ต่อยอดพัฒนาชุดตรวจไส้เดือนฝอย เคลื่อนที่ เนมา คิท (NEMA KIT)

ดร. นุชนารถ ได้นำเครื่องตรวจ อัลตราโซนิก มาพัฒนาเป็นเครื่องเล็กๆ เป็นชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนามเพื่อให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชทั่วประเทศ และหน่วยงานกักกันพืชนำเทคนิคและชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนาม เรียกว่า NEMA KIT ไปใช้ตรวจแยกไส้เดือนฝอย โดยจัดเป็นชุดเครื่องมือแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากที่มีขนาดเล็ก พร้อมติดตั้ง Mini microscope กำลังขยาย 50 เท่า

ใช้ใส่ตรวจค้นหาไส้เดือนฝอยอย่างง่าย ชุดเครื่องมือดังกล่าวมีคู่มือการใช้ แสดงวิธีการแยกจำแนกไส้เดือนฝอยอย่างง่าย ที่ผู้นำไปใช้สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการ เป็นเครื่องมือขนาดเล็กผลิตได้ในประเทศ ราคาถูก นำไปใช้ตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชในภาคสนามได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่ด่านตรวจพืชที่นำเข้าและส่งออก เพื่อตรวจพืชต้องสงสัยที่ปนเปื้อนไส้เดือนฝอยศัตรูพืชกักกัน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการตรวจในห้องปฏิบัติการ

ดร. นุชนารถ กล่าวอีกด้วยว่า ได้มีผู้ประกอบการเลี้ยงและส่งออกพรรณไม้น้ำ ได้สั่งทำเครื่องตรวจหาไส้เดือนฝอยชุดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีที่เราคิดค้นขึ้นมาใช้ค้นหาไส้เดือนฝอยในฟาร์มของตนเอง อย่างไรก็ตาม ก่อนจะส่งออกก็จะต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมวิชาการเกษตรตามระเบียบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีการส่งกลับและถูกทำลาย

ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ

เครื่องค้นหาไส้เดือนฝอยเคลื่อนที่ ชุด NEMA KIT (เนมา คิท) ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ เนื่องจากเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ของ EMA TOLOGY ในระดับสากล และได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ (Australasian Plant Pathology Journal) ซึ่งมีขั้นตอนเดียวในการแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพืช โดยใช้เวลาเพียง 20 นาที ในขณะที่วิธีอื่นๆ ใช้เวลานาน 2-48 ชั่วโมง สามารถนำไปตรวจหาไส้เดือนฝอยและตรวจรับรองแหล่งผลิตในภาคสนาม

ใช้เวลาประดิษฐ์เครื่องตรวจหาไส้เดือนฝอยชุดนี้อยู่ 6 เดือน ดร. นุชนารถ บอก เพราะเรามีเทคโนโลยีเดิมอยู่แล้ว งานประดิษฐ์คิดค้นชิ้นนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ระดับโลก ไม่เคยมีการตรวจค้นหาไส้เดือนฝอยโดยใช้คลื่นเสียงมาก่อน และเราก็ยังสามารถผลิตเป็นชุดเคลื่อนที่ได้อีกด้วย

ดร. นุชนารถ บอกอีกด้วยว่า ชุดตรวจสอบไส้เดือนฝอยเคลื่อนที่นี้ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประเทศออสเตรเลียได้เชิญเราไปเป็นวิทยากร สอนการใช้อุปกรณ์ชุด NEMA KIT และยังได้นำเสนอในที่ประชุมไส้เดือนฝอยระดับโลกที่ แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นการประชุมเกี่ยวกับไส้เดือนฝอยล้วนๆ

นอกจากนั้น ออสเตรเลียยังให้ทุนสนับสนุนประเทศต่างๆ ในอาเซียน ได้แก่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ฯลฯ มาเรียนรู้เทคโนโลยีการใช้ชุดตรวจค้นหาไส้เดือนฝอยเคลื่อนที่กับเรา

ชุดตรวจค้นหาไส้เดือนฝอยเคลื่อนที่ หรือภาคสนาม NEMA KIT ได้จดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังได้รับรางวัลประเภทสิ่งประดิษฐ์คิดค้นระดับดีเด่น ประจำปี 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ชุดตรวจค้นหาไส้เดือนฝอยเคลื่อนที่ NEMA KIT ของ ดร. นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร สามารถสร้างชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย และเลื่องลือไปในระดับโลก นับแต่ได้มีชุด NEMA KIT มาใช้ในการตรวจหาไส้เดือนฝอยในพรรณไม้น้ำ ไม่ปรากฏว่า มีการทักท้วงเกี่ยวกับไส้เดือนฝอยในพรรณไม้น้ำจาก EU อีกเลย

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องตรวจหาไส้เดือนฝอยในพรรณไม้น้ำ หรือ ชุด NEMA KIT ได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ โทร. (02) 940-7432, (093) 580-3455 หรือ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-9586

หลายครั้งที่ได้มีโอกาสเดินชมตลาดยามเช้า ชาวบ้านมานั่งขายผักพื้นบ้านนานาชนิด ตามฤดูกาล พบปะพูดคุยทำความรู้จัก ทำให้เรารู้จักสินค้าต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร พืชผลต่างๆ หลายอย่างไม่คุ้นตา หลายอย่างดูเป็นของแปลกใหม่ ทั้งๆ ที่ทุกอย่างที่ชาวบ้านเอามาวางขาย ล้วนแต่เป็นของพื้นบ้านเราที่มีมานานนม ความประหลาดใจมักจะเกิดขึ้นได้เสมอ บางครั้งเราไม่แน่ใจว่า ของสิ่งนี้เราเคยกินมาก่อนแล้ว ซึ่งตอนนั้นไม่คิดว่าจะมีการนำออกมาวางขายให้คนซื้อหาไปทำกิน เช่น สินค้าชนิดนี้ “ถั่วพื้นเมือง” เอาแค่ชนิดสองชนิด ในบรรดาถั่วพื้นเมืองหลายๆ อย่าง เช่น ถั่วพู ถั่วแปบ ถั่วแระหรือถั่วเหลืองฝักสด ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ วันนี้มีถั่วพื้นเมืองที่หลายพื้นที่เรียกต่างกันไป

“ถั่วพุ่ม” ลำต้นเลื้อย สูง 1-4 เมตร ใบแบ่งเป็น 3 ใบย่อย ใบย่อยยาว 4-6 เซนติเมตร กว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ดอกสีขาว หรือม่วง หรือเหลือง ฝักกลมยาวคล้ายถั่วฝักยาว ผิวฝักสีเขียวขาวเมื่ออ่อน มีชนิดแก่แล้วฝักสีขาว กับฝักสีม่วงแก่ ม่วงอมแดง แบบเมล็ดในขาวก็มี เมล็ดแดง ชมพู ม่วงแดง ก็มี ขึ้นกับพันธุ์ที่หาได้แต่ละพื้นที่ เป็นถั่วที่ขึ้นตามรั้ว เถาเลื้อยยาว ใบใหญ่ ฝักเหมือนถั่วฝักยาว เป็นถั่วพื้นเมืองที่นิยมปลูกกันแถบภาคเหนือ ภาคอีสาน ใช้แทนถั่วฝักยาวได้ มีชนิดพันธุ์เตี้ยเรียก “ถั่วนั่ง” คือถั่วที่ไม่ขึ้นค้าง ก็เป็นที่นิยมปลูกแพร่หลาย เพราะเป็นของพื้นเมือง ที่ปลูกไว้กินเอง ปลอดภัย 100%

ถั่วพุ่ม ถั่วนั่ง เป็นถั่วที่ชาวบ้านนิยมนำมาทำอาหาร ส้มตำถั่ว สูตรอีสานแซ่บหลาย สูตรเหนือก็ลำแต้ๆ สูตรชาวกลางอร่อย ชาวใต้ไม่เคยชิมจะหรอยจังฮู้หรือไม่ ได้สัมผัสแล้วจะบอก ชาวบ้านนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง ต้มจืด ผัดใส่หมูใส่ไข่ ผัดน้ำพริกแกง ผัดกะเพรา ตำป่นมะถั่วมะเขือ แกงส้ม แกงเลียง แกงป่า แกงแค แกงคั่ว แกงอ่อม ก็นำเอาถั่วพื้นเมืองเหล่านี้เป็นองค์ประกอบ เพิ่มรสชาติ ปริมาณ แต่งสีสันอาหาร หลายพื้นที่นำมานึ่ง ต้ม ลวก กินร่วมกับน้ำพริก บ้างก็ใช้ฝักสดเป็นผักเคียง กินกับลาบ ก้อย ส้มตำ เอามายำถั่ว ก็สุดยอดเลยล่ะ วันนี้ลองไปหามาทำกินดู แล้วถึงจะรู้ว่า อารมณ์ที่ได้รับจะเป็นเช่นไร

ถั่วพื้นเมืองอีกชนิดที่เราไม่ค่อยพบเจอ ชาวบ้านเรียก “ถั่วดำ ถั่วแดง” ฝักเหมือนถั่วฝักยาว แต่ตรง สั้น แข็ง ทั้งเปลือก เมล็ด มีสีดำ แดงเข้ม ม่วงแดง เขียวอมแดง ฝักยาวราวๆ 1 คืบ เล็ก แกร่ง เขานิยมเอามานึ่ง หรือต้ม กินกับน้ำพริก หรือกินเล่นๆ หรือเอามาทำขนม หลายอย่างชาวบ้านทำกิน ไม่ใช่แค่เพียงให้อยู่รอดชีวิตเฉยๆ แต่กินเพื่อสุขภาพตนเองด้วย เพราะชาวบ้านรู้ว่า ถั่วพื้นเมืองมีสารพัดคุณประโยชน์ที่พึงมี และให้กับร่างกาย ในยุคสุขภาพมาเป็นหนึ่งนี้ ใครๆ เขาก็รู้กันทั่วไป ไม่ใช่แค่สมัยนิยม แต่เป็นนิยมมาทุกสมัย

“ถั่วดำ” หรือ Vigna mungo มีชื่อวิทยาศาสตร์ เดิมว่า Phaseolus mungo ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Vigna mung (L) Hepper อยู่ในวงศ์หรือตระกูลถั่ว เดิมเรียกถั่วเขียวผิวดำ มีถิ่นกำเนิดคาดว่าแถบพม่า อินเดีย แล้วแพร่กระจายเข้ามาแถบ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นพืชล้มลุก ต้นสูงประมาณ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างเหลี่ยม กึ่งเลื้อย มีขนปกคลุมทั่วต้น ใบเป็นประเภทใบเดี่ยว อยู่ตรงข้ามกัน ใบจริงเกิดแบบสลับ มีใบประกอบ 3 ใบย่อยขนาดเล็ก สีเขียวเข้ม ใบหนา ก้านใบยาว ฐานใบมีหู 2 อัน ดอกออกเป็นช่อ ก้านดอกยาว ช่อหนึ่งมีดอก 5-6 ดอก กลีบดอกคล้ายปากแตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้ตัวเมียในดอกเดียวกัน ฝักทรงกระบอก สั้น ตรง ฝักแก่มีสีขาวนวล สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ มีหลากหลายสี ขึ้นกับสายพันธุ์ ฝักหนึ่งมีเมล็ดไม่เกิน 8 เมล็ด เมล็ดสีดำด้าน กลมยาวทรงกระบอกปลายตัด มีตาสีขาวคล้ายรอยแผลเป็นอยู่ด้านเว้าของเมล็ด น้ำหนักเมล็ดถั่วดำ 100 เมล็ด หนัก 1.5-4 กรัม เป็นถั่วชนิดเมล็ดใหญ่พอสมควร

ถั่วดำเป็นพืชที่ให้เมล็ดทรงคุณค่า มากมายคุณประโยชน์ มีสรรพคุณทางยา เป็นที่ยอมรับของนักการแพทย์ ทั้งแผนไทย แผนปัจจุบัน นักโภชนาการ มีสรรพคุณบำรุงโลหิต บำรุงสายตา บำรุงหัวใจ ช่วยขจัดพิษในร่างกาย บำรุงไตป้องกันไตเสื่อม แก้ช้ำบวมน้ำ แก้เหน็บชา แก้อาการปวดหลังปวดเอวดีนักแล เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย มีแคลเซียมบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง มีโปรตีนและเส้นใยอาหาร หรือไฟเบอร์ ช่วยระบบขับถ่าย ป้องกันท้องผูก ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดความอ้วน มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ป้องกันโรคมะเร็งและโรคต่างๆ มีสารไอโซฟลาโวนส์ ป้องกันการเจริญผิดปกติของเซลล์ ป้องกันปัญหาการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ จนเกิดเป็นโรคอ้วน ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก เส้นใยอาหารช่วยดูดซับกลูโคส ระงับยับยั้งโรคเบาหวาน มีวิตามินบี 12 วิตามินบี 9 ซึ่งเป็นกรดโฟลิก และสารเบต้าแคโรทีน และธาตุเหล็ก ป้องกันโรคโลหิตจาง โรคหัวใจ ล้างพิษภายใน มีสารเลซิติน ช่วยบำรุงสมอง มีสารโฟเลตสูง ป้องกันโรคทารกพิการแต่กำเนิด คนรุ่นก่อนแก้ปัญหานอนไม่หลับ ใช้ถั่วดำนึ่งห่อใส่หมอนหนุนนอน หลับฝันดี ตื่นมามีแรงสู้ชีวิตต่อไปข้างหน้าได้หลายเวลา คนเป็นโรคเกาต์ ควรระวังสารฟิวรีนที่มีในถั่วดำ ต้องจำกัดปริมาณในการบริโภค

ในปริมาณถั่วดำ 1 ขีด หรือ 100 กรัม ให้พลังงาน 341 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย ไขมันอิ่มตัว 1.6 กรัม โซเดียม 38 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 928 มิลลิกรัม แคลเซียม 138 มิลลิกรัม เหล็ก 7.6 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 267 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 59 กรัม เส้นใย 18 กรัม โปรตีน 25 กรัม วิตามินเอ 23 IU. วิตามินบี6 0.3 มิลลิกรัม

ถั่วพื้นเมืองอีกนานาชนิด ที่คนไทยเรารู้จัก และรักผูกพันกับพืชพวกถั่ว เป็นธัญพืช หรือพืชอาหารที่ให้เมล็ด เป็นผลิตผลเลี้ยงชาวชน ในรูปแบบอาหารต่างๆ แล้วแต่คนจะจินตนาการสรรค์สร้างขึ้นมา คนชนชาติไหนที่มีความคิดประดิษฐ์ตกแต่ง สร้างสรรค์ ได้มากหลากหลาย ก็มีปรากฏให้คนเราได้เห็น ได้รู้ ได้ลองลิ้มชิมรส เช่นเดียวกัน ในยุคที่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทุกอย่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกษตรกรไม่ละทิ้ง กาก ต้น ใบ เปลือก นำมาทำปุ๋ยให้แก่พืชปลูกได้อย่างดียิ่ง คุณประโยชน์ คุณค่า ของทุกส่วนของถั่วพื้นเมือง เราผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรนำมาทำให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ สิ่งไหน ที่ไหน ท่านใด คิดค้น ทำ ใช้ เกิดประโยชน์แล้วขอให้เผยแพร่ความรู้เป็นบุญทานสร้างกุศลต่อไป จะเป็นพระคุณต่อแผ่นดินนี้อย่างมากมายมหาศาล

ความสำเร็จของ คุณวีระชาติ ยืนบุรี กับการเพาะ-แปรรูปเห็ดถือเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่เส้นทางอาชีพเกษตรกรรมในอนาคตในฐานะคนรุ่นใหม่และบทบาทของสมาชิกในกลุ่ม Young Smart Farmer จังหวัดสงขลา

คุณวีระชาติไม่ได้เกิดในครอบครัวเกษตรกรรม แต่ด้วยใจรักจึงใช้เวลาว่างจากงานประจำลองผิด-ถูกกับงานเกษตรกรรมหลายชนิด จนมาลงตัวที่การเพาะเห็ด กระทั่งนำไปสู่การผลิตเห็ดสด กับเห็ดแปรรูปที่ทำจากเห็ดสดและเห็ดแห้งเชิงพาณิชย์

เขาเริ่มจากเพาะเห็ดฟางก่อน แต่ไม่ได้ผล จากนั้นได้รับคำแนะนำจากกูรูด้านเห็ดฟางจนพบว่าถ้าเพาะเห็ดฟางควรใช้ทะลายปาล์มจะเหมาะกว่า ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับตัวเขาเพราะต้องประสบปัญหาหลายประการทั้งต้นทุนและกระบวนการผลิต

ระหว่างนั้นคุณวีระชาติพบข้อมูลว่า เห็ดนางฟ้าจะเหมาะสมกับศักยภาพของตัวเขามากกว่าทั้งต้นทุนและแรงงาน รวมถึงการตลาด ทั้งนี้ เห็ดนางฟ้าสามารถเลือกผลิตได้โดยไม่ต้องรีบ และสามารถผลิตตามกำลังแรงงานที่มี แล้วดอกที่มีขนาดไม่ต่างกันตลาดยังรับซื้อหมด ฉะนั้น ด้วยเหตุผลที่จูงใจจึงทำให้คุณวีระชาติตัดสินลงมือเพาะเห็ดนางฟ้าทันที พร้อมกับพบความสำเร็จในเวลาต่อมา

แม้จะเป็นอาชีพเพาะเห็ดฟางในระหว่างทำงาน แล้วผลิตเห็ดในจำนวนไม่มากแต่ช่วงเวลาเพียง 2 ปี ถือเป็นความคุ้มค่ากับหนุ่มสงขลาคนนี้ที่ได้บรรลุตามความตั้งใจ แล้วยิ่งทวีมากขึ้นอีกเมื่อมีลูกค้าสนใจสั่งซื้อเห็ดนางฟ้าของเขาเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนตัวเองพบว่าเห็ดน่าจะเป็นอาชีพที่เหมาะกับตัวเองได้ดีที่สุด

จนเมื่อถึงเวลาที่คุณวีระชาติสะสมเงินก้อนได้จำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำแล้วมุ่งหน้าเพาะเห็ดเป็นอาชีพอย่างจริงจัง พร้อมกับทยอยเพาะ-เลี้ยงเห็ดทีละชนิดตามกำลังและความเหมาะสมจนถึงตอนนี้เห็ดที่ประสบความสำเร็จสามารถผลิตขาย ได้แก่ เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดแครง เห็ดหูหนู เห็ดหลินจือ ฯลฯ เป็นต้น พร้อมกับตั้งชื่อว่า “บ้านยืนบุรี ฟาร์มเห็ด”

ในบรรดาเห็ดที่ผลิตได้นั้น เห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด จึงผลิตเห็ดทั้งสองชนิดเป็นหลักก่อน โดยกำหนดราคาเห็ดนางฟ้ากับเห็ดนางรม ขายส่งกิโลกรัมละ 70 บาท ซึ่งเป็นราคานี้ตลอดทั้งปี และขายปลีกกิโลกรัมละ 100 บาท

คุณวีระชาติยึดอาชีพเกษตรกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการมองถึงความเหมาะสมและพอกำลัง ดังนั้น จึงสร้างโรงเพาะเห็ดขนาดเล็กจำนวน 5 โรง ขนาด 2 คูณ 9 เมตร จุก้อนเห็ดได้จำนวน 2,000 ก้อน เพราะสะดวกและง่ายต่อการบริหารจัดการที่มีแรงงานในครอบครัว นอกจากนั้น ยังมีโรงบ่มก้อนขนาด 4 คูณ 12 เมตร จำนวน 1 โรง

นอกจากนั้น เขายังมองว่าการผลิตเห็ดปริมาณมากอาจไม่ส่งผลดีนักเพราะคนรับซื้อจะกดราคาเนื่องจากมีจำนวนเห็ดมากเกินไป ด้วยเหตุนี้จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีถามจำนวนความต้องการจากผู้รับซื้อก่อนแล้วค่อยผลิตเพื่อให้ได้จำนวนเห็ดสำหรับขายที่แท้จริงและเหมาะสม โดยเลือกขายเห็ดตามตลาดสดในชุมชนด้วยการส่งขายให้แก่แม่ค้าขาประจำ แล้วยังนำไปขายกับหน่วยงานราชการที่รู้จัก

การผลิตเห็ดของคุณวีระชาติมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเขาพบว่าเห็ดนางฟ้า นางรม และเห็ดหูหนูที่นำไปขายยังเหลือแล้วไม่สามารถเก็บเป็นเห็ดแห้งได้ จึงเกิดแนวคิดเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เห็ดหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นข้าวเกรียบที่ขายดีมาก เพราะสามารถเก็บเป็นข้าวเกรียบดิบไว้ได้นานเป็นปี โดยจะนำไปขายตามงานนอกหรือได้รับออเดอร์

นอกจากนั้น ยังมีน้ำพริกเผาเห็ดนางฟ้า น้ำเห็ดสามอย่าง เฉาก๊วยเห็ดหูหนู วุ้นกรอบเห็ดหูหนู เห็ดสวรรค์ เห็ดสมุนไพร หรือแม้แต่อาหารสดอย่างเกี๊ยวไส้เห็ด เห็ดสดทอด (ในกรณีที่ออกขายตามงาน) ทั้งนี้ รสชาติของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดถูกคิดค้นสูตรการปรุงจากฝีมือคุณแม่ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำอาหารจึงเป็นสูตรเฉพาะที่ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร

“สินค้าที่ขายดีมากคือข้าวเกรียบกับเห็ดสมุนไพร และเห็ดสวรรค์จะได้รับความสนใจรองลงมา โดยเฉพาะข้าวเกรียบที่ผลิตเป็นสูตรเจ สามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีความพิเศษตรงที่มีแผ่นบาง ขนาดไม่ใหญ่ เมื่อใส่ปากแล้วจะละลายทันที นอกจากนั้น ยังผลิตออกมาจำนวน 3 รส คือรสธรรมดา รสปาปริก้า และรสโนริสาหร่าย ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้หลายกลุ่ม”

ด้านราคาจำหน่ายถ้าเป็นข้าวเกรียบดิบบรรจุใส่ถุงขนาดครึ่งกิโลกรัมขายราคาถุงละ 80 บาท ถ้าทอดแบบใส่กระปุกขายส่งกระปุกละ 20 บาท หรือกิโลกรัมละ 180 บาท ส่วนน้ำพริกเผา เห็ดสวรรค์ และเห็ดสมุนไพรขายส่งกระปุกละ 20 บาท (ขนาด 3 ออนซ์) แต่ถ้าเป็นเห็ดน้ำ เห็ดสามอย่าง เฉาก๊วยเห็ดหูหนู ขายส่งโหลละ 100 บาท (200 ซีซี)

ขณะเดียวกัน คุณวีระชาติเห็นว่ายังมีเห็ดอีกกลุ่มที่สามารถเก็บแห้งได้คือเห็ดหลินจือและเห็ดแครง โดยเฉพาะเห็ดหลินจือที่เขามองว่าทั่วไปมีราคาแพงจนชาวบ้านไม่สามารถซื้อได้ จึงลองหาวิธีเพาะจนสำเร็จแล้ว นำมาสร้างมูลค่าด้วยการอบแห้งตามขั้นตอนที่ได้มาตรฐานแล้วจำหน่ายในราคาไม่แพง ซึ่งขนาด 100 กรัม ราคาขาย 250 บาท และห่อขนาด 50 กรัม ราคา 120 บาท มีวางขายประจำอยู่ที่ห้างท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต

สำหรับช่องทางการตลาด ได้แก่ 1. ออกบู๊ธคู่ขนานไปกับกลุ่ม Young Smart Farmer ซึ่งมีงานประจำเกือบทุกเดือน 2. ตลาดสดหลายแห่งบริเวณชุมชน และ 3. ขายส่งทางออนไลน์ ทั้งนี้ ช่องทางดังกล่าวตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกกลุ่ม เพราะไม่ได้ใช้เห็ดสดบริโภคเป็นอาหารอย่างเดียว แต่ยังสามารถรับประทานเป็นของว่างที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ด้วย

“ตั้งใจจะผลิตเห็ดหลายชนิดเพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคได้เลือก พร้อมกับมีความตั้งใจที่จะผลิตเห็ดเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีให้แก่ผู้บริโภคเพื่อใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ ถึงแม้ว่าฟาร์มเห็ดตัวเองจะไม่ได้รับมาตรฐาน แต่ตัวเองเลือกที่จะปฏิบัติเพื่อให้เกิดมาตรฐานในฟาร์มด้วยการยึดหลักความซื่อตรงและซื่อสัตย์ โดยไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ เลยในทุกขั้นตอน จะใช้เป็นชีวภาพทั้งหมด ขณะเดียวกัน ที่ฟาร์มยังได้รับการรับรองใบตรวจคุณภาพเห็ดว่าเป็นเห็ดที่มีความปลอดภัย พร้อมกับส่งตรวจคุณภาพเป็นประจำ” คุณวีระชาติ กล่าว

สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เห็ดจาก “บ้านยืนบุรี ฟาร์มเห็ด” ได้ที่ คุณวีระชาติ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 190/3 หมู่ที่ 5 ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ (088) 398-1871

คุณเกสรา นารถถนอม หรือ “เจมส์” อายุ 28 ปี เจ้าของ สวน Ketsara’s Garden พื้นเพเป็นคนตำบลห้วยแร้ง จังหวัดตราด จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อ ปี 2554 ปัจจุบัน ทำงานบริษัทเอกชน นำเข้า-ส่งออก ที่จังหวัดสมุทรปราการ ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการบริษัท วันนี้ตัดสินใจเลือกอาชีพเสริมเป็นเกษตรกรเพื่อปูทางสู่อนาคต

เริ่มต้นเป็นเกษตรกร เมื่อ ปี 2560 เลือกปลูกเมล่อน คุณภาพพรีเมี่ยม พืชผลที่ชื่นชอบในรสชาติเป็นส่วนตัว เมื่อประสบความสำเร็จในก้าวแรก จึงเลือกที่จะเดินต่อเส้นทางสายเกษตรกรรม ด้วยการขยายพื้นที่ปลูกเมล่อนและเตรียมปลูกพืช ผลไม้อื่นๆ เช่น สตรอเบอรี่สายพันธุ์ต่างประเทศ มะเขือเทศเชอร์รี่ ข้าวโพดชนิดกินดิบ เป็นต้น

ลูกเกษตรกรสานต่ออาชีพพ่อแม่ เลือกทำเมล่อนด้วยความชอบ

จุดเริ่มต้นของคุณเจมส์ที่หันมาทำเกษตรกรรม ในปี 2559 เพราะครอบครัว พ่อ แม่ ทำเกษตรกรรม มีที่ดินเป็นของตนเอง คิดว่าแม้ทำงานอยู่ต่างจังหวัดเมื่อพ่อแม่อายุมากอนาคตต้องกลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิด ช่วงทำงานบริษัทเอกชนจึงพยายามเก็บสะสมเงิน และเริ่มต้นเลือกปลูกเมล่อนเกือบ 500 ต้น ด้วยความชอบรับประทาน จากไม่มีความรู้ด้านเกษตรกรรม ไม่เคยปลูกอะไรมาก่อน ใช้วิธีสอบถามค้นคว้า เข้ารับการอบรม และทดลองปลูกกับสามี คุณอนวัช ตาววัฒนา “ใหม่” ใช้เวลา 3 เดือน ด้วยความตั้งใจทำให้ผลผลิตมีคุณภาพขั้นพรีเมี่ยม ตั้งชื่อแปลงเมล่อนเล็กๆ ว่า Ketsara’s Garden ดูแลอย่างพิถีพิถัน พยายามใช้ปุ๋ยธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น เลี้ยงไส้เดือน เพาะเชื้อราดีกำจัดเชื้อราโรคพืช ได้ผลผลิตรุ่นแรกเป็นที่น่าพอใจ ตั้งราคาขายได้ กิโลกรัมละ 180 บาท สูงกว่าท้องตลาดที่ขายกิโลกรัมละ 50-60 บาท

จากนั้นเดือนตุลาคมจึงเตรียมแปลงปลูก รุ่นที่ 2 ครั้งนี้เพิ่มเมล่อนพันธุ์ใหม่ซูเปอร์พรีเมี่ยม “เมล่อนฮอกไกโด” นำเข้าเมล็ดพันธุ์จากญี่ปุ่น รสชาติและเนื้อมีความพิเศษ แตกต่างจากเมล่อนพรีเมี่ยม เปิดราคาขายจองล่วงหน้า กิโลกรัมละ 500 บาท และขายหมด รุ่นที่ 2 เมือเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้

“ที่มาของสวน Ketsara’s Garden แม้จะมีงานทำในออฟฟิศห้องแอร์เย็นสบายดี แต่ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของความสุขที่แท้จริง เป็นเพียงบันไดของช่วงชีวิตหนึ่งให้เราได้ก้าวผ่าน ยอมรับว่ามาจากครอบครัวเกษตรกร เงินทุกบาททุกสตางค์ที่พ่อแม่ส่งเรียนได้มาจากทำเกษตรทั้งนั้น เมื่อพ่อแม่เริ่มแก่ตัวลง จึงต้องการพัฒนาที่ดินเพื่อทำเกษตรสร้างโรงเรือนปลูกเมล่อน มี คุณอนวัช ตาววัฒนา “ใหม่” เป็นผู้ดูแลประจำ ส่วนตัวเองกลับบ้านมาช่วยกันทำงานทุกอาทิตย์” คุณเจมส์ เล่าถึงที่มา

คุณเจมส์และคุณใหม่ ใช้เวลาค่อยๆ ศึกษา สะสมความรู้ทางด้านการเกษตรมาเรื่อยๆ จนไปสะดุดกับบทความวิชาการหนึ่ง ระบุข้อมูลอันเป็นที่น่าตกใจว่า ประเทศไทยเรานำเข้ายาฆ่าแมลงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ตอนนั้นคิดว่าหากจะทำเกษตรสักอย่าง ต้องไม่ใช้สารเคมี ช่วงนั้นเพื่อนบ้านของคุณใหม่ได้นำต้นกล้าเมล่อนมาให้ทดลองปลูก ด้วยชอบรับประทานเมล่อนอยู่แล้ว เมื่อไม่มีพื้นฐานทางการเกษตร จึงเริ่มศึกษาเรียนรู้ สุดท้ายแล้ว เราก็ทำได้เมล่อนที่ปลูกผลสวย รสชาติอร่อยกว่าไปซื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต จากนั้นจึงนำไปปลูกที่สวนของแม่ที่จังหวัดตราด โดยคุณใหม่เริ่มไปอบรม ศึกษาเรื่องเมล่อนอย่างจริงจัง และวางแผนสร้างโรงเรือนหลังแรก ใช้เงินลงทุนรวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปลูกทั้งหมด ร่วมๆ แสนกว่าบาท และเดือนตุลาคม 2559 จึงเริ่มปลูกเมล่อนรุ่นแรก

5-6 ขั้นตอน ปลูกเมล่อน ที่ต้องใส่ใจจากแปลงถึงผู้บริโภค

การปลูกเมล่อนค่อนข้างพิถีพิถัน สมัคร SBOBET เพราะต้องเริ่มตั้งแต่เพาะเมล็ดไปปลูกในแปลงเอง และดูแลสภาพในโรงเรือนให้สะอาด การทำดินและปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองจากฟาร์มไส้เดือน และติดตั้งระบบไฟฟ้า (TIMER) ให้น้ำและปุ๋ยทางน้ำเพื่อประหยัดการใช้แรงงาน และการเฝ้าระวังโรคพืชตลอดระยะเวลาที่ปลูก ทุกขั้นตอนคุณเจมส์และคุณใหม่จะช่วยกันดูแลเองทั้งหมด

การปลูกเมล่อนเริ่มจาก ขั้นที่ 1 นำเมล็ดแช่น้ำอุ่น 4-6 ชั่วโมง แล้วนำมาวางเรียงบนทิชชูที่เปียกน้ำ จากนั้นนำไปบ่มในภาชนะทึบแสง ผ่านไป 24 ชั่วโมง จะมีรากงอก ประมาณ 0.5 เซนติเมตร

ขั้นที่ 2 นำพีทมอสส์ใส่ลงให้เต็มถาดเพาะ ใช้นิ้วกดลงให้เป็นหลุมเล็กๆ แล้วนำเมล็ดด้านที่มีรากใส่ลงไปในหลุม กลบแล้วสเปรย์น้ำให้ชุ่ม เก็บเข้าที่ทึบแสง ประมาณ 1-2 วัน จะเป็นต้นกล้าแทงออกมา ให้รีบนำต้นกล้าออกตากแดด

ขั้นที่ 3 ประมาณ 10 วัน เมล่อนจะแตกใบจริงและใบเลี้ยงออกมา อย่างละ 2 ใบ ช่วงเย็นนำกล้าย้ายลงถุงปลูก ใช้ขุยมะพร้าวสับ 1 ส่วน มะพร้าวสับ 2 ส่วน และเริ่มให้น้ำที่มีส่วนผสมของปุ๋ยแก่เมล่อน

ขั้นที่ 4 การผสมดอก หลังจากย้ายปลูก ประมาณ 21-30 วัน นำเกสรดอกตัวผู้ไปปัดผสมกับเกสรของดอกตัวเมียที่มีกระเปาะบริเวณฐานดอก ผ่านไป 1 สัปดาห์ จะได้ลูกเมล่อนขนาดเท่าไข่ไก่ และเลือกลูกที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียงลูกเดียวเพื่อให้สารอาหารไปเลี้ยงลูกอย่างเต็มที่ และใช้เชือกโยงช่วยรับน้ำหนัก

ขั้นที่ 5 หลังผสมเกสรดอก 40-45 วัน ผลจะเติบโต สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ (ช่วงนี้ถ้าผลอ่อนขนาดลูกเท่ากำปั้นใช้เหล็กปลายแหลม เขียนลวดลายบนผิว สร้างเอกลักษณ์ให้ลูกค้าได้) และ

ขั้นสุดท้าย การตัดผลจำหน่าย สังเกตลายวงกลมที่เดินขึ้นมาด้านก้านขั้ว ตัดกิ่งติดที่ขั้วให้เป็นรูปตัว T สัญลักษณ์ของดาบซามูไร และเพื่อความสวยงามด้วย แพ็กใส่โฟมตาข่ายป้องกันการกระแทก ติดป้ายแท็ก สติ๊กเกอร์ Ketsara’s Garden พร้อมจำหน่าย