ทั้งนี้ระยะปลูก จะใช้ระยะปลูกระหว่างต้นตั้งแต่ 8ศอกขึ้นไป

แต่บางคนก็จะปลูกระหว่างกว่านี้ เพื่อเพิ่มระยะเวลาในการชนกันของกิ่งต้นมะนาวที่ปลูก“อย่างของผมระยะ 8 ศอก ประมาณ ปีที่ 5 กิ่งก็เริ่มชนกันแล้ว แต่บางคนก็ปลูก 10 ศอก ซึ่งระยะการชนกันของกิ่งก็จะนานขึ้น ถ้ากิ่งมาชนกัน จะมีปัญหาว่าไม่ค่อยออกดอกติดผล เพรากิ่งมันทึบ ดังนั้นจึงต้องมีการตัดแต่งกิ่ง”

คุณบอย กล่าวต่อว่า สำหรับต้นมะนาว ถ้ามีการดูแลรักษาดีๆ ก็จะมีระยะเวลาการให้ผลผลิตได้นานถึง 8 ปี

“พอต้นแก่แล้วจะเหมือนเป็นกับเชื้อราเข้าทำลาย จะมีทยอยตายไปเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อถึงระยะเวลาที่เห็นว่าต้นมะนาวแก่แล้วจะมีการปลูกใหม่”

สำหรับการปลูกมะนาวในช่วงแรก สิ่งที่บอยกล่าวเสริมว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือ การดูแลป้องกันเรื่องแมลงมากัดกินยอดอ่อน รวมถึงกากรป้องกันเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคแคงเกอร์ การป้องกันจะให้ยากันรา โดยจะฉีดพ่นทุก 7 – 8 วัน

นอกจากนี้จะต้องมีการให้ปุ๋ยเคมี โดยจะให้สูตร 16-16-16 หรือสูตรที่ตัวหน้าสูง ตามปกติจะให้ปุ๋ยเคมีเดือนละ 1 ครั้ง รวมถึงการให้ปุ๋ยคอก โดยเน้นการใช้ขี้ไก่อัดเม็ด โดยใส่ประมาณ 3 – 4 เที่ยว ให้ต้นหนึ่งประมาณ 1 กิโลกรัม

การสังเกตว่ามะนาวที่ปลูกอยู่ในภาวะขาดปุ๋ยหรือไม่ คุณบอยมีข้อแนะนำว่า ให้สังเกตสีของใบ ต้นมะนาวที่ขาดปุ๋ยนั้นจะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ส่วนยอดก่อน โดยมีใบสีเหลืองปรากฏให้เห็นไล้ลงมา หากเห็นว่าส่วนยอดใบเริ่มเหลืองก็จะต้องใส่ปุ๋ยเคมีให้กับมะนาว

“ส่วนมากต้องอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ ทำไปศึกษาไป รวมถึงการแลกลเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนฝูงที่ทำมะนาวเหมือนกัน แล้วนำมาปรับใช้ในสวนของเรา หากให้ผมมอง ผมก็มองว่าเรื่องการป้องกันโรคแมลงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

ขณะที่การเก็บผลผลิตมะนาว คุณบอยบอกว่า วงจรของมะนาวจะเก็บผลเดือนละ 1 ครั้ง

“หลังจากเก็บมะนาวเสร็จ ก็จะเริ่มใส่ปุ๋ยเคมีให้กับต้นมะนาว วงจรการดูแลเรื่องปุ๋ยจะเป็นแบบนี้คือ เก็บผลผลิตเสร็จก็ใส่ปุ๋ย” คุณบอย กล่าว

ปลูกแบบร่องก็ทำนอกฤดู
ตามปกติโดยธรรมชาติ มะนาวจะออกผลมาในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ซึ่งคุณบอยบอกว่า เป็นหน้ามะนาวปี ส่วนช่วงมะนาวขาดแคลนและมีราคาแพงจะอยู่ประมาณเดือนมีนาคม – พฤกษาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรจะทำมะนาวให้ออกนอกฤดูตรงกับช่วงที่มะนาวแพง

สำหรับการทำมะนาวนอกฤดูของเกษตรกรในเขตบ้านแพ้ว คุณบอยกล่าวว่า จะเริ่มทำกันตั้งแต่หมดฤดูฝน เริ่มด้วยการตากน้ำ ซึ่งหมายถึงการปล่อยน้ำออกจากร่องมากที่สุด เพื่อทำให้ผิวหน้าดินบริเวณร่องแห้ง

“การตากน้ำ บางก็ใช้วิธีการปล่อยน้ำแห้งเลย แต่บางคนก็ใช้วิธีการยุบน้ำในสวนหน่อยแล้วไม่ต้องรดน้ำให้กับต้นมะนาว โดยการตากน้ำจะใช้เวลาประมาณ 10 กว่าวัน แต่การจะตากน้ำหรือไม่ รวมถึงจะตากน้ำกี่วันนั้น ยังต้องมาดูอีกว่า ต้นมะนาวของเราเป็นอย่างไร อย่างของผมถ้าปีไหนมีลูกมะนาวติดอยู่เยอะจะไม่ตากน้ำ ถ้าเราตากไปลูกที่มีอยู่ก็จะเสียไป ถ้ามีเยอะจะปล่อยตามธรรมชาติ ซึ่งมะนาวนั้นจะมีการทยอยติดลูกทั้งปี เพียงแต่ว่ามีมากมีน้อยแล้วแต่ช่วงจังหวะที่มีดอก”

“โดยมากจะทำกันตั้งแต่พฤศจิกายน แต่ถ้ามีความสามารถ สามารถตากน้ำได้ก่อนและทำให้มะนาวออกดอกได้ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม จะสามารถไปเก็บผลผลิตได้ในช่วงแพงพอดี แต่ถ้าฝนชุกทำไม่ได้ จะเน้นการใส่ปุ๋ยสะสมทางดิน โดยเน้นให้สูตรปุ๋ยตัวหน้าสูง เช่น ยูเรีย และหากช่วงจังหวะต้นเบาๆ หรือติดลูกน้อย มะนาวก็จะออกดอก ถ้าเราทำออกมาได้ จะสามารถไปเก็บได้ในช่วงราคาแพง”

“หลังจากใส่ปุ๋ยตากน้ำไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ ก็จะเห็นแล้วว่า มะนาวจะแตกออกมาเป็นยอดหรือตาดอก วิธีการสังเกต ถ้าเป็นดอกจะเป็นตุ่มกลมอกมา ถ้าเป็นยอดเป็นใบจะมีลักษณะแหลมออกมา”

ทั้งนี้ มะนาวที่เก็บมาจากต้นนั้น ด้วยวิธีการใช้ตระกร้อสอย เมื่อถูกลำเลียงมาสู่โรงคัด จะมีการนำมาเข้าเครื่องคัดขนาดมะนาว เพียงคัดขนาด ซึ่งมีด้วยกัน 5 ขนาดคือ หนึ่ง ลอย สอง จัมโบ้ สาม ใหญ่ สี่ พิเศษ และห้า เบอร์คัดออก ซึ่งเป็นมะนาวที่สุกเหลืองและเป็นโรคแคงเกอร์ ซึ่งมะนาวแบบนี้แม่ค้าร้านส้มตำจะนำไปใช้

“มะนาวจากสวนจะมีพ่อค้าจากปากคลองตลาดมารับ ซึ่งในเขตนี้ส่วนมากจะมีพ่อค้าเจ้าประจำกัน หรือถ้ามีคนปลูกใหม่ ก็จะมีพ่อค้ามาติดต่อซื้อมะนาวจากสวน” คุณบอย กล่าว

ทั้งนี้คุณบอยบอกว่า ตลาดที่ร้องรับมะนาวนั้นไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาคือ ราคาที่ชาวสวนได้รับนั้น ถ้าเป็นช่วงมะนาวมาก บางปีอาจจะต่ำถึงกับไม่ได้กำไรเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งสวนหมดแล้วต่อการเก็บมะนาว 1 ครั้ง

“ช่วงแพงไม่มีปัญหาพออยู่ได้ แต่ถ้าช่วงราคาถูกเหลือเพียงลูกละ 30 สตางค์ ราคาแบบนี้อยู่ลำบากครับ เพราะหักค่าใช้จ่ายแล้วไม่เหลือเลย” คุณบอย กล่าวในที่สุด การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตมังคุด อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช แบบมีส่วนร่วมของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่มังคุดอำเภอลานสกา วิสาหกิจชุมชนฯ และ YSF ผ่านกระบวนการตามโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่

ในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการโครงการ พัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ โดยนำร่องในพื้นที่ 6 จุด ทั่งประเทศ เป็นการคัดเลือกพื้นที่นำร่อง จาก เขต ละ 1 จุด โดยมุ่งเน้นการต่อยอด แก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ในลักษณะการยึดพื้นที่สินค้า และต่อยอดจากกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง มีการขับเคลื่อนกิจกรรมการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ในการนี้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา โดย นายสุพิท จิตภักดี ผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ประธานคณะทำงานโครงการฯ คณะที่ 5 ได้พิจารณาคัดเลือก แปลงใหญ่มังคุดอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการดังกล่าว

นายสมโชค ณ นคร เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช รองประธานคณะทำงานโครงการฯ ได้ให้ข้อมูลว่ากลุ่มแปลงใหญ่มังคุดอำเภอลานสกา มีสมาชิก 102 ราย พื้นที่เพาะปลูกมังคุด 737 ไร่ ดำเนินการพัฒนาคุณภาพและรวบรวมผลผลิตมังคุดให้แก่สมาชิก เพื่อจำหน่ายผลผลิตในรูปแบบการประมูลราคา และอื่นๆ

และจากการจัดทำเวทีชุมชนเพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหา และความต้องการในการพัฒนาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาตามโครงการและกิจกรรมของชุมชน พบว่าในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ปี 2562 สัดส่วนทางการผลิตและการตลาด เกษตรกรโดยเฉลี่ยสามารถผลิตมังคุดคุณภาพเพื่อการส่งออก ได้ร้อยละ 54 อีกร้อยละ 46 เป็นมังคุดด้อยคุณภาพ เพื่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมังคุดคุณภาพส่งออกในฤดูกาลปกติ สามารถจำหน่ายได้ในราคา 35-65 บาท/กก. และผลผลิตด้อยคุณภาพ สามารถจำหน่ายได้ในราคา 8-30 บาท/กก. จะเห็นได้ว่าเกษตรกรสูญเสียรายได้จากการที่มีปริมาณผลผลิตด้อยคุณภาพในแต่ละฤดูกาลในสัดส่วนที่สูงมาก

จากการวิเคราะสถานการณ์ข้างต้น คณะทำงานฯโครงการ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตมังคุดโดยมุ่งเน้นไปที่การจัดการผลผลิตมังคุดด้อยคุณภาพ และมังคุดที่ตกหล่นซึ่งเป็นของเสียในกระบวนการผลิต ให้เข้าสู่กระบวนการแปรรูป เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากของอำเภอลานสกาในวงกว้าง โดยผ่านกระบวนการกิจกรรมต่างๆ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการระดับพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้แทนเกษตรกรแปลงใหญ่มังคุดอำเภอลานสกา ผู้แทนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ที่มีส่วนได้เสีย และ เกษตรกรรุ่นใหม่ young smart farmer เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

กิจกรรมต้นน้ำ ดำเนินกิจกรรมเพาะกล้ามังคุด เป้าหมายการผลิต 30,000 ต้น โดยมุ่งเน้นให้สมาชิกตามกิจกรรม นำมังคุดที่ตกหล่น เป็นของเสียในกระบวนการผลิต นำมาเพิ่มมูลค่าโดย แกะเอาเมล็ดมังคุดมาเพาะเป็นต้นกล้า เพื่อการจำหน่าย อีกทั้งยังนำส่วนของเปลือกตากแห้ง เพื่อจำหน่ายเป็นเลือกมังคุดตากแห้ง ซึ่งมีผู้รวบรวมเข้าสู่อุคตสาหกรรมแปรรูปเป็น สบู่ แชมพู ครีมบำรุงพิว จากมังคุด เป็นต้น

กิจกรรมกลางน้ำ ดำเนินกิจกรรมการแปรรูป โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มแปลงใหญ่ เข้ามาดำเนินการ แปรรูปมังคุด เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ประกอบด้วย ไวน์มังคุด มังคุดกวน มังคุดลอยแก้ว และถ่านมังคุด (การผลิตถ่านมังคุดยังได้ผลผลิตพลอยได้เป็นน้ำส้มควันไม้ ให้เกษตรกรสามารถนำกลับไปใช้ในการลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชในสวนได้อีกด้วย และเป็นการลดการใช้สารเคมี)

กิจกรรมปลายน้ำ ดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จำนวน 6 จุด ประกอบด้วย 1. สวนมังคุดโบราณ ณ ลานสกา 2. สวนปู่ย่า โฮมสเตย์ 3. สวนผลไม้ลุงชัย 4. บ้านสวนครูวันดี 5. สวนบ้านพ่อบ้านแม่ และ 6. สวนสร้างบุญ โดยเข้าไปพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรทั้ง 6 จุด เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักของอำเภอลานสกา อาทิ หมู่บ้านคีรีวง, น้ำตกกะโรม, น้ำตกวังไทร, วังโบราณ ลานสกา เป็นต้น และประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการให้บริการ และจำหน่ายผลผลิตทั้งสดและแปรรูปแก่นักท่องเที่ยว

นายไชยพงค์ ทะนันชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอลานสกา เกษตรตำบลเจ้าของพื้นที่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินการตามโครงการ สามารถกระจายผลประโยชน์แก่ชุมชน ผ่านวิสาหกิจชุมชน จำนวน 6 กลุ่ม แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จำนวน 6 จุด ครอบคุลม 4 ตำบล ของอำเภอลานสกา มีเกษตรกรร่วมกิจกรรมตามโครงการ กว่า 145 ราย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีช่องทางการในการบริหารจัดการมังคุดของตนเองได้อย่างหลากหลาย สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากมังคุดที่ด้อยคุณภาพ และเป็นของเสียในกระบวนการผลิต และสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ ด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิตอย่างครบวงจร ได้ต่อไปในอนาคต

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์คลองโยง เป็นกลุ่มผู้ผลิตพืชผักอินทรีย์ ตั้งอยู่ที่หมู่๑ ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ก่อตั้งเมื่อปี 2558 โดยการรวมตัวของสมาชิกที่มีความสนใจในการทำเกษตรอินทรีย์ เหตุผลที่ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้หันมาปรับเปลี่ยนทำเกษตรแบบใช้สารเคมีมาเป็นสารอินทรีย์ชีวภาพ เนื่องจากในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีการใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐ

คุณอุษา อุตสาหกุล ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินนครปฐม กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยง นับเป็นกลุ่มผู้ผลิตผักอินทรีย์กลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครปฐมที่มีความเข้มแข็ง จัดเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ขานรับนโยบายของภาครัฐในเรื่องของการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ทำให้ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ระบบการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมั่นคง สามารถผลิตพืชผักอินทรีย์ป้อนสู่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเสมอมา โดยไม่มีปัญหาเรื่องของสารตกค้างรวมถึงปัญหาอื่นๆ เนื่องจากระยะเวลาในการทำเกษตรในรูปแบบอินทรีย์ของกลุ่มนี้มีระยะเวลาดำเนินการมาร่วม 10 ปี จึงทำให้การปนเปื้อนในดิน และสารเคมีตกค้างในดินและพืชผักหมดไปโดยสิ้นเชิง

ประกอบกับปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้วบางส่วน จึงสามารถส่งออกพืชผักบางชนิดไปยังตลาดต่างประเทศได้ อาทิ การส่งผักชีไปประเทศไต้หวัน ในขณะที่สมาชิกที่เหลือกำลังอยู่ในช่วงของการขอรับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM

“ในด้านการส่งเสริมด้านการตลาดของพืชผักอินทรีย์นั้น ปัจจุบัน สินค้าของกลุ่มฯ จะส่งไปยังตลาดคนรักสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ตลาดสุขใจ ตลาดในมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปกร นอกจากนี้ในปี 2560 รัฐบาลยังมีนโยบายให้โรงพยาบาลสนับสนุนผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรทุกกลุ่ม โดยนำร่องในจังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดแรก

ซึ่งคาดว่าการทำตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์น่าจะขยายออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการบริโภคผักปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่แม้ว่าช่องทางการตลาดจะมากขึ้นแต่การส่งเสริมก็จะไม่เน้นการขยายพื้นที่ในกลุ่มผู้ผลผลิตเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อรักษามาตรฐานการผลิตให้คงไว้ภายใต้การทำเกษตรประณีตแบบพอเพียง”

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน นอกจากเข้ามาดำเนินงานด้านการให้ความรู้เรื่องการผลิต การปรับปรุงบำรุงดิน การตรวจวิเคราะห์ดินแล้ว กรมฯ ยังได้เข้ามาดูและประสานงานเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกเรื่องของเอกสารขอรับการตรวจรับรองจากหน่วยงานราชการอื่นๆ อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และหน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างๆ อีกด้วย

คุณไพบูลย์ สวัสดีจุ้ย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยง กล่าวว่า กลุ่มฯ มีสมาชิกอยู่ 12 ราย มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งกลุ่มมาจากความสนใจการทำเกษตรอินทรีย์ และต้องการดูแลสุขภาพ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาการทำเกษตรโดยใช้ผลิตภัณฑ์ทางเคมีนั้นส่งผลเสียต่อดิน ทำให้ต้นสูง ผลผลิตน้อย คุณภาพต่ำลง และเกษตรกรมีสุขภาพที่ไม่ดี เพราะต้องปนเปื้อนอยู่กับสารเคมี

“ปลูกพืช ต้องเริ่มจากบำรุงดินซึ่งเป็นส่วนสำคัญ โดยเราใช้น้ำหมักชีวภาพทำจากเศษปลาผสมกับเศษผักผลไม้ในแปลง น้ำตาลทรายแดงแบบออร์แกนิกและสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 น้ำหมักที่ได้จะนำไปคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมัก แล้วนำไปใส่ปุ๋ยให้กับพืช ดินร่วนซุยมากขึ้น พืชเจริญเติบโตได้ดี ในเรื่องโรคและแมลงจะใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่ปลูกในแปลงเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกในกลุ่ม อาทิ พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด นำมาหมักด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 เป็นสมุนไพรไล่แมลง”

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงบำรุงดินที่เน้นการใช้พืชตระกูลถั่วหว่านคลุมดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด พร้อมทั้งปลูกพืชสมุนไพรที่ช่วยกันแมลงไว้ในแปลงปลูก ซึ่งสามารถเก็บขายสร้างรายได้หลักจากเก็บเกี่ยวผลผลิตผักอีกทางหนึ่ง

โดยก่อนปลูกเกษตรกรจะเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหาร และปรับปรุงโครงการสร้างดินด้วยปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ รวมทั้งทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง ด้วยการนำเศษใบไม้ในพื้นที่ผสมกับแกลบเผา รำข้าวและมูลสัตว์มาหมักกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ส่วนน้ำหมักก็จะใช้เศษปลา เศษผักหมักกับน้ำตาลทรายแดงกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ไว้ฉีดเพื่อสร้างความร่วนซุยให้พืช

“จากการทำเกษตรในระบบอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีเลยนั้นทำให้กลุ่มสามารถผลิตพืชผักปลอดภัยส่งต่อให้กับผู้บริโภค โดยไม่ทำลายทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ขายได้ราคาดี โดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนในเรื่องของราคา อีกทั้งผักบางชนิดยังสามารถทำตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย

อย่างเช่น ผักชีฝรั่ง ที่ในขณะนี้มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์ระดับสากลนั้นสามารถส่งผักชีฝรั่งไปขายยังตลาดต่างประเทศสร้างรายได้เข้าประเทศ และคาดว่าในอนาคตจะมีผักชนิดอื่นๆ สามารถส่งขายไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอีก” นายไพบูลย์ กล่าว

ด้าน คุณสมทรง ม่วงพารา เลขานุการและสมาชิกกลุ่ม เป็นอีกหนึ่งที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์ แปลงพืชผักเกษตรอินทรีย์ของคุณสมทรงจะทำอย่างประณีต มีการขุดร่องล้อมรอบแปลงเพื่อกักน้ำและเพื่อป้องกันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี รูปแบบแปลงจะวางแนวไปตามตะวัน เนื่องจากพืชใช้แสงแดดปรุงอาหารและช่วยฆ่าเชื้อโรค ใช้พืชตระกูลถั่วมาหว่านคลุมดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดปรับปรุงดิน

“รอบแปลงจะมีการปลูกพืชสมุนไพรที่ช่วยกันแมลง เช่น พริก ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา เป็นต้น แปลงจะมีการยกร่องเพื่อปลูกพืชผัก โดยก่อนปลูกได้เก็บตัวอย่างดินนำไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารที่อยู่ในดิน และปรับปรุงโครงสร้างดินด้วยปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ เช่น มูลวัว โดยจะต้องเป็นวัวที่กินพืชตามธรรมชาติ มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในกลุ่มตามหลักมาตรฐานที่กำหนด

ส่วนเมล็ดพันธุ์ผักที่นำมาปลูกต้องนำไปล้างน้ำที่มีความร้อน ประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที นำขึ้นมาคลุกกับกากสะเดาก่อน แล้วนำไปหว่านลงแปลง การปลูกพืชผักอินทรีย์ต้องปลูกพืชสมุนไพรก่อนและต่อเนื่อง มีการปลูกพืชหมุนเวียนสลับกันไป ไม่ปลูกพืชผักชนิดเดิมๆ ในแปลงเดิมจะทำให้ได้ผลผลิตที่ดี ก่อนรดน้ำควรขยี้ให้สมุนไพรช้ำจะได้มีกลิ่นไล่แมลง”

นอกจากนี้ พืชสมุนไพรที่ปลูกยังสามารถนำไปขายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย เมื่อเก็บเกี่ยวพืชผักแล้ว ต้องรีบทำความสะอาดแปลง เศษพืชที่เป็นโรคให้รีบทำลายนอกพื้นที่ปลูก ส่วนที่ไม่เป็นโรคก็สามารถนำมาทำปุ๋ยต่อไปได้ กลุ่มจะใช้ทรัพยากรในแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero waste)

ปัจจุบัน กลุ่มฯ มีการผลิตพืชผักกว่า 20 ชนิด เป็นการปลูกแบบหมุนเวียนกันไป ได้แก่ ตะไคร้ ข่า พริก คะน้า ผักชีฝรั่ง กวางตุ้ง กล้วย โหระพา ถั่วพู ผักบุ้งจัน ผักสลัด ฝรั่ง เป็นต้น โดยวิธีการปลูกนั้นจะเน้นการปลูกแบบยกร่องรอบแปลงเพื่อกักน้ำและป้องกันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยรูปแบบแปลงจะวางแนวไปตามตะวัน เนื่องจากพืชใช้แสงแดดในการปรุงอาหารและช่วยฆ่าเชื้อโรคไปในตัว

ความสำเร็จของกลุ่มเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจและเสียสละของสมาชิก ทั้งยังเป็นเครือข่ายของสามพรานโมเดลจึงมีการประชุมกลุ่มทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเครือข่ายสามพรานโมเดลได้นำระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม พีจีเอส กับกลุ่มผู้ผลิตในเครือข่าย เป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่ง รับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยองค์กรผู้ผลิตเอง

แต่ในบางกรณี ก็อาจเป็นการดำเนินการของผู้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกร แต่ไม่ใช่เป็นการตรวจรับรองโดยหน่วยงานอิสระ โดยระบบชุมชนรับรองนี้จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในระบบ การประชุมกลุ่มอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ทำให้สมาชิกได้แบ่งปันความรู้และเมื่อเกิดปัญหาก็จะมาร่วมกันแก้ไข

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ จัดงานโดยกรมการข้าว ในงานมี “กลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้” มาออกร้านแนะนำผลิตภัณฑ์

จากการพูดคุยถึงที่มาที่ไปน่าสนใจเป็นอย่างมากจุดเริ่มต้น ชาวบ้านเห็นว่า คุณสมภพ ลุนาบุตร ปลูกอินทผลัมกินผล จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 500 บาท ต่างจากข้าวหอมมะลิ บางปีกิโลกรัมละ 6-8 บาท จึงอยากให้ข้าวราคาดีบ้าง โดยตั้งเป้าแปรรูปข้าวจำหน่าย

คุณสมภพ หนึ่งในแกนนำการก่อตั้งกลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ ตำแหน่งประชาสัมพันธ์ เล่าถึงข้อมูลประวัติความเป็นมาตลอดจนการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารว่า กลุ่มตั้งขึ้นเพื่อความอยู่รอดของชาวนาและเกษตรกรในพื้นที่ ผลผลิตที่ได้จากพื้นที่ทำการเกษตรของสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้แห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิเป็นหลัก โดยลักษณะเด่นทั่วไปของข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้นั้นเหมาะสำหรับใช้บริโภคหรือแปรรูป เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากมีความหอมนุ่ม เมล็ดข้าวสวยงามมีลักษณะที่เรียวยาว

“ข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นข้าวหอมมะลิที่ผลิตภายใต้ชื่อ “เพชรทุ่ง” เป็นข้าวหอมมะลิที่ผลิตและจำหน่ายโดยกลุ่มของเกษตรกร กลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ ตั้งอยู่ที่ บ้านน้อยพัฒนา หมู่ที่ 9 ตำบลดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์เพื่อการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” คุณสมภพ บอก

คุณสมภพ เล่าต่อว่า ด้วยปัญหาราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในปัจจุบันส่งผลทางด้านกำไรจากการค้าขายข้าวเปลือกที่ลดลงของชาวนาและเกษตรกรไทย จึงทำให้เกิดการปรับตัวเพื่อทำการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ทางกลุ่ม “ข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้” ได้เล็งเห็นซึ่งการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดแก่พี่น้องเกษตรกรภายในพื้นที่ โดยมีการก่อตั้งกลุ่มขึ้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธุ 2558 และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธุ 2558 ได้ทำการติดตั้งโรงสีข้าวขนาด 4.75 แรงม้า ซึ่งรับสีข้าวเพียงภายในชุมชน ชุมชนใกล้เคียงและแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารจากชุมชนเพื่อการจัดจำหน่าย

“ตอนแรกเรารวมโดยชาวบ้านเอง 22 ครัวเรือนมาคุยกัน แล้วตกผลึกกันได้ 17 ครัวเรือนว่าจะรวมกลุ่มกัน แล้วจะทำยังไงล่ะโรงสีก็ไม่มี หน่วยงานสนับสนุนก็ยังไม่มี ลงขันกันครับ คนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 85,000 บาท จะเอาไปซื้อโรงสีที่ราคา 195,000 บาท แต่ทีนี้เงินเราได้ 85,000 บาท เงินไม่พอทำไง ก็มีผู้ใหญ่ใจดีในหมู่บ้าน ก็คือแม่ยายผมนี่แหละ ก็เลยบอกแม่ยายไปว่าแม่ทุนไม่มี ก็เลยคุยกับแม่ยาย บอกแม่ยายว่าแม่ทำบุญกับวัดกับวานู่นนี่นั่นก็เยอะ ก็ขอยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยได้ไหม ก็คุยกันคนในหมู่บ้านก็คุยกัน เพราะว่าเราเกิดจากปัญหาในชุมชนกันที่ว่าราคาข้าวมันตกต่ำจะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ ทุกวันนี้ก้ยังใช้ไม่หมด”

“ยืมมา 120,000 บาท พร้อมเดินไฟเดินอะไรด้วย ก็เอามารวมกับเงินกลุ่มก็จาก 85,000 ก็เป็น 205,000 บาท อันนี้คือค่าเครื่องราคาเต็มแต่เราไปซื้อในงาน วันที่ 9 เรารวมกลุ่มกันใช่ไหม วันที่ 10 เราไปดูงานที่ ม.อุบล วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เขาจัดงานเกษตรแฟร์ ก็ไปดูไปเจอโรงสีของ บริษัท นาทวีฯ ที่ลงโฆษณาของเทคโนโลยีชาวบ้านเนี่ยแหละ ก็ดูรู้ว่าโรงสีนี้เป็นโรงสีนวัตกรรม เป็นโรงสีที่ไม่ต้องไปเสียโรงงาน เพราะว่ามัน 4.75 แรงม้า ก็ไปดูกัน ไปดูแล้วก็วางมัดจำเลย แล้วก็มาติดตั้งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ก็คือรวดเร็วนะ โดยตอนแรกเราก็ยังไม่มีหน่วยงานที่เข้ามา เราก็สีให้กับญาติพี่น้องให้เอามาขายที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง ที่เขามาทำงาน โดย 17 ครัวเรือนที่นาในตอนนั้นมี 1,109 ไร่”

การรวมกลุ่มของเกษตรกรภายในหมู่บ้าน ระดมทุนเพื่อซื้อโรงสีข้าวเกิดขึ้น โดยสมาชิกเริ่มต้นการก่อตั้ง 17 ราย จาก 17 ครัวเรือน ปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นเป็น 29 ครัวเรือน ที่นาในปัจจุบันมี 1,300-1,400 ไร่ นับตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2559-2561 มีการระดมทุนจากสมาชิกภายในกลุ่ม ในส่วนของผลผลิตที่นำมาแปรรูปในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ประมาณ 50-60 ตันข้าวเปลือก

ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้มีการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์โดยมีการจัดทำแปลงเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มขึ้น มีศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพี่เลี้ยงให้ ช่วงปีนี้ผลผลิตจำหน่ายที่ดีที่สุดคือเมล็ดพันธุ์ข้าว อิงจากยอดการขายที่ขายได้ถึง 20-30 ตันโดยประมาณ ราคาทั่วไปการขายเมล็ดพันธุ์ตามท้องตลาด 25 กิโลกรัม ขายอยู่ที่ 750-850 บาท ต่อถุง แต่ทางกลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ขายอยู่ที่ 650 บาท ต่อถุง โดยการตั้งราคาการค้าขายในครั้งนี้ประเมินจากความเหมาะสมที่ทางกลุ่มสามารถอยู่ได้ ในส่วนของวิธีการผลิตในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นระบบอินทรีย์แต่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนทั้งหมด

ทางด้านของความพึงพอใจของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ทำกินนั้น คุณปราณี สุดาปัน หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม มีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการรับซื้อผ่านกลุ่มมีการกำหนดราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาดถึง 1-5 บาท โดยความต้องการอนาคตมีความต้องการให้คงต่อความเป็นอินทรีย์ปราศจากสารเคมี

“วิธีการผลิตเรากำลังปรับเปลี่ยนเป็นระบบอินทรีย์แต่เราไม่ได้ปรับเปลื่ยนทั้งหมด ก็คือเราไม่ได้ปรับ เปลื่ยนตามนโยบาย ไม่ต้องการตัวเลข 2,000-3,000 ไร่ คือเราปรับตามทั่วไป เพราะว่าผมว่าความซื่อสัตย์ของเกษตรกรเนี่ยเป็นจุดสำคัญนะ จะเอาแค่ตัวหนังสือผมไม่เอา ผมบอกเลยว่าเอาแบบความจริงใจของตัวเกษตรกร ผมก็จะแนะนำลูกค้าเวลาเขาถามว่า อินทรีย์ไหม ผมก็จะตอบไปว่า กระบวนการของเราเนี่ยเราเรียนรู้กระบวนการทำระบบอินทรีย์ แต่เราจะบังคับทุกคนทุกรายไม่ได้ เราต้องทำให้เขาเห็นว่าการทำอินทรีย์มันดีอย่างไร คือหนึ่งมันดีต่อตัวเขาเอง มันดีต่อครอบครัวเขาเอง แล้วสองก็คือมันจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ผลิตปลายทาง ที่เป็นผู้ซื้อเรา ทีนี้มันจะทำให้อินทรีย์ปลูกฝังอยู่ในจิตใจของครอบครัวเขา ของตัวเกษตรกร เราไม่ได้ว่าเฮ้ย! คุณทำอินทรีย์ปีนี้คุณได้ 2,000 บาท ปีหน้าคุณได้ 3,000 บาท ปีต่อไปคุณได้ 4,000 บาท แล้วปีต่อไปละเมื่อไม่มีค่าตอบแทนไม่ทำ อย่างนั้นไม่ยั่งยืน เราเลยปรับกระบวนการใหม่ก็คือเอาจากใจของตัวเกษตรกรมันจะยั่งยืนกว่า” คุณสมภพ กล่าว