ด้านวัตถุประสงค์ในการกู้ พบว่าในปี 2560 ส่วนใหญ่ 37.5%

ระบุเกิดจากเพื่อซื้อทรัพย์ (รถยนต์/จักรยานยนต์) รองลงมาคือ เพื่อใช้จ่ายทั่วไป 24.4% เพื่อซื้อบ้าน 14.3% ลงทุน 10.7% ใช้คืนเงินกู้ 8.7% ค่ารักษาพยาบาล 3.9% และที่เหลืออื่นๆ อีก 0.6%

ส่วนวัตถุประสงค์ในการกู้ ในปี 2561 ส่วนใหญ่ 36.1% เกิดจากเพื่อใช้จ่ายทั่วไป เพื่อซื้อทรัพย์ (รถยนต์/จักรยานยนต์) 24.9% ลงทุน 13.6% เพื่อซื้อบ้าน 10.8% ใช้คืนเงินกู้ 7.2% ค่ารักษาพยาบาล 6.7% และอื่นๆ 0.7%

นอกจากนี้ ยังพบว่าในปี 2561 แรงงานมีหนี้สินรวมเฉลี่ยต่อครัวเรือนปรับสูงขึ้นในรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2552 โดยอยู่ที่ 137,988.21 บาท และเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีหนี้สินรวมเฉลี่ยต่อครัวเรือน อยู่ที่ 131,479.89 โดยแบ่งเป็นหนี้สินในระบบ สัดส่วน 65.4% และนอกระบบ 34.6% หรือขยายตัว 4.95% ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของแรงงานในปี 2561 พบว่ามีปัญหาเพิ่มขึ้นเป็น 85.4% ไม่มีปัญหาลดลงเหลือ 14.6% และเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีปัญหาอยู่ที่ 78.6% และไม่มีปัญหาอยู่ที่ 21.4%

เมื่อพิจารณาด้านการเก็บออมของแรงงาน พบว่าในปี 2561 แรงงานมีการเก็บออมลดลงเหลือ 41.4% และไม่เก็บออมเพิ่มขึ้นเป็น 58.6% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีการเก็บออมอยู่ที่ 62.6% และไม่เก็บออมอยู่ที่ 37.4% ทั้งนี้ คาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงาน ปี 2561 อยู่ที่ 2,193.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 2,115.17 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3.7% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 3%

เมื่อถามถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด พบว่า 45.5% คิดว่ามีความเหมาะสมปานกลาง ขณะที่ 24.2% คิดว่ามีความเหมาะสมน้อย 16% คิดว่า มีความเหมาะสมน้อยมาก 11.4% คิดว่ามีความเหมาะสมมาก 1.8% คิดว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด และ 1.2% คิดว่าไม่มีความเหมาะสมเลย

ในการสำรวจครั้งนี้ แรงงานได้มีข้อเสนอแนะถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนใหญ่ 62.3% ควรมีการปรับขึ้นทุกปี อีก 28% ควรปรับขึ้นตามภาวะค่าครองชีพ และ 9.6% ควรปรับขึ้น 2 ปีครั้ง โดยแรงงาน 44.7% ยังคาดหวังว่าการปรับขึ้นค่าแรงควรเพิ่มเท่ากับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น อีก 18.2% เห็นควรเพิ่มเท่ากับค่าเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น 15.3% เห็นว่าควรเพิ่มเท่ากับค่าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอีก 13.6% เห็นควรเพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น และ 8.2% อีกหลายความเห็นอื่นๆ เช่น ควรเพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือค่าเช่าบ้าน

สำหรับประเด็นที่แรงงานต้องการเสนอต่อภาครัฐ เพื่อขอความช่วยเหลือหรือดำเนินการ อาทิ ควรมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี, ลดปัญหาการว่างงาน ช่วยเหลือผู้ว่างงาน, ควบคุมราคาสินค้า และดูแลค่าครองชีพ, แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว, การดูแลประกันสังคม ในเรื่องค่ารักษาพยาบาล, ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และดูแลควบคุมหนี้สินนอกระบบ

เมื่อดูจากผลสำรวจดังกล่าว หอการค้าไทยมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ ในปี 2561 หลังจากพบว่าบรรยากาศของการลงทุน ยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยมองว่าเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐลงสู่ระบบล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น โดยรัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันให้โครงการต่างๆ เดินหน้าไปตามกำหนด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจยังคงไม่มั่นใจว่า จะสามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ หลังจากราคาพืชผลทางการเกษตร ยังมีราคาไม่สูงนัก รวมถึงราคาปศุสัตว์ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อของภาคเกษตรชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม ทางหอการค้าไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้อยู่ที่ 4.4% หรืออยู่ในกรอบ 4.2-4.6%

กรณีมีนักลงทุน เช่น อาลีบาบา และผู้ลงทุนในอีอีซี (เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) เข้ามาจะส่งต่อสถานการณ์แรงงานปัจจุบัน โดยสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่พ้นคือ การปรับโครงสร้าง ซึ่งความยากของระบบเศรษฐกิจขณะนี้คือ เศรษฐกิจปรับโครงสร้าง และทำให้นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอาจจะจับประเด็นข้อมูลไม่ทัน โดยเชื่อว่า กระแสของการใช้เงินที่เป็นคริปโตเคอเรนซียังเกิดขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะใช้มาก ต่อมาคือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ จะเกิดขึ้นแน่นอน

โดยเหตุผลที่สำคัญคือ แรงงานจะมีทั้งค่าแรง ภาระของเงินประกันสังคม และเงินสำรองเลี้ยงชีพ แต่ถ้าใช้แรงงานของปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ ที่ไม่มีการเจ็บป่วย มีเพียงค่าเสื่อมราคา และไม่ต้องใช้เงินส่งประกันสังคม ไม่ต้องจ่ายกองทุนสำรองตามกฎหมาย ดังนั้น แนวโน้มของโลกจะวิ่งไปที่หุ่นยนต์มากยิ่งขึ้น และผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลได้จากแอพพลิเคชั่น และโทรศัพท์มือถือ จึงคาดว่าคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ เจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) จนถึงเจเนอเรชั่นแซด (Generation Z) จะสามารถค้นหาข้อความ และซื้อสินค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

ดังนั้น แพลตฟอร์มของอีคอมเมิร์ซ เฉกเช่นอาลีบาบายังไงก็มา ถ้าไม่ก่อตั้งที่ประเทศไทยก็จะสามารถเข้าถึงคนไทยได้ง่าย เนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การที่นักลงทุนพวกนี้เข้ามาเป็นไปตามวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏการณ์ต่างๆ นี้ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ฉะนั้น กรณีของอาลีบาบา เป็นเพียงกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อประเทศ การที่อาลีบาบาเข้ามาจัดตั้งในประเทศไทยถือว่าเป็นมุมในเชิงบวก เพราะจะเป็นการเข้ามาจัดตั้งที่จะทำให้เม็ดเงินในการลงทุนเพิ่มเข้ามา และมีกระบวนการเสียภาษีในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลดีกว่าการที่คนไทยไปซื้อของต่างประเทศ และไม่มีระบบการเสียภาษี ดังนั้นการจ้างงานผ่านระบบคนกลางอาจจะหายไป

แต่ไม่ได้หมายความว่าการจ้างงานจะหายไป เพราะโรงงานก็ยังต้องผลิตสินค้า แต่คนงานอาจจะลดน้อยลง เพราะเป็นเรื่องของสิ่งประดิษฐ์ เครื่องกลที่จะเข้ามาแทนที่ ตามกรอบไทยแลนด์ 4.0 โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยผันตัวไปสู่ภาคการบริการมากขึ้น คล้ายกับประเทศสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ฉะนั้นสังคมไทย และแรงงานไทย สถาบันทางการศึกษาไทย จะต้องสนับสนุนฝีมือแรงานเข้าสู่ภาคการบริการ เช่น การอบรมความเป็นพยาบาล การอบรมนวดสปา ทำอาหาร และท่องเที่ยว

และสิ่งที่นายแจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบา เคยกล่าวไว้ว่า หุ่นยนต์แทนคนไม่ได้ เพราะหุ่นยนต์ไม่มีอารมณ์ ดังนั้นคำว่า อีโมชั่น หรือความรู้สึก มันจึงทำให้คนยังอยู่ได้ เพียงแต่ว่า แรงงานและประเทศในระดับนโยบายจะต้องปรับตัว ยังไงแรงงานไทยไม่ควรต้องตกงาน ถ้าไม่เลือกงาน 1. เรายังเป็นประเทศฐานการผลิตยังมีการจ้างงานอยู่ การใช้งานที่เป็นฝีมือยังมีอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่ง หุ่นยนต์ไม่สามารถทำแทนได้ 2.ประเทศไทยจะมีงานบริการเพิ่มมากขึ้น 3.เรายังมีตำแหน่งงานอื่นอยู่ เพราะว่าเรายังใช้แรงงานต่างด้าวประมาณ 3 ล้านคน ถ้าคนไทยนั้นปรับตัวเข้ากับงาน คนไทยก็น่าจะไม่มีการตกงาน แต่การใช้งานในหน่วยงานอาจจะมีการจ้างงานลดลงจริง ตามกรอบที่มีการใช้แอพพลิเคชั่นแทน ให้เทคโนโลยีแทน

นายไพศาล สังข์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นับเป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาโดยตลอด เนื่องจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงปากดูด ขนาดเล็ก ลำตัวมีสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลปนดำแบ่งออกเป็นชนิดปีกสั้นและปีกยาว ชนิดปีกยาวสามารถอพยพและเคลื่อนย้ายได้ โดยลักษณะการเข้าทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวแสดงอาการใบเหลือง เติบโตช้า ฉะนั้น ถ้าปล่อยให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดและเข้าทำลายต้นข้าวรุนแรง ต้นข้าวจะแสดงอาการไหม้แห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ทำให้ข้าวแห้งตาย

ทั้งนี้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล สามารถทำลายข้าวได้ทุกระยะการเติบโตและสามารถพัฒนาและปรับตัวให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมและอาหาร เช่น เมื่อมีอาหารมากจะพัฒนาตัวเองเป็นชนิดปีกสั้นและขยายพันธุ์ได้มาก แต่เมื่ออาหารมีน้อยจะพัฒนาตัวเองเป็นชนิดปีกยาวเพื่ออพยพไปยังแหล่งอาหารอื่นๆ ต่อไป สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเพื่อลดปริมาณและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในข้าว เกษตรกรสามารถทำได้โดย

เลือกปลูกข้าวที่มีการปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น กข 41 กข 49 เป็นต้น ควรเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดหากปลูกปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น พันธุ์ปทุมธานี 1 ชัยนาท 1 เป็นต้น และไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก ควรปลูกสลับกันระหว่างพันธุ์
ไม่ควรปลูกข้าวแน่นเกินไป สำหรับนาหว่าน ใช้ประมาณ 15 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือปลูกแบบนาดำ เพื่อให้ต้นข้าวแข็งแรง และการปลูกข้าวแน่นจนเกินไปทำให้สภาพแวดล้อมในแปลงเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และทำลายต้นข้าวได้อย่างต่อเนื่อง

ในแหล่งที่มีการระบาดและควบคุมระดับน้ำในนาได้ ปล่อยน้ำท่วมขังเหนือลำต้นข้าว จะช่วยควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ เพราะวิถีของเพลี้ยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าว
ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือยูเรียมากจนเกินไป เนื่องจากการใส่ปุ๋ยมากจะทำให้ต้นข้าวใบเขียว ลำต้นอวบน้ำ แตกกอหนาแน่น เหมาะสมต่อการเข้าทำลายและขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ในเวลากลางคืนใช้กับดักแสงไฟดักจับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือเปิดไฟเพื่อล่อให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบินมาเล่นไฟ แล้วใช้ถุงตาข่ายหรือสวิงดักจับและนำไปทำลาย
ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดและฉีดพ่นสม่ำเสมอทุก 15 วัน
ใช้สารเคมีในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในกรณีพบการระบาดอย่างรุนแรง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้สารเคมีอย่างเคร่งครัด

ในส่วนของชนิดสารเคมีที่แนะนำให้ใช้ในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประกอบด้วย ข้าวระยะกล้าถึงแตกกอ (อายุ 30-45 วัน) แนะนำให้ใช้สารจำพวก บูโพรเฟซิน ข้าวระยะแตกกอเต็มที่ให้ใช้สารเคมี เช่น อีโทเฟนพร็อกซ์ คาร์โบซัลเฟน ฟีโนบูคาร์บ ไฮโซโปรคาร์บ และข้าวระยะตั้งท้องถึงออกรวง ควรใช้สารเคมี เช่น ไดโนทีฟูแรน ไทอะมิโทแซม โคลไทอะนิดิน อิมิดาโคลพริด อัตราการใช้ตามฉลากบรรจุภัณฑ์ เพื่อการควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้เกิดผล เกษตรกรควรฉีดพ่นสารเคมีบริเวณโคนต้น ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพราะการฉีดพ่นบริเวณใบข้าวหรือปลายใบ สารเคมีจะไม่สัมผัสโดนตัวของแมลง หากพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลควรแจ้งอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่เกษตรประจำตำบลเพื่อที่จะได้ช่วยหาทางแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

แกงเลียงกะทิ เป็นอาหารที่หากินยากจนหลายคนอาจจะลืมไปแล้ว วิธีทำก็เหมือนกับการทำแกงเลียงทุกประการ เพียงแต่ต้มกับกะทิ จึงได้รสความหอมมันของกะทิ ใครชอบกินต้มกะทิคงชอบ

ผักที่ใช้ในแกงเลียงกะทิจะนิยมให้เป็นผักที่เป็นลูกมากกว่าผักที่เป็นใบ ได้แก่ ฟัก น้ำเต้าอ่อน ฟักทองแก่ และบวบ เลือกเอาตามสะดวก แต่อย่างน้อยควรจะมีทั้งสองอย่าง คนอยู่เมืองกรุงอาจจะหาฟักทองอ่อนยากสักหน่อย เพราะไม่ค่อยมีใครขาย นอกจากปลูกเองจึงได้เด็ดกิน ขอแนะนำให้ใช้ซูกินีแทน ซูกินีนั้นชาวเกาหลีเรียกว่า ฟักทองน้อย เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าฟักทองและซูกินีนั้นเกี่ยวพันกัน ถึงแม้ว่าจะนิยมแกงกับผักที่เป็นลูก แต่อย่างไรเสีย แกงเลียง ก็จะขาดใบแมงลักไม่ได้แน่นอน

“พาณิชย์” ออกเตือนผู้ส่งออกผลไม้ไทยเตรียมรับมือการแข่งขันจากคู่แข่งในกัมพูชา หลังพบว่า โรงงานจีน เกาหลีใต้ ขยายการลงทุนโรงงานเพื่อการส่งออกมากขึ้น

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ถึงการเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานแปรรูปและส่งออกมะม่วงของ บริษัท Weighai Dragon Union Agriculture จำกัด จากจีน ในจังหวัดกัมปงสปือ กัมพูชา มีมูลค่าการลงทุน 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชา หลังจากที่ บริษัท Hyundai Corporation จำกัด บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีชื่อของเกาหลีใต้ได้เข้ามาร่วมทุนกับ บริษัท Mao Lagacy ในการแปรรูปและส่งออกมะม่วง ก่อนหน้านี้

“บริษัทจากจีนและเกาหลีใต้ ที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา มีแผนที่จะเน้นการส่งออกมะม่วงแก้วขมิ้น โดยรับซื้อจากเกษตรกรมาแปรรูปและบรรจุหีบห่อและส่งออกไปยังตลาดจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และเริ่มมีตลาดใหม่ๆ ที่ต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ยุโรป และรัสเซีย ซึ่งการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ นี้ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ส่งออกมะม่วงแปรรูปของไทยได้ เพราะบางตลาดให้สิทธิพิเศษกับกัมพูชา ซึ่งจะทำให้สินค้ามีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าไทยได้ เป็นเรื่องที่ต้องระวังและติดตาม”

นางจันทิรา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมต้องการเตือนผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือ หลังจากพบว่า จีนได้เข้าไปลงทุนโรงงานแปรรูปมะม่วงในกัมพูชาตามหลังเกาหลีใต้ที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ ซึ่งเผยให้เห็นว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านการส่งออกมะม่วงแปรรูปไปในประเทศต่างๆ มากขึ้นจากเดิม ที่เคยเป็นตลาดของไทย ทั้งนี้ ประเทศผู้นำเข้าให้บางประเทศให้สิทธิพิเศษกับกัมพูชา จึงเป็นโอกาสทางการตลาด การส่งออกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ผู้ส่งออกของไทยจะต้องหาทางรับมือด้านวัตถุดิบมะม่วงแก้ว เพราะไทยเคยพึ่งพาวัตถุดิบจากกัมพูชา ก็ต้องหาทางปลูกหรือขยายการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และจะต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมีความได้เปรียบ และคู่ค้าให้การยอมรับ ซึ่งจะทำให้สินค้ามะม่วงแปรรูปของไทยยังคงเป็นที่ต้องการต่อไป

สำหรับการดึงดูดการลงทุนโรงงานแปรรูปมะม่วงของกัมพูชานั้น เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลกัมพูชาที่ต้องการส่งเสริมและผลักดันให้มีการส่งออกพืชเศรษฐกิจสำคัญเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากพืชเศรษฐกิจเดิม เช่น ข้าว มันสำปะหลัง โดยส่งเสริมให้มีการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ เพื่อผลิตและส่งออก ซึ่งก็เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะพิจารณาเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในกัมพูชาด้วย โดยกรมพร้อมที่จะสนับสนุนและให้คำแนะนำอย่างเต็มที่

จากสถิติการส่งออกสินค้าผลไม้ของไทย (สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง) ไปยังตลาดโลก ปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 76,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2559 โดยตลาดหลักสินค้าผลไม้ของไทย ได้แก่ อันดับ 1.เวียดนาม (สัดส่วน 45%) 2.จีน (30%) 3.ฮ่องกง (8%) 4.อินโดนีเซีย (4%) 5.สหรัฐอเมริกา (3%)

นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า จากการที่ ผส.ได้รณรงค์เชิญชวนให้ผู้สูงอายุร่วมโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยเปิดโครงการให้ร่วมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าขณะนี้มีเพียง 400 คน เท่านั้นที่ร่วมบริจาค จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 50,000 คน ทั้งนี้ เป้าหมาย 50,000 คน ที่เป็นเป้าหมาย เป็นการคำนวณจากผู้สูงอายุที่มาลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพ มีประมาณ 8 ล้านคน

จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดที่มีประมาณ 11 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ไปลงทะเบียนรับสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน ซึ่งหมายถึงอีกประมาณ 5 ล้านคน น่าจะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์คนจนที่รับสวัสดิการก็สามารถบริจาคได้ โดยประมาณเป้าหมายเพียง ร้อยละ 1 จาก 5 ล้านคน ก็ประมาณ 5 หมื่นคน ที่น่าจะบริจาคได้ แต่ช่วงที่ผ่านมา ผส. กระทรวงมหาดไทย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็พยายามเชิญชวนประชาสัมพันธ์ แต่ช่วง 4 เดือน ที่ผ่านมา มีผู้มาร่วมบริจาคเพียง 400 คน เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก

สาเหตุคิดว่าทุกคนอาจจะคิดว่าเป็นสิทธิที่จะได้ และการนำไปบริจาค ผู้สูงอายุก็อาจจะอยากตัดสินใจด้วยตนเอง ถ้าหากบริจาคด้วยการไม่รับเบี้ยยังชีพเงินดังกล่าวจะเข้าไปสู่กองทุนผู้สูงอายุเพื่อนำไปใช้สมทบช่วยเหลือผู้สูงอายุยากจนที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ คาดว่าข้อมูลข่าวสารอาจจะไปไม่ถึง ผู้สูงอายุไม่รู้ช่องทางบริจาคอย่างไร หรือบางคนได้รับเงินผ่านบัญชีทุกเดือนก็ไม่ได้สนใจที่จะบริจาค ซึ่ง ผส.ก็พยายามสื่อสาร ทำเป็นคลิปเชิญชวน ก็อยากจะฝากเชิญชวนผู้สูงอายุที่คิดว่าเงินส่วนนี้อาจจะไม่ได้ใช้อะไร ก็สามารถนำไปบริจาค หากบริจาคเป็นจำนวน 12 เดือน หรือครบ 1 ปี จะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติเป็นเหรียญพระคลัง ผลิตโดยกรมธนารักษ์

อธิบดี ผส. กล่าวด้วยว่า เฉลี่ยแต่ละปีรัฐต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนถึง 64,000 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนไว้ จำนวน 8 ล้านคน ถือว่าเป็นภาระที่หนักมาก และอนาคตผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น การจัดสรรเบี้ยยังชีพก็จะเป็นภาระรัฐเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ต้องพยายามหาช่องทางให้ผู้ทีบริจาคช่วยเหลือผู้ที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่ง ผส. คงต้องประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น

นพ. อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.สงขลา เปิดเผยว่า ใน จ.สงขลา มีผู้ป่วยมาลาเรีย 44 ราย ใน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย สะเดา จะนะ นาทวี เมือง และ อ.คลองหอยโข่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มอายุที่เป็น 25-44 ปี ร้อยละ 36.36 กลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 27.27 มากกว่า 45 ปี ร้อยละ 15.91 มีเป้าหมายใน ปี 2567 ให้ทุกอำเภอปลอดจากการแพร่เชื้อมาลาเรีย ซึ่งพื้นที่ชายแดนที่มีป่า สวนป่า

“ควบคุมและยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรีย 5 มาตรการหลักคือ จัดการในผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ง่าย ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล สามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกมาลาเรียของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง ให้มุ้งชุบสารเคมีครอบคลุมประชากรพื้นที่เสี่ยง ฉีดพ่นสารเคมีที่มีฤทธิ์ตกค้างเพื่อฆ่ายุงก้นปล่อง เฝ้าระวังผู้ป่วยมาลาเรียในพื้นที่ และให้บริการเฝ้าระวังควบคุมโรคในประชากรกลุ่มเคลื่อนย้ายและแรงงานข้ามชาติ”

นพ.อุทิศศักดิ์ เปิดเผยว่า โรคไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงบริเวณภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ เริ่มออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง ประชาชนที่อาศัยหรือเดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียหรือตามป่าเขา ให้ระมัดระวังตัวในการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ป้องกันที่สำคัญคือ การทายากันยุง นอนในมุ้งชุบน้ำยา มุ้งคลุมเปล จุดยากันยุง สวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว

พายุถล่มเมืองเพชรบูรณ์ยับ ต้นสักถูกแรงพัดถอนยวงล้มระเนระนาดทับบ้านพังเสียหายยับ ในขณะที่ผู้ประสบภัยและผู้ป่วยติดเตียงแตกตื่นอพยพหนีตายกันอลหม่าน เตรียมประกาศเขตประสบภัยฯ เพื่อเข็ญงบฯ ช่วยราษฎร

วันที่ 27 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดวาตภัย โดยมีพายุฤดูร้อนพัดกระหน่ำในเขตพื้นที่อ.เมืองเพชรบูรณ์ กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างในหลายตำบล เมื่อช่วงเย็นของ วันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา จนทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายจำนวนหลายร้อยหลัง โดยเฉพาะที่ ต.น้ำร้อน ซึ่งมีรายงานว่าได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนหนักที่สุด เนื่องจากมีป่าสัก จำนวนกว่า 30 ต้น ภายในสวนป่าสักเนินแดง หมู่ที่ 5 ถูกแรงลมพายุพัดกระหน่ำจนโค่นล้มระเนระนาด นอกจากนี้ ยังล้มทับบ้านเรือนราษฎรกว่า 27 หลัง ที่อยู่บริเวณใต้ต้นสักและบริเวณใกล้เคียง จนทำให้ราษฎรที่ประสบภัยต่างพากันตื่นตกใจและหนีตายกันอลหม่าน โดยราษฎรบางส่วนอพยพไปหลบพายุฝนในบ้านพักข้างเคียง โดยใช้ระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง พายุจึงสงบ แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาค่ำมืดและกระแสไฟฟ้าดับ จึงทำให้ราษฎรที่ประสบภัยเหล่านี้ต้องทนอยู่ในความมืดมิด

ล่าสุด เวลา 09.00 น. ของวันนี้ คณะเจ้าหน้าที่ทหารกองพันทหารม้าที่ 26 กรมทหารม้าที่ 3 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ รวมทั้งพนักงาน อบต. น้ำร้อน และป่าไม้จากหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.10 (ตะเบาะ) นำโดย พ.ท.ทรงภพ ชาญเดช ผบ.ม.3 พัน 26, นายสมบัติ หลวงเทพ ปลัดอำเภอเมืองฯ, นายกฤษณ์หิรัญ สาราช ปลัดอำเภอเมืองฯ, นายนิยม ฉมมา รองนายก อบต. น้ำร้อน และนายวันชัย ศรีพิมพ์ กำนันตำบลน้ำร้อน ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายบริเวณสวนป่าสักเนินแดง หมู่ที่ 5 บ้านหนองตาวง ต.น้ำร้อน โดยพบต้นสักทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จำนวนกว่า 37 ต้น ถูกแรงลมพายุพัดถอนรากถอนโคนและหักโค่นล้มระเนระนาดเต็มพื้นที่ ในขณะที่บางส่วนยังล้มทับบ้านพักราษฎรได้รับความเสียหาย จำนวน 27 หลัง อีกด้วย แต่ทั้งนี้ยังโชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุวาตภัยดังกล่าว

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเร่งจัดเก็บและเคลียร์สิ่งของและทรัพย์สินที่เปียกปอนออกจากบ้านพัก ส่วนบ้านพักที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อยราษฎรเริ่มซ่อมแซมกันเองแล้ว อย่างไรก็ตาม ระหว่างการสำรวจ พ.ท. ทรงภพ ได้เยี่ยม นายประสิทธิ์ พาลี อายุ 60 ปี ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งบ้านพักได้รับความเสียหายจากลมพายุเช่นกัน โดย นายประสิทธิ์ เล่าว่า ช่วงเกิดลมพายุนอนอยู่ในบ้าน จากนั้นได้ยินเสียงต้นไม้ล้มลงด้านข้างก็ตกใจกลัว ภายหลังหลานชายเข้ามาอุ้มพาหลบออกจากบ้านพักและพามาพักที่บ้านญาติ จากนั้น พ.ท. ทรงภพ ได้มอบถุงยังชีพเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมรับปากจะส่งกำลังเจ้าหน้าที่ทหารมาช่วยตัดเคลียร์ต้นไม้ออก พร้อมช่วยซ่อมแซมบ้านพักให้