ทั้งนี้ ผักขึ้นฉ่ายตลาดมีความต้องการตลอดและราคาดี

ราคาจะขึ้นลงอย่างไรก็ไม่ขาดทุน ทำให้มีรายได้เป็นหลัก ราคาต่ำสุดก็ 50 บาท ราคาสูงสุด 180-200 บาท ซึ่งราคาช่วงนี้อยู่ที่ 80-100 บาท จะเห็นได้ว่าคนตรังนิยมปลูกยางพาราและทำสวนปาล์ม หากจะหันมาปลูกผักขึ้นฉ่ายตนมองว่าคุ้มทุน แต่เริ่มแรกลงทุนค่อนข้างสูงในเรื่องของอุปกรณ์ พออยู่ตัวทำไปเรื่อยๆ ถึงอย่างไรก็ไม่ขาดทุน เพราะราคาต่ำสุดอยู่ที่ 50 บาท หากใครสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้โดยไม่หวงความรู้สอนฟรี ทั้งนี้หากใครอยากเปลี่ยนอาชีพจากชาวสวนมาปลูกพืชผักก็ยินดีสนับสนุน มาส่งที่ตนก็ได้เพราะตนเองก็ส่งให้แม่ค้าอยู่แล้ว ทั้งนี้มีตลาดแน่นอนตลาดไม่ตาย

ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้เกษตรกรไทยเผชิญกับปัญหาผลผลิตน้อยลง เนื่องจากขาดน้ำใช้ในการเกษตรแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกผักต้องรับมือคือ ปัญหาแมลงระบาด กัดกินผลิตผลโดยเฉพาะกะหล่ำปลี ผักกาดขาว และมะเขือเทศ ที่บางแห่งเสียหายเกือบครึ่ง ไม่สามารถขายได้ นำมาซึ่งการสูญเสียรายได้

เทสโก้ โลตัส ในฐานะผู้รับซื้อผักและผลไม้ตรงจากเกษตรกรไทย มากถึงปีละ 150,000 ตัน จึงได้ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเดินสายให้ความรู้กับเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ในการเพาะไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Steinernema sp. Thai strain) ไว้ใช้เอง โดยมีต้นทุนค่าวัสดุเพาะเลี้ยงเพียงแค่ 100 บาท ต่อไร่ ต่อครั้ง เทียบกับการใช้ยาฆ่าแมลง ที่มีต้นทุน ระหว่าง 700-1,000 บาท ต่อไร่ ต่อครั้ง โดยนอกจากจะช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการป้องกันและกำจัดแมลงอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของเกษตรกรจากการใช้สารเคมี และความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

นางสาวพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้า เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ด้วยมาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพที่เทสโก้ โลตัส กำหนดสำหรับการรับซื้อผักและผลไม้จากเกษตรกร ที่ผ่านมาในช่วงหน้าแล้งที่มักจะพบปัญหาแมลงระบาด ผลิตผลที่เกษตรกรเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะผักใบ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว และผักคะน้า ในบางส่วนไม่ผ่านมาตรฐานด้านคุณภาพของเรา แต่วิธีการแก้ปัญหา ไม่ใช่การเพิ่มการใช้ยาฆ่าแมลง เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ของเทสโก้ โลตัส เพราะอาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ฉะนั้น เราจึงได้ประสานงานไปยังกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการและมีผลงานวิจัยไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย โดย เทสโก้ โลตัส ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานรัฐและเกษตรกรที่เราทำงานด้วย เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรสามารถเพาะไส้เดือนฝอยไว้ใช้เองได้ โดยเลือกเกษตรกรในอำเภอฮอด อมก๋อย และแม่สะเรียง จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน เป็นโมเดลต้นแบบ ก่อนขยายผลไปสู่เกษตรกรในเขตพื้นที่อื่นๆ

นางจัน ปานง้วน อายุ 40 ปี เกษตรกรจากอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า สวนมะเขือเทศ ขนาด 3 ไร่ ของตน ประสบกับปัญหาหนอนกินเกสร ทำให้ผลมะเขือเทศมีตำหนิและไม่สามารถขายได้ในราคาที่ดี ที่ผ่านมาต้องพ่นยากำจัดแมลง ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากถึง ร้อยละ 50-60 ของรายได้ จากการขายผลผลิตทั้งหมด หลังจากที่ได้ดูการสาธิตจากเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรแล้ว รู้สึกมีความสนใจที่จะทดลองเพาะไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงเอาไว้ใช้เอง และคิดว่าวิธีการไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ก็ล้วนเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด

ทั้งนี้ ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย เป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร โดย ดร. นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา สังกัดสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เริ่มงานวิจัย ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 เพื่อนำมาใช้ลดหรือทดแทนสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมถึงสารชีวภัณฑ์การค้าอื่นๆ ที่มีราคาค่อนข้างสูง หาซื้อยาก อาจประสบปัญหาขณะเก็บรักษา และช่วงเวลาในการขนส่งผลิตภัณฑ์ที่มีผลทำให้สารชีวภัณฑ์ลดประสิทธิภาพในการฆ่าแมลงได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย ที่มีคุณสมบัติทนทานอุณหภูมิได้สูง มีศักยภาพในการกำจัดแมลงได้หลายชนิด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงขยายปริมาณในอาหารเทียมแบบง่ายๆ และมีต้นทุนต่ำ โดยใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ซื้อหาได้ง่ายตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ ฟองน้ำ น้ำมันหมู หม้อนึ่งฆ่าเชื้อ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรสามารถทำใช้เองได้ไม่ยุ่งยาก

การทำงานของไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง คือเข้าสู่ตัวแมลงผ่านทางช่องเปิดตามธรรมชาติ ได้แก่ ทางปาก ช่องขับถ่าย หรือรูหายใจทางผิวหนังของแมลง จากนั้น ไส้เดือนฝอยจะปล่อยแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดของแมลง สร้างสารพิษที่มีผลทำให้แมลงเกิดภาวะเลือดเป็นพิษและตายภายในเวลา 12 ชั่วโมง โดยไส้เดือนฝอยมีความปลอดภัยต่อมนุษย์ เนื่องจากไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลือดอุ่น ทำให้ผู้บริโภคไว้วางใจได้ว่า ผักและผลไม้มีความปลอดภัยอย่างแน่นอน

สำหรับกรรมวิธีการทำอาหารเทียมเพื่อเพาะไส้เดือนฝอย สามารถทำได้ดังนี้

หนึ่ง ใช้ไข่ไก่ 4-5 ฟอง ผสมน้ำมันหมู 130 ซีซี และน้ำ 260 ซีซี คลุกกับก้อนฟองน้ำตัดรูปทรงสี่เหลี่ยม 40 กรัม แล้วนำไปใส่ในภาชนะกล่องพลาสติกพร้อมฝาปิดหรือถุงทนร้อน แบ่งเท่าๆ กัน จำนวน 20 กล่อง หรือถุง จากนั้นนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งไอน้ำเดือด เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

สอง เมื่ออาหารเทียมเย็น ใส่หัวเชื้อไส้เดือนฝอย 50,000 ตัว ต่อภาชนะ ด้วยกระบอกฉีดยาพร้อมเข็มสะอาด นำไปบ่มเพาะเป็นเวลาเพียง 7 วัน หัวเชื้อไส้เดือนฝอยจะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้มากกว่า 300 เท่า หรือได้ไส้เดือนฝอยเฉลี่ย 15 ล้านตัว ต่อภาชนะ หรือ 20 ภาชนะ ได้ 300 ล้านตัว ต่อ 1 รอบการผลิต

สาม เกษตรกรสามารถนำไปพ่นกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ ในพื้นที่เฉลี่ย 1 ไร่ คิดเป็นต้นทุน ประมาณ 100 บาท ต่อการพ่น 1 ครั้ง โดย 1 ฤดูปลูก พ่นกำจัดแมลงเฉลี่ย 5 ครั้ง คิดเป็นเงิน 500 บาท ต่อไร่

“การร่วมมือกันตามโมเดลประชารัฐ เป็นการผนวกจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เทสโก้ โลตัส ทำงานร่วมกับเกษตรกรจำนวนมากทั่วประเทศไทย จึงทราบดีถึงปัญหาที่เกษตรกรประสบ แต่ขาดความเชี่ยวชาญในด้านเทคนิค ซึ่งในจุดนี้ กรมวิชาการเกษตรสามารถเติมเต็มให้ได้” นางสาวพรเพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย

กรมวิชาการเกษตร ส่ง “เพชรบุรี 2” สับปะรดพันธุ์ใหม่ลักษณะเด่นโดนใจโรงงานแปรรูป ผลทรงกระบอก แกนผลเล็ก ตาตื้น ช่วยลดการสูญเสียเนื้อเมื่อเข้าเครื่องปอก คุ้มแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง แถมค่าความหวานเฉลี่ยชนะเลิศพันธุ์ดั้งเดิมปัตตาเวีย

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สับปะรดเป็นผลไม้ที่สร้างมูลค่าการส่งออกให้กับประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งการวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมาส่วนมากเป็นไปในด้านการเขตกรรมและการอารักขาพืช ส่วนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์หรือสายพันธุ์ยังไม่สามารถสร้างพันธุ์หรือสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ ทำให้พันธุ์ที่ปลูกยังคงเป็นพันธุ์เดิม ปริมาณผลผลิตต่อไร่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.11 ตัน/ไร่ ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งการใช้พันธุ์เดิมปลูกติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการกลายลักษณะไม่พึงประสงค์มากขึ้น เช่น การเกิดหนามตลอดทั้งใบ ผลไม่เป็นทรงกระบอก สีเนื้อไม่สม่ำเสมอ ผลขนาดเล็กลง และอ่อนแอต่อโรคเหี่ยวสับปะรด

การคัดเลือกสายต้นเป็นแนวทางการปรับปรุงพันธุ์วิธีการหนึ่งที่ใช้ระยะเวลาสั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี กรมวิชาการเกษตร จึงได้ดำเนินการคัดเลือกสายต้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้สับปะรดพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่าพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า และมีลักษณะเหมาะสมสำหรับการแปรรูปตรงตามความต้องการของโรงงาน ได้แก่ ผลมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ตาตื้น แกนผลเล็ก เพื่อให้ได้ปริมาณเนื้อสำหรับแปรรูปสูง และมีอัตราการสูญเสียเนื้อต่ำ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ได้เริ่มดำเนินการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์เมื่อปี 2534 โดยการประเมินและคัดเลือกพันธุ์ การเปรียบเทียบพันธุ์ และการทดสอบพันธุ์ในแหล่งผลิต ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ จนประสบความสำเร็จได้สับปะรดพันธุ์ใหม่ผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ในปี 2562 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2” โดยมีลักษณะเด่น คือ มีอัตราส่วนน้ำหนักเนื้อ : น้ำหนักผลเฉลี่ย 0.29 ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย แกนผลเล็ก ตาตื้น ความลึกตาเฉลี่ย 0.73 – 0.81 ซม. มีผลทรงกระบอกซึ่งเหมาะสำหรับการบรรจุกระป๋อง ค่าความหวานเฉลี่ย 13.9 – 17.9 องศา บริกซ์ซึ่งมากกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย

“สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2 มีผลทรงกระบอกเหมาะสำหรับการบรรจุกระป๋อง มีความหวานมากกว่าพันธุ์ปัตตาเวียที่เกษตรกรนิยมปลูกในปัจจุบัน ที่สำคัญมีตาตื้นเมื่อเข้าเครื่องปอกแล้วจึงไม่สูญเสียเนื้อมาก จึงเหมาะสำหรับการนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี มีหน่อพันธุ์ประมาณ 5,000 หน่อ ซึ่งสามารถปลูกขยายได้พื้นที่ 0.5 ไร่ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี โทรศัพท์ 0-3277-2852-3” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

“มะเดื่อฝรั่ง” หรือ “ฟิกส์” (FIGS) ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปี อาจจะเป็นผลไม้ที่แทบจะไม่ค่อยมีคนรู้จักเลยในบ้านเรา แต่เมื่อได้รับความสนใจมากขึ้นว่าเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ มีการเผยแพร่ออกสื่อต่างๆ มีกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับมะเดื่อฝรั่งในโลกโซเชียล ทำให้มะเดื่อฝรั่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คนทั่วไปรู้จัก ทานมะเดื่อฝรั่งเป็น มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องสายพันธุ์ที่มีการนำเข้ามาปลูกในบ้านเรานับร้อยสายพันธุ์จากทั่วโลก เทคนิควิธีการปลูก การบำรุงดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ การแปรรูป รวมถึงวิธีการขยายพันธุ์ที่มีการประยุกต์และพัฒนาในหลายๆ รูปแบบ เนื่องจากมะเดื่อฝรั่งเป็นอีกพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธีมาก

ทาง “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398 ที่เป็นสวนหนึ่งที่เริ่มปลูกมะเดื่อฝรั่งในเชิงการค้าในยุคแรกๆ เพื่อจำหน่ายผลสด มานานเกือบ 15 ปี ซึ่งได้การตอบรับในการซื้อผลผลิตดีมาก โดยจำหน่ายได้ กิโลกรัมละ 150-300 บาท เลยทีเดียว ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีราคาค่อนข้างดีสำหรับเกษตรกร เนื่องจากสามารถผลิตในเชิงปลอดสารพิษหรือแบบอินทรีย์ได้ตามแนวทางของแต่ละสวน เนื่องจากเป็นไม้ผลที่มีโลกและแมลงศัตรูไม่มาก ที่สำคัญก็จะมีนกมาจิกผล (ก็จะห่อผล)

โดยที่สวนคุณลี ปลูกมะเดื่อฝรั่งแบบกลางแจ้งเหมือนไม้ผลทั่วไป ก็ปลูกมะเดื่อฝรั่งทั้งจากต้นที่ขยายพันธุ์มาจากการตอนกิ่ง, การปักชำ, การเปลี่ยนยอดบนต้นตอขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การติดตา, เสียบเปลือก, เสียบตรง เป็นต้น ซึ่งต้นตอที่นิยมนำมาใช้ก็คือต้นมะเดื่อฝรั่งสายพันธุ์ที่ไม่ต้องการ หรือต้นมะเดื่อฝรั่งที่มีนิสัยทนทาน หากินเก่ง มีระบบรากแข็งแรง เช่นที่สวนคุณลี จะใช้มะเดื่อฝรั่งพันธุ์ออสเตรเลียเป็นต้นตอเกือบทั้งหมด วิธีการคือปลูกมะเดื่อพันธุ์ออสเตรเลียลงแปลงไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อต้นมะเดื่อออสเตรเลียมีขนาดที่เราพอใจแล้ว (3-6 เดือน ตามความพอใจ) ก็จะเปลี่ยนยอดสายพันธุ์ที่เราต้องการ แต่ในบ้านเรามีมะเดื่อพื้นบ้านและมะเดื่อป่า ซึ่งจัดว่าอยู่ในวงศ์เดียวกันกับมะเดื่อฝรั่ง

จากการที่สวนคุณลีได้ลองทำมานับ 10 ปี มะเดื่อฝรั่งก็สามารถเปลี่ยนยอดบนต้นตอมะเดื่อพื้นบ้านหรือมะเดื่อป่าได้ และสามารถเจริญเติบได้ดีมาก ให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี แต่การขยายพันธุ์อาจจะต้องมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้แผลประสานหรือเนื้อไม้เข้ากันได้ดี ทาง “สวนคุณลี” จึงนำวิธีการเปลี่ยนยอดมะเดื่อฝรั่งบนต้นตอมะเดื่อพื้นบ้าน หรือมะเดื่อป่า ให้ท่านนำไปประยุกต์ปรับใช้กันต่อไป

การต่อกิ่ง หรือการเสียบยอด เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชโดยไม่ใช้เพศที่สามารถทำได้โดยการนำกิ่งพันธุ์ดีที่มีตามากกว่า 1 ตา มาต่อบนต้นตอ เพื่อให้เนื้อเยื่อเจริญทั้งสองเชื่อมประสานเป็นต้นเดียวกัน การขยายพันธุ์ด้วยวิธีต่อกิ่งจะดีกว่าการติดตามาก เพราะจะได้รอยต่อที่แข็งแรงกว่ามาก การต่อกิ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลาย และได้ผลดีกับพืชบางชนิด เช่น เฟื่องฟ้า มะม่วง พุทรา ขนุน องุ่น ฯลฯ

ความมุ่งหมายที่สำคัญของการต่อกิ่งพืช คือ เพื่อต้องการเชื่อมประสานเนื้อเยื่อของพืชที่เป็นต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีเข้าด้วยกัน ให้มีชีวิตและเจริญเติบโตร่วมกัน เสมือนเป็นพืชต้นเดียวกัน ทั้งนี้ การต่อกิ่งพืช สามารถเลือกทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ฤดูกาล และความชำนาญของผู้ต่อกิ่ง

การต่อกิ่งมีคุณค่าและความสำคัญต่อวงการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผลมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มและช่วยเปลี่ยนยอดพันธุ์เดิมที่ปลูกอยู่แล้วให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มยอดกิ่งเฟื่องฟ้าให้มีหลากหลายสี การเปลี่ยนยอดต้นโมกเขียวให้เป็นโมกด่าง การเปลี่ยนยอดมะม่วงให้เป็นมะม่วงแฟนซี คือมีหลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน นอกจากนี้ การต่อกิ่ง ยังเป็นการช่วยซ่อมแซมส่วนของต้นพืชที่ได้รับอันตรายจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากต้นตอที่มีลักษณะทนทานต่อสภาพแวดล้อมและศัตรูพืช

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการต่อกิ่ง หรือการเสียบยอด
พืชที่นำมาเสียบเข้าด้วยกันต้องเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่อาจต่างพันธุ์กันได้ เช่น นำยอดมะนาวเสียบกับต้นตอส้มต่างประเทศ หรือ ต้นตอส้มโอ เป็นต้น
2. กิ่งพันธุ์ดีจะต้องมีความสดอยู่เสมอ ซึ่งควรเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นในกรณีที่นำสายพันธุ์มาจากที่อื่น แต่หากตัดสดแล้วนำมาต่อกิ่งหรือเสียบยอดเลยจะดีที่สุด
3. รอยแผลที่เสียบจะต้องแนบกันสนิทให้เนื้อเยื่อเจริญของพืชทั้งสองส่วนสัมผัสกันมากที่สุด เพื่อจะได้เชื่อมประสานกันได้รวดเร็ว
4. เลือกตาพันธุ์ที่กำลังพักตัว คือ พร้อมที่จะแตกยอดใหม่ ถ้าเป็นมะเดื่อฝรั่ง ตาจะต้องปูดโปนคล้ายๆ กำลังจะแตกยอด
5. ใช้แถบพลาสติกขยายพันธุ์พันทับรอยต่อ ไม่ให้น้ำและเชื้อโรคเข้าแผลได้
6. รอยแผลจะต้องรักษาความสะอาดให้มากที่สุด ระวังอย่าให้สัมผัสน้ำ หรือความชื้นมากเกินไป
7. ลิดใบพันธุ์ดีทิ้ง และใช้พลาสติกคลุม ป้องกันการคายน้ำ และรักษาความชื้น หรือใช้แผ่นพาราฟิล์ม (Parafilm) ซึ่งไม่ต้องคลุมถุงเพื่อรักษาความชื้น ซึ่งสวนคุณลีจะเลือกใช้แผ่นพาราฟิล์มในส่วนการพันยอดพันธุ์ดี เพราะมีข้อดีหลายประการ คือนอกจากจะรักษาความชื้นของยอดพันธุ์แล้ว ยังกันน้ำได้ดี แล้วเมื่อยอดพันธุ์แตกตาผลิใบใหม่ออกมาก็สามารถแทงผ่านแผ่นพาราฟิล์มออกมาได้โดยที่ไม่ต้องใช้มีดกรีดช่วยเหมือนการใช้พลาสติกขยายพันธุ์ แล้วแผ่นพาราฟิล์มนั้นก็จะย่อยสลายไปเอง

ข้อควรพิจารณาในการต่อกิ่ง
ได้แก่ การเลือกต้นตอ
จะต้องให้มีขนาดเหมาะสมกับกิ่งพันธุ์ดี มีความแข็งแรง ปราศจากศัตรูพืช มีระบบรากแข็งแรง และหาง่าย แต่ก็ไม่ได้จำกัดเรื่องของขนาดซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนได้

การเลือกกิ่งพันธุ์ ควรเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีตา (ที่ไม่ใช่ตาดอก)

การเตรียมต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ในการเฉือนแผลต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ควรจะให้รอยแผลเรียบ และไม่ช้ำ (เกิดจากการผ่า หรือเฉือนหลายครั้ง จึงต้องมีความชำนาญในการเฉือนเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อไม่ให้ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีช้ำ)

การป้องกันเชื้อโรค การทำให้เกิดบาดแผลแก่ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดเชื้อโรค จึงต้องระวังในเรื่องของความสะอาด โดยเฉพาะมีดต้องสะอาดและคม

การวางแนวเยื่อเจริญระหว่างต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ต้องอยู่ในแนวเดียวกันเพื่อให้รอยประสานเกิดได้เร็วขึ้น เช่น กรณีต้นตอใหญ่กว่าแผลยอดพันธุ์ดีก็ต้องเสียบยอดพันธุ์ดีให้แผลชิดด้านใดด้านหนึ่ง ให้เนื้อเยื่อต้นตอกับยอดพันธุ์ดีตรงกัน

ฤดูกาลที่เหมาะสำหรับต่อกิ่ง ควรเป็นระยะที่พืชมีการเจริญเติบโตดี โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว รองลงมาคือ กลางฤดูฝน

เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อกิ่ง ส่วนของพืชที่จะขยายพันธุ์ คือ กิ่งพันธุ์ดี ส่วนของพืชที่เป็นระบบราก คือ ต้นตอ มีดขยายพันธุ์ หรือ คัตเตอร์ กรรไกรตัดแต่งกิ่ง พลาสติกพันกิ่ง วัสดุที่ใช้ในการคลุมกิ่ง เช่น เชือก ถุงพลาสติกขนาดเล็ก ถุงกระดาษคลุมกิ่ง แผ่นพาราฟิล์ม

ขั้นตอนการขยายพันธุ์แบบต่อกิ่งมะเดื่อฝรั่ง บนต้นตอมะเดื่อพื้นบ้าน หรือป่า
การเตรียมต้นตอมะเดื่อพื้นบ้าน หรือมะเดื่อป่า เลือกยอดของต้นตอ หรือกิ่งแขนงตามลำต้นที่มีขนาดใกล้เคียงกับกิ่งมะเดื่อฝรั่งพันธุ์ดี เช่น มะเดื่อพันธุ์ญี่ปุ่น, บราวน์ตุรกี, โคนาเดีย เป็นต้น เลือกตัดกิ่งแขนงของต้นตอมะเดื่อพื้นบ้าน หรือมะเดื่อป่าบริเวณที่ไม่มีข้อ หรือตา ให้เป็นมุมฉากเพื่อใช้มีดผ่าง่าย และแผลเรียบ สวย ผ่าต้นตอตามยาว ให้ลึกประมาณ 1-2 นิ้ว แล้วแต่ขนาดของกิ่ง

การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี และเลือกกิ่งพันธุ์ดีให้มีขนาดใกล้เคียงกับต้นตอ ใช้มีดปาดเฉือนโคนกิ่งมะเดื่อฝรั่งพันธุ์ดีให้เฉียงลงทั้งสองข้างให้เป็นรูปลิ่ม ให้แผลมีความยาว ประมาณ 1-1.5 นิ้ว

การเสียบกิ่งพันธุ์ดีบนต้นตอ ใช้มีดผ่ากลางบนต้นตอ ลึก 1-1.5 นิ้ว ให้ใกล้เคียงกับแผลยอดมะเดื่อพันธุ์ดี จากนั้นเสียบโคนกิ่งพันธุ์ดีให้แนวเนื้อเยื่อเจริญของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีทับแนบกันให้มากที่สุด แต่ในกรณีที่ขนาดแผลของต้นตอใหญ่กว่ายอดมะเดื่อฝรั่งพันธุ์ดี ก็จะต้องเสียบยอดให้แผลของเนื้อไม้ชิดกันด้านใดด้านหนึ่ง พันด้วยเทปพลาสติกให้แน่นบริเวณจากด้านล่างขึ้นบน

พันบริเวณรอยต่อให้แน่นไม่ให้น้ำเข้าแผลได้ ส่วนเหนือแผลขึ้นมาคือตายอดพันธุ์ดี จะใช้แผ่นพาราฟิล์มพันส่วนยอดเอาไว้เพื่อรักษาความชื้นของยอดมะเดื่อฝรั่ง (ซึ่งแผ่นพาราฟิล์มจะนำมาใช้แทนถุงพลาสติก (ถุงร้อน) มาครอบยอดเอาไว้) ไม่นานหลังเสียบยอดประมาณ 7-10 วัน ยอดมะเดื่อฝรั่งก็จะแตกยอดอ่อนแทงทะลุแผ่นพาราฟิล์มออกมาโดยที่เราไม่ต้องไปกรีดช่วยแต่อย่างใด แล้วแผ่นพาราฟิล์มก็จะย่อยสลายไปเองโดยที่ไม่ต้องไปทำอะไรเลย
หลังเปลี่ยนยอดได้ สัก 4-8 เดือน ยอดมะเดื่อฝรั่งที่เปลี่ยนยอดก็พร้อมจะให้ผลผลิต แต่สิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ คือ การลิดใบของมะเดื่อพื้นบ้าน หรือมะเดื่อป่า ต้นตอที่จะแตกออกมา ซึ่งอาจจะแย่งอาหารมะเดื่อฝรั่งที่เราเสียบเอาไว้

มะละกอเป็นพืชที่ปลูกไม่ยาก แต่หากจะปลูกให้ได้ผลดี ต้องทำความเข้าใจ

เกษตรกรที่ปลูกมะละกอเมื่อต้นเจริญเติบโตดีแล้ว ต้องทราบวิธีการคัดเพศ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มะละกอมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ในการดูแลมะละกอหลังปลูก คือการเลือกมะละกอให้ได้ผลกลมยาว

ที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตขอนแก่น มีงานวิจัยมะละกอมานาน ดังนั้นเทคโนโลยีต่างๆ จึงสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้ มะละกอผลกลมยาว ทำได้อย่างไร
คุณวิไล ปราสาทศรี อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตขอนแก่น ได้อธิบายให้ฟังว่า มะละกอมีดอกอยู่ 3 เพศ ด้วยกัน คือเพศผู้ เพศเมีย และกะเทย (สมบูรณ์เพศ)

ดอกเพศผู้ รู้จักกันดีในนามมะละกอสาย มีพบว่าให้ผลบ้าง ผลกลม เนื้อบาง แต่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก

ดอกเพศเมีย ดอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ คล้ายดอกมะลิ ผลมะละกอที่ได้จากดอกชนิดนี้ ผลป้อมใหญ่ ในผลกลวง เนื้อไม่หนานัก การบรรจุและการขนส่งค่อนข้างมีอุปสรรค ทางการค้าแล้วไม่เป็นที่ชื่นชอบแต่อย่างใด ดอกกะเทย (สมบูรณ์เพศ) ลักษณะของดอก เรียวยาวคล้ายดอกจำปี ผลที่ได้จากดอกลักษณะนี้ กลมยาว เนื้อหนา เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งผลดิบทำส้มตำ และผลสุกทานสด การบรรจุและการขนส่งทำได้สะดวก ดอกและผลจากมะละกอสมบูรณ์เพศเป็นที่ปรารถนาของผู้ปลูก รวมทั้งผู้บริโภค

คุณวิไล แนะนำว่า หากต้องการได้มะละกอที่สมบูรณ์เพศ BALLSTEP2 ควรเพาะในถุงพลาสติก หรือปลูกลงดิน ถุง หรือหลุมละ 3-5 เมล็ด จะได้ต้น 3-5 ต้น ไม่นานนัก ต้นจะมีดอก เมื่อสังเกตเห็นต้นที่ออกดอกเล็กเรียว หรือมีผลเล็กเรียว ก็เหลือต้นนั้นไว้ ต้นอื่นตัดทิ้ง หรือหากมีฝีมือก็ถอนไปปลูก อย่าได้เหลือมะละกอหลุมเดียวแต่มี 2 ต้น เหตุผลนั้น นักวิชาการมะละกอบอกว่า มะละกอเป็นพืชที่ซื่อสัตย์ ตอบสนองต่อปุ๋ยดีมาก หากอยู่ใกล้กัน จะแย่งปุ๋ย ปลูกใกล้กันมีผลเสียมากกว่าผลดี

คุณวิไลบอกว่า เมื่อผ่านการคัดต้นที่มีดอกสมบูรณ์เพศแล้ว แต่บางครั้งยังพบว่า ผลที่ออกมามีลักษณะคล้ายผลที่ได้จากดอกตัวเมีย สาเหตุนั้น เกิดจากช่วงที่อากาศแปรปรวน อย่างหนาวแล้วมาร้อนจัด ดอกกะเทยจะกลายเป็นกะเทยเทียม ส่วนหน้าฝนนั้น ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ทางแก้ไขนั้นมี เมื่อเกษตรกรปลูกมะละกอไปแล้ว คัดเลือกได้ต้นที่ให้ดอกกะเทยแล้ว แต่เมื่ออากาศร้อนจัด พบว่า ผลมะละกอออกมาป้อม บางคนอาจจะบอกว่า ได้พันธุ์มะละกอปลอม นักวิชาการท่านว่าไม่ปลอม เป็นพันธุ์แท้ ทางแก้นั้นให้เด็ดดอกกะเทยเทียมทิ้ง

ดอกกะเทยเทียม สังเกตได้ง่าย คือ ในช่อดอกมะละกอ จะมีดอก 2-3 ดอกต่อหนึ่งช่อ กะเทยจะแทงออกมาก่อน หากเป็นกะเทยเทียม ดอกจะใหญ่คล้ายมะลิ หากเด็ดดอกแล้วแกะกลีบดอกออก จะมีเกสร 5 ชุด ซึ่งกะเทยแท้หรือสมบูรณ์เพศนั้น จะมีเกสร 10 ชุด การไม่เด็ดกะเทยเทียมทิ้ง ดอกจะพัฒนาเป็นผลที่คล้ายผลจากดอกตัวเมีย ขณะเดียวกันดอกข้างๆ ในช่อดอกก็จะฝ่อไป แต่หากเด็ดดอกกะเทยเทียมทิ้ง ดอกข้างๆ ในช่อดอกเดียวกันก็จะพัฒนาเป็นผลกลมยาว เนื้อหนา

บางครั้งพบว่า ดอกกะเทยเทียม พัฒนาไประยะหนึ่ง มีโรคแทรกซ้อน ผลบิดเบี้ยว เสียรูปทรงไป เรียกปรากฏการณ์อย่างนี้ว่า ผลเป็น “หน้าแมว”

ปรากฏการณ์กะเทยเทียม พบมากในช่วงอากาศแปรปรวน แต่ผ่านไประยะหนึ่ง ลักษณะกะเทยแท้ จะกลับมาดังเดิม ดังนั้น หากสังเกตการผิดปกติ มีกะเทยเทียมในต้น แก้ไขโดยการเด็ดดอกกะเทยเทียมทิ้ง ถึงแม้จะเด็ดปริมาณมากๆ แต่ก็คุ้มค่า