ทั้งนี้ ผลการดำเนินการโครงการ สามารถสรุปได้ว่า การผลิต

เอทานอลโดยใช้ความเข้มข้นของสารตั้งต้นสูงจากทั้งวัตถุดิบที่เป็นกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล และลดต้นทุนการผลิตเอทานอลได้อย่างมีนัยสำคัญ

“…หากประเทศไทยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งออกมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับการใช้งานเชื้อจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม โดยยึดถือมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นสำคัญ…ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปในตอนท้าย

เดิมอาหารของคน โดยเฉพาะโปรตีนจากสัตว์ ต้องออกล่าตามป่า เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น จำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์ในระดับอุตสาหกรรม สิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาคู่ขนานกันมาคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อก่อน หากต้องการเพิ่มผลผลิตข้าวโพดในประเทศ สามารถทำได้โดยขยายพื้นที่ปลูก แต่ปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว

แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องบันดาลให้ผลผลิตข้าวโพดเท่าเดิมหรือไม่ก็เพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่ปลูกลดลง โดยการพัฒนาพันธุ์ บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด คือตำนานบทหนึ่ง ที่มีส่วนขับเคลื่อนวงการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยให้ก้าวหน้า มีผลผลิตพอใช้ นอกจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ยังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดฝักอ่อน ทานตะวัน และข้าวฟ่างแดง

บริษัท แปซิฟิคฯ ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 13 ถนนพหลโยธิน ตำบลพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

เมื่อเอ่ยถึง บริษัท แปซิฟิคฯ นอกจากผู้บริหาร นักวิจัย และพนักงานท่านอื่นๆ ที่อัธยาศัยไมตรีอันดียิ่งแล้ว ดร.ยงค์ยุทธ ปานสูง กรรมการบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ เป็นแม่ทัพที่ขับเคลื่อนงานข้าวโพดมาต่อเนื่องยาวนานถึง 35 ปี

เจียระไน โดย ม.แม่โจ้

ดร.ยงค์ยุทธ เป็นคนพื้นเพที่ลุ่มภาคกลาง จังหวัดลพบุรี แต่ถูกขัดเกลาโดยสถาบันทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อ คือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ “คุณพ่อคุณแม่ ทางบ้านทำไร่ทำนา มีทำไร่นาสวนผสม มีนาบางส่วน ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเลยรักทางด้านการเกษตร ปลูกข้าวโพด ขนุน มะละกอ การเรียนเกษตรเมื่อ 35-36 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นจัดอยู่ในช่วงลำบาก การเรียนการสอน อุปกรณ์ไม่เหมือนปัจจุบัน คอมพิวเตอร์มีบางสาขาเท่านั้นเอง สาขาส่งเสริมการเกษตรที่ผมเรียนไม่มีใช้ แต่ก็จะเรียนภาคปฏิบัติมากหน่อยให้ลงฟาร์มจริงๆ

รวมทั้งทางด้านการบำเพ็ญประโยชน์…เสาร์และอาทิตย์ไม่ได้หยุดออกค่าย อาจารย์จะนำไปเชียงรายไปสร้างศาลาพักริมทาง ศาลาประชุมในหมู่บ้านเราจะไม่ได้หยุด เขาไม่ได้บังคับ ลงชื่อเต็มรถบัสหนึ่งคันก็ไปกัน ผมเรียนไกลบ้าน เสาร์และอาทิตย์ไม่รู้จะทำอะไรเป็นอาสาสมัครแทบไม่ได้ขาด ขึ้นดอยบ้างตามอาจารย์ไป โดยเฉพาะ ศ. (เกียรติคุณ) ดร.เทพ พงษ์พานิช อาจารย์หัวหน้าสาขาในขณะนั้น สาขาที่ผมเรียนหลักสูตรค่อนข้างกว้าง หางานง่าย ไปทำที่กรมส่งเสริมการเกษตรเยอะ ช่วงนั้นบุคลากรส่งเสริมการเกษตรต้องการมาก ผมก็สอบบรรจุได้ แต่มาได้งานที่แปซิฟิคก่อน” ดร.ยงค์ยุทธ บอก

งานส่งเสริมยุคบุกเบิกหนักมาก

ดร.ยงค์ยุทธ บอกว่า ตนเองเรียนมาทางด้านการส่งเสริมการเกษตร แต่วิชารองเป็นพืชไร่ เรียนเรื่องเมล็ดพันธุ์มาด้วย พอเรียนจบเขาติดบอร์ดรับสมัครที่มหาวิทยาลัย จึงสนใจเพราะอยู่ใกล้บ้าน เขารับตรงกับที่เรียน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริม เริ่มปี 2528 จบเดือนมีนาคม มาทำงานเดือนมิถุนายน ตกงานอยู่ 3 เดือน ไม่ได้ย้ายงานไปไหน ทำที่เดียว เริ่มจากตำแหน่งเล็กๆ ในองค์กร

ดร.ยงค์ยุทธ เล่าว่า งานส่งเสริมสมัยก่อนหนักมาก บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ฯ ไม่ได้ขายพันธุ์โอพี (พันธุ์ผสมเปิด สุวรรณ 1 สุวรรณ 2) แต่เริ่มขายพันธุ์ลูกผสม (ไฮบริด หรือ F1) แปซิฟิคฯ เป็นบริษัทแรกที่เข้ามาส่งเสริมในเมืองไทย

เมื่อเกษตรกรปลูกได้ผลผลิตแล้ว ก็จะส่งขายไปยัง บริษัท คอนติเนลตัล โอเวอร์ซีส์ จำกัด (COC.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันที่มาตั้งไซโลรับซื้ออยู่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขามาซื้อผลผลิตเพื่อส่งออก สมัยนั้นมีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 13 ล้านไร่ พันธุ์ที่ปลูก เป็นพันธุ์โอพี 95 เปอร์เซ็นต์ อีก 5 เปอร์เซ็นต์เป็นไฮบริดส่งเสริมยาก เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมชาวบ้านยาก ราคาพันธุ์สุวรรณ 12 บาท ต่อกิโลกรัม ลูกผสมไฮบริด 25-35 บาท แล้วแต่สายพันธุ์ ราคาเป็นปัจจัยสำคัญให้เกษตรกรตัดสินใจ สิ่งที่หนักหนาและต้องทำกันคือจัดประชุมชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่พอ ต้องทำแปลงให้เขาดู เรามีหน้าที่ทำแปลงสาธิตในหมู่บ้านเป้าหมาย การจัดประชุม มีการแจกเสื้อ กระติกน้ำ มีมานานมากแล้ว ทุกวันนี้ยังทำอยู่ คนไทยต้องมีของแถมติดไม้ติดมือบ้าง

“เมื่อก่อนเกษตรกรตัดสินใจยาก ราคาแตกต่างกันมาก ชาวบ้านเริ่มเข้าใจจริงๆ ประมาณปี 2533-2534 ใช้เวลา 4-5 ปี บริษัทข้ามชาติอื่นๆ ก็มาร่วมส่งเสริมมากขึ้น ส่วนราชการในประเทศก็เริ่มผลักดัน แต่ที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น คือโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มาช่วยเกษตรกรให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ในสมัย ท่านอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรในขณะนั้น ทำโครงการร่วมกันโดยใช้พันธุ์ลูกผสม กรมนำร่องแจกเมล็ดพันธุ์ไปบางส่วน ข้อแตกต่างระหว่างโอพีกับไฮบริด คือไฮบริดผลผลิตสูงกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่สายพันธุ์ ถ้าเทียบสมัยนี้อาจจะสองเท่า ต้องขอบคุณท่านอนันต์ ดาโลดม ที่ท่านมีวิสัยทัศน์ไกลมาก มองว่าพื้นที่มีแนวโน้มลดลง

แต่ผลผลิตต่อไร่ก็ยังต่ำและอาหารสัตว์มีแนวโน้มใช้มากขึ้น พื้นที่ปลูกข้าวโพดช่วงที่ผมเข้ามา 13 ล้านไร่ ปัจจุบันเหลือ 6-7 ล้านไร่ แต่ผลผลิตรวมยังเท่าเดิมหรือมากกว่าด้วย เมื่อก่อน 4 ล้านตัน ต่อปี ทุกวันนี้ 5 ล้านตัน เอกชนเราคาดการณ์ได้ถูกว่า ผลผลิตสูงจะตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ เมล็ดพันธุ์ไฮบริด จากเมื่อก่อน 25-35 บาท ต่อกิโลกรัม ปัจจุบัน 150-190 บาท ต่อกิโลกรัม ไร่หนึ่งใช้ 3-3.5 กิโลกรัม คุ้มกับการลงทุนผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ผลผลิต 1 ไร่ สภาพปกติ 1.5 ตันขึ้นไป ราคาขาย ความชื้นสูงหน้าไร่ 6.5 บาท ไซโล 8-9.50 บาท” ดร.ยงค์ยุทธ เล่าถึงงานส่งเสริมยุคแรกและผลตอบแทนของงานปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ผลผลิตยิ่งสูงขึ้น

ข้าวโพดแต่ละพันธุ์ เมื่อวิจัยได้ จะโลดแล่นอยู่ในตลาดได้ราว 5 ปี จากนั้นจะมีพันธุ์ใหม่เข้ามาแทน ดูไปก็คล้ายๆ รถยนต์ ที่ปล่อยออกมาเป็นรุ่น แต่มีข้าวโพดบางพันธุ์ของบริษัท แปซิฟิคฯ ติดลมบนนานกว่า 5 ปี

“เราเริ่มดังมาตั้งแต่แปซิฟิค 339 เด่นมาก สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ ผลผลิตสูงมาก แปซิฟิค 339 เผยแพร่มา 6-7 ปีแล้ว จริงๆ 5 ปีก็ดรอปปัจจุบัน ยังใช้อยู่ แต่พันธุ์ใหม่มาแรงกว่า แปซิฟิค 789 ให้ผลผลิตสูงปรับตัวได้ดีกว่า ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิม 10 เปอร์เซ็นต์ บริษัทเราครบรอบ 45 ปี เราออกใหม่ 2 พันธุ์คือ แปซิฟิค 995 และแปซิฟิค 392 พันธุ์แปซิฟิค 995 ปรับตัวได้ดี ทรงต้นเปลี่ยนไป ทรงต้นอวบใหญ่ใบเขียวเข้มให้ผลผลิตสูง สิ่งที่ได้มางานวิจัยในไทยนักวิชาการของบริษัท ปกติเวลาวิจัยแต่ละพันธุ์ใช้เวลา 5-6 ปี แต่ว่า แปซิฟิคฯ ใช้เทคโนโลยีของบริษัทแม่ในต่างประเทศ มาใช้ในการวิจัยคือเทคโนโลยีไดแฮปพลอยด์ ทำให้ได้พ่อแม่พันธุ์แท้ไวขึ้น ภาษาวิชาการคือดับเบิ้ลโครโมโซมย่นเวลาได้ 3 ปี ไม่ใช่จีเอ็มโอ” ดร.ยงค์ยุทธ บอก

ดร.ยงค์ยุทธ บอกว่า เมื่อมีวิกฤต เช่น เกิดภาวะแห้งแล้ง พันธุ์ใหม่ที่ออกมาในช่วงครบรอบ 45 ปีค่อนข้างทนแล้งได้ดีกว่า มีการทดสอบปีนี้แล้วเขตอุทัยธานี นครสวรรค์…ส่วนทางภาคใต้ไม่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพราะฝนชุกช่วงเก็บเกี่ยว แต่ปลูกข้าวโพดหวาน ข้าวโพดไร่ปลูกแค่ประจวบคีรีขันธ์ งานวิจัยในประเทศบริษัททำได้สมบูรณ์แบบ บริษัทแม่ในต่างประเทศยกย่องให้บริษัทในไทยเป็นศูนย์พันธุวิศวกรรมในเขตร้อนชื้น หมายถึงว่า ไทยเป็นเซ็นเตอร์ให้ประเทศอื่นๆ แปซิฟิคในไทยผลิตให้ประเทศอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้หมด เช่น อินเดีย พม่า ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม รวมถึงเอกวาดอร์ อเมริกากลาง ก็ยังใช้ได้

ข้าวโพดหวาน ที่บริษัท แปซิฟิคฯ มีอยู่ และได้รับความนิยมสูงสุดพันธุ์แรกคือ ไฮบริกซ์ 10 ขายอยู่นานมาก เมื่อตลาดต้องการความหวานมากขึ้น ผลผลิตมากขึ้น ความนุ่มมากขึ้นเลยออกพันธุ์ใหม่ ไฮบริกซ์ 3 ผลผลิตสูงมาก หวานมาก แต่ไม่ค่อยต้านทานโรคใบไหม้แผลใหญ่ ทุกวันนี้ยังขายอยู่เพราะว่าเกษตรกรเข้าใจวิธีป้องกัน แต่ขายเฉพาะในตลาดฝักสด บริษัทวิจัยพันธุ์ใหม่ได้ไฮบริกซ์ 53 ที่ทนโรคได้ดีในระดับหนึ่งต่อมา

ปัจจุบันสายพันธุ์ที่ตอบสนองได้ยอดเยี่ยมมากคือ ไฮบริกซ์ 59 ขายมากที่สุด ใช้ทั่วประเทศ ภาคเหนือใช้พันธุ์ของแปซิฟิคเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

ดร.ยงค์ยุทธ อธิบายว่า ข้าวโพดหวานแบ่งเป็นตลาดฝักสดและอุตสาหกรรม ฝักสด 40 เปอร์เซ็นต์ ต้ม ย่าง ใช้พันธุ์เดียวกันกับอุตสาหกรรม ตลาดอุตสาหกรรมมี หนึ่ง แพ็กใส่กระป๋อง สอง โฟสเซน (เอาเมล็ดออกจากฝักแล้วแช่แข็ง) สาม บรรจุถุง (นำมาเวฟกินได้เลย)

การแปรรูปส่งออกขยายตัวมาก ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันตก

“พันธุ์ข้าวโพดหวานเพื่อการส่งออก คุณสมบัติแรกต้องให้ผลผลิตสูงก่อน เขามีการประกันราคารับซื้อ ต้องผลผลิตสูงชาวบ้านถึงจะมีกำไร ราคารับซื้อไม่วิ่งขึ้นลง ต้องปรับตัวได้ดีกับสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพดินที่แตกต่างกัน การจัดการง่าย ต้านทานโรค อย่างภาคเหนือมักพบโรคใบไหม้แผลใหญ่ ตามด้วยโรคราสนิมเหล็ก…โรงงานต้องการพันธุ์ที่ให้ความหวานสูง 13-14 บริกซ์ เมล็ดต้องโต แกนเล็ก คุณภาพต้องกรอบนุ่ม สีเมล็ดสวย ง่ายต่อการขนส่ง ข้าวโพดเข้าโรงงานผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่ แต่ก็เริ่มมีจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อมากขึ้น ราคาแพง ฝักละ 25-27 บาท”

ดร.ยงค์ยุทธ บอกและอธิบายต่อว่า

“บริษัทเราถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นเบอร์ 1 ในวงการเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน เรามีพันธุ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เรามีไฮบริกซ์ 81 เพื่อฝักสดโดยตรง ภาคเหนือจะมีพันธุ์สำหรับแช่แข็งโดยตรงไฮบริกซ์ 71 บางคนเข้าใจว่า ปลูกข้าวโพดหวานเป็นเรื่องยุ่งยาก จริงๆ แล้วได้กำไรมากกว่าปลูกข้าวและปลูกพืชอื่น…เมื่อเทียบกันแล้วกำไรต่อไร่สูง อายุการเก็บเกี่ยวเร็ว 70-72 วัน ปริมาณการใช้น้ำน้อยกว่าข้าว ราคาขายได้ค่อนข้างดี บางพื้นที่โรงงานประกันราคา มีรายได้ที่แน่นอนรายได้เฉลี่ยทางเหนือหักต้นทุนไร่ละ 7,000 บาท หมายถึงกำไร เกษตรกรหัวก้าวหน้า ผลผลิตอาจจะถึง 3 ตัน จะมีรายได้เพิ่มเป็น 1 หมื่นบาท ต่อไร่”

ทำเงินเร็ว 80 เปอร์เซ็นต์ของการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน เกษตรกรใช้พันธุ์ของบริษัท แปซิฟิคฯ มีพันธุ์แปซิฟิค 271 แปซิฟิค 321 และแปซิฟิค 571 แหล่งปลูกสำคัญอยู่ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ที่อื่นอีสานมีบ้างเล็กน้อย ทางเหนือ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีเชียงใหม่บ้าง พืชชนิดนี้แปลก เขาเอาดอกตัวผู้ไปเลี้ยงวัว เอาต้นไปเลี้ยงวัว เจ้าของขายไร่ละ 800 บาทต้องไปตัดเอง สำหรับเลี้ยงวัวนม รายได้ของข้าวโพดฝักอ่อนน้อยกว่าข้าวโพดหวาน แต่ชาวบ้านถือว่าได้ผลผลิตไว 40 วันเศษๆ ก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว

พื้นที่ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน 2 แสนไร่หมุนเวียน คนปลูกฝักอ่อนจะไม่ปลูกอย่างอื่น เขามีฟาร์มด้วย ไม่ต้องหาหญ้าเลี้ยงวัว ทานตะวัน พืชสร้างโอกาส

ทานตะวันเป็นพืชที่เคยบูมมาก กรมส่งเสริมการเกษตร โดยท่านอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มีส่วนผลักดัน เคยปลูกสูงสุดกว่า 5 แสนไร่ ตอนนี้เหลือเกือบแสนไร่ ปัญหาคือเรื่องราคารับซื้อ ผู้รับซื้อน้อยราย ไทยปล่อยให้มีการนำเข้านำมันทานตะวันจากต่างประเทศ ของเขาราคาต่ำ จากออสเตรเลีย อาร์เจนตินา รัสเซีย ผลผลิตเมล็ดทานตะวัน 200 กิโลกรัม ต่อไร่ หรืออาจจะมากกว่านี้ รัสเซียเขาทำเป็นพืชหลักทำแปลงใหญ่มากต้นทุนต่ำ ไทยเป็นพืชหลักไม่ได้ เทียบรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ข้าวโพดหวานเทียบไม่ได้ ในแง่ของการท่องเที่ยวพอได้ เป็นพืชให้คุณค่าทางอาหารสูง พันธุ์ของบริษัท แปซิฟิค คือ “อะควอรา 6” ให้ดอกใหญ่ ดินสมบูรณ์ให้ขนาดดอกเป็นฟุต ผลผลิตสูง บ้านเราปลูกเป็นพืชรุ่นสองคอนโทรลดินฟ้าอากาศไม่ได้ บางทีไม่ทันฝน บางคนปลูกข้าวโพดเสร็จปลูกทานตะวันตาม ฝนไม่มีได้ผลผลิต 100 กว่ากิโลกรัม ต่อไร่ แค่คุ้มทุนก็ไม่อยากทำ แต่ถ้าฝนดีเกษตรกรก็จะได้ผลผลิตสูงยังไงก็ตาม ทานตะวันก็เป็นพืชสร้างโอกาสของเกษตรกรในการปลูกรุ่นสอง เพราะจะไม่สามารถปลูกพืชอื่นได้แล้วและทนแล้งมากกว่า ส่วนทานตะวันงอกใช้เกรน คือผลผลิตจากต้นที่ปลูกใหม่มาเพาะเหมือนถั่วงอก ร้านอาหารนิยมใช้กันมาก

ทานตะวันถือเป็นพืชสร้างโอกาส ปลูกสิงหาคมถึงต้นตุลาคม ผู้รับซื้อยืนยันหากเกษตรกรปลูกยังซื้อผลผลิตอยู่ แต่ราคาขึ้นกับราคาตลาดโลกเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ก็ยังส่งเสริมการปลูกทานตะวันเพื่อการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี

ข้าวฟ่างพื้นที่ 2 แสนไร่

พื้นที่ปลูกข้าวฟ่าง ยังมีอยู่ ประมาณเกือบ 2 แสนไร่ ปลูกที่นครสวรรค์เป็นหลัก ลพบุรี สระบุรี และเพชรบูรณ์ปลูกเล็กน้อย ใช้พันธุ์แปซิฟิค 99 ข้าวฟ่างใช้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นหลัก มีลูกค้ารายใหญ่ที่นครสวรรค์ เขารับซื้อส่งฟาร์มเป็ดให้กินเป็นเมล็ด ราคาข้าวฟ่างใกล้เคียงข้าวโพด ต่างกันไม่ถึง 1 บาท ผลผลิตต่ำกว่าข้าวโพดคือ 800-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ปลูกเป็นพืชรุ่น 2 เหมือนทานตะวันเป็นทางเลือก เพราะว่าเกษตรกรบางคนไม่ปลูกทานตะวันก็จะปลูกข้าวฟ่างแทน นอกจากทำอาหารเป็ดเป็นอาหารไก่และหมู ได้เช่นกัน นอกจากนั้น ในบางปีก็จะมีการส่งออกไปต่างประเทศเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรมสุรา โดยเฉพาะประเทศจีนและไต้หวัน นำไปผลิตเป็นเหล้าเกาเหลียง

ความนิยมใช้พันธุ์พืชของเกษตรกร…จากอดีตถึงปัจจุบัน

ดร.ยงค์ยุทธ บอกว่า ค่านิยมการใช้เมล็ดพันธุ์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป เกษตรกรหันมาใช้พันธุ์ลูกผสม (ไฮบริด) มากขึ้น ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน เมื่อก่อนใช้โอพี แต่มีข้อแตกต่างเรื่องผลผลิต การปรับตัว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใช้พันธุ์ลูกผสม 90 เปอร์เซ็นต์ที่มีมาตรฐานของบริษัทที่เชื่อถือได้และของภาครัฐ ในส่วนที่เหลือก็ยังมีเกษตรกรใช้พันธุ์ราคาถูกที่มีแหล่งผลิตไม่แน่นอนอยู่บ้างในบางพื้นที่ ข้าวโพดหวานเดิมใช้พันธุ์ผสมเปิด ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นลูกผสมหมดแล้ว นอกจากปลูกตามหัวไร่ปลายนา ข้าวโพดฝักอ่อนปลูกเป็นการค้าใช้ลูกผสมหมดแล้วเช่นกันในปัจจุบัน

เทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่ละบริษัทจะปรับปรุงพันธุ์ให้ผลผลิตสูงได้อย่างไร หาจุดเด่น ทนแล้ง มีความสม่ำเสมอดีกว่า ทนโรคได้ดีกว่า สีสวยกว่า หาสิ่งดีๆ ให้เกษตรกรมากยิ่งๆ ขึ้นไป

“แปซิฟิคฯ กำลังทดสอบพันธุ์หญ้า เป็นลูกผสมระหว่างข้าวฟ่างกับหญ้าซูดาน โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง โปรตีนสูง น่าจะต้นปีหน้าจะรู้ผล กำลังทดสอบกับมหาวิทยาลัยต่างๆ อสค. และ ม.แม่โจ้ ผลผลิต 20-24 ตัน ต่อไร่ แต่ต้องให้น้ำ ใช้พื้นที่ปลูกไม่มาก” ดร.ยงค์ยุทธ บอก

เปลี่ยนไปราวฟ้ากับดิน

“ฟ้ากับดิน สมัยก่อนใช้ไมค์อย่างเดียว เราไปส่งเสริมใช้สไลด์ วีดิทัศน์ต่างๆ ทุกวันนี้ใช้โซเชียล คอมพิวเตอร์ ทุกวันนี้เปลี่ยนไปหมด การรับข่าวสารของเกษตรกรเปลี่ยน สมัยก่อนใช้สื่อวิทยุกระจายเสียง รถแห่ เอาหนังกลางแปลงไปฉายให้ชาวบ้านดูดีมาก ได้ผลดี บริษัทเช่าไป คนดูหลายร้อยคน เบรกแล้วก็นำเสนอผลิตภัณฑ์ เหมือนหนังขายยา ปีหนึ่งฉายบ่อย ต้นทุนสูงพอสมควร เช่าหนังใช้บริการของจุ๊ยเจริญบ้าง ที่อื่นบ้าง ช่วงหลังทีวีมีบทบาท เขาไม่ดูหนัง พอเราจะโฆษณาเขากลับบ้านไปดูทีวีหนังจอแก้ว

ตอนหลังชาวบ้านเริ่มติดหนังทีวีมากขึ้นจึงเลิก เรื่องหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือทำแปลงสาธิตได้ดูของจริง เราปลูก 4-5 ไร่ นโยบายของเราให้เขาเปลี่ยนเฉพาะเมล็ด อย่างอื่นให้เหมือนเดิม เขาใช้ปุ๋ย การจัดการเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ความแตกต่างจะดูได้จากสายพันธุ์ เมื่อก่อนแปลงที่เราไปทำเอง ใช้ปุ๋ยเรา ปัจจัยเรา ชาวบ้านบอกบริษัทมาทำมีปัจจัยพร้อมทุกอย่าง มันก็ให้ผลผลิตสูง เขาแคลงใจ ตอนหลังเราทำใหม่ เอาในส่วนเมล็ดพันธุ์ให้ ผลออกมาเขาสื่อสารกันเอง เขาจะคุยกันเองว่าเป็นที่พันธุ์ อย่างอื่นเขาใช้เหมือนเดิมหมด

ต่อมาก็ขยาย อย่างเพชรบูรณ์ปลูกมากก็ทำแปลงมากหน่อย น่านถอยลงมาเป็นพื้นที่เขา…พื้นที่สูง ฝนชุก พันธุ์เรายังไม่ค่อยเหมาะสม เราติดปัญหาถ้าระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป มีปัญหาฝักเน่าต้นเน่าบ้าง น่านยังส่งเสริมพื้นที่ราบในนาและราบสูง เชียงรายปลูกในพื้นที่ราบ…ในอนาคตยังคงวิจัยพันธุ์อยู่ต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองพื้นที่สูงและฝนชุก อย่างเช่น อำเภอแม่ระมาด ตาก น้ำหนาว เพชรบูรณ์” เป็นต้น

โครงการที่นำความภาคภูมิใจสู่องค์กรบริษัท เว็บแทงบอลออนไลน์ มีโครงการเพื่อสังคมมากมาย แต่ ดร.ยงค์ยุทธ เล่าถึงโครงการที่นำความภาคภูมิใจมาสู่องค์กรว่า “เป็นโครงการในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เราทำมานาน นำเงินสนับสนุนกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) เป็นเมล็ดพันธุ์ก็มี ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว ส่วนใหญ่เป็นการถวายเงินครับ…อย่างเช่น ครบรอบ 45 ปี เราทำ 2 ปีคือปีนี้กับปีหน้า จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เราจะนำเงินทูลเกล้าฯ 1 บาท เฉพาะในประเทศ เริ่ม 1 มีนาคม 2562 จะไปถึง มีนาคม 2564 ทางคณะผู้บริหารบริษัทก็จะนำเงินขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในโอกาสต่อไป”

ดร.ยงค์ยุทธ บอกและเล่าต่ออีกว่า

“กับหน่วยงานราชการ 2-3 ปีที่ผ่านมาปลูกข้าวโพดหลังนา ร่วมกับเบทาโกร เราจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ เบทาโกรรับซื้อตามราคาประกัน เป็นปีที่ 4 ได้ผลดีมาก ให้ผลผลิตสูง หลังนาความชื้นน้อยคุณภาพดี เกรดเอต้องการมาก ปีนี้ทาง ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อ บริษัทเมล็ดพันธุ์ จะต้องหาคนมารับซื้อ ทางสมาคมอาหารสัตว์ฯ กำหนดราคาประกันให้” (โครงการน่าจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2563 ถึงมกราคม 2564)

จึงต้องเตรียมตัว

“ช่วงวิกฤตมี…พันธุ์พืชแต่ละพันธุ์ อายุที่จะครองตลาดประมาณ 5 ปี…ขึ้นแล้วลง อย่างไฮบริกซ์ 10 ตกลงมา คู่แข่งก็ขึ้น ช่วงนั้นช่วงยากลำบาก ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยทั่วไป เขาดีกว่าเรา เราขายได้น้อยลง ข้าวโพดที่ดังมากแปซิฟิค 9 สมัยโบราณมาแล้ว พอเปลี่ยนผ่านใช้เวลา 5-6 ปีกว่าจะกลับมา เราก็แก้ไขโดยการปรับปรุงงานวิจัยของเรา ต่อยอดเรื่อยๆ พันธุ์นี้ตก เราเอาพันธุ์ใหม่ขึ้น ข้าวโพดหวานยังไม่ตกเราเปลี่ยนพันธุ์ใหม่แล้ว…หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แปซิฟิค 339 คนใช้ไม่มาก เราเอา 789 มาแซม ต้องต่อเนื่อง เชื่อมตลอด

โควิด-19 กระทบบ้าง เราใช้โซเชียลมากขึ้น ประชุมทางออนไลน์ เราไม่สามารถเข้าพื้นที่ประชุม โดยรวมแล้วภาคเกษตรทางด้านเมล็ดพันธุ์ ด้านอาหารกระทบไม่มาก เราทำเกี่ยวกับเกษตรบางทีวิกฤตก็เป็นโอกาส ตัวอย่างเช่น ข้าวโพดหวานทางเหนือเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) เชียงใหม่, บริษัท ริเวอร์แควฯ จำกัด กาญจนบุรี เป็นต้น ก็ขยายกำลังการผลิตประมาณนี้ ผู้ผลิตเนื้อหมู เนื้อไก่ ส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมการใช้ข้าวโพดอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดี” ดร.ยงค์ยุทธ บอก