ตื่นตากับเทคโนโลยีเกษตรจากยุโรปสู่เอเชียการจัดงาน

“ฮอร์ติ เอเชีย 2017” ในปีนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จสูงกว่าเดิม เพราะมียอดผู้เข้าชมงานที่เป็นชาวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่า 32% เมื่อเทียบกับ ปี 2015 เพราะมีบริษัทชั้นนำจากทวีปยุโรปตัดสินใจเข้ามาเปิดตัวธุรกิจและนำเสนอนวัตกรรมที่เหมาะกับพืชเมืองร้อน เช่น นวัตกรรมการปลูกผักในโรงเรือนปิด, ผักกรีนโอ๊คสายพันธุ์ใหม่, หัวหอมแดงสำหรับพืชเขตร้อน ที่ให้ผลผลิตรวดเร็วกว่าปกติ, ระบบน้ำจากประเทศอิสราเอล

หากใครได้มีโอกาสเดินชมงานคงจะตื่นตาตื่นใจกับนวัตกรรมใหม่ทางการเกษตรอย่างครบวงจรที่ถูกนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เช่น การปรับปรุงพันธุ์และเมล็ดพันธุ์พืช, เทคโนโลยีการเพาะปลูก, การเก็บรักษา, ระบบความเย็น, บรรจุภัณฑ์, การประมวลผล น้ำหนัก และการตีฉลาก, เทคโนโลยีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์, การให้คำที่ปรึกษาด้านโลจิสติกและการขนส่ง, เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร และเทคโนโลยีเรือนกระจก

การจัด “งานอะกริเทคนิก้า เอเชีย 2017” แม้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย แต่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากนักธุรกิจชั้นนำนานาประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย มีผู้ประกอบการทั้งสิ้นกว่า 89 บริษัท จาก 20 ประเทศ ภายในงานจัดแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรและรถแทรกเตอร์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน เพาะปลูก หยอดเมล็ดพันธุ์ ระบบน้ำ การเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการเก็บรักษา ขนส่ง และการผลิตพลังงานชีวภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่การปลูกพืชเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง มันฝรั่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ พาวิลเลี่ยนจากประเทศไต้หวันและจีนที่ขนกว่า 10 บริษัท มานำเสนอนวัตกรรมภายในงาน ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ชมงานมากเป็นพิเศษ คาดว่า 3 วัน ของการจัดงาน ทั้งฮอร์ติ เอเชีย และ อะกริเทคนิก้า เอเชีย 2017 จะนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยราวหมื่นล้านบาท

โชว์นวัตกรรมพืชสวนไทย

วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค และ ดีแอลจี อินเตอร์เนชันแนล ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ ในลักษณะพาวิลเลี่ยนนานาชาติ ได้แก่ พาวิลเลี่ยนจากเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน ไต้หวัน ส่วนบู๊ธจากภาครัฐบาลของไทย จัดในนาม “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ได้นำเสนอผลงานของกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าชมงานจากนานาประเทศ

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำเสนอแนวคิด “การทำเกษตรแปลงใหญ่ ก้าวไกลสู่สากล” ยกตัวอย่าง “การทำส้มโอแปลงใหญ่ของตำบลบางนางลี่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม” ที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิก 137 ราย 137 แปลง บนเนื้อที่ 510 ไร่ ที่ใช้ปลูกส้มโอพันธุ์ “ขาวใหญ่” เป็นพันธุ์การค้า ส้มโอขาวใหญ่เป็นพืชท้องถิ่นแห่งนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว ผลผลิตรวม 760 ตัน ต่อปี ปัจจุบันสมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว จำนวน 64 ราย โดยมีผู้จัดการแปลงคือ นายประจิม เนียมสุวรรณ์ เกษตรอำเภออัมพวา และ นายอำนาจ สังขะกุล เกษตรกรเจ้าของแปลง

ตำบลบางนางลี่ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองกระจายทั่วพื้นที่ ทำให้เหมาะสมแก่การทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สวนไม้ผล” เนื่องจากมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้ อากาศเย็นสบาย ฤดูหนาวไม่หนาวจัด ในขณะที่ฤดูร้อนก็ไม่ร้อน กว่า 20 ปีมาแล้วที่เกษตรกรส่วนใหญ่ในตำบลบางนางลี่ ปลูกไม้ผล ปลูกมะพร้าว ร้อยละ 60 ปลูกส้มโอ ร้อยละ 32 ปลูกลิ้นจี่และอื่นๆ อีก ร้อยละ 8 และมีอุตสาหกรรมครัวเรือน เช่น ทำน้ำตาลมะพร้าว พื้นที่แห่งนี้เหมาะสมต่อการปลูกไม้ผล โดยปลูกในลักษณะร่องสวน ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง เนื่องจากเป็นดินตะกอนปากแม่น้ำแม่กลอง เหมาะสำหรับปลูกส้มโอ คุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด

เกษตรกรมุ่ง “ลดต้นทุนการผลิต” โดยใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี “มุ่งเพิ่มผลผลิต” โดยเน้นการตัดแต่งกิ่งไว้ตอ และลอกเลน “พัฒนาเพิ่มมูลค่าผลผลิต” โดยผลิตสินค้าในระบบ GAP ห่อผลส้มโอด้วยกระดาษคาร์บอน เน้นผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยวางแผนเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ตรงกับช่วงตรุษจีนและสารทจีน ขณะเดียวกันกลุ่มเกษตรกรยังวางแผนซื้อปัจจัยการผลิตร่วมกัน รวบรวมและคัดแยกผลผลิตก่อนการจำหน่าย

ทั้งนี้ พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ “ส้มโอแปลงใหญ่ของตำบลบางนางลี่” สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 16% จากเดิมที่มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ไร่ละ 4,755 บาท เหลือแค่ ไร่ละ 4,000 บาท ขณะเดียวกันได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20% จากเดิมที่เคยทำได้ 1.5 ตัน ต่อไร่ ปรับเพิ่มเป็น 1.8 ตัน ต่อไร่ ภายหลังปรับตัวเข้าสู่ระบบ GAP สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตเป็น 30 บาท ต่อกิโลกรัม และพัฒนาสินค้าเป็นเกรดพรีเมี่ยม 120-130 บาท ต่อผล (เฉลี่ยมูลค่าเพิ่ม 180 บาท ต่อผล) ทั้งนี้เพราะการวางแผนบริหารงานที่เป็นระบบ ช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตลดลง 755 บาท ต่อไร่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20% ราคาเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 60%

ด้านกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมมือกับชมรมมะพร้าวแห่งเอเชียและแปซิฟิค (Asian and Pacific Coconut Community-APCC) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO/RAP) จัดประชุมวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมะพร้าวด้านสุขภาพและความงาม ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของนักวิจัย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าว เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องกับน้ำมันมะพร้าวมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและสวนมะพร้าวของประเทศไทยในอนาคต

เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายมงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการบาดของหนอนหัวดำในส่วนมะพร้าวทุกอำเภอกว่า 6 หมื่นไร่ มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากสภาวะอากาศร้อนจัดและมีสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่อง ทำให้หนอนหัวดำมะพร้าวมีการขยายพันธุ์และระบาดอย่างรวดเร็วขั้นวิกฤต มีผลกระทบกับการบริโภคภายในประเทศ ผลผลิตมีราคาสูงถึงผลละ 23 บาท นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวในการส่งออกต้องสั่งมะพร้าวนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทดแทนผลผลิตภายในประเทศ

นายมงคล กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาด้วยการปล่อยแตนบราคอนเพื่อจำกัดหนอน และชาวสวนมะพร้าวได้ตัดทางใบที่ถูกหนอนทำลายนำไปเผาไฟ แต่การระบาดยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรจึงใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศ เบื้องต้นคาดว่ามีมะพร้าวความสูงไม่เกิน 12 เมตร ถูกหนอนหัวดำ ทำลายแล้วจำนวน 1 ล้านต้น และต้นที่สูงกว่า 12 เมตร อีก 3 ล้านต้น ล่าสุดได้แจ้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้านเร่งสำรวจเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำจัดหนอนหัวดำด้วยวิธีผสมผสานโดยการมีส่วนอย่างยั่งยืน หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ใช้งบประมาณกว่า 287 ล้านบาท ดำเนินการทั้ง 26 จังหวัดที่มีการระบาด

นายสายชล จ้อยร่อย เจ้าของธุรกิจมะพร้าวขาว ผู้รับซื้อมะพร้าวรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ ต.อ่างทอง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสวนมะพร้าวกว่า 2,000 ไร่ และมีชาวสวนมะพร้าวจำนวนมากขายผลผลิตเพื่อนำมาทำมะพร้าวขาวส่งโรงงานกะทิ ปัจจุบันราคามะพร้าวขาวรับซื้อหน้าโรงงานที่กิโลกรัมละ 42 บาท แพงสุดในรอบ 100 ปี เนื่องจากผลผลิตมีน้อย หลังจากมีการบาดของหนอนหัวดำนานกว่า 15 ปี แต่หน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขไม่ตรงจุด หลายรัฐบาลไม่เอาจริงในการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นที่ผ่านมาในระดับจังหวัดมีการจัดซื้อสารบีที ที่ไม่มีคุณภาพกรมวิชาการเกษตรไม่ได้รับรองผลิตภัณฑ์ ทำให้ไม่สามารถกำจัดหนอนหัวดำได้ โดยสูญเสียงบประมาณหลายร้อยล้านบาท และชาวสวนเสียโอกาสในการทำกิน ขณะที่มะพร้าวสร้างรายได้ให้ประเทศปีละหลายพันล้านบาท

“การแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำที่ผ่านมาได้ใช้สารอมาเม็กติน ผลิตจากประเทศจีน ยอมรับว่าใช้ได้ผลดีไม่มีสารตกค้าง มีราคาถูกกว่าสารอิมาเม็กติน เบนโซเอท ที่กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการจัดซื้อกว่า 3 เท่า และทราบว่ามีเอกชนขายผูกขาดเพียงรายเดียว ซึ่งหลายฝ่ายมีข้อข้องใจว่าเหตุใดหน่วยงานรัฐไม่จัดซื้อสารเคมีที่มีราคาต่ำกว่าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งประเทศ” นายสายชลกล่าว

นายอำนวย ปะติเส สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นมา ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่ระยะที่ 2 ของการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน การปฏิรูปก็คือการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างหลายๆเรื่องที่ต้องแก้ ประเทศไทยเป็นประเทศสินค้าเกษตรประเด็นหลักของการปฏิรูปต้องมุ่งไปสู่ภาคเกษตรอย่างแน่นอน ในภาคเกษตรนั้นตัวแทนของเกษตรกรที่กฎหมายรองรับอยู่นั่นคือ ‘สภาเกษตรกรแห่งชาติ’ ในระดับชาติ และ ‘สภาเกษตรกรจังหวัด’ในระดับจังหวัด เพราะฉะนั้นการปรับตัว การติดตามสถานการณ์ในเชิงนโยบายของรัฐเพื่อที่จะเข้าไปสู่การแก้ปัญหาในระยะที่ 2 การปฏิรูปโครงสร้างระยะที่ 2 ก็มีความจำเป็นที่เกษตรกรต้องคอยติดตามสถานการณ์

ส่วนของสภาเกษตรกรฯได้มีการประชุมในคณะกรรมการซึ่งมี 15 ชุด ในแต่ละชุดมุ่งเน้นไปสู่ปัญหาภาคเกษตรชุดของตัวเองและประสานงานกับภาครัฐเพื่อที่จะนำกฎหมาย นโยบายของราชการต่างๆของรัฐที่ออกมา ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความอยู่ดี กินดี ได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายและนโยบายเหล่านั้น การปฏิรูประยะที่ 2 นี้จะเดินหน้าไปจนกระทั่งมีการเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งเสร็จก็จะเข้าสู่การปฏิรูประยะที่ 3 แล้วก็จะเป็นการส่งมอบงานของรัฐบาลคสช.ไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป ช่วงระยะเวลานี้ทุกคนจะต้องเอาใจใส่และปรับตัวเอง

ในด้านของสภาเกษตรฯเองจะยังคงอยู่เคียงข้างเกษตรกรด้วยมีองค์กรอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล และสมาชิกในระดับหมู่บ้านหลายแห่งจะนำพาเกษตรกรไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ยั่งยืน โดยช่วงนี้บทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องที่สำคัญคือการออกกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2560 เกษตรกรที่ต้องทำสัญญากับผู้ซื้อทุกชนิดสินค้าเกษตรก็จะอยู่ในกลไกกฎหมายซึ่งเป็นการจัดระบบการผลิตกับระบบการตลาดให้สอดคล้องกันและป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ

อีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยคือการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบของเกษตรกรซึ่งเป็นนโยบายใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องขจัดไม่ให้มีปัญหาเงินนอกระบบอีกต่อไป หากเกษตรกรมีปัญหาเรื่องหนี้สินทั้งในและนอกระบบให้สภาเกษตรกรฯในพื้นที่ประสานให้ความช่วยเหลือได้ เพราะรัฐบาลได้ทำการวางระบบปรับโครงสร้างแก้ปัญหาไว้ให้เกษตรกรแล้ว สำหรับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของน้ำดื่ม น้ำใช้ ซึ่งสภาเกษตรกรฯได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานหน่วยปฏิบัติการเพื่อเติมน้ำดื่ม น้ำใช้ในพื้นที่ของเกษตรกรจากแหล่งน้ำที่อยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ โดยเกษตรกรขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดในพื้นที่ของท่าน

“ในทุกๆปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรสามารถพึ่งพาสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ เพราะสภาเกษตรกรฯจะอยู่เคียงข้างเพื่อเพิ่มศักยภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปเพื่อเกษตรกรอย่างแท้จริง” นายอำนวยกล่าวปิดท้าย

การยางแห่งประเทศไทย ประกาศจัดสรรทุนส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยางพารา ประจำปี 2561 ตามมาตรา 49(4) เดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ มุ่งพัฒนาและส่งเสริมการวิจัยยางพาราทั้งระบบครบวงจร

ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุน และจัดให้มีการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย พัฒนา และเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวยางพารา ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยางพารา มาตรา 49 (4) ด้านการผลิต เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม

ประกาศการจัดสรรทุนส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยางพารา ปีงบประมาณ 2561 ให้ผู้ที่สนใจสามารถเสนองานวิจัย ที่มีความสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ ของ กยท. ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างรายได้จากการบริการและดำเนินการ ซึ่งจะเป็นการวิจัยเรื่องของการหารายได้จากการประกอบธุรกิจจากทรัพย์สินเดิมที่มีอยู่ การสร้างรายได้จากโอกาสในธุรกิจใหม่ ลดค่าใช้จ่ายและปรับโครงสร้างหนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนายางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่คุณค่า

ซึ่งกลยุทธ์ที่ใช้จะต้องสร้างกลไกเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคายาง สามารถสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ พร้อมทั้งยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแวดวงยางพาราทั้งหมด ยุทธศาสตร์ที่ 3 การวิจัยและพัฒนาเพื่ออนาคต เป็นการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย การถ่ายทอดงานวิจัยยาง รวมไปถึงการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวิจัยและพัฒนา ยุทธศาสตร์ที่ 4 การหลอมรวมองค์ให้เป็นหนึ่ง เพื่อการบริหารมุ่งสู่ความเป็นเลิศ มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบสารสนเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร และการหลอมรวมเพื่อการเป็นหนึ่ง

ดร. ธีธัช กล่าวต่อว่า กยท. หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นเพื่อมุ่งเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเกษตรกร ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้ที่สนใจในเรื่องยางพารา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การผลิต การแปรรูป อุตสาหกรรม การตลาด การประกอบธุรกิจ เพื่อเป็นการยกระดับราคายางให้มีเสถียรภาพ รวมไปถึงการวิจัยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการองค์กรเพื่อความเป็นหนึ่งเดียว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบขอบเขต คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณา ข้อเสนองานวิจัย ได้ที่หน้าเว็บไซด์ www.raot.co.th และนำเสนอข้อเสนองานวิจัย มาที่กองบริหารงานวิจัย สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย อีเมล์ : researchraot@gmail.com ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ก่อนเวลา 16.30 น.

สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป คาดการณ์ส่งออกทั้งปีขยายตัว 5% มูลค่าแตะ 2.1 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมินไตรมาสแรกลดลง เชื่อราคาน้ำมันผ่านจุดต่ำสุด แนวโน้มขาขึ้นหนุนกำลังซื้อประเทศผู้ผลิต จับตานโยบายการค้าอเมริกากระทบเป้าหมาย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า สมาคมได้หารือกับสมาชิกเพื่อทบทวนและดูทิศทางการส่งออกอาหารสำเร็จรูปในปีนี้ โดยยังคงคาดการณ์ว่า ในปี 2560 การส่งออกอาหารสำเร็จรูปของไทยในแง่ปริมาณจะยังขยายตัวเฉลี่ยได้ 5% จากปี 2559 หรือมีปริมาณส่งออกถึง 3 ล้านตัน ขณะที่มูลค่าคาดหวังว่าจะขยายตัวได้ 5% หรือมีมูลค่า 2.1 แสนล้านบาทเช่นกัน ซึ่งจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากค่าเงินบาทไม่แข็งเกินไปนักเมื่อเทียบกับภูมิภาค และอัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกไตรมาส 1 ปี 2560 ของกลุ่มอาหารสำเร็จรูปหดตัวเล็กน้อยที่ 2+3% เนื่องจากการส่งออกอาหารทะเลลดลงไปมาก หดตัว 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เพียงเกิดขึ้นในปีนี้ แต่เกิดขึ้นมา 2 ปีแล้ว จากปัญหาการทำประมงและขาดวัตถุดิบที่จะแปรรูปส่งออก ขณะที่การส่งออกกลุ่มผักผลไม้กระป๋อง หดตัว 3% กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานหดตัว 1-3% อย่างไรก็ตาม มีสับปะรดกระป๋องช่วยทำให้ภาพรวมยังไม่หดตัวมากนัก ที่ส่งออกบางกลุ่มหดตัวเพราะภาพรวมตลาดโลกโดยรวมยังไม่ค่อยดีนัก เศรษฐกิจไม่ค่อยฟื้นตัว ถึงขนาดมีคำสั่งซื้อเข้ามาในปริมาณที่ทำให้ขยายตัว

“อย่างไรก็ตามยังมอบว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และส่งออกจะยังขยายตัว เพราะมีโอกาสที่ไตรมาส 2 นี้จะขยายตัวได้ จากปีนี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มขาขึ้น และผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปีที่ผ่านมา ประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีกำลังซื้อดีขึ้นมาทดแทนตลาดอื่นๆ ขณะนี้ตลาดเอเชียรวมถึงอาเซียนยังดี ตลาดสหรัฐก็อยู่ตัว ตลาดตะวันออกกลางก็อยู่ตัว ตลาดออสเตรเลียไม่แย่ แต่ตลาดสหภาพยุโรปไม่ค่อยดีนักประกอบกับผู้ส่งออกอาหารสำเร็จรูปได้ปรับตัวมาตลอด ด้วยการกระจายส่งออกไปยังตลาดหลักในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ลดการกระจุกตัว และหาตลาดใหม่ทดแทน เช่น ตลาดแอฟริกา ตลาดอาเซียน เป็นต้น ซึ่งจะดึงให้ส่งออกภาพรวมยังไปได้ โดยหวังว่าปีนี้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 35 บาท ต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันเฉลี่ย 40-60 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล” นายวิศิษฐ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับการติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ก็ยังติดตามและประเมินอยู่ว่าจะกระทบกับการส่งออกอาหารสำเร็จรูปมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐอยู่ที่ 10% พอๆ กับกลุ่มตลาดอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ผู้ประกอบการจึงพยายามกระจายตลาดและหาตลาดอื่นทดแทนลดความเสี่ยง สำหรับการส่งออกอาหารสำเร็จรูป ปี 2559 มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท หรือเติบโต 5% ส่วนปริมาณประมาณ 2.85 ล้านตัน เติบโต 4% แบ่งเป็นกลุ่มหลัก ดังนี้ คือ กลุ่มทูน่าและอาหารทะเล มีสัดส่วน 45% กลุ่มผัก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 20% ถัดมากลุ่มอาหารพร้อมรับประทานและซอสปรุงรส 15% และอื่นๆ เช่น ข้าวโพดหวาน

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดงาน “เทศกาลผลไม้และของดีเกาะช้าง” ซึ่ง นายกำธร เวหน นายอำเภอเกาะช้าง ร่วมกับเกษตรกร บริษัท ประชารัฐร่วมใจ จ.ตราด จำกัด และ ททท. สำนักงานตราด จัดขึ้นที่หน้าอำเภอเกาะช้าง โดยมีการจำหน่ายทุเรียนเกาะช้างพันธุ์ชะนีที่มีรสชาติอร่อยเป็นที่นิยม ซึ่งเกษตรกรได้ยกระดับคุณภาพพัฒนาเป็นทุเรียนระดับพรีเมียม ทำให้ราคาดี มีการจัดการเรื่องการตลาด

นายชาญนะ กล่าวว่า เกาะช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวปีละกว่า 1.5 ล้านคน จังหวัดต้องการยกระดับและพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความหลากหลาย ขณะที่ทุเรียนเกาะช้าง โดยเฉพาะทุเรียนชะนี มีคุณภาพเป็นที่รู้จัก หลังเกษตรพัฒนาคุณภาพและประชาสัมพันธ์ทางการตลาด

“จังหวัดตั้งราคากิโลกรัมละ 250 บาท และให้ บริษัท ประชารัฐสามัคคี จ.ตราด จำกัด เข้ามาสร้างตลาด นำทุเรียน 2,800 ลูก ไปเปิดตลาดที่ห้างเดอะมอลล์เพื่อยกระดับทุเรียนเกาะช้าง ซึ่งชาวสวนทุเรียนต้องรักษาคุณภาพ ไม่ตัดทุเรียนอ่อนขาย”

นายวุฒิพงษ์ รัตนมนต์ นายกสมาคมชาวสวนจังหวัดตราด และประธานหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่า ช่วง 1-2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา เกษตรอำเภอเขาสมิงตรวจเข้มพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อทุเรียนจากชาวสวนโดยตรง มีการจับกุมพ่อค้าที่ตัดทุเรียนอ่อนจำนวนมาก ล่าสุดมีการจับกุมรถยนต์ 9 คัน ขนทุเรียน 25 ตัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อชาวสวนผลไม้อย่างมาก เพราะพ่อค้าเหล่านี้ซื้อแล้วส่งไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความต้องการสูง ทำให้พ่อค้าจีนปฏิเสธการรับซื้อทุเรียนไทย ล่าสุดราคาทุเรียนลดลงเรื่อยๆ เพราะปัญหาทุเรียนอ่อน ในประเทศจีนพ่อค้าได้รับผลกระทบจากทุเรียนอ่อน บางรายขาดทุนเป็นสิบล้านบาท

“ต้องควบคุมคุณภาพ balhakm.net ไม่ยอมให้พ่อค้านำเงินมาให้แล้วนำทุเรียนไม่มีคุณภาพไป อย่าให้ล้งหรือพ่อค้ามาควบคุม ควรรวมตัวกันตั้งสหกรณ์ขายเอง สร้างแบรนด์สินค้าเอง เพื่อต่อรองกับพ่อค้า ไม่เช่นนั้นชาวสวนจะถูกพ่อค้าเหล่านี้ทำลาย ขอบคุณจังหวัดและอำเภอเขาสมิงที่จับกุมพ่อค้าทุเรียนอ่อน เพราะไม่ยุติธรรมกับชาวสวนที่ทำดีแต่ต้องมาได้รับผลกระทบ อยากให้เกษตรกรอดทนสัก 1-2 ปี ผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ ต่อไปจะดีขึ้น เพราะใครๆ ก็อยากซื้อทุเรียนที่มีคุณภาพ”

สหประชาชาติ คาดปี ’68 ประชากรวัยเด็กโลกทะลุ 2.01 พันล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของโลก กระทรวงพาณิชย์ชี้ช่องโอกาสทองผู้ส่งออกเจาะตลาดแฟชั่นแม่และเด็ก ระบุ 3 สถานะดึงดูดกลุ่มสินค้าบริการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ตลาดสินค้าและบริการสำหรับแม่และเด็ก โดยสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ว่า จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พบว่า ปี 2558 ประชากรวัยเด็ก (อายุระหว่าง 0-14 ปี) มีจำนวนสูงถึงราว 1.92 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1.98 พันล้านคน ในปี 2563 และพุ่งแตะระดับ 2.01 พันล้านคน ในปี 2568

“ที่ผ่านมาอัตราการเกิดของเด็กลดลงในทุกประเทศทั่วโลก ทำให้หลายประเทศมีนโยบายให้เพิ่มจำนวนประชากร เช่น รัสเซีย ให้สิทธิพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีบุตรตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา หรือประเทศจีนที่เปลี่ยนจากนโยบายบุตรคนเดียวเป็นให้มีบุตร 2 คนได้ เป็นต้น สถิติที่น่าสนใจในประเทศพัฒนาแล้ว คือแม่ที่มีบุตรคนแรกจะมีอยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปี และมีรายได้สูง” นางมาลี กล่าว

ตลาดที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ที่แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดในระดับปานกลางของโลก แต่ส่วนใหญ่ครอบครัวที่มีบุตรจะเป็นครอบครัวที่มีรายได้สูง ขณะที่ตลาดที่มีศักยภาพรอง ได้แก่ ตลาดกลุ่มบริกส์ (BRICs) อาทิ จีน อินเดีย และบราซิล ที่มีอัตราการเกิดสูงแต่รายได้ยังไม่สูงนัก ประกอบกับการแข่งขันในตลาดค่อนข้างมาก ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าและไม่เน้นคุณภาพ

นอกจากนี้ ข้อมูลจากหอการค้าไทยพบว่า อินเดียมีประชากรวัยเด็กมากกว่า 360 ล้านคน รองลงมาเป็นจีน 230 ล้านคน ไนจีเรีย 98 ล้านคน ส่งผลให้สินค้าและบริการสำหรับแม่และเด็กเป็นที่ต้องการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าช่วงเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ อาทิ ชุดตรวจสอบคุณภาพทารกในครรภ์ ชุดคลุมท้อง เป็นต้น

ส่วนระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ วิตามินและอาหารเสริม อาหารเพื่อสุขภาพ/ออร์แกนิก ผลิตบำรุงผิวจากธรรมชาติ เป็นต้น

นางมาลี กล่าวอีกว่า จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ในการเร่งพัฒนาสินค้าเพื่อขยายตลาดสู่กลุ่มแม่และเด็กนี้ โดยสินค้าและบริการของไทยที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย เสื้อผ้าและรองเท้าเด็ก ของเล่นเด็ก ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประจำวันของเด็ก เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก อาหารเสริม ฯลฯ