ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า

เมื่อพิจารณากลุ่มสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ในไตรมาส 1 ปี 2561 พบว่า กลุ่มธัญพืชและพืชอาหาร เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18 โดยสินค้าพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มพืชผักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12 โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ กระเทียม และมันฝรั่ง ซึ่งรายได้เกษตรกรในกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการของภาครัฐ ที่ออกมาเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาราคาที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดโลกมีความต้องการสินค้าเกษตร อาทิ มันสำปะหลัง

ผลผลิตออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกและเก็บสต๊อก จึงให้ราคามันสำปะหลังโดยเฉลี่ย ไตรมาส 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ไตรมาส 1 ปี 2560) รวมถึง สินค้าข้าว ซึ่งได้มีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2560/61 ส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% โดยเฉลี่ยไตรมาส 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 และข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าดังกล่าว

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ปี 2560 จากนโยบายสำคัญ อาทิ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ Zoning by Agri-Map และการบูรณาการร่วมในโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งเน้นการดำเนินการเป็นทีมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้ครบทุกด้าน ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางที่ดีขึ้น อันเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตร และหากสภาพอากาศและปริมาณน้ำยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร จะยิ่งส่งผลดีต่อดัชนีรายได้ภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามนโยบายของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้เฝ้าระวังสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการให้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นเต็มที่ และทันทีที่พบว่ามีการระบาด รวมถึงขอให้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและขอให้ประชาชนช่วยกันดำเนินการป้องกันในเรื่องนี้ร่วมกับภาครัฐ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 19 มีนาคม 2561 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ที่ จ.สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเกิดซ้ำในพื้นที่ที่พบเคยผู้ป่วย โดยเป็นผลมาจากความร่วมมือของทั้งหน่วยงานปศุสัตว์ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานสาธารณสุข ทั้งนี้ พบว่าผู้เสียชีวิตทุกรายชะล่าใจในการป้องกันหลังสัมผัสสัตว์ที่เสี่ยงมีเชื้อ และขาดความตระหนัก เพราะเห็นเป็นแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนข้อมูลประชาชนที่ถูกสัตว์กัดและเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านั้น พบว่าในแต่ละปีมีประมาณ 3 แสนราย โดยในปี 2560 มีจำนวน 281,849 ราย เฉลี่ย 772 ราย/วัน และในปี 2561 (ต้นปี-ปัจจุบัน) จำนวน 63,112 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (3 เดือน ต้นปี 60 จำนวน 69,999 ราย) จากข้อมูลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า แม้ในช่วงนี้จะมีรายงานการพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในหลายพื้นที่ แต่จำนวนผู้สัมผัสและเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก็ไม่ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา

“กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนว่า หากถูกสุนัขและแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผลเพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปตามนัดทุกครั้ง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว และว่า ในส่วนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนนั้น พบว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการนำเข้าวัคซีนดังกล่าวมากกว่าจำนวนที่ใช้จริงในประเทศไทย และวัคซีนได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างรอบคอบ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนที่ใช้ในประเทศไทย มีจำนวนเพียงพอและได้มาตรฐาน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับการให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องดังกล่าวนี้ ปัจจุบันได้ดำเนินการและปฎิบัติตามแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าและคำถามที่พบบ่อยอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นแนวทางที่ออกโดย สธ. และมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันหารือและกำหนดแนวทางฯ ดังกล่าวนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

นายลัทธพล จันทร์ดี ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young smart farmer) จังหวัดพิจิตร เผยว่า ได้ปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 ในพื้นที่ 17 ไร่ สาเหตุที่ปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 นั้น เนื่องจากข้าวดังกล่าวมีค่าดัชนีน้ำตาลในระดับปานกลาง ค่อนไปทางดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะกับผู้บริโภคที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่ห่วงใยสุขภาพ รวมถึงผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก ต้องการจะลดปริมาณน้ำตาลจากข้าวและอาหารที่กินในแต่ละวัน เพราะเมื่อรับประทานอาหารน้ำตาลต่ำ (Low Glycemic Index) หรือข้าว กข 43 ร่างกายก็จะเปลี่ยนแป้งไปเป็นน้ำตาลได้ช้าลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่วยให้เราไม่หิวง่าย

“ส่วนขั้นตอนการเพาะปลูกก็เหมือนกับการปลูกข้าวทั่วไป ต้นทุนในการผลิตต่อไร่ประมาณ 1,700 บาท เก็บเกี่ยวได้ประมาณ 70 ถัง ต่อไร่ โดยจำหน่ายเป็นข้าวสารกิโลกรัมละ 35-40 บาท สำหรับข้าว กข 43 มีอายุการเก็บ 95 วัน เป็นพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อโรคใบไหม้ และปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในระดับปานกลาง ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตรได้ให้ความรู้เรื่องการลดต้นทุนการผลิต โดยเน้นการใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงทดแทนการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน และได้มีช่องทางการจำหน่ายโดยให้เกษตรกรนำข้าวมาจำหน่ายด้วยตนเอง ที่ตลาดเกษตรกรทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร สำหรับผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ โทร. (098) 750-6347”

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทุ่มงบฯ กว่า 439 ล้านบาท ยกระดับสินค้าโอท็อป 2,000 กลุ่ม ใน 10 จังหวัดยากจนที่สุดของประเทศไทย อัดฉีด ‘เทคโนโลยีพร้อมใช้’ แก้ปัญหาแบบเร็ว 5 กลุ่ม เผยสินค้าซ้ำซ้อนเพียบ ชี้ ‘ตาก-ปัตตานี-นราธิวาส’ น่าห่วง ไม่ยกระดับ

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการบิ๊กร็อก (Big Rock) เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ว่า กำลังเร่งดำเนินการในส่วนของโครงการวิทย์แก้จนที่มีเป้าหมายจะเข้าไปแก้ปัญหาใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และน่าน โดยการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ นวัตกรรม (วทน.) ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาและจัดระเบียบองค์ความรู้แล้วไปถ่ายทอดเพื่อยกระดับ โอท็อป (OTOP) 2,000 กลุ่ม จากเป้าหมายที่ วท.ได้สำรวจพบว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการโอท็อป ใน 10 จังหวัด จำนวน 4,010 ราย และผลิตภัณฑ์โอท็อป จำนวน 7,286 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ โอท็อปใน 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย และของใช้ ของประดับและของที่ระลึก งบประมาณ 439 ล้านบาท

รัฐมนตรีว่าการ วท.กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ประกอบการโอท็อปและผลิตภัณฑ์โอท็อปใน 10 จังหวัดยากจน พบว่า จังหวัดที่มีผู้ประกอบการโอท็อปมากที่สุดคือ บุรีรัมย์ 1,349 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ 2,519 ผลิตภัณฑ์ รองลงมาคือ กาฬสินธุ์ มีผู้ประกอบการ 1,116 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ 2,084 ผลิตภัณฑ์ อำนาจเจริญ มีผู้ประกอบการ 652 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ 1,063 ผลิตภัณฑ์ ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ประกอบการน้อยที่สุด คือ ตาก มีผู้ประกอบการเพียง 49 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ 128 ผลิตภัณฑ์ ส่วนจังหวัดที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ตาก ปัตตานี และนราธิวาส เนื่องจากผลิตภัณฑ์โอท็อปส่วนใหญ่ยังไม่มีการยกระดับเท่าที่ควร นอกจากนี้ ในกลุ่ม 10 จังหวัด ยังมีปัญหาที่ผลิตภัณฑ์มีลักษณะคล้ายหรือซ้ำกัน อาทิ อาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น ไม่มีความหลากหลาย รวมทั้งขาดเทคโนโลยี ดังนั้น วท.จะนำฐานข้อมูลเทคโนโลยีพร้อมใช้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ได้เตรียมฐานข้อมูลเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ มาตรฐาน การออกแบบกระบวนการผลิตและการออกแบบเครื่องจักรพร้อมใช้ไว้พร้อมแล้ว เพื่อนำไปยกระดับในกลุ่มสินค้าโอท็อป อาทิ ในกลุ่มอาหาร จะมีการนำเทคโนโลยีปรับปรุงดิน การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ เป็นต้น ในกลุ่มเครื่องดื่ม มีการนำจุลินทรีย์ การสกัดที่เป็นประโยชน์มาใช้ไปจนถึงฉลากอัจฉริยะ

ระบบบรรจุประป๋อง ขวด เป็นต้น กลุ่มผ้า เครื่องแต่งกาย จะเริ่มตั้งแต่การผลิตเส้นใย การผลิตสีธรรมชาติ การนำผ้านาโนและผ้ากลิ่นธรรมชาติมาใช้ เป็นต้น กลุ่มของใช้ ของประดับ ตกแต่ง จะมีการใช้เทคโนโลยีหาแหล่งดินขาว แหล่งอัญมณีคุณภาพสูงไปจนถึงกระบวนการเผา เจียระไน การขึ้นรูป เป็นต้น และกลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เริ่มตั้งแต่การเพิ่มสารสำคัญ ธาตุอาหารพืช การยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว การฉายรังสี การนำนาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีอื่นๆ มาใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง เวชสำอาง ยา เป็นต้น ที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์โอท็อปทุกตัวจะต้องมีมาตรฐาน GMP, HACCP, CODEX, ฮาลาล เป็นต้น

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (จะมีผลกระทบจนถึง วันที่ 23 มีนาคม 2561) ฉบับที่ 17 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2561 ระบุว่า

บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน และฟ้าผ่าที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง โดยเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีฝนลดลง และอากาศจะคลายความร้อนลง สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น โดยจะมีผลกระทบ ดังนี้

ในช่วง วันที่ 22 มีนาคม 2561
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร

ในวันที่ 23 มีนาคม 2561 ภาคใต้: จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา

ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส.อ.ท. เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ กุมภาพันธ์ลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เอสเอ็มอีกังวลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 เมษายน กระทบต้นทุนผลิต ภาครัฐเบิกจ่ายล่าช้าจาก พ.ร.บ.ใหม่ จี้เร่งแก้ปัญหาหวั่นกระทบเศรษฐกิจ ชี้อุตฯ รถยนต์ขาขึ้น ยอดผลิตพุ่ง 3.44 แสนคัน หลังรถยนต์คันแรกครบ 5 ปี ประชาชนเริ่มเปลี่ยนคันใหม่

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ระดับ 89.9 ลดลงจาก 91.0 ในเดือนมกราคม 2561 เป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ลดลงจากความกังวลค่าจ้างขั้นต่ำที่เตรียมปรับขึ้นวันที่ 1 เมษายน นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต รวมทั้งตลาดที่แข่งขันสูง ประกอบกับเดือนกุมภาพันธ์มีวันทำงานน้อย รวมทั้งการเบิกจ่ายล่าช้าของภาครัฐ ซึ่งเป็นผลมาจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับใหม่ ขณะที่ผู้ส่งออกกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้กระทบต่อการกำหนดราคาขายสินค้า

“เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ทำการค้าในประเทศ ทำการค้ากับภาครัฐ เมื่อรัฐเบิกจ่ายรัฐล่าช้าจะกระทบกับ เอสเอ็มอีไปด้วย ซึ่งตอนนี้อยากให้รัฐเร่งแก้ปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้า เพราะใกล้หมดไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2561 (มกราคม-มีนาคม) แล้ว หากไตรมาสที่ 2 ยังแก้ปัญหาความล่าช้าจาก พ.ร.บ.ใหม่ไม่ได้ จะกระทบกับเศรษฐกิจภาพใหญ่ทั้งปีแน่นอน” นายเจน กล่าว

ด้าน นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รักษาการรองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดการผลิตรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีจำนวน 1.78 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.37% ทำให้โดยรวม 2 เดือนแรกของปีนี้มียอดผลิต 3.44 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.28% เมื่อดูทิศทางการผลิตดังกล่าวมั่นใจว่าจะทำให้เป้าหมายการผลิตรถยนต์ที่วางไว้ปี 2561 ที่ 2 ล้านคันมีความเป็นไปได้สูง ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 7.54 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.3% ทำให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยอดขายรถยนต์อยู่ที่ 1.42 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13% ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 1.02 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.05% และเป็นการส่งออกโตเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

“ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อยอดจำหน่ายรถยนต์มาจากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรได้รับอานิสงส์ เอกชนลงทุนเพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังคงเติบโตดี การถือครองรถยนต์คันแรกครบ 5 ปี มีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ ทำให้ผู้ใช้เริ่มเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ยอดขายรถยนต์เติบโตตามไปด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.คนใหม่ กล่าวถึงการทำงานว่า ภารกิจสำคัญที่จะขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. คือการสร้างบทบาทของกลุ่มให้เป็นที่พึ่งของสมาชิกโดยจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของธนาคารในปีบัญชี 2560 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้คาดว่าเป็นไปตาม เป้าหมายทุกด้าน ทั้งการปล่อยสินเชื่อ เงินฝาก ผลกำไร และการบริหารจัดการหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) โดยยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ล่าสุดอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนมีนาคมนี้จะอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นปี 2559 ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.34 ล้านล้านบาท

นายอภิรมย์ กล่าวว่า ในส่วนหนี้เสียนั้นในช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะราคายางพารา ส่งผลต่อการชำระหนี้ของเกษตรกรผู้ปลูกยาง ทำให้ระดับหนี้เสียของธนาคารในขณะนี้ ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายนัก โดยอยู่ที่ประมาณกว่า 5% ขณะที่เป้าหมายอยู่ที่ 5% ของสินเชื่อคงค้าง อย่างไรก็ตามราคาพืชผลในอีกหลายชนิดปรับตัวดีขึ้น เช่น ราคาข้าว และข้าวโพด ทำให้เกษตรกรมีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น จึงทำให้ระดับหนี้เสียของธนาคารไม่ต่ำกว่าเป้าหมายเกินไปนัก

นายอภิรมย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินมาตรการเฟสสองในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่าน ธ.ก.ส.นั้น จากจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส.ในเฟสแรก จำนวนกว่า 5.3 ล้านราย ขณะนี้ มีจำนวนผู้มีรายได้น้อยประมาณ 3.7 ล้านราย ที่มาขึ้นทะเบียนแจ้งความจำนงขอรับการฝึกอาชีพกับรัฐบาล

ผศ.ดร.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะอีสานตอนล่าง เปิดเผยถึงกิจกรรมมหกรรมโรงเรียนเฮ็ดดีมีสุข ในโครงการดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดโรงเรียนสุขภาวะที่มีการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนครบ 5 องค์ประกอบของโรงเรียนสุขภาวะ คือ สิ่งแวดล้อมเป็นสุข โรงเรียนเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข ชุมชนเป็นสุข และนักเรียนเป็นสุข เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูและผู้บริหารโรงเรียนในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งหวังพัฒนาครูที่มีความกระตือรือร้นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงรุกเป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนให้เป็นผู้เรียนที่เป็นสุข สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนในการบริหารจัดการโรงเรียนสุขภาวะ และเพื่อพัฒนาหลักสูตรตลอดจนคู่มือส่งเสริมการบริหารงานและจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนสุขภาวะ

“โครงการโรงเรียนเฮ็ดดีมีสุขมุ่งมั่นพัฒนาครูและกระบวนการเรียนการสอนสู่การเรียนการสอนที่มีความสุข สร้างให้ผู้เรียน ผู้สอน องค์กร รวมถึงชุมชนรอบข้างเป็นสุข ผ่านกระบวนการแอ๊กทีฟ เลิร์นนิ่ง การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และการทำโครงงานเป็นฐาน ที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยมีโรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 47 โรงเรียน การจัดงานมหกรรมโรงเรียนเฮ็ดดีมีสุข เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานและส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีแนวคิด “เรียนให้เป็น เล่นให้รู้” มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนที่นำไปสู่ความสุข แบ่งประเด็นโครงงานออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ การจัดการขยะ การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การเสริมทักษะอาชีพ และห้องเรียนสุขภาวะ

“การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ส่งเสริมสุขภาวะกำหนด รูปแบบวิธีการและการดำเนินงานที่แตกต่าง สามารถบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในหลากหลายวิชา ทำให้ครูได้นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายและมีความน่าสนใจ ส่งผลให้ผู้เรียนมีความสุขจากการได้ลงมือปฏิบัติ ซึ่งเป็นแนวทางจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและนำไปสู่สุขภาวะ 5 ด้านดังกล่าว” ผศ.ดร.ปิ่นวดีกล่าว

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า กรมได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ในจีนสำรวจตลาดข้าวเหนียว เพื่อหาโอกาสผลักดันข้าวเหนียวไทยเข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้น ล่าสุดทูตพาณิชย์ ณ เมืองหนานหนิง ได้รายงานผลการสำรวจตลาด พบว่า จีนผลิตข้าวเหนียวเองได้มากก็จริง แต่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะความต้องการสูงขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมอื่นๆ ถือเป็นโอกาสดีในการผลักดันการส่งออกข้าวเหนียวไทยเข้าสู่ตลาดจีนให้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันจีนได้นำข้าวเหนียวไปใช้ทำอาหาร เช่น บ๊ะจ่าง บัวลอย และอาหารอื่นๆ โดยมักจะใช้มากในช่วงเทศกาลหรือประเพณีต่างๆ เช่น วันตรุษจีน วันไหว้บรรพบุรุษ เทศกาลแข่งเรือมังกร และใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและอื่นๆ เช่น การผลิตสุรา สีทาบ้าน เป็นต้น