ดังจะเห็นได้จากการที่พืชชนิดเดียวกันที่ทำการปลูกจากพื้นที่

ต่างกันซึ่งได้รับธาตุอาหารในดินแตกต่างกันและได้รับปัจจัยภายนอกจากสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันทำให้มีปริมาณสารกาบาที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจัดการระบบการปลูกให้มีปัจจัยที่เหมาะสมต่อการสร้างและสะสมของสารกาบาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเพิ่มปริมาณสารกาบาในพืช นอกจากนี้ยังสามารถใช้ความหลากหลายในการสร้างพืชเฉพาะถิ่นที่มีสารสำคัญสูงได้อีกด้วย

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ได้แก่ อุณหภูมิระหว่างการเก็บรักษา และองค์ประกอบของบรรยากาศระหว่างการเก็บรักษา ตัวอย่างเช่นในมะเขือเทศบางสายพันธุ์ที่มีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิต่ำ เมื่อนำมะเขือเทศเหล่านี้มาทำการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ จะทำให้มะเขือเทศสร้างสารกาบาเพิ่มขึ้น หรือการเก็บรักษาลำไยที่อุณหภูมิต่ำ นอกจากทำให้ลำไยมีคุณภาพดีแล้วยังทำให้ลำไยมีปริมาณสารกาบาสูงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของปริมาณสารกาบาและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอื่นๆ ในพืชขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งพืชแต่ละชนิดมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิธีที่เหมาะสมในแต่ละชนิดพืชและชนิดของสารสำคัญนั้นๆ ซึ่งจะทำให้เราได้บริโภคผักและผลไม้ที่นอกจากจะรสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังอุดมไปด้วยสารสำคัญอื่นๆ ที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างสุขภาพแก่ผู้บริโภค

นางลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผักและผลไม้ นอกจากจะเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็นแล้ว ยังเป็นแหล่งของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ที่มีผลดีต่อสุขภาพทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การส่งเสริมการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย การชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะ รวมทั้งการป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ การผลิตผักและผลไม้ที่เดิมมุ่งเน้นที่รูปลักษณ์และรสชาตินั้น ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชเพื่อให้ผักและผลไม้เหล่านั้นมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้นและมีสารสำคัญที่สามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพในปริมาณที่สูงขึ้น

วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ประสบผลสำเร็จในการศึกษาวิจัยการเกษตรฟังก์ชั่น (Functional Agriculture) เพื่อผลิตผักและผลไม้ที่มีคุณสมบัติเป็นอาหารฟังก์ชั่นแบบครบวงจร จำนวน 3 วิธี ได้แก่ 1.การพัฒนากระบวนการผลิตพืชเพื่อควบคุมการสร้างและสะสมสารสำคัญในผักและผลไม้ระดับแปลงใหญ่ 2.การผลิตพืชในระบบปิดด้วยแสงเทียม หรือโรงงานปลูกพืช (Plant Factory) เพื่อควบคุมการเจริญเติบโตและการสร้างสารสำคัญ ซึ่งต้องมีการลงทุนเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในระบบ

จึงเหมาะสมสำหรับเกษตรกรหรือผู้ผลิตที่มีความพร้อมด้านการเงิน ทั้งนี้ วว.ได้วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้เชิงสังคมมาตั้งแต่ พ.ศ 2554 จนถึงปัจจุบัน และ 3.การพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มปริมาณสารสำคัญก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยวิธีสุดท้ายนี้เหมาะสมกับเกษตรกรทั่วไปที่ไม่มีศักยภาพด้านการลงทุน สามารถใช้ได้กับผลผลิตผักและผลไม้ที่มีการปลูกแบบปกติ เพียงแต่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวโดยการควบคุมสิ่งแวดล้อมระหว่างการเก็บรักษา เช่น การใช้อุณหภูมิที่เหมาะสม การปรับองค์ประกอบของบรรยากาศให้เหมาะสม รวมทั้งการกระตุ้นด้วยสภาวะเครียดต่างๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตผลแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณสารสำคัญในตัวผลผลิตอีกด้วย

“จะเห็นได้ว่าการบริโภคผักและผลไม้ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี ซึ่ง วว.พัฒนาขึ้นนั้น จะไม่ใช่เพียงนำมาบริโภคเป็นอาหารเท่านั้น แต่ผักและผลไม้ยังทำหน้าที่อื่นๆ ให้แก่ร่างกาย นอกเหนือจากการให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็นและรสสัมผัสอาหารแล้ว ยังสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพในปริมาณที่สูงขึ้น ผักและผลไม้เหล่านี้จึงมีคุณสมบัติที่เป็นมากกว่าอาหาร” ผู้ว่าการ วว.กล่าว

สังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันกันสูง ทำให้หลายคนมุ่งมั่นทำงานจนลืมดูแลตัวเอง แต่สุขภาพเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามิน แบลคมอร์ส จึงได้จัดงาน แบลคมอร์ส 85 แอนนิเวอร์เซอรี่ ออฟ เวล บีอิ้ง เชิญ พญ.ธิศรา วีรสมัย หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 1 มาร่วมไขความลับวิตามินชีวิต

พญ.ธิศราเผยว่า ปัจจุบันวงการแพทย์ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตที่ส่งผลให้สุขภาพดี ทั้งในแง่การป้องกันโรคเรื้อรัง การบำรุงรักษาสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันคือการกินดี อยู่ดี หลับดี และมีความสุข เริ่มจากการกินดี จากที่เคยเน้นรับประทานให้ครบ 5 หมู่ แต่ขณะนี้อาหารที่ดีต้องมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ หวานน้อย กากใยสูง ผักผลไม้ควรปลูกในดินที่อุดมด้วยสารอาหาร จะทำให้พืชผักมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงควรเลือกทานผัก ผลไม้ที่หลากสี เพื่อให้ได้วิตามินเพิ่ม โดยเลือกผัก ผลไม้สีเข้มจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ

ต่อเนื่องด้วยการอยู่ดี พญ.ธิศราเผยว่า ควรแบ่งเวลาออกกำลังกาย 2-3 วันต่อสัปดาห์ เพราะคนวัยทำงานต้องเจอกับความเครียด ปวดคอ บ่า ไหล่ หรือออฟฟิศซินโดรม จึงควรสอดแทรกการออกกำลังกายไปในชีวิตประจำวัน เช่น ยืดกล้ามเนื้อแบบง่ายๆ ให้กล้ามเนื้อคลายตัวขณะทำงาน จะทำให้ลดการปวด สุดท้ายคือการหลับดี ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งช่วงเวลา 22.00-01.00 น. เป็นช่วงที่ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมน วิตามินหรือสารอาหารที่ทานเข้าไปก่อนหน้า ยังสามารถออกฤทธิ์ เป็นการต้านอนุมูลอิสระได้ซ้ำอีก สุดท้ายคือคิดบวก มีความสุข ขอบคุณทุกสถานการณ์ในชีวิต ทั้งหมดนี้คือการเติมวิตามินให้ชีวิต

ส่วนคนที่มีความเครียด ควรทานวิตามินบี ที่อยู่ใน ถั่ว ธัญพืช ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ช่วยบำรุงสติปัญญา สมอง และกล้ามเนื้อ นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่า การทานวิตามินบีร่วมกับไบโอตินและโฟเลต จะช่วยคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ ได้ดี รวมถึงยังมีการศึกษาพบว่า คนไข้ที่มีภาวะซึมเศร้า จิตตก เครียด ร่างกายมีความต้องการสารอาหารประเภทวิตามินซี สังกะสี และแมกนีเซีย เพิ่มอีกด้วย เหล่านี้คือบรรดาวิตามินต้านเครียด ซึ่งสามารถหาได้จากอาหารและเสริมด้วยวิตามิน

ไปทวายกี่ครั้งแล้ว มักจะมีคนถามแบบนี้บ่อยครั้ง แล้วฉันก็จะไล่นิ้วนับ…ครั้งแรกไปกับทีมนักข่าวชายขอบบินไปจากย่างกุ้ง เครื่องบินแวะรับส่งคนที่มะริดก่อนราวกับนั่งรถทัวร์ ครั้งต่อมาไปงานกฐินของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมจัดร่วมกับเสมสิกขาลัย ครั้งที่สามไปกับกลุ่มช่างภาพ จัดโดย เสมสิกขาลัย ครั้งที่สี่ร่วมกับเสมสิกขาลัยอีกนั่นแหละ แต่เป็นงานโครงการศิลปะชุมชนร่วมจัด นำศิลปินไปสร้างงานศิลปะและปฏิบัติการศิลปะกับเยาวชนที่บ้านกาโลนท่า

และสืบเนื่องจากโครงการศิลปะชุมชนที่ทวายครั้งนั้น กลายมาเป็นงานหลงรักทวายที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร [bacc] งานประสบผลเป็นอย่างงาม ผู้คนมาร่วมอบอุ่นคับคั่ง งานหลงรักทวายครั้งที่สองจึงมีขึ้นที่เมืองทวาย ซึ่งทำให้ฉันได้เดินทางมาทวายเป็นครั้งที่ห้า…

ระยะทางจากด่านพุน้ำร้อน กาญจนบุรี ถึงตัวเมืองทวายราวๆ 130 กิโลเมตร แต่ด้วยเส้นทางดินแดงไต่ขึ้นลงภูเขา ประกอบกับช่วงหลังฝนไม่นาน ทำให้ถนนเต็มไปด้วยหลุมบ่อขรุขระ รถตู้ต้องแล่นโขยกเขยกระมัดระวังไปช้าๆ จนกินเวลาถึง 8 ชั่วโมง กว่าจะถึงที่หมาย แว่วว่าบางคนถึงแก่กระอักกระอ่วนจนแทบคายอาหารเก่าในกระเพาะออกมา กระนั้นด้วยการเดินทางที่มีแต่คนใจเดียวกัน เราจึงผ่านไปได้อย่างสนุกสุขสม แม้บางคนจะอิดโรยไปบ้างก็ตาม

เห็นความเปลี่ยนแปลงของทวายมาตั้งแต่ครั้งที่สองที่ได้มาเยือน ที่พักเดิมซึ่งเคยเป็นเรือนหลังใหญ่ มีระเบียงให้นั่งเล่นดื่มกินสนทนา ปรับเปลี่ยนเป็นโรงแรมตึกหลายชั้นราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว รถบนถนนจอแจหนาตาขึ้นโดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ ขณะที่เสียงกรุบกรับของเกือกม้าที่แล่นรับส่งผู้โดยสารเบาบางลง กระนั้นทวายก็ยังยวนเสน่ห์ด้วยวิถีชีวิตที่ไม่เร่งร้อน และอาคารบ้านเรือนแบบเดิมที่ยังคงมีให้เห็นสองฝั่งถนนหนทาง

พวกเรามาถึงก่อนงานหลงรักทวาย เพื่อจะได้มีเวลาสัมผัสวิถีชีวิตผู้คนและทำงานศิลปะตามถนัด แห่งแรกที่เราได้ไปคือ หมู่บ้านเมียวพิว ที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา เราได้รับรู้ข้อมูลมาก่อนหน้านี้แล้วว่าชาวบ้านที่นี่ต้องใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก เพราะแม่น้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้มาแต่สมัยดั้งเดิมนั้นได้เหือดหายไปทั้งสาย บ่อน้ำที่มีอยู่เต็มไปด้วยสารปนเปื้อนจนไม่สามารถนำมาใช้สอยได้ แรกที่ได้ฟังข้อมูลฉันยังนึกภาพไม่ออกว่าสภาพแม่น้ำที่แห้งไปทั้งสายนั้นเป็นเช่นไร ต่อเมื่อได้มายืนอยู่บนสะพานที่ชาวบ้านเมียวพิวเคยใช้ข้ามไปมาก็ให้สะท้อนใจ ด้วยว่าสิ่งที่ปรากฏในสายตาหาใช่สายน้ำใสไหลเย็น ทว่ากลับมีแต่ดินแห้งโหย

แม่น้ำทั้งสายหายไป ฉันนึกถึงคำถามของปลาที่คงจะดิ้นพล่านตะเกียกตะกาย ไม่มีน้ำ ปลาจะอยู่ได้อย่างไร ลมหายใจผะแผ่วกับคำถามก่อนตาย…แม่น้ำหายไปไหน

เหมืองเฮงดามีมาตั้งแต่ครั้งอาณานิคม ตามข้อมูลที่ปรากฏระบุว่า ครั้งกระนั้นยังไม่ปรากฏผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เห็นอย่างรุนแรง กระทั่งมีบริษัทเข้ามารับช่วงการทำเหมืองดีบุกเฮงดา ในปี พ.ศ. 2542 จึงเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตผู้คน โดยเฉพาะชาวบ้านหมู่บ้านเมียวพิวได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาที่สุด ในช่วงฤดูฝนกรวด หิน ดิน ทราย กากแร่ และสารพิษต่างๆ ไหลลงสู่แหล่งน้ำ

จนไม่สามารถนำมาใช้สอยได้ กระทั่งน้ำบ่อในบ้านที่ขุดไว้ใช้สอยก็กลายเป็นสีสนิม

บ้านเรือนใต้ถุนสูงก็ถูกตะกอนดินที่ไหลลงมาทับถมจนเสาเรือนหดสั้นแทบจะกลายเป็นบ้านชั้นเดียว หรือแม้แต่เจดีย์เก่าแก่ที่สร้างขึ้นจากความศรัทธาบนเนินสูง ยังกลับกลายเป็นเจดีย์เตี้ยติดพื้น ซุ้มประตูถูกดินถมทับจนชาวบ้านต้องช่วยกันขุดย้ายขึ้นมาวางไว้อีกที่ ทุกสิ่งอย่างของบ้านเมียวพิวผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างน่าเศร้าใจ

กระบวนการทำเหมืองแบบฉีดต้องใช้น้ำจำนวนมาก ประกอบกับตะกอนที่ไหลลงแหล่งน้ำ ทำให้แม่น้ำลำคลองตื้นเขิน นานวันเข้าสายน้ำก็เหือดแห้ง ทิ้งไว้เพียงร่องน้ำ เป็นเรื่องน่าเศร้าอีกเรื่องที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง เป็นการกระทำที่เกิดจากความละโมบโลภคลั่ง เห็นแก่ผลประโยชน์ตัวเองอย่างไม่คำนึงถึงชีวิตมนุษย์ด้วยกันเอง

พวกเราล่ำลาชาวบ้านด้วยหัวใจที่ถ่วงหนัก ที่น่าเจ็บปวดก็ตรงที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าให้กำลังใจกัน ซึ่งไม่ต่างกับหลายๆ พื้นที่ ที่ได้ไปเยือน เราจากมาอย่างทำอะไรไม่ได้มาก

จากหมู่บ้านเมียวพิว มีเวลาเหลือพอจึงได้แวะถนนที่เราเรียกกันว่า “ถนนสายต้นตาล” ครั้งแรกที่ฉันมาทวายคนนำทางก็พามาหย่อนใจที่ถนนสายนี้ ถนนสายเล็กๆ ที่สองข้างทางเรียงรายไปด้วยต้นตาล แน่ละว่าหลายจังหวัดที่บ้านเมืองเราก็มีต้นตาล แต่ที่นี่ออกจะพิเศษตรงที่ทิวตาลสองฝั่งนั้นมีเพิงขายน้ำตาลเมาและลูกตาลสดที่ปาดกินกันสดๆ

ตอนที่ได้มาทวายครั้งที่สองมีข่าวว่าทางการห้ามขายน้ำตาลเมา ถ้าจะขายต้องมีใบอนุญาตและเสียภาษี เป็นเหตุให้คนทำน้ำตาลเมาต้องแอบขาย เพราะไม่คุ้มกับการต้องจ่ายภาษี จำได้ว่ามาทวายอีกครั้งนั้นเราต้องแอบซื้อน้ำตาลเมามากินกันพอหายอยาก กลับมาครั้งนี้ทางการยกเลิกคำสั่ง เพิงขายน้ำตาลเมาริมทางใต้ต้นตาลจึงเปิดขึ้นอีกครั้งอย่างคึกคักสนุกสนาน

นอกจากเครื่องดื่มจากต้นตาล ยังมีกับแกล้มที่กินกันอย่างเพลินปาก ทั้งปลาย่าง ยำใบชา ถั่วมันๆ ถนนต้นตาลเป็นเส้นทางหย่อนใจง่ายๆ ราคาไม่แพงของชาวทวาย และเป็นที่คลายใจของพวกเราที่เคร่งเครียดกลับมาจากเรื่องราวของเหมืองแร่ดีบุกกับชาวบ้านเมียวพิว จนอยากร้องเป็นเพลงออกมาว่า…ภูเขาเลื่อนไหลลงมากลบถมแม่น้ำ ฝูงปลาถามว่า แม่น้ำหายไปไหน

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยแพร่ สภาพของแนวปะการังบริเวณเกาะยูง ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จากการสำรวจล่าสุดเมื่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา พบว่าแนวปะการังมีการฟื้นตัว และมีสภาพสมบูรณ์ขึ้น มีปะการังวัยอ่อนเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยพบปะการังโคโลนีเก่าเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น และยังพบปะการังเขากวางเกิดใหม่ ที่มีสภาพสมบูรณ์ หลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศปิดเมื่อกลางปี 2558 ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าไปทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เพื่อต้องการฟื้นฟูแนวปะการัง มาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ทำให้แนวปะการังในพื้นที่เริ่มฟื้นตัวจนใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุ การประกาศเขตสงวนและอนุรักษ์ได้ผลจริง

ด้านนายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ปะการังบริเวณดังกล่าวได้รับเสียหายจากภาวะน้ำทะเลร้อนขึ้น รวมถึงการเข้าไปทำกิจกรรมของนักท่องเที่ยว จึงได้ดำเนินมาตรการฟื้นทะเลกระบี่ให้กลับคืนมา พีพีโมเดล โดยหลังจากนี้จะยังคงปิดเกาะยูงต่อไปเพื่อให้สิ่งแวดล้อมกลับสู่สภาพเดิมมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงาน “วันยางพาราและกาชาดจังหวัดบึงกาฬ ประจำปี 2561” ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ระหว่างวันที่ 17-23 มกราคม 2561 ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ ว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตลอดงาน มีการแสดงนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับการทำอาชีพยางพาราแล้ว ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ค้าตลาดยางพาราทั้งในและต่างประเทศพบปะเจรจาซื้อขายกับเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

นอกจากนี้แล้วมีตัวแทนจากบริษัทค้ายางใหญ่ ๆ เข้าร่วมมากมาย อาทิ นายหยวน จงเสว่ ผอ.ศูนย์วิจัยยางและพัฒนาเทคโนโลยียางรถยนต์แห่งประเทศจีน ประธานกรรมการใหญ่ บริษัทเมสนัค กรุ๊ป จำกัด, บริษัทไทยฮั้วระยองยางพารา จำกัด, บริษัท เบทต้า ลาเท็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศไทย, บริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สิ่งที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากการขายน้ำยางปีนี้ คือชาวสวนยางสามารถทำกำไรจากการขายไม้ยางพาราเพิ่มขึ้น แทนที่เมื่อหมดน้ำยางแล้วต้องโค่นทิ้ง ก็สามารถขายต้นยางได้ ซึ่งตลาดจีนต้องการอย่างมาก คาดว่าความต้องการไม้ยางพาราจะเพิ่มขึ้นราว 3% คือจาก 20 ล้านตัน ในปี 2016 เป็นราว 23 ล้านตัน ในปี 2020 เพราะนอกจากใช้ทำเฟอร์นิเจอร์แล้ว ยังใช้เป็นเชื้อเพลิงของพลังงานชีวมวลด้วย

นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ราคาน้ำยางสดวันนี้ไม่สู้ดีเหมือนในอดีต แต่ราคาไม้ยางกลับพุ่งสูงขึ้นมาก สำหรับเกษตรกรที่มีต้นยางเก่า หมดอายุการกรีดแล้ว หากตัดต้นยางออกขายในตอนนี้จะมีรายได้จากการขายไม้ยาง ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 70,000-80,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสวยของเนื้อไม้ยางเป็นหลัก

“จากการเยี่ยมชมโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์รัฐวิสาหกิจของจีน ได้เสนอแนวคิดขอแลกยางแท่ง ยางแผ่น กับยางล้อรถยนต์ของจีนได้หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่ารัฐบาลจีนยินดี

“ผมจึงอยากเสนอแนวคิดนี้ให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคมของไทย ซึ่งปกติต้องซื้อยางล้อรถจำนวนมาก ในกิจการรถขนส่ง รถเมล์ รถบรรทุก ประกาศรับซื้อยางแท่ง ยางแผ่นรมควันจากกลุ่มเกษตรกรสวนยางในราคาที่เหมาะสม เพื่อนำยางที่ซื้อไปแลกกับล้อยางรถยนต์ของจีนในอนาคต หากแนวคิดนี้สามารถใช้ได้ จะช่วยดึงผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปเข้าสู่ตลาดและช่วยยกระดับราคายางภายในประเทศ”

เมื่อช่วงเสาร์อาทิตย์ต้นปี ผมได้ไปเที่ยว “ตลาดซาวไฮ่” ที่หน้า อบต.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เป็นตลาดชาวบ้านที่เน้นสินค้าพืชผักพื้นเมืองปลอดภัย มีของดีๆ แปลกๆ จากชุมชนในอำเภอบ้านไร่ ที่ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ลาวคั่ง ลาวด่าน ลาวเวียง กะเหรี่ยงโพล่ง ฯลฯ จึงไม่ผิดหวังเลยครับ ถ้าใครอยากจับจ่ายซื้อหาผักผลไม้คุณภาพเยี่ยม อย่างฟักหอมราคาไม่แพง เผือกกะเหรี่ยงที่กินสดๆ ได้อร่อย ส้มโอรสเลิศ พริกขี้หนูแห้งกลิ่นหอมฉุน เผ็ดร้อนแรงสุดสุด

ของขึ้นชื่ออีกอย่างของบ้านไร่ คือ “ปลาร้าหมู” ชาวบ้านทำโดยหั่นเนื้อหมูส่วนสันคอและสามชั้นหมักเกลือและข้าวคั่วไว้เพียงไม่กี่วัน กลิ่นมันหอมอ่อนๆ เหมือนปลาร้าที่ทำดีๆ มีรสเปรี้ยวเจือมากน้อยตามแต่เวลาที่หมักไว้ ถ้านานก็เปรี้ยวมาก คนขายบอกว่า แต่ก่อนใช้เนื้อหมูป่า เวลาจะกินก็มักเอามาผัดใส่หอมแดง ตะไคร้ พริก คล้ายๆ ปลาร้าสับผัดนั่นเอง

กับข้าวแนวนี้ที่ผมเคยเห็นเคยกินก็คือปลาร้าสับผัดใส่หมูสับ คือใช้เนื้อปลาร้าสับเป็นต่างพริกแกง กลิ่นหมูผสมกลิ่นและรสเค็มหอมของปลาร้าสับในกระทะผัดน้ำมันร้อนๆ นับว่าเหมาะกันมากๆ ใครได้กินแกล้มผักสดกรอบๆ ก็มักติดใจทุกรายไป

ทีนี้ พอเราได้อะไรที่เหมือนว่าหมูกับปลาร้ามันรวมตัวอยู่ในร่างเดียวกันแล้วแบบนี้ก็น่าสนุกซีครับ

ผมเห็นพริกแกงเผ็ดของตลาดซาวไฮ่แล้วอยากจะเหมาซื้อตัวแม่ค้ามาเลยทีเดียว เพราะทั้งสี เนื้อพริกแกง รสเผ็ดพริกแห้งและหอมเครื่องสมุนไพรสดนั้นมันสุดยอดมากๆ ก็เลยคิดว่าจะลองเอาปลาร้าหมูคุณภาพเยี่ยมนี้มาผัดพริกแกงล่ะครับ

แล้วจะแต่งกลิ่นด้วยอะไรดี ?

เมื่อนึกถึงกลิ่นปลาร้า กลิ่นพริกแห้ง ผมลองจินตนาการถึงสำรับกับข้าวแบบวัฒนธรรมลาว ซึ่งมักมีกลิ่นหอมฉุนออกเปรี้ยวนิดๆ ของใบแมงลัก (Lemon basil) ก็เลยไปหาซื้อใบแมงลักมา

ปรากฏว่าแม่ค้ามีใบ basil อีกอย่างที่ไม่พบบ่อยนักตามตลาดสดเมืองไทย คือ “โหระพาขาว” กลิ่นมันอยู่ตรงกลางระหว่างโหระพาและแมงลัก ผมเลยใช้ปนกัน โดยให้สัดส่วนของแมงลักมากกว่าราว 4 ต่อ 1

และผมกลัวว่ากลิ่นปลาร้าหมูจะแรงเกินไป เลยเพิ่มหน่อไม้ต้มอ่อนๆ ทุบแตก หั่นชิ้นย่อมๆ เข้าไปด้วย แถมเติมสีสันด้วยพริกกะเหรี่ยงสดสุกแดงจัดๆ อีกกำมือหนึ่ง

ออกแบบเสร็จแล้วก็ถึงตอนลงมือนะครับ

ตั้งกระทะน้ำมันบนเตาถ่านไฟกลาง ตักพริกแกงใส่คั่วพอหอม เทปลาร้าหมูลงผัด กลิ่นมันจะเร้าใจมากครับ เราก็ใส่หน่อไม้ ตามด้วยพริกกะเหรี่ยงสด

เติมน้ำนิดหน่อยจะได้ไม่แห้งเกินไป เหยาะน้ำปลาให้รสเค็มแหลมพอคุ้นลิ้นสักนิด ไม่ต้องปรุงอะไรให้มากเรื่องมากความหรอกครับ ปลาร้าหมูมันควบคุมกลิ่น รส และความนัวของกับข้าวจานนี้ไว้อยู่หมัดแล้วแหละ

ขั้นตอนสุดท้ายคือโรยใบแมงลักลงไปแยะหน่อย กลิ่นหอมๆ และรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว จะผสานกันอย่างสมบูรณ์ มันเหมือนเราได้กินผัดเผ็ดสองแผ่นดิน ก็คือมีความเป็นภาคกลางและอีสาน ตามความคุ้นชินวัฒนธรรมอาหารไทยพื้นฐานของตัวเราเอง

อ้อ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ข้าวคั่วในปลาร้าหมูจะพองตัวในตอนผัด ทำให้ผัดเผ็ดจานนี้มีความข้นนิดๆ คล้ายกับข้าวสกุล “เอาะ” ของลาวเลยทีเดียวครับ แต่ถ้าเราไม่ชอบ ก็เลือกตักใส่แต่ชิ้นหมูลงกระทะ อย่าเอาน้ำข้นๆ เค็มๆ นั้นใส่มากนัก

ใครผ่านไปทางอำเภอบ้านไร่ ขอให้ลองซื้อหามาทำกินดูนะครับ หรอยจังฮู้…“น้ำพริกเนื้อแพะ” รสเด็ด!หนึ่งเดียวในตรัง สูตรปากีสถานดั้งเดิม และสูตรสมุนไพร จิ้มกับโรตี กินกับขนมปัง คลุกข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อย วันนี้ต่อยอดเตรียมขยับทำเป็นธุรกิจส่งขายในตลาด ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มพี่น้องมุสลิมเป็นของขายดีรายได้งาม ยอดออเดอร์สั่งจองผลิตไม่ทัน

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง ได้เดินทางไปที่ฟาร์มแพะซาชา ม.7 ต.บางเป้า อ.กันตัง จ.ตรัง วันนี้ 10 ม.ค. 61 พบ นายสุดดีน ซาชา อายุ 42 ปี ชาว ต.บางเป้า อ.กันตัง จ.ตรัง ลูกชายเจ้าของฟาร์มแพะ เกษตรกรหนุ่มชาวมุสลิม สืบเชื้อสายมาจากปากีสถาน ทำฟาร์มเลี้ยงแพะยึดเป็นอาชีพหลักของครอบครัว ทำครบวงจรตั้งแต่ขายแม่พันธุ์พ่อพันธุ์แพะหลากหลายสายพันธุ์ ชำแหละเนื้อขายและรับสั่งทำเมนูต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ และรีดนมแพะขายด้วย ฟาร์มแห่งนี้ใหญ่สุดเป็นที่รู้จักของคนทั่วเมืองตรัง

นายสุดดีน หรือ บังดีน เผยว่า ถึงตอนนี้ ทางฟาร์มซาชาได้ต่อยอดทำ “น้ำพริกเนื้อแพะ” เป็นสูตรดั้งเดิมของที่บ้านตั้งแต่นานมาแล้ว สูตรปากีสถานดั้งเดิม และสูตรสมุนไพร ได้รับการถ่ายทอดความรู้และสั่งสมประสบการณ์จากคุณแม่ นางบีบีอาเสี้ยะ ซาชา อายุ 67 ปี จึงได้ปรับปรุงสูตรมาเรื่อยๆ ทำทานกันเองอยู่แล้วที่บ้าน ต่อมา “บังดีน” ได้ไปเข้าบรมหลักสูตรด้านปศุสัตว์เกี่ยวกับเลี้ยงแพะ และก่อนจบหลักสูตรให้คิดค้นทำโปรเจ็คผลิตภัณฑ์มาอย่างหนึ่งเกี่ยวกับชิ้นส่วนของแพะ

“ที่ผ่านมาผมเห็นเขาทำกันหลายอย่างแล้ว เช่น แกงแพะ มัสมั่นแพะ ต้มซุปแพะ แพะหั่นย่าง ผมคิดว่าคนใต้บ้านเราชอบทานน้ำพริก จึงคิดทำน้ำพริกเนื้อแพะ คิดว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าของเนื้อแพะได้อีกทางหนึ่ง เพราะเราสามารถพกพาติดตัวไปที่ต่างๆได้ เช่น เดินทางไปต่างประเทศ อย่างประเทศซาอุดิอาระเบีย ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ทำมาประมาณ 2 ปี กว่าๆ ลองผิดลองถูกมาก็หลายครั้ง ปรับปรุงมาตลอดจนได้รสชาติที่พอใจลงตัวคงเดิมที่สุด”

ตอนแรกทำตาม order ที่สั่งไม่ได้ทำวางจำหน่าย เพราะจะมีราคาค่อนข้างสูง ลูกค้าอาจจะมองว่าราคาสูงเกินไป แต่คุณภาพจะดีกว่าน้ำพริกอื่นๆ เพราะเป็นเนื้อแพะล้วนๆ ส่วนผสมประกอบด้วย พริกสดบดละเอียด มะเขือเทศปั่น หอมแดงปั่น น้ำตาลแว่นตาลโตนด และวัถุดิบต่างๆ ตั้งไฟผัดปรุงจนแห้งตามสูตรที่ต้องการกินแล้วได้รสชาติจะเอารสหวาน เผ็ดมาก เผ็ดน้อย สามารถนำไปรังสรรค์ทำเมนูได้หลายอย่าง เช่น จิ้มกับโรตี กินกับขนมปัง หรือจะทานกับข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อย

นายสุดดีน หรือ “บังดีน” เล่าว่า ตอนนี้ทางฟาร์มได้ทำเป็นแพ็คเกจ และทำเป็นถุงที่ซีลด้วยสุญญากาศ สามารถเก็บได้นานเพราะน้ำพริกแพะไม่ใส่สารกันบูด ถ้าแบบกระปุกสามารถเก็บได้ประมาณ 10 วัน ถ้าเก็บในตู้เย็นสามารถเก็บได้ประมาณหนึ่งเดือน…น้ำพริกเนื้อแพะ หนึ่งเดียวตรัง รับทำตามออเดอร์ (order) ลูกค้าจะเอารสชาติแบบไหน สามารถบอกได้เลย แวะเที่ยว มาเยี่ยวตรัง ลองแวะมาฟาร์มแพะซาชา ชิมน้ำพริกเนื้อแพะ หร๊อยจังฮู้!!!….โทรติดต่อสอบถามได้ที่ 081-2726028 (บังดีน)

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 มกราคม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สภาพอากาศบนดอยอินทนนท์หนาวจัดต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 แล้ว โดนอุณหภูมิบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ต่ำกว่ายอดดอย ทำให้เกิดปรากฎการณ์น้ำค้างแข็ง หรือ ‘เหมยขาบ’ ติดต่อกัน 5 วันต่อเนื่อง ท้องฟ้าเปิดอากาศแจ่มใส

“อุณหภูมิเช้านี้ที่ยอดดอยอินทนนท์ วัดได้ 6-16 องศาเซลเซียส จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน วัดได้ 3-17 องศาเซลเซียส ส่วนที่ทำการอุทยานฯ อุณหภูมิ 5-23 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมากและไม่ค่อยเกิดบ่อยนักที่อุณหภูมิจะต่ำกว่ายอดดอย”

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฯ ระบุว่า ในระยะนี้คงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสธรรมชาติจำนวน เฉลี่ย 7,000 คนต่อวัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัวเมืองเชียงใหม่สภาพยังคงหนาวเย็นอุณหภูมิต่ำสุด 15-16 องศาเซลเซียส นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศค่อนข้างคึกคัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ยังคงเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรัฐบาล มีนโยบายกำจัดผักตบชวา ออกจากคลองให้หมด ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ผักตบชวา มักจะแพร่กระจายพันธุ์ได้เร็วมากในน้ำ ที่มาจากบ้านเรือน โดยเฉพาะผงซักฟอก ที่ซักผ้าแล้วไหลลงในลำคลอง จะเป็นผลทำให้ผักตบชวา ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ลำคลองตื้นเขิน และกั้นทางน้ำไหล อีกด้วย แต่ถ้าหากผักตบชวาเกิดขึ้นในคลองติดที่อยู่อาศัยของคนเมือง จะช่วยดูดซับน้ำสกปรกจากบ้านเรือนและป้องกันเน่าเสียได้ระดับหนึ่ง