ดังนั้น ต่อไปอาจารย์ที่ผ่านการอบรมและมีความมั่นใจมากขึ้น

เมื่อนำงานวิจัยเข้าไปทำงานกับภาคอุตสาหกรรม ผลงานก็จะถูกต่อยอด ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้มุ่งหวังแต่อาจารย์หรือนักวิจัยที่ผ่านการอบรมเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังให้เกิดผลไปยังนักศึกษา เพราะอาจารย์ที่นำผลงานไปทำกับภาคอุตสาหกรรมจะมีการนำนักศึกษาเข้าไปร่วมโครงการด้วย จะทำให้เกิดนักวิจัยหน้าใหม่ในอนาคต

“การที่ มทร.ธัญบุรีได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้นำโครงการนี้ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2557 มหาวิทยาลัยได้รับงบฯสนับสนุนจาก สวทน.ให้อาจารย์ของ มทร.ธัญบุรีไปทำวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม มีการนำนักศึกษาเข้าร่วมโครงการและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี สามารถทำโครงการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้ถึง 39 โครงการ สวทน.จึงมอบหมายให้ มทร.ธัญบุรีเป็นแกนหลักในการจัดทำโครงการ TM Academy เราหวังว่าจะทำให้เกิดงานวิจัยใหม่ๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปต่อยอดได้อนาคต” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนางานวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน พร้อมเดินหน้าเต็มสูบสนับสนุนงานวิจัย “ชุดโครงการเมืองยั่งยืน” ภายใต้แกนนำของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้กระบวนการวิจัยในการหาคำตอบเพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาของการเจริญเติบโตของเมืองที่ส่งผลกระทบในเชิงลบ โดยอาศัยการดำเนินงานในลักษณะเชิงพื้นที่ในการพยายามสร้างให้เกิดสมดุลใน 3 ประเด็นพื้นฐาน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงสู่ 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12

ทั้งนี้ ชุดโครงการเมืองยั่งยืนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยในลักษณะของงานวิจัยใหม่และงานวิจัยต่อยอดที่มีความเชื่อมโยงกับงานวิจัยเดิม หรือบูรณาการเชื่อมโยงกับงานวิจัยฝ่ายอื่นที่ สกว.สนับสนุน รวมถึงเพื่อสนับสนุนเครือข่ายวิจัยที่ร่วมกับภาคสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อรูปแบบการพัฒนาเมืองให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

รศ.ดร. กิติกร จามรดุสิต ผู้ประสานงานชุดโครงการเมืองยั่งยืน รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงหลักการของชุดโครงการเมืองยั่งยืน ว่า “เมืองยั่งยืนเป็นกรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองให้เกิดดุลยภาพ 3 ด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายด้านการพัฒนาของนานาประเทศในประชาคมโลก โดยได้มีงานวิจัยที่หลากหลายภายใต้กรอบแนวคิดนี้ในระดับสากล เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ดังกล่าวจนนำไปสู่ภาคนโยบายให้เกิดการปฏิบัติได้จริง”

สำหรับการลงนามทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ มี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกุล รองผู้อำนวยการสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลง ที่ห้องจามจุรี บอลรูม เอ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส

ที่ห้องประชุม โรงแรมแกลเลอรี่ ดีไซน์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย และ นางจีรนันท์ วงษ์มงคล ที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ได้นำคณะผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, ยโสธร, อำนาจเจริญ ประชุมร่วมกับคณะผู้แทนจากประเทศกัมพูชา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการค้า การลงทุนของกลุ่มจังหวัดเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มอาเซียน และพัฒนาความร่วมมือทางการท่องเที่ยว ระหว่างประเทศไทยกับ ราชอาณาจักรกัมพูชา

นายกลินท์ เผยว่า การประชุมวันนี้เป็นการสานต่อข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าที่เคยตกลงกันไว้ และเป็นการเจรจาธุรกิจด้านต่างๆ กับผู้ประกอบการของไทย เพื่อส่งเสริมให้มูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งทางด้านกัมพูชาขอให้นักลงทุนไทยได้เข้าไปลงทุน สร้างโรงงานการผลิตในประเทศกัมพูชาบ้าง ไม่ใช่ให้แต่ประเทศจีนเข้าไปลงทุน สร้างโรงงานฐานการผลิต เนื่องจากอยากให้คนไทยซึ่งถือเป็นพี่น้องเพื่อนบ้านใกล้เคียงกันควรที่จะเข้าไปลงทุนมากกว่าประเทศที่อยู่ไกล และขณะนี้สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับกัมพูชาดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น หอการค้าไทยจึงได้เสนอขอให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาได้พิจารณาเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปเที่ยวชมความสวยงามของปราสาทเขาพระวิหารทางด้านฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชาได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ด้าน นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้ปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว รัฐบาลทั้งสองประเทศควรที่จะเปิดปราสาทพระวิหารให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมได้ เพราะจะเกิดประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ทางหอการค้าไทยจะได้มีการเสนอไปยังรัฐบาลไทยเพื่อขอให้ประสานงานกับทางฝ่ายรัฐบาลของกัมพูชาต่อไป

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก พร้อมด้วย ส.อบจ.พิษณุโลก และเจ้าหน้าที่ร่วมกันบริจาคเงินเป็นกองทุนนำไปซื้อสับปะรดจากเกษตรกรในพื้นที่ ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย ราคากิโลกรัมละ 2 บาท สามารถซื้อสับปะรดได้กว่า 7,000 กิโลกรัม นำขนใส่รถบรรทุก 6 ล้อไปแจกฟรีให้กับประชาชน ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก และที่หน้าโรงพยาบาลพุทธชินราช เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ท่ามกลางบรรยากาศประชาชนมารอรับสับปะรดจำนวนมาก

นายมนต์ชัย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดพิษณุโลก บ้านเรา ที่ประสบปัญหาขายไม่ได้ราคา บางรายต้องปล่อยทิ้งให้เน่าในแปลง เมื่อทราบข่าวจึงปรึกษาเพื่อนสมาชิกควักเงินตามกำลังศรัทธา นำเงินไปซื้อสับปะรดจากเกษตรกรกว่า 7,000 กิโลกรัม สร้างขวัญกำลังใจให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ขายได้กิโลกรัมละ 1-2 บาท ส่วนสับปะรดที่ได้ก็นำมาแจกให้ประชาชนได้รับประทาน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาบริโภคสับปะรดมากขึ้น ที่สำคัญสับปะรดยังช่วยด้านระบบย่อยอาหารได้ดี สามารถลดความอ้วนได้ด้วย

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้นำเข้าและผู้บริโภคทั่วโลก มีความมั่นใจสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานจำนวนมาก หลังจากสหรัฐประกาศในรายงานการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นจาก เทียร์ 2 ซึ่งจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของสินค้าดีขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารทะเล ทั้งอาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป ที่จะได้รับอานิสงส์มาก

โดยปี 2560 ไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่า 997 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.45% และช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ส่งออก 343 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.99% และหลังจากไทยถูกปรับสถานการณ์ดูแลการค้ามนุษย์ที่ดีขึ้นมาอยู่ในระดับเทียร์ 2 มั่นใจว่าการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับประมงเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะตลาดสหรัฐ รวมถึงตลาดยุโรปและตลาดทั่วโลก

นางจันทิรา กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ประชาสัมพันธ์แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารทะเลของไทย กรณีสหรัฐปรับระดับให้ไทยดีขึ้นมาอยู่ในระดับเทียร์ 2 เนื่องจากจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้น รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือ ความตระหนัก และการให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาระดับโลกของประเทศไทย เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์นี้ นอกเหนือจากเรื่องการค้า และการรักษามาตรฐานสินค้าของไทยที่เป็นที่ยอมรับจากต่างชาติในขณะนี้อีกด้วย

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท หลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยว่า ราคาทองคำตลาดโลกยังคงทิศทางขาลงต่อเนื่อง เห็นได้จากแรงยกตัวขณะปรับขึ้นค่อนข้างน้อย และ สอดคล้องกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ในจังหวะพักตัว สัปดาห์นี้มีโอกาสเงินทุนไหลกลับมาเก็งกำไรสินทรัพย์เสี่ยงและตลาดหุ้นที่ถูกเทขายในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ไม่เห็นสัญญาณบวกลงทุนทองคำ

ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนจับตาการเคลื่อนตัวของเงินดอลลาร์ หากมีสัญญาณแข็งค่าต่อ ควรเปิดสัญญาการเล่นขาลง (เปิดสถานะช็อต) ในสินค้าโกลด์-ดี และเน้นปิดทำกำไรเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน ส่วนพอร์ตเล่นรอบควรทยอยปิดทำกำไรฝั่งช็อตทั้งหมดไม่เกิน 1,260 ดอลลาร์ ต่อออนซ์

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ส่วนตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนต่อเนื่อง ปัจจัยจากราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเหตุกังวลกำลังการผลิตหลังสหรัฐคว่ำบาตรอิหร่าน และรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐลดลงติดต่อกัน 2 สัปดาห์ รวมถึงกรอบเป้าเงินเฟ้อใหม่ปี 2561 ของกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ 0.8-1.6% จากเดิม 0.7-1.7% และเฉลี่ยทั้งปี 1.2% ตามกรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยยังไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อให้ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ท่องเที่ยวเร่งซื้อสับปะรดเป็นอาหารว่างระหว่างประชุม อุดหนุนเกษตรกรไทยช่วงราคาตก แนะนำนักท่องเที่ยวต่างชาติชิมผลไม้ตามฤดูกาล นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากราคาสับปะรดตกต่ำ ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรมีความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ทางรัฐบาลจึงมีนโยบายให้หน่วยงานที่มีความพร้อม ร่วมให้การอุดหนุนเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้หันมาอุดหนุนเกษตรกรไทย โดยระยะเร่งด่วนขอให้พิจารณาเลือก สับปะรดเป็นอาหารว่างระหว่างการประชุม

ในระยะถัดไป กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะต้องมีบทบาทว่า ช่วงไหนที่ราคาผลไม้ชนิดใดมีราคาลดลงเราจะต้องใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้หันมาบริโภคมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้ซื้อผลไม้ที่มีคุณภาพดีในราคาคุ้มค่าราคาแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทยอีกด้วย

ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของคนทั้งโลกทั้งในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงความมีน้ำใจของผู้คน ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของอาหารการกินและผลไม้ชนิดต่างๆ ซึ่งจะมีออกมาสู่ท้องตลาดอย่างหลากหลายตามฤดูกาล การจะนำเสนอให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ ได้รู้จักและทดลองรับประทาน จำเป็นต้องเลือกสรรค์ผลิตผลที่มีคุณภาพ และมีการสร้างเรื่องราวที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าแล้ว ยังสามารถสร้างความประทับใจกับสิ่งที่พบเห็นและได้สัมผัสอีกด้วย

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวผล 46,940 ไร่ แยกเป็นอำเภอเมืองสมุทรสงคราม 13,873 ไร่, อำเภออัมพวา 18,449 ไร่ และ อำเภอบางคนที 14,618 ไร่ แต่ปัจจุบันชาวสวนมะพร้าวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากราคามะพร้าวที่ตกต่ำ เหลือเพียงลูกละ 7 บาท ขณะที่ก่อนหน้านี้ราคามะพร้าวผลเคยสูงถึงลูกละกว่า 20 บาท จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหา อย่างน้อยลูกละ 10 บาท ชาวสวนจึงจะอยู่ได้

น.ส. สมศรี เปรมปรี อายุ 41 ปี ชาวสวนมะพร้าว ซึ่งหันมารับจ้างทิวมะพร้าวขาว กล่าวว่า ตนปลูกมะพร้าวในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลยายแพง จำนวน 7 ไร่ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากราคามะพร้าวที่ตกต่ำเหลือเพียง ลูกละ 10 บาท แต่ต้นทุนการผลิตทั้งค่าแรง, ค่าใช้จ่ายต่างๆ พุ่งสูงขึ้น โดยปกติจะเก็บมะพร้าว 2 เดือนครั้ง ประมาณ 800 ลูก หากคำนวณราคา ลูกละ 7 บาท จะได้เงินเพียง 5,600 บาทเท่านั้น แต่ตนต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าแรงขึ้นเก็บลูกมะพร้าว ต้นละ 13 บาท, ค่าเก็บมะพร้าว วันละ 200 บาท ต่อคน, ค่าลากมะพร้าว วันละ 300 บาท ต่อคน และยังมีค่าเลี้ยงอาหาร เฉลี่ยประมาณ 3,000 บาท ต่อครั้ง ที่เก็บมะพร้าว ยังไม่รวมค่าดูแลสวนระหว่างเดือนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมาก เช่น ค่ายา ค่าปุ๋ย ค่าขุดลอกร่องสวน อีกกว่า 30,000 บาท จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำด้วย อย่างน้อยราคามะพร้าวจากสวน ลูกละ 10 บาท ชาวสวนจึงจะอยู่ได้ มิฉะนั้นก็คงต้องปล่อยมะพร้าวทิ้งคาต้นดีกว่าต้องเสียค่าแรงไปเก็บมาขายในราคาถูกซึ่งไม่คุ้มทุน และออกมารับจ้างทิวมะพร้าวดีกว่ามีรายได้แน่นอน วันละ 200-300 บาท

นายประเสริฐ สายทองคำ กำนันตำบลยายแพง กล่าวว่า ปัจจุบัน สาวสวนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคามะพร้าวผลตกต่ำเหลือ 7 บาท ส่งผลกระทบต่อมะพร้าวกะเทาะเปลือกเหลือเพียงกิโลกรัมละ 14 บาท เท่านั้น ซึ่งสาเหตุตนสันนิษฐานว่าจะเป็นปัญหาจากมะพร้าวต่างประเทศที่นำเข้ามา ซึ่งผู้ประกอบการปัจจุบันจะชะลอการรับซื้อมะพร้าวจากสวน เหลือสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จากเดิมที่จะรับซื้อสัปดาห์ละ 6 ครั้ง อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยชะลอการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ เพราะทุกวันนี้มะพร้าวในประเทศก็น่าจะเพียงพอแล้ว

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยผลผลิตภายในประเทศ แต่เกิดจากปัจจัยที่รัฐเปิดให้นำเข้ามะพร้าวจากประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนามอย่างเสรี โดยไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน ปล่อยให้ทะลักเข้ามาในประเทศตั้งแต่ต้นปี อีกทั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็รับซื้อมะพร้าวต่างประเทศ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่รับซื้อมะพร้าวในประเทศซึ่งเป็นชาวสวนของคนไทยเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น จึงยิ่งสร้างปัญหามะพร้าวล้นตลาด จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ควบคุมจัดการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ ทำให้ตลาดมะพร้าวในประเทศไทยเสียหายด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ในส่วนของหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อทราบข่าวก็ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาแล้ว โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้ามะพร้าวผ่านจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผิดกฎหมาย จำนวนมาก ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2561 สนง. ปศุสัตว์อำเภอเมืองราชบุรี ร่วมกับด่านกักกันสัตว์ราชบุรี ตรวจติดตามการยึดอายัดสุกรจากการตรวจพบสารเร่งเนื้อแดง เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2561 จำนวน 4 ฟาร์ม สุกร 8,540 ตัว ผลการตรวจติดตาม สุกรอยู่ครบตามจำนวนอายัดทุกฟาร์ม

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมกำลังเร่งออกกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มทรัพย์สินอื่นมาเป็นหลักประกัน สำหรับไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย อีกทั้งประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ระหว่างการปลูก โดยนำไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้

โดยกรมได้รับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน SME Bank ซึ่งทุกหน่วยงานสนับสนุนให้กระทรวงพาณิชย์เร่งออกกฎกระทรวง รวมทั้ง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่า จะเป็นไปตามแผนที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 1 ปี หรือภายในเดือนกันยายน 2561

ทั้งนี้ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 กำหนดให้ทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้มี จำนวน 6 ประเภท ได้แก่ 1.กิจการ 2.สิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า บัญชีเงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า เป็นต้น 3. สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบ เป็นต้น

4.อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น 5. ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ เป็นต้น 6. ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้ทรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจมีครบตาม 1- 5 แล้ว

ล่าสุด ภาคเอกชนได้มีการนำสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ประเภทสัตว์พาหนะ (ช้าง) และกิจการ มาจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าทรัพย์สิน (ช้าง) ที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 13 ล้านบาท และกิจการ 514 กิจการ ประกอบด้วย ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ร้านซักอบรีด สวนผัก ผลไม้ สวนยางพารา หอพัก และรับเหมาก่อสร้าง จำนวน 97 ล้านบาท รวมมูลค่า (ช้างและกิจการ) กว่า 110 ล้านบาท

แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของประเภททรัพย์สินที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ และเป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินในการให้กู้ยืมเงิน สามารถสะท้อนได้ว่า พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ เอสเอ็มอี ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ช่วง 4 กรกฎาคม 2559 – 3 กรกฎาคม 2561 ได้มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว 210,730 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวม 4,849,127 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็น 51.88% มูลค่า 2,515,487 ล้านบาท รองลงมาคือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขายคิดเป็น 25.92% มูลค่า 1,256,912 ล้านบาท

สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลังวัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็น 22.16% มูลค่า 1,074,656 ล้านบาท ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็น 0.04 % มูลค่า 1,975 ล้านบาท กิจการ คิดเป็น 0.002% มูลค่า 97 ล้านบาท และอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็น 0.00001% มูลค่า 340,000 บาท

กลุ่มผลิตทุเรียนระยองลงนามบันทึกข้อตกลงสั่งซื้อปากกาวัดความสุกทุเรียนล๊อตแรก 50 ชิ้น ผลงานรางวัลระดับชาติของนักศึกษาการอาชีพบางสะพาน

วันที่ 5 กรกฎาคม นายจิตวัฒนา บุญเลิศ หัวหน้าแผนกวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ผลประสบความสำเร็จจาการผลิตโครงงานนวัตกรรมและงานวิจัย โดยผลิตอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนที่มีความถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด ชนะเลิศระดับตัวแทนภาคกลาง ได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมโดดเด่นระดับชาติ ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ในการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษาระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2560 ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพนักศึกษา

ล่าสุดวิทยาลัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการทำบันทึกข้อตกลงกับกลุ่มยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ในกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนที่ จ.ระยอง สนใจสั่งซื้อผลผลิตภัณฑ์ล๊อตแรกจำนวน 50 ชิ้น กำหนดราคารับซื้อชิ้นละ 3,900 บาท จากเดิมวิทยาลัยกำหนดราคาไว้เพียงชิ้นละ 1,000 บาท

“ล่าสุดผลิตได้แล้วกว่า 90% จากนั้นจะรอการส่งมอบเพื่อไปใช้งานจริง เพื่อวัดความสุกของทุกเรียนก่อนไปจำหน่ายในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการ เอ็ม เอ็ม อี ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้แจ้งความประสงค์จะซื้ออีกกว่า 100 ชิ้น ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยสินค้าที่ผลิตเป็นผลงานแฮนด์เมดทั้งหมด และก่อนนำสินค้าไปจำหน่ายจะมีการจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ แต่ส่วนตัวทำใจไว้แล้ว เพราะเชื่อว่าเมื่อสินค้าหลุดออกไปจะมีพ่อค้าทำสินค้าเลียนแบบอย่างแน่นอน”นายจิตวัฒนา กล่าว

สำหรับปากกาวัดความสุกทะเรียน เป็นผลงานของ นายเมธี ขำพวง, นายพันทิวา คำแก้ว และนายสมทรง แจ้งอักษร จากแผนกวิชาเทคนิคการผลิต ใช้เวลาคิดค้น 3 เดือน โดยผลิตเครื่องมือวัดคุณภาพทุเรียน มีลักษณะคล้าย เข็มฉีดยา เมื่อแทงเข็มลงไปในพูทุเรียน อุปกรณ์จะวัดความสุกได้ 3 ระดับ สีแดง หมายถึงทุเรียนดิบ สีเหลืองหมายถึงทุเรียนห่าม และสีเขียวหมายถึงทุเรียนสุก อุปกรณ์นี้ใช้งานง่ายและสามารถทราบผลได้ในทันที

14 จังหวัดภาคใต้ ลุยรณรงค์แก้ปัญหาเกษตรกรตัดทุเรียนอ่อนขาย เหตุแนวโน้มราคาทุเรียนพุ่งสูงขึ้นจากปีก่อนมาก หวั่นผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด

นายธาร นวลนึก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไม้ผลเขตร้อนที่สำคัญของโลก ไม้ผลเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ทุเรียน ที่สามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ทุกภูมิภาค โดยในปี 2561 มีพื้นที่ให้ผลผลิต 609,951 ไร่ และคาดว่าจะมีผลผลิตรวม 734,284 ตัน ซึ่งภาคใต้เป็นแหล่งผลิตใหญ่รองลงมาจากภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ชุมพร ที่มีพื้นที่ให้ผลผลิตสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจาก จ.จันทบุรี มี “กลุ่มล้ง” หรือผู้รวบรวมสินค้าเกษตรสำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศเปิดจุดรับซื้อจำนวนมาก ซึ่งรับซื้อทั้งผลผลิตของ จ.ชุมพร และจังหวัดใกล้เคียง

อีกทั้งราคาจำหน่ายทุเรียนในปี 2561มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปีก่อน ๆ ซึ่งผลผลิตที่ออกมาก่อนฤดูกาลมักได้ราคาสูง อาจเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ยังไม่สุก หรือที่เรียกว่าทุเรียนอ่อน ส่งมาจำหน่ายในตลาดได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาด กระทบต่อชื่อเสียงประเทศไทย ดังนั้นทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา จึงจัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนของ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในอนาคต