ทช.แจงปมหอยเจดีย์กองเกลื่อน คาดเหตุอพยพขึ้นหาดหนีน้ำจืด

หลังฝนตกหนักเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่าเกิดปรากฎการณ์หอยฝาเดียวจำนวนมากขึ้นกองทับถมบริเวณชายหาดประพาสใกล้กับสถานีวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งอันดามัน สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตำบลกำพวน จังหวัดระนอง

ตนจึงได้สั่งการให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องประสานกับเครือข่ายในพื้นที่ ทราบว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดภายหลังจากที่มีพายุฝนตกหนัก และลมแรง หอยที่พบ เป็นหอยเจดีย์ หรือออกชื่อเรียกหอยพลูจีบในวงศ์ Terebridae เป็นหอยที่พบได้เสมอในพื้นที่ที่เป็นหาดทรายทอดยาวตามแนวชายฝั่ง โดยอาศัยฝังตัวอยู่ในทราย

แต่ปรากฏการณ์ที่หอยเจดีย์ที่ยังมีชวิตขึ้นมากองทับถมเกิดไม่บ่อยนัก คาดว่าการเกิดปรากฏการณ์ครั้งนี้ สืบเนื่องจากมีพายุฝนลมแรง และฝนตกหนักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ในจังหวัดระนอง ปริมาณน้ำฝนจำนวนมากขังท่วมในพื้นที่ชุมชน และน้ำไหลลงคลองกำพวน ซึ่งปริมาณน้ำจืดปริมาณมากไหลงสู่พื้นที่ชายฝั่งอาจเป็นสาเหตุให้หอยชนิดนี้ที่ฝังตัวในทราย อพยพโผล่ขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงปริมาณน้ำจืด ที่สะสมอยู่ใต้หาดทราย ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้ทีมงานติดตามประสานข้อมูลเพิ่มเติมจากสถานีวิจัยและพัฒนาฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป

ไม่มีใครอยากใช้ชีวิตอยู่ในความมืด แต่ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคตาที่นำไปสู่ภาวะตาบอดได้จากหลายสาเหตุ

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตา เผยว่า สถานการณ์โรคตาในไทยตอนนี้ที่น่าเป็นห่วงคือภาวะตาบอด โดยมีสาเหตุหลักจาก 1.ต้อกระจก 52% 2.ต้อหิน 9% 3.จอประสาทตา 6%

ต้อกระจกเป็นสาเหตุภาวะตาบอดอันดับหนึ่ง สะท้อนว่าหากเราสามารถรักษาผู้ป่วยต้อกระจกได้ จะช่วยคนจากภาวะตาบอดได้มากกว่าครึ่ง

โดยมากต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตาที่ขุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนทึบแล้วทำให้มองไม่เห็น จึงมักเกิดกับผู้สูงอายุ ส่วนสาเหตุอื่นมีทั้งเกิดจากอุบัติเหตุเมื่อโดนกระทบบริเวณจอประสาทตาอย่างรุนแรง และเกิดจากยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์บางชนิด อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วขึ้น

“ดวงตาเป็นอวัยวะเล็กๆ ที่สำคัญกับร่างกายมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุถ้าตามองไม่เห็นจะช่วยเหลือตัวเองลำบากมาก จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพราะการปล่อยให้ต้อกระจกสุกมากๆ จะทำให้กลายเป็นต้อหินและมีโอกาสตาบอดถาวรได้ แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกก็สามารถผ่าตัดแล้วกลับมามองเห็นได้ จึงต้องตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ”

หมอพรเทพเล่าว่า ในอดีตการพบแพทย์นั้นลำบากและมีค่าใช้จ่ายมาก เขาเลือกทำงานในวิชาชีพนี้ เพราะอยากช่วยคนยากจนให้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องเสียเงินมาก

การเรียนจักษุแพทย์ ทำให้เขาพบว่ามีคนจำนวนมากต้องทนทุกข์กับภาวะตาบอด โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงหมอตา นอกจากความทุกข์ที่มองไม่เห็นแล้ว ญาติที่ดูแลคนตาบอดก็ต้องร่วมทนทุกข์ไปด้วย

เป็นเหตุผลในการทำ โครงการผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ ของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ออกหน่วยรักษาผู้ป่วยตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ “เป็นความฝันที่ต้องการทำมากที่สุด ทำมากว่า 14 ปี ช่วยคนมาแล้วกว่าแสนคน และช่วยคนในต่างประเทศที่มีฐานะยากจนแล้วต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะตาบอด เช่น พม่า ภูฏาน และกัมพูชา ตั้งเป้าไปอย่างน้อยปีละครั้ง ผมไม่ได้สนใจว่าเขาเป็นคนไทยหรือไม่ ไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาใด ถ้าเขาทุกข์ร้อนเราต้องช่วย” นพ.พรเทพกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

ทุกวันนี้มีคนต้องรับการผ่าตัดต้อกระจก เฉลี่ยปีละ 1.2 หมื่นคนทั่วประเทศ ในอดีต รพ.บ้านแพ้วออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกเกือบทุกสัปดาห์ เพื่อวนไปแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศอย่างทั่วถึง จนระยะหลังมีหน่วยจักษุแพทย์ในชนบทเพิ่มขึ้น จึงลดการออกหน่วยเหลือเดือนละ 2 ครั้ง ผ่าตัดครั้งละ 200-300 ดวงตา

ออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกในเมียนมาหมอพรเทพบอกว่า แม้โรงพยาบาลประจำจังหวัดจะสามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ แต่โรงพยาบาลประจำอำเภอมักไม่มีหมอตา ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลจึงพลาดโอกาส เขาเคยไปออกหน่วยที่สุรินทร์พบคุณยายคนหนึ่งตาบอดและหูหนวก มีหลานวัย 13 ขับมอเตอร์ไซค์พายายมาหาหมอ หลานเล่าว่าที่ผ่านมาไม่ได้พายายไปหาหมอในตัวจังหวัด เพราะขับมอเตอร์ไซค์ไปอาจโดนตำรวจจับ พอมีหน่วยเคลื่อนที่จึงได้พายายมารักษา

ด้วยความชำนาญของทีมแพทย์ รพ.บ้านแพ้ว ทำให้ใช้เวลาในการผ่าตัดต้อกระจกหนึ่งข้างเพียง 6-7 นาที คนไข้เปิดตาได้เร็วและมองเห็นได้ทันที ซึ่งช่วงเวลาที่พิเศษคือวินาทีที่คนไข้เปิดตาแล้วกลับมามองเห็น

“เราเดินทางไปผ่าตัดหลายพื้นที่ ชายแดนภาคใต้ก็ไปมา พบคุณยายท่านหนึ่งตาบอด มีลูกชาย 1 คน ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ด้วยความเป็นแม่จึงเลือกอยู่ดูแลลูกชายก่อนจนตัวเองตาบอด เมื่อลูกชายเสียชีวิตจึงเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก หลังผ่าตัดคุณยายพูดว่า ‘ก่อนผ่าตัดกลางวันก็มืดเหมือนกลางคืน แต่หลังผ่าตัด กลางคืนก็สว่างเหมือนกลางวัน’ สะท้อนความทุกข์ทรมานที่ต้องเจอ ทำให้รู้ว่ามีคนไข้อีกมากที่รอคอยความหวังจะกลับมามองเห็นอีกครั้ง”

กว่าจะมีทีมแพทย์ผู้ชำนาญขนาดนี้ ต้องผ่านการผ่าตัดยากๆ ท่ามกลางความเครียดและความกดดัน หมอพรเทพบอกว่า เขาพบผู้ป่วยที่สงขลาเป็นคุณยายตาบอดทั้งสองข้าง นั่งรถเข็น และร่างกายผอมมาก อีกทั้งเป็นโรคทางระบบสมอง ผงกหัวตลอดเวลา ทำให้ไม่มีแพทย์คนไหนกล้าผ่าตัดให้ จะดมยาสลบก็อาจเสี่ยงชีวิตด้วยร่างกายที่ผอมมาก

“ผมตัดสินใจผ่าให้ ตอนผ่าก็ยังโยกอยู่เลย แต่อาศัยความชำนาญ คล้ายคนหั่นผักที่คุยไปด้วยหั่นไปด้วยไม่กลัวมีดบาด ทุกวันนี้เวลาผ่าตัดผมไม่ได้มองเห็นต้อทั้งหมด ต้องอาศัยความชำนาญ เราทำเยอะ เจอเคสยากจำนวนมาก เป็นส่วนที่ทำให้เราผ่าตัดเคสแบบนี้ได้”

หมอพรเทพบอกว่า การผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธี 1.ผ่าตัดแบบขยายแผล กรีดแผลประมาณ 11 มม. เอาต้อออกมา ใช้แค่กล้องผ่าตัด 2.ใช้เครื่องสลายต้อกระจก เปิดแผล 3 มม. เครื่องจะสลายต้อเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วดูดออกมา เป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด ซึ่งบ้านแพ้วใช้เครื่องสลายต้อกระจกเกือบทั้งหมด เป็นเครื่องมือค่อนข้างแพง แต่ดีกับผู้ป่วย แผลเล็กหายเร็ว ไม่ต้องดูแลนาน ไม่เกิดภาวะสายตาเอียง ภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่ามาก

“เราใช้เลนส์พับขนาด 6 มม. เลือกใช้เลนส์ดีมากของอเมริกา เพราะเลนส์ถูกฝังในร่างกายตลอดชีวิต จึงขอให้เขาได้ใช้ตาที่ดีที่สุดอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะไปผ่าที่ไหนก็ใช้เลนส์นี้เพื่อให้คนไข้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด”

การผ่าตัดต้อกระจกด้วยเทคโนโลยีเดียวกันที่โรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 35,000 บาทต่อข้าง โดยทุกวันนี้ รพ.บ้านแพ้วได้งบสนับสนุนจาก สปสช. 9,800 บาทต่อตาหนึ่งข้างสำหรับผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะเครื่องมือบางชนิดใช้งานไปสักระยะก็ต้องซื้อใหม่ทดแทนเรื่อยๆ

“คนจำนวนมากเห็นว่าเราทำจริง ช่วยคนไข้ได้จริง ก็บริจาคเครื่องมือให้เราใช้ผ่าตัดผู้ป่วย ขนเครื่องมือไปต่างจังหวัดแต่ละครั้งมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท คนไข้จำนวนมากโชคดีที่ได้เครื่องมือที่ทันสมัย เวลาไปเราก็ตั้งใจมากที่สุด”

ด้วยชื่อเสียงในการเป็นโรงพยาบาลโรคตาชั้นนำและมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้มีผู้ป่วยเดินทางมารักษาที่ รพ.บ้านแพ้วจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 500 รายต่อวัน ทั้งที่ รพ.รองรับได้เพียง 200 ราย

“เรามีแพทย์ 14 คน แต่มีห้องตรวจแค่ 7 ห้อง หมอจึงต้องนั่งร่วมห้องกันและต้องต่อคิวผ่าตัด จึงมีการสร้าง โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว ขึ้น เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพราะการรอคอยทุกครั้งจะเปลี่ยนระยะของโรค อาจทำให้คนไข้เสียโอกาส โดยในตึกใหม่จะมีห้องตรวจ 23 ห้อง ห้องผ่าตัด 9 ห้อง ทำให้สามารถผ่าตัดได้เร็วขึ้น”

รพ.จักษุบ้านแพ้วสร้างอาคารขึ้นด้วยเงินบริจาค ตั้งเป้า 400 ล้านบาท ตอนนี้ได้มาแล้ว 280 ล้านบาท และเนื่องจากความจำเป็นจึงสร้างอาคารขึ้นมาแล้วจะค่อยๆ ระดมทุนตกแต่งให้บางชั้นใช้ได้ก่อน โดยความคืบหน้าตอนนี้ขึ้นโครงอาคารแล้ว

มติชนจึงร่วมระดมทุนจัดทำของที่ระลึกจำหน่ายในราคา 250 บาท รายได้ทั้งหมดหลังจากหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนสร้างอาคารใหม่ โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว

โดยมีกระเป๋า Tote ใบใหญ่, ชุด Travel Bags และเสื้อยืด ออกแบบโดย ยุรี เกนสาคู ศิลปินดังมาสร้างสรรค์ลวดลายแมวน้อย เสือ และม้าลาย ที่สื่อถึงอาการเจ็บตา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตา

ของที่ระลึกจะจำหน่ายในงาน“เฮลท์แคร์ 2018” ที่มาในธีมสายตาดีมีสุข รวบรวมกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพตาแบบจัดเต็ม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 28 มิ.ย.-1 ก.ค.นี้

ที่สำคัญคือ รพ.บ้านแพ้ว จะมาออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกให้ในงานฟรี 100 ราย

หมอพรเทพเปิดเผยว่า ในงานเฮลท์แคร์จะนำเครื่องมือทันสมัยไปตรวจคัดกรองเพื่อวิเคราะห์ผู้ป่วย หากมีภาวะตาบอดจากต้อกระจกจะผ่าตัดให้ และติดตามผู้ป่วยหลังผ่าตัดอีก 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปมองเห็นได้อย่างปลอดภัยโดยแท้จริง

เกษตรฯ เปิดโปรเจคยักษ์ เชิญทูตและผู้ประกอบการยางกว่า 70 คน จาก 20 ประเทศลงพื้นที่กระบี่ – ตรัง แหล่งผลิตยางสำคัญ ป้อนข้อมูลศักยภาพการผลิตและแปรรูปยางไทย เพื่อแสดงความเป็นผู้นำผู้ผลิตยางคุณภาพ หวังขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยเพิ่มขึ้น

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นให้ความสำคัญกับแนวทาง “ตลาดนำการผลิต” เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ ผลิตออกมานั้น ตรงตามความต้องการของตลาด มีตลาดรองรับเพื่อจำหน่าย สามารถสร้างอาชีพ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ซึ่งจะเป็นแนวทางให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด จึงได้สั่งการให้กำหนดจัดการประชุมโครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทยขึ้น ณ โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายนนี้

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำของไทยในฐานะผู้ผลิตยางคุณภาพและการส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลกรวมทั้งแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพาราโลก ตลอดจนสร้างความมั่นใจและประชาสัมพันธ์ถึงคุณภาพมาตรฐานและความหลากหลายของยางพาราไทย ซึ่งหากประสบความสำเร็จคาดว่าประเทศไทยจะได้ตลาดคู่ค้ายางพาราเพิ่มขึ้น

และเกษตรกรได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งลดปัญหายางล้นตลาดและราคายางตกต่ำอีกด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย คณะทูตานุทูตที่ประจำอยู่ที่ประเทศไทย ผู้ประกอบการยางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้นำเข้ายางรายใหม่ เช่น เม็กซิโก อินเดีย และอิหร่าน เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลไทย และมาตรการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ในการพัฒนายางพาราของไทย ทั้งด้านการผลิต การแปรรูปวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยที่มี มาตรฐาน คุณภาพ และความหลากหลายของสินค้ายางพาร าไทยให้นานาประเทศที่ร่วมงานครั้งนี้รับทราบแล้ว

ยังมีกำหนดการลงพื้นที่ศึกษาดูงานการผลิตและแปรรูปยางทั้งระบบในพื้นที่ จ.ตรัง อาทิ การผลิตยางแผ่นรมควัน มาตรฐาน GMP ยางเกรดพรีเมี่ยม การผลิตภัณฑ์ยางอัดก้อน และการดำเนินงานของบริษัทเอกชน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยาง

และที่สำคัญ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 การยางแห่งประเทศไทยจะจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Bussiness Matching) ระหว่างสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตยาง กับผู้ประกอบการยางต่างประเทศ อีกด้วย

“กระทรวงเกษตรฯ คาดหวังการดำเนินการครั้งนี้ จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการยางจากต่างประเทศ ผู้นำเข้ารายใหม่ และผู้นำเข้ารายใหม่จากประเทศเดิมมากขึ้น ทั้งในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และที่สำคัญ คือ ความหลากหลายของยางพาราไทย ที่ไม่เพียงการผลิตในขั้นต้นเป็นเพียงน้ำยางดิบเท่านั้น แต่ไทยสามารถพัฒนาไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราตามความต้องการของตลาดได้ รวมถึงคณะทูตานุทูตที่ร่วมงานครั้งนี้จะช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ยางพาราไทยให้เป็นที่รู้จักของต่างประเทศอีกทางหนึ่งดัวย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายช่องทางการค้าสินค้ายางพาราไทย และส่งผลต่อราคายางพาราในประเทศ เพิ่มสูงขึ้นได้อีกทางหนี่ง” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ราคาสินค้าเกษตรหลักหลายชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังซื้อมากขึ้น โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปัจจุบัน อยู่ที่ตันละ 18,700 บาท เพิ่มจากเดิม ตันละ 12,000-14,000 บาท เป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 10 ปี ส่วนข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ย ตันละ 8,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ นอกจากนี้ มันสำปะหลังราคา กก.ละ 3.20 บาท สูงสุดในรอบ 10 ปี เช่นเดียวกัน ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา กก.ละ 9.5-9.7 บาท ราคาหน้าโรงงานสูงกว่า กก.ละ 10 บาท และราคาปาล์มดิบขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 4.20 บาทแล้ว สาเหตุที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการระบายข้าวที่ตกค้างนานปีจนหมดสต๊อก และยังชนะการประมูลขายข้าวให้กับต่างประเทศ รวมถึงการวางแผนคาดการณ์แนวโน้มตลาด เพิ่มช่องทางการตลาด และส่งออกไปตลาดใหม่ๆ จึงช่วยให้สินค้ามีราคาดีขึ้น

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังได้ผลักดันโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ช่วยร้านโชห่วยที่มีปัญหาให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ และยังใช้เป็นกลไกช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน เพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าทั้งในชุมชนและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ เช่น ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย แม่บ้านมืออาชีพ เป็นต้น สำหรับการส่งออกสินค้าก็มีข่าวดีด้วยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าถึง 81,780 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.5 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี และรัฐบาลมั่นใจว่าจะผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ ร้อยละ 8 ภายในปีนี้ นายกฯ ได้กำชับไว้ว่า ขอให้หน่วยราชการและภาคเอกชนช่วยกันส่งเสริมสินค้าเกษตรที่ยังมีราคาตกต่ำ เช่น สับปะรด ให้มีราคาสูงขึ้น เหมือนกับผลไม้ประเภทอื่น โดยอาจรณรงค์ให้เกษตรกรมีตลาดขายตรงสู่ผู้บริโภค หรือใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมทั้งขอให้เกษตรกรปลูกพืชโดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดและช่วงเวลาที่จะขายด้วย เพื่อไม่ให้สินค้าล้นหรือขาดตลาดทำให้ราคาสินค้าได้รับผลกระทบไปด้วย

ผู้เลี้ยงหมูภาคตะวันตก ลงมติขยับราคา กก.ละ 2 บาท 3 รอบ เป็น 60 บาท/กก. กอบกู้ราคาหน้าฟาร์ม เร่งกรมปศุสัตว์ขึ้นทะเบียนฟาร์ม จำกัดแม่พันธุ์ ใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม คุม EIA ฟาร์มด้วย

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน ราคาหมูมีชีวิตในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี ถูกกดดันจากพ่อค้าและโบรกเกอร์ กดราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มลงมาจนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไม่สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรได้ อีกทั้งมีปัญหาเรื่องโรค ปัญหาการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐอเมริกาที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย ในอนาคตกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในภาคตะวันตกและทั่วประเทศจะอยู่อย่างลำบาก สัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมจึงได้เรียกประชุมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ภาคตะวันตก เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตราคาจำหน่ายสุกรหน้าฟาร์มให้มีความเป็นธรรมกับผู้เลี้ยงมากขึ้น

ราคาสุกรมีชีวิตภาคตะวันตกที่เกษตรกรขายหน้าฟาร์มสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ กก.ละ 54 บาท ต่ำที่สุดของประเทศ ที่ประชุมมีมติให้ขยับราคาขึ้นครั้งละ 2 บาท/กก. รวม 3 ครั้ง รวม 6 บาท เริ่มตั้งแต่วันพระที่ 20 มิ.ย. 2561-วันพระที่ 5 ก.ค. 2561 รวมขึ้น 6 บาท เป็น กก.ละ 60 บาท สอดคล้องกับการที่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องที่มี น.สพ. จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ไขราคาสุกรตกต่ำ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ที่มีมติขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้รับซื้อสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ที่ กก.ละ 60-63 บาท และราคาเนื้อสุกรชำแหละที่ กก.ละ 120 บาท บวกลบ 2 บาท

ทางพ่อค้าคนกลางหรือล้งที่รวบรวมสุกรจากฟาร์มเลี้ยงหลายแห่ง โบรกเกอร์ มักจะกล่าวโทษโรงเชือดกดราคา ขณะที่โรงเชือดก็อ้างห้างโมเดิร์นเทรดกดราคา ดังนั้น นอกจากกรมปศุสัตว์จะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่แล้ว กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรก็ต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามแนวทางนี้ด้วย

สถานการณ์เช่นนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ในระยะยาวขอให้กรมปศุสัตว์เร่งขึ้นทะเบียนฟาร์มสุกรทั่วประเทศ เพื่อคุมปริมาณการผลิตแม่พันธุ์ ไม่ควรมีปริมาณมากกว่า 1-1.1 ล้านแม่ ซึ่งจะได้ปริมาณหมูขุนไม่เกินปีละ 20 ล้านตัว ภายในปีนี้ เท่ากับมีการบริโภคเนื้อหมู ประมาณ 20-22 กก./คน/ปี รวมทั้งการนำกฎหมายด้านปศุสัตว์มาพิจารณาประกอบว่า ฟาร์มที่สร้างใหม่ต้องมีพื้นที่บำบัดน้ำเสียรองรับปริมาณการเลี้ยงเท่าใด การเข้มงวดโดยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง นอกจากจะถูกปรับ 5,000 บาท ต้องมีการจำคุก 6 เดือน-1 ปีด้วย หากปรับเพียงอย่างเดียว ผู้เลี้ยงที่ฝ่าฝืนใช้ยังกล้าเสี่ยงที่จะใช้อยู่ เพราะยังมีกำไรเหลือพอสมควร นอกจากนี้ ควรจะนำกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาใช้บังคับ ฟาร์มเลี้ยงสุกรที่สร้างใหม่ ต้องผ่านการทำ EIA ให้ผู้ใหญ่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองก่อน

ปมร้อนระหว่าง “สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ที่เสนอให้ปรับลดสัดส่วนที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร อัตราส่วน 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1) ให้เหลือ 2 ต่อ 1 แทน เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรม และ “สมาคมการค้าพืชไร่” ที่เสนอให้คงมาตรการ 3 ต่อ 1 ไว้ พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐ

ย้อนกลับไปขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลี 27% ตามเดิม ปี 2550 เพื่อลดผลกระทบต่อชาวไร่ข้าวโพดยังไม่ทันจาง ล่าสุด สภาเกษตรกร ร้องให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้ตรวจสอบประเด็นการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ที่เพิ่งมีเป็นปีแรกด้วย

นำเข้าข้าวสาลี 2 ต่อ 1

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 “บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” อธิบดีกรมการค้าภายใน ปฏิเสธกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่ากระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพิกเฉยต่อการ “ขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลี” โดยอธิบายว่า ไทยได้ทำข้อตกลงภายใต้องค์การค้าโลกว่า หากนำเข้าสินค้าข้าวสาลี (พิกัด 1001) จะมีภาษีนำเข้า 27% ตั้งแต่ ปี 2538 ต่อมาทยอยลดลงมาเรื่อย ตั้งแต่ปี 2542 กระทั่ง 12 กันยายน 2550 กระทรวงการคลัง ประกาศ “ยกเลิกอัตราอากรข้าวสาลี” เนื่องจากไทยไม่สามารถผลิตได้ จึงต้องมีการนำเข้าข้าวสาลีมาเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการนำเข้านั้นแยกพิกัดกับข้าวสาลีที่ใช้ในการผลิตอาหารคน และอาหารสัตว์ชัดเจน

ทั้งนี้ ระหว่าง ปี 2555-2560 มีการนำเข้าข้าวสาลีรวมทุกชนิด (สำหรับอาหารคนและสัตว์) ปริมาณ 17.8 ล้านตัน มูลค่า 153.126 ล้านบาท และเฉพาะข้าวสาลีสำหรับผลิตอาหารสัตว์ นำเข้า 11.8 ล้านตัน มูลค่า 91.793 ล้านบาท แต่ภายหลังจากรัฐดำเนินมาตรการ 1 ต่อ 3 เมื่อปี 2560 พบว่า ปริมาณนำเข้าข้าวสาลีมีเพียง 1.66 ล้านตัน ลดลงจาก ปี 2559 ที่มีปริมาณ 3.55 ล้านตัน หรือลดลง 1.89 ล้านตัน คิดเป็น 53.24%

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นบขพ. เห็นชอบให้คง มาตรา 3 ต่อ 1 ต่อไป แต่ได้ “เปิดช่อง” ให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 2 ส่วน เพื่อจะได้สิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรา 2 ต่อ 1) เฉพาะช่วงวันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. 2561 เท่านั้น หลังจากนั้น ให้กลับไปใช้สัดส่วน 3 ต่อ 1 ตามเดิม โดยมั่นใจว่าวิธีการนี้จะไม่กระทบราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ แม้จะออกมาในช่วงเดือน มิ.ย. 2561 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพด ซึ่งเก็บเกี่ยวกันยาวไปจนถึงเดือน ก.ย. 2561

ในวันเดียวกันนั้น “น.สพ.สรวิศ ธานีโต” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ออกมาชี้แจงว่า “บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด” ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่นำเข้าข้าวบาร์เลย์จากออสเตรเลียเมื่อเดือนพฤษภาคม 125,380 ตัน ได้ระบุว่า ใช้ทำอาหารสัตว์อย่างชัดเจน เป็นไปตามที่ได้ขึ้นทะเบียนสูตรอาหารสัตว์ไว้ อีกทั้งจากการสุ่มตรวจข้าวบาร์เลย์ที่นำเข้ามากก็ไม่พบสารพิษจากเชื้อราด้วย

สาเหตุที่ต้องนำเข้าข้าวบาร์เลย์ เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดลดลง และระดับราคาข้าวโพดสูงขึ้น กก.ละ 10 บาท จากเดิม 8.00 บาท ขณะที่ราคาข้าวบาร์เลย์นำเข้า กก.ละ 8.50 บาท

ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ดิ่ง

ประเด็นที่น่าจับตามอง คือ การเปิดช่องให้นำเข้าข้าวสาลี “บางช่วงเวลา” ช่วยลดความตึงตัวของวัตถุดิบของโรงอาหารสัตว์ได้ก็จริง เพราะจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรสรุปว่า แต่ละปีไทยต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ผลิตอาหารสัตว์ 8.25 ล้านตัน แต่ผลผลิตข้าวโพด ปี 2561/2562 มีปริมาณเพียง 5 ล้านตัน ยังขาดวัตถุดิบอีก 3 ล้านตัน ดังนั้น หากให้นำเข้าข้าวสาลีตามสัดส่วน 3 ต่อ 1 เท่ากับผู้ผลิตอาหารสัตว์จะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1.5-1.8 ล้านตัน และเมื่อรวมปริมาณข้าวสาลีนำเข้า 1.5-1.6 ล้านตัน กับผลผลิตข้าวโพด 5 ล้านตัน จะมีวัตถุดิบ 6.5-6.8 ล้านตัน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการผลิตอาหารสัตว์ที่มี 8.25 ล้านตัน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตต้องหันไปนำเข้าข้าวบาร์เลย์มามากขึ้น