ตามรอยตำนานกาแฟ แลดอกนางพญาเสือโคร่งที่ศูนย์วิจัยเกษตร

หลวงเชียงใหม่กรมวิชาการเกษตรจัดงาน “ตามรอยตำนานกาแฟ แลดอกนางพญาเสือโคร่ง” โชว์แหล่งพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอะราบิก้า เน้นถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการผลิตกาแฟพันธุ์ดีอย่างครบวงจร หนุนเกษตรกรเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต และการมีส่วนร่วมผลิตกาแฟคุณภาพสู่วิถีเกษตรกรรมไทย พร้อมต่อยอดสินค้านำมาจำหน่ายในงาน ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรกำหนดจัดงาน“ตามรอยตำนานกาแฟ แลดอกนางพญาเสือโคร่ง” ในระหว่างวันที่ 13 – 14 มกราคม 2562 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการผลิต การแปรรูป และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ พร้อมต่อยอดพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิต และนำไปสู่ความยั่งยืนในอาชีพ

อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอะราบิกาของกรมวิชาการเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร (Agro tourism) ขุนวางให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ตลอดจนเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน ภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการวิชาการ “จากพระราชดำริแรกปี 2525 ถึงปี 2562…ก้าวสู่ปีที่ 35 แห่งการวิจัยและพัฒนากาแฟอะราบิกากรมวิชาการเกษตร”

อาทิ แหล่งรวมพันธุ์และแหล่งสร้างนวัตกรรมกาแฟอะราบิกาพันธุ์ใหม่ เทคโนโลยีการพัฒนายกระดับมาตรฐานคุณภาพกาแฟอะราบิกา การเชื่อมโยงการผลิตกาแฟอะราบิกาไทยสู่มาตรฐานกาแฟอะราบิกาโลก และทิศทางการพัฒนากาแฟอะราบิกาในอนาคต ร่วม เสวนาทางวิชาการ องค์ความรู้ของกรมวิชาการเกษตรต่อการพัฒนากาแฟอะราบิกาของไทย

การสร้างอัตลักษณ์กาแฟไทยจากยอดดอยสู่สากล และการปรับโฉมการผลิตและเพิ่มมูลค่ากาแฟอะราบิกายุค 4.0 ลุ้นสนุก การแข่งขันเก็บผลกาแฟอะราบิกาคุณภาพ การแข่งรถสามล้อดอยวิถีชาวดอย และการแข่งขันถ่ายภาพภายใต้แนวคิด “ตามรอยตำนานกาแฟ แลดอกนางพญาเสือโคร่ง”

พร้อมเรียนรู้ การสาธิตเทคนิคการชิมกาแฟและชิมกาแฟพิเศษ Best ASEAN Top 5 Coffee สาธิตการทำ Latte Art และสาธิตการชงกาแฟในรูปแบบต่างๆ จึงขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจเที่ยวชมงานได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ในระหว่างวันที่ 13 – 14 มกราคมนี้ ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

โครงการข้าวโพดหลังนาที่ภาครัฐรณรงค์ให้ชาวนางดปลูกข้าวนาปรัง แล้วเชิญชวนให้หันมาปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ต่อจากข้าวนาปีแทนนั้น น่าแปลกใจที่โครงการดีๆ แบบนี้กลับมีบางคนเห็นเป็นเรื่องหนุนนายทุนไปเสีย ทั้งๆ ที่มันมีเหตุผลประกอบหลายประการและทั้งหมดเป็นผลประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติเป็นหลัก

ประการแรก : ลดปริมาณผลผลิตข้าวที่กำลังล้นตลาด เพื่อดึงราคาข้าวให้สูงขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นแนวโน้มราคาข้าว จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่ระบุว่าในปี 2562 “ข้าว” จะเป็นสินค้าเกษตรที่มีปัญหาน้อยที่สุด โดยในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ-ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีในปี 2561 ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ทำสถิติราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงตันละ 18,000 บาท

ประการที่สอง : ลดปริมาณการใช้น้ำ จากภาวะ “แล้ง” ประเทศเราขาดแคลนน้ำอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา รัฐจึงต้องรณรงค์ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน หวยจึงมาออกที่ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ที่ใช้น้ำน้อย ใช้เวลาปลูกน้อย และที่สำคัญ มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อชาวนาไทย

ประการที่สาม : รัฐสามารถหักคอกำหนดราคาขั้นต่ำของการรับซื้อข้าวโพดหลังนาได้ โดยบังคับ (หรือจะใช้คำไพเราะว่า ขอความร่วมมือ) ไปยังเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ นโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนานี้ ส่งผลให้ “ข้าวโพด” มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันราคาปรับสูงขึ้นกว่า กก.ละ 9-10 บาท จากราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้ กก.ละ 8.00 บาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงกลายเป็นพืชเกษตรอีกชนิดหนึ่งที่มีแนวโน้มราคาดีอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลของ สศก.

ลองมาดูในฝั่งเอกชนบ้าง … เอาเข้าจริงๆ ประโยชน์ข้อเดียวที่ได้รับ คือมีผลผลิตข้าวโพดที่เพิ่มขึ้น จากที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เคยเพียงพอต่อการใช้ (แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่พออยู่ดี) นำไปสู่การที่ “ไอ้โม่ง” ใช้วิธีลักลอบนำข้าวโพดต่างชาติมาสวมสิทธิเป็นข้าวโพดไทยอยู่เสมอๆ

ส่วนข้อเสียที่ภาคเอกชนจำต้องแบกรับคือต้องยอมให้รัฐและเกษตรกรสูบเลือดสูบเนื้อ รับซื้อข้าวโพดในราคาที่ถูกบังคับขั้นต่ำ 8.00 บาท/ กก. ซึ่งสูงกว่าตลาดโลก แถมยังไม่มีเพดานราคา ไม่รู้จะวิ่งไปถึงเท่าไหร่ กลายเป็นต้นทุนมหาศาลของห่วงโซ่การผลิตอาหาร ที่จะส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติและอาจกระทบการส่งออกไปโดยปริยาย ราคาประกันที่ว่าจึงไม่ใช่ราคาในฝันของเกษตรกร แต่เป็นราคาที่เกินฝันไปแล้ว

ด้วยราคาที่สูงขนาดนี้ ทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีถึงกับต้องสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงเพิ่มมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวโพดตามตะเข็บชายแดนอย่างเข้มงวด เพื่อให้รายได้ตกถึงมือเกษตรกรไทย ไม่ใช่ตกในมือพ่อค้าพืชไร่ที่ลักลอบนำข้าวโพดที่อื่นเข้ามา

ข้อเสียอีกข้อคือ ชาวนามีอาชีพปลูกข้าวเป็นงานหลัก แต่การปลูกข้าวโพดหลังนาเป็นเพียงอาชีพเสริม ทักษะการปลูก การเก็บเกี่ยว คงไม่อาจเทียบเท่าชาวไร่ข้าวโพดตัวจริง จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายข้าวโพดหลังนาไว้ 2 ล้านไร่ จะมีชาวนาเข้าร่วมโครงการไม่ถึงครึ่ง ก็เพราะคนมักจะทำในสิ่งที่ตนเคยชินเป็นหลัก

และด้วยเหตุของการปลูกเพียงเป็นอาชีพเสริมทำให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นอาจมีคุณภาพไม่ทัดเทียมชาวไร่ข้าวโพด แต่โครงการนี้ก็ยังสามารถบังคับภาคเอกชนให้รับซื้อได้ แบบนี้พอจะกล่าวได้ไหมว่า รัฐทุบเอกชนเอื้อเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในการสนองนโยบายที่ดีของรัฐ และยินดีช่วยรับซื้อข้าวโพดในราคาสูงกว่าตลาดโลกของภาคเอกชนที่นับเป็นการเพิ่มรายได้เกษตรกรไทยอย่างชัดเจนนี้ นัยหนึ่งก็เพราะต้องการปริมาณข้าวโพดเพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้น อีกนัยหนึ่งก็เพื่อช่วยสนับสนุนเชิงวิชาการให้เกษตรกรสามารถเพื่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมด้วย

ภาคเกษตรไทยต้องปรับตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ พูดถึงนโยบายรัฐที่ควรจะสนับสนุนให้เกษตรกรก้าวเดิน สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางเลือกไม่ใช่ทางออกใหญ่ของภาคเกษตรไทย ทางออกใหญ่ของเรายังเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์ และประเทศไทยก็มีความสามารถด้านนี้ กระทั่งเป็นประเทศที่ส่งออกด้านการเกษตรอันดับ 10-12 ของโลก

นักวิชาการท่านนี้สนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่ต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาจัดการ ไม่ใช่ปล่อยไปตามดินฟ้าอากาศเหมือนสมัยปู่ย่าตายายทำ ทั้งยังยกตัวอย่างว่าแปลงเกษตรสมัยใหม่ แปลงใหญ่ไม่จำเป็นต้องทำในนามบริษัท แต่ครัวเรือนเกษตรก็เป็นเจ้าของแปลงเกษตรขนาด 500-1,000 ไร่ได้… อย่างที่มีคนบอกว่ากฎหมายเช่านา เจ้าของที่ดินเอาเปรียบชาวนา ปัจจุบันกลับด้านกันแล้ว…เจ้าของที่นากลับเป็นฝ่ายกลัว เพราะไม่มีคนเช่าทำนากัน

ที่ยกตัวอย่างมานี้คือนักวิชาการที่มีความรู้จริง ศึกษาวิจัยงานด้านภาคเกษตรมาจริง และไม่ได้ศึกษาเฉพาะในประเทศไทย แต่ท่านศึกษามาแล้วหลายประเทศทั่วโลก หวังว่าตรงนี้น่าจะพอเปิดโลกทัศน์ของบางคนได้บ้าง

“โครงการข้าวโพดหลังนา” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาจัดการ มีการวางแผนการผลิต ใช้การตลาดนำการผลิต เป็นความพยายามของรัฐที่มุ่งแก้ปัญหาผลผลิตข้าวล้นตลาด ราคาข้าวตกต่ำ แก้ปัญหาน้ำแล้ง แก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เรียกว่าแก้หลายปัญหาได้ด้วยโครงการเดียว… ใครที่ไม่ได้ช่วยคิดแก้ปัญหาก็อย่าเอาเท้าเข้ามาราน้ำเลย

หลายปีที่ผ่านมาเมืองไทยประสบเจอสภาวะอากาศแปรปรวน ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากฤดูกาลคลาดเคลื่อนไปหมด ฤดูหนาวก็มีฝนตก ฤดูร้อนก็มีฝนตก จำนวนวันที่อากาศร้อนในรอบปีก็จะเพิ่มมากขึ้น ความแปรปรวนระหว่างฤดู ระหว่างปีต่อปี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลายพื้นที่โดนทั้งลมพายุ ภัยหนาว น้ำท่วม สภาพอากาศร้อนจัดจนเกิดภัยแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล สภาวะอากาศแปรปรวนเหล่านี้ ทำให้เกษตรกรวางแผนจัดการสวนไม้ผลได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

รู้ทันสภาวะอากาศแปรปรวนงานวิจัยเรื่องรูปแบบการแปรปรวนภูมิอากาศต่อการผลิตทุเรียนจังหวัดจันทบุรี ของนางสาวศิริพร วรกุลดำรงชัย ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยสิ่งแวดล้อม ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเน้นศึกษาข้อมูลสภาวะภูมิอากาศในรอบ 30 ปีของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น การเปลี่ยนอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการผลิตทุเรียน เพื่อนำผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอดีตมาใช้เป็นบทเรียนสำหรับวางแผนการรับมือสภาวะอากาศในปัจจุบันและอนาคต

ผลการศึกษาวิจัยในเบื้องต้นพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อพืชทั่วโลกหลายชนิด เช่น ท้อและบ๊วย ทางภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปี ค.ศ. 1970-2001 ออกดอกเร็วขึ้น 1-3 สัปดาห์ เชอรี่บานเร็วขึ้น 2.2 วันในระยะเวลากว่า 10 ปี เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น 1-4 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส หรือปริมาณน้ำฝนลดลงเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโน ล้วนส่งผลกระทบทำให้ข้าวและธัญพืชในประเทศอังกฤษ อินเดีย และฟิลิปปินส์ ปรับตัวลดลง เช่นกันกับต้นทุเรียนที่ปลูกในจังหวัดจันทบุรี ในช่วงปี 2548 และ2550 หลังเจอสภาวะอากาศแปรปรวน ต้นทุเรียนออกดอกและเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นกว่าในปีก่อนๆ 3-4 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อการกระจายทางภูมิศาสตร์ของแมลง เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะเร่งการเกิดโรคพืชและแมลงเร็วขึ้น และการแพร่ระบาดขยายตัวในวงกว้าง จากที่ลุ่มสู่พื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล จากเส้นศูนย์สูตรสู่ขั้วโลกเหนือและใต้ จะเห็นได้ว่าทางภาคเหนือของจีนในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มการเกิดโรคและแมลงรุนแรงขึ้น

สภาวะอากาศแปรปรวนในสวนทุเรียน

สภาพภูมิอากาศในจังหวัดจันทบุรี ในช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาเทียบกับปัจจุบัน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ความแปรปรวนของสภาพอากาศมีรูปแบบที่ไม่แน่นอน บางปีเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนได้เร็วกว่าปกติ ต้นทุเรียนมีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง แม้มีปัจจัยสภาพภูมิอากาศอากาศที่ไม่เหมาะสมมาแทรกซ้อนในแต่ละขั้นตอนการพัฒนาการของทุเรียนเกิดขึ้นบ้างแต่ไม่รุนแรง ต้นทุเรียน มีความสมบูรณ์ต้นดีพร้อมที่จะออกดอก เมื่อกระทบช่วงแล้ง ต้นทุเรียนออกดอกได้ในปริมาณมาก และเป็นดอกรุ่นเดียวกัน การติดผลดี ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

สภาวะอากาศแปรปรวน ส่งผลกระทบให้ต้นทุเรียนออกดอกถึง 3 รุ่น หลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมต้นทุเรียนให้พร้อมสำหรับการออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม – ตุลาคม โดยช่วงเวลาดังกล่าว มีอุณหภูมิสูงสุด 32.63 องศาเซลเซียส และต่ำสุดเฉลี่ย 24.41 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนรวมรายปี 3,082.1 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 80.52 % ส่งผลทำให้ต้นทุเรียนแตกใบอ่อน 2-3 รุ่น ในช่วงก่อนชักนำให้ออกดอก

โดยทั่วไป ต้นทุเรียนเป็นไม้ผลที่ต้องการช่วงแล้งประมาณ 10-14 วันในการชักนำให้ออกดอก แต่ปลายเดือนตุลาคม – ธันวาคม กลับเจอฝนทิ้งช่วงเร็ว มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ต้นทุเรียนที่มีความสมบูรณ์ดีพร้อมจะออกดอกได้ แต่ต้นที่ยังไม่พร้อมที่จะออกดอก เจอฝนตก และมีอุณหภูมิร้อน-หนาวเย็นสลับกัน และมีน้ำค้างมากในบางวัน ทำให้ต้นทุเรียนออกดอก และการพัฒนาของดอกชงัก ส่งผลให้ทุเรียนจันทบุรีในปีการผลิต 2553/2554 ออกดอกถึง 3 รุ่น รุ่นแรกออกดอกต้นเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณดอกมากที่สุด 60% รุ่นที่สองออกดอกประมาณต้นเดือนธันวาคม ปริมาณดอก 30% รุ่นที่ 3 ออกดอกต้นเดือนมกราคม ปริมาณดอก 10% ทำให้มีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม

โดยรวมถือว่า ต้นทุเรียนให้ผลผลิตเร็วกว่าปีก่อน ๆ แม้ต้นทุเรียนจะมีผลผลิตทยอยออก 3 รุ่น แต่ได้ผลผลิตคุณภาพดี โดยทุเรียนทะยอยเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน ไม่กระจุกตัวในช่วงเวลาเดียวกันหมือนทุกปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาค่อนข้างสูง

สภาวะอากาศแปรปรวนในสวนมังคุดมังคุดเป็นผลไม้ที่ต้องการช่วงแล้งในการชักนำออกดอกยาวนานกว่าทุเรียนประมาณ 20-30 วันขึ้นไป เมื่อมีฝนตกมาเป็นระยะๆ ทำให้ช่วงแล้งในการชักนำการออกดอกของมังคุดไม่มากพอ เมื่อเจอภาวะอากาศร้อนสลับหนาวเย็นเป็นช่วงๆ ส่งผลให้มังคุดออกดอกค่อนข้างล่าช้า

ยกตัวอย่าง ปีการผลิต 2553/2554 มังคุดออกดอกล่าช้ามากในราวเดือนกุมภาพันธ์ จากปกติที่ต้นมังคุดจะออกดอกช่วงเดือนธันวาคม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพของมังคุดเนื่องจากเกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูฝน ทำให้ผลมังคุดเกิดอาการเนื้อแก้วยางไหล

นอกจากนี้ ต้นมังคุดที่อั้นจะออกดอกมาเป็นเวลานาน เมื่อได้รับอากาศที่เหมาะสมจึงออกดอกมาเต็มต้น แต่จะออกดอกเป็นกระจุกเหมือนดอกโป๊ยเซียน และติดผลค่อนข้างมาก ทำให้ผลมีขนาดค่อนข้างเล็ก สภาวะอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้น เกษตรกรบางรายไม่รู้ว่าควรจะจัดการอย่างไร จะให้น้ำต่อไปหรือหยุดให้น้ำ หากให้น้ำมากเกินไป มังคุดแตกใบอ่อนทั้งต้น บางรายให้น้ำเสร็จฝนตก รอบของฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป

แนะวิธีรับมือสภาวะอากาศแปรปรวน

ทั้งนี้ เกษตรกรควรหมั่นสังเกตและจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในทุกๆ ปี เพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศว่ามีผลกระทบ ต่อการผลิตทุเรียนอย่างไร ในช่วงไหนบ้าง ถ้าเกิดสภาพอากาศแห้งแล้งแล้วมีฝนตกลงมา ทำให้ทุเรียนแตกใบอ่อน หรือทุเรียนดอกกำลังบาน เกิดมีฝนทำให้ไม่เกิดการผสมเกสร หรือฝนตกในช่วงติดผล ทำให้ผลร่วง ฯลฯ

ขณะเดียวกันเกษตรกรควรจดบันทึกเกี่ยวกับปัจจัยสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ อุณหภูมิร้อน เย็น ฝนตกมาก ฝนตกน้อย ความชื้นสัมพัทธ์ มีผลกระทบต่อการผลิตทุเรียนอย่างไร ในกรณีที่มีอากาศ หนาวมากเกินไป (ดอกจะไม่บาน) ร้อนมากเกินไป (ดอกอาจร่วง) เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้วางแผนปรับตัวหรือจัดการสวนผลไม้ ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนและมังคุดควรปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ โดยระลึกเสมอว่า ความเสี่ยงอากาศแปรปรวนมีแนวโน้มเกิดขึ้นเรื่อยๆ ควรวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในอนาคตด้วยความไม่ประมาท

หลังจากการเก็บเกี่ยวให้เตรียมต้นให้พร้อมทันที เร่งตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ย เพื่อบำรุงฟื้นฟูความสมบูรณ์ของต้นให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด เร่งให้ต้นทุเรียนแตกใบอ่อน พร้อมสร้างอาหาร ผลิดอกออกผลต่อไป หากเกษตรกรละเลยการเตรียมพร้อมดังกล่าว เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมมาถึงจะสูญเสียโอกาสในการทำให้ต้นไม้ผลิดอกออกผลได้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวศิริพร วรกุลดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-3939-7030 , 0-3939-7146

แนวโน้มความนิยมเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อบริโภคเชิงพาณิชย์ในขณะนี้นับว่ามาแรงมาก เนื่องจากไก่กินแต่อาหารจากธรรมชาติล้วน จึงทำให้มีรสชาติอร่อย คุณภาพเนื้อปลอดไขมัน แล้วมั่นใจว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ แล้วถ้ายิ่งนำระบบการเลี้ยงและบริหารจัดการแบบอินทรีย์มาใช้ด้วยคงส่งผลให้จำนวนไก่พื้นเมืองอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมปศุสัตว์เข้ามามีบทบาทต่อการส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงไก่พื้นบ้านเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงเข้ามาแนะนำวิธีเลี้ยงที่ถูกต้องเหมาะสม แต่ยังสนับสนุนส่งเสริมทางด้านอุปกรณ์เครื่องใช้ ตลอดจนเทคนิคต่างๆ รวมถึงยังหาตลาดแหล่งจำหน่ายให้ด้วย

อย่างที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางปศุสัตว์จังหวัดได้เปิดยุทธศาสตร์ชักชวนชาวบ้านในพื้นที่ให้ฟื้นฟูการเลี้ยงพันธุ์พื้นเมืองไก่แม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ เพื่อต้องการอนุรักษ์แล้วกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนในท้องถิ่นเห็นคุณค่าและความสำคัญของไก่พันธุ์นี้ทางด้านอาหารเพื่อสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักทั่วไปของคนทั้งประเทศ พร้อมกับยังรับซื้อหรือหาตลาดรองรับ ช่วยให้ชาวบ้านในจังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

คุณอารีย์ พรนำโชค อยู่บ้านเลขที่ 139 หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนเชิงพาณิชย์ได้บอกว่า ความจริงแล้วไม่ได้เลี้ยงไก่มาก่อน ปลูกแต่พืช แต่จะใช้ไก่เฉพาะช่วงที่นำมาใช้ในพิธีกรรมสำคัญเท่านั้น โดยไปซื้อไก่มาจากชาวบ้านที่เลี้ยงในราคากิโลกรัมละ 120-130 บาท แล้วเห็นว่าทำไมราคาไก่จึงสูงจัง จากนั้นจึงใช้พื้นที่บริเวณบ้านหาพันธุ์ไก่ดำลูกผสมมาเลี้ยงจำนวน 20-30 ตัว

คุณอารีย์มีอาชีพเกษตรกรรมที่ทำอยู่หลายอย่าง ได้แก่ ปลูกถั่วดาวอินคาจำนวน 400 ต้น เลี้ยงไก่ลูกผสมจำนวน 300 ตัว ปลูกข้าวโพดจำนวน 2 ไร่ ปลูกกระเทียมจำนวน 2 ไร่ และล่าสุดปลูกต้นโกโก้ไว้จำนวน 100 ต้น

ภายหลังไก่ดำลูกผสมที่นำมาเลี้ยงขนาดโต พอชาวม้งที่มาซื้อผลผลิตทางเกษตรพบเห็นเกิดความสนใจแล้วซื้อกลับไป พร้อมทั้งยังชักชวนเพื่อนๆ มาซื้อกันอีกในคราวต่อไป เมื่อเป็นเช่นนั้นคุณอารีย์ก็เลยไปหาพันธุ์ไก่มาเลี้ยงเพิ่มอีก 200-300 ตัว เพราะเห็นช่องทางรายได้ อีกทั้งการเลี้ยงไก่ไม่ได้ยุ่งยาก

ขณะเดียวกัน ทางปศุสัตว์จังหวัดชักชวนให้เข้าโครงการธนาคารอาหาร หรือ Food Bank โดยได้รับการสนับสนุนลูกไก่พื้นเมืองพันธุ์แม่ฮ่องสอนไว้จำนวน 50 ตัว พร้อมกับอุปกรณ์ ดังนั้น คุณอารีย์จึงต้องจัดแบ่งโซนแยกไก่ที่เลี้ยงจำนวน 2 ชนิดไม่ให้ปะปนกัน

จากไก่พื้นเมืองที่ได้มาจำนวน 50 ตัว คุณอารีย์เพาะ-ขยายเพิ่มอีก พร้อมกับเติมเต็มเทคนิคการเลี้ยงไก่จากการศึกษาด้วยตัวเองและขอคำแนะนำจากปศุสัตว์ควบคู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตอาหารจากธรรมชาติที่จะช่วยลดต้นทุน หรือวิธีการเลี้ยงการดูแลให้ถูกสุขลักษณะในโรงเรือน เพื่อความต้องการให้ไก่มีความสมบูรณ์ มีคุณภาพ

คุณอารีย์ ชี้ว่า ไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนมีลักษณะเด่นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาดตัวที่เหมาะสม เลี้ยงง่าย กินอาหารง่าย เนื้อนุ่มไม่มีไขมันเพราะเลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติ ดังนั้น เหมาะกับการส่งเสริมเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้เพียงพอแต่ต้องหาตลาดรองรับที่ชัดเจน และต้องมีจำนวนไก่เพียงพอกับตลาดด้วยเหตุนี้จึงมีการรวมเพื่อนเกษตรกรที่สนใจเข้ามาสร้างเป็นกลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมือง เพื่อต้องการสร้างผลผลิตให้มีจำนวนเพียงพอหากเปิดตลาดรับซื้อ อีกทั้งยังช่วยเป็นรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านอีกทาง

ในส่วนการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนของคุณอารีย์ได้วางแผนแยกพ่อ-แม่พันธุ์ แล้วคัดเลือกความสมบูรณ์ในทุกระยะ เพื่อต้องการผลิตไข่สำหรับการขยายพันธุ์ โดยมองว่าในช่วงแรกยังไม่จำเป็นต้องการขายไก่เนื้อเพราะยังมีจำนวนน้อยเกินไป อาจมีบ้างแต่ไม่มาก แต่ต้องการผลิตไข่เพื่อขยายพันธุ์ให้มีจำนวนมากพอ

ปัญหาอย่างหนึ่งของกระบวนการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนที่คุณอารีย์กับเพื่อนชาวบ้านพบคือต้องเสียเวลาไปกับการเตรียมหั่นต้นกล้วยเพื่อเป็นอาหารไก่ ซึ่งมองว่าถ้าได้รับการสนับสนุนเครื่องบดอาหารมาจะช่วยให้เกิดความรวดเร็ว สามารถเพิ่มจำนวนไก่ที่เลี้ยงให้ทันกับความต้องการของตลาด อีกทั้งชาวบ้านที่เลี้ยงยังสามารถใช้เวลาไปทำธุระอย่างอื่นได้ ขณะเดียวกัน ยังต้องการตู้ฟักไข่เพื่อช่วยให้สามารถฟักไข่ได้จำนวนมากพอกับความต้องการอีกด้วย

ไก่พื้นเมืองแม่ฮ่องสอนที่คุณอารีย์เลี้ยงไว้ตอนนี้มีจำนวนรวมประมาณ 300 ตัว เลี้ยงในระบบโรงเรือน แล้วยังสร้างโรงเรือนอนุบาลลูกไก่ไว้อีก 1 หลัง เป็นการเลี้ยงแบบจัดระบบให้มีมาตรฐาน โดยลูกไก่จะให้อาหารข้นสำเร็จโดยให้กินคราวละไม่มาก แต่ให้จำนวนวันละ 4 ครั้ง ขณะเดียวกัน จะต้องมีน้ำให้เพียงพอ เป็นน้ำสะอาด อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการดูแลความสะอาดในโรงเรือน

“เมื่อลูกไก่มีขนาดโตจะย้ายเข้าโรงขุนแล้วยังใช้อาหารข้นเลี้ยง แต่ต้องปรับเปลี่ยนสูตร พร้อมกับเสริมด้วยอาหารทางธรรมชาติ โดยมีสูตรการเตรียมอาหารคือใช้อาหารข้นจำนวน 2 กิโลกรัม แกลบอ่อน 1 กิโลกรัม และปลายข้าว 1 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม การนำอาหารจากธรรมชาติมาเป็นอาหารไก่ทั้งหยวกกล้วย แกลบ รำข้าว หรือหญ้าเนเปียร์ที่มีโปรตีนสูง

รวมถึงในบางคราวยังใช้พืชผักจากการปรุงอาหาร แล้วยังไปขุดปลวกตามป่า แนวทางนี้ช่วยให้ลดต้นทุนได้มาก แถมไก่ยังมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง จากคุณค่าที่ได้จากอาหารเหล่านั้น โดยอาหารจากธรรมชาติจะสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามความเหมาะสม ขณะเดียวกัน จะค่อยๆ ลดปริมาณการใช้อาหารข้นลงเพื่อลดต้นทุนให้ได้เต็มที่แต่จะยังรักษาคุณภาพของอาหารไว้”

คุณอารีย์ ชี้ว่า แนวทางการให้อาหารแบบผสมผสานช่วยส่งผลให้ไก่เจริญเติบโตดี มีคุณภาพเนื้อดี ไม่มีไขมัน มีขนาดน้ำหนักตัวพอเหมาะกับความต้องการของตลาดในการนำไปปรุงอาหาร แล้วได้ลองชำแหละไก่พื้นเมืองนำไปขายยังตลาดชุมชนพบว่าได้รับความสนใจจากชาวบ้านดีมาก

โรงเรือนที่คุณอารีย์ใช้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนในแต่ละวันมีลักษณะเปิดและปิดเป็นช่วงๆ อย่างเวลาให้อาหารก็จะปิดเพื่อต้อนไก่ทุกตัวเข้ามากินอาหารให้ครบอย่างเต็มที่ แล้วเมื่อต้องการให้ไก่ผ่อนคลายก็จะเปิด ขณะที่ภายในโรงเรือนยังติดตั้งไฟสีเหลืองเพื่อป้องกันยุงอันเป็นพาหะโรค

สำหรับการดูแลสุขภาพไก่ที่เลี้ยงไว้ทั้งหมดนั้น คุณอารีย์ต้องหยอดยาให้กับไก่ในช่วงที่มีอายุสัปดาห์ที่ 4 เพื่อป้องกันโรคนิวคาสเซิล นอกจากนั้น ยังแบ่งโซนสายพันธุ์ไก่แม่ฮ่องสอนกับไก่ดำลูกผสมแยกจากกัน ขณะเดียวกัน ยังมีการควบคุมดูแลสุขลักษณะภายในโรงเรือนทุกแห่งอย่างถูกต้อง โดยหากพบว่าไก่ตัวใดมีความผิดปกติจะแยกออกมาก่อนเพื่อรอดูอาการ หรือรีบติดต่อขอคำปรึกษาจากทางปศุสัตว์

ทางด้านการตลาด คุณอารีย์ บอกว่า ไก่แม่ฮ่องสอนขายให้กับทางปศุสัตว์จังหวัดในน้ำหนักตัวประมาณ 1.2 กิโลกรัมที่มีอายุประมาณ 4-5 เดือน โดยขายในราคาตัวละประมาณ 120 บาท (13/9/61) ทั้งนี้ เป็นการขายไก่เพื่อนำเข้าโครงการฟู้ดแบงก์ หรือธนาคารอาหาร นอกจากนั้น ยังชำแหละขายที่ตลาดชุมชนในหมู่บ้านสัปดาห์ละครั้ง อีกทั้งยังนำไก่ทุกตัวขายให้กับทางเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี และกลุ่มแปลงใหญ่อีกด้วย

ด้าน คุณวิรุฬกันต์ โลกา นักวิชาการสัตวบาล สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ไก่แม่ฮ่องสอนที่ชาวบ้านเลี้ยงตามชุมชนต่างๆ จะมีการซื้อ-ขาย ยังตลาดรับซื้อหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในพื้นที่ก็จะขายในราคา 120 บาท/กิโลครับ มีลูกประจำมารับไปชำแหละขาย หรือตลาดตามเทศกาล ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ของทุกปีมักซื้อ-ขายกันเป็นตัวในราคาตัวละ 100 บาท มีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ประกอบพิธี เช่น พิธีมัดมือ เรียกขวัญ เลี้ยงไร่เหมืองฝาย เก็บเกี่ยวผลผลิต และที่ตลาดของโครงการธนาคารอาหารชุมชนซึ่งจะขายคืนให้แก่โครงการในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ทั้งนี้ เพื่อโครงการนำมาแปรรูปที่โรงงานแปรรูปท่าโป่งแดงซึ่งมีทั้งไก่สดชำแหละจำหน่ายกิโลกรัมละ 180 บาท

“สำหรับผลิตภัณฑ์ไก่แม่ฮ่องสอนแปรรูปที่ผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคแล้ว ได้แก่ ไก่นึ่งสมุนไพร, ไก่ทอดเกลือ, ไก่ต้มน้ำปลา, ไก่รมควัน, ไก่ข้าวนาสิเลอมัค, ไก่อุ๊บ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะออกจำหน่ายในงานต่างๆ ของจังหวัด เช่น งานปอยเหลินสิบเอ็ด (งานเทศกาลออกพรรษา), งานจัดเลี้ยงแขกผู้ใหญ่ แล้วล่าสุดจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้นำไก่แม่ฮ่องสอนนึ่งสมุนไพรจัดขึ้นโต๊ะเลี้ยงคณะ ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องไก่แม่ฮ่องสอนได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ (053) 612-043
ขอบคุณ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่อำนวยความสะดวกในครั้งนี้

หน่วยบริการทางวิชาการแก่สังคม หน่วยทรัพย์สินทางปัญญาและคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) ลงพื้นที่ดำเนินงานบริการวิชาการแก่สังคมและเดินทางไปยังชุมชนต่างๆ ได้ทราบถึงวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งมีการประกอบอาชีพแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ กระทั่งได้ไปร่วมงานกับชาวบ้าน ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งชาวบ้านในแถบนี้มีอาชีพทำเกษตรกรรม ปลูกกล้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อชาวบ้านตัดผลกล้วยจำหน่ายแล้ว จะเหลือลำต้นกล้วยที่ปล่อยให้เน่าเสียเป็นจำนวนมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด

ผศ. วรพงค์ บุญช่วยแทน อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย ได้คิดค้นวิธีการทำผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดสารพิษ ที่ทำมาจากเส้นใยต้นกล้วย โดยคิดหาวิธีการใช้ประโยชน์จากลำต้นกล้วยที่เหลือทิ้ง ให้เกิดมูลค่า สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนมากที่สุด โดยผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำมาจากเส้นใยกล้วยนั้นปลอดสารพิษซึ่งต่างจากการใช้ผลิตภัณฑ์กล่องโฟมที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ซึ่งกล่องโฟมเมื่อถูกนำไปใช้บรรจุอาหารที่ร้อนจัด และอาหารทอดที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ จะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้สารอันตรายแตกตัวออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคร้ายในอนาคต

การพัฒนาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากเส้นใยต้นกล้วยเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารมีกระบวนการผลิต 2 ขั้นตอนโดยขั้นตอนแรกเป็นขั้นตอนการเตรียมเส้นใย เริ่มจากการเลือกลำต้นกล้วยที่เก็บผลผลิตแล้ว ลำต้นสีเขียวสด แกะกาบกล้วยออกจากลำต้น ตัดให้ได้ความยาวขนาดไม่เกิน 3 นิ้ว ต่อชิ้น นำไปต้มให้เปื่อยเสร็จแล้วล้างน้ำ นำกาบกล้วยมาปั่นกับเครื่องปั่นให้กาบกล้วยเป็นเส้นฝอย นำไปเทในภาชนะและตากแดดให้แห้ง

ขั้นตอนที่ 2 เป็นขั้นตอนการอัดขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ โดย ผศ. วรพงค์ ได้สร้างเครื่องอัดขึ้นรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำมาอัดเส้นใยกาบกล้วย ซึ่งได้ออกแบบกลไกการทำงานของเครื่องประกอบไปด้วย 5 ส่วนสำคัญ คือ ชุดโครงเครื่อง ชุดส่งกำลังในการอัดขึ้นรูป ชุดให้ความร้อนแก่แม่พิมพ์ ชุดแม่พิมพ์ และชุดควบคุมการทำงานของเครื่อง

มีหลักการทำงานโดยใช้แม่พิมพ์ในการอัดให้มีลักษณะเป็นรูปจาน โดยใช้ฮีตเตอร์แผ่นให้ความร้อนโดยตรงกับแม่พิมพ์ และสามารถปรับระดับอุณหภูมิของแม่พิมพ์ได้เป็นอย่างดี และใช้แรงกดจากกระบอกไฮดรอลิก เมื่อฮีตเตอร์ให้ความร้อนกับแม่พิมพ์จนถึงอุณหภูมิที่ได้ กดแม่พิมพ์เพื่อขึ้นรูปจานให้มีลักษณะตามต้องการ

โดยชุดผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดสารพิษจากเส้นใยต้นกล้วยที่ทำการทดลองนั้นมี 2 แบบ คือ ชุดถ้วย และชุดถาดหลุม ซึ่งมีวิธีการทำที่แตกต่างกัน โดยวิธีการทำชุดถ้วยจะนำเส้นกาบกล้วยฝอยแห้งใส่ในภาชนะแป้นพิมพ์ แล้วกดอัดให้ขึ้นรูปถ้วย ส่วนวิธีการทำชุดถาดหลุมจะนำเส้นกาบกล้วยฝอยแห้งใส่ในภาชนะ นำมาอัดให้เป็นแผ่นบางๆ ก่อน แล้วจึงนำมาอัดขึ้นรูปให้เป็นชุดถาดหลุม

ผศ. วรพงค์ กล่าวว่า ชุดผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดสารพิษจากเส้นใยต้นกล้วย จะมีลักษณะเด่นเฉพาะด้วยลายของเส้นใยกาบกล้วย ภาชนะไม่มีสารพิษเจือปน ย่อยสลายง่าย ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม”

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ. วรพงค์ บุญช่วยแทน อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย โทรศัพท์ (074) 317-100 และ (081) 569- 7303