 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีผลผลิต 529,385 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.20 โดยแยกเป็นผลผลิตภาคใต้ตอนบน จำนวน 542,797 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 76.24 ของผลผลิตทั้งภาคใต้) และผลผลิตภาคใต้ตอนล่าง จำนวน 169,205 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 23.76 ของผลผลิตทั้งภาคใต้) ทั้งนี้ คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ จะมีการประชุมพิจารณาร่วมกันอีกประมาณ 2 ครั้ง และจะได้ข้อสรุปเป็นข้อมูลเอกภาพประมาณเดือนกรกฎาคม ซึ่ง สศก. จะรายงานให้ทราบต่อไป

ด้าน นายชาญชัย ศศิธร ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) กล่าวว่า ผลผลิตจะเริ่มทยอยออกตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน และออกมากสุดในเดือนสิงหาคม ซึ่ง สศท.8 จะได้ลงพื้นที่สำรวจอีกครั้ง ช่วงกลางเดือนเมษายน ถึงปลายเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเตรียมวางแผนบริหารจัดการไม้ผล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป