ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดย สภาเกษตรกรจังหวัดชายแดน

ภาคใต้ ครอบคลุมสภาเกษตรกรจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล ปฏิบัติภารกิจคือรวบรวม คัดกรอง และคัดเลือกสมาชิกเกษตรกร องค์กรเกษตรและเครือข่ายสมาชิกองค์กรสภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นเกษตรกรรายย่อยเพื่อร่วมโครงการด้วยการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกไผ่เศรษฐกิจควบคู่ไปกับการทำเกษตรผสมผสาน ให้ได้พื้นที่การเพาะปลูกไผ่เศรษฐกิจและพืชพลังงานที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ ในระยะเวลา 3 ปี และตามกรอบเวลาดำเนินโครงการ 21 ปี

สภาเกษตรกรได้ประสานแผนการทำงานให้สอดคล้องกับภาคเอกชนและการสนับสนุนของรัฐ โดยทางประเทศเกาหลีใต้ขอให้จัดหาเกษตรกรและพื้นที่ปลูกอย่างน้อย 300,000 ไร่ เพื่อปริมาณวัตถุดิบที่มากพอจะลงทุนได้ และได้กำหนดเงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งโรงงานแปรรูปเบื้องต้น โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน นำไผ่มาสับ ป่น อัดแท่ง จัดส่งไปโรงงานใหญ่ที่กำลังจัดตั้งขึ้นแล้วนำวัตถุดิบเหล่านี้ส่งออกไปทางเรือ

ซึ่งเบื้องต้นต้องไปสำรวจเส้นทางท่าเรือที่เหมาะสมในการส่งออก เป้าหมายพื้นที่นำร่องปี 2562 คือ ตำบลกาบัง จังหวัดยะลา อย่างน้อย 3,000 ไร่ กับสายพันธุ์ “ซางหม่น” และ “บง” ด้วยเนื้อหนา ตัน น่าจะได้ชีวมวลมาก ปริมาณมาก โดยสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางทำหน้าที่จัดเตรียมกล้าไผ่ เอกสาร จัดเตรียมเกษตรกรร่วมกับท้องถิ่น โดย 4 บริษัทเอกชนจากประเทศเกาหลีใต้จะเป็นหน่วยรับซื้อกำหนดอัตราการซื้อขายที่ราคาระหว่าง 650-700 บาท ต่อตัน เป็นระยะเวลา 21 ปี (พ.ศ. 2563-2583) ซึ่งการกำหนดราคาข้างต้นจะเป็นไปตามราคามาตรฐานอ้างอิงตลาดต่างประเทศและพิจารณาถึงประโยชน์และรายได้ของเกษตรกรเป็นสำคัญ

“ใครๆ ก็ทราบว่าปาล์มน้ำมันกับยางพาราโอกาสน้อยมากที่ราคาจะทะยานขึ้นไปเหมือนเมื่อก่อน เพราะฉะนั้น ทางเลือกอื่นจึงมีความจำเป็นมาก สภาเกษตรกรฯ จึงเสนอไปว่าลองนำไผ่ไปปลูกดู ก็ปรากฏว่ามันเกิดได้ ทุกสัดส่วนของไผ่ทั้งข้อ กิ่ง ก้าน ปลาย โคน ราก เอามาสับ ป่น ใช้ประโยชน์ขายได้หมด ปลูกครั้งเดียวตัดได้ตลอดชีวิต จึงมั่นใจได้ว่าถ้าโครงการนี้เริ่มเดินหน้าภายใน 3 ปี 5 ปี พื้นที่ปลูกไผ่ที่ภาคใต้ก็จะเป็นแปลงใหญ่มาก เกษตรกรเองก็จะร่วมกันปลูกเพราะว่ามันสร้างรายได้ได้ดี สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้มากและก็ยั่งยืนด้วย ผมเชื่ออย่างนั้น” นายประพัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติยังได้กล่าวแนะนำว่า เมื่อปลูกไผ่แล้วก็ควรปลูกแซมด้วยไม้ยืนต้นที่มีราคาชนิดอื่น อาทิ ไม้เทพทาโร ไม้ตะเคียนทอง ไม้เคี่ยม ไม้สยา ไม้ดีๆ ที่มีมูลค่าเพราะป่าไม้ได้แก้กฎหมายแล้ว ไม้มีค่าทั้งหลายที่ขึ้นในพื้นที่ของประชาชนสามารถจะตัด ฟัน ซื้อขายได้อย่างเสรีเพราะถือเป็นกรรมสิทธิ์เจ้าของที่ จึงขอให้เกษตรกรวางแผนในการปลูกเพื่อการเกษตรที่มั่นคงและยั่งยืนกว่า เพื่ออนาคตของเกษตรกรเอง

เมื่อเร็วๆ นี้ นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิด “ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตร ตลาดเกษตรกรจังหวัดพิจิตร” อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ณ บริเวณศูนย์บริหารจัดการสินค้าเกษตร ตลาดเกษตรกรจังหวัดพิจิตร สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร

ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตร ตลาดเกษตรกร เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรนำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กระบี่ ชัยภูมิ กาญจนบุรี เชียงราย ลำปาง และพิจิตร เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการด้านการตลาด โดยคัดเลือกเกษตรกรที่มีศักยภาพการผลิต และความพร้อมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เข้ามาเรียนรู้ในการปฏิบัติจริง และประยุกต์ใช้ให้เกิดทักษะ ประสบการณ์ต่ออาชีพของตนเอง ว่าการผลิตอย่างไรจึงตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การพัฒนาสินค้าคุณภาพ มีมาตรฐานการผลิต GAP และอินทรีย์ ปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในระยะยาว สมกับคำว่า “เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย”

วันนี้ (15 ก.ค.62) การยางแห่งประเทศไทย จัดงานวันสถาปนาการยางแห่งประเทศไทย ครบรอบปีที่ 4 โชว์ผลงานนวัตกรรมยางพาราสร้างมูลค่าเพิ่ม จัดแสดงผลงานวิจัยยางพาราต่อยอดเชิงพาณิชย์ พร้อม ก้าวสู่ปีที่ 5 มุ่งมั่นพัฒนาระบบยางพาราสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานในพิธี กล่าวว่า ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะองค์กรกลางบริหารจัดการยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มุ่งเน้นส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนายางพาราระบบ โดยบูรณาการร่วมกับภาคเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการยางพารา เพื่อให้วงการยางพาราไทยมีความ เติบโต ก้าวหน้าและยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การแปรรูป และการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ผลักดันไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการยกระดับการผลิตสู่มาตรฐานสากล ได้แก่ GMP/GAP, FSC, มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสสาหกรรม (มอก.) เป็นต้น ตลอดจนการแก้ไขปัญหายางพาราในภาพรวมของประเทศให้บรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ การดำเนินงานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา พัฒนาระบบบริหารโรงงานยางพาราทั้ง 6 แห่งของ กยท. ภายใต้มาตรฐาน ISO 9001:2015

นายเยี่ยม กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานปีนี้ จัดให้มีพิธีตักบาตรเช้า พิธีสงฆ์ สักการะศาลพระภูมิ เพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีมอบรางวัลเชิดชูคนดีมีคุณธรรมของ กยท. ประจำปี 2562 พิธีมอบหุ่นยางพาราฝึกช่วยชีวิต CPR ภายใต้โครงการนวัตกรรมยางพาราเพื่อสังคมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย กยท. มอบหุ่นยางพาราให้หน่วยงานทางการแพทย์ ศูนย์กู้ชีพ สถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนและอบรมปฐมพยาบาลช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) และหน่วยงานอื่นที่ขอรับสนับสนุน

“กยท. ได้สนับสนุนพัฒนางานด้านวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิชาการ รวมถึงให้เกิดชิ้นงานเพื่อนำไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ กยท. มีส่วนร่วมสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ด้วยการผลักดันและส่งเสริมให้งานยางพาราของประเทศ ก่อเกิดรายได้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงสร้างความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายแพทย์ฆนัท ครุธกุล นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การพัฒนาและขยายผลการใช้ประโยชน์ระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ” เพื่อเป็นการยกระดับการดูแลและการให้บริการผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ

ที่เป็นสมาชิกของสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รองรับสังคมสูงอายุคุณภาพในอนาคต โดยมี ดร. นพัฐกานต์ เกิดแสง ฝ่ายวิชาการสมาคมฯ และผู้บริหารบ้านทิพย์รดา เอลเดอรี่แคร์ นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ดร. กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ A-MED สวทช. ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ เวทีกลาง ฮอลล์ 99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (บางนา)

ดร. กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือ การพัฒนาและขยายผลการใช้ประโยชน์ระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและการปฏิบัติงานของผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลที่ดี ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุที่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย พัฒนาทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการบริการและดูแลผู้สูงอายุของประเทศให้มีศักยภาพในการรองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2564 ซึ่งจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด จากนั้นจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super Aged Society) ในปี 2574 จะมีประชากรสูงอายุถึง ร้อยละ 28 ทำให้หลายฝ่ายตระหนักและให้ความสำคัญกับการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยและมีแผนงานบูรณาการซึ่งดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ ผ่านโครงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่ออนาคตสังคมสูงวัย ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริการที่เหมาะสมและเอื้อต่อการดำรงชีวิต

ดร. กัลยา กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ ร่วมมือกับ สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทยของผู้ประกอบการกิจการผู้สูงอายุในประเทศ เพื่อนำระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุไปใช้งาน มุ่งหวังให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาโดยนักนวัตกร และนักวิจัยไทย สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาธุรกิจการให้บริการและดูแลผู้สูงอายุ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุ (ผู้ใช้งาน) และ ผู้สูงอายุ (ผู้รับบริการ) ได้อย่างแท้จริง

สวทช. โดย ทีมนักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) และ สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ได้นำระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ ไปใช้ในระยะนำร่องปี 2562 ที่บ้านทิพย์รดาเอลเดอรี่แคร์ ซึ่งมีความพร้อมในการร่วมพัฒนาและขยายผลการใช้งานระบบบริหารสถานดูแลผู้สูงอายุ ร่วมกับทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ เสริมสร้างการให้บริการดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น

“จากการที่ได้สำรวจพื้นที่และความต้องการในเบื้องต้น จึงมีแผนพัฒนาระบบ เช่น ระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ ข้อมูลทางสุขภาพของผู้สูงอายุจะได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการพัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพในรายบุคคล และจะแจ้งเตือน หรือแนะนำผู้ดูแลให้ดำเนินการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม ระบบบริหารการดูแลผู้สูงอายุ (Care Plan Management) เป็นเครื่องมือในการช่วยการวางแผน ติดตาม ควบคุมคุณภาพ การดูแลผู้สูงอายุ สร้างความมั่นใจในบริการ สำหรับญาติหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ระบบบริหารจัดการด้านโภชนาการของผู้สูงอายุ เพื่อคำนวณอาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ที่ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์และครบถ้วน และ ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ผู้ดูแลสถานดูแลสามารถแจ้งไปที่สายด่วน 1669 ซึ่งจะมีการส่งข้อมูลพิกัดสถานดูแลผู้สูงอายุ พร้อมกับข้อมูลพื้นฐานทางสุขภาพของผู้สูงอายุไปพร้อมกันด้วย ทำให้การตอบสนองให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดและร่วมแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังสามารถขยายผลให้ครอบคลุมไปยังผู้ประกอบการกิจการผู้สูงอายุรายอื่น ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย อีกกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ อันจะเป็นการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมการให้บริการและดูแลผู้สูงอายุไทยได้อย่างครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อคุณภาพของผู้สูงอายุที่ดีขึ้น สร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจยุคเศรษฐกิจสูงวัยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายแพทย์ฆนัท ครุธกุล นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า สมาคมฯ มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกประมาณ 300 คน โดยสมาคมฯ ทำหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการของสมาชิก เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณภาพที่เป็นมาตรฐานในการบริการที่ดี ซึ่งจะส่งต่อการดูแลผู้สูงอายุที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้สมาคมฯ ได้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้สูงอายุจำเป็นต้องรับทราบว่าสถานบริการไหนมีมาตรฐาน ทั้งในเรื่องคุณภาพบริการและการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากนั้นแล้วสมาคมฯ เตรียมที่จะทำป้ายสัญลักษณ์ให้ทราบว่าสถานบริการดังกล่าวเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งในกรณีที่มีปัญหาสามารถประสานมาที่สมาคมฯ เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานงานเรื่องต่างๆ ได้ รวมทั้งเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จาก สวทช. เพื่อนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสมาคมฯ จะหารือร่วมกับสมาชิกเพื่อมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ด้าน ดร. นพัฐกานต์ เกิดแสง ฝ่ายวิชาการสมาคมฯ ในฐานะผู้บริหารบ้านทิพย์รดาเอลเดอรี่แคร์ เปิดเผยว่า งานวิจัยต่างๆ เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะโดยปกติในสถานดูแลผู้สูงอายุมีสหสาขาวิชาชีพมาดูแลผู้สูงอายุร่วมกันอยู่ก็จริง แต่การเช็กเอกสารผู้ป่วยผู้สูงอายุแต่ละท่านระบบเอกสารเยอะและใช้เวลานาน หรือการจะพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ ต้องมีการเขียนบันทึกใบส่งตัวเพื่อจะบอกอาหารให้แพทย์ทราบ หากมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก สวทช. ในการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและดึงข้อมูลออกมา น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ผู้ดูแลและแพทย์ได้ นอกจากนั้นแล้วระบบฉุกเฉินในการดูแลผู้สูงอายุ ที่สวทช. จะเชื่อมกับ 1669 ที่สามารถรู้ตำแหน่งของสถานบริการผู้สูงอายุได้ทันที ก็คิดว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่อยู่ประจำในสถานดูแลผู้สูอายุได้อย่างทันท่วงที

เกษตรกร กลุ่มอ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ประสบปัญหาหนัก ราคาตกต่ำต่อเนื่อง ภัยแล้ง ต้นทุนการผลิตพุ่ง แถมซ้ำเติมด้วยมาตรการจำกัดการใช้ 3 สารเคมี กำจัดศัตรูพืช วอนขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หันมาช่วยเหลือเกษตรกร

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า ปัญหาของราคายางตกต่ำเกิดขึ้นจากตลาดการซื้อขายยางล่วงหน้าจากประเทศจีน เกิดการบิดเบือนในราคาต้นทุนที่แท้จริง จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก้ไขปัญหาในระยะยาวมากกว่าการจัดการในระยะสั้น ด้วยนโยบายประชานิยม อาทิ การประกันราคายาง แต่อยากให้สานต่อแนวคิดของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการส่งเสริมให้แต่ละกระทรวงนำ ยางพารา ไปใช้ในการดำเนินงานต่างๆ รวมทั้งนำ พระราชบัญญัติควบคุมยางและพระราชบัญญัติของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2542 เข้ามาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกร และควบคุมการส่งออกได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ภาครัฐ ควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง ผ่านการอบรมให้ความรู้ สนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการนำสินค้าสู่ตลาดราชการ เพื่อให้สินค้าเกษตรเป็นอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า เช่น การนำยางมาแปรรูป เป็น โต๊ะ เก้าอี้ รองเท้า หรืออื่น ๆ ส่วนมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส นั้น รัฐควรแนะนำให้เกษตรกรใช้อย่างถูกต้อง และมีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ดีกว่าการยกเลิกใช้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบเกษตรกรรม เสียหายหลายแสนล้านบาท

ด้านเกษตรกรกลุ่มอ้อย กำลังประสบปัญหาเรื่องราคาอ้อยตกต่ำ จากเดิมเฉลี่ย ตันละ 1,000 บาท เหลือเพียง 700 บาท ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตที่หายไปกว่า ร้อยละ 30 และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากกระแสข่าวการแบนที่มีมาเป็นระลอก จนมาถึงข้อสรุปจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้มีการจำกัดการใช้ 3 สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย กล่าวว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อย 2 แสนครอบครัว กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ พิจารณาถึงข้อเท็จจริงของสารเคมีดังกล่าว โดยอ้างอิงผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้านการเกษตรเป็นหลัก รวมทั้ง ปัจจุบันยังไม่มีสารใดมาทดแทนการใช้สารเคมี พาราควอต ได้ในประสิทธิภาพและราคาที่เท่าเทียมกัน

ด้าน นายสมบัติ ศรีจันทร์รัตน์ ประธานกลุ่มเกษตรมันแปลงใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้เกษตรกรเข้ารับการอบรมและสอบให้ผ่าน เพื่อที่จะได้รับสิทธิ์ในการซื้อสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชนั้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถเก็บข้อมูลได้ แต่เกษตรกรเสียเวลาในการไปอบรมและเตรียมตัวเข้ารับการสอบ รวมทั้ง เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของภาครัฐ ในความเป็นจริง การจัดอบรมเกษตรกรเป็นเรื่องที่ทำมานานแล้ว หลายรายมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีอย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐออกนโยบายมาแล้ว เกษตรกรยินดีทำตามและให้ความร่วมมือ แต่อยากให้เห็นใจและช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มด้วย

ทั้งนี้ประเด็นพรรคฝ่ายค้านได้สอบถามความคิดเห็นภาคประชาชนเกี่ยวกับการใช้สารเคมีเกษตร และมองว่าจะแบนสารเคมี โดยเฉพาะสารพาราควอตนั้น กลุ่มเกษตรกรอ้อย ยางพารา และมันสำปะหลังต่างเห็นพ้องว่า หากพรรคฝ่ายค้านเองต้องการทำงานเพื่อปากท้องของประชาชนจริงและให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ ต้องลงมาถามความเห็นเกษตรกรจำนวน 12 ล้านคนที่จะได้รับผลกระทบหากมีการห้ามใช้สารพาราควอต เพื่อให้ได้รับข้อมูลรอบด้าน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรทันที

เดินทางไปเยี่ยมบ้านคุณวิชัย ศรีสวัสดิ์ ซอยหน้าโรงเรียนหนองบัวกลาง ม.2 ตำบลหนองบัว อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ โทร.094-2920537 เป็นเกษตรกรนักปฏิบัติ แปรทฤษฎีสู่การปฏิบัติ และเรียนรู้กับธรรมชาติได้อย่างน่าทึ่ง ศึกษาจากป่า นำแนวความคิดมาปลูกป่า อยู่กับป่าอย่างมีความสุข พร้อมบอกว่า “ไม่ต้องไปศึกษาดูงานหรือท่องเที่ยว” ตามที่ภาครัฐจัด

ตัวเขาเองเดินป่า ศึกษาจากธรรมชาติ เพราะที่นี่ คือ ตำราเรียน ที่ดีที่สุด “ป่า” เขาอยู่อย่างเกื้อกูลคุณวิชัย เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นคนรักธรรมชาติมาก เข้าป่า ศึกษาจากป่า มาวันนี้ ปลูกป่า พื้นที่ 4 ไร่ มีไม้ป่าหลัก ไม้ยางนา ไม้เต็งรัง ไม้จิก ไม้แดง ไม้ธรรมชาติ มากมายพืชสมุนไพรทุกชนิดมีในป่าแห่งนี้ ไม้เสริม เถาวัลย์ พืชรับประทานเป็นอาหารได้ มีอีผุกหรือบุก อีลอก ขิง ข่า ตะไคร้ สับปะรด ผักหวานป่า กล้วย มะพร้าว ปลูกแบบป่าผสมผสาน “พี่ใหญ่เลี้ยงน้องเล็ก” ผมรักธรรมชาติ รักป่า จึงดำเนินการปลูกป่า ทำทางเดินเล็กๆ สองข้างทางมีอาหารให้รับประทานได้ สิ่งที่คืนให้ธรรมชาติ คือ “ผักหวานป่า” โยนเมล็ดเข้าป่า ผักหวานป่าเกิดได้ อยู่ได้ ทนทานหลายปี ต้นที่หลังบ้าน 25 ปี แล้ว รากถึงที่ไหนเกิดเป็นต้นใหม่ เก็บรับประทาน เก็บขาย หรือให้คนเข้าไปเก็บเอง นั่งเฝ้าตราชั่ง รับเงินที่ปากทาง งานง่าย มีรายได้งาม จาก “ป่า” ที่ตนเองสร้างขึ้น

คุณวิชัย บอกว่า ผักหวานป่า มีต้นตัวผู้ติดดอกไม่ติดผล เก็บดอกขายราคางดงามมาก ต้นตัวเมีย ติดทั้งดอกทั้งผล มองดูผลผักหวานป่า คล้ายผลมะไฟ สวยงามอีกแบบ การปลูกให้เป็นแบบ “พี่เลี้ยงน้อง” คือ เพาะกล้าแคบ้าน ปักเมล็ดหรือผลผักหวานไปพร้อมๆกัน ต้นแคเจริญเติบโต พร้อมต้นผักหวาน อย่าให้รากแก้วงอ นำไปปลูกตามพื้นที่ที่เตรียมไว้ ขุดหลุมปลูกดินกลบโคน หันหลังให้ หลังฝนมาดูอีครั้ง มีชีวิตคือรอด “ผักหวานป่า” เขาต้องการอยู่แบบ “ผักป่า” ไม่ต้องเอาใจใส่มาก จะรดน้ำพรวนดิน ดีอย่างไร หาก “ผักหวานจะตาย” คือ ผักหวานไม่รอด แต่ที่ สวนป่า “พี่ใหญ่เลี้ยงน้องเล็ก” แห่งนี้ ปลูกแบบ “เมล็ดผักหวานพร้อมเมล็ดต้นแค” คือปลูกพร้อมๆกัน เก็บแคขายดอก พบต้นผักหวานเจริญเติบโตควบคู่ไปด้วย หากท่านต้องการเที่ยวชม แวะนะครับ หลังบ้าน มีผักหวาน ต้นเล็ก ต้นใหญ่ เกิดจากธรรมชาติ จากราก จากเมล็ด มีต้นตัวผู้ ต้นผักหวานตัวเมีย งานง่ายๆ งานปลูกป่าเพื่อชีวิต ครับ

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย สุตาภัทร ม่วงนา ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท.

ยางพารา เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเกษตรกรกว่า 1.4 ล้านครัวเรือน ถามว่า ทำไมไทยถึงปลูกยางพารามากขนาดนี้? ต้องบอกว่า ยางพารา เป็นพืชที่มีข้อดีหลายประการ

ประการแรก คือ ยางเป็นพืชที่ทำรายได้สม่ำเสมอ เพราะเป็นพืชที่กรีดได้เกือบทุกวัน เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีตลาดรองรับ 100% และยังมีเงินบำเหน็จจากการขายไม้ยางหลังการโค่นยาง
ประการที่สอง ยางเป็นพืชที่มีต้นทุนเฉลี่ยต่ำ โดยยางต้นหนึ่งสามารถให้ผลผลิตนานกว่า 15 ปี ช่วงเวลาทำงานไม่มาก เพียง 4-5 ชั่วโมง ต่อวัน และหลังจากปลูกแล้ว เกษตรกรเลือกใส่หรือไม่ใส่ปุ๋ยและยาบำรุงรักษาก็ได้

ประการสุดท้าย คือ เกษตรกรมีความคาดหวังต่อยางสูง โดยคาดว่าราคายางในอนาคตจะสูงขึ้นไปเกินกว่า 100 บาท ต่อกิโลกรัม ดังเช่นในอดีต

ด้วยข้อดีและความคาดหวังตามที่กล่าวมา ทำให้ยางพาราเป็นพืชที่เกษตรกรนิยมปลูก และแม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคายางพาราเองได้ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความผันผวนของราคา ส่งผลให้รายได้ไม่แน่นอน แล้วเกษตรกรจะรับมือกับความเสี่ยงนี้ได้อย่างไร?