ตามที่ผมเล่ามานี้ คงพอจะทำให้เข้าใจได้นะครับแมลงทอด

ได้รับความนิยมบริโภคในตลาดบ้านเรามาก่อนหน้านี้พักใหญ่ แต่กระแสความนิยมดูเหมือนจะลดลง เมื่อเดินตามตลาดพบได้น้อยกว่าเมื่อก่อน ทั้งที่จริง เราไม่เคยรู้เลยว่า ปัจจุบัน แมลงทอด ยังคงได้รับความนิยมบริโภคอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มสูงมากขึ้น แต่เพราะความนิยมบริโภคกระจายออกไปตามจังหวัดต่างๆ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น

แมลงทอด โดยเฉพาะ จิ้งหรีด ได้รับความนิยมบริโภค เนื่องจากเป็นอาหารที่ให้โปรตีนและไขมันสูง และได้รับการการันตีจากหลายหน่วยงานภาครัฐว่า เป็นแมลงที่ปลอดสารเคมี ยกเว้นเมื่อนำไปทอดแล้วใส่สารกันบูดหรือสารเพื่อรักษาสภาพอาหารเข้าไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ที่บ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันจัดว่าเป็นแหล่งผลิตแมลง โดยเฉพาะจิ้งหรีด ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นของประเทศ ที่ต้องเอ่ยเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดแรกที่เริ่มเลี้ยงและขยายพันธุ์แมลง จนเป็นที่รู้จักระดับประเทศ แต่วันนี้แหล่งผลิตที่เริ่มขึ้นก่อนแหล่งอื่นกลับลดจำนวนการผลิตลง และบ้านแสนตอแห่งนี้กลับมีพื้นที่การผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นอีก โดยตั้งเป้าผลิตส่งออก และทำเป็นฟาร์มจิ้งหรีดมาตรฐาน GAP เพื่อการส่งออก

คุณไพบูรณ์ คำมูลมาตย์ หนึ่งในผู้ทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างเป็นระบบ เปิดฟาร์มให้เข้าดูการเลี้ยงจิ้งหรีดอย่างใกล้ชิด ที่ต้องเอ่ยเช่นนี้ เพราะโดยปกติ จิ้งหรีด เป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวต่อสารทุกชนิด แม้กระทั่งควันไฟจากการเผา กลิ่นบุหรี่ ควันบุหรี่ กลิ่นน้ำหอม หากอยู่ในระยะที่จิ้งหรีดรับกลิ่นได้ จิ้งหรีดมีโอกาสตายสูง ดังนั้น การเปิดฟาร์มจึงเป็นการเสี่ยงอีกชนิดหนึ่ง

12 ปีแล้ว ที่คุณไพบูรณ์ เริ่มทำฟาร์มจิ้งหรีด โดยเริ่มต่อจากน้องเขย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนำจิ้งหรีดระบบฟาร์มมาเลี้ยงในหมู่บ้านแสนตอ เนื่องจากมีผู้ว่าจ้างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ให้น้องเขยเลี้ยงจิ้งหรีด โดยลงทุนเองทั้งหมด แต่รับซื้อคืนทั้งหมดเช่นกัน น้องเขยจึงลงทุนเริ่มแรกด้วยการทำโรงเรือน และซื้อไข่จิ้งหรีด 6,000 ขัน ราคาขันละ 100 บาท เท่ากับลงทุนเฉพาะพันธุ์จิ้งหรีดไป 60,000 บาท ไม่รวมค่าโรงเรือนและอื่นๆ เมื่อได้ผลผลิตผู้ว่าจ้างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ก็มารับซื้อคืนตามตกลง ส่วนคุณไพบูรณ์ก็อาศัยคราวนั้นเข้าไปศึกษาดูงานการเลี้ยงจิ้งหรีด และตัดสินใจลงทุนทำฟาร์มเองหลังการช่วยงานน้องเขย 25 ปี เพราะเห็นตลาดไปได้ดี

แม้ว่าจิ้งหรีดจะเป็นแมลงขนาดเล็ก แต่การทำโรงเรือนสำหรับจิ้งหรีดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องมีที่สำหรับกันแดดและฝนให้กับจิ้งหรีด เพราะจิ้งหรีดเป็นสัตว์บอบบาง อ่อนไหวง่าย เมื่อถูกแดดหรืออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานานจะตาย หรืออยู่ในที่ที่มีความชื้นสูงมาก โดนฝนก็ตายเหมือนกัน ดังนั้น โรงเรือนที่ทำควรมีความโปร่ง อากาศสามารถถ่ายเทได้

อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงจิ้งหรีด คือ อุณหภูมิไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส หากร้อนกว่านั้น ซึ่งควบคุมสภาพอากาศได้ยาก ต้องช่วยระบายความร้อนให้ โดยการเปิดพัดลมให้อากาศถ่ายเท หรือติดสปริงเกลอร์บนหลังคาโรงเรือน เป็นการลดและระบายความร้อนออกจากโรงเรือน

จิ้งหรีด เริ่มจากการเพาะไข่ ซึ่งโดยปกติวงจรของจิ้งหรีด เมื่อโตเต็มวัยก่อนจับขาย จิ้งหรีดเพศเมียจะวางไข่ในขัน ที่นำไปวางในบ่อเลี้ยง ในขันขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร ให้ใส่แกลบเผา ขุยมะพร้าว ดิน น้ำ คลุกให้เข้ากันนำไปวาง จิ้งหรีดจะรู้เองว่าเป็นที่ที่เหมาะสำหรับการวางไข่

หลังได้ไข่จากการวางไข่ของจิ้งหรีดในขันแล้ว เมื่อจำหน่ายตัวจิ้งหรีดออกไป ให้เก็บขันทั้งหมดไปวางไว้รวมกัน แล้วนำผ้าคลุมไว้ ไม่นานจิ้งหรีดจะฟักจากไข่ออกมาเป็นตัวเล็กๆ เป็นจุดเริ่มต้นของพันธุ์จิ้งหรีดที่จะใช้เลี้ยงในรุ่นต่อไป

พันธุ์ที่นิยมเลี้ยงเพื่อการบริโภค คือ พันธุ์ทองแดงลาย และพันธุ์ทองดำ

พันธุ์ทองแดงลาย มีขนาดเล็กกว่า แต่เลี้ยงง่ายกว่า สามารถเลี้ยงในโรงเรือนเปิดได้

พันธุ์ทองดำ มีขนาดใหญ่กว่า เลี้ยงยากกว่า และต้องเลี้ยงในโรงเรือนหรือบ่อเลี้ยงที่มีวัสดุปิดไม่ให้จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำบินออกจากบ่อเลี้ยงได้ เนื่องจากจิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ เป็นพันธุ์ที่มีปีกและบินได้ เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย จะบินออกจากบ่อเลี้ยง หากไม่มีที่ปิดอย่างดี จิ้งหรีดจะบินหายไปหมด

อุปกรณ์สำหรับเลี้ยงจิ้งหรีดที่ต้องลงทุนในระยะแรกคือ การสร้างโรงเรือน บ่อเลี้ยง แผงไข่ อุปกรณ์ให้น้ำ เป็นการลงทุนถาวร ส่วนอุปกรณ์การเลี้ยงที่เป็นต้นทุนทุกครั้งเมื่อถึงรอบจับทุก 45 วัน คือ อาหารสำเร็จรูป ซึ่งหากไม่ใช้อาหารสำเร็จรูป ก็สามารถใช้พืชตระกูลหัวในการเลี้ยงจิ้งหรีดได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นพืชที่ปลอดสารเคมี เช่น หัวมันสำปะหลัง ลำต้นมันสำปะหลัง ใบมันสำปะหลัง ฟักทอง ใบฟักทอง เป็นต้น ส่วนแผงไข่ ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของจิ้งหรีด ควรปราศจากความชื้น หากชื้นหรือผุพัง ก็ต้องเปลี่ยนแผงไข่ใหม่ อาจจะเปลี่ยนเฉพาะแผงที่ชำรุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้

คุณไพบูรณ์ บอกว่า อาหารสำหรับจิ้งหรีด หากสามารถใช้พืชตระกูลหัวนำมาให้จิ้งหรีดกินได้ จะเป็นการประหยัดต้นทุนการผลิตมาก แต่เนื่องจากจิ้งหรีดกินเยอะ กินตลอดเวลา จึงไม่มีแหล่งวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นอาหารมากเพียงพอ จำเป็นต้องให้อาหารสำเร็จรูป ขนาดน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ต่อกระสอบ ราคากระสอบละ 460 บาท

ภายในบ่อเลี้ยง เมื่อวางแผงไข่ชิดกันให้เหมาะสม เพื่อให้จิ้งหรีดเข้าไปหลบได้แล้ว ต้องมีถาดให้อาหาร ซึ่งจิ้งหรีดกินอาหารเยอะมาก ต้องให้อาหารเช้าและเย็น วันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าอาหารที่ให้ไว้ในตอนเช้ายังไม่หมด ก็ไม่จำเป็นต้องเติมให้อีก เพราะจิ้งหรีดจะถ่ายมูลออกมาปนกับอาหาร ทำให้อาหารชื้นและเสียได้ นอกจากนี้ ต้องมีที่ให้น้ำ โดยนำที่ให้น้ำสัตว์ปีกมาวางไว้ พื้นที่ที่เป็นน้ำ นำผ้ามาวางไว้ให้น้ำชุ่มที่ผ้า จิ้งหรีดจะมาดูดน้ำจากผ้าที่ชุ่มน้ำ หากไม่นำผ้ามาวางไว้ จิ้งหรีดอาจตกน้ำลงไปตายได้

เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแมลงที่เคลื่อนย้ายได้ บริเวณขอบบ่อ จึงจำเป็นต้องนำวัสดุที่มีความลื่นมาติดไว้โดยรอบขอบบ่อ เมื่อจิ้งหรีดไต่ขึ้นมาที่ขอบบ่อจะลื่นตกลงในบ่อเลี้ยงตามเดิม ไม่สามารถออกจากบ่อเลี้ยงได้

ในแต่ละวันนอกเหนือจากการให้อาหารเช้าและเย็นแล้ว จำเป็นต้องทำความสะอาดที่ให้น้ำ เพราะเมื่อจิ้งหรีดไปกินน้ำ จะถ่ายมูลไว้ที่ผ้า เป็นที่หมักหมมของเชื้อโรคและเกิดความชื้น ก็อาจทำให้จิ้งหรีดในบ่อเลี้ยงตายได้ ถ้าพบว่ามีจิ้งหรีดตายต้องนำออกจากบ่อเลี้ยง แม้จะยังไม่เคยเกิดโรคในจิ้งหรีด แต่การทำบ่อเลี้ยงให้สะอาด ก็เป็นการป้องกันที่ดีทางหนึ่ง

รอบการจับจิ้งหรีดขายอยู่ที่ 45 วัน ต่อรอบ

จิ้งหรีด จะมีขนาดตัวที่โตเต็มวัยในระยะเวลา 45 วัน เหมาะสำหรับจับขาย เมื่อถึงเวลาจับขาย จะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับถึงฟาร์ม การจับจิ้งหรีดทำโดยการนำแผงไข่ออกจากบ่อเลี้ยง ก่อนนำออกจากบ่อเลี้ยงให้สลัดตัวจิ้งหรีดออกให้หมด จากนั้นนำแผงไข่บางส่วนพิงไว้รอบบ่อ จิ้งหรีดจะเข้าไปแอบในแผงไข่นั้นๆ แล้วจึงนำแผงไข่นั้นออกมาสลัดจิ้งหรีดใส่เครื่องกรอง เพื่อกรองเอาเศษที่ไม่ต้องการออก จากนั้นพ่อค้าแม่ค้าจะนำเฉพาะตัวจิ้งหรีดใส่ถุง แล้วน็อกด้วยน้ำแข็งส่งไปยังปลายทางเพื่อจำหน่าย หรืออีกกรณีคือ เมื่อนำแผงไข่ที่มีตัวจิ้งหรีดจากบ่อเลี้ยงออกมาแล้ว นำไปสลัดใส่กรงหรือบ่อเลี้ยงขนาดเล็กที่มีแผงไข่ เพื่อเปลี่ยนที่อยู่ให้กับจิ้งหรีด แล้วขนย้ายไปปลายทางเพื่อจำหน่าย

ในการจับจิ้งหรีดขายแต่ละครั้ง ในบ่อเลี้ยงจะเหลือมูลจิ้งหรีด ซึ่งสามารถนำไปจำหน่ายเป็นปุ๋ยได้ เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า มูลจิ้งหรีดมีธาตุไนโตรเจนมากกว่ามูลไก่ สามารถนำไปใส่ในต้นไม้ได้ทุกชนิด ราคาซื้อขายอยู่ที่กระสอบละ 40 บาท แต่ละบ่อสามารถเก็บมูลจิ้งหรีดขายได้มาก 6-7 กระสอบ ต่อรอบการจับขาย

ในการขายแต่ละครั้ง คุณไพบูรณ์ บอกว่า ปริมาณจิ้งหรีดที่จับขายได้ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยง เลี้ยงมากน้อยก็ได้ปริมาณจิ้งหรีดไม่เท่ากันในแต่ละครัวเรือน สำหรับบ้านแสนตอสามารถจับขายได้เกือบทุกวัน ปริมาณจิ้งหรีดออกจากบ้านแสนตอไปแต่ละรอบการผลิตเกือบ 30 ตัน ราคารับซื้อ กิโลกรัมละ 80 บาท

“เท่าที่ทราบ พอออกจากบ้านแสนตอเราไป ก็ไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาคอีสาน แถบจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย กาฬสินธุ์ สระแก้ว โดยเฉพาะปอยเปตของกัมพูชา ซื้อไปครั้งละ 4-5 ตัน ซึ่งตลาดยังต้องการมากกว่าที่เราผลิตได้ จึงวางแผนผลิตเพิ่มขึ้น และผลิตแบบ GAP เพื่อตั้งเป้าส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย”

เมื่อถามถึงรายได้จากการเลี้ยงจิ้งหรีด คุณไพบูรณ์ บอกเลยว่า เป็นอาชีพที่ไม่ต้องออกแรงมาก และใช้เวลากับการดูแลน้อย เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้ว มีรายได้เกือบ 50% ของการลงทุน อย่างน้อยต่อรอบการผลิต เกษตรกรจะมีรายได้หลักหมื่นบาทแน่นอน

จิ้งหรีดที่ฟักเป็นตัวแล้ว
สำหรับบ้านแสนตอ เกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดรวมกลุ่มกันเลี้ยงจิ้งหรีด ปัจจุบันมี 43 ครัวเรือน รอบการผลิต 45 วัน ที่จับจิ้งหรีดขายได้ จะได้ปริมาณจิ้งหรีดที่ 28-30 ตัน และมีแนวโน้มตลาดต้องการเพิ่มมากขึ้น จึงจะขยายฐานการผลิตออกไปอีก

ท่านใดสนใจเยี่ยมชม ศึกษาการเลี้ยงจิ้งหรีด บ้านแสนตอยินดีให้ข้อมูล ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณไพบูรณ์ คำมูลมาตย์ หรือ ไพบูรณ์ฟาร์ม เลขที่ 110 หมู่ที่ 85 บ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ 081-741-2387

กรมวิชาการเกษตร พัฒนาแบคทีเรียผลิตเป็นสารชีวภัณฑ์ Bs กำจัดโรคกุ้งแห้งพริกสำเร็จ ชี้เป็นโรคร้ายทำผลผลิตเสียหายกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ พบระบาดพริกแทบทุกชนิดและทุกพื้นที่ปลูก สร้างความสูญเสียกว่า 100 ล้านบาท/ปีขยายผลการทดลองสู่แปลงเกษตรกรพบลดการระบาดของโรค พร้อมให้ผลผลิตและรายได้เพิ่ม ไม่มีปัญหาสารตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า โรคแอนแทรคโนสหรือโรคกุ้งแห้งพริก เป็นโรคที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ที่ทำความเสียหายให้แก่พริกเกือบทุกชนิดและในแหล่งปลูกพริกทุกพื้นที่ หากมีการระบาดของโรครุนแรงจะทำให้ผลผลิตพริกลดลงมากกว่า 50% ความเสียหายไม่น้อยกว่า 15,000 บาท/ไร่ ทำความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท / ปี เกษตรกรจึงมีการใช้สารเคมีในปริมาณสูง ก่อให้เกิดผลเสียโดยตรงต่อผู้ใช้และผู้บริโภค เกิดสารตกค้างในผลผลิต และการปนเปื้อนของสารเคมีในสภาพแวดล้อม ส่งผลถึงการกีดกันทางการค้า รวมทั้งทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก

การควบคุมโรคพืชโดยใช้สารชีวภัณฑ์ที่ผลิตจากจุลินทรีย์ เป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่จะช่วยลดปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มผลผลิตและรายได้ ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทย สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบคทีเรียกลุ่ม Bacillus ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในดินปลูก ปุ๋ยคอก วัสดุปลูก รากพืช และผิวใบ ที่มีความปลอดภัยสูง และเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ง่าย นำมาใช้ในการควบคุมโรคพืชโดยผลิตเป็นชีวภัณฑ์ Bs เพื่อนำไปใช้ควบคุมโรคกุ้งแห้งพริกในระดับแปลงปลูก

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการนำผลงานวิจัยไปขยายผลในแปลงเกษตรกรในพื้นที่มีการระบาดของโรคกุ้งแห้งรุนแรงและมักพบโรคระบาดสม่ำเสมอทุกฤดูปลูก โดยแนะนำให้เกษตรกรพ่นสารชีวภัณฑ์ Bs ตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ โดยพ่นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อกล้าเริ่มตั้งตัวหลังการย้ายปลูก พ่นครั้งที่ 2 เมื่อพริกเริ่มออกดอก หลังจากนั้นพ่นทุก 5-7 วัน ในอัตรา 40-50 กรัม/หรือเพิ่มถึง 70 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ในแปลงที่พบการระบาดรุนแรงจะทำให้ลดการระบาดของโรค และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากแปลงเปรียบเทียบผลผลิตพบว่าแปลงที่ใช้ชีวภัณฑ์ Bs ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 1,555 กิโลกรัม จากพื้นที่ 1.5 ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวน 68,044 บาท โดยต้นทุนการใช้สารชีวภัณฑ์ Bs เฉลี่ย 250-300 บาท/ไร่

ปัจจุบัน ได้มีการขยายผลงานวิจัยโดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์ Bs ไปยังหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร เพื่อผลิตเป็นชีวภัณฑ์มอบให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตพืชอินทรีย์หรือพืชปลอดภัย ตลอดจนเกษตรแปลงใหญ่

โดยเกษตรกรสามารถนำชีวภัณฑ์ Bs ไปใช้ในการผลิตพริกในแปลงพริกอินทรีย์ หรือแปลงเกษตรปลอดภัยได้ เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นลดการใช้เคมีทางการเกษตร ซึ่งช่วยลดสารตกค้างทั้งในผลิตผลและสภาพแวดล้อม เกิดความปลอดภัยต่อเกษตรผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม และผลผลิตที่ได้จะมีราคาสูงกว่าผลผลิตที่ใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดี รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาการกีดกันทางการค้าในการส่งออกผลผลิตพริก โดยกรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์ Bs ให้ภาคเอกชนเพื่อพัฒนาและต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป

สวนกล้วยในระยะที่มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยให้สังเกตอาการของโรคเหี่ยว สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นกล้วย มักพบแสดงอาการของโรคมากในระยะที่ต้นกล้วยสร้างปลีจนถึงระยะติดผล

อาการเริ่มแรกพบใบกล้วยด้านนอกหรือใบแก่เหี่ยวเหลือง และลุกลามเหลืองจากขอบใบเข้ากลางใบ ก้านใบหักพับตรงรอยต่อกับลำต้น และทยอยหักพับตั้งแต่ใบด้านนอกเข้าไปสู่ใบด้านใน ซึ่งระยะแรกใบยอดยังเขียวตั้งตรง ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และใบทั้งหมดจะเหี่ยวแห้ง หากตัดลำต้นกล้วยตามขวางหรือตามยาว จะพบเนื้อในของกาบใบบางส่วนเน่าเป็นสีน้ำตาล ต้นกล้วยชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบกล้วยแสดงอาการของโรค ให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้น โรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดจัด ให้ทั่วบริเวณหลุมที่ขุดต้นเป็นโรคออกไปหรือกอที่เป็นโรค อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อหลุม และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค

นอกจากนี้ เกษตรกรควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี และควรระมัดระวังการให้น้ำ โดยไม่ให้น้ำไหลผ่าน จากต้นที่เป็นโรคไปสู่ต้นปกติ หากเกษตรกรต้องการปลูกกล้วยในพื้นที่ใหม่ หลีกเลี่ยง การปลูกในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และไม่นำหน่อพันธุ์จากต้นตอที่เป็นโรคไปปลูก ให้เลือกใช้หน่อกล้วยที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค หรือชุบหน่อพันธุ์กล้วยด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชอีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6%+24% อีซี หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี หรือสารทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ย่านลิเภา หรือ หญ้าลิเภา ที่เคยรู้จักมาตั้งแต่เด็กๆ และไม่เคยเห็นประโยชน์ของมันเลย นอกจากมองเห็นมันเป็นแค่วัชพืชที่ขึ้นรกเรื้อตามสวนยางและสวนผลไม้ ที่ต้องฟันทิ้ง
ตอนที่เป็นเด็กๆ ก็เคยเอามาทำเป็นเชือกผูกไม้จ่อวาด ก็คือว่า ตัดไม้ไผ่ลำเล็กๆ เรียวๆ มา แล้วใช้ก้านมะพร้าวที่ชุบยางไม้มาผูกติดกับปลายยอดของลำไม้ไผ่แล้วผูกด้วยย่านลิเภา ผู้ใหญ่ก็มามัดผูกทำไม้กวาดแข็งแรงและทนทานดีนักแล ประโยชน์ของย่านลิเภาเท่าที่เคยรู้ตอนสมัยเด็กๆ ก็มีเท่านี้

เพิ่งได้รู้ถึงคุณประโยชน์ของย่านลิเภาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เองว่า ย่านลิเภาที่เคยเอามาเล่นในสมัยเด็กๆ นั้น บัดนี้ได้สร้างรายได้ให้กับผู้คนได้มากมาย ด้วยทำเป็นเครื่องจักสาน ที่ดูดีสวยงามและมีคุณค่า ทั้งยังเป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย

ย่านลิเภา เขาว่ากันว่า เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามแต่ในแต่ละท้องถิ่น บ้างเรียกตีนมังกร ตีนตะขาบ กระฉอด กระฉอก ตะเภาขึ้นหน ลิเภาใหญ่ กูดก้อง กูดเครือ กูดงอดแงด กูดแพะ กูดย่อง ก็เรียกต่างๆ กันไป แต่ชื่อที่บางท้องถิ่นเรียก ทำให้ตะขิดตะขวงในความรู้สึกนี่สิ

แต่ก็นะ ภาษาใครภาษามัน ท้องถิ่นใครก็ภาษาของท้องถิ่นนั้น ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกหญ้าลิเภาว่า หมอยแม่ม่าย บ้างก็เรียกหมอยยายชี ไม่รู้จริงๆ ว่าเหมือนกันหรือเปล่า เพราะไม่เคยเห็น เคยเห็นก็แค่ย่านลิเภานี่แล คนใต้ ถ้าให้เรียกตามสำเนียงใต้จริงๆ ก็เรียกว่า ย๋านหลีเพ่า ก็คือย่านลิเภาในภาษากุงเต้บนั่นเอง

ตามตำราทางวิชาการ ย่านลิเภาจัดเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง มีลำต้นหรือย่าน มีลักษณะคล้ายเส้นลวดทอดยาวเลื้อยพาดพันเกาะไต่ตามต้นไม้อื่น แต่ละเส้นแต่ละย่าน ทอดยาวหลายเมตร

ใบ เป็นใบประกอบคล้ายขนนกสองชั้น โดยมีแกนกลางเป็นก้านใบ โคนก้านมีสีเป็นสีน้ำตาลเข้ม และรอบๆ ขอบใบก็มีขนเป็นสีน้ำตาล แผ่นใบคล้ายรูปหอกปลายใบแหลมเป็นรูปหัวใจ

ส่วนที่ใช้เป็นยานั้น ชาวอีก้อ แม้ว และมูเซอ เขาจะใช้รากและเหง้ามาต้ม ดื่มเป็นยาแก้ไอ แก้ร้อนในได้ ตำรายาไทยยังบอกว่า ใช้ทั้งต้นมาปรุงเป็นยาแก้ฝีได้ทั้งภายนอกภายใน
เขาว่ามาอย่างนั้น ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ที่นครศรีธรรมราช โดยกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรเมืองนครศรีธรรมราช ผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภา เหล่าแม่บ้านในตำบลท่าเรือได้รวมกลุ่มกันคิดทำอาชีพเสริม เพื่อหารายได้หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ หลังจากพบปะพูดคุย จึงลงความเห็นกันว่า น่าจะทำผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา และด้วยการส่งเสริมจากสหกรณ์การเกษตร เมืองนครศรีธรรมราช จึงรวมกันเป็นกลุ่มก้อนอย่างมั่นคง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530

ด้วยที่ตำบลท่าเรือนี้ ผู้สูงอายุในกลุ่ม มีความรู้ ความสามารถและมีฝีมือในการทำจักสาน
ที่สำคัญคือ ย่านลิเภา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักนั้นหาง่าย และขึ้นอยู่ตามพงรกหลังบ้านบ้าง บนคันนาบ้าง มีอยู่มากมาย และทางกลุ่มได้เห็นทางจังหวัดนครศรีธรรมราช เขาจัดการประกวดสานย่านลิเภา และมีรางวัลเป็นสิ่งล่อใจ สมาชิกในกลุ่มจึงพยายามศึกษาเรียนรู้ พัฒนาในการสานย่านลิเภาเพิ่มเติม และค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นๆ

โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ในการจัดสรรงบประมาณ การพัฒนารูปแบบ และการจัดการการตลาด หลังจากต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างทำ เมื่อเห็นว่า ฝีมือในการผลิตดีขึ้น สวยงามขึ้น แล้ก็ส่งให้กับกลุ่ม เอาไปขายต่อไป
มาถึงปัจจุบันนี้ วัตถุดิบหายากมากขึ้น เพราะที่ดินแถวตำบลท่าเรือ มีราคาแพงขึ้นด้วย มีบ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า และร้านรวง ที่ดินที่เคยมีย่านลิเภาเลยต้องหดหายไปพร้อมกับความเจริญของเมือง ย่านลิเภาจึงต้องสั่งซื้อมาจากจังหวัดนราธิวาสบ้าง จากจังหวัดปัตตานีบ้าง

คุณชุติมา บุญต่อ เล่าว่า ตอนเริ่มทำกันใหม่ๆ ก็ลองผิดลองถูก ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ทั้งรูปร่างของผลิตภัณฑ์ก็ไม่หรูหราอะไร ไม่เหมือนกับปัจจุบันนี้ ที่ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นสวยงาม หรูหรา และได้ราคา ทำให้พี่น้องภายในกลุ่มมีรายได้จุนเจือครอบครัว และกินดีอยู่ดีกว่าสมัยก่อนมาก

ใครสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา ของกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรเมืองนครศรีธรรมราช ไปขายต่อ หรือซื้อไปใช้สอย ติดต่อได้ที่ คุณชุติมา บุญต่อ เลขที่ 33 หมู่ที่ 16 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ (083) 390-7332 หรือ (087) 274-6857

ยายคิดว่าใครได้ยินชื่อยายแล้วคงจะไม่ชอบใจ แต่ที่ทุกคนสนใจเพราะอยากรู้ว่าพฤติกรรมของยายเหมือนชื่อหรือไม่ ฟังดูเหมือนยายใจร้าย ทั้งๆ ที่ “กลุ่มพืชสมุนไพรโตนงาช้าง” เขาเรียกยายว่า “ต้นยายจูงหลาน” เพราะข้างๆ รอบโคนต้นของยาย มีต้นเล็กๆ ขึ้นเต็มไปหมดเลย

ยายเป็นคนร่างเล็ก ใบเรียงสลับ แผ่กิ่งก้านโปร่ง แม้ดูเป็นพุ่มแต่ก็สูงไม่เกิน 3 เมตร จุ๊…จุ๊…อย่าคิดว่ายายแก่แล้วไม่สวยนะ เพราะเวลายายออกดอกจะเป็นกระจุกตามซอกใบ ดูสวยงาม แต่ที่เท่กว่านั้นคือ ถ้าติดผลก็จะเป็นรูปทรงแคปซูล มีเมล็ดตั้ง 4 ถึง 5 เมล็ด เชียวแหละ

ในธรรมชาติทั่วไปจะพบยายได้ตามป่าดิบ หรือในประเทศมาเลเซีย และแถบเกาะสุมาตรา แต่ถ้าอยากจะเด็ดดม ชมยาย นั้น ต้องไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าควนออกบ้านน้ำตก” เพราะยายมีกลุ่มรวมพลที่นั่น

สำหรับที่ยายบอกว่าหลานๆ รักยาย เพราะเขาใช้ใบอ่อนต้มน้ำอาบให้เด็กทารกป้องกันการติดเชื้อได้ ส่วนพวกผู้ใหญ่ก็ใช้เป็นสมุนไพร ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ สำหรับหลานรุ่นหนุ่มๆ ที่ชอบซุกซน ก็ใช้แก้โรคหนองในได้นะ อ้อ! อย่าลืม พากันมาเด็ดยอดอ่อนของยายไปกินเป็นผักสดได้เลย และตัวยายก็ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี IUCN และไม่อยู่ในพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม ใครรักยายก็พาไปอยู่ที่ไหนก็ได้ หลานๆ เอ๊ย!…

ในช่วงนี้มักมีฝนตกชุก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรสวนทุเรียนเฝ้าระวังโรครากเน่าโคนเน่าและโรคผลเน่า สามารถพบได้ในระยะติดผลและหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต อาการที่ราก เริ่มแรกเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา ใบเหี่ยวลู่ลง กรณีที่โรครุนแรง ใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูที่ราก จะพบรากฝอยมีเปลือกล่อนเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล และมีอาการเน่าลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นโทรมและยืนต้นตาย อาการที่กิ่ง ลำต้น และโคนต้น ระยะแรกจะพบต้นมีใบเหลืองบางกิ่ง สามารถสังเกตเห็นรอยคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่งหรือต้น ในช่วงเช้าที่มีอากาศชื้นจะเห็นหยดของเหลวสีน้ำตาลแดงออกมาจากบริเวณแผล และจะแห้งไปในช่วงที่มีแดดจัด ทำให้เห็นเป็นคราบ เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบนั้น จะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีนํ้าตาล ถ้าแผลขยายใหญ่จะลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ใบรวงจนหมดต้นและยืนต้นแห้งตาย

ส่วนอาการที่ใบ ใบช้ำ ดำ มีรอยตายนึ่งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และจะไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็ว พบระบาดมากในช่วงฝนตกหนักติดต่อกัน อาการที่ผล เริ่มแรกพบเปลือกผลเกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลดำ ต่อมาจุดแผลจะลุกลามขยายใหญ่ขึ้นตามการสุกของผล กรณีที่มีความชื้นสูง จะพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราบริเวณแผล ซึ่งพบได้ตั้งแต่ผลยังอยู่บนต้น หากรุนแรงมาก ผลทุเรียนจะเน่าและร่วงหล่นก่อนกำหนด สามารถพบได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อน หรือในช่วง 1 เดือน ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต และหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว

เกษตรกรควรตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคและเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นให้ทั่วทรงพุ่มด้วยสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 15 วัน ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก