ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนทั้งที่อยู่ในตัวเมือง

และใกล้เคียงรวมทั้งกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ที่มีมากกว่า 20,000 คน ที่ต้องการจะพักผ่อนและไม่ต้องเดินทางไปไกลๆ

นอกจากนี้ ยังมีแนวความคิดจะแบ่งพื้นที่จำนวนหนึ่งมาสร้างเป็นสนามวอลเลย์บอลชายหาด เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ มาแข่งขัน หรือมีการจัดการแข่งขันระดับโรงเรียน โดยบริเวณรอบๆ จะมีลานสำหรับการออกกำลังกาย มีเครื่องเล่น เครื่องออกกำลังกายต่างๆ ไว้บริการ ส่วนพื้นที่ว่างตามถนนในโครงการก็จะทำให้เป็นสวนเกษตรเรียนรู้ มีผักต่างๆ ของท้องถิ่น เช่น ผักกูด ผักกระถิน กะเพราบ้าน ฯลฯ ส่วนช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เปิดเป็นถนนคนเดิน และมี อปพร. คอยดูแลในเรื่องการรักษาความปลอดภัย

“ปัจจุบัน ชายหาดน้ำจืดในเขตจังหวัดนครราชสีมามีหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในอำเภอรอบนอก ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางและเสียค่าใช้จ่ายสูง อาทิ อ่างเก็บน้ำซับประดู่ อ.สีคิ้ว, หาดจอมทอง อ.ครบุรี และหาดชมตะวัน อ.เสิงสาง ดังนั้น อ่างเก็บน้ำห้วยยาง จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการจะไปพักผ่อนได้อย่างประหยัด ต่อไปที่นี่จะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของโคราช หากโปรโมตออกไป คนต่างจังหวัดก็อยากมาที่นี่ เหมือนไปบางแสน”

ส่วนบริการอื่นๆ อาทิ ร้านอาหาร เทศบาลจะมีการจัดระเบียบ ทั้งในเรื่องของความสะอาด ราคา ชุดฟอร์มของร้านค้า-หาบเร่ ขณะที่ห้องน้ำ-ห้องสุขาให้ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ ในพื้นที่ผลัดกันไปดูแลและเก็บค่าใช้บริการเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“คาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินการ ประมาณ 30 ล้านบาท ดำเนินการโดยกองทัพภาคที่ 2 และเทศบาลตำบลสุรนารี โดยจะทำการอนุมัติตามขั้นตอน หากได้งบฯ ก่อสร้างแล้วสามารถเริ่มก่อสร้างเสร็จภายใน 6 เดือน คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนมาท่องเที่ยว พักผ่อนได้ภายในปี 2561 นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะมีการตัดถนนเส้นใหม่เชื่อมระหว่างอ่างห้วยยาง ไปยังวัดพระธาตุโป่งดินสอ ประมาณ 1.2 กิโลเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มากราบไหว้พระ และสามารถแวะมาพักผ่อนที่อ่างห้วยยางได้” นายสมยศ กล่าว

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาเป็น “ประยุทธ์ 5” เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2560 รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเกษตรเป็นพิเศษ โดยเฉพาะยางพารา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ลั่นวาจาต้องแก้ปัญหาราคาตกต่ำให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน

เมื่อนายกฤษฎา บุญราช เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เสนอ 6 มาตรการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และ ครม. ก่อนส่งท้ายปีเก่า 2560 ได้แก่ 1) มาตรการการให้สินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้งวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะซื้อยางได้ประมาณ 3.5 แสนตัน รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 3% ต่อปี 2) มาตรการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐเป้าหมาย 2 แสนตันต่อปี 3) มาตรการควบคุมผลผลิต โดยมีเป้าหมายลดผลผลิตจากเกษตรกรเร่งโค่นยางไปปลูกพืชอื่นในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ จะได้รับเงินเร็วเพิ่มขึ้นอีกรายละ 4,000 บาท เป้าหมาย 2 แสนไร่ และให้หน่วยงานรัฐที่มีสวนยางหยุดกรีดยางประมาณ 1 แสนไร่

4) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยาง วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย สถาบันเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยจริงเพียง 0.01% ต่อปี 5) มาตรการชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี ให้สินเชื่อสถาบันเกษตรกรรวบรวมยางวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 6) มาตรการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์ยางวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร

ยังไม่รวมความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จับมือกันลดการส่งออกยางในไตรมาสแรกปีนี้ รวม 3.5 แสนตัน โดยไทยลดส่งออก 2 แสนตันเศษ อินโดนีเซีย 9.5 หมื่นตัน และมาเลเซีย 2 หมื่นตัน ทั้งนี้มาตรการทั้ง 6 และการลดการส่งออกมีเป้าหมายในการผลักดันราคายางขึ้นสู่เป้าหมาย กก.ละ 60 บาท

อย่างไรก็ตาม ราคายางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ประมูลผ่านตลาดกลางในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 ราคาส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง กก.ละ 43-47 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้บริหารในรัฐบาลชุดนี้วิตกว่า หากมีการเปิดกรีดยางฤดูใหม่ในเดือน พ.ค.ศกนี้เป็นต้นไป ยางที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้ราคาทรุดตัวลงมาได้ อาจได้เห็นยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาตกต่ำหนักสุดท้ายเหลือเพียง กก.ละ 33 บาท เหมือนในช่วงเดือน ก.พ. 2559 กลับมาอีกก็ได้ ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลที่จะมีการจัดการเลือกตั้งภายในต้นปี 2562

ดังนั้น จึงเหลือไม่กี่ทางเลือกที่จะดันราคายางให้สูงกว่าต้นทุนการผลิต กก.ละ 64.90 บาท คือ ชาวสวนยางต้องขายยางให้ถึง กก.ละ 80 บาท พอเหลือกำไรให้จับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน หนีไม่พ้นการให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยาง เพื่อลดซัพพลายผลผลิตส่วนที่เกินความต้องการทั่วโลกประมาณปีละ 3-4 แสนตันออกไป และลำพังไทยหยุดกรีดเพียงประเทศเดียว การดันราคายางขึ้นสู่ กก.ละ 80 บาท อาจจะไม่ได้ผลหรือต้องใช้เวลานานรวมทั้งใช้งบประมาณมากเกินไป เพราะการให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยาง ก็ต้องมีการจ่ายชดเชยรายได้

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนหยุดกรีดไว้ 2 แนวทาง คือ หยุดกรีด 3 เดือน จำนวน 3 ล้านไร่ จะจ่ายชดเชยให้ชาวสวนรายละ 4,500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ไร่ หรือแนวทางหนึ่งคือหยุดกรีดยางทั้งปี ซึ่งใน 1 เดือนจะกรีดยาง 15 วัน หยุดกรีด 15 วัน แต่ทั้ง 2 แนวทางยังไม่ยุติ ต้องนำไปพิจารณาโดยละเอียดอีกรอบ

ขณะที่การหารือระหว่างไทยกับทูตตัวแทนประเทศผู้ผลิต ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2561 มีอินโดนีเซียเท่านั้นที่ให้ความสนใจในมาตรการนี้เป็นพิเศษ เพราะมีพื้นที่ให้ผลผลิตยางเป็นอันดับสองรองจากไทยประมาณ 4 ล้านตัน และเกษตรกรชาวสวนยางมีอาชีพเสริมไว้รองรับราคายางตกต่ำ ขณะที่ไทยมีผลผลิตยางปีละ 4.5-4.6 ล้านตัน ส่วนเวียดนามและมาเลเซียมีผลผลิตยางใกล้เคียงกันประมาณปีละ 1 ล้านตันบวกลบ เมื่อหักการใช้ในประเทศเหลือส่งออกไม่มาก โดยเฉพาะมาเลเซียที่นำเข้าน้ำยางสดจากไทยปีละหลายแสนตันไปผลิตถุงมือยาง

หาก 4 ประเทศร่วมมือกันหยุดกรีดยางได้จริง จะลดซัพพลายยางที่ล้นตลาดได้มาก การดันราคายางขึ้นสู่เป้าหมาย กก.ละ 80 บาทย่อมทำได้ แต่ถ้าความร่วมมือทั้ง 4 ประเทศล้มเหลว ไทยทำเพียงประเทศเดียว เป้าหมายราคา กก.ละ 80 บาทอาจล้มเหลว มหากาพย์การแก้ปัญหาราคายางตกต่ำอาจยืดเยื้อต่อไปอีกนาน หลังจากที่ราคายางตกต่ำต่อเนื่องจาก กก.ละ 180 บาท มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2554 ซึ่งกินเวลายาวนานมากว่า 7 ปี

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 ได้มีมติสั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำอย่างเร่งด่วนภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะยางพาราที่ค้างอยู่ในสต๊อก 1 แสนตัน ให้นำไปใช้ในหน่วยงานรัฐให้มากขึ้น และจะไม่มีนโยบายนำยางที่ค้างสต๊อกมาขายแข่งในตลาดอย่างแน่นอน

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมสรุปการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ และปริมาณความต้องการใช้ยางปี 2561 แบ่งเป็นปริมาณการใช้น้ำยางข้นปี 2561 จำนวน 9,916.832 ตัน ปริมาณการใช้ยางแห้งปี 2561 จำนวน 1,132.39 ตัน รวมทุกงบประมาณทั้งสิ้น 11,589,115,494.57 บาท

ตัวเลขล่าสุดมีหน่วยงานราชการ 6 หน่วยงานนำไปใช้ ได้แก่ 1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปริมาณความต้องการใช้ยาง 709.76 ตัน 2. กระทรวงกลาโหม ปริมาณความต้องการใช้ยาง 1,472.73 ตัน 3. กระทรวงคมนาคม ปริมาณความต้องการใช้ยาง 8,351 ตัน 4. กระทรวงศึกษาธิการ ปริมาณความต้องการใช้ยาง 334.88 ตัน 5. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปริมาณความต้องการใช้ยาง 28.3745 ตัน 6. กรุงเทพมหานคร ปริมาณความต้องการใช้ยาง 152.45 ตัน รวมปริมาณความต้องการใช้ยาง 11,049.1945 ตัน

ดังนั้น จะเห็นว่าการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศน้อยมากเพียง 10% ขณะที่ กยท.ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30%

อย่างไรก็ตาม เพื่อกระตุ้นการใช้ยางพาราภายในประเทศ รัฐบาลมีนโยบายให้ส่วนราชการต่างๆ หันมาใช้ยางในหน่วยงานมากขึ้น และรวดเร็วขึ้น โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งงานให้สำนักงบประมาณเร่งรัดการใช้ยางในหน่วยราชการ โดยหากมีหน่วยงานใดต้องการจะใช้เงินเพิ่มในการซื้อยางให้เสนอมาได้ทันที ส่วนงบประมาณสำหรับภาคเอกชนที่จะนำไปแปรรูปยางนั้น ได้เสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3% และขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างโรดโชว์รายภาคเพื่อกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ไปยังสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาหอการค้า ผู้ประกอบการภาคเอกชน ให้มาเข้าร่วมโครงการใช้ยางในประเทศมากขึ้นด้วย

“ตลาดไท” ฟ้อง “ศาลปกครอง” สอบ “ปลัดกระทรวงพาณิชย์” พร้อมพวก ระงับผลคัดเลือก “ตลาดกลางข้าวสาร” ที่ให้ชนะคู่

แหล่งข่าวจากกลุ่มตลาดไท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด หรือตลาดไทได้ยื่นฟ้องปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครอง โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เพื่อขอให้ระงับผลการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พิจารณาให้ตลาดไทเป็นผู้ชนะการคัดเลือกร่วมกับบริษัท ตะวันนา ไนท์บาซาร์ จำกัด (ตลาดตะวันนา/ตลาดต่อยอด) เพื่อเริ่มดำเนินโครงการในเดือนเมษายน 2561

หากพิจารณาจากหลักเกณฑ์ทีโออาร์กำหนดเงื่อนไขว่า ผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ด้านนี้มาไม่น้อยกว่า 10 ปี ต้องมีพื้นที่และระบบการบริหารจัดการตลาด ต้องลงทุนเองทั้งหมด กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยทำประชาสัมพันธ์ให้เท่านั้น ประเด็นที่คัดค้านไม่ใช่เรื่องการจัดแบ่งงบประมาณไปให้ 2 ตลาด เพราะตลาดไทได้วางแผนประชาสัมพันธ์ว่า จะได้รับการคัดเลือกให้ทำตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกให้ผู้ประกอบการรับทราบแล้ว หากจัดตั้ง 2 ตลาด มีระยะทางห่างกันเพียง 7-8 กม. เกรงว่าจะเกิดปัญหาการแย่งลูกค้ากันเอง ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ

อนึ่ง เรื่องนี้ยืดเยื้อมาตั้งแต่กลางปี 2560 หลังจากกรมการค้าภายในรับมอบนโยบายจากนางอภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตรมว.พาณิชย์จัดทำทีโออาร์เปิดรับสมัครเอกชน โดยมีกลุ่มตลาดไทซึ่งเป็นกลุ่มทุนของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์, ตลาดท่าข้าวเขาใหญ่ของบริษัท บูรณากาญจน์ จำกัด จ.สุพรรณบุรี และกลุ่มตลาดตะวันนา ซึ่งเป็นกลุ่มทุนของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มาสมัครและแสดงวิสัยทัศน์ในเดือนกรกฎาคม และคัดเลือกเหลือ 2 ราย ก่อนเปิดแสดงวิสัยทัศน์อีกรอบ และได้ประกาศผลคัดเลือก 2 รายดังกล่าวเป็นผู้ชนะร่วมกัน แต่ทางตลาดไทไม่พอใจผลการพิจารณา จึงได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2560 แต่เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แจ้งยืนยันผลพิจารณา 2 รายเช่นเดิม จึงนำมาสู่การร้องต่อศาลปกครองครั้งนี้

นางสาวสุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ยังไม่ทราบการฟ้องร้องของตลาดไท แต่ไม่ได้มีความกังวล พร้อมที่จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ศาลจังหวัดนางรอง อ่านคำพิพากษาคดีแพ่ง ที่ หจก.ดีสิงห์ทวีโชค ผู้ค้าปุ๋ยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องตัวแทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 88 กลุ่ม จำเลย 222 ราย ในพื้นที่ 5 อำเภอ นางรอง หนองกี่ โนนสุวรรณ หนองหงส์ และอำเภอปะคำ ให้จำเลยชำระค่าปุ๋ยในวงเงินรวมประมาณ 42 ล้านบาท โดยมีคำพิพากษายกฟ้อง

โครงการนี้ดำเนินการโดย อบจ.บุรีรัมย์ ในชื่อโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ โดยอุดหนุนปัจจัยการผลิต แจกปุ๋ยฟรีให้แก่เกษตรกรทั้งจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555-58 ก่อนเกิดปัญหาฟ้องร้องในปี 2558 โดยบริษัทปุ๋ยนำปุ๋ยมาให้เกษตรกร แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่อนุมัติ งบประมาณ และสั่ง อบจ.ทบทวนโครงการ เพราะ สตง.พบความไม่โปร่งใสของโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปี 2555-57 เมื่อโครงการไม่ผ่าน ทาง อบจ.จึงไม่มีงบฯ มาให้เกษตรกร บริษัทปุ๋ยจึงหันมาฟ้องตัวแทนกลุ่มเกษตรกรทั้ง 88 กลุ่ม 222 รายดังกล่าว คดีนี้ชาวบ้านต่อสู้เกือบ 3 ปี เป็นคดีประวัติศาสตร์ จำเลยล้นศาล โดยได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความ

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คดีนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือชาวบ้านเป็นเวลาเกือบ 3 ปี มีชาวบ้านตกเป็นจำเลยจำนวนมาก 222 ราย มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายส่วนราชการ ถือว่าเป็นคดีตัวอย่างที่สำคัญมาก ทั้งนี้หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนในเรื่องใด กระทรวงยุติธรรมก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายคนเราก็เสื่อมลงเป็นธรรมชาติ หรือบางคนอายุยังไม่มากแต่ร่างกายเสื่อมเพราะไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตโดยไม่ดูแลตัวเอง หรือนำปัจจัยที่เร่งความเสื่อมเข้าสู่ร่างกาย ภาวะหน้าตาหมองคล้ำ เบลอ ไร้พลัง ไม่สดชื่น อารมณ์ไม่คงที่จึงมาเยือน หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นป่วยเป็นโรค

“การดูแลตัวเองให้ไม่ต้องอยู่ในภาวะดังกล่าวทำได้หลายแบบ แต่จะให้ดีจริงทั้งระบบร่างกายควรดูแลลึกลงไปถึงระดับเซลล์ ซึ่งเป็นที่เก็บความลับเกี่ยวกับสุขภาพและการมีชีวิตที่ยืนยาว มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับผิวพรรณ ระบบภูมิคุ้มกัน การเคลื่อนไหว และหน้าที่ทุกอย่างในร่างกาย หากเซลล์ทำงานได้ดี ร่างกายย่อมทำงานดีไปด้วย หากเซลล์เสื่อมสภาพย่อมจะส่งผลให้ร่างกายแก่ชรา เกิดโรคแห่งความเสื่อมตามมา ดังนั้นการป้องกันความเสื่อมของเซลล์ก็คือการป้องกันโรค” นายแพทย์ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท ที่ปรึกษาด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ บริษัทเนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็ม (N Health) บอก

ตัวปัญหาหนึ่งในการทำลายเซลล์ต่างๆ ในร่างกายคือ “อนุมูลอิสระ” ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการเมทาบอลิซึ่มในร่างกาย อนุมูลอิสระเป็นโมเลกุลที่มีอิเล็กตรอนไม่ครบคู่ จึงต้องไปแย่งอิเล็กตรอนจากโมเลกุลอื่น เปรียบดั่งหัวขโมยที่ขโมยอิเล็กตรอนจากเยื่อหุ้มเซลล์และสารพันธุกรรมของเซลล์ที่เรียกว่า “ดีเอ็นเอ” ทำให้เซลล์เสียหาย

โดยธรรมชาติในร่างกายคนเรามีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) คอยต่อสู้กับอนุมูลอิสระไม่ให้ทำลายเซลล์ในร่างกาย แต่เมื่ออายุมากขึ้นสารต้านอนุมูลอิสระลดน้อยลง ร่างกายจึงมีแนวโน้มที่จะมีอนุมูลอิสระมากขึ้น กลายเป็นที่สะสมของสารอนุมูลอิสระ

ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระจากภายนอกที่สามารถเติมเข้าสู่ร่างกายได้ก็คือสารอาหารพวกวิตามิน และสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ 8 ชนิด ได้แก่ วิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินอี, แกมมา-โทโคฟีรอล, ไลโคปีน, แอลฟา-แคโรทีน, เบตา-แคโรทีน, โคเอ็นไซม์ คิวเท็น

สารอาหารเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในอีกด้านหนึ่งสารบางตัวมีในร่างกายมากไปก็ให้โทษ ดังนั้นการรู้ว่าในร่างกายมีสารชนิดใดมาก-น้อย ควรเพิ่มหรือลด หรือคงระดับเดิม จึงเป็นเรื่องดีต่อการดูแลร่างกาย

สำหรับคนที่อยากรู้ว่าในร่างกายมีระดับวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ในระดับที่พอดีหรือยัง สามารถตรวจเช็กระดับวิตามินได้ง่ายๆ ในหลายๆ โรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์ชั้นนำมีโปรแกรมตรวจเช็กวิตามิน ที่ทำได้ง่ายๆ แค่เจาะเลือด 1 หลอดก็สามารถตรวจเช็กได้ครบทั้ง 8 ตัว เมื่อทราบผลการตรวจแล้วจะได้ดูแลร่างกายได้อย่างเหมาะสม และหากผลการตรวจผิดปกติมากๆ ควรนำผลการตรวจไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำต่อไป เพราะการขาดสารเหล่านี้อาจจะไม่ได้ฟ้องด้วยอาการภายนอกเท่านั้น แต่อาจจะรุนแรงถึงการป่วยที่มองไม่เห็น

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลป่วนจัดประชุมด่วน หลัง “น้ำตาลครบุรี” ส่ง จม.ด่วนถึงกองทุนอ้อย-กระทรวงอุตฯ-พาณิชย์ ชี้ประกาศเข้าข่าย “เสี่ยงไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เพียบ

แหล่งข่าวจากวงการอ้อยน้ำตาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เกิดปัญหาความปั่นป่วนอย่างหนักในการลอยตัวราคาน้ำตาล เพราะภาครัฐไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับโรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อยได้ โดยเฉพาะประกาศต่างๆ ที่ออกมาทางโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่เห็นว่า อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจทำให้ผิดข้อตกลงกับบราซิลและองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะรัฐบาลยังคงควบคุมราคา และให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ดังนั้น สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลได้นัดประชุม เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวในสัปดาห์นี้

หลังรัฐบาลใช้ ม.44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 61 ให้ยกเว้นการใช้บังคับมาตรา 17 (18) ของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เรื่องหลักเกณฑ์การจำหน่ายและกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ แต่ในวันที่ 23 ม.ค. 61 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 21 เรื่องการกำหนดราคาและหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการจำหน่ายน้ำตาลทราย โดยให้ผู้ประกอบการจำหน่ายน้ำตาลทรายไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด โดยราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 22.85 บาท/กก. น้ำตาลทรายขาว 21.35 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาว สีรำที่ 21.35 บาท/กก. และให้บวกภาชนะบรรจุได้ไม่เกิน 0.75 บาท/กก.

และในวันที่ 6 ก.พ. 61 นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เรื่องราคาส่วนต่างระหว่างราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่ขายได้จริงในหนึ่งเดือนกับราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน หมายเลข 5 บวกพรีเมี่ยมน้ำตาลทรายไทยที่เกิดขึ้นในหนึ่งเดือนประจำเดือน ม.ค. 61 เพื่อจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ สรุปได้ว่า สอน.ได้สำรวจราคาน้ำตาลทรายขาวภายในประเทศเฉลี่ยราคา 17.22 บาท/กก. น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เฉลี่ย 18.33 บาท/กก. ทำให้มีผลต่างน้ำตาลทรายขาวเดือน ม.ค. 61 ที่ราคา 5.19 บาท/กก. และผลต่างน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 5.95 บาท/กก. และให้โรงงานนำส่งเงินส่วนต่างเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ภายในวันที่ 15 ก.พ. 61

ล่าสุด นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.น้ำตาลครบุรี ได้ทำหนังสือถึงกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายและส่งสำเนาถึง กอน., คณะกรรมการบริหาร และรัฐมนตรีว่าการ 3 กระทรวง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อโต้แย้งและขอให้ทบทวนหนังสือกองทุนอ้อยฯ ที่ ว.013/2561 ลงวันที่ 8 ก.พ. 2561 เนื่องจากเป็น บมจ. ไม่อาจดำเนินการที่เป็นการเสี่ยงว่าจะขัดต่อกฎหมายหลายประการได้ จึงขออุทธรณ์คำสั่งตามประกาศของ สอน.เรื่องราคาส่วนต่างฯ และขอเรียกเงินที่ส่งกองทุนอ้อยฯ 46,073,766 บาทคืน โดยขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 และขอให้พิจารณาประกาศ และระเบียบต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช.ลงนามความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดย ศ.โยชิโนะ มิชิมะ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว เพื่อจัดตั้งสำนักงานโตเกียวเทคประจำประเทศไทย ครั้งแรกขึ้นในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและครั้งแรกของภูมิภาคเอเชีย มุ่งให้เกิดการวิจัยระหว่างภาคอุตสาหกรรมชั้นนำและสถาบันการศึกษา พร้อมเดินหน้าสร้างกำลังคน หวังเป็นศูนย์กลางพัฒนาการศึกษาและการวิจัยร่วมกัน โดยมี นายมาซาฮารุ คูบะ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมด้วย ศ.มาโกโตะ อันโดะ รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ศ.คาซูยะ มาสึ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว คณะผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการสร้างบุคลากรรองรับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น

ศ.โยชิโนะ กล่าวว่า สำนักงานโตเกียวเทคประจำประเทศไทยจะมุ่งให้ความสนใจกับการจับคู่ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมกับผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งร่วมมือกับ สวทช.ใน 4 ด้านหลัก คือ 1. ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย 2. ด้านการศึกษา 3. ด้านการวิจัย และ 4. ด้านกระบวนการจัดหาและเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา นำไปสู่ความ ร่วมมือทางด้านการวิจัยและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้