ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนี

ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ว่าในเดือนเมษายน 2561 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 89.1 ลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 90.7 เนื่องจากมีวันทำงานน้อยกว่าปกติ จากวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งผู้ประกอบการได้เร่งผลิตไปในช่วงเดือนก่อนหน้าแล้ว ส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตในเดือนเมษายนลดลง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนการผลิต จากราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันด้านราคา ที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ ผู้ส่งออกสูญเสียรายได้เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาท ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 100.9 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง

สงขลา – ว่าที่ ร.ต. ไกรธนู แกล้วทนงค์ ประธานสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย จังหวัดสงขลา เผยว่า เกษตรกรชาวอำเภอระโนด และคาบสมุทรสทิงพระ ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ทำนาไม่ได้ ขายรายได้ในการเลี้ยงชีพ หันมาปลูกพริกเสริมรายได้ที่ขาดหายไป ก็ประสบปัญหาราคาตกต่ำ เฉลี่ยขายอยู่กิโลกรัมละ 10 บาท จากต้นทุน 7 บาท เดือดร้อนซ้ำเติมอีก ยื่นหนังสือเรียนท่านนายกรัฐมนตรีผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้รัฐบาลใช้มาตรการแทรกแซงราคา พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

ด้าน นายดลเดช พัฒนรัฐ ผวจ.สงขลา เผยว่า รับหนังสือของกลุ่มเกษตรกรชาวระโนดที่เดือดร้อนจากราคาพริกตกต่ำ กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหานำเรียนให้เลขิการนายกรัฐมนตรีไดรับทราบและพิจารณาตามที่เห็นสมควร มาตรการของจังหวัดสงขลา จะมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์และสำนักงานเกษตร จังหวัดสงขลา ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาต่อไป

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นายชลังค์ ลอยสูงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่กำลังประสบความเดือดร้อนอย่างหนักจากราคาผลผลิตตกต่ำ ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้ประสานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ประจวบคีรีขันธ์ จำกัด ให้การช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการรวบรวมผลผลิตเพื่อกระจายไปจำหน่ายนอกพื้นที่ โดยต้องเป็นสับปะรดบริโภคผลสดที่มีคุณภาพ โดยจัดคาราวานขนส่งสับปะรดล็อตแรกในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

นำไปจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กทม. บริเวณหน้าธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ และหน้ากระทรวงการคลัง จากนั้นจะทยอย รวบรวมส่งไปจำหน่ายยังตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีการปลูกสับปะรดครบตามจำนวนที่ตั้ง เป้าหมายไว้ 500 ตัน ในราคารับซื้อกิโลกรัมละ 4 บาท สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถแจ้งปริมาณ ผลผลิตได้ที่สาขาของ ธ.ก.ส. แต่ละอำเภอ เพื่อรวบรวมก่อนคัดเลือกส่งไปจำหน่าย คาดว่าจะช่วยระบายผลผลิตส่วนเกินในตลาดได้ส่วนหนึ่ง

ด้าน นายสมจิตร์ งุ่ยไก่ แกนนำกลุ่มผู้ปลูกสับปะรด ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวไร่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากสถานการณ์ราคาผลผลิตสับปะรดตกต่ำอย่างต่อเนื่อง หลังจากโรงงานอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องลดการซื้อวัตถุดิบ อ้างมีปัญหาจากการส่งออก ขณะที่แผงรับซื้อรายย่อย 3 แห่ง ในพื้นที่รับซื้อราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 1.50 บาท จากต้นทุนการผลิตที่กิโลกรัมละ 4.60 บาท

“หากแผงหรือโรงงานไม่รับซื้อ ชาวไร่จะรวมตัวเพื่อนำผลผลิตไปแจกฟรีให้ประชาชนที่ใช้เส้นทางผ่านถนนเพชรเกษม ดีกว่าปล่อยทิ้งเน่าในไร่ หรือนำไปจำหน่ายในราคาถูกเพื่อนำไปทำสับปะรดกวนที่มี ผลผลิตล้นตลาด” นายสมจิตร์ กล่าว

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ถึงแนวโน้มตลาดอาหารฮาลาลในกัมพูชา ว่า ปัจจุบันอาหารฮาลาลในกัมพูชามีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนประชากรชาวมุสลิมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และยังมีการขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่ไปเที่ยวในกัมพูชา แต่ปัจจุบันผู้ผลิตอาหารตามหลักฮาลาลในกัมพูชายังมีน้อย จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังกัมพูชาได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมา กัมพูชาจะมีการนำเข้าอาหารฮาลาลจากไทยเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม

นางจันทิรา กล่าวว่า การส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดกัมพูชา นอกจากการผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานฮาลาลแล้ว ผู้ส่งออกจะต้องใส่ใจในเรื่องรสนิยมการบริโภคอาหารในแต่ละพื้นที่ หากทำให้สินค้ามีจุดเด่นเมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง ก็จะทำให้ขยายตลาดได้ ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีการับรองมาตรฐานสำหรับอาหารฮาลาลในกัมพูชา เพื่อให้การรับรองว่าอาหารที่ได้รับตรารับรองนี้ เป็นอาหารที่ได้มาตรฐานตามหลักศาสนาอิสลามที่บัญญัติไว้ ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุนเปิดร้านอาหาร หรือลงทุนผลิตอาหารในกัมพูชา

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าผลการประเมินผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ต่อการส่งออกไทย ที่ได้ประชุมหารือระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมการค้าต่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้หารือถึงกรณีสหรัฐอเมริกาประกาศใช้ มาตรา 301 กับจีน 1,333 รายการนั้น พบว่า โดยภาพรวมการส่งออกไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ และยังคงได้รับประโยชน์คิดเป็นมูลค่า 120-1,195 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่จะได้รับประโยชน์คือ เครื่องจักร/เครื่องใช้กล เครื่องจักรไฟฟ้า/อุปกรณ์ประกอบ ส่วนสินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบ คือ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด เหล็กและเหล็กกล้า โดยผลกระทบทางบวกและทางลบ 2 กรณี คือ 1. ผลทางลบจากการอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าจีนที่ส่งไปยังสหรัฐ 2. ผลทางบวกจากการที่สหรัฐนำเข้าจากไทยทดแทนจีน

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า จากการศึกษาของ สนค.ชี้ให้เห็นว่าไทยได้ประโยชน์สงครามการค้า เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยส่งออกไปยังสหรัฐมากกว่าที่ส่งไปจีน ส่งผลให้ผลทางบวกที่สหรัฐอาจนำเข้าจากไทยทดแทนจีน ยังมากกว่าผลทางลบจากการอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน กรณีที่จีนมีการระบายสินค้าส่งออกของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการสหรัฐไปยังตลาดอื่น จะเป็นความเสี่ยงให้ไทยใน 2 ด้าน คือ 1. สินค้าของจีนบางส่วนจะไหลเข้าสู่ไทยมากขึ้น โดยเบื้องต้นคาดมีมูลค่า 1,176 ล้านดอลลาร์ และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศได้

และ 2. สินค้าบางส่วนของจีนจะกระจายไปยังคู่ค้าที่สำคัญของไทย และจะทำให้การแข่งขันในตลาดคู่ค้าของไทยมีสูงขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น ฮ่องกง และอินเดีย เป็นต้น โดยคาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบ 1,984 ล้านดอลลาร์

“สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) มีการติดตามและพูดคุยกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง อย่างไร ก็ตาม ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะว่าไทยสามารถแสวงหาโอกาสทางการค้าโดยการเพิ่มช่องทางการเจรจาการค้าในระดับทวิภาคีกับทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศในการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังประเมินว่าสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีแนวโน้มคลี่คลาย และคาดว่าทั้งสองประเทศจะเจรจาตกลงกันในที่สุด” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคเหนือ คาดว่า ลำไย ปีนี้ ให้ผลผลิต 659,173 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 7.46 ในขณะนี้ที่ลิ้นจี่ ให้ผลผลิต 41,661 ตัน ลดลง ร้อยละ 3.43 ระบุ พฤษภาคมนี้ ลิ้นจี่พาเหรดออกตลาดมากสุด ส่วนแฟนคลับลำไย เตรียมจับจ่ายลิ้มลองรสชาติตามฤดูกาลได้ สิงหาคมนี้

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงข้อมูลไม้ผลเอกภาพ ลำไย และ ลิ้นจี่ ของภาคเหนือ ในปี 2561 (ข้อมูล 30 เมษายน 2561) พบว่า ลำไย พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน เชียงราย ลำปาง และตาก ปี 2561 มีเนื้อที่ยืนต้น 862,220 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 0.49 เนื่องจากการปลูกใหม่แทนลิ้นจี่ เนื้อที่ให้ผล 839,985 ไร่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.33 จากต้นลำไยที่ปลูก ในปี 2558 ในภาคเหนือ ซึ่งปลูกเพิ่มแทนต้นลำไยที่อายุมากให้ผลผลิตต่ำ ผลผลิตรวม 659,173 ตัน (ลำไยในฤดู 386,342 ตัน ลำไยนอกฤดู 272,831 ตัน) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.46 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย

ปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการออกดอกติดผล และเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลผลิตต่อไร่ 785 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.08 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ต้นลำไยออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะถึงแม้ว่าในพื้นที่ ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา จะได้รับผลกระทบจากวาตภัยหลายรอบในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ทำให้ผลผลิตบางส่วนร่วงเสียหาย รวมทั้งใน อ.วังเจ้า และ อ.สามเงา จ.ตาก ประสบพายุเช่นเดียวกัน มีพื้นที่เสียหายจำนวน 25 ไร่ แต่ในภาพรวมผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้น และจะออกสู่ตลาดมากสุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2561

ลิ้นจี่ พื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และ น่าน ปี 2561 เนื้อที่ยืนต้น 93,453 ไร่ ลดลง ร้อยละ 9.07 เนื้อที่ให้ผล 92,812 ไร่ ลดลง ร้อยละ 9.12 ซึ่งเนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกลำไย และไม้ผลอื่น เช่น เงาะ ส้ม มะม่วง กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า เป็นต้น ผลผลิตรวม 41,661 ตัน ลดลง ร้อยละ 3.43 ตามการลดลงของเนื้อที่ให้ผล เนื่องจากลิ้นจี่ให้ผลผลิตน้อยติดต่อกันหลายปี เกษตรกรจึงโค่นต้นลิ้นจี่และปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลอื่น ส่วนผลผลิตต่อไร่ 449 กิโลกรัม

เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.40 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ต้นลิ้นจี่ออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีฝนตกในช่วงที่ติดผลอ่อนในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศดี และมีโครงการสนับสนุนจากภาครัฐในการทำลิ้นจี่คุณภาพให้ได้ราคาดี มีการขยายการตลาดโดยการขายผ่านอินเทอร์เนตเพิ่มขึ้น จึงจูงใจให้เกษตรกรดูแลต้นลิ้นจี่ดีกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พบว่า ลิ้นจี่ได้ผลกระทบจากพายุลูกเห็บในอำเภอฝาง และ อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงต้นเดือนเมษายน ทำให้ผลอ่อนร่วง เสียหายประมาณกว่า 500 ไร่ โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม ออกมากสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2561

ทั้งนี้ ภาครัฐได้จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2561 ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยมีหลักคือ มีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน จัดการผลผลิตให้สมดุลกับความต้องการของตลาด เชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสม เน้นให้จังหวัดบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลัก เช่น การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน (GAP) ส่งเสริมการห่อช่อลิ้นจี่ก่อนการเก็บเกี่ยว การจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตผลไม้คุณภาพตามความเหมาะสมของพื้นที่ และการให้คำแนะนำเพื่อเตรียมพร้อมในฤดูกาล ตลอดจนการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม้ผลคุณภาพดี ส่งเสริมซื้อขายแบบออนไลน์ การแปรรูป และผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ทำหนังสือถึง องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ กรณีที่ บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา จำกัด) กล่าวอ้างว่า เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจาก ยูเอ็น และเวิลด์แบงก์ เพื่อดำเนินธุรกิจเกษตรพันธสัญญา ชักชวนให้เกษตรกรร่วมเป็นสมาชิกมากกว่า 60,000 คน ใน 5 จังหวัด คือ เลย สกลนคร บึงกาฬ สุรินทร์ และศรีสะเกษ เพื่อสมัครเป็นสมาชิก รายละ 200 บาท และจ่ายค่าฝึกอบรม รายละ 2,500 บาท โดยสมาชิกจะมีสวัสดิการสินเชื่อให้ด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีการตรวจสอบ พบว่า บริษัท พันปี กรุ๊ป มีบริษัทลูก หรือบริษัทสาขาจำนวน 153 บริษัท กระจายดำเนินธุรกิจในภาคอีสาน มีการจดแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา ต่อกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2561 หรือประมาณ 1 เดือนเศษ แต่จากหลักฐานข้อมูล ยังไม่พบได้ทำสัญญาในเกษตรพันธสัญญา เนื่องจากยังไม่ปรากฏว่ามีการจัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งสำเนาหนังสือมายังกระทรวงเกษตรฯ ภายใน 30 วัน

เมื่อเกษตรกรฟ้องร้อง จนเกิดความเสียหาย กระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้เกษตรจังหวัดที่เกิดเหตุลงสำรวจพื้นที่ ว่า บริษัท พันปี กรุ๊ป กระทำผิดเงื่อนไขเกษตรพันธสัญญาหรือไม่ หากกระทำผิดจะมีการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 300,000 บาท

สำหรับการตรวจสอบกระแสข่าวเครือข่ายบริษัทแห่งหนึ่ง อ้างว่า มีเงินทุนจากยูเอ็นและธนาคารโลกให้เกษตรกรที่สมัครเป็นสมาชิกโครงการเกษตรพันธสัญญา โดยในช่วงข้าวราคาตก ชักชวนผู้ค้าข้าวและชาวนากว่า 300 ราย เข้าเป็นสมาชิก ให้เหตุผลจะรับซื้อข้าวในราคาสูง สร้างความเสียหายกว่า 23 ล้านบาท อันมีลักษณะเข้าข่ายการกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนนั้น

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา (สลพ.) ได้ตรวจสอบและประสานกับสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) แล้ว สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้ สกร. ได้เคยรับเรื่องร้องเรียนจากประธานกรรมการบริหารบริษัท ไชนี่ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด และที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตร วัน วัน วัน จำกัด ขอให้แจ้งเตือนและตรวจสอบกรณีบริษัท พันปี กรุ๊ปฯ ผิดข้อตกลงสัญญาซื้อขายข้าว และมีพฤติกรรมหลอกลวงฉ้อโกงสมาชิกสหกรณ์การเกษตรฯ และเกษตรกรในพื้นที่

สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) ได้ส่งเรื่องให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อแจ้งเตือนเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้ระมัดระวัง รวมทั้ง แจ้งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์เพื่อทราบเป็นข้อมูลในการประสานงานติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ข้อกฎหมายระบุว่า ในกรณีที่ บริษัทฯ มีเจตนาทุจริตหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้เกษตรกรเข้าทำสัญญากับบริษัทฯ ทำเอกสารสิทธิ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และเมื่อการกระทำดังกล่าวได้ทำต่อประชาชน จึงมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน

นอกจากนี้ การกระทำของ บริษัท พันปี กรุ๊ป ตามที่ปรากฏตามสื่อออนไลน์ต่างๆ เป็นการกระทำที่มีลักษณะโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

วันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานราคาแตงกวา พบว่า ในช่วงฝนตกราคาแตงกวาดีมาก พบเกษตรกรรายหนึ่งคือ นายยอดชาย กวินวนาลัย อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 27 หมู่ 10 บ้านเจดีย์โคะ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ตนปลูกแตงกวา 5 ไร่ ตอนนี้เริ่มเก็บขายได้วันละ 2 ตัน หรือวันละ 2,000-2,500 กิโล ขายได้ในราคากิโลละ 10 บาท นับว่าราคาดีมาก

นายยอดชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนปลูกแตงกวามา 8 ปี ที่ชอบเพราะว่าแตงกวาเป็นพืชอายุสั้น อายุการเก็บเกี่ยวให้ผลผลิตเพียงแค่ 30 วัน ก็เก็บขายแล้ว และเก็บต่อเนื่องไปอีก 30 วัน จึงจะปลูกรุ่นใหม่ ที่หันมาปลูกพื้นที่ อ.พบพระ เพราะว่าให้ผลผลิตดี ลูกสวย เช่าที่ไร่ปลูก จำนวน 5 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ขั้นตอนในการปลูกโดยใช้เมล็ดหยอด ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 รองพื้นไร่ละ 1 ลูก พอแตงกวาอายุได้ 15 วัน ก็ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และหลังจากนั้นทุกๆ 10 วัน จะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 1 ลูก ต่อ 1 ไร่ จนกว่าจะเก็บหมด ถือว่าสร้างงานสร้างอาชีพได้ดีอีกอาชีพหนึ่ง

เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม RAOT FOR LIFE สนับสนุนหุ่นยางพาราสำหรับการฝึกช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน แก่สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ปี 2561 ของ กยท. หวังสร้างประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนและสังคม ด้านสมาคมฯ ต่อยอดเร่งนำไปใช้ในโครงการ “ส่งเสริมและป้องกัน คนไทย ไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน” ฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้น CPR แก่ประชาชน ช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. ได้ดำเนินงานด้านการวิจัยและผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อใช้ในวงการด้านการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเนื้อยางพารานั้นมีความเหนียวและยืดหยุ่นใกล้เคียงกับผิวหนังและกล้ามเนื้อมนุษย์ อีกทั้งปัจจุบันอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกสอนทางการแพทย์ต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาค่อนข้างสูง กยท. จึงมุ่งคิดค้นและผลิตผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ทดแทนอุปกรณ์ฝึกสอนทางการแพทย์ อาทิ หุ่นช่วยฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้น (CPR) ชิ้นเนื้อจำลองในการฝึกหัดเย็บของนักศึกษาแพทย์ เฝือกจากยางพารา ฯลฯ โดยเฉพาะหุ่นฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้น (CPR) กยท. ได้พัฒนาใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในหุ่นยางพารา เมื่อปั๊มหัวใจอย่างถูกต้องตามจุดที่กำหนดและถูกวิธี จะมีสัญญาณไฟพร้อมเสียง เพื่อให้สามารถใช้งานด้านการฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้น CPR ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายณกรณ์ กล่าวต่อว่า กิจกรรม RAOT FOR LIFE สนับสนุนหุ่นยางพาราสำหรับการฝึกช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน แก่สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการนวัตกรรมยางพาราในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของ กยท. เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนและสังคม โดยเป็นการนำร่องมอบให้ 50 ตัว ก่อน ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กยท. เห็นถึงความสำคัญในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง หลากหลายโครงการ โดยโครงการนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของ กยท. ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์ยางพาราไปเป็นส่วนหนึ่งการสร้างประโยชน์ดีๆ คืนสู่สังคม

ด้าน นายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเสริมว่า สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ได้จัดทำโครงการ ส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อมุ่งหวังในการเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยของประชาชนคนไทยให้มีอายุยืนยาว และลดจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ โดยหุ่นฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้น (CPR) จากยางพารา ที่ได้รับมอบจาก กยท. ในครั้งนี้ จะสามารถต่อยอดในการใช้เป็นอุปกรณ์และสื่อในการฝึกอบรมถ่ายทอดการปฐมพยาบาลเบื้องต้น CPR อย่างถูกวิธีให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่เกิดกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินได้