ด้านเครือข่ายผู้ประกอบการของ NM ตลอดจนผลักดัน

ให้ภาคเกษตรอินทรีย์ของไทยมีการตื่นตัวและเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์มีการพัฒนามาตรฐานตลอดจนคุณภาพในด้านการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดระดับสากล เป็นการเพิ่มมูลค่าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของภาคเกษตรอินทรีย์

ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์เฉพาะผู้ประกอบการไทยเท่านั้น แต่จะเกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อก้าวสู่ระดับสากลต่อไปด้วย

ทูตพาณิชย์ขนทัพผู้นำเข้าเกาหลีใต้ 120 บริษัท ดีลซื้อสินค้าไทย ดันส่งออกปี’61 โต 12% พร้อมนำโชว์ศักยภาพ EEC ดึงการลงทุน

นางสาววิลาสินี โนนศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือนกรกฎาคม 2561 จะนำคณะผู้นำเข้ารายใหญ่จากเกาหลีใต้และสมาคมการค้า KOIMA ร่วม 120 บริษัท มาเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกไทย โดยสินค้าหลักที่ ผู้นำเข้าเกาหลีให้ความสนใจ ได้แก่ ยางพารา ผลไม้ พลาสติก ไม้ เป็นต้น เพื่อผลักดันให้การส่งออกไทยไปยังเกาหลีใต้ขยายตัว 12% ตามเป้าหมายในปี 2561 พร้อมกันนี้จะนำคณะนักธุรกิจเกาหลีลงพื้นที่เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในการดำเนินงานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งน่าจะช่วยดึงดูดการลงทุน

สำหรับเป้าหมายการส่งออกไปตลาดเกาหลีใต้ปี 2561 ขยายตัว 12% จากปีที่ผ่านมามูลค่า 4,667 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขยายตัว 14.6% จากปี 2559 โดยปัจจุบันตลาดนี้มีสัดส่วน 2% ของการส่งออกทั้งประเทศ โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำตาล ขณะที่สินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะ ผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น

ในปีที่ผ่านมา ไทย-เกาหลี มีการค้าระหว่างกันประมาณ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้ามีมูลค่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังขาดดุลการค้าเกาหลี อย่างไรก็ดี ในปี 2561 เชื่อว่ามูลค่าการค้าจะปรับตัวดี เนื่องจากเกาหลีอนุญาตนำเข้าไก่สดจากไทยเพิ่มขึ้นหลังจากปลดล็อกให้มีการนำเข้าไก่สดจากไทยเมื่อปีผ่านมา เพราะไทยสามารถแก้ปัญหาไข้หวัดนกที่มีมานานกว่า 10 ปีได้ แม้ว่าปัญหาไข้หวัดนกจะมีอยู่บ้างแต่คู่แข่งสำคัญอย่างบราซิล สหรัฐ ยังไม่สามารถส่งออกได้

“ที่สำคัญในปีนี้ไทยยังอยู่ระหว่างเจรจาเปิดตลาดส่งออกไข่ไก่ไปยังตลาดเกาหลีเป็นรายแรกหลังจากหมดปัญหาเรื่องไข้หวัดนก และผ่านการตรวจสอบรับรอง จนสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าและผู้บริโภคได้ ไม่นับรวมสินค้าที่เป็นสินค้าหลักเดิมอย่างยางพาราที่ส่งออกไปได้ดีอยู่แล้วขยายตัวทุกปี และสินค้าผลไม้ที่ตลาดเกาหลีนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะมะม่วง”

นอกจากนี้ ในด้านการลงทุนถือเป็นอีกส่วนที่น่าสนใจ เนื่องจากนักลงทุนเกาหลีใต้มีความสนใจที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะธุรกิจโรงงานไฟฟ้า เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีมีนโยบายลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า จึงมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมกับหาวัตถุดิบที่จะทดแทนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งขณะนี้

ได้มีการหารือกับบริษัทไทย เพื่อร่วมทุนในการผลิตไฟฟ้าด้วย ถือเป็นโอกาสอันดีที่ไทยควรเตรียมแผนรองรับการลงทุนไว้ โดยที่ผ่านมาเกาหลีอาศัยไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในสินค้าหลายรายการ นอกจากนี้ยังมีความสนใจลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารเกาหลีในไทย

และธุรกิจเครื่องประดับเงิน ซึ่งทางเกาหลีสนใจที่จะลงทุนในไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตส่งออกไปยังตลาดอินโดจีน โดยอาศัยจุดแข็งของไทยซึ่งมีทั้งวัตถุดิบและมีความสามารถในการออกแบบสินค้าอัญมณี

สำหรับช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังเกาหลี นางสาววิลาสินี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกับ ผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซเกาหลีใต้ เพื่ออาศัยแพลตฟอร์มที่ชาวเกาหลีนิยม หากสำเร็จจะช่วยสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าไทย ส่งผลดีกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่มีต้นทุนน้อยอีกด้วย

กรมวิชาการเกษตร ยันมติ 3 กระทรวงล่าสุด ยังไม่มีผล “แบนพาราควอต” เร่งรวบรวมข้อมูลส่ง “คณะทำงานชุดเฉพาะกิจ” สรุปผล “แบน-ไม่แบน” หลังครบกำหนด 3 เดือนสิ้น มี.ค.นี้ ก่อนส่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายชี้ขาดต่อไป

กรณีคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน โดยมี 5 กระทรวงเข้าร่วม เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 60 มีมติยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือพาราควอต สารเคมีฆ่าหญ้า และคลอร์ไพริฟอส สารเคมีฆ่าแมลง โดยไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และให้ยุตินำเข้าในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2562 และเตรียมควบคุมการใช้ “ไกลโฟเสต” แต่เมื่อเดือน ต.ค. 60 กรมวิชาการเกษตรได้ต่อทะเบียนใบอนุญาตให้หลายบริษัทไปอีก 6 ปีนั้น

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 61 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการหลังประชุม ครม. ให้ สธ.ประชุมร่วมกับนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาชน ศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการใช้สารเคมีดังกล่าว และรายงานให้นายกฯ รับทราบโดยเร็ว

นายอุทัย นพคุณ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 61 การประชุมร่วมกระทรวง สธ.ยืนยันมติเดิมให้ยกเลิกการใช้ แต่กระทรวงเกษตรฯ ตอบรับเพียงว่าจะศึกษาสารทดแทน ระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชี้ขาด กรมวิชาการฯ จึงยังไม่มีการแบนสารพาราควอต เนื่องจากต้องรอมติคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ ซึ่งมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นประธาน หาข้อยุติปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และนำผลสรุปเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ภายในปลายเดือน มี.ค. 61 ซึ่งครบกำหนดตามกรอบเวลา 3 เดือน

ระหว่างนี้ การพิจารณาคำขอต่อทะเบียนและคำขอต่ออายุใบสำคัญ อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย หากยังไม่มีผลสรุป กรมวิชาการฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ส่วนคำขอขึ้นทะเบียนใหม่ยังคงชะลอ แต่หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาให้ยุติ เอกชนที่ได้ต่อทะเบียนห้ามมีสารเคมีดังกล่าวไว้ในครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก ตามกฎหมายกรมวิชาการฯ จะเสนอกรรมการชุดนี้ให้ยึดใบอนุญาตนำเข้าวัตถุดิบอันตราย (วอ.4) ทำให้ไม่สามารถซื้อขายได้ ระหว่างรอการพิจารณา กรมจึงต้องศึกษาเพื่อพิจารณาการใช้สารทดแทน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ตามมติของ 3 กระทรวงที่ได้ประชุมไป ยังคงเป็นไปตามมติตั้งแต่ต้นคือ “แบน” แต่ท้ายที่สุดจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องรายงานส่งต่อไปที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาชี้ขาดจึงจะประกาศอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะมาดูใน พ.ร.บ.วัตถุอันตรายว่าผู้ครอบครอง จำหน่าย ผลิต ใช้ มีความผิดในมาตราใดบ้าง

คลังยอมรับปี ’62 โรงงานยาสูบส่อขาดสภาพคล่อง ยันกำไรหดแต่ไม่ถึงกับขาดทุน บุหรี่เคยกำไรซองละ 8 บาท เหลือแค่ไม่ถึง 1 บาท ยันมีเงินเดือนจ่ายพนักงานแน่ ด้านผู้อำนวยการยาสูบผุด “เออร์ลี่รีไทร์” 500 คน ใช้งบ 500 ล้าน หวังลดค่าใช้จ่ายระยะยาว

นายยุทธนา หยิมการุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า ปี 2561 โรงงานยาสูบจะไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะกันเงินค่าใช้จ่ายไว้หมดแล้ว แต่ปี 2562 ทางผู้อำนวยการโรงงานยาสูบกลัวว่าจะมีปัญหาสภาพคล่อง เพราะส่วนแบ่งการตลาดลดลงและกำไรของบุหรี่ต่อซองเหลือน้อยมาก แต่ยืนยันว่าเรื่องจ่ายเงินเดือนพนักงานยังมีเพียงพอไม่มีปัญหา เดิมประเมินว่าปี 2561 จะขาดทุน 1,500 ล้านบาท แต่สถานการณ์การตลาดทำให้ยอดขายดีขึ้น และยาเส้นที่ทดลองทำตลาดก็ได้รับการตอบรับดี น่าจะทำให้ผลการดำเนินงานปี 2561 ไม่ขาดทุน แม้มีกำไรแต่ไม่มากเหมือนปี 2560 ที่มีกำไรถึง 9,000 ล้านบาท

นายยุทธนากล่าวว่า ปี 2560 โรงงานยาสูบส่งรายได้ให้กระทรวงการคลัง 7,000-8,000 ล้านบาท ปี 2561 คาดว่าจะมีกำไรเล็กน้อย ทางคลังขอให้นำเงินส่วนนี้ส่งรายได้ เข้าคลัง 500 ล้านบาท ซึ่งโรงงานยาสูบกำลังพิจารณาว่าจะนำส่งหรือไม่ เพราะต้องเก็บไว้เป็นสภาพคล่อง ส่วนเงินลงทุนของโรงงานยาสูบไม่น่ามีปัญหา เพราะได้มีการกันเงินลงทุนปี 2561 และปี 2562 ไว้หมดแล้ว แต่ ผอ. โรงงานยาสูบอาจจะกังวลบุหรี่มีกำไรน้อยลงมาก ทำให้ ปี 2562 มีปัญหาสภาพคล่องจึงเตรียมการไว้ล่วงหน้า ส่วนแบ่งการตลาดบุหรี่ของโรงงานยาสูบเหลืออยู่ประมาณ 60% จากเดิม 80% ทำให้กำไรลดลง ซองหนึ่งจากกำไร 8 บาท ตอนนี้เหลือไม่ถึงซองละ 1 บาท

น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผอ.โรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า ได้เปิดโครงการเกษียณอายุงานก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่ รีไทร์ ตั้งเป้า 500 คน คาดใช้เงินไม่น้อยกว่า 500-600 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายเป็นคนที่ไม่สะดวกจะย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่โรงงานยาสูบแห่งใหม่ ที่นิคมอุตสาหกรรม โรจนะ พระนครศรีอยุธยา กับผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดี มีหนังสือรับรองจากโรงพยาบาลจะได้รับการพิจารณาก่อน การเปิดเออร์ลี่รีไทร์ ครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการ ลดต้นทุนในระยะยาว อีก 3-5 ปี จะลดค่าใช้จ่ายเรื่องพนักงานไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท

โรงงานยาสูบมีพนักงาน 2,800 คน ยังปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่คลองเตยราว 1,000 คน อีกราว 1,800 คน ต้องย้ายไปที่โรงงานแห่งใหม่ที่อยุธยา เบื้องต้นสำรวจความต้องการ พบว่ามีคนสนใจเข้าโครงการประมาณ 500 คน

เชียงใหม่ – วันที่ 5 มี.ค. พล.ท.สมพงษ์ แจ้งจำรัส แม่ทัพน้อยที่ 3 และ ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค ส่วนหน้า หรือ ศอ.ปกป.ภาค (สน.) เป็นประธานการประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาการเกิดไฟป่าบริเวณรอยต่อท้องที่ จ.ตาก, จ.เชียงใหม่, จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง ที่สำนักงาน ศอ.ปกป.ภาค (สน.) โดยมี ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักจัดการป่าไม้ 4 จังหวัดภาคเหนือร่วมประชุม

เนื่องจากที่ผ่านมาตรวจพบจุดความร้อน หรือ ฮอตสปอต เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สบอ.16 (เชียงใหม่), สบอ.13 (แพร่) สาขาลำปาง, สบอ.14 (ตาก) เพื่อวางมาตรการร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่เขตรอยต่อ โดยเฉพาะในช่วงห้ามเผาเด็ดขาด ซึ่งทุกจังหวัดได้ประกาศงดเผาในทุกพื้นที่แล้วในขณะนี้

พล.ท.สมพงษ์กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจีสด้า โดยใช้สถิติจุดความร้อน 6 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2555-2560) คาดการณ์ว่าในปี 2561 จะมีจุดความร้อนสะสมประมาณ 4,448 จุด หรือระหว่าง 3,559 ถึง 5,338 จุด ปัจจุบันตรวจพบจำนวนจุดความร้อนพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ในปี งบประมาณ 2561 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-28 ก.พ. จำนวน 1,183 จุด

ทั้งนี้ กองทัพน้อยที่ 3 จัดตั้ง ศอ.ปกป.ภาค (สน.) วางแผน อำนวยการ ควบคุม และกำกับดูแล การปฏิบัติของชุดรณรงค์ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ประสานงานกับหน่วยราชการและ อปท. รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ความรู้ความเข้าใจแก่ราษฎร ป้องกันมิให้เกิดไฟป่าขั้นรุนแรงในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงอำนวยการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของชุดดับไฟป่า และติดตามประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และรายงานให้กองทัพภาคที่ 3 และ ศอ.ปกป.ภาค (สน.) ทราบตาม ห้วงที่กำหนด

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX สมาคมยางพาราไทย และบริษัทหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ร่วมกันเดินหน้าพัฒนาและส่งเสริมการซื้อขายยางพาราผ่านตลาดล่วงหน้า เน้นการเพิ่มปริมาณการซื้อขายภายในประเทศ ลดอุปสรรคในการลงทุน หวังเพิ่มโอกาสสร้างรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และกำหนดราคาอ้างอิงที่เป็นธรรม

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาจากการซื้อขายสัญญาในตลาดล่วงหน้ายางพาราต่างประเทศ เช่น ตลาดสิงคโปร์ ตลาดโตเกียว และตลาดเซี่ยงไฮ้ มีผลต่อราคายางซื้อขายจริงภายในประเทศมาก แต่ตลาดเหล่านั้นล้วนเป็นตลาดที่ตั้งขึ้นในประเทศผู้ซื้อยางทั้งสิ้น ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยในฐานะผู้ขายรายใหญ่ของโลกจะมีบทบาทในการกำหนดราคายางพาราผ่านการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าของตนเอง และเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทย และผู้ประกอบการได้ใช้กลไกป้องกันความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มเสถียรภาพราคาของยางพารามากยิ่งขึ้น

“การเพิ่มสินค้ายางพาราในตลาดล่วงหน้า TFEX จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เพิ่มโอกาสในการยางแผ่นรมควันคุณภาพดี และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในประเทศได้มากขึ้น รวมทั้งการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า TFEX จะเป็นกลไกในการสร้างราคาอ้างอิงจากตลาดของประเทศผู้ขาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ซื้อหรือผู้ขายในประเทศ ในการกำหนดราคาซื้อขายตลาดส่งมอบจริงมากยิ่งขึ้น” ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย

ส.อ.ท.หนุน ก.พลังงานรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเสริมความมั่นคงพื้นที่ภาคใต้ 300 เมกะวัตต์ แนะเปิดประมูลรูปแบบ hybrid firm และไม่ควรจำกัดประเภทเชื้อเพลิง ใช้เวลาพัฒนาแค่ 2 ปี เชื่อราคาค่าไฟฟ้าถูก-นักลงทุนแห่ประมูล

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่กระทรวงพลังงานต้องการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวม 300 เมกะวัตต์ เพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า ในช่วงที่ต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา รวม 2,800 เมกะวัตต์ ประมาณ 5 ปีนั้น ในการประชุมของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีความเห็นว่า ขอสนับสนุนแนวทางดังกล่าว พร้อมทั้งขอเสนอความเห็นว่า 1) ก.พลังงานควรเปิดรับซื้อไฟฟ้าโดยใช้วิธีเปิดประมูล (bidding) ในรูปแบบ hybrid firm หรือการผสมผสานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป ซึ่งถือเป็นรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา

2) ควรเปิดกว้างประเภทเชื้อเพลิง เพราะพื้นที่ภาคใต้มีศักยภาพหลากหลาย ทั้งประเภทชีวมวล, ไบโอก๊าซ, โซลาร์เซลล์ และระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) และ 3) ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากทั้งผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ทั้งนี้หากมองในแง่ของการพัฒนาโรงไฟฟ้าโดยใช้เวลาน้อยที่สุด โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนน่าจะตอบโจทย์ที่สุด เพราะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปีเท่านั้น ในส่วนของปริมาณเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นไม้ยางพาราหรือกะลาปาล์ม ฯลฯ มีการประเมินเบื้องต้นแล้วว่า สามารถรองรับการผลิตที่ 300 เมกะวัตต์ได้

“เชื่อมั่นว่าหากภาครัฐใช้วิธีเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนน่าจะมีความคล่องตัวในการพัฒนาโครงการมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้วิธีการประมูล ก็จะได้ราคาค่าไฟฟ้าที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งพิสูจน์ได้จากการเปิดประมูลในโครงการ SPP Hybrid Firm ในช่วงปี ’60 ที่ผ่านมา ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก็คือประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟแพง และพื้นที่ภาคใต้ก็จะมีความมั่นคงทางไฟฟ้าไม่เสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าตกหรือดับอีกด้วย”

นายสุวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าภาครัฐจะกำหนดพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เป็นพื้นที่พัฒนาโรงไฟฟ้า ซึ่งอาจมีความกังวลต่อปัญหาความไม่สงบนั้น แต่ผู้ประกอบการมองว่า ไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน เนื่องจากภาคเอกชนสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ บริหารความเสี่ยงได้ เช่น อาจจะต้องเพิ่มค่าประกันความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงการได้รับการส่งเสริมลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการการลงทุน (BOI) ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวน่าสนใจเข้ามาลงทุน ยกตัวอย่างการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา เอกชนยื่นเสนอขายไฟฟ้ามากกว่า 200 บริษัท ในขณะที่ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าจำกัด ส่วนในประเด็นความพร้อมของระบบสายส่งในพื้นที่นั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประเมินความพร้อมของสายส่งให้ชัดเจนว่าสามารถรองรับกำลังผลิตใหม่ได้ที่ระดับใด ซึ่งจะยิ่งทำให้การพัฒนาโรงไฟฟ้าดำเนินการได้เร็วขึ้น

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ภายหลังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเลื่อนออกไปนั้นจึงต้องดำเนินการใน 2 แนวทางคือ เพิ่มจำนวนและขนาดของสายส่งแรงดันสูง เชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ในปัจจุบันคือโรงไฟฟ้าขนอมและจะนะ และพัฒนาระบบสายส่งและพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เข้าระบบ 300 เมกะวัตต์

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ว่า แม้ตัวเลขที่พบในสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าจะเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขประชาชนที่มารับวัคซีนยังเฉลี่ยไม่แตกต่างจากเดิม ซึ่งปกติจะมีคนมารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประมาณ 300,000 คน ซึ่ง ณ ปัจจุบันตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นเวลา 2 เดือน มีคนมาฉีดวัคซีน 39,000 คน ซึ่งหากอยู่ในจำนวนนี้ตัวเลขทั้งปีก็จะเฉลี่ยไม่เกิน 3 แสนคน

อย่างไรก็ตาม กรณีสัตว์ที่มีการตรวจพบเชื้อจากหัวสุนัขนั้นกลับพบเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการชะลอการฉีดวัคซีนในสัตว์ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากการทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมทั้งมีการค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ล่าสุดก็มีการปลดล็อกข้อทักท้วงของ สตง. ที่กังวลว่า หากท้องถิ่นใช้งบฯ ซื้อวัคซีนจะซ้ำซ้อนกับกรมปศุสัตว์ รวมทั้งกังวลว่าอาจไม่ใช่หน้าที่

“เมื่อเร็วๆ นี้ ทางกระทรวงมหาดไทย ก็มีประกาศในการปลดล็อกดังกล่าว รวมทั้งมีโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักณ์ อัครราชกุมารี โดยมีพระปณิธานให้ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2563 รวมทั้งล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทางผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า สนับสนุนงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เพื่อกระจายให้ท้องถิ่นซื้อวัคซีนฉีดในสัตว์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์

ซึ่งติดต่อไปสู่คนได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเราต้องตระหนักด้วยว่า หากถูกสุนัขกัดต้องรีบมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ซึ่งกรมควบคุมโรค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบฯ ในการซื้อวัคซีนฉีดในคน รวมทั้งเซรุ่มสกัดจากน้ำเหลือง ซึ่งจะใช้ฉีดในกรณีที่คนถูกกัดบริเวณที่มีเส้นประสาทมากๆ เช่น มือ และใบหน้า และมีแผลเหวอะหวะมากๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากฉีดเร็วก็ป้องกันความเสี่ยงเสียชีวิตได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้กรมปศุสัตว์ได้ประกาศพื้นที่เสี่ยงระบาดโรคพิษสุนัขบ้า มีพื้นที่ไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากยังพบว่ามีสุนัขเลี้ยงมีปัญหาเพิ่มขึ้น นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์จะพบหัวสุนัขติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น อย่างในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของปีนี้ เพิ่มสูงถึง 2 เท่า มากกว่าช่วงเวลาเดียวกัน ในปี 2560 โดยพบมากทั้งภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมๆ ที่พบตั้งแต่ ปี 2559

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ก็ยังพบ แต่มีการขยายเพิ่มไปทางอีสานตอนกลาง และภาคตะวันตก ภาคใต้ จริงๆ ไม่อยากระบุเป็นภาค หรือเป็นจังหวัดมากนัก เพราะข้อเท็จจริงต้องระวังทั้งประเทศ เนื่องจากการเดินทางสะดวกขึ้น ทำให้การเคลื่อนย้ายสัตว์มากขึ้นด้วย เห็นได้จากข้อมูลว่าสัตว์ที่มีเจ้าของพบเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น โดยพบถึงร้อยละ 54-55 ของหัวสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า

ขณะที่สุนัขจรจัดมีประมาณร้อยละ 35 นอกนั้นไม่ทราบประวัติ ซึ่งตรงนี้เป็นสัญญาณว่า สุนัขมีเจ้าของเริ่มมีปัญหา ซึ่งอาจมาจากเจ้าของบางคนปล่อยปละละเลย หรือฉีดวัคซีนไม่ต่อเนื่อง หรืออาจไม่ระวังเลี้ยงแบบเปิด ทำให้สุนัขหนีออกไปข้างนอกและอาจไปสัมผัสกับสุนัขสาธารณะที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าได้

เมื่อถามว่า ปัญหาสุนัขที่มีเจ้าของมีเชื้อพิษสุนัขบ้าจะพบได้ในเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานครหรือไม่ เพราะคนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกันเยอะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไม่เสมอไป แต่ในเมืองก็มีการเลี้ยงเพิ่มอยู่ ส่วนพื้นที่ กทม. ตนมองว่า คนมีความรู้และทางกรุงเทพมหานครก็มีการบริหารจัดการ อย่างหากเจ้าของปล่อยปละละเลย แล้วสุนัขป่วยไปกัดคนอื่นก็จะมีความผิดทั้ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการดำเนินการ