ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ เทสโก้ โลตัส ซึ่งมีส่วนร่วม

สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลางมาอย่างต่อเนื่อง จึงตกลงใจเตรียมพร้อมเพื่อการพัฒนาถ่ายทอดและต่อยอดการผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ ในเร็วๆ นี้ จากผลงานวิจัยอาหารสุขภาพที่เป็นผลสำเร็จระยะแรก 3 ชนิด ได้แก่ เส้นโซบะชาใบหม่อนจากแป้งข้าวอบแห้ง ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.สาวิตรี รัตนสุมาวงศ์, พุดดิ้งข้าวแหล่งใยอาหารและพรีไบโอติกส์ ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.น้ำฝน ลำดับวงศ์ และผลิตภัณฑ์โอโวฟิชโปรตีนสูงจากแหล่งไข่ขาวและเนื้อปลา ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.กนกรัตน์ ลิมปิโสภณ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารทั้ง 3 ชนิด นอกจากจะดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เช่น ข้าว จาวมะพร้าว และใบหม่อน ลดการเกิดขยะอาหาร (food waste) โดยไม่จำเป็นอีกด้วย

นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส ยังได้เปิดเผยถึงสินค้าตัวใหม่ “สูตรวอฟเฟิลกรอบ” งานวิจัยวอฟเฟิลจากแป้งข้าวเจ้าและมันสำปะหลังทดแทนแป้งสาลี สำหรับผู้ที่แพ้กลูเตน ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.กมลวรรณ แจ้งชัด คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยก่อนหน้าโครงการนี้ จะถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าตัวใหม่สำหรับผู้รักสุขภาพ และคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 นี้แน่นอน

ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ ผู้อำนวยการด้านบริหารระบบงบประมาณและแผนงานวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการด้านติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทน) กล่าวว่า จากนโยบายและแผนระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2564) มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรและอาหารแปรรูปด้วยระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยรวม ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ จึงมีเป้าหมายส่งเสริมให้มีการใช้ระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาใช้ในการวิจัยพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหาร และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน รูปแบบการทำงานควรจะเป็นลักษณะ 3 ประสาน คือการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา จึงเป็นที่มาของความร่วมมือไตรภาคีในการพัฒนานวัตกรรมวิจัยด้านเกษตรและอาหาร

ภายใต้โครงการวิจัย เมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นศูนย์กลางวิจัยของเครือข่าย ทำการวิจัยนวัตกรรมแปรรูปอาหาร โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีแบบminimal process/ novel process และ hurdle technology ผสมผสานกับการคัดเลือกวัตถุดิบตั้งต้นที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ ให้ได้อาหารเชิงสุขภาพและมีรสชาติดี และผลงานวิจัยที่ได้จะต้องอยู่ใน technology readiness level ระดับ (TRL) 3 ขึ้นไป

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความพร้อมสูงในศักยภาพของอาจารย์และนักวิจัยที่ได้ทำงานวิจัยร่วมกับภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาเกษตรและอาหาร ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ให้ความสำคัญและมอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานมุ่งเน้นการวิจัยเชิงบูรณาการที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐาน

เพื่อส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่ผ่านมามีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิเคราะห์เชิงลึกขั้นสูงในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเกษตรและอาหารมากมาย โดยมีคณะอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน สำหรับความร่วมมือไตรภาคีในการพัฒนานวัตกรรมวิจัยด้านเกษตรและอาหาร ภายใต้โครงการวิจัย เมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง ระหว่าง สวทน. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชัน ซิสเทม จำกัด (Tesco) นับเป็นต้นแบบที่ดีในการบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำระบบแนวทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาคิดค้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพในอนาคต ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพทางการตลาดอย่างแท้จริง

รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการ จากสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทน.) ในปีงบประมาณ 2561 และปีงบประมาณ 2562 โดยมีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นศูนย์กลางเครือข่ายความร่วมมือและการวิจัยแบบบูรณาการ และมีหน่วยงานร่วม ได้แก่ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น โดยมีทีมงานอาจารย์ นักวิจัย และนิสิต จำนวน 40 คนร่วมโครงการ

จากโจทย์การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพที่ต้องมีการใช้นวัตกรรมขั้นสูง และสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริง ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลางนั้น ทางคณะทำงานได้มีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ผสมผสานกับการคัดเลือกวัตถุดิบตั้งต้นที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ ให้ได้เป็นอาหารเชิงสุขภาพและมีรสชาติดี โดยใช้เทคโนโลยี minimal process/ novel process เช่น ohmic technology high-pressure technology และ microwave technology encapsulation process และ hurdle technology

ร่วมกับการใช้ waste by-product ของวัตถุดิบการเกษตร มาวิเคราะห์และสกัดสารมูลค่าเพิ่ม กลับมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ ผลผลิตจากโครงการในปีงบประมาณ 2561 สามารถพัฒนาเป็นชุดอาหารสุขภาพ ประกอบด้วยอาหารคาว 9 ชนิด อาหารหวาน 2 ชนิด อาหารขบเคี้ยว 2 ชนิด เครื่องดื่ม 1 ชนิด รวมเป็น 14 ชนิด และยังได้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสและส่วนผสมอาหารอีก 2 ชนิด

โดยจุดเด่นของอาหารสุขภาพในอนาคต คืออาหารที่มีสัดส่วนโปรตีนสูงแต่ย่อยง่าย อาหารที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง อาหารที่มีแหล่งใยอาหารและพรีไบโอติกส์ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชัน ซิสเทม จำกัด (Tesco) ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพนี้ ในด้านรสชาติ โอกาสทางการตลาด การยอมรับของผู้บริโภค

และความเป็นได้ในการผลิตและจำหน่ายจริง อีกทั้งยินดีรับผลงานวิจัยที่เป็นอาหารสุขภาพ ซึ่งเป็นผลสำเร็จระยะแรกของโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง ไปทำการพัฒนาถ่ายทอดและผลิตจริงต่อไปในเร็วๆ นี้ ได้แก่ เส้นโซบะชาใบหม่อนจากแป้งข้าวอบแห้ง พุดดิ้งข้าวแหล่งใยอาหารและพรีไบโอติกส์ และผลิตภัณฑ์โอโวฟิชโปรตีนสูงจากแหล่งไข่ขาวและเนื้อปลา เป็นต้น

ปัจจุบัน ข้อมูลระบุพิกัดตำแหน่งอย่าง GPS ที่มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ่อยครั้ง จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจหากจะถูกแทนที่ด้วย QZSS ที่ออกแบบจากประเทศญี่ปุ่นที่มีความแม่นยำในระดับ 10 เซนติเมตร

นายพรเทพ นวกิจกนก หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมผลิตภัณฑ์อวกาศ สำนักพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศของจิสด้า เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า จับมือกับ The National Space Policy Secretariat (NSPS), Cabinet Office of Japan

สำนักนโยบายกิจการด้านอวกาศจากประเทศญี่ปุ่น และหน่วยงานพันธมิตร จัดการแข่งขันไอเดียธุรกิจนวัตกรรม หรือ S-Booster 2019 ระดับ International ครั้งแรกของประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อยให้สามารถปรับใช้ระบบ QZSS ในการเพิ่มศักยภาพการให้บริการผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. ไอเดียการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Location Based Service (Software, Hardware) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการหลักในปัจจุบัน

เช่น รถยนต์ไร้คนขับ เกษตรอัจฉริยะ Moblie Application 2. การต่อยอดการใช้ Platform “Tellus” ที่รวบรวมข้อมูล Big Data ด้าน QZSS ไว้ในที่เดียว (Mobile App, Web App) และ 3. ไอเดียนวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศในภาคธุรกิจ Space Startup Business Idea โดยเราจะเปิดรับไอเดียตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 19 เมษายน 2562 นอกจากนี้ จะมีการแนะแนวโครงการจากผู้เชี่ยวชาญด้านระบบดาวเทียมนำทางทั้งจากไทยและญี่ปุ่น ในวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจลงทะเบียนฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ http://skp.gistda.or.th/s-booster/

สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะมีโอกาสเข้าร่วม workshop ทางด้านธุรกิจด้วยระบบดาวเทียมนำทาง ณ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในช่วงปลายปีอีกด้วย นายพรเทพ กล่าว

ทั้งนี้ ระบบ QZSS หรือ Quasi-Zenith Satellite System เป็นระบบระบุพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลกความแม่นยำสูง ที่ออกแบบและพัมนาโดยประเทศญี่ปุ่น เพื่อการระบุตำแหน่งพิกัดและนำทางด้วยดาวเทียมในแถบภูมิภาคเอเชีย และโอเชเนียโดยเฉพาะ ระบบ QZSS สามารถให้ค่าพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลกถึงระดับ 10 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าแม่นยำที่สุดกว่าบรรดาระบบนำทางด้วยดาวเทียมชนิดอื่นๆ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 099-049-0009 คุณทศวรรษ หรือ http://skp.gistda.or.th หรือ http://s-booster.jp/2019/asia สมัครฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) วิจัยและพัฒนาเซลล์ยีสต์ลูกผสมพิเชีย พาสตอริส (Pichia pastoris) สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยจุลินทรีย์ที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถสร้างไอโซบิวทานอล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่สามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนประสิทธิภาพสูงได้ ยีสต์ดังกล่าวมีข้อดีมากกว่ายีสต์สายพันธุ์อื่นหลายข้อ ทั้งเติบโตเร็ว ใช้อาหารเลี้ยงเชื้อราคาถูก ไม่ผลิตเอทานอล มีศักยภาพในการย่อยชีวมวลได้ ซึ่งนับเป็นยีสต์ที่สามารถผลิตเชื้อเพลิงไอโซบิวทานอลในปริมาณที่สูงที่สุดเท่าที่มีการรายงานในระบบยีสต์

ดร.วีรวัฒน์ รังกุพันธุ์ นักวิจัยไบโอเทค เจ้าของผลงานวิจัย ให้ข้อมูลว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจในเชื้อเพลิงทดแทน หรือเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาระบบจุลินทรีย์ให้สามารถผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากแหล่งอาหารที่สามารถทดแทนได้ เช่น วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งยีสต์สายพันธุ์พิเชีย พาสตอริส มีข้อดีกว่ายีสต์สายพันธุ์อื่นๆ คือสามารถใช้แหล่งคาร์บอนได้หลายประเภท เช่น กลูโคส กลีเซอรอล ซอร์บิทอล เมทานอล ฯลฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และลดต้นทุน ในการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ สามารถเติบโตได้รวดเร็ว และหนาแน่น ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการหมักเชื้อ ผลิตไอโซบิวทานอลในปริมาณสูง และสามารถผลิตเอนไซม์ที่เอื้อต่อการพัฒนาเชื้อเพื่อย่อยวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เป็นไอโซบิวทานอล

ดร.วีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า เซลล์ยีสต์ลูกผสมพิเชีย พาสตอริสที่ได้พัฒนาขึ้น สามารถผลิตไอโซบิวทานอลได้ถึง 2.22 กรัม ต่อลิตร ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตไอโซบิวทานอลที่สูงที่สุดเท่าที่มีการรายงานในระบบยีสต์ และขณะนี้ทางทีมวิจัยอยู่ในขั้นตอนการพัฒนากระบวนการหมักแบบขยายขนาด (scale-up) ในระดับ 10 ลิตร และพัฒนาสายพันธุ์ยีสต์ดังกล่าวให้สามารถผลิตเอนไซม์ที่สามารถย่อยชีวมวลในกระบวนการหมักแบบขั้นตอนเดียว สำหรับการผลิตไอโซบิวทานอลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น กากมัน และชานอ้อย เป็นต้น

ผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานวันนักประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ งานประชาสัมพันธ์ ไบโอเทค สวทช. E-mail: prs@biotec.or.th Facebbok: BIOTEC-NSTDA เบอร์โทร 02 564 6700 ต่อ 3330-31 ไพรัตน์ (085-9025541) สุรสิทธิ์ (082-244-8842) ชาวนาเฮ! สนช. เลื่อนพิจารณา พ.ร.บ. ข้าว ให้ไปทบทวนให้รอบคอบตามที่ถูกท้วงติง
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 20 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่าภายหลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผังเมือง พ.ศ. … ในวาระสอง และวาระสาม เสร็จสิ้น ตามระเบียบวาระการประชุมจะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ข้าว พ.ศ. …. ต่อ แต่ปรากฏว่าเมื่อพิจารณาร่างกฏหมายผังเมืองเรียบร้อย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม สนช. ขณะนั้น สั่งปิดการประชุม ในเวลา 14.30 น. โดยมีรายงานว่า จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ข้าว ในวันที่ 26 ก.พ. นี้แทน

ด้าน พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ข้าว พ.ศ. … แถลงว่าเหตุที่มีการเลื่อนวาระการประชุม ร่าง พ.ร.บ. ข้าว ออกไปเป็นวันอังคารที่ 26 ก.พ.นี้ เพราะกมธ. เห็นพ้องว่าจะนำข้อเรียกร้อง และคัดค้าน จากฝ่ายต่างๆ กลับไปทบทวนอีกครั้ง เช่น การซื้อขายข้าวตามวิถีชุมชน เป็นต้น ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ให้ตัวแทนชาวนาเข้ามาเป็นกรรมการระดับชาติถึง 4 คน รวมถึงอาจได้สัดส่วนของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย อย่างไรก็ตาม นายพรเพชร กล่าวในที่ประชุมขอให้ กมธ. นำร่าง พ.ร.บ. ข้าว ไปทบทวนเนื้อหาตามประเด็นที่มีเครือข่ายชาวนายื่นหนังสือท้วงติง และเสนอความคิดเห็นขัดแย้งเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และทำร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับชาวนาทุกกลุ่ม

เอกชนรับลูกรัฐ พร้อมส่งรถตัดอ้อยป้อนตลาด ลดปัญหา PM 2.5 ปลุกตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรคึกคัก คาดโต 10-15% ช่วยลดต้นทุนนำเข้า 30-50%
เอกชนรับลูกรัฐพร้อมส่งรถตัดอ้อย – นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกรณีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท กรอบเวลา 3 ปี (2562-64) เพื่อซื้อรถตัดอ้อย ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรมีความพร้อมในการผลิตเครื่องตัดอ้อยรองรับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยใช้เครื่องตัดอ้อยแทนการเผา เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองที่กำลังเป็นปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศ และช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักรราคาสูงได้ 30-50%

ทั้งนี้ นอกจากมาตรการสนับสนุนและจัดหาอุปกรณ์เครื่องจักรกลตัดอ้อยในลักษณะโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นทุนในการจัดซื้อเครื่องตัดอ้อยแทนการเผาให้กับเกษตรกรจะช่วยแก้ปัญหามลพิษแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย ช่วยลดต้นทุนค่าแรงงาน เนื่องจากชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็กและขนาดกลาง เกษตรกรไม่มีเงินทุนมากพอที่จะจ้างแรงงาน การรวมกลุ่มเพื่อระดมเงินทุนซื้อเครื่องจักรตัดอ้อยก็ไม่แข็งแรงพอ ขณะเดียวกันภาครัฐควรกำหนดให้โรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อยจากชาวไร่ไม่รับซื้ออ้อยที่ใช้วิธีการเผาเด็ดขาดเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว

“ภาคเอกชน โดย ส.อ.ท. มีนโยบายส่งเสริมไทยทำไทยใช้ (เมดอินไทยแลนด์) อยู่แล้ว ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะมีโครงการเงินกู้ช่วยเหลือเกษตรกรในฐานะผู้ซื้อให้ซื้อเครื่องตัดอ้อย ก็อยากให้สนับสนุนภาคการผลิตให้มีการลงทุนเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยหลายรายไม่เพียงผลิตจำหน่ายในประเทศ แต่ยังส่งออกจนเป็นที่ยอมรับในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงแอฟริกา คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรให้เติบโตได้ 10-15%”

นายเกรียงไกร กล่าวยอมรับว่า ปัญหาปริมาณฝุ่นละออกขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่มีปริมาณสูงเกินมาตรฐานนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาในภาคการเกษตร เช่น วัชพืช ตอซังข้าว ข้าวโพด อ้อย เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงเศษพืชเศษวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตรเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการเผาทั้งประเทศ

ขณะเดียวกัน ยังมีการเผาในภาคเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ในช่วงที่ทิศทางลมพัดฝุ่นควันเข้ามาในไทย 10% และเกิดจากการก่อสร้างต่างๆ ทั้งคอนโดมิเนียม รถไฟฟ้าและอื่นๆ อีกประมาณ 4% ทำให้เกิดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นผลพวงให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ดังนั้นมลภาวะส่วนใหญ่ 50% จึงมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะรถที่ให้บริการสาธารณะ รถที่ใช้น้ำมันดีเซล และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จำนวนไม่น้อยมีอายุการใช้งานมานานกว่า 10 ปี

รายงานข่าวจาก ธ.ก.ส. แจ้งว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ครม. เพื่อให้ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อให้สหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 6,000 ล้านบาท นำไปซื้อรถที่ใช้ในกระบวนการผลิตอ้อย อาทิ รถสางใบ รถคีบอ้อย และรถตัด โดยรถดังกล่าวมีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ต่อคัน เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อได้ จึงต้องซื้อผ่านกลุ่ม เชื่อว่ามาตรการนี้ จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ทำให้เข้าถึงเครื่องจักร ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดการเผาไร่อ้อยที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยคุณสมบัติผู้กู้จะต้องเป็น สหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน มีโรงงานอ้อยเป็นผู้ค้ำประกัน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปี โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 2% และรัฐบาลสนับสนุนอีก 2% เป็นระยะเวลา 3 ปี

คาดปี 62 คนว่างงานเพิ่มแตะ 4.5 แสนคน เหตุปัจจัยเสี่ยงเพียบ พร้อมชี้ไทยเข้าสู่ยุคทรานฟอร์ม สู่ดิจิตอลส่งผลตลาดแรงงานชะลอตัว
ตกงาน / น.ส. สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี 2562 นี้ คาดว่าอัตราการว่างงานของไทยจะมีตัวเลขที่สูงขึ้นเป็น 1.1-1.2% หรือคิดเป็น 4.5 แสนคน จากปี 2561 ที่มีอัตราว่างงาน 0.04% หรือประมาณ 4 แสนคนของตลาดแรงงานที่มีอยู่ประมาณ 38 ล้านคน

ซึ่งตัวเลขที่สูงนั้นมาจากปัจจัยเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ค่าเงินที่ผันผวน จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย และทำให้หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ ตัวเลขอัตราการว่างงานในปี 2561 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในปี 2562 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น แต่ยังถือว่าตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยยังไม่สูง และต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น จึงยังไม่น่ากังวลมากนัก แต่ต้องยอมรับว่า ภาพรวมของสถานการณ์ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะชะลอตัว

“ณ วันนี้ เป็นช่วงทรานฟอร์ม หรือยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอล ซึ่งเป็นยุคที่ต้องให้เวลากับองค์กรธุรกิจต่างๆ ปรับตัว โดยต้องใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะเห็นผล หลังจากนั้น จึงจะได้เห็นการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ งานบริการลูกค้า และโปรแกรมเมอร์ ตลอดจนเกิดอาชีพใหม่ๆ ด้วย”

แต่ในช่วงระหว่างทรานฟอร์มนี้ จะมีแนวโน้มการว่างงานของบางธุรกิจ อย่าง ภาคการผลิต ที่ขณะนี้แรงงานทั่วโลกเข้ายุคโรโบติกส์ หรือหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนคน โดยอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์มีการคาดการณ์กันว่าเมื่อเข้าสู่เทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) เต็มตัว จะมีแรงงานที่เสี่ยงตกงานถึง 2 แสนคน

ดังนั้น ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน และภาคการศึกษา ทุกฝ่ายกำลังตื่นตัว มีการตั้งรับและวางแผน รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนตนเอง องค์กรและประเทศไทยก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน นับว่าเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องรับมือให้ทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ดี บริษัทได้สำรวจอัตราความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันมี 10 อันดับสายงาน ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ 1. งานขายและการตลาด 22.65% 2. งานบัญชีและการเงิน 12.16% 3. งานวิศวกร และการผลิต 8.62% 4. งานไอที 8.11 % 5. งานธุรการ 7.15 % 6. งานบริการลูกค้า 6.39% 7. งานระยะสั้นต่างๆ 6.28% 8. งานระดับผู้บริหาร 5.63% 9. งานทรัพยากรบุคคล 5.02% 10. งานโลจิสติกส์ 3.04%