ทอดน่อง-ชมตลาดย้อนยุค วิถีมุสลิม ‘บ้านสะพานเคียน’

ช้อปสินค้าพื้นถิ่น-ขนมโบราณตำบลควนโดน เป็นหนึ่งใน 4 ตำบล ของอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เล่ากันสืบมาว่า ชื่อนี้มาจากพื้นที่ในอดีตมีต้นโดนขึ้นหนาแน่นจนถูกนำมาเรียกขานเป็นชื่อหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอในเวลาต่อมา ตำบลควนโดนมีพื้นที่กว่า 26,000 ไร่ แบ่งเขตปกครอง 10 หมู่บ้าน ห่างจากเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย (รัฐเปอร์ลิส) 22 กิโลเมตร ประชากรนับถือศาสนาอิสลามกว่า 95% ตำบลนี้ยังเป็นที่ตั้งมัสยิดมากถึง 8 แห่ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา ปลูกข้าว ทำสวนผลไม้ ค้าขาย และรับจ้าง จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิต

ด้วยความห่วงใยสังคมวัฒนธรรม วิถีดั้งเดิมที่อาจสูญหายไปตามยุคสมัย หน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชน จึงร่วมกันสร้างพื้นที่อนุรักษ์ขึ้นในพื้นที่บ้านสะพานเคียน หมู่ที่ 2 ตำบลควนโดน ในรูปแบบของ “ตลาดย้อนยุค” ริมคลอง ด้านหน้ามัสยิดบ้านสะพานเคียน ตลาดแห่งนี้นับเป็นแหล่งอาหาร สินค้าท้องถิ่น ที่เน้นใช้วัสดุธรรมชาติในการบรรจุ ห่อสินค้าต่างๆ เพื่อส่งเสริมอาชีพชาวชุมชน และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความพออยู่ พอมี พอกิน ใช้วัสดุที่อยู่ในชุมชนแทนกล่องโฟม

ที่สำคัญ ตลาดแห่งนี้มีขนมโบราณที่กำลังสูญหาย และขนมพื้นถิ่นที่หารับประทานได้ยาก จะหารับประทานได้เฉพาะในเทศกาลสำคัญเท่านั้นมารวมกัน อาทิ ขนมครกฝากใหญ่ หรือขนมครกยักษ์ ภาษาท้องถิ่นเรียก “ขนมอาปำจืด” เป็นขนมโบราณที่นำมารื้อฟื้น จำหน่ายภายในตลาดย้อนยุคแห่งนี้ สามารถรับประทานกับชา กาแฟในตอนเช้า เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เด็กเล็ก

“นางส้ะ ปะดุกา” แม่ค้าวัย 68 ปี จากบ้านบูเก็ตยามู หมู่ที่ 7 เป็นผู้สืบทอดสูตรขนมอาปำจืดมาจากรุ่นปู่ย่า ทำขนมอาปำจืดขายในตลาดแห่งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของลูกค้าและนักท่องเที่ยว อีกทั้งมีโอกาสเผยแพร่ขนมท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

สำหรับขนมอาปำจืดมีวิธีการทำง่ายๆ เพียงนำแป้งข้าวเจ้า น้ำกะทิ เกลือ นำมาผสมกัน ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบไปด้วยกระทะใบเล็กๆ น้ำมันพืช ซึ่งนำมาเช็ดกระทะเพื่อไม่ให้แป้งติดกระทะ จากนั้นตั้งกระทะบนเตา ก่อนเทแป้งลงในกระทะ ปิดฝาไว้ประมาน 3 นาที เมื่อตัวขนมสุกแล้วตักขึ้น รับประทานคู่กับน้ำตาลเพื่อเพิ่มรสหวาน สามารถทานได้ทุกวัย ขายในราคาเพียง 2 ชิ้น 5 บาท

“ทำขนมโบราณสมัยแต่แรก เพราะในสมัยก่อนไม่มีตัวแม่พิมพ์แบบขนมครก เลยทำกันมาแบบนี้ แต่วิธีการทำคล้ายๆ ขนมครก เป็นขนมที่หากินได้ยากในยุคนี้ จึงอยากทำขนมนี้ขึ้นเพื่อสื่อความย้อนยุค ซึ่งขนมจะมีรสชาติหวาน มัน ติดเค็มนิดๆ คนสมัยก่อนนิยมทานคู่กับชา กาแฟ” นางส้ะ กล่าว

นอกจากนี้ยังมี “ขนมอาปมแลงัง” ขนมพื้นถิ่นอีกชนิด ที่ทำในกระทะเช่นกัน ส่วนผสมหลัก คือ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลโตนด ไข่ น้ำเปล่า นำมาผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นตั้งกระทะให้ร้อน ก่อนเทขนมลงไป ปิดฝา เมื่อสุก ตักตัวขนมขึ้นจากเตา รับประทานคู่กับมะพร้าวอ่อน ตลาดนี้ขายในราคาถูกแสนถูกเพียง 3 ชิ้น 20 บาท ส่วนหนึ่งขนมท้องถิ่นราคาไม่แพง เนื่องจากใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น

“วิสูตร พฤกษสุวรรณ” นายอำเภอควนโดน กล่าวว่า อำเภอและส่วนราชการเข้ามาสนับสนุนงบประมาณการจัดโครงการตลาดย้อนยุค วิถีชุมชนบ้านสะพานเคียน และการค้าขายสินค้าของชุมชน สินค้าโอท็อปที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้อำเภอยังส่งเสริมเยาวชนร่วมทำกิจกรรมทางสังคม ส่งเสริมความกล้าแสดงออกของเด็กที่ตลาดแห่งนี้ด้วย

ด้าน “ยะโกบ โต๊ะประดู่” นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ควนโดน กล่าวว่า ตลาดนัดชุมชนควนโดนจัดขึ้นเพื่อตอบสนองตามนโยบายของรัฐบาล และตามพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ในตลาดย้อนยุคแห่งนี้มีกลุ่มแม่บ้าน แม่ค้า ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม คือ เน้นใช้วัสดุธรรมชาติและสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน และรณรงค์เรื่องของการทำความสะอาดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนในการอยู่แบบพอเพียงในความพออยู่พอกิน

ขณะที่ “วินิช ตาเดอิน” ประธานสหกรณ์ร้านค้า กล่าวว่า การจัดกิจกรรมตลาดย้อนยุคขึ้นภายในชุมชนเพื่อตอบสนองเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ในตัวสินค้าราคาถูก ราคาประหยัด เน้นใช้วัสดุที่มีในชุมชนมาใช้ประโยชน์ทางการตลาด ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ให้เยาวชนมาศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการกำจัดขยะในแม่น้ำลำคลอง หันมารณรงค์การใช้ใบตองแทน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกหลาน เยาวชน

ตลาดย้อนยุควิถีชุมชนบ้านสะพานเคียน นอกจากเป็นแหล่งจำหน่ายผลผลิตจากท้องถิ่น สินค้าโอท็อป ขนมโบราณ ทั้งขนมอาปำจืด ขนมอาปมแลงัง ยังมีขนมแนหรำ ขนมอาปมจี ขนมจูจอ ยังเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจในบรรยากาศที่ร่มรื่น สบายตา ชาวชุมชนแต่งกายแบบไทยมุสลิมที่สวยงามมาจับจ่ายสินค้าท้องถิ่นกันทุกวันจันทร์แรกของเดือน เริ่มเปิดตลาดตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป

นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองประธานอนุกรรมการเจรจาหนี้สิ้นกับสถาบันเจ้าหนี้ของเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อเจรจาและติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตลอดจนเจรจาขอซื้อหนี้จากกลุ่มสหกรณ์การเกษตร 10 กลุ่ม ที่เป็นเจ้าหนี้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเร่งรัดและขยายผลในการแก้ปัญหาหนี้สหกรณ์เกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งจังหวัดมหาสารคามเป็น 1 ในจังหวัดนำร่องของภาคอีสาน อีกแห่ง คือจังหวัดขอนแก่น

นายอำนวย กล่าวว่า “เกษตรกรเป็นหนี้กว่า 400,000 ราย มูลหนี้รวมกว่า 100,000 ล้านบาท พื้นที่นำร่องที่นี่เป็น ‘มหาสารคามโมเดล’ เป็นรูปแบบการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่บูรณาการร่วมกันระหว่างกลไกประชารัฐและลูกหนี้ ซึ่งมหาสารคามมีเกษตรกรร่วมโครงการ 231 ราย 380 สัญญา มูลค่าหนี้ 73,426,801 บาท กองทุนได้เจรจาขอซื้อหนี้กับสหกรณ์ทั้ง 10 แห่ง โดยจ่ายเฉพาะเงินต้น ไม่มีดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น จากนั้นกองทุนจะชำระหนี้ปิดบัญชีให้เกษตรกร และเกษตรกรมาเป็นลูกหนี้กองทุนแทน คิดอัตราดอกเบี้ย วงเงินไม่ถึง 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 50 สตางค์ต่อปี วงเงินเกิน 100,000-500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อปี หากเกิน 500,000 บาทขึ้นไป คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท ต่อปี”

นายวิญญู สะตะ ผู้อำนวยการสำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ขอนแก่น อีกหนึ่งจังหวัดนำร่องที่มีการเจรจาซื้อหนี้กับสถาบันการเงินรวม 28 สหกรณ์ เกษตรกร 246 ราย 285 สัญญา มูลค่าหนี้ 47,239,880.67 บาท

กระทรวงพาณิชย์จับมือสภาหอการค้าทำยุทธศาสตร์ ผลไม้ไทย ตั้งคณะทำงาน 6 ชุด ปีหน้า ดัน 3 ผลไม้ไทย ทุเรียน มังคุด ลำไย เป็นผลไม้ระดับพรีเมียมมีคุณภาพสูง คัดที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน 1% จากผลผลิตทั้งหมด อัพเกรดขายเศรษฐี-คนมีรายได้สูง ทั้งในประเทศและส่งออก
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงและสภาหอการค้าไทยเห็นชอบจัดตั้งคณะทำงาน 6 ชุด ในการจัดทำยุทธศาสตร์ผลไม้ไทย นำร่อง 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย ตั้งเป้า ยกระดับผลไม้ทั้ง 3 ชนิด เป็นผลไม้ระดับพรีเมียมที่มีคุณภาพสูงในสัดส่วน 1% ของผลผลิตทั้งหมดภายในปี 2561 เพื่อสร้างมูลค่าผลไม้ให้มีราคาสูงขึ้นจากปกติ

สำหรับในส่วนของทุเรียนคาดว่าในปี 2561 จะมีผลผลิตออกมา 910,000 ตัน จะคัดเลือกผลผลิต 1% หรือ 9,100 ตัน มายกระดับเป็นทุเรียนเกรดพรีเมียม และมีการสร้างแบรนด์ โดยทุเรียนแต่ละลูกจะต้องมีขนาดและ มีมาตรฐานเท่ากัน และต้องเป็นทุเรียนที่ผ่านการคัดเกรด ผ่านการรับรองคุณภาพมาแล้ว เพื่อนำไปทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพราะมีกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง และกลุ่มเศรษฐีจำนวนมากพร้อมที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้น เพื่อให้บริโภคสินค้ามีคุณภาพดี รวมทั้งมังคุดและลำไยด้วย

“ตัวอย่างเช่น ปกติส่งออกทุเรียนกิโลกรัมละ 80 บาท หากมีการยกระดับพรีเมียมก็จะทำให้ได้ราคาในระดับ 120-150 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้แก่ชาวสวนด้วย ขณะเดียวกันก็จะมีการยกระดับทุเรียนที่ดังๆ ของไทย เป็นระดับซูเปอร์พรีเมียมด้วย เช่น ทุเรียนเมืองนนท์ ที่ราคาหลักหมื่นบาทต่อลูก”
นอกจากนี้ จะพิจารณาแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ตกเกรด เช่น ทุเรียน ที่บางลูกอาจจะไม่ได้มาตรฐาน แต่ก็มีบางพูที่มีมาตรฐาน ก็ให้แยกพูออกแล้วนำมาแพ็กกิ้งเพื่อนำออกไปจำหน่าย มังคุด ลำไยก็เหมือนกัน เพราะบางลูกอาจจะผิวไม่สวย แต่เนื้อข้างในดี ก็อาจจะนำมาแกะเปลือกออกแล้วแพ็กกิ้งใหม่ ซึ่งได้ตั้ง เป้าหมายทำให้ได้ 1% ของจำนวนผลผลิตเช่นเดียวกัน

สำหรับคณะทำงานในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผลไม้ 6 ชุด ได้แก่ คณะทำงานรวบรวมและสร้างเครือข่ายผู้ผลิต ผลไม้ให้เป็นสินค้าพรีเมียม, คณะทำงานมาตรฐาน จะดูแลมาตรฐานผลไม้ที่จะผลิตออกมาให้เป็นสินค้าพรีเมียม, คณะทำงานด้านการรวบรวมผู้ผลิต (ล้ง) ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานล้งไทยขึ้นมา, คณะทำงานด้านโลจิสติกส์ ในการสร้างเครือข่ายด้านการขนส่งผลไม้, คณะทำงานด้านเจรจาธุรกิจ และคณะทำงานด้านตลาด

พิจิตร – นายปิยะ วงศ์ลือชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วย พ.อ. ศุภฤกษ์ สถาพรผล รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดพิจิตร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ร่วมประชุมแนวทางการปฏิบัติการขนส่งอ้อยช่วงฤดูผลิตน้ำตาล 2560/61 ในการวางแนวทางปฏิบัติการเกี่ยวกับการขนส่งอ้อยจากไร่ของเกษตรกรเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาล โดยโรงงานผลิตน้ำตาลจะเริ่มเดินเครื่องเปิดหีบอ้อยในต้นเดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไปจนจบฤดูการผลิต

ทั้งนี้ เพื่อให้การขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นการป้องกันมิให้การขนส่งอ้อยในช่วงเวลาดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไปตลอดเส้นทาง จึงได้มีการวางแนวทางปฏิบัติทั้งหมด 19 หลัก เช่น ห้ามไม่ให้รถบรรทุกอ้อยท่อนและอ้อยลำสูงไม่เกิน 4 เมตร ความยาวยื่นมาทางด้านหลังรถบรรทุกไม่เกิน 2.30 เมตร และควรมีสายรัดให้แน่นหนา ให้ติดธงแดงขนาดใหญ่ท้ายรถบรรทุกอย่างน้อย 2 ผืน ให้เห็นชัดเจนในเวลากลางวัน ติดสัญญาณไฟแดงในเวลากลางคืนอย่างน้อย 3 ดวง

ส่วนผู้ที่ขับรถขนส่งอ้อยควรระมัดระวังมิให้อ้อยตกหล่นบนพื้นถนน ถ้ามีอ้อยตกหล่นให้เก็บโดยเร็ว และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ผู้ขับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติดทุกชนิด

อย่างไรก็ตาม การวางแนวทางการปฏิบัติการขนส่งอ้อยต้องได้รับความร่วมมือจากชาวไร่อ้อย หัวหน้าโควตา คนขับรถบรรทุกอ้อย ผู้แทนชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อให้การขนส่งอ้อยในฤดูการผลิตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายกับบุคคลโดยทั่วไป โดยจะมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายร่วมตรวจสอบเป็นระยะตลอดฤดูกาล

ยโสธร – นายธานินทร์ จุฑาทิพย์ชาติกุล ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร เตือนประชาชนกลุ่มเลี้ยงโค-กระบือ ระวังโรคปากเท้าเปื่อย ในสัตว์เลี้ยงกลุ่มโค-กระบือ และโรคไอกรน หากโคและกระบือป่วยสังเกตได้ว่าขนจะพองๆ โรคปากเท้าเปื่อย โค-กระบือจะไม่กินหญ้า กินน้ำ จะยืนตัวแข็ง คอแข็ง ก้มกินน้ำกินหญ้าไม่ได้ รีบแจ้งนายสัตวแพทย์ออกไปรักษาก่อนที่สัตว์เลี้ยงจะล้มตายภายในหนึ่งถึงสองสัปดาห์ จึงฝากเตือนประชาชนใส่ใจต่อสัตว์เลี้ยงของท่านช่วงอากาศแปรปรวน

ด้าน นายมูล สิงห์อัมพร พ่อค้าโค-กระบือในตลาดนัดอีสานใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่พบวัว ควาย แพะ แกะป่วยโรคปากเท้าเปื่อย หรือโรคระบาดสัตว์อื่นๆ แต่อย่างใด เพราะนายสนามตลาดนัดจะตรวจเข้มทุกตัวก่อนให้เข้าไปขาย หรือแลกเปลี่ยนภายในตลาดนัด
ส่วนราคาโค-กระบือปีนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงขายได้ราคาดี โดยเฉพาะกระบือมีพ่อค้าจากประเทศเวียดนามเข้ามาซื้อ ส่วนโคหรือวัวเกษตรกรนำมาขายให้พ่อค้าจากจังหวัดสระแก้ว

รื้อใหญ่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เปลี่ยนรูปแบบ ไม่เน้นทำแค่เป็นนิคม พร้อมโฟกัสรูปแบบแต่ละพื้นที่ชัดเจน ตามความต้องการของพื้นที่ ด้าน กนอ.ระบุ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฯล่าช้า คาดประกาศใช้ได้ ปี’61

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่มีนายอุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากหกรรมเป็นประธาน อยู่ในระหว่างจัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์สำหรับพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัดใหม่ทั้งหมดใน 2 ประเด็นหลักคือ ไม่จำกัดวงเฉพาะเพื่อดำเนินการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น และให้คำนึงถึงความต้องการและประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ โดยในประเด็นแรกนั้นได้กำหนดเป้าหมายของแต่ละพื้นที่ไว้เบื้องต้นคือ 1. เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ให้จัดตั้งเป็นศูนย์โลจิสติกส์

2. เขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา จังหวัดสงขลา จัดตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้า

3. เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว
จังหวัดสระแก้ว ให้จัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม และ 4. เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตราด ให้จัดตั้งเป็นเมืองใหม่เพื่อการท่องเที่ยว ส่วนพื้นที่ที่เหลือให้จัดตั้งเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์การศึกษา หรือนิคมอุตสาหกรรมเพื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น ในขณะที่การประชาสัมพันธ์จะเน้นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ เดินหน้าเชิงรุกโดยการจัดทำข้อมูลของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ที่ต้องการร่วมลงทุนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งกำหนดจุดพื้นที่และเส้นทางคมนาคมที่สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) และจะเดินสายสัญจร ประสานความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JFTRO เพื่อชักจูงการลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนใน 15 จังหวัดที่มีความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมไปก่อนหน้านี้ ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดหาพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการ SMEs และให้มีการจัดทำคู่มือส่งเสริมการลงทุนไปจนถึงการจัดสัมมนาเพื่อชักจูงนักลงทุน อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะต้องนำเสนอต่อสภาพัฒน์เพื่อให้นำเสนอต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) วันที่ 17 พฤศจิกายน นี้

“หากทำแค่นิคมจะได้แค่การลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ต้องจัดโรดโชว์ไปในพื้นที่เป้าหมาย หรือเหมือนที่กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) มาสัมมนาที่ไทย ภาพต่างๆ ในแต่ละพื้นที่จะต้องชัดเจนมากขึ้นว่าจะลงทุนอะไรได้บ้าง ดังนั้น 13 ประเภทกิจการเป้าหมายก็ต้องปรับใหม่ให้สอดคล้องกับตามพื้นที่ โดยแผนการตลาดทั้งหมดจะใช้งบ ปี’61”

ด้าน นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในแต่ละจังหวัดมีความพร้อมไม่เท่ากัน จึงนำเสนอให้เริ่มที่ 4 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อมมากที่สุดไปก่อน คือเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด, สะเดา, สระแก้ว และ มุกดาหาร ซึ่งมีความพร้อมเกือบทุกด้านและมีมูลค่าซื้อขายผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้จำนวนมาก ส่วนแผนดึงนักลงทุนเข้ามา ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาที่มีก่อน เพื่อให้เกิดความสะดวกด้านการค้า การลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของพื้นที่ลงทุน ซึ่งหากแก้ไขปัญหาได้เชื่อว่าจะทำให้มูลค่าการค้าชายแดนจะเพิ่มขึ้น เช่น พื้นที่เขตเศรษฐกิจฯ แม่สอดเป็น 300,000 ล้านบาท/ปี จากเดิม 100,000 ล้านบาท/ปี

ด้าน นายนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยอมรับว่าล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และอาจเลื่อนการประกาศใช้เป็นปี 2561 จากที่ต้องออกมาพร้อมคู่กันกับ พ.ร.บ.เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ช่วงปลายปีนี้
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สถิติการขอรับการส่งเสริมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558-30 กันยายน 2560 จำนวน 47 โครงการ รวมวงเงินลงทุน 8,801 ล้านบาท ปัจจุบันผ่านการอนุมัติแล้ว 42 โครงการ

ผู้บริโภคเตรียมแบกรับราคาน้ำตาล 5 บาท ต่อหลัง valenth.com “สูตรลอยตัวน้ำตาล” จบไม่ลง สอน.เล็งให้ยึดกฎหมายเดิมฤดูกาลนี้ไปก่อน เผยชาวไร่ชงบวกเพิ่มราคาขาย 3 บาท ให้ผู้บริโภคแบกเหมือนเดิม แต่โรงงานหวั่นผิดกฎหมาย
หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เตรียมประกาศลอยตัวน้ำตาลที่ขายภายในประเทศในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และแจ้งว่าจะมีการยกเลิกระบบโควตา ก. (น้ำตาลบริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยผ่านบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทย จำกัด (อนท.) จำนวน 8 แสนตัน) โควตา ค. (น้ำตาลส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนที่เหลือโดยหักโควตา ก. และโควตา ข. ออกจากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ทั้งหมด) แต่ล่าสุดมีแนวโน้มว่าไม่สามารถประกาศลอยตัวได้ทันภายในวันที่ 1 ธันวาคมนั้น

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เรื่องการลอยตัวยังมีหลายประเด็นที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลไม่สามารถตกลงกันได้ ส่งผลให้ต้องมีการเลื่อนการประกาศลอยตัวออกไป โดยเฉพาะประเด็นที่ชาวไร่อ้อยมีความพยายามจะให้โรงงานบวกเงินเพิ่มเข้าไปในราคาขาย 2-3 บาท เหมือนกับโครงสร้างเดิมที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการบวกเงินเพิ่ม 5 บาทเข้าไปในราคาขาย

เพื่อนำเงินจากผู้บริโภคไปใช้หนี้เงินกู้แทนชาวไร่อ้อยผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาล ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และการบวกเพิ่มดังกล่าวไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีรองรับหลายโรงงานเกรงจะเป็นการทำผิดกฎหมาย จึงมีการหารือถึงขั้นที่จะให้ออกมาตรา 44 รองรับระเบียบดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงค่อนข้างมีแนวโน้มว่าในฤดูการผลิตต่อไปจะยังคงใช้กฎหมายและระเบียบเดิมไปก่อน เท่ากับผู้บริโภคต้องแบกรับภาระเงิน 5 บาท เพื่อใช้หนี้ให้ชาวไร่ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลยังติดค้างอยู่ 5,800 ล้านบาท กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กู้มาตั้งแต่ปี 2558/2559

แม้ในที่ประชุมคณะ กอน.เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 จะได้ผ่านความเห็นชอบ โดยเขียนระบุไว้ในร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. …ที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า โดยระบุว่า เป็นการนำส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการสำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายได้จริงในหนึ่งเดือนมาบวกรวมกับราคาเฉลี่ยของราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดลอนดอน หมายเลข 5 และค่าส่วนเพิ่มทางการตลาดที่เกิดขึ้นในหนึ่งเดือน ส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการรักษาเสถียรภาพของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล แต่การให้โรงงานบวกเพิ่มราคาระเบียบดังกล่าวนี้ไม่ได้รองรับ

ทั้งนี้ หากเปิดเสรีลอยตัวจริงคือ เมื่อนำราคาน้ำตาลตลาดลอนดอน หมายเลข 5 บวกไทยพรีเมี่ยม ให้ถือเป็นราคาอ้างอิงกลาง และให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำรวจราคาขายหน้าโรงงาน หากโรงงานใดขายสูงกว่าราคาอ้างอิงดังกล่าวให้นำส่วนต่างตรงนั้นส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการรักษาเสถียภาพของระบบอ้อยและน้ำตาล ซึ่งส่วนต่างไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเท่าไหร่ โรงงานใหญ่บริหารต้นทุนดีราคาต้นทุนต่อหน่วยอาจจะต่ำกว่าโรงงานขนาดเล็กที่มีต้นทุนสูงกว่า

ฝ่ายชาวไร่อ้อยจึงพยายามล็อบบี้แต่ละโรงงานให้บวกราคาน้ำตาลเพิ่ม ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคเหมือนเดิม ซึ่งหลายโรงงานไม่เห็นด้วย และไม่ได้มีส่วนได้เงินตรงนั้นด้วย แถมยังต้องเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย จึงยังตกลงกันไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายราชการไม่สามารถหาทางออกให้กับชาวไร่อ้อยได้ ที่จะทำให้การเก็บเงินจากผู้บริโภคเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตอนนี้ชาวไร่อ้อยเองที่จะให้บวกเงิน 3 บาทเพิ่ม ยังไม่สามารถบอกได้ว่า

จะให้ไปบอกประชาชนได้อย่างไรว่า เงิน 3 บาทที่มาบวกเพิ่มมีที่มาที่ไปของเงินอย่างไร ส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการสำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายได้จริงในหนึ่งเดือนคิดมาจากโรงงานน้ำตาลอย่างไร และยังไม่รู้ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เพราะราคาเฉลี่ยที่ออกมาจะมองว่าเป็นการฮั้วราคาหรือเปล่า ที่สำคัญหลายคนยังกังวลว่า การบวกเงิน 3 บาทดังกล่าวเข้าไปหากราคาออกมาสูงกว่าตลาดโลก 2-3 บาท ต่อกิโลกรัม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่อาจจะสั่งนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเข้ามาแทนย่อมทำได้ เพราะถือว่าเป็นกลไกตลาดเสรี จึงเท่ากับว่า การเปิดเสรีราคาน้ำตาลของไทย ยังไม่เสรีอย่างแท้จริง เพราะยังโอบอุ้มชาวไร่ไว้เหมือนเดิม