ถั่วทองสมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ ย้อนหลังไปประมาณ 40-50 ปี

ตอนผมเป็นเด็ก ถั่วทองเป็นถั่วซีก เม็ดแข็ง ค่อนข้างกลม ออกสีน้ำตาลมากกว่าทอง กินแล้วฟันไม่ดีอาจจะหักได้ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นถั่วพันธุ์ไหน ค้นไม่เจอ ต้องถามคนรุ่นคุณยายทำขนมเก่าๆ คงพอรู้จัก มาสมัยนี้เราใช้ถั่วเขียวซีกมาแช่น้ำประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วสงขึ้นให้สะเด็ดน้ำ เอาไปคั่วไฟอ่อน จนแห้งกรอบ ได้เป็นถั่วทอง เคี้ยวง่ายกว่าถั่วทองโบราณเยอะ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 1.49 ล้านตัน จำนวน 91 คลัง มีผู้ผ่านคุณสมบัติผู้เสนอซื้อเบื้องต้นแล้วทั้งหมด 26 ราย ทั้งนี้หลังจากที่กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดซองเสนอซื้อ ในวันที่ 14 มิถุนายน ปรากฏว่ามีผู้สนใจมายื่นซอง จำนวน 22 ราย เป็นผู้เสนอซื้อสูงสุด จำนวน 18 ราย ใน 88 คลัง ปริมาณ 1.48 ล้านตัน มูลค่าที่เสนอซื้อประมาณ 8,441 ล้านบาท และราคาเสนอซื้อเฉลี่ย คือ 4,967 บาท ต่อตัน โดยชนิดข้าวที่มีผู้เสนอซื้อมากที่สุดคือ ข้าวขาว 5% ปริมาณ 0.87 ล้านตัน คิดเป็น 58.84% รองลงมาคือ ปลายข้าวเอ 1 เลิศ ปริมาณ 0.47 ล้านตัน คิดเป็น 31.85%

ในขั้นตอนต่อไป กรมการค้าต่างประเทศ จะดำเนินการประมวลผลการยื่นซองเสนอซื้อฯ เข้าที่ประชุมคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐ และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวก่อนเสนอประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาให้ความเห็นชอบการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐ โดยข้าวที่นำออกมาระบายกลุ่มนี้เป็นการจำหน่ายเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งคณะกรรมการ นบข. ได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการนำข้าวในสต๊อกของรัฐไปใช้ในอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก โดยกำชับให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) คุมเข้มกำกับดูแลให้ผู้ซื้อนำข้าวในสต๊อกของรัฐไปใช้ในอุตสาหกรรมตามหนังสือรับรองตนเองที่แจ้งไว้โดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันการรั่วไหลเข้าสู่ระบบการค้าปกติ หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข มีการนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

สยามคูโบต้า จัดทำโครงการ “พลิกฟื้น ผืนดิน” ช่วยเหลือเกษตรกร มุ่งให้ความรู้และแนวทางในการบำรุงและปรับปรุงดิน โดยรวบรวมองค์ความรู้ และการพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรที่บริษัทได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 40 ปี ส่งผ่านไปสู่เกษตรกรไทย ให้โอกาสเกษตรกรในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ พร้อมจัดแปลงสาธิตเรื่องดินให้เป็นต้นแบบในการศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างความเข้าใจและกระตุ้นการบริหารจัดการเรื่องดิน เพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ด้วยประสบการณ์ที่สยามคูโบต้า ได้สั่งสมมาตลอดเวลาที่ดำเนินธุรกิจกับเกษตรกรไทยร่วม 40 ปี บริษัทได้ลงพื้นที่ พบปะ พูดคุย และดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ทำให้ทราบถึงปัญหาที่เกษตรกรพบ รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ เราได้พบว่าปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งต่อการทำเกษตรกรรมที่จะทำให้ได้ผลผลิตงอกงามดีนั้น ก็คือ “ดิน” ทั้งนาข้าว พืชไร่ และพืชสวน

บริษัทจึงเห็นว่า “ดิน” เป็นสิ่งสำคัญและจุดเริ่มต้นของการปลูกพืชทุกชนิด โดยดินที่ดี มีแร่ธาตุสมบูรณ์ ไร้สารเคมี จะทำให้พืชที่ปลูกปลอดภัยตั้งแต่การเริ่มต้นเตรียมดิน ดังนั้น ในโอกาสที่ในปีนี้ บริษัทได้ดำเนินกิจการในประเทศไทยเป็นปีที่ 40 บริษัทจึงดำริที่จะจัดทำโครงการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในการบำรุงดิน และปรับปรุงดินเพื่อการเกษตรที่สมบูรณ์ ภายใต้ชื่อ โครงการ “พลิกฟื้น ผืนดิน”

โดยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่บริษัทได้พัฒนามาถ่ายทอดและส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันบำรุงดินและปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรรมไทยรุดหน้าไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวนี้ อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายเกษตร 4.0 ของภาครัฐที่มุ่งเน้นให้มีการผลักดันภาคการเกษตรของไทยทัดเทียมกับตลาดต่างประเทศอีกด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา บริษัทได้รวบรวมความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องดิน ทั้งจากการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมาถ่ายทอด เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องอินทรียวัตถุในดิน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการปลูกถั่วเหลืองหลังนา เพื่อเพิ่มแร่ธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน, การทำเกษตรไม่เผา เพื่อลดปัญหาดินเสื่อมโทรม, โครงการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี และการรณรงค์ไถกลบตอซัง เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน และเป็นการหมุนเวียนธาตุอาหารพืชคืนสู่ดิน

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรไปแล้วในหลายพื้นที่ ผ่านศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า เพื่อให้เกษตรกรมีการปรับปรุงและพัฒนาที่ดินทำกินของตนเองให้มีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และในปีนี้เอง บริษัทยังได้ต่อยอดความรู้เรื่องดินไปยังกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนที่มีความสนใจในด้านการเกษตร ผ่านโครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp และ โครงการ KUBOTA Farmer Academy โดยบริษัทเชื่อมั่นว่า คนไทยทุกคนต่างตระหนักดีว่าแผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะที่จะทำการเกษตร ดังนั้น การที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดกิจกรรมเหล่านี้ จะทำให้เยาวชนและประชาชนที่มีความสนใจด้านการเกษตร มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของภาคการเกษตรมากขึ้น”

นายสมศักดิ์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า โครงการพลิกฟื้น ผืนดินในระยะแรกจะมุ่งเน้นการให้ความรู้และสร้างโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องดิน และสร้างการมีส่วนร่วม โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจได้รับความรู้เกี่ยวกับดิน พร้อมทั้งร่วมมือกับเครือข่ายร้านค้าผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้และให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถนำเอาสิ่งที่ได้รับไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งกิจกรรมที่กล่าวไปในข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมทั้งหมดที่เราวางแผนไว้ในปีนี้ ที่จะช่วยรักษาผืนแผ่นดินไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์ อันจะนำมาซึ่งผลผลิตที่ดีมีคุณภาพและสามารถใช้ทรัพยากรดินได้อย่างยั่งยืนต่อไป

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ร.ท.ไชยโยง โภคทรัพย์ นายทหารปฏิบัติการ หน่วยเฉพาะกิจทับลาน สนธิกำลังพลร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 3 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอครบุรี และผู้นำชุมชนตำบลโคกกระชาย ลงสำรวจพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านบ้านมาบกราด หมู่ที่ 14 และ หมู่ที่ 24 ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา หลังจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ประสบปัญหาช้างป่าโขลงใหญ่ออกมาหากินนอกเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และเข้าไปทำลายผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก

ผลการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า มีสวนกล้วย สวนปาล์ม มันสำปะหลัง รวมถึง สวนพริกของชาวบ้าน ได้รับความเสียหายราบเป็นหน้ากลอง รวมเกือบ 10 แปลง โดยเฉพาะสวนกล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า ของ นายชาญ อารีกลาง อายุ 45 ปี ได้รับความเสียหายทั้งสวน รวมประมาณ 5 ไร่ ทั้งที่กำลังจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรต้องตัดต้นที่ถูกทำลายทิ้งทั้งหมด เพื่อรอให้แตกหน่อขึ้นต้นใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่เตรียมเรียกระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาสาสมัครชาวบ้าน เพื่อเตรียมออกลาดตระเวนผลักดันช้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในเบื้องต้น

นายชาญ อารีกลาง หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ช้างป่าโขลงที่เข้ามาสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านบ้านมาบกราดในครั้งนี้ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อคืน วันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา ช่วงเวลาคืนเดียวโขลงช้างที่คาดว่าน่าจะมีประมาณ 10 ตัว สร้างความเสียหายให้กับสวนกล้วยของตนเองทั้งหมด รวมถึง สวนปาล์ม และไร่มันสำปะหลัง ได้รับความเสียหายเกือบ 10 ไร่ เม็ดเงินที่ควรจะได้จากการเก็บเกี่ยวต้องหายวับไปกับตา จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้บ้าง

น้ำจัดเป็นสิ่งสำคัญในการเพาะปลูกให้พืชผลทางการเกษตรเจริญเติบโต หากปราศจากน้ำจะทำให้การเพาะปลูกเกืดความเสียหายได้ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลจึงเกิดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาโครงการ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค

เมื่อมีน้ำก็จะช่วยทำให้การทำเกษตรกรรมต่างๆ สามารถเจริญงอกงามและผลผลิตที่ได้มีคุณภาพช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของราษฏรดีขึ้น เหมือนเช่นชาวบ้านตำบลยางหักทั้งตำบล มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีน้ำเพื่อทำการเกษตร เมื่อเทียบกับสมัยก่อนแล้วอาศัยน้ำจากฝนเพียงอย่างเดียวปีละ 4 เดือน ทำให้ไม่มีน้ำมีไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร จึงทำให้รายได้ที่มีลดน้อยลงไปด้วย

นางประยูร เจิมจันทร์ และนายหนู ทองหัว อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนครอบครัวปลูกพืชไร่ต่างๆ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้การเกษตรที่ทำได้ผลผลิตได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้ต้องหารายได้เพิ่มจากการรับจ้างทั่วไป

ต่อมาเมื่อได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานความช่วยเหลือ ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในขณะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร หลังจากการเสด็จในครั้งนั้นก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป

อ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูด หมู่ที่ 4 ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นส่วนหนึ่ง ในโครงการพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการแรกตั้งแต่ยังมิได้เสด็จขึ้นทรงราชย์ ซึ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2538 และจัดเป็น 1 ใน 6 อ่างเก็บน้ำที่มีการสร้างเสร็จสมบูรณ์ มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 585,280 ลบ.ม.ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 1,600 ไร่ หลังจากมีอ่างเก็บน้ำแล้วจึงทำให้ในพื้นที่เกิดความชุ่มชื้นและเพาะปลูกได้มากขึ้น

“หลังจากที่มีอ่างเก็บน้ำ การทำเกษตรกรรมเราก็ง่ายขึ้น เราไม่ต้องออกไปรับจ้างที่ไหน สามารถทำอาชีพบนที่ดินเราได้ เพราะอยากจะปลูกอะไรก็สามารถปลูกได้ทุกอย่าง เพราะเรามีน้ำโดยตอนนี้เราก็ทำสวนผสมผสานปลูกพืชหลายๆ อย่างผสมกันไป แบบเชิงอินทรียย์ไม่ใช้เคมี ตั้งแต่พืชผักสวนครัว ไปจนถึงพืชสวนต่างๆ มีมากกว่า 50 ชนิดผสมกันไป ก็สามารถนำผลผลิตที่ได้มาขายได้หลากหลาย” คุณประยูร บอก

พื้นที่ที่ทำเป็นสวนผสมผสานนั้น ใช้พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ โดยเน้นใช้ปุ๋ยคอกเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน จึงทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และที่สำคัญดินที่ทำการเกษตรก็ไม่เสียอันเกิดจากการใช้สารพิษและสารเคมีต่างๆ

จากความสำเร็จของการทำเกษตรในทุกวันนี้ คุณประยูร บอกว่า ได้ยึดหลักการทำเกษตรพอเพียง โดยมองว่าถ้าคนในบ้านอยากกินอะไรก็จะปลูกไว้กินเองก่อน และเมื่อผลผลิตมีจำนวนมากก็จะนำไปขายเพื่อส้รางรายได้ และนอกจากนี้การทำเกษตรผสมผสานยังสามารถทำให้มีสินค้าเกษตรที่ขายได้หลากหลาย โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องของราคาหากสินค้าตัวใดราคาตกก็ยังมีอีกหนึ่งสินค้าขายได้ราคาทนแทนกันไป

“น้ำจึงถือว่ามีความสำคัญมาก ในเรื่องของการเพาะปลูก หากไม่มีโครงการแบบนี้ ก็จะทำให้เราไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือาเช่นทุกวัน เพราะน้ำถือว่ามีความสำคัญมากกับประเทศไทย ซึ่งอาชีพหลักของคนไทยคือการเกษตร ดังนั้นการมีอ่างเก๋บน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ สามารถมำการเพาะปลูก พร้อมกับน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีความสุขไปพร้อมกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

จังหวัดนนทบุรี ดันมาตรการส่งเสริมเกษตรกรปลูกทุเรียนทุกรูปแบบ เหตุพื้นที่ปลูกลด หลังที่ดินพุ่งสูง ไร่ละ 30-40 ล้านบาท ล่อใจขายสวนทิ้ง

นายสมนึก ศรีเที่ยงตรง เกษตรจังหวัดนนทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีนี้ทุเรียนนนท์มีผลผลิต 900 ลูก เท่านั้น มากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีเพียง 500 ลูก โดยทุเรียนนนท์ปลูกอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน 1 ไร่ มี 25 ต้น ตัดเหลือ 5 ลูก ต่อต้น มากที่สุดประมาณ 8 ลูก ต่อต้น คุณภาพจึงสม่ำเสมอทุกลูก ราคาพันธุ์ก้านยาว ลูกละ 15,000 บาท น้ำหนัก 2 กิโลกรัม ขึ้นไป แต่ราคาเฉลี่ยทุกสายพันธุ์ต่ำสุด 5,000-8,000 บาท/ลูก และสูงสุดอยู่ที่ 25,000 บาท/ลูก น้ำหนัก 4 กิโลกรัม ขึ้นไป และในปัจจุบันทุเรียนนนท์ได้ทั้งมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จุดเด่น คือ เนื้อละเอียด กลิ่นไม่รุนแรงมาก เมื่อรับประทานจะรู้สึกหวาน มัน ละมุนลิ้น

โดยเกษตรจังหวัดมีมาตรการส่งเสริมการปลูก เช่น สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร เช่น

การจัดงานมหกรรมทุเรียน “Nonthaburi The King of Durain” ทำการประชาสัมพันธ์ ทำให้ราคาทุเรียนสูง ดีกว่าขายที่ดิน ซึ่งราคาสูงถึงไร่ละ 30-40 ล้านบาท ราคาในสวนมากกว่า 10 ล้านบาท
2. ช่วยดูแลด้านวิชาการ โรคแมลง ศัตรูพืชต่างๆ ให้องค์ความรู้แก่ชาวสวน และ

3. ส่งเสริมให้เป็นพืชเอกลักษณ์ มี “โครงการบ้านละต้น ตำบลละร้อย” ตั้งแต่ ปี 2560 เพื่ออนุรักษ์ส่งเสริมพื้นที่สีเขียว นำทุเรียนกลับเข้าไปในหมู่บ้านจัดสรร แต่พื้นที่ปลูกหลักคือ อ.เมือง บางกรวย ปากเกร็ด บางใหญ่ ที่ดินมีคุณภาพดี ทำให้ทุเรียนนนท์มีรสชาติดีที่สุดในโลก

หลังน้ำท่วม ปี 2554 ทางจังหวัดนนทบุรี สำนักงานเกษตรกรจังหวัด ได้เร่งฟื้นฟูพื้นที่ปลูกทุเรียนของเกษตรกร ประมาณ 800 กว่าราย จากกว่า 3,000 ไร่ ที่ถูกน้ำท่วมให้กลับมาได้ ประมาณ 2,800 ไร่ และในปัจจุบันเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว โดยมีพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของนนทบุรี เช่น กบชายน้ำ กระดุม กบแม่เฒ่า สาวน้อย เป็นต้น โดยพันธุ์ก้านยาวมีสัดส่วนประมาณ 20% เพราะทุกบ้านปลูกก้านยาวไว้ในบ้านและสวน ซึ่งทุเรียนเมืองนนท์ไม่มีวางขายทั่วไป ไม่ส่งออกไปต่างประเทศหรือขายให้อาลีบาบา ต้องซื้อที่สวนและสั่งจองเท่านั้น และมีเปิดสวนให้ทัวร์จีนและอเมริกาเข้ามาบ้าง

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยว่า ปัญหาการปลูกทุเรียนนนท์ลดน้อยลงมากจากหลายปัจจัย และจังหวัดนนทบุรีถือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยเขตปริมณฑลกรุงเทพฯ ทำให้ที่ดินมีราคาแพง ชาวบ้านเลิกปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมาก แต่สวนทุเรียนยังคงเอกลักษณ์อยู่ แม้ว่าทุเรียนสามารถปลูกได้ทั่วประเทศไทย แต่ทุเรียนนนท์มีความแตกต่างกว่าที่อื่น

“ทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี มีความแตกต่างกว่าที่อื่น คือ 1) ปลูกในร่องสวน มีน้ำหลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา มีความอุดมสมบูรณ์ 2) ชาวสวนทุเรียนนิยมปลูกต้นทองหลางเป็นพืชเคียงให้ร่มเงาต้นทุเรียน เมื่อใบร่วงจะกลายเป็นสารอาหารชั้นดี ทำให้รสชาติมีเอกลักษณ์ ทั้งสีผิว หนาม เนื้อ และรสชาติ จึงเป็นสุดยอดทุเรียน โดยเฉพาะก้านยาวถือเป็นราชาทุเรียน และ 3) การจด GI ทำให้ราคาสูงขึ้นมาก ในปีนี้มีเพียง 900 ลูก จาก 22 สวน ที่ขึ้นทะเบียนไว้”

อย่างไรก็ตาม นนทบุรี เป็นเมืองที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่ดินของเกษตรกรจำนวนไม่น้อยได้ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นบ้านจัดสรรหรือสถานที่ประกอบพาณิชยกรรมต่างๆ ในขณะเดียวกันทายาทของเกษตรกรได้เปลี่ยนอาชีพไป ดังนั้น คนปลูกทุเรียนในขณะนี้คือ ผู้สูงอายุ แต่มีความเต็มใจ มีความมุ่งมั่นในการรักษาเอกลักษณ์เหล่านี้ไว้

อนึ่ง ในการประมูลทุเรียน 9 ลูก ในงานมหกรรมทุเรียน Nonthaburi The King of Durain มียอดประมูลสูงสุดที่ 800,000 บาท/ลูก มีรายได้ทั้งหมด 2,890,000 บาท นำไปบริจาคการกุศล

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ว่า นายบุญนำ การกร อายุ 61 ปี อยู่หมู่ที่ 9 บ้านหัวทำนบพัฒนา ตำบลกรงรถ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา อดีตข้าราชการครู หลังเกษียณอายุราชการแล้วได้ใช้ที่นาของตัวเองทดลองปลูกผักและผลไม้ต่างๆ แบบผสมผสาน เช่น มะม่วง มะพร้าว กล้วย และพืชผักสวนครัวสารพัดชนิด ปลูกเต็มที่นาขนาด 6 ไร่ นอกจากนี้ ยังสร้างบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นการขุดบ่อดินจำนวน 2 บ่อ เพื่อใช้เลี้ยงปลาหมอเทศหารายได้เสริม

การเลี้ยงปลาหมอเทศในบ่อดิน หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “ปลาหมอแปลงเพศ” วิธีการเลี้ยงจะมีความแตกต่างไปจากการเลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ เนื่องจากปลาหมอเทศจะเป็นปลาที่ชอบกระโดดขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้การจัดเตรียมบ่อจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ระดับน้ำในบ่อต้องต่ำกว่าตลิ่งอย่างน้อย 1 เมตร จัดทำท่อน้ำล้นให้รอบบ่อเพื่อป้องกันปลากระโดดออก ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียงแค่ 6 เดือน ปลาหมอเทศจะมีขนาดกำลังพอดีสามารถจับขายได้ ซึ่งปลาหมอเทศเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตไว ทำให้มีรายได้ดีกว่าการทำนาเป็นอย่างมาก ในแต่ละครั้งจะสามารถจับขายได้กำไรรอบละกว่า 100,000 บาท เลยทีเดียว

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รวบรวมปัญหาของเกษตรกรเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว พบปัญหาหลักๆ อาทิ มีการลงทุนสูงแต่รายได้ต่ำ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นต้น สภาพปรากฏขณะนี้คือเกษตรกรเป็นผู้สูงอายุไม่วางแผนเพาะปลูก ยากต่อการรับองค์ความรู้ใหม่ ทำตามความเคยชินขาดมุมมองการตลาด นิยมปลูกอย่างเป็นอิสระ ขาดการรวมตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิต แม้มีแหล่งเงินทุนโดยเฉพาะ ธ.ก.ส. แต่ขาดแผนการเงินที่ดี จึงเกิดการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เมื่อถึงคราวต้องเพาะปลูกจึงต้องไปกู้เงินนอกระบบ และไม่ทำบัญชีกำไรขาดทุน และกว่าครึ่งไม่มีที่ดินทำกิน จึงขาดแรงจูงใจในการดูแลสภาพดิน และเมื่อผลผลิตออกมา เกษตรกรส่วนใหญ่ให้พ่อค้ามาถึงขาดการรวมตัวเพื่อต่อรองราคา และขาดอุตสาหกรรมแปรรูปใประเทศรองรับ จึงมีขายเป็นวัตถุดิบที่มูลค่าต่ำและราคาผันผวนตามตลาดโลก

นายกฤษฎา กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการผลิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรยังขาดแรงจูงใจที่จะทำตามแผนดังกล่าว ขณะเดียวกันเมื่อประสบปัญหาขาดทุน ประสบภัยพิบัติ เกิดความล้มเหลวในอาชีพก็ไม่มีใครช่วยเหลือกระทรวงเกษตรฯ จึงมีแนวความคิดให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคงเทียบเท่าข้าราชการ

หรือกรรมการที่มีสวัสดิการรองรับเมื่อประสบปัญหาในการประกอบอาชีพโดยได้นำพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 ซึ่งมีทุน 2,900 กว่าล้านบาทนั้น มาดำเนินงานต่อ มีเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดหากในอนาคตเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าตกต่ำ ประสบภัยพิบัติ ฯลฯ จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน ในการวางแผนดำเนินงานและหางบฯ สนับสนุนเพิ่มเติม

“มีสถิติว่า บางปีภาครัฐใช้เงินกว่า 200,000 ล้านบาท ในการเข้าไปอุดหนุนหรือช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อประสบปัญหา แต่หากนำเงินส่วนนี้มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อดูแลสวัสดิการแก่เกษตรกร น่าจะใช้งบฯ น้อยกว่าและมีแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงเกษตรฯ วางไว้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหา ภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืนจริงๆ” นายกฤษฎา กล่าว

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2561 จังหวัดพิษณุโลก โดยมีแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา

ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ และผู้แทนหน่วยงานใน 9 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วม

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์หมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 พฤษภาคม เป็นประจําทุกปี โดยปี 2561 แต่ละจังหวัดได้ประกาศช่วงห้ามเผาอย่างเด็ดขาด จังหวัดตาก และ จังหวัดลําปาง เป็นจังหวัดแรกที่ประกาศห้ามเผา ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์-10 เมษายน 2561 และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดสุดท้าย ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-30 เมษายน 2561 ข้อมูลผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 พฤษภาคม 2561 พบปริมาณฝุ่นละอองเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดเท่ากับ 233 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ที่ ตำบล บ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลําปาง ในวันที่ 7 มีนาคม 2561 สําหรับ