ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่

ดูแลเรื่องการตลาดให้กับเกษตรกร โดยการเปิดจุดรวบรวมและรับซื้อผลผลิตประจำทุกอำเภอจำนวน 346 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกร ไม่ต้องขนข้าวโพดไปขายให้กับโรงงานอาหารสัตว์ที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่ระยะทางไกล ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งให้เกษตรกร ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดได้ประสานสหกรณ์การเกษตรทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์

เพื่อรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่ามีแหล่งรับซื้อข้าวโพดที่แน่นอนและได้ราคาที่เป็นธรรม ขณะนี้ในบางพื้นที่มีเอกชนรายย่อยได้เข้าไปแย่งซื้อผลผลิตจากเกษตรกร แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีความมั่นใจที่จะรวบรวมข้าวโพดส่งขายให้สหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์มีเครื่องชั่งน้ำหนักที่ได้มาตรฐานและให้ราคารับซื้อที่เป็นธรรม ขณะเดียวกัน ทางสหกรณ์ก็ได้ทำข้อตกลงซื้อขายข้าวโพดกับเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ไว้ตั้งแต่ต้นฤดูกาลแล้ว

“ขณะนี้แต่ละจังหวัดได้ทำแผนรวบรวมข้าวโพดเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งกรมได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดประสานกับสหกรณ์เพื่อลงพื้นที่สำรวจแปลงข้าวโพดที่รอการเก็บเกี่ยวและวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตร่วมกับสมาชิก และสหกรณ์จะต้องบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร รถเกี่ยวและเครื่องสีข้าวโพดสำหรับให้บริการแก่เกษตรกร รวมถึงจะต้องเตรียมพร้อมอุปกรณ์การตลาด ฉาง ลานตาก และโกดัง ที่จะรองรับผลผลิตในช่วงที่ออกมาพร้อมกัน สำหรับข้าวโพดที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและนำมาขายให้สหกรณ์

ความชื้นเฉลี่ย 28-31% ราคา 6-7 บาท/กิโลกรัม เมื่อสหกรณ์รับซื้อจากเกษตรกรแล้ว จะนำมาอบลดความชื้นเหลือ 14.5% และส่งเข้าโรงงานอาหารสัตว์ในราคา 8.30 บาท/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้กำหนดราคารับซื้อที่หน้าโรงงานไว้ก่อนที่จะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกข้าวโพด ความชื้นไม่เกิน 14.5% อยู่ที่ 8 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ เกษตรกรที่หันมาปลูกข้าวโพดแทนการทำนาปรัง เมื่อหักต้นทุนแล้วจะมีกำไรเฉลี่ย 3,000-4,000 บาท/ไร่ มากกว่าการปลูกข้าวที่หักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรเพียงไร่ละ 700-1,300 บาท

เนื่องจากผลผลิตข้าวต่อไร่ต่ำกว่า และต้นทุนในการทำนาสูงกว่าการปลูกข้าวโพด โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับภาคเอกชน ดูแลตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมมีความสมบูรณ์ของดิน มีการถ่ายทอดความรู้การปลูกและดูแลแปลงข้าวโพด การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจาก ธ.ก.ส. การทำประกันภัยพืชผลเพื่อประกันความเสี่ยงให้เกษตรกร และการใช้นโยบายตลาดนำการผลิต ส่งผลทำให้เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน สามารถขายได้ในราคที่เป็นธรรม และช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

รมว.เกษตรฯ เผยเกษตรกรพึงพอใจ ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับตัว อยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท ผลจากมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของกรมปศุสัตว์ โดยไม่ใช้งบประมาณรัฐ อาศัยความร่วมมือจากผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ มั่นใจเดินถูกทาง มาตรการถูกต้องเหมาะสม ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่ ระบุว่า ราคารับซื้อไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกร ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท สะท้อนถึงสัญญาณภาวะปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่เคยล้นตลาดเมื่อช่วงก่อนนี้ว่าเริ่มเข้าสู่สมดุล หลังจากภาคเอกชนผู้นำเข้าปู่ย่าพันธุ์ (GP) และพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ทั้ง 16 บริษัท และเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ขนาด 2 แสนตัวขึ้นไป ให้ความร่วมมือในการลดจำนวนไก่พันธุ์และลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง พร้อมผลักดันการส่งออกไข่ไก่ไปจำหน่ายต่างประเทศ

ตามแผนปฏิบัติการ “PS Support” ของกรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ Egg Board ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาไข่ไก่ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีเป้าหมายมุ่งสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกรไทย โดยเฉพาะการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ด้วยการปรับสมดุลการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภคในประเทศ ลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไข่ไก่ของไทยจากปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด เพื่อให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่ไข่สามารถขายไข่ไก่ได้ในราคาที่น่าพึงพอใจ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

“การแก้ปัญหาราคาไข่ไก่อย่างเป็นระบบและจริงจังเริ่มตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน อาศัยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรายใหญ่และเกษตรกรผู้เลี้ยง ในการให้ความร่วมมือตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ วันนี้สิ่งที่ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างต่อเนื่องเริ่มบรรลุผล ทำให้ราคาไข่ไก่ขยับขึ้นใกล้เคียงต้นทุนการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถต่อยอดอาชีพต่อไป หลังจากนี้จะยังคงสานต่อมาตรการเพื่อให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ จากกิจกรรมส่งออกไข่ไก่ที่ยังคงเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะกรม ปศุสัตว์ได้เปิดตลาดสิงคโปร์เพิ่มอีก 49 ล้านฟอง ต่อเดือน จากเดิมที่ส่งออกในตลาดฮ่องกงอยู่แล้ว และในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่โรงเรียนเปิดภาคเรียน ราคาไข่น่าจะดีขึ้นเป็นลำดับจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น” นายกฤษฎา กล่าว

ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับเกษตรกรพบว่า ต่างพอใจกับราคาไข่ไก่ที่ปรับขึ้นนี้ เนื่องจากส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้งประเทศ ที่แบกรับภาระขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าต่อไปราคาจะดีขึ้นเรื่อยๆ หากทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาคนละไม้คนละมือ ซึ่งเกษตรกรก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้ หากผลผลิตไข่มากก็ต้องปรับลดแม่ไก่ยืนกรง เมื่อผนวกกับภาคเอกชนที่เดินหน้าทั้งลดจำนวน GP และ PS รวมถึงแม่ไก่ยืนกรง และผลักดันการส่งออกไข่ไปต่างประเทศเพิ่มอีก ย่อมช่วยสร้างสมดุลและสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่ปรับตัวขึ้น เป็นผลมาจากมาตรการระยะสั้นครั้งล่าสุดที่กรมปศุสัตว์ประสานกับผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ให้รวบรวมไข่ไก่สดส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศแล้ว 138 ล้านฟอง ควบคู่กับการลดจำนวนแม่ไก่ไข่ ยืนกรง 4,000,000 ตัว พร้อมดำเนินกิจกรรมลดพ่อแม่พันธุ์ PS ให้เหลือ 460,000 ตัว รวมถึงลดปู่ย่าพันธุ์ GP ให้เหลือ 3,800 ตัว ส่วนมาตรการระยะยาว นอกจากการปรับลดแม่พันธุ์ไก่ไข่ให้มีจำนวนที่เหมาะสมตามหลักการ “ตลาดนำการผลิต” แล้ว ยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2562-2566) เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์เดิม และเพิ่มเติมเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมการบริโภค การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการบริหารจัดการปริมาณการเลี้ยงที่เหมาะสม ตลอดจนการจับคู่ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยกับผู้ซื้อโดยตรง และการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้กับเกษตรกรที่ปฏิบัติตามมาตรการแก้ปัญหา

กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดระบบปฏิบัติการ IOS ให้เกษตรกรผู้ใช้สมาร์ทโฟนดาวน์โหลดแอพพลิเคชันสมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล (Farmbook) ปรับปรุงข้อมูลการประกอบกิจกรรมการเกษตรสะดวก รวดเร็ว ทันใจ พร้อมตรวจสอบสิทธิที่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการและมาตรการของรัฐ หลังเปิดใช้ระบบปฏิบัติการ Android หวังอำนวยความสะดวกเกษตรกรใช้งานได้ทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำแอพพลิเคชันสมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล (Farmbook) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรสามารถปรับปรุงข้อมูลการประกอบกิจกรรมการเกษตรของตนเองผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ สมาร์ทโฟน ทำให้สามารถตรวจสอบการขึ้นทะเบียนของตนเองว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ และตรวจสอบสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือตามโครงการและมาตรการของรัฐ โดยที่ผ่านมาได้ให้บริการในระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลและรายงานผลจากเกษตรกรที่ปรับปรุงผ่านแอพพลิเคชันดังกล่าวบนเว็บไซต์ http://farmbook.doae.go.th/ โดยใช้บัญชีผู้ใช้งานเดียวกับระบบฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร

ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้แอพพลิเคชันสามารถใช้งานได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุม และอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรรวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ดำเนินการพัฒนาแอพพลิเคชันสมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล (Farmbook) เพิ่มเติม โดยเพิ่มบริการแอพพลิเคชันสมุดทะเบียนเกษตกรดิจิทัล (Farmbook) ในระบบปฏิบัติการ IOS โดยเกษตรกรสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https//apple.co/2YdYI7J หรือดาวน์โหลดได้ที่ App Store นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการแจ้งเตือนในแอพพลิเคชันสำหรับเกษตรกรให้ทราบว่าแปลงที่ตนเองได้ปรับปรุงข้อมูลการประกอบกิจกรรมการเกษตรผ่านแอพพลิเคชัน ผ่าน/ไม่ผ่าน การจัดชุดติดประกาศ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มการแจ้งเตือนในแอพพลิเคชันให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอทราบว่ามีเกษตรกรในตำบลที่ตนเองรับผิดชอบปรับปรุงข้อมูลการประกอบกิจกรรมการเกษตรผ่านแอพพลิเคชันเป็นรายวัน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายละเอียดของเกษตรกรที่ปรับปรุงได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดชุดติดประกาศได้ทันต่อสถานการณ์และไม่ตกหล่น หากมีกรณีการช่วยเหลือตามโครงการและมาตรการของรัฐ ดังนั้น เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ซึ่งใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ IOS สามารถดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ตามช่องทางดังกล่าว ซึ่งสะดวก รวดเร็ว ลดเวลาและขั้นตอนในการเดินทางมาติดต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 นายอภิศักดิ์ อังคสิทธิ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในการเปิดงานโครงการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ณ โรงแรม พี.ซี.พาเลซ จังหวัดสกลนคร ว่า “กัญชา” เป็นพืชสมุนไพรที่มีมาแต่โบราณ มีการนำมาใช้จนเป็นตำรับยาพื้นบ้าน ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย กว่า 40 ปีที่ผ่านมาหลังจากมีการใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 การใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ถูกควบคุมให้เป็นยาเสพติด การใช้ประโยชน์ทางคุณค่าของสมุนไพรจึงน้อยลง

แต่ยังคงถูกใช้ในตำราของชาวบ้านเพื่อการพึ่งพาตนเอง ในพื้นที่เทือกเขาภูพาน ที่เป็นแหล่งกำเนิดกัญชาพื้นบ้าน เช่น พันธุ์หางกระรอก พันธุ์ฝอยทอง พันธุ์หางเสือ โดยเฉพาะพันธุ์หางกระรอก ได้มีการนำไปใช้กระจายไปทั่วโลกจนยอมรับว่าเป็นแหล่งผลิตที่ดีที่สุดในโลก ทั้งนี้ ในช่วงแรกเรื่องกลไกของกฎหมายประชาชนมักสับสน ไม่อยากให้หลงประเด็น และเข้าสู่วังวนของการทำผิดกฎหมาย ในการจัดโครงการขับเคลื่อนการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่สภาเกษตรกรฯ จัดขึ้น หากมีข้อสงสัย คลางแคลงในกฎหมาย ขั้นตอน วิธีการ ในการใช้กัญชาเพื่อเป็นยารักษาโรค ให้สอบถามกับวิทยากรที่นำความรู้มากมายมาถ่ายทอดหรือสอบถามไปยังสภาเกษตรกรจังหวัดแต่ละจังหวัดซึ่งพร้อมเป็นพี่เลี้ยงและพร้อมบอกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ท่าน

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวเสริมว่า แนวทางการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดขอบเขตการปลูกและใช้เพื่อการสาธารณสุขสมัยใหม่ เพื่อใช้กัญชานำไปสกัดเป็นยาเพื่อการแพทย์และการวิจัย และระบบการผลิตเพื่อสกัดสารเป็นยา ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ต้องการให้ปลูกและใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์กับเกษตรกรได้เข้าถึงการรักษาโรคแบบพึ่งตนเองโดยใช้เป็นพืชสมุนไพร

และเป็นการกระจายรายได้ รวมทั้งเป็นการรักษาสายพันธุ์กัญชาพื้นเมืองไว้กับกลุ่มเกษตรกร ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายและระยะเวลา 90 วันหลังประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7/2562 เพื่อให้การดำเนินการในการเสนอโครงการและขอใบอนุญาตการปลูกกัญชา ให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลา ซี่งในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นี้ จะให้ความกระจ่างในเรื่อง “สายพันธุ์และการเพาะปลูก, การผลิตยาและการรักษาโรค, ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง/การขึ้นทะเบียนตามบทเฉพาะกาล” เป็นต้น

“กัญชาไม่ว่าจะเป็นหมอพื้นบ้าน ผู้มีประสบการณ์ ผู้ป่วย ที่ผ่านมาล้วนมี ใช้ประสบการณ์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ขอให้นำสิ่งเหล่านั้นนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่ออนาคตต่อไป” เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย

อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม ชูบทบาทภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารในระดับภูมิภาคและระดับโลก เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันและการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชน (Partnership) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ ซีพี เมียนมา มีส่วนร่วมช่วยสร้างความยั่งยืนด้านความมั่นคงทางอาหาร และแก้ปัญหาความอดอยาก ขณะนี้ได้เตรียมจัดทำข้อเสนอต่อโครงการอาหารโลก (World Food Programme) แต่งตั้งประเทศไทยเป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอาหารกลางวันและนมโรงเรียน” แหล่งเรียนรู้ด้านอาหารมั่นคงของโลก

ดร. ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม เปิดเผยว่า จะนำรูปแบบและแนวทางของโครงการ “เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ที่ดำเนินการโดยซีพีเอฟและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และ โครงการ “Milk for Kids” ของ ซีพี เมียนมา ไปเป็นต้นแบบเพื่อนำเสนอให้ประเทศไทยจัดตั้งเป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศอาหารกลางวันและนมโรงเรียนของโลก” ยกระดับบทบาทของไทยในการเป็นแหล่งเรียนรู้ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีองค์กรที่ดำเนินโครงการเกี่ยวกับอาหารมั่นคงทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ในการสร้างโอกาสเข้าถึงอาหารอย่างยั่งยืนแก่ประเทศที่สนใจ ร่วมผนึกพลังขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)

“ประสบการณ์และแนวทางการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน และ Milk For Kids ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองและยั่งยืน เป็นสิ่งที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญ หากไทยสามารถประกาศตัวเป็น ศูนย์ความเป็นเลิศอาหารกลางวันและนมโรงเรียนของโลก ของ WFP ได้ จะช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศในการแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลกให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในสายตาของนานาประเทศ” ดร. ธนวรรษ กล่าว

ด้าน นายสุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า มูลนิธิฯ ร่วมกับซีพีเอฟ สนับสนุน โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ตั้งแต่ปี 2532 เพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเยาวชนในชนบทมีทักษะเลี้ยงไก่ไข่ ด้วยแนวคิดการสนับสนุนโรงเรือน แม่พันธุ์ไก่ไข่ และอาหาร เป็นทุนตั้งต้นเพื่อผลิตไข่ไก่ใช้เป็นวัตถุดิบปรุงเป็นอาหารกลางวันนักเรียน และให้ความรู้และฝึกทักษะการเลี้ยงและบริหารจัดการการผลิต ตั้งแต่ต้นทุน การขายผลผลิต และการบัญชีให้แก่นักเรียนและครูของโรงเรียน

ปัจจุบันมีโรงเรียนได้รับการสนับสนุนกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ ช่วยให้เด็กกว่า 155,000 คน ได้รับโปรตีนคุณภาพสูงจากไข่ไก่อย่างเพียงพอ ช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถนำทักษะและเงินจากกองทุนโรงเรียนไปต่อยอดทักษะในการผลิตอาหารอื่นๆ เช่น การเลี้ยงปลา ปลูกผัก เป็นต้น ช่วยให้โรงเรียนมีแหล่งการผลิตอาหารให้แก่นักเรียนและชุมชน พร้อมกับมีกองทุนที่เติบโตงอกงามจากการดำเนินในรูปแบบสหกรณ์โรงเรียนเชื่อมโยงสู่ธุรกิจชุมชนที่นำรายได้จากขายไข่ไก่ไปใช้เป็นทุนในบริหารการผลิตไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เป็นภาระของงบประมาณ ตลอดจนเป็นการปลูกฝังการเป็น ผู้ประกอบการจิตสาธารณะ (Social Enterprise Practices) ตั้งแต่วัยเยาว์อีกด้วย

ขณะเดียวกัน โครงการ Milk for Kids ที่พนักงานจิตอาสาของ ซี.พี.เมียนมา ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ริเริ่มและดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 โดยสนับสนุนนมสดให้แก่โรงเรียนที่อยู่ใกล้กับโรงงานและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปัจจุบัน ช่วยให้เด็กนักเรียนร่วม 5,000 คน ในพื้นที่กรุงย่างกุ้ง กรุงเนปิดอร์ และเมืองมัณฎะเลย์ ได้ดื่มนมสดที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ ทั้งนี้นมสดดังกล่าวซื้อมาจากโรงผลิตนมสดพาสเจอไรซ์ ในกรุงเนปิดอร์ ที่เครือซีพีให้ทุนสนับสนุนชุมชนสร้างฟาร์มเลี้ยงวัวนมและโรงผลิตนมสดพาสเจอไรซ์ เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพเลี้ยงโคนมให้เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพ และสร้างพื้นฐานอาชีพให้แก่เกษตรกรเมียนมาด้วยอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ นายสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ยังได้ต่อยอดการสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหาร ไปสู่โครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ที่ส่งเสริมให้พนักงานขององค์กรนำความรู้และความสามารถร่วมพัฒนาการผลิตอาหารกับครูและนักเรียนของโรงเรียนที่อยู่รอบสถานประกอบการของบริษัทฯ และ นำไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตอาหารของโรงเรียนและชุมชน สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ (สกช.) จัดโครงการขับเคลื่อน “การพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” โดยกระจายทั่วประเทศ เริ่มเวทีแรกที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เวทีที่สอง เป็นจังหวัดสกลนคร วันที่ 1 เมษายน 2562 ที่โรงแรมพี.ซี.พาเลซ สกลนคร ต่อด้วยจังหวัดอุทัยธานี และนครศรีธรรมราช

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้เข้าใจในมาตรการของรัฐที่จะมีผลบังคับใช้เรื่องการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อยกระดับกัญชาจากยาเสพติดสู่ยารักษาโรค ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้ทราบถึงนโยบายของสภาเกษตรกรแห่งชาติถึงการขับเคลื่อนการพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และจะได้ทราบถึงมาตรการของรัฐบาลเกี่ยวกับองค์ความรู้และวิชาการด้านกฎหมายและกระบวนการผลิต รวมทั้งการเพาะปลูกและใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อรักษาโรค ตลอดจนการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้กรอบกฎหมายที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติขับเคลื่อนเรื่อง “กัญชา” มาตั้งแต่ปี 2559 จัดเวทีแรกที่อาคารพึ่งบุญ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทุกคนได้รับรู้ว่ากัญชานั้นรักษาโรคได้และได้อย่างไร ถึงแม้เกิดการสะดุดด้วยเข้าใจกันคลาดเคลื่อนแต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ชี้แจงและเผยแพร่ความรู้ความจริงสู่ประชาชนทั้งประเทศ จนถึง ณ วันนี้ต้องยอมรับว่าคนไทยมีความรู้เรื่องกัญชาอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงการนำไปสู่การออกกฎหมายซึ่งให้เวลาขึ้นทะเบียน 90 วัน

ซึ่งขณะนี้สภาเกษตรกรจังหวัดได้ลงพื้นที่ไปสำรวจเพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย สัมภาษณ์ ตอบแบบสอบถาม ถ่ายรูป รายละเอียดเก็บเอกสารทั้งหมดแล้วตั้งใจไปยื่นจดทะเบียนพร้อมกันทั้งประเทศในวันเดียวก่อนหมดเขต 17 พฤษภาคม 2562 เพื่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงให้สะเทือนทั้งแผ่นดิน ให้ได้รับรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คนป่วยที่อยู่ห่างไกลตามชนบท ภูเขาสูงชันจะมาขึ้นทะเบียนได้อย่างไร ทำไมไม่อำนวยความสะดวกให้อย่างแท้จริง เจตนาที่สภาเกษตรกรแห่งชาติขับเคลื่อนงานกัญชาเพื่อให้เกษตรกร ประชาชน ผู้ป่วยได้ผลิตยาเพื่อรักษาตัวเองและเครือข่ายในพื้นที่

สภาเกษตรกรฯต่อต้านการผูกขาดทุกรูปแบบและไม่เห็นด้วยเรื่องเสรีกัญชา เพราะโครงสร้างของรัฐถูกออกแบบไว้สำหรับคนมือยาวทุนยาวเท่านั้น เกษตรกรรายย่อยไม่มีทางสู้ได้ ระบบเศรษฐกิจไทยคือการจัดตั้งองค์กร ส่งเสริมการปลูก รับซื้อผลผลิตราคาถูก นำไปแปรรูปขายราคาแพง ที่เห็นกันอยู่ในพืชเศรษฐกิจที่ราคาตกต่ำรัฐต้องอุ้มตลอด อาทิเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น ถ้าปล่อยเสรีกัญชาเกษตรกรต้องนั่งน้ำตาร่วงเหมือนเดิม สภาเกษตรกรฯ ต้องการให้อนุญาตเกษตรกรปลูกกัญชาในพื้นที่ ถ้ามันคือการสร้างคนรวยก็ต้องรวยในทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ไม่ใช่สร้างให้รวยคนเดียวในประเทศไทย สภาเกษตรกรฯต้องการให้เศรษฐกิจไหลกลับลงสู่เกษตรกรทั้งแผ่นดิน

“ความฝันคือเมื่อสภาเกษตรกรแห่งชาติผลักดันกัญชาจนทะลุแล้ว ทั้งประเทศจะมีการจัดสัมมนา เสวนา เวิร์กช็อปเรื่องสายพันธุ์กัญชาของจังหวัดตัวเองมีอะไรบ้าง นำมาประชัน เข้าห้องแล็บดูว่าสายพันธุ์ไหนดีที่สุดในประเทศไทย ในโลกวิธีการสกัดของแต่ละที่ ฯลฯ เมื่อถูกกฎหมาย ช้าหรือเร็วสิ่งเหล่านี้ควรต้องเกิดขึ้น” นายประพัฒน์ กล่าว

นายประพัฒน์ กล่าวย้ำเจตนารมณ์ ว่า สภาเกษตรกรฯ ต้องการช่วยคนป่วย ช่วยเกษตรกร ไม่ต้องการให้ปลูกกัญชาสร้างความร่ำรวยด้วยการไปหลอกชาวบ้านให้เตรียมปลูกกัญชาทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน กฎหมายไปไม่ไกลขนาดนั้น และไม่เห็นด้วยที่จะไปไกลขนาดนั้น ต้องการส่งเสริมให้เดินอย่างมีสติตามจังหวะที่ควรจะไป ไม่ต้องการเดินก้าวหน้าเกินกว่าแล้วประชาชนตามไม่ทันเกิดปัญหาตามมาทีหลัง ถ้าดีก็เดินต่อไปด้วยกัน ไม่ดีก็ถอยมาตั้งหลักแบบไม่ล้ม และหาก UN บรรจุวาระประกาศว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ทั้งโลกต้องแก้กฎหมายตาม และผลิตขายที่ต่างประเทศได้ ให้เตรียมสายพันธุ์ที่ดีปลูกเพื่อการส่งออกนำเงินเข้าประเทศและนำเงินเหล่านั้นไหลกลับสู่เกษตรกรเพื่อความมั่นคงต่อไป

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562 (ปีเพาะปลูก 2562/63) พบว่า ลดลง เนื่องจากเกษตรกรลดขั้นตอนในการเตรียมดิน ซึ่งจากเดิมมีการไถแล้วแถกร่อง (ยกร่อง) เปลี่ยนเป็นไถแล้วไม่ต้องแถกร่อง อีกทั้งมีการนำเครื่องเก็บเกี่ยวมาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น โดยต้นทุนรวมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ที่ไร่ละ 4,385 บาท ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 0.42 (คิดเป็นต้นทุนต่อกิโลกรัม 5.84 บาท ลดลงร้อยละ 1.49)

หากพิจารณาแยกประเภท พบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 (ฤดูฝน) ต้นทุนรวมไร่ละ 4,251 บาท (คิดเป็นต้นทุนต่อกิโลกรัม 5.71 บาท ลดลงร้อยละ 1.38) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 (ฤดูแล้ง) ต้นทุนรวมไร่ละ 5,329 บาท (คิดเป็นต้นทุนต่อกิโลกรัม 6.72 บาท ลดลงร้อยละ 2.47) โดยจะลดลงในกลุ่มของต้นทุนผันแปร ได้แก่ ค่าปุ๋ย ลดลงร้อยละ 0.65 ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15, 16-20-0 และ 46-0-0 ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 1.40 จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ส่วนค่าพันธุ์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.18 โดย ค่าแรงงาน ลดลง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนในบางกิจกรรม ค่าเตรียมดิน ค่าดูแลรักษา และค่าเก็บเกี่ยวลดลงเล็กน้อย

เมื่อพิจารณาตามโครงสร้างต้นทุน พบว่า ร้อยละ 39.89 ของต้นทุนทั้งหมด จะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงาน ซึ่งประกอบด้วย ค่าเตรียมดิน ค่าปลูก ค่าดูแลรักษา และค่าเก็บเกี่ยว และร้อยละ 36.92 เป็นค่าวัสดุและอื่นๆ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นค่าปุ๋ย ร้อยละ 16.10 ค่าพันธุ์ ร้อยละ 12.74

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 เล็กน้อย ที่ร้อยละ 1.08 เนื่องจากเกษตรกรบำรุงดูแลดีขึ้น แต่พบว่าราคาที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเฉลี่ยเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2562 อยู่ที่ 8.66 บาท ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.39 เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศยังมีมาก

“พิเชฐ” นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ด สวทน. ถกเตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่ สอวช. พร้อมย้ำให้ความสำคัญด้านสังคมและมนุษยศาสตร์ไม่น้อยกว่าวิทยาศาสตร์ “กิติพงค์” รับลูกเตรียมประชุมนัดแรก มิถุนายน

(1 เมษายน 2562) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (บวทน.) ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สวทน. โดยมี รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธาน และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการในการประชุม

การประชุมครั้งนี้ ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเตรียมการเปลี่ยนผ่านจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ไปเป็น สำนักงานนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งจะเป็นฝ่ายเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการระดับชาติ หรือ Super Board ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลนโยบาย ยุทธศาสตร์และกำหนดกรอบงบประมาณ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากร และการติดตามและประเมินผลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง