ดันศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน 882 ศูนย์ เป็นแหล่งบริการข้อมูลดิน

และปุ๋ยครบวงจรหนุนเกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นางชัญญา ทิพานุกะ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการดินปุ๋ย กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งยกระดับความรู้เรื่องการจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกร ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ณ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ซึ่งกระจายอยู่ทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ มีเกษตรกรสมาชิกอย่างน้อย 17,640 รายทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมี ซึ่งนับเป็นปัจจัยการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกรมากที่สุด

ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. มีบทบาทสำคัญเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรในชุมชนผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้และแปลงเรียนรู้ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน และให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยเบื้องต้น ทำให้เกษตรกรที่มารับบริการทราบว่าปริมาณธาตุอาหารหลักในดินของพื้นที่ตนเองนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ควรจะต้องใส่ปุ๋ยอย่างไรให้เหมาะสมกับความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ยังช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต การใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมทำให้ต้นพืชแข็งแรง ไม่อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง ทำให้ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและตัวของเกษตรกร

การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ช่วยให้เกษตรกรสมาชิก ศดปช. ลดต้นทุนการผลิตอันเนื่องจากปุ๋ยเคมี คิดเป็นค่าเฉลี่ย 27% มูลค่าถึง 43 ล้านบาท และสามารถเพิ่มผลผลิตได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% และนอกจากการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพด้วย ซึ่งผลจากการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ในข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย และมันสำปะหลัง สามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนลงได้อีก คิดเป็นต้นทุนที่ลดลงเฉลี่ย 43% นอกจากนี้ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนจำนวนหนึ่ง ยังสามารถยกระดับพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งรวบรวมและจัดหาปุ๋ยเคมี รวมทั้งแม่ปุ๋ยที่นำมาใช้ผสมให้ได้สูตรปุ๋ยตามคำแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินมาบริการให้กับสมาชิก เกิดเป็นธุรกิจชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน อีกทางหนึ่ง” ผอ.ชัญญา กล่าว

นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมมือกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดส่งนักวิชาการเกษตรชำนาญการด้านอารักขาพืช ไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Training on Biological Control หรือการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี ให้กับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรและเกษตรกรของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้สารชีวภัณฑ์ที่สำคัญคือการใช้ศัตรูธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จำเป็นที่ต้องใช้สารชีวภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานที่หรือหน่วยงานที่มีเทคนิคการศึกษาทดสอบและการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานยังไม่เพียงพอในการถ่ายทอดความรู้ ดังนั้น ความร่วมมือกันในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว จึงเป็นการช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ให้สามารถควบคุมศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในภูมิภาคเอเชียได้ด้วย

ด้านนางสาวอารีวรรณ ใจเพ็ชร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศเวียดนามนั้นทางกรมวิชาการเกษตรเวียดนาม ได้สนับสนุนให้เกษตรกรในประเทศใช้เชื้อราเมตาไรเซียมเข้าควบคุมแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในหลายพืช เช่น ผัก ข้าว แต่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตหัวเชื้อราเมตาไรเซียมบริสุทธิ์ (Metarhizium anisopliae) และการผลิตขยายเชื้อราให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน

วิทยากรที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งไปได้แก่ นางสาวสุณิสา ผิวรำไพ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ในการควบคุมศัตรูพืช เน้นการใช้เชื้อราทำลายแมลงควบคุมศัตรูพืช พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานของตนเองและพัฒนาการผลิตขยายหัวเชื้อราได้ด้วยตนเอง

ส่วนที่ประเทศพม่านั้น มีนางสาววรนาฏ โคกเย็น นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี โดยเฉพาะหนอนใยผักของพืชตระกูลกะหล่ำและพืชผักชนิดต่างๆ เนื่องจากเกษตรกรในเขต Pindaya มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชจำนวนมากในกะหล่ำปลี กวางตุ้ง มะเขือเทศ หอมแดง กระเทียม จึงต้องมุ่งเน้นถ่ายทอดความรู้การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงการลดการใช้สารเคมีและรักษาสมดุลทางระบบนิเวศน์ให้เกิดความยั่งยืน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากที่ประธานภาคเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ส่งผลให้ชาวสวนปาล์มประสบภาวะขาดทุน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.3 บาท หรือประมาณไร่ละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นผลจากการประกาศราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบขององค์การคลังสินค้านั้น กระทรวงพาณิชย์ ขอชี้แจงว่า ​ในปี 2560 ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยากรณ์มีจำนวน 14.241 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 (11.42 ล้านตัน) ร้อยละ 24.70 เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น และสภาพภูมิอากาศที่มีปริมาณน้ำมันฝนเพียงพอเอื้ออำนวยต่อการให้ผลผลิต ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

โดยผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ จำนวน 2.626 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ภายในประเทศ มีเพียง 2.137 ล้านตัน ส่งผลให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้นมาก อยู่ในระดับมากกว่า 0.40 ล้านตัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา และในปี 2561 ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยากรณ์ ว่า จะมีจำนวน 15.399 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 8.31 เนื่องจากเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2560 เมื่อผลิตเป็นน้ำมันปาล์มดิบที่ อัตราน้ำมัน 17.61% (ค่าเฉลี่ย ปี 2560) จะได้น้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 2.71 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศจะอยู่ที่ 2.34 ล้านตัน (ใช้ในการบริโภคและภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จำนวน 1.19 ล้านตัน และด้านพลังงานผลิตเป็น ไบโอดีเซล จำนวน 1.15 ล้านตัน) จะมีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบมากกว่าความต้องการใช้อยู่ จำนวน 0.37 ล้านตัน เมื่อรวมปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่ยกมาจากปี 2560 อีกจำนวน 0.48 ล้านตัน จะมีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน 0.85 ล้านตัน

ขณะที่ระบบควรมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในระดับปกติ จำนวน 0.25 ล้านตัน ดังนั้น ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินที่ต้องบริหารจัดการ โดยผลักดันส่งออก จำนวน 0.60 ล้านตัน หรือจำเป็นต้องส่งออก เฉลี่ยเดือนละ 50,000 ตัน

ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2560 ภาครัฐโดยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ มีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน ได้มีมติให้ลดปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 0.20 ล้านตัน ภายในเดือนธันวาคม 2560 โดยให้ผู้ส่งออก โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 0.10 ล้านตัน โดยให้มีการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกการส่งออก เช่น การขนส่งน้ำมันปาล์ม และเรือในการส่งออก และให้กระทรวงพลังงานประสานผู้ค้าน้ำมันซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อสต๊อก จำนวน 0.10 ล้านตัน นอกเหนือจากที่ให้ผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 สำรองไว้เดิม ซึ่งในปี 2560 ปริมาณ 314,143 ตัน สูงเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าปี 2559 (39,180 ตัน) ร้อยละ 702 และปี 2561 (ม.ค.-มี.ค.61) ปริมาณ 181,829 ตัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (9,143 ตัน) ถึงร้อยละ 1,889 โดยส่งออกไปประเทศ อินเดีย พม่า กัมพูชา กานา และจีน

และในปี 2561 ราคาผลปาล์มน้ำมัน (อัตราน้ำมัน 18%) เฉลี่ย ม.ค.-พ.ค. 61 กก.ละ 3.56 บาท สูงกว่าต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่ กก.ละ 3.01 บาท ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบ เฉลี่ย ม.ค.-พ.ค. 61 กก.ละ 20.02 บาท ซึ่งในปัจจุบัน (1 มิ.ย.61) ราคาผลปาล์มน้ำมัน (อัตราน้ำมัน 18%) และน้ำมันปาล์มดิบ ปรับตัวสูงขึ้น เป็น กก.ละ 4.00 บาท และ 23.00 บาท ตามลำดับ
ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2560 – ต้นปี 2561 ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยลดลงต่ำกว่าของมาเลเซีย จึงไม่จูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม และขอยืนยันว่าไม่มีการกำหนดราคาให้ อคส รับซื้อน้ำมันปาล์มที่กิโลกรัมละ 21 บาท แต่อย่างใด

สำหรับการแก้ไขปัญหาคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 61 กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2561 โดยมีมาตรการการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมัน รวมทั้ง ส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี โดยมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการต่อไป

​สำหรับมาตรการการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกให้กับผู้ส่งออก ไม่เกิน กก.ละ 1.75 บาท เพื่อผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 300,000 ตัน เป็นเวลา 5 เดือน ใช้งบกลางวงเงิน 525 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีมาตรการกำหนดมาตรฐานโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดออกประกาศกำหนดวัตถุดิบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มโดยเร็ว รวมทั้งมีมาตรการการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ที่เห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาการถ่ายลำ ผ่านแดนน้ำมันปาล์มของมาเลเซียไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านไทย มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ หารือร่วมกับกรมศุลกากร พิจารณากำหนดแนวทางการบริหารจัดการ นอกจากนี้ การปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม คณะกรรมการ กนป. ได้แต่งตั้งคณะทำงานการแก้ไขปัญหาการนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม (คนป.) มีผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน ได้ตรวจสอบและจับกุมผู้ที่ลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งระบบอย่างจริงจัง รวมทั้ง กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานกับฝ่ายความมั่นคง (ทหาร) และกระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) ตรวจสอบ ปราบปรามการลักลอบนำเข้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

วงการปศุสัตว์เดือด ผู้เลี้ยงหมู-ไก่-เป็ด-ไข่รายกลางครบวงจร ขยายไลน์ผลิตสินค้าแปรรูป บุกถ้ำเสือชิงส่วนแบ่ง “ตลาดโฮเรก้า-ค้าปลีก” เจ้าถิ่นยักษ์ใหญ่ ซีพี-เบทาโกร “VPF” เจ้าพ่อเชียงใหม่กวาดเชนร้านอาหารดัง MK-โออิชิ ชิงส่วนแบ่งโมเดิร์นเทรด “เกษมชัยฟาร์ม” ขึ้นเทรดเดอร์ไข่เบอร์ 1 ลุยอาหารพร้อมรับประทาน

แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ขณะนี้บริษัทผู้ประกอบการสินค้าปศุสัตว์ครบวงจรรายกลางหลายบริษัทที่มีฐานการผลิตและการตลาดอยู่ในต่างจังหวัดได้รุกเข้ามาทำตลาดค้าปลีก-ค้าส่ง แข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เครือเบทาโกร เช่น กลุ่ม VPF ซึ่งมีฐานอยู่ใน จ.เชียงใหม่ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล กลุ่มเกษมชัยฟาร์ม เดิมเป็นผู้เลี้ยงและผู้ค้าไข่ไก่ ไข่เป็ดรายกลางได้แตกไลน์และขยายธุรกิจจนกลายเป็นผู้ส่งออกไข่ไก่รายใหญ่ ล่าสุดในงานแสดงสินค้า THAIFEX2018 บริษัทปศุสัตว์รายกลางเหล่านี้ได้จองพื้นที่แสดงสินค้าขนาดใหญ่เหมือนส่งสัญญาณท้ารบเจ้าตลาด

นางสาววนิชยา จีรประภาพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการตลาดและขาย บจ.วี แอนด์ พี เฟร็ชฟูดส์ จ.เชียงใหม่ ผู้ผลิตสุกรครบวงจรรายใหญ่ภาคเหนือและ อันดับ 6 ของไทย ภายใต้แบรนด์ VPF และหมูวีพี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เครือ วีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจมากว่า 45 ปี มีแม่พันธุ์ 12,000 แม่ ที่ผ่านมาผลิตและจัดจำหน่ายเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีอยู่เริ่มแคบลง เพราะผู้ประกอบการปศุสัตว์รายใหญ่หลายบริษัทขยายกำลังการผลิตและทำการตลาดเพิ่มในภาคเหนือ ขณะเดียวกันห้างโมเดิร์นเทรดที่เคยเป็น

ฮาส์แบรนด์ถูกซื้อกิจการและลดการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สุกรลงกว่า 50% บริษัทจึงปรับกลยุทธ์เร่งหาช่องทางการจัดจำหน่ายสู่ตลาดฟู้ดเซอร์วิส และห้างค้าปลีกใน กทม. เช่น ร้านสุกี้ MK, ยาโออิ, โออิชิกรุ๊ป, เซน, วีทีแหนมเนืองฯ รวมทั้งโมเดิร์นเทรด เช่น เทสโก้ โลตัส ส่งทั้งใน กทม.และภูมิภาคอื่นๆ เช่น ภาคใต้ส่งถึงคลังสินค้าที่ จ.สุราษฎร์ธานี
พร้อมเปิดช็อปแบรนด์หมูวีพี 9 สาขา ในภาคเหนือ เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้า ใน จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือ ทั้งทำผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ไส้กรอก เพิ่มขึ้นด้วย

นายสถาพร ภู่วิจิตรวราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.เกษมชัยฟู๊ด เจ้าของแบรนด์ KCF ใน อ.บางเลน จ.นครปฐม เปิดเผยว่าทำธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ผลิตไข่ไก่วันละ 1.8-1.9 ล้านฟอง และเลี้ยงเป็ด ทั้งเลี้ยงเอง และทำคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง รวม 5 แสนตัว ผลิตไข่เป็ดได้วันละ 4 แสนฟอง และโรงงานแปรรูป ปัจจุบัน ทำผลิตภัณฑ์แปรรูป 35% ธุรกิจไข่ไก่สด 45% ไข่เป็ด ไข่เป็ดแปรรูป 20% รวมถึงผลิตภัณฑ์ปลาน้ำจืด และไก่พื้นเมือง โดยจะผลิตสินค้าแปรรูปเป็น 45-50% และพัฒนาธุรกิจแปรรูปป้อนกลุ่มโฮเรก้า และค้าปลีกกว่า 50 ชนิด

นอกจากนี้ ได้เริ่มทำธุรกิจเทรดเดอร์ไข่ โดยรับซื้อไข่เข้ามา วันละ 8-9 แสน ถึง 1 ล้านฟอง เป็นไข่สด และเข้าสู่โรงงานแปรรูป ปัจจุบัน เป็นผู้ส่งออกไข่ อันดับ 1 ของไทย หรือเกือบ 10 ล้านฟอง ต่อเดือน โดยปี 2560 มียอดขาย 2,700 ล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3,600 ล้านบาท และปีหน้าได้ถึง 5,000 ล้านบาท และในงาน THAIFEX เปิดตัว เช่น ทาร์ตไข่, ไข่แดงเค็มผง เป็นต้น

ขณะที่ นายดิศลัย จงเจริญ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บมจ.บางกอกแรนช์ หรือ BR Group เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็ดแปรรูปพร้อมปรุง เช่น เนื้อเป็ดย่างและเป็ดพะโล้ ภายใต้แบรนด์ดาลี รวมถึงข้าวกล่อง หรืออาหารปรุงสำเร็จ เน้นตลาดรีเทล เป็นแบบ B2C จากเดิมเป็น B2B เพื่อตอบสนองตลาดค้าปลีกและโฮเรก้า ปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวสินค้าใหม่โดยใช้หมูเป็นวัตถุดิบ ภายใต้แบรนด์ทาเบมาโชรวมถึงผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เช่น ไส้กรอกสูตรญี่ปุ่น และหมูชาชู ลงทุนตั้งโรงงานที่ จ.ปราจีนบุรี 400-500 ล้านบาท เน้นขายฟู้ดเซอร์วิสร้านอาหารญี่ปุ่น โดยบริษัทมียอดขายรวม ปี 2560 อยู่ที่ 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 400-500 ล้านบาท หรือ 20% และคาดว่าปีนี้ยอดขายรวมเติบโต 10%

TGM ขยับจากหมูสู่ไก่ฮาลาล

ด้าน นายวัฒนา พัวพัฒนาขจร รองประธานกรรมการบริหาร บจ.ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ กล่าวว่า บริษัทจะก่อตั้งโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์แห่งที่ 3 เพื่อผลิตสินค้าฮาลาล มูลค่า 600 ล้านบาท เพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก รวมถึงการขยายสู่โรงแรม สายการบิน และผลิตสินค้าพรีเมี่ยมฮาลาล ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการยื่นขออนุญาตตรารับรองสินค้าฮาลาลจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ควบคู่กับหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ใน จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ บริษัทมียอดขายในปี 2560 ราว 2,000 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายโตขึ้น 20% โดยในไตรมาสแรกโตแล้ว 13%

ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ถือเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทยที่ต้องพึ่งพากลไกของรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องยางพารา ที่ผันผวนอย่างต่อเนื่องตามปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการของตลาด ถึงกระนั้นราคากลับต่ำลงแทบจะน้อยกว่าต้นทุนการผลิตจนชาวสวนเริ่มถอดใจ แต่ไม่ใช่กับ “กลุ่มเกษตรทำสวนธารน้ำทิพย์” อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่รวมตัวกันแปรรูปจากยางก้อนถ้วยต่อยอดผลิตภัณฑ์จนสามารถส่งออกได้ด้วยตนเอง

“กัมปนาท วงศ์ชูวรรณ” ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ เล่าว่า ในช่วงวิกฤตราคายางขึ้นและลงทางกลุ่มได้รับผลกระทบบ้าง แต่ยังดำเนินการอยู่ได้โดยมีตลาดประเทศจีนกับประเทศมาเลเซียรองรับผลผลิต และสามารถส่งออกผลผลิตได้ด้วยตัวเอง ซึ่งตลาดยางในประเทศจีนถือว่าเป็นตลาดหลักของกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกยางคอมพาวนด์ ที่จีนนำเข้าจากประเทศในอาเซียนด้วยสิทธิพิเศษจาก AFTA (ASEAN Free Trade Area เขตการค้าเสรีอาเซียน ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ) ทำให้ภาษีการนำเข้าเป็นศูนย์ แต่หากเป็นยางธรรมชาติ ทั้งยางแผ่น ยางอัดก้อน ยางแท่งเบอร์ 20 จะต้องเสียภาษี ฉะนั้น การแปรรูปเป็นยางคอมพาวนด์ได้เปรียบในเชิงการตลาด สามารถขายได้ง่ายขึ้น

ส่วน มาเลเซีย เป็นประเทศที่ผลิตถุงมือยางเป็น อันดับ 1 ของโลก แต่สามารถผลิตยางได้ไม่เกิน 6 แสนตัน ต่อปี จึงต้องสั่งซื้อวัตถุดิบและน้ำยางจากประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ก่อนแปรรูปเป็นถุงมือเพิ่มมูลค่าแล้วส่งออกไปยังประเทศจีน ฉะนั้น ผลผลิตน้ำยางสดส่วนใหญ่ของจังหวัดยะลา สงขลา ตรัง พัทลุง จะส่งไปให้มาเลเซีย อีกส่วนหนึ่ง

จะนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบหรือแผ่นรมควัน นอกจากนี้ ยังมียางคัพลัม หรือยางก้อนถ้วย ที่มาเลเซียนิยมซื้อไปผสมกับยางจากเวียดนามและอินโดนีเซียแล้วทำเป็นยางแท่งส่งออก แม้ว่ามาเลเซียจะผลิตยางพาราได้น้อยกว่าประเทศไทย แต่สามารถค้าขายกับจีนได้ดีกว่าไทย เพราะพูดและสื่อสารภาษาจีนได้ดีกว่าคนไทย

“เราเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันส่งออกเอง จึงสามารถต่อรองราคาให้เป็นไปตามกลไกของตลาดได้ มูลค่ารายได้รวมต่อปีเฉลี่ย “พันกว่าล้านบาท” โดยอิงราคาตลาดยางเซี่ยงไฮ้เป็นหลัก สูงสุดกลุ่มเกษตรของเราเคยทำได้เกือบ 2,000 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะนโยบายที่จะผลักดันราคาให้ขึ้นมาทำได้ยาก ทั้งนโยบายการโค่นยางและหยุดกรีดยางของรัฐบาล ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เกษตรกรที่มีสวนยางตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นตา พื้นที่บางแห่งเป็น ภ.บ.ท. 5 ซึ่งนโยบายช่วงนี้ก้ำกึ่งยังไม่ชัดเจน”

ด้านภาพรวมทั่วประเทศถือว่ายังคงเป็นปัญหา เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราลดลงอย่างต่อเนื่อง มีข้อตกลงเก็บสต๊อกยาง ลดการส่งออกใน 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ผู้ซื้อจึงชะลอการซื้อพร้อมทั้งกดราคาให้ต่ำลง เพราะยางที่เก็บไว้มีอายุการใช้งานและเสื่อมคุณภาพ บวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ยางราคาตกเพิ่มขึ้นอีก

ล่าสุด อเมริกา ได้เพิ่มภาษีนำเข้ายาง ตลาดจีนจึงกลายเป็นตลาดใหญ่แล้วกดราคาลงมาอีก ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางทั่วประเทศเดือดร้อนหนัก และประเทศไทยถูกมองว่าปลูกยางเกินความต้องการของตลาดโลก ซึ่งสามารถผลิตยางพาราได้กว่า 4.5 ล้านตัน ต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของตลาดโลก ขณะที่การใช้ยางพาราภายในประเทศไม่เกิน 6 แสนตัน ต่อปี เท่านั้น

กัมปนาท บอกว่า ตอนนี้ภาคใต้ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่เรื่องยางพารา โรงงานแปรรูปแต่ละแห่งมียางเก่าเก็บไว้มากพอสมควร การทำราคายางให้ดีขึ้นนั้นยาก เมื่อเปรียบเทียบราคาวัตถุดิบน้ำยางสด ยางแผ่น และยางก้อนถ้วย ก็ไม่สมดุลกัน แต่กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์สามารถรับซื้อผลผลิตจากชาวสวนด้วยราคาที่สูงกว่ารายอื่นประมาณ 2-3 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่สามารถผลิตยางคอมพาวนด์ส่งออกได้ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะที่กลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มสหกรณ์อื่นยังไม่มีการแปรรูป และยังไม่มีตลาดที่แน่นอน

“เราคนเบตง ส่วนใหญ่พูดจีนได้ ตอนแรกก็อาศัยบริษัทในมาเลเซีย หลังจากนั้น เขาแนะนำวิธีการแปรรูปจนเราสามารถทำเองได้ เมื่อพูดจีนกลางได้ พูดจีนกวางตุ้งได้ ก็เลยทำตลาดได้อย่างต่อเนื่อง เรื่องของการสื่อสารภาษาเป็นหัวใจหลักสำคัญ สิงคโปร์ไม่มีต้นยางสักต้นก็ค้าขายได้ เพราะเขาได้ภาษา บ้านเราพูดแต่ไทย แหล่งใต้ก็เลยต้องผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ 5 เสือ แต่ถ้าทุกจังหวัดมี 1 กลุ่ม นำร่องการแปรรูป จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางแต่ละจังหวัดสามารถมุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้”