ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการบินเมื่อเดือนพฤษภาคม

พ.ศ. ๒๕๔๗ ในฐานะนักบินโบอิ้ง 737-400 จากการบินไทย และทรงผ่านการตรวจสอบจากการขนส่งทางอากาศ กับทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก และในปีถัดมา พระองค์ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรกัปตัน และทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งนักบินที่ ๑ จากการบินไทย ใน พ.ศ. ๒๕๔๙ ทั้งนี้ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ ๑ อย่างดีเยี่ยมสม่ำเสมอ รวมชั่วโมงบินกว่า ๓,๐๐๐ ชั่วโมง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงยึดแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการดูแลช่วยเหลือราษฎรโดยมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ เช่น ศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาด้านเกษตรกรรมเกษตรกรวิชญา บ้านกองแหะ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีรา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

ซึ่งราษฎรน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สำหรับพระราชภารกิจด้านการสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ และเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วยพระองค์เองทุกแห่ง ซึ่งอำนวยประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพที่ดีแก่เหล่าราษฎรในพื้นที่ห่างไกล

พระราชภารกิจด้านการศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ห่างไกลในชนบท และยังทรงอนุเคราะห์โรงเรียนมัธยมที่กระทรวงศึกษาธิการน้อมเกล้าฯ ถวายจำนวน ๖ โรงเรียน ให้เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ได้แก่ ๑. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๑ นครพนม อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ๒. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๒ กำแพงเพชร อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ๓. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๓ สุราษฎร์ธานี อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๔. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา อำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา ๕. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๓ ฉะเชิงเทรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ ๖. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๑ อุดรธานีอำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังมีพระราชภารกิจอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่เหล่าอาณาประชาราษฎรอีกมาก ซึ่งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ในระยะแรกยังมิได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจะประกอบพระราชพิธีอันสำคัญนี้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่แสดงถึงการเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองรัฐโดยสมบูรณ์ผ่านทางพิธีกรรมอันเป็นคติเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ที่สะท้อนความเป็นองค์สมมุติเทพของผู้ปกครอง ในการพระราชพิธีประกอบด้วยพระราชพิธีหลักคือ การจารึกพระนามพระมหากษัตริย์ในพระสุพรรณบัฏ และแกะตราพระราชลัญจกร จากนั้นจึงถวายน้ำสรงพระมูรธาภิเษก ที่รวบรวมจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร ผสมผสานกับน้ำจากแม่น้ำในประเทศอินเดียที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๕ สาย ก่อนจะถึงขั้นตอนการถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พัดวาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน รวมถึงการถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พร้อมด้วยเครื่องราชูปโภคต่างๆ ที่สะท้อนถึงสัญลักษณ์ความเป็นพระมหากษัตริย์ ก่อนจะเฉลิมพระราชมณเฑียรที่เปรียบดั่งการขึ้นบ้านใหม่ และการเสด็จเลียบพระนครซึ่งเป็นการประกาศพระบารมีพร้อมทั้งให้พสกนิกรชื่นชมพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วยพร้อมกัน

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันเป็นวโรกาสสำคัญครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธี ตามที่ปรากฏในประกาศของสำนักพระราชวัง ลงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ดังนี้

วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

ส่วนการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปี พุทธศักราช ๒๕๖๒
เมื่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเริ่มต้นขึ้นพสกนิกรชาวไทยจะได้ชื่นชมกับขนบธรรมเนียมอันเป็นโบราณราชประเพณีที่ว่างเว้นไปหลายสิบปีพร้อมกับได้ประจักษ์ถึงพระบารมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณแก่เหล่าพสกนิกรเป็นล้นพ้น

กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร. กรมศิลปากรจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๑๕), หน้า ๑๔๓.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม”, ใน รวมเรื่องราชาภิเษก ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชานุกิจ และอธิบายว่าด้วยยศเจ้า. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศตรี จำนง ผุสสราค์มาลัย. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๖), หน้า ๘๒.
กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร, หน้า ๑๔๔-๑๔๗.
วารสารศิลปากร ปีที่ ๘ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๙๗ อ้างถึงใน กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร. หน้า ๑๕๑.
http://news thaipbs.or.th สืบค้นเมื่อ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร, หน้า ๑๕๔-๑๖๐.
www.weddinglist.co.th/ สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร, หน้า ๑๖๙-๑๗๐.
http://news thaipbs.or.th ค้นเมื่อ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
กรมศิลปากร. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร, หน้า ๑๖๐-๑๖๑.
www.weddinglist.co.th/ สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
เรื่องเดียวกัน.
เรื่องเดียวกัน.
เรื่องเดียวกัน.
เรื่องเดียวกัน.
www.pptvhd36.com/news สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
www.wikipedia.org สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
www.thairath.co.th สืบค้นเมื่อ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

“หม้ำ” หรือ “หม่ำ” (ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน) เป็นอาหารชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือน “ไส้กรอก” แต่มีเครื่องปรุงที่สำคัญ คือ ตับสับ ม้ามสับ เนื้อสับ ปรุงเครื่องแล้วยัดใส่ในถุงกระเพาะหมู แล้วเก็บไว้กินกันเป็นแรมเดือน นั่นถือเป็นอาหารประเภทไส้กรอกของแท้พื้นเมืองของคนอีสานแน่นอน จึงมีชื่อเรียกตามภาษาพื้นเมืองขึ้นมาว่า “หม่ำ”

หม่ำ นั้น ถือเป็นอาหารประเภทไส้กรอก เป็นไส้กรอกประเภทเครื่องปรุงชูรส มีส่วนผสมที่สำคัญคือ ตับกับม้าม ดังนั้นบางครั้งชาวบ้านก็เรียกหม่ำอีกชื่อหนึ่งว่า “ตับม้าม” และเพราะหม่ำเป็นอาหารที่กินเปรี้ยว ชื่อหม่ำจึงถูกเรียกว่า “จ่อม” ซึ่งมีความหมายว่าเปรี้ยวอีกด้วย

หม่ำ เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวอีสานในการใช้ประโยชน์จากเนื้อสัตว์อย่างคุ้มค่า และหม่ำยังเป็นการเก็บรักษาอาหารไว้กินนานๆ ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งที่เห็นชัดของอาหารพื้นบ้านทางอีสาน คือมักเป็นอาหารที่ผ่านการหมักดองเพื่อเก็บถนอมอาหาร เช่น ปลาแดก ปลาส้ม เป็นต้น เพียงแต่หม่ำเป็นวิธีหมักแบบแห้ง ต้องผึ่งแดดและใช้เครื่องในเป็นส่วนผสม

ชาวอีสานหลายคนเล่าให้ฟังว่า หม่ำมีมานานก่อนไส้กรอกหมู ซึ่งก็มีเหตุผลรองรับอยู่พอสมควร เพราะหากจะดูกันจริงๆ แล้ว วิถีชีวิตของคนไทยซึ่งมักพึ่งพาอาศัยการทำนามานั้น เกี่ยวพันกับสัตว์ประเภทวัวควายอยู่มาก

หม่ำ ของชาวอีสานโบราณ ส่วนมากจะทำจากเนื้อวัว และเนื้อควาย สำหรับกรรมวิธีในการหม่ำเนื้อ ก็จะใช้ตับวัวบด ม้ามบด เนื้อแดงบด เกลือ กระเทียม ข้าวคั่ว ยัดใส่ไปในถุงน้ำดี หรือไส้วัว และต่อมามีการพัฒนากรรมวิธีการปรุงโดยการใช้หมู ซึ่งก็อาจเป็นเพราะคนบริโภคเนื้อน้อยลง คนอีสานโบราณจะนิยมทำหม่ำกันเมื่อมีการจัดงานบุญ ซึ่งส่วนมากจะเป็นหม่ำเนื้อ เมื่อมีการล้มวัวควาย เช่น ในงานแต่ง งานบวช และงานบุญอื่นๆ จะเก็บส่วนที่เป็นเนื้อสันใน และสันนอก เอาออกไว้ เพื่อนำมาทำหม่ำ ซึ่งเป็นอาหารตามประเพณีของชาวบ้านภาคอีสาน ที่ถือว่าเป็นอาหารชั้นดี เก็บไว้กินได้นาน

สำหรับ “หม่ำ” และ “ไส้กรอก” เป็นเมนูอาหารจานโปรดขึ้นชื่อของชาวอีสานมานาน นิยมรับประทานกันทั่วไป ผลิตจากเนื้อวัว หรือหมู ผ่านการบด หมัก พร้อมปรุงรสแล้วนำมายัดเข้าไปในไส้เทียม หรือไส้แท้ มัดเป็นท่อนๆ รอ 3 -7 วัน มีรสชาติออกเปรี้ยวนิดๆ นำมาทอด ย่าง หั่นเป็นท่อนๆ กินเป็นกับแกล้ม หรือกับข้าวก็ได้ ที่พบเห็นส่วนมากจะนิยมซื้อเป็นของฝากประจำถิ่น

หม่ำ นับว่าเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวอีสานที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานาน ปัจจุบัน จะเห็นว่านอกจากหม่ำที่ทำจากเนื้อวัวและควายแล้ว หม่ำที่ทำจากเนื้อหมูก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าภูมิปัญญาของชาวบ้านในการแปรรูปอาหารที่ใช้เนื้อสัตว์ ผสมตับ ม้าม กระเทียม ข้าวคั่ว เกลือ แล้วยัดใส่ในกระเพาะสัตว์นั้น จะเป็นที่นิยมบริโภคมากที่สุด ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่สำคัญยังนิยมซื้อเป็นของกินของฝาก จนทำให้หม่ำ เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหารพื้นบ้านที่สำคัญ ของภาคอีสานในปัจจุบัน

จากที่ได้พูดคุยกับคนอีสาน ทำให้รู้ว่า “หม่ำ” เป็นอาหารพื้นเมืองของคนอีสาน หม่ำ ดูจากภายนอก มีลักษณะเหมือนไส้กรอก แตกต่างกันที่ หม่ำจะเป็นเนื้อล้วนไม่ได้ใส่มันลงไปเหมือนไส้กรอก แต่ที่เหมือนกันแน่ๆ ก็คือ ทั้งหม่ำและไส้กรอก จะถูกยัดใส่ลงไปอยู่ในไส้หมู แต่บางทีก็พบว่ามีการทำเป็นลูกกลมๆ ขนาดใหญ่คล้ายลูกตุ้ม ซึ่งดูไม่เหมือนไส้กรอกเท่าไร

หม่ำ เป็นการนำเนื้อวัวหรือควายหรือเนื้อหมูสับให้ละเอียด ผสมกับตับสับ ม้ามสับ กระเทียม ข้าวเหนียวนึ่ง ข้าวคั่ว คลุกเกลือ กระเทียม ขยำให้เข้ากัน แล้วยัดในไส้หรือกระเพาะหมู หม่ำจะมีลักษณะแห้ง เวลาซื้อต้องเลือกที่แห้งสนิท เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 3 เดือน การเลือกซื้อ ควรเลือกที่มีสีไม่แดง เพราะถ้าแดงแสดงว่าใช้ตับแก่ รสจะขม

หม่ำ เป็นอาหารพื้นบ้านท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยให้โปรตีนและวิตามินซี

เครื่องปรุงและส่วนผสมที่ใช้ในการทำก็หาได้ง่ายในท้องถิ่น ที่สำคัญสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้หลายวัน จะรับประทานสุกหรือดิบก็ได้ ถ้าจะให้ดีควรปรุงให้สุกก่อนรับประทาน “หม่ำ” นอกจากจะทำรับประทานในครอบครัวแล้ว ยังสามารถจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทางด้วย

“หม่ำ” คือ กรรมวิธีการถนอมอาหารของบรรพบุรุษชาวอีสานในสมัยโบราณโดยแท้ นอกจากการนำเนื้อสัตว์ที่เหลือจากรับประทานในแต่ละมื้อมาเก็บรักษาโดยการตากแห้งแล้ว ยังได้คิดเอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นมาสับ ผสมเครื่องปรุงที่มีในครัวอยู่แล้ว ได้แก่ เกลือ กระเทียม ข้าวเหนียว ข้าวคั่ว แล้วนำมายัดใส่ในลำไส้ใหญ่หรือกระเพาะสัตว์ เพื่อจะได้เก็บไว้ให้ได้นานที่สุดจนทำให้มีรสชาติออกเปรี้ยว อร่อย จึงเรียกว่า “หม่ำ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การที่คนอีสานแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์ทำเป็นหม่ำ ก็เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีตู้เย็นในการเก็บรักษาอาหารสด จึงหาวิธีการถนอมอาหารโดยการนำเนื้อสัตว์มาหมัก เพื่อเก็บไว้รับประทาน และต่อมาได้คิดค้นวิธีการทำหม่ำขึ้น โดยทำไว้กินเองและมีการแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน ซึ่งหม่ำก็มีรสชาติเป็นที่ถูกใจ จนทำให้หม่ำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกยางเดิมและดินพื้นที่ปลูกยางใหม่ เป็นดินเสื่อมโทรม มีความสมบูรณ์ต่ำ อันเกิดจากดินขาดอินทรียวัตถุ เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน การสูญเสียธาตุอาหารพืชโดยติดไปกับผลผลิตสภาพแวดล้อมธรรมชาติเปลี่ยนแปลง สภาวะโลกร้อนทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต ทำให้ต้นทุนในการผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน ตลอดจนไม้ผลสูง

การปลูกพืชคลุมดินในสวนยาง เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในสวนยาง ทั้งนี้ เศษซากพืชคลุมดินเมื่อย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุจะช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน ช่วยปรับโครงสร้างดินและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ยเคมี ส่งผลให้การเจริญเติบโตดี เปิดกรีดได้เร็วขึ้นและให้ผลผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้นด้วย การปลูกพืชคลุมดินไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน รักษาความชื้นในดิน ควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดวัชพืช ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในดิน ได้แก่ จุลินทรีย์ เช่น เชื้อรา และแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น มด แมลง หนอน ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ และยังช่วยเพิ่มฮิวมัสให้แก่ดินอีกด้วย

สถาบันวิจัยยาง ได้มีการแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชคลุมดินในสวนยางช่วงเวลาเดียวกันกับการปลูกยาง โดยปลูกในระหว่างแถวยางที่ไม่มีการปลูกพืชแซมยาง พืชคลุมดินที่นิยมปลูกในสวนยาง ได้แก่ พืชคลุมดินตระกูลถั่ว เช่น คาโลโปโกเนียม เซ็นโตรซีมา และเพอราเรีย เป็นต้น ปัจจุบัน มีพืชคลุมดินอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับนำมาปลูกในสวนยาง คือ ซีรูเลียม (Calopogonium caeruleum) เป็นพืชคลุมดินที่สามารถเจริญเติบโตคลุมดินได้ดี และช่วยเพิ่มธาตุอาหารตลอดจนอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้ดีกว่าพืชคลุมดินชนิดอื่นๆ

ซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินตระกลูถั่ว อายุข้ามปีและเป็นพืชวันสั้น มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ รากจะมีปมตรึงไนโตรเจนจากอากาศ สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะของลำต้นเป็นเถาเลื้อยแข็งแรง เห็นขนไม่ชัด ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันคล้ายใบโพธิ์ ใบค่อนข้างหนา ดอกเป็นช่อสีม่วง ซีรูเลียมจะเริ่มออกดอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฝักจะมีลักษณะแบนยาวมีสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่ ฝักจะแตกออกมาเองเมื่อแห้งจัด เมล็ดมีขนาดใหญ่ เปลือกหุ้มเมล็ดหนา เมล็ดมีสีเหลืองจนถึงน้ำตาล ผิวเรียบเป็นมัน น้ำหนัก 1 ก.ก. จะมีเมล็ดประมาณ 28,420 เมล็ด ระบบรากมีทั้งรากแก้วและรากฝอย

ซีรูเลียม มหัศจรรย์พืชคลุมดินในสวนยาง

ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย ให้ข้อมูลว่า พืชคลุมดินซีรูเลียม มีการนำเข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทย ในปี 2519 จนถึงปัจจุบัน จากการทดลองปลูกปรากฏว่าควบคุมวัชพืชได้ดี ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุอาหารในดิน ช่วยลดปัญหาการเกิดไฟไหม้ในสวนยาง และยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ

สามารถควบคุมวัชพืชได้ดี

คุณสมบัติพิเศษของซีรูเลียม จากการทดลองปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในระหว่างแถวต้นยางและไม้ผล พบว่า เมื่อพืชคลุมซีรูเลียมเจริญเติบโตเต็มที่จะคลุมดินได้หนาแน่นจนวัชพืชอื่นไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และยังสามารถควบคุมวัชพืชในระหว่างแถวยางและไม้ผลได้ถาวรตลอดไป เมื่อเปรียบเทียบกับพืชคลุมดินชนิดอื่นๆ พบว่า พืชคลุมดินซีรูเลียมสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีที่สุด ดังนั้นซีรูเลียมจะประหยัดในการจ้างแรงงานกำจัดวัชพืช ช่วยลดการใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชในสวนยาง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นการลดต้นทุนการผลิตไปในตัวด้วย

ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง และร่มเงา

พืชคลุมดินโดยทั่วไปไม่ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง พืชคลุมดินจะแห้งตายในฤดูร้อน ซากกองพืชคลุมจะเป็นเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดไฟไหม้สวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน และสวนไม้ผลที่ปลูกพืชคลุมเหล่านี้

จากการศึกษาและประสบการณ์ในการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในระหว่างแถวยางและไม้ผล พบว่า พืชคลุมซีรูเลียมมีอายุยืนยาว และมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ปลูกยางใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

พืชคลุมโดยทั่วไปไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มเงา โดยปกติพืชคลุมจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อปลูกในระหว่างแถวยางที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ เมื่อต้นยางเจริญเติบโตมีร่มเงาเกิดขึ้นในระหว่างแถวพืชคลุมอื่นมักจะตายหรือเจริญเติบโตไม่ดี แต่พืชคลุมซีรูเลียมไม่ตายและยังคงสามารถเจริญเติบโตและควบคุมวัชพืชได้ดีในสภาพร่มเงา สามารถคลุมพื้นที่ได้ภายใน 4-6 เดือน ขณะเดียวกันก็เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สวนยางพาราจากการที่ปมรากจะช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และการย่อยสลายตัวของเศษซากพืชคลุม

ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมเปิดกรีดยางได้เร็วขึ้น

จากการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของต้นยางในแปลงที่มีพืชคลุมตระกูลถั่วและแปลงหญ้าคา ในสวนยางที่ปลูกพืชตระกูลถั่วจะมีการเจริญเติบโตเป็นสองเท่าของสวนยางที่มีหญ้าคาปกคลุม และสามารถเปิดกรีดยางภายใน 6-7 ปี และกรีดยางได้ก่อนสวนยางที่มีหญ้าคาขึ้นปกคลุม ประมาณ 3-4 ปี

จากการทดสอบการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในแปลงเอกชนที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ปรากฏว่า สามารถเปิดกรีดยางได้ก่อนแปลงของเกษตรกรที่ไม่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียม ประมาณ 1 ปี และผลผลิตในแปลงที่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมให้ปริมาณน้ำยางที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียม

ระบบรากฝอยหนาแน่น ป้องกันการพังทลายหน้าดิน

โดยปกติฝนตกในบริเวณสวนยาง ทรงพุ่มต้นยางจะช่วยซับและรับปริมาณน้ำฝนส่วนหนึ่งไว้ที่ใบ น้ำฝนบางส่วนจะระเหยก่อนลงสู่พื้นดิน บางสวนจะไหลลงมาตามลำต้น และบางส่วนจะตกผ่านทรงพุ่มลงสู่พื้นดิน การปลูกซีรูเลียมในระหว่างแถวยางจะช่วยรับน้ำที่ผ่านทรงพุ่มชั้นหนึ่งก่อนลงสู่พื้นดิน เนื่องจากพืชคลุมซีรูเลียมมีคุณสมบัติคลุมอย่างถาวร มีพื้นที่ใบคลุมดินหนาแน่น ซากพืชซีรูเลียมที่แห้งตายถูกปลดปล่อยลงไปช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ช่วยในการดูดซับและเก็บกักน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ รากฝอยที่หนาแน่นของซีรูเลียมจะช่วยยึดอนุภาคและโครงสร้างของดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้ดีขึ้น

โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียม

จากคุณสมบัติที่ดีกว่าพืชคลุมดินอื่นๆ ซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินที่เหมาะสมที่จะปลูกในสวนยางพาราในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ (ปีที่ 1-6) เมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมจึงเป็นที่ต้องการของเกษตรกรชาวสวนยาง แต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับช่วงแสงและอากาศ ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและมีราคาสูง

เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมค่อนข้างจะได้ผลดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สถาบันวิจัยยางจึงได้เริ่มโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมขึ้น ในปี 2554 เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเมล็ดพันธุ์และทำการผลิตพันธุ์ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมอบให้ศูนย์เรียนรู้ยางพาราโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรทั่วประเทศ ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมเพื่อสนองความต้องการเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร

คุณกัลยารัตน์ หมื่นวณิชกูล เลขานุการคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้ยางพารา โดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ยางพาราฯ โดยการดำเนินงานของศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับข้อจำกัดของการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียม ในปี 2554 การผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ คือ

1.เมล็ดจะมีความงอกต่ำ เนื่องจากสารที่เปลือกหุ้มเมล็ดบางชนิดไม่ยอมให้น้ำและอากาศผ่าน

2.เปอร์เซ็นต์การติดเมล็ดน้อย ซึ่งเกี่ยวกับช่วงแสงในแต่ละพื้นที่ และความต้องการอากาศที่เย็นในช่วงการออกดอก ทำให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีราคาสูงถึง กก.ละ 500-700 บาท

“จากการศึกษาเกี่ยวกับข้อจำกัดดังกล่าว เราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และทำให้ได้ผลผลิตประมาณ 40 กก./ไร่” คุณกัลยารัตน์ กล่าว

การขยายพันธุ์ซีรูเลียมระดับเกษตรกร

ถ้าเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้กล้าซีรูเลียมไปขยายพันธุ์สามารถทำได้ไม่ยาก คุณกัลยารัตน์ อธิบายว่า การขยายพันธุ์ซีรูเลียม ถ้าเราปลูกคลุมดินในสวนยาง ธรรมดาก็จะออกดอกและติดฝัก แต่ติดไม่มากเมื่อเราปล่อยให้เลื้อยไปตามพื้นดิน ซีรูเลียมจะเจริญเติบโตทางด้านลำต้นมากกว่าที่จะไปผลิตดอกออกฝัก แต่ถ้าเราต้องการขยายพันธุ์ เราก็ต้องทำค้างเหมือนกับค้างถั่วหรือค้างผัก จะทำให้ติดฝักได้มาก ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีได้ทดลองปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์โดยขึ้นค้าง จะได้เมล็ด 50 กก./ไร่ ดังนั้น การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดสามารถเจริญเติบโตได้ดี ออกดอกและติดเมล็ดได้ดีกว่าขยายพันธุ์โดยวิธีปักชำลำต้น ขณะนี้ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรากำลังทดลองผลิตเมล็ดพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การขึ้นค้างเพื่อเก็บเมล็ด จำเป็นต้องทำนอกสวนยางหรือไม่

“ไม่จำเป็น” คุณกัลยารัตน์ บอก

แต่ถ้าต้นยางอายุมากแล้วจะมีร่มเงามาก ซีรูเลียมจะเจริญทางลำต้นมากกว่า เราปลูกพร้อมปลูกยางขึ้นค้างได้เลย ร่มเงาของต้นซีรูเลียมก็จะทำให้วัชพืชไม่ขึ้นได้เหมือนกัน การปลูกพืชคลุมดิน ศูนย์ฯ ได้ทดลองปลูกเป็นแถว ระยะห่าง 50 ซม. ต่อหลุม ทดลองปลูกประมาณ 2 เดือน ก็คลุมดินได้หมดแล้ว

ชวนเกษตรกรชาวสวนยางผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นการค้า

ขณะนี้ความต้องการเมล็ดพันธุ์พืชคลุมซีรูเลียมมีมากขึ้น แต่ศูนย์เรียนรู้ยางพาราฯ ยังไม่สามารถแจกจ่ายให้เกษตรกรได้ เนื่องจากยังอยู่ในระยะขยายผล หากเกษตรกรสนใจที่จะปลูกพืชคลุมซีรูเลียมเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นการค้า ติดต่อสอบถามขอคำแนะนำได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี โทร. 045-202187