ดังนั้น จึงอยากจะกล่าวถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข

ในประเด็นที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการอยู่รอดของเกษตรกรไทย ดังนี้ การใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในที่ดินทำการเกษตร
การสร้างแนวทางการบริหารตลอดห่วงโซ่มูลค่าของสินค้าเกษตร
การสนับสนุนการปรับระบบการผลิตของภาครัฐให้มีความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน
การสนับสนุนทุนผ่านสถาบันการเงินของรัฐ
การสร้างอุปสงค์ใหม่ๆ ให้กับสินค้าของเกษตรกร
การใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในที่ดินทำการเกษตร

ถ้าจะกล่าวถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรไทยนั้น เราพบว่าพี่น้องเกษตรกรเรายังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มศักยภาพ ในขณะที่เกษตรกรมีพื้นที่ทำการเกษตรไม่สัมพันธ์กับผลผลิตทางการเกษตรเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีพื้นที่ 10 ไร่ เกษตรกรไทยจะได้รับผลผลิตหัวมันสดปีละไม่เกินประมาณ 3-4 ตันต่อพื้นที่ 1 ไร่เท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ 10 ไร่จึงได้ผลผลิตประมาณ 30-40 ตัน แต่ความจริงแล้วพื้นที่ 10 ไร่ ควรจะได้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 80 ตัน หากใช้เทคโนโลยีระบบน้ำหยดเพื่อการผลิต รวมทั้งการใช้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ รวมถึงการเตรียมดินที่ถูกต้อง ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าน่าเสียดายที่เราใช้พื้นที่ไม่เต็มศักยภาพดังตัวอย่างข้างต้น เพราะถ้าผลิตแบบเดิมๆ กว่าที่เกษตรกรเราจะได้ผลผลิต 80 ตัน เราต้องใช้พื้นที่ถึงประมาณ 20 ไร่ แทนที่จะใช้เพียง 10 ไร่เท่านั้น นี่คือโจทย์ที่อยากจะแนะนำทางรอดว่าควรจะนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้เพื่อการผลิตได้แล้ว เราไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ได้ แต่เราสามารถเพิ่มผลผลิตจากพื้นที่เท่าเดิมนั้นได้ครับ

การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าการเกษตร

สำหรับในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่า เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มดังกล่าวนั้นมีหลายวิธีการ ในเมื่อมีการผลิตสินค้าเกษตรต้นน้ำมาเป็นผลผลิตแล้ว จึงต้องข้ามไปมองถึงการตลาดหรือผู้ซื้อด้วยว่าเขาต้องการสินค้าแบบไหน ตัวอย่างเช่น หากเราไปเดินตลาดสดจำหน่ายสินค้าเกษตร แล้วเราลองไปดูการจำหน่ายผักสดบางอย่าง เราจะพบว่าคนขายจะขายปลีกเป็นขีดบ้าง เป็นครึ่งกิโลกรัม หรือหนึ่งกิโลกรัมบ้าง ดังนั้น ถ้าเราเป็นผู้ปลูกผักเหล่านั้นขาย ไม่ว่าจะเป็นผักบุ้งจีน มะเขือ พริกสด เป็นต้น ซึ่งหากเราขายส่งไปเป็นแพ็กใหญ่ๆ คนขายก็ต้องนำไปแบ่งเป็นกำ เป็นถุง แบ่งเป็นน้ำหนัก หรือเป็นกำ ถ้าเป็นเช่นนี้ เกษตรกรก็ควรจะต่อรองจัดเป็นกำ หรือบรรจุเป็นขีด เป็นครึ่งกิโลกรัมไปเลย โดยเราคิดราคาเพิ่มขึ้นอีกหน่อย

คนที่ซื้อไปขายปลีกก็ไม่ต้องไปเสียเวลาในการจัดแบ่ง ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ก็จะเป็นตัวอย่างทางเลือกที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งยังไม่รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการเพิ่มประเภทปลูกพริกขายน้ำพริก เลี้ยงปลาช่อนขายปลาย่าง และอีกหลายแนวคิดที่จะทำให้มูลค่าเพิ่มอยู่ที่ผู้ผลิตต้นน้ำ มิใช่ไปอยู่ที่คนกลาง หรือปลายทางจนผู้ผลิตต้นน้ำไม่เหลืออะไร ฝากให้คิดดูนะครับ

การสนับสนุนการปรับระบบการผลิตทางการเกษตรของภาครัฐ ให้มีความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

เรื่องการปรับระบบการผลิตทางการเกษตรให้กับภาคเกษตรนั้น คงต้องเป็นบทบาทหน้าที่ของภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่ผ่านมารัฐบาลหลายๆ ยุคสมัยก็พยายามกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนการผลิตกันมากมาย เช่น การลดพื้นที่ทำนาข้าวไปเป็นการทำสวนผลไม้ ที่เรียกว่าโครงการปรับระบบการผลิตทางการเกษตรในอดีต (คปร.) เป็นต้น แต่รัฐบาลก็อาจจะไม่ได้สนับสนุนด้านการตลาดไว้รองรับ จึงทำให้เกษตรกรผู้ปรับเปลี่ยนไม่ประสบผลสำเร็จ จึงทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งติดภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกในที่สุด ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำอย่างเป็นระบบที่ภาครัฐต้องเป็นเจ้าภาพหลัก แล้วดำเนินการร่วมกับภาคเกษตร เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันเกษตรกร รวมไปถึงผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตที่เป็นองค์ประกอบหลักของห่วงโซ่มูลค่าการผลิตด้วย เรียกกันว่าต้องปฏิรูปกันขนานใหญ่เลยครับ ปรับให้มีความสมดุลระหว่างการผลิตกับการตลาด หรืออุปสงค์กับอุปทานที่สมดุลกันให้ได้ ไม่เช่นนั้น เกษตรกรไทยอาจจะรอดยากครับ ถ้ารัฐบาลไม่เป็นเจ้าภาพเรื่องนี้เองอย่างจริงจัง

การสนับสนุนเงินทุนผ่านสถาบันการเงินของรัฐ

ในการปรับระบบการผลิตหรือการใช้เทคโนโลยีในการผลิต จำเป็นต้องใช้ทุนเพื่อการดำเนินการทั้งสิ้น ลำพังทุนของเกษตรกรเองคงจะดำเนินการได้ยากยิ่ง เพราะเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีความยากจนและมีภาระหนี้สินที่มากอยู่แล้ว หากรัฐบาลไม่สนับสนุนเงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน ผ่านองค์กรหรือสถาบันการเงินภาครัฐหรือผ่านองค์กรสหกรณ์การเกษตรไปยังเกษตรกรแล้ว ลำพังเกษตรกรคงจะเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากยิ่ง เพราะสถาบันการเงินมีความเสี่ยงและไม่สามารถสนับสนุนได้

เพราะหากสถาบันการเงินใช้เกณฑ์ปกติในการสนับสนุนเงินทุน เขาต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องบริหารจัดการด้านความเสี่ยงของสถาบันการเงินเอง ซึ่งเกษตรกรกลุ่มมีศักยภาพสูงเท่านั้น จึงจะเข้าถึงได้ ส่วนพวกที่ศักยภาพปานกลาง หรือกลุ่มศักยภาพต่ำ คงจะไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ และหากว่าดำเนินการไม่ได้ทั้งระบบ ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เลย แล้วปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาของเกษตรกรและเป็นปัญหาของชาติบ้านเมืองอย่างน่าเป็นห่วง ผู้เขียนจึงเรียกร้องผ่านคอลัมน์นี้เพื่อช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อความอยู่รอดให้เกษตรกรไทยครับ

การสร้างอุปสงค์ใหม่ๆ ให้กับสินค้าของเกษตรกร

โจทย์สุดท้ายของเรื่องในตอนนี้ ก็คงจะต้องเป็นการสร้างตลาดใหม่ๆ ให้สินค้าเกษตรไทย หรือสร้างความต้องการจากผลผลิตประเภทใหม่ๆ สำหรับการผลิตทางการเกษตร ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราเคยพบเห็นที่จะขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น เกษตรกรที่เคยใช้พื้นที่ทำนาข้าว ทำไร่ข้าวโพด ซึ่งก็มีตลาดเดิมๆ ทั้งการรับซื้อข้าวเปลือกและข้าวโพดเท่านั้น แต่ต่อมาตลาดมีความต้องการผลผลิตเมล่อนหรือมะเขือเทศราชินี ซึ่งถือเป็นอุปสงค์ใหม่ๆ จากการตลาด เราก็สามารถที่จะสร้างทางเลือกให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่มาทำโรงเรือนปลูกเมล่อนหรือมะเขือเทศราชินีเพื่อจำหน่ายป้อนตลาดใหม่ได้ นี่ก็เป็นแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในการที่จะนำไปสู่ทางเลือกบนทางรอดของเกษตรกรไทยได้ในที่สุด

ขอขอบคุณผู้อ่าน ที่ได้ติดตามแนวทางที่ผู้เขียนมีเจตนาจะช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีพได้อย่างดีภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความยากลำบากอย่างเช่นปัจจุบันครับ

“ไทบ้านฟาร์มเมอร์” ถือเป็นฉายาที่เกษตรกรคนเก่งท่านนี้ตั้งให้ตัวเอง ที่มาของคำแทนตัวเองว่าเป็นไทบ้านฟาร์มเมอร์ มาจากที่ตนเองเป็นคนต่างจังหวัด และมีวิถีชีวิตและหลักคิดในการทำเกษตรแบบบ้านๆ การสื่อสารกับผู้คนก็เป็นหลักคิดง่ายๆ เป็นกันเอง ชาวบ้านคนธรรมดาฟังแล้วรู้เรื่อง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ

คุณวุฒิพงษ์ พลอยวิเลิศ (พี่กระต่าย) เกษตรกรผู้มากความสามารถ อยู่บ้านเลขที่ 751 หมู่ที่ 14 ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ด้วยความสามารถที่ล้นเหลือ เขาเรียนจบปริญญาตรีภายในเวลา 3 ปีครึ่ง และมีบริษัทเข้ามาจองตัวไปทำงานทันที ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์คุณภาพ โรงงานน้ำตาลกาฬสินธุ์ แต่ชีวิตก็ไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะเป้าหมายในชีวิตคือการเป็นเกษตรกร แต่ด้วยเงินทุนที่มีจำกัด จึงจำเป็นต้องตั้งใจเรียนและวางแผนการศึกษาให้ดี จบให้เร็วและมีคุณภาพเพื่อให้ได้เข้าทำงานบริษัทที่มั่นคง พอที่จะหาเงินทุนมาทำตามความฝันได้

เส้นทางชีวิตเกษตรกรไทบ้าน ไม่ง่ายอย่างที่คิด
ต้องทนแรงกดดัน และมีความมุ่งมั่นสูง
พี่กระต่าย เล่าให้ฟังว่า ทำงานอยู่โรงงานน้ำตาลได้ 2 ปี ก็ลาออกจากงาน ซึ่งในระหว่างที่ทำงานประจำอยู่ ตนก็พยายามศึกษาหาข้อมูลการทำเกษตรไปเรื่อยๆ และได้ข้อมูลมาว่า เกษตรกรแถวบ้าน มีที่ทางคนละ 20-30 ไร่ แต่ยังจัดสรรพื้นที่การปลูกได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งต่างจากที่ไปเห็นมาตามภาคอื่นๆ ที่มีพื้นที่น้อย แต่กลับสามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น พื้นที่ 1 งาน หรือ 1 ไร่ ทำเกษตรในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ตนก็อยากทำบ้าง แต่ในพื้นที่แถวบ้านไม่มีใครทำ จึงไม่รู้จะไปถามหาความรู้จากใคร ก็ต้องพึ่งตัวเองลองผิดลองถูกในระหว่างที่ทำงานประจำ ช่วงวันหยุดจึงเริ่มต้นหากล้วยน้ำว้ามาปลูก จำนวน 1 ไร่ เป็นกล้วยน้ำว้าแบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

“ตอนปลูกพ่อกับแม่ก็ไม่เห็นด้วย เขาบอกไปซื้ออะไรมา ต้นละ 40 บาท 100 ต้น เสียเงินไปเกือบหมื่นบาท ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยกับการทำเกษตร แต่การปลูกกล้วยครั้งนี้ได้สอนและทำให้เราคิดอะไรได้หลายอย่าง ระยะเวลา 1 ปี กล้วยให้ผลผลิตเก็บขายได้โดยที่ไม่ต้องไปดูแลอะไรมาก แต่ได้ผลตอบแทนเกินคาด กล้วย 1 ต้น สามารถขายผล ขายปลี ขายหน่อ ขายใบได้ ผิดกับงานประจำที่ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ทุกอย่าง แต่สิ่งตอบแทนก็ไม่เป็นอย่างหวัง จึงเกิดแนวคิดที่ว่า หากเรามาเป็นนายตัวเอง มาขยันบนพื้นที่ตัวเองมันจะดีกว่าไหม ทุกอย่างที่ลงแรงไป มันจะอินคัมกลับมาหาตัวเองทั้งหมด จึงมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดได้”

เมื่อคิดได้จึงตัดสินใจลาออกจากงาน ออกมาแล้วพ่อแม่ก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะทำงานเกษตร ด้วยเหตุผลที่ว่าเขายังไม่เคยเห็นทำเกษตรแล้วรวย ตนจึงจำเป็นต้องหยุดความคิดที่จะทำเกษตรไว้ก่อน แล้วไปหาอาชีพเสริมเป็นติวเตอร์สอนเด็กมัธยมเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ในระหว่างเป็นติวเตอร์ ก็มีโอกาสได้เดินทางไปหลายจังหวัด ได้รู้จักผู้คนมากมาย และได้ไปรู้จักกับคนเทรดหุ้น เขาก็สอนเทรดหุ้น เทรดหุ้นอยู่ 2 ปี มีเงินทุนก้อนใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง ก็กลับบ้านมาสร้างบ้านให้พ่อกับแม่ และมองหาที่ทางทำการเกษตรอย่างจริงจัง เพราะในระหว่างที่เป็นติวเตอร์ และเทรดหุ้น ก็ใช้เวลาว่างเดินทางไปศึกษาการทำเกษตรจากศูนย์การเรียนรู้ และแหล่งเกษตรท่องเที่ยวต่างๆ

เริ่มทำตามความฝัน ลองผิดลองถูก
จนค้นพบทางสว่าง
หลังจากที่มีเงินเหลือจากการสร้างบ้านให้พ่อกับแม่แล้ว พี่กระต่าย เล่าว่า ตนก็เริ่มหาพื้นที่เหมาะสมสำหรับที่จะลงทุนปลูกผัก โดยมีเป้าหมายว่าจะปลูกผักอินทรีย์ เจาะตลาดไปที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงิน มีเวลา แต่มีสุขภาพที่ไม่ดี

เริ่มต้นปลูกจากผักสวนครัว กะเพรา โหระพา แมงลัก มะเขือ พริก บนพื้นที่ 1 งาน ก็ปลูกไม่สำเร็จ เพราะขาดความรู้ เสียหายกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังพอกินได้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 เดือน ที่ทำมาประสบปัญหามาตลอด ทั้งเรื่องคนงาน ปลูกผักแล้วไม่งาม ลองวิธีต่างๆ ตามที่ดูในยูทูบก็ไม่สำเร็จ จนไปเจอเกษตรกรท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ทางรายการต่างๆ ว่าเขาทำเกษตร แล้วลองทำปุ๋ยสูตรของอาจารย์ธงชนะ ใช้แล้วผักงามดี สามารถส่งออกได้ ตนจึงดั้นด้นที่จะไปศึกษาเรียนรู้ขั้นตอนการทำเกษตรตั้งแต่การเตรียมดิน หมักปุ๋ย จัดการแปลงกับอาจารย์ธงชนะ เพื่อหวังจะมาพัฒนาแปลงเกษตรของตัวเอง

เมื่อได้แก่นแท้ของการทำเกษตรมาบวกกับที่ตนเป็นนักเคมี จึงรู้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แล้วตกผลึกผนวกกัน ปรับปรุงการทำเกษตรใหม่ทั้งหมด เริ่มจากการซื้อที่เพื่อปลูกผักอินทรีย์อย่างจริงจัง ซึ่งข้อเสียคือ ดิน เป็นดินลูกรัง ใครๆ ก็บอกว่าซื้อทำไมที่ตรงนี้ ทำไมไม่ไปซื้อที่ที่ดินดีๆ แต่ตนมองเห็นโอกาสว่าที่ตรงนี้ทำเลดี ติดถนนหลัก และอยู่ใกล้ชุมชน จึงมองข้ามเรื่องดิน เพราะคิดว่าดินน่าจะปรับปรุงได้ ก็เริ่มปรับปรุงดิน จ้างรถแบ๊คโฮมาปรับโครงสร้างแปลงใหม่ พอดีกับที่สวนอยู่ใกล้กับโรงงานน้ำตาล จึงติดต่อขอซื้อเค้กอ้อยมาใส่ปรับปรุงดิน ต้นทุนต่ำ 1 รถสิบล้อ บรรจุเค้กอ้อย 13 ตัน ราคา 2,000 บาท คิดเฉลี่ยเป็นตัน ตันละแค่ 100 บาท พอทำไปปรากฏว่าผักเริ่มมีเปอร์เซ็นต์การรอดสูงขึ้น ผักเริ่มงาม เริ่มมีกำลังใจสู้ต่อไป

ผ่านบททดสอบความอดทน
สู่เกษตรกรผู้สร้างรายได้
หลังจากที่ผ่านอุปสรรคที่เข้ามาทดสอบความอดทนอย่างมากมาย พี่กระต่ายเล่าต่อว่า เริ่มเข้าใจการปลูกผักมากขึ้น ต้องทำแบบใจเย็นๆ มีการวางแผนที่ดี ทำอย่างละเอียด ใส่ใจทุกขั้นตอน พื้นที่ 1 ไร่ เริ่มปลูกทีละแปลง ผลที่ได้ออกมาดีมาก เพราะมีการเตรียมดิน เตรียมปุ๋ย และวางแผนการปลูกอย่างดี

“หลังจากที่ปลูกผักสำเร็จเป็นครั้งแรก ก็ทดลองถ่ายรูปผักแล้วโพสต์ขายในเฟซบุ๊ก ผลตอบรับดี เพื่อนๆ เห็นแล้วสนใจวิ่งเข้ามาซื้อถึงสวน เกิดเป็นการบอกปากต่อปาก และเมื่อใครได้เข้ามาถึงสวนจะเกิดความประทับใจทุกคน เพราะเขาจะได้เห็นความสวยของผักที่อยู่บนแปลง และคุณภาพผักของสวนที่กรอบ หวาน ไม่ขม มีผักให้เลือกซื้อมากกว่า 30 ชนิด และการปลูกผักของตัวเองก็ลงทุนไม่สูง มีเงินหลักหมื่นก็สามารถทำตามได้”

เริ่มจากการทำโรงเรือนต้นทุนต่ำ
หน้ากว้าง 3 เมตร ยาว 30 เมตร
เหล็กกัลวาไนซ์ 6 หุน ยาว 6 เมตร ดัดโค้ง ความสูงของโรงเรือนประมาณ 2.50 เมตร
พลาสติกใสคลุมโรงเรือน 1 ม้วน ยาว 100 เมตร หน้ากว้าง 3 เมตร ความหนา 150 ไมครอน กรองแสงยูวี 7 เปอร์เซ็นต์ ราคาม้วนละ 4,300 บาท คลุมพลาสติกแค่เป็นหลังคา ส่วนข้างๆ ใช้ตาข่ายปลูกไม้เลื้อยได้
คลิปล็อกชนิดมีสปริง ขนาด 6 หุน แบบ 3 ข้อ ตัวละ 6 บาท ยาว 6 เมตร ใช้ล็อกเหล็กที่ดัดโค้ง
ประกับล็อกเหล็ก สำหรับลดต้นทุนไม่ต้องเสียค่าเชื่อมเหล็ก ล็อกได้มั่นคงดี
สายพีอี ขนาด 1 นิ้ว ยาว 100 เมตร ราคา 90-100 บาท
หัวมินิสปริงเกลอร์ 100 เมตร ราคา 300-350 บาท
ตาข่ายไนล่อน ราคาม้วนละ 90 บาท ไว้ปลูกไม้เลื้อยรอบโรงเรือน สาเหตุที่ไม่ใช้พลาสติกทั้งหมดเพราะทดลองมาแล้วว่า แบบนี้ดีกว่า สามารถสร้างประโยชน์ได้ 2 ต่อ
ช่วยประหยัดค่าพลาสติก
มีรายได้จากการปลูกไม้เลื้อยเพิ่มขึ้น
สรุปแล้ว ต้นทุนการทำโรงเรือนปลูกผักมีงบไม่ถึง 10,000 บาท มีต้นทุนน้อย ไม่ต้องกังวล สามารถทำตามได้ และปลูกผักได้สวยงาม ได้คุณภาพแน่นอน

โรงเรือนปลูกผักต้นทุนต่ำ ทำเองทั้งหมด
ปลูกผักให้หวาน กรอบ แต่มีต้นทุนต่ำ
ต้องทำอย่างไร
เจ้าของบอกว่า ปัจจุบัน ในสวนจะปลูกผักสลัด 4 สายพันธุ์ เป็นหลัก มีกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค กรีนคอส เรดคอส และมีผักสวนครัว ผักชี ต้นหอม คะน้า กว้างตุ้ง ปลูกเสริมสลับหมุนเวียนกันไป

โดยจะแบ่งพื้นที่ปลูกผักสลัดรอบละ 2 แปลง ขนาดความกว้างของแปลง กว้าง 2 เมตร ยาว 30 เมตร ได้ผลผลิตประมาณสัปดาห์ละ 100 กิโลกรัม ส่วนพืชผักสวนครัว ผักชี ต้นหอม ได้ผลผลิตสัปดาห์ละ 20 กิโลกรัม วางแผนปลูกผักทุกสัปดาห์เพื่อให้มีผักออกขายทุกวัน ซึ่งพืชที่ปลูกเป็นพืชอายุสั้นทั้งหมด โดยผักสลัดจะต้องเพาะกล้าก่อนลงแปลง 15-20 วัน แล้วลงแปลงปลูกต่ออีก 20 วัน ก็ตัดขายได้ เพราะที่สวนจะเริ่มเก็บผักที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 1 ขีดขึ้นไป ก็จะมีเวลาขาย 21-30 วัน สามารถทยอยเก็บขายได้เรื่อยๆ ผักจำนวน 100 กิโลกรัม เฉลี่ยออกวันละ 10 กิโลกรัม ราคาหน้าสวน 100-150 บาท ต่อกิโลกรัม

ใช้รถไถตีดินขนาดเล็กเตรียมดินปลูก
การเตรียมดิน ใช้รถไถตีดินขนาดเล็ก ตีดินให้ร่วน ใส่ปุ๋ยหมักรอบละ 30 กระสอบ ต่อ 1 แปลง แปลงขนาดหน้ากว้าง 2 เมตร ยาว 30 เมตร ใส่ 15 กระสอบ ใส่ก่อนปลูกเพียงครั้งเดียว แล้วไถยกร่องแต่งแปลง คลุมด้วยฟาง แล้วพรมน้ำให้เปียก ปล่อยทิ้งไว้ 1 วัน เพื่อจะให้ฟางในดินเซ็ตตัวและอุ้มน้ำ วันต่อมาลงมือปลูก

หลังจากปลูกเสร็จให้ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักปลาทุกวันตอนเย็น โดยน้ำหมักปลาที่ใช้พ่นผ่านการหมักนาน 1 ปี จะมีธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารลอง ธาตุอาหารเสริม ช่วยในเรื่องรสชาติหวานกรอบ ช่วยให้ใบและต้นโตดี ไม่ขม และในระหว่างรอผักโตไม่ต้องพรวนดินตัดหญ้า

เมื่อสังเกตด้วยตา ว่าผักมีน้ำหนักได้ 1 ขีด สามารถตัดขายได้เลย เพราะมีการทดลองตลาดมาแล้วว่า ผักสลัดที่มีน้ำหนัก 1 ขีด ใช้เวลาปลูกน้อย แต่ผู้บริโภคชอบมาก เพราะตามธรรมชาติ 1 คน กินผัก 1 ขีด ก็ถือว่ากินผักเยอะแล้ว แต่ถ้ารอให้ต้นมีน้ำหนัก 2-3 ขีด จะเหมือนว่าเราขายแพงได้ไม่กี่ต้น อย่างที่สวนจะขาย กิโลกรัมละ 150 บาท คิดเป็นต้นละ 10 บาท 1 รอบ ปลูกได้ 1,200 ต้น ตีค่าความเสียหาย 200 ต้น เหลือขาย 1,000 ต้น ต่อ 1 รอบ ก็คุ้มแล้ว

ระบบน้ำ สำหรับผักสลัด ใช้ระบบสปริงเกลอร์ 2 ไร่ ใช้เวลารด 30 นาที การรดน้ำแต่ละวันกำหนดครั้งไม่ได้ ต้องดูที่สภาพอากาศ แต่ถ้าเป็นพริก กะเพรา โหระพา แมงลัก รดน้ำวันละครั้งช่วงเย็น

โรคแมลง เจอน้อยมาก เพราะที่สวนจะใช้น้ำหมักชีวภัณฑ์เข้ามาช่วย น้ำหมักที่ใช้เป็นน้ำหมักจุลินทรีย์จาวปลวก และน้ำหมักจุลินทรีย์เหง้ากล้วย ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดรา และสังเกตได้ว่าถ้าผักแข็งแรง น้ำดี ปุ๋ยถึง แมลงจะกินไม่ทัน

ต้นทุนปุ๋ย หลายคนจะมองว่า ทำไม ที่สวนใส่ปุ๋ยเยอะ 1 รอบ ใส่มากถึง 15 กระสอบ หนักกระสอบละ 25 กิโลกรัม ซึ่งถ้าเป็นปุ๋ยเคมีอาจจะแพงสู้ราคาไม่ไหว แต่ที่สวนเราทำปุ๋ยไว้ใช้เอง มีต้นทุนการผลิตเพียงกิโลกรัมละบาทกว่า ส่วนผสมของปุ๋ยก็หาได้จากธรรมชาติ

ส่วนผสมและวิธีทำปุ๋ยหมักลดต้นทุน ขี้หมู 5 ส่วน เค้กอ้อย 3 ส่วน แกลบเผา 1 ส่วน แกลบดิบ 1 ส่วน จุลินทรีย์เหง้ากล้วยและจุลินทรีย์จาวปลวกอย่างละ 5 ลิตร คลุกผสมกันตั้งไว้ในที่ร่มหรือใช้ผ้าพลาสติกดำคลุม ทิ้งไว้ 1-2 เดือน ดูว่า ปุ๋ยเย็นหรือเริ่มมีจุลินทรีย์ราขาวขึ้นก็เริ่มใช้ได้ สูตรนี้ช่วยดูแลทั้งผักและผลไม้ให้งาม ใช้ได้กับผลไม้เกือบทุกชนิด

ต้นทุนการผลิต อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งต้นทุนโรงเรือน ต้นทุนปุ๋ย ถือว่าต่ำมาก มีค่าน้ำ ค่าไฟ เดือนละพันกว่าบาท ส่วนรายรับตอนนี้มีแค่ผักสลัด กับผักสวนครัว สองอย่างรวมกันมีรายได้ เดือนละ 40,000-70,000 บาท ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวจะได้น้อยหน่อย เพราะเป็นฤดูที่ใครก็สามารถปลูกได้ ของจะออกมาเยอะ ผักก็จะมีราคาถูกลงเป็นธรรมดา

แปลงผักสลัดสวยงาม มีความเป็นระเบียบ
ผลิตผักได้ตลอดทั้งปี คือจุดแข็ง
ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด
พี่กระต่าย บอกว่า จุดเด่นของสวนมีอยู่หลายข้อ

มีผักที่ได้คุณภาพ รสชาติหวานกรอบ
มีความต่อเนื่องของผลผลิต หากใครมาที่สวนจะมีผักให้เลือกซื้อได้ทุกวัน
ชนิดของผัก มีหลากหลายให้เลือก อยากได้ผักสลัด มะเขือเทศราชินี หรือผักสวนครัวก็มีให้เลือกสรรครบครัน ที่อื่นอาจจะเน้นปลูกช่วงฤดูหนาว แต่ฤดูฝน ฤดูร้อน เขายังทำไม่ได้ แต่ที่สวนสามารถปลูกได้ทุกฤดู จากจุดเด่นกลายเป็นจุดแข็งเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการตลาด ซึ่งพ่อค้าแม่ขายเขาก็ต้องการความต่อเนื่องของสินค้า และที่สวนก็ทำได้ตามที่เขาต้องการ ทั้งเรื่องคุณภาพและความต่อเนื่อง จึงไม่กังวลเรื่องตลาด
“ตลาดที่ส่งทุกวันนี้มีหลายแห่ง

ปลูกผักส่งท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ต สาขามุกดาหาร และร้อยเอ็ด
ตลาดในชุมชน มีแม่ค้าในชุมชนมารับของเราไปขาย
ตลาดหน้าฟาร์ม ผู้บริโภคเห็นจากเฟซบุ๊กแล้วโทร.เข้ามาติดต่อขอเยี่ยมชมสวน
โรงพยาบาล กลุ่มผู้ป่วย ผู้สูงอายุ”

ผักงามต้นใหญ่ ขายได้ราคา
ฝากถึงเกษตรกรทั้งรุ่นใหม่ รุ่นเก่า
ทำเกษตรให้รอด ต้องคิดให้เป็นธุรกิจ
การทำเกษตรให้อยู่รอดในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง demconwatchblog.com พี่กระต่าย บอกว่า เกษตรกรจำเป็นต้องคิดว่าการทำการเกษตรคือธุรกิจ อย่าไปคิดว่าการทำเกษตรคือการใช้เวลาว่าง วันละ 2-3 ชั่วโมง มาทำแล้วหยุดพัก อย่าลืมว่าเป้าหมายเราคือ ทำเป็นอาชีพหลักเลี้ยงตัว ทำเล่นๆ เหมือนอาชีพเสริมไม่ได้ เปรียบง่ายๆ กับที่หลายคนสงสัยว่า ทำไม ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยถึงต่างจากเกษตรกรที่ญี่ปุ่น เพราะ

เขาทำการเกษตรเป็นธุรกิจ เขาจะศึกษาหาข้อมูลการปลูก การตลาด อย่างครบถ้วน ศึกษาลงลึกแล้วรู้ให้จริงว่าการทำที่จริงเป็นยังไง
ต้องลงมือทำถึงจะรู้ ดังคำพูดที่ว่า “เนื้อจะรู้รสก็ต่อเมื่อเคี้ยว” ใครจะบอกว่าเนื้อหอมเนื้อหวานยังไงก็แล้วแต่ แต่ถ้าคุณไม่ลองเคี้ยวดู คุณจะไม่รู้เลยว่าจริงอย่างที่เขาพูดไหม ซึ่งการทำเกษตรก็เหมือนกัน คือ ต้องลงมือทำเอง ลองเคี้ยวลองขย้ำทำดู แล้วจะรู้ว่าตัวเองเหมาะกับอาชีพนี้ไหม พี่กระต่าย กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามเพิ่มเติมได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ 095-141-2510

ผลผลิตที่ออกจากสวน สวยงามทุกชนิด
ลูกค้าเข้ามาซื้อผัก เก็บเองถึงสวน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

แท็กปลูกผักต้นทุนต่ำผักสลัด
FacebookTwitterGoogle+Line